fbpx
Blindsight การมองเห็นโดยไม่ต้องรับรู้ว่ามองเห็น : เปิดเส้นทางประสาทลับเก่าแก่ในสมอง

Blindsight การมองเห็นโดยไม่ต้องรับรู้ว่ามองเห็น : เปิดเส้นทางประสาทลับเก่าแก่ในสมอง

ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพประกอบ

1

 

สุภาพสตรีอายุราว 45 ปีเดินเข้าห้องตรวจพร้อมกับน้องสาวของเธอ

“สวัสดีค่ะ คุณหมอ” เธอยิ้ม กล่าวทักทายผมด้วยถ้อยคำชัดเจน และนั่งลงที่เก้าอี้ตรงข้ามกับผม น้องสาวของเธอนั่งลงที่เก้าอี้ข้างๆ

ถ้าดูจากภายนอก เธอดูปกติอย่างยิ่ง ทั้งกิริยาท่าทาง คงไม่มีเดาได้เลยว่าเธอมาทำอะไรที่โรงพยาบาล ยิ่งไม่นับว่า เธอมาทำอะไรที่แผนกประสาทวิทยา

“อาการเป็นยังไงบ้างครับคุณครู” ผมเรียกเธอแบบนั้น ในฐานะที่เธอเป็นคุณครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง

คุณครูมีสุขภาพที่แข็งแรงดีมาตลอด จนกระทั่งเมื่อราวหนึ่งเดือนก่อน อยู่ๆ เช้าวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมาพร้อมกับสังเกตว่าการมองเห็นของเธอหายไปข้างหนึ่ง เธอมองไม่เห็นสิ่งของที่อยู่ทางด้านขวามือของเธอ

คุณครูรีบทดสอบตัวเองด้วยการปิดตาทีละข้าง แล้วสังเกตว่าไม่ว่าจะมองด้วยตาข้างใด เธอก็มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ทางขวาของเธอ อะไรบางอย่างบอกเธอว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องปกติเสียแล้ว จึงตัดสินใจบอกน้องสาวให้รีบพาเธอไปโรงพยาบาล

ผลการตรวจภาพรังสีสมองยืนยันสิ่งที่เธอกังวล คุณครูมีสมองส่วนด้านหลังข้างซ้ายขาดเลือดจากโรคหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันที่ตำแหน่งสมองส่วนการมองเห็นที่ชื่อว่า primary visual cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่รับสัญญาณโดยตรงมาจากดวงตา (หรือที่มีชื่อเล่นว่า V1 ซึ่งมาจาก ‘visual’ cortex ขั้นที่ ‘1’)

ถ้าคุณไปอ่านตำรากายวิภาคศาสตร์​เล่มใดๆ หนังสือจะเขียนไว้ว่าสมองส่วนการมองเห็นอยู่ค่อนไปทางด้านท้ายทอย และสมองส่วนดังกล่าวข้างซ้ายจะประมวลผลข้อมูลจากสิ่งที่แวดล้อมอยู่มาจากทางด้านขวามือของเรา และสมองส่วนการมองเห็นข้างขวาประมวลผลข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมทางด้านซ้าย คุณครูมองไม่เห็นสิ่งแวดล้อมทางด้านขวาของเธอ ผลภาพถ่ายรังสีบอกว่าสมองด้านท้ายทอยซีกซ้ายของเธอมีการขาดเลือด — ข้อมูลทุกอย่างดูสอดคล้อง

น่าเสียดายว่าจากลักษณะที่เห็น การขาดเลือดน่าจะเป็นมาพักใหญ่แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือการป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีกด้วยการให้ยาและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง แต่การมองเห็นของคุณครูคงไม่กลับมาเป็นปกติ

ตัวอย่างของภาพถ่ายรังสีสมองซึ่งแสดงถึงการขาดเลือดของสมองส่วนการมองเห็น

ตัวอย่างของภาพถ่ายรังสีสมองซึ่งแสดงถึงการขาดเลือดของสมองส่วนการมองเห็น

“ก็ยังมองไม่เห็นเท่าๆ เดิมค่ะคุณหมอ” คุณครูตอบคำถามของผม พยายามเข้มแข็ง

ผมอธิบายให้คุณครูฟังอีกครั้งว่าเป้าหมายการรักษาของเราคืออะไร และทำการตรวจการมองเห็นของตาแต่ละข้างด้วยการให้เธอปิดตาข้างหนึ่งแล้วจ้องมาที่ปลายจมูกของผม

“เดี๋ยวผมจะยกมือของผมขึ้นแล้วค่อยๆ เลื่อนมือเข้ามาจากข้างนอกนะครับ… คุณครูมองที่ปลายจมูกที่เดียวเลยนะครับ อย่าขยับไปที่ไหน… เมื่อไรแอบเห็นมือที่เลื่อนจากทางด้านข้างแล้วให้เอามือคุณครูชี้ไปที่มือของผมนะครับ”

จากนั้นผมค่อยๆ ยกมือของผมขึ้น เริ่มจากทางด้านซ้ายมือของคุณครู และค่อยๆ เลื่อนเข้ามาจากด้านข้างอย่างช้าๆ

“เห็นแล้วค่ะ!” คุณครูตอบเร็ว พร้อมชี้ไปที่มือของผม บ่งว่าการมองเห็นทางซีกซ้ายของเธอเป็นปกติ

แต่เมื่อผมทำอย่างเดียวกัน ค่อยๆ เลื่อนมือของผมเข้าจากทางข้างขวาของคุณครู

เธอนิ่งไม่ตอบอะไร

“นี่คุณหมอยกมือขึ้นมารึยังคะเนี่ย?” เธอถามเพื่อความแน่ใจ พร้อมขมวดคิ้ว

คุณครูยังคงมองไม่เห็นทางข้างขวา ผมทำเช่นเดียวกันนี้เมื่อคุณครูใช้ตาอีกข้างหนึ่งมอง ผลก็เป็นเช่นเดิม การตรวจนี้มีชื่อเรียกว่า visual confrontation test เป็นการตรวจลานสายตาอย่างง่ายๆโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ

ภาพตัวอย่าง visual confrontation test ดัดแปลงภาพจากเว็บไซต์ Medical Castle 

ภาพตัวอย่าง visual confrontation test ดัดแปลงภาพจากเว็บไซต์ Medical Castle 

หากเป็นการตรวจโดยทั่วไป ก็เพียงพอแล้วต่อการวินิจฉัย แต่อะไรบางอย่างดลใจให้ผมอยากจะตรวจบางอย่างเพิ่มเติมอีกสักนิด บางอย่างที่ไม่ใช่การตรวจมาตรฐาน

“ตอนนี้คุณครูมองเห็นนิ้วมือของผมไหมครับ” ผมยกมือของผมทางด้านขวามือของคุณครูขึ้น แล้วกระดิกนิ้วขึ้นลง

“ไม่ค่ะ มองไม่เห็นเลย” คุณครูยืนยันคำตอบเดิม

“โอเคครับ ตอนนี้ผมกระดิกนิ้วของผมอยู่ทางด้านขวาของคุณครูครับ” ผมตอบก่อนจะหยุดไปชั่วครู่

“ผมเข้าใจนะครับว่าคุณครูมองไม่เห็น แต่คุณครูลองช่วย ‘เดา’ ได้ไหมครับ ว่านิ้วของผมกำลังกระดิกในแนวขึ้น-ลง หรือ ซ้าย-ขวา ครับ”

“คะ?”

“ตอนนี้นิ้วของผมกำลังกระดิกในแนวขึ้น-ลง หรือ ซ้าย-ขวา ครับ… คุณครูลองเดาได้ไหมครับ”

“เอ่อ …​ดิฉันมองไม่เห็นค่ะคุณหมอ”

ผมยิ้ม แต่ยังคงยืนยันคำขอแสนประหลาดของผมดังเดิม

คุณครูเห็นว่าผมยังยืนกรานให้เธอตอบ เธอนิ่งไปครู่ใหญ่ก่อนจะตอบว่า

“เอ… ขึ้น-ลงมั้งคะ?”

น้องสาวของเธอหัวเราะชอบใจ พอเห็นว่าคุณครู ‘เดา’ ถูก

แต่หลังจากที่ผมทดลองเปลี่ยนการขยับนิ้วของผมเป็น ขึ้นลงบ้าง ซ้ายขวาบ้าง แล้วพบว่าคุณครู ‘เดา’ ถูกเป็นส่วนใหญ่ ผมลองทดสอบหยิบกระดาษสีในห้องตรวจขึ้นมาให้ คุณครู ‘เดา’  ผลยังคงเป็นเช่นเดิม เธอเดาถูกเป็นส่วนใหญ่

แน่นอนว่าผมประหลาดใจ แต่คนที่ประหลาดใจกว่าผม ก็คือตัวคุณครูและน้องสาวนั่นเอง

น้องสาวของเธอมองหน้าคุณครูเหมือนต้องการจะถามว่า

ตกลงว่านี่พี่มองเห็นหรือไม่เห็นกันแน่?

2

มีความเป็นไปได้สองอย่าง

กรณีแรกคือ จริงๆ แล้วคุณครูมองเห็นแต่แกลังทำเป็นมองไม่เห็น ครูหลอกดาว!

มีเหตุผลอย่างน้อยสามข้อที่บอกผมว่า กรณีแรกนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้

ข้อแรก คุณครูมองไม่เห็นเฉพาะของที่อยู่ทางด้านขวา ถ้าจะแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นทำไมถึงจะต้องแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเพียงซีกเดียว?

ข้อที่สอง ภาพถ่ายสมองของคุณครูก็มีรอยโรคที่ตำแหน่งของสมองด้านท้ายทอย ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น

ข้อที่สาม คุณครูมองไม่เห็นทางซีกขวา ซึ่งตรงกับการทำงานของสมองข้างซ้ายที่เกิดการขาดเลือดพอดี ถ้าไม่ใช่ว่าคุณครูรู้จักกายวิภาคของสมองหรือเคยเรียนหมอมาก่อน ลักษณะของอาการคงไม่ตรงกับตำแหน่งรอยโรคในสมองพอดิบพอดี

อ้อ! จริงๆ มีอีกข้อหนึ่ง ถ้าคุณครูจะแกล้งทำเป็นมองไม่เห็น มีเหตุผลอะไรที่คุณครูถึงจะแกล้งทำเป็นเดาถูก?

ดังนั้นจึงเหลือแค่ความเป็นไปได้ที่สอง คือ สมองของคุณครูยังคงมองเห็นโดยที่คุณครูไม่รู้

แต่มันเป็นไปได้จริงๆ น่ะหรือ? เป็นไปได้หรือไม่ว่าสิ่งที่คุณครูสูญเสียไป ไม่ใช่ความสามารถในการมองเห็น (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทุกอย่าง) แต่เป็นความสามารถในการรับรู้ว่าตัวเองมองเห็น?

และถ้าการรับรู้ว่าการมองเห็นกับการมองเห็นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

แปลว่าสมองของคนเรา — แม้กระทั่งคนปกติอย่างเราๆ ก็สามารถมองเห็นได้โดยที่ไม่รับรู้ได้น่ะหรือ?

ครับ… ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น

การศึกษาแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ปรากฏการณ์มองเห็นโดยไม่รับรู้ได้ หรือที่เรียกว่า blindsight นั้นเกิดขึ้นได้ในคนปกติ คือการศึกษาโดย Kolb & Braun จากมหาวิทยาลัย California Institute of Technology โดยทั้งคู่อาศัยหลักการง่ายๆ ที่ใครๆ ก็รู้ว่า ภาพที่เรามองเห็นเกิดจากการรวมกันของสิ่งที่ตกกระทบตาสองข้าง

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เรา (หรือสมองของเรา) ไม่รู้ว่าสิ่งที่มองเห็นนั้น ข้อมูลใดมาจากตาข้างไหน

ตามปกติแล้วสิ่งนี้ไม่เคยเป็นปัญหา เนื่องจากข้อมูลที่ตกกระทบตาทั้งสองข้างมักจะเป็นข้อมูลเดียวกันเสมอ เพราะฉะนั้นข้อมูลอะไรมาจากข้างไหนก็คงไม่สำคัญ แต่ถ้าสมมติว่าเราหยิบแว่นตาที่กระจกตาข้างหนึ่งเป็นสีเขียวอีกข้างหนึ่งเป็นสีแดงขึ้นมาใส่ เราจะไม่รู้เลยว่ากระจกข้างไหนเป็นสีเขียวข้างไหนเป็นสีแดง จนกว่าจะลองปิดตาทีละข้าง

ทีนี้ สมมติว่าผมให้คุณใส่แว่นอีกแบบหนึ่ง เป็นแว่นที่ผมสามารถควบคุมได้ดั่งใจว่าตาข้างซ้ายคุณจะมองเห็นอะไร และตาข้างขวาคุณจะมองเห็นอะไร ผมอาจจะให้ตาข้างซ้ายคุณเห็นรูปหมีแพนด้า ตาข้างขวาคุณเห็นรูปป่าไผ่ (แต่ไม่เห็นหมี!) สิ่งที่คุณจะเห็นก็คือ ‘หมีแพนด้าในป่าไผ่’

รูปตัวอย่าง ไม่ว่าคุณจะเห็นแพนด้าด้วยตาข้างซ้ายและป่าไผ่ด้านตาข้างขวา หรือกลับกัน สุดท้ายคุณจะเห็นเป็นแพนด้าในป่าไผ่อยู่ดี :)
รูปตัวอย่าง ไม่ว่าคุณจะเห็นแพนด้าด้วยตาข้างซ้ายและป่าไผ่ด้านตาข้างขวา หรือกลับกัน สุดท้ายคุณจะเห็นเป็นแพนด้าในป่าไผ่อยู่ดี 🙂

ใครอยากจะลองทดสอบกับตัวเองก็สามารถทำเองได้ที่บ้านเลยนะครับ ไม่ต้องถึงขนาดลงทุนไปซื้อกล้องมองสองตาเลยครับ คนสมัยก่อนตอนก่อนจะมีเทคโนโลยีกล้องสองตาที่ใช้สำหรับ virtual reality (ซึ่งอาศัยหลักการที่ว่าสมองรับภาพจากตาสองข้างที่เป็นภาพเดียวกันแต่องศาต่างกันเล็กน้อยมาสร้างภาพสามมิติ) เขาก็อาศัยเพียงแค่วาดรูปลงกระดาษทางซ้ายกับขวาแล้วเอาฉากมากั้นตรงกลางไม่ให้ตาข้างหนึ่งมองเห็นภาพของตาอีกข้างหนึ่งก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับ

วาดรูปลงกระดาษทางซ้ายกับขวาแล้วเอาฉากมากั้นตรงกลางไม่ให้ตาข้างหนึ่งมองเห็นภาพของตาอีกข้างหนึ่ง

scienceandmediamuseum.org.uk

อืม… น่าสนุกดี ว่าแต่ว่า วิธีที่ว่านี้จะเอามาใช้พิสูจน์ยังไงว่าคนเรามองเห็นทั้งๆ ที่ไม่ต้องรับรู้

ลองเดาดูสิครับ?

Kolb & Braun ทำแบบรูปด้านล่างนี้ครับ

ภาพการทดลองจากงานวิจัยชื่อ blindsight in normal observers ในวารสาร Nature (1995)
ภาพการทดลองจากงานวิจัยชื่อ blindsight in normal observers ในวารสาร Nature (1995)

จะเห็นว่าตาแต่ละข้างจะมองเห็นลวดลายที่เหมือนเป็นเส้นทแยงในทางตรงข้ามกัน อย่างในรูปนี้คือ ตาซ้ายจะลองเห็นลวดลายที่เป็นเส้นทแยงจากซ้ายล่าง-ขวาบน ส่วนตาขวาจะมองเห็นลวดลายเป็นเส้นทแยงจากซ้ายบน-ขวาล่าง ซึ่งพอไปรวมกันในสมองแล้ว สิ่งที่เห็นก็คือ เส้นทแยงทั้งจากซ้ายล่าง-ขวาบน และ ซ้ายบน-ขวาล่างซ้อนกัน

ทีนี้​สังเกตว่าที่ด้านซ้ายบนของทั้งสองภาพนี้ มีเส้นทแยงอยู่กลุ่มหนึ่งที่เรียงตัวตรงข้ามกับเพื่อนเมื่อเทียบกับเส้นทแยงอื่นๆในตาเดียวกัน เหมือนกับว่าเราตัดส่วนหนึ่งของภาพในตาซ้ายไปสลับกับตำแหน่งเดียวกันของภาพตาขวานั่นแหละครับ (กล่องเส้นประสี่เหลื่ยมที่ล้อมรอบจุดต่างมีไว้เพื่อแสดงให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ภาพที่ใช้ในการทดลองจริงจะไม่มีเส้นประนี้)

แต่เนื่องจากสมองของเราจะรับรู้ภาพที่รวมกันแล้วเท่านั้น เส้นทแยงซ้ายล่าง-ขวาบนและซ้ายบน-ขวาล่าง จะมาจากตาข้างไหนก็มีความหมายเท่ากัน เราจะมองเห็นเป็นภาพ เส้นทะแยงทั้งจากซ้ายล่าง-ขวาบน และ ซ้ายบน-ขวาล่างซ้อนกัน เหมือนกันไปหมดทั้งภาพ ดูไม่ออกว่าตรงไหนคือจุดที่ไม่เหมือนกัน (รูปด้านล่าง)

ถ้าถามว่า ในภาพนี้มีส่วนหนึ่งที่ไม่ต่างจากพวก ลองบอกได้ไหมว่า ตรงตำแหน่งไหนที่ไม่เหมือนพวก คนปกติที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมงานวิจัยต่างก็บอกไม่ได้

“ลองเดาสิครับ” Kolb & Braun ขอให้อาสาสมัคร ‘เดา’ ว่าตำแหน่งที่ไม่เหมือนพวกอยู่ตรงไหน

ผลก็คือ พวกเขาเดาถูก! เช่นเดียวกับผู้ป่วย blindsight

เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเดาถูกทั้งๆ ที่มองไม่เห็น Kolb & Braun เลยให้อาสาสมัครทำซ้ำหลายๆ ครั้ง โดยเปลี่ยนตำแหน่งของจุดต่างออกไปเรื่อยๆ แต่ละครั้งที่ตอบว่าจุดต่างอยู่ตรงไหนก็ให้บอกด้วยว่าตัวเองมั่นใจกับคำตอบตัวเองแค่ไหน (เห็นตำแหน่งจุดต่างชัดเจนเลยหรือไม่?) จากคะแนน 1-10 (1 คือ ไม่มั่นใจเลย 10 คือ มั่นใจมากๆ)

ผลปรากฏว่า พวกเขามักจะเดาถูก แม้ว่าจะเป็นตอนที่เขาบอกว่า “มองไม่เห็นความแตกต่างเลย” (ความมั่นใจ 1/10) ก็ตาม[1] ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ถ้าแยกดูความแม่นยำของครั้งที่มั่นใจน้อยไปถึงมาก ทีมวิจัยพบว่า ไม่ว่าอาสาสมัครจะบอกว่ามั่นใจเท่าไรความแม่นยำก็เท่าเดิมอยู่ดี

ผลของการทดลองนี้เลยทำให้เราเกิดคำถามต่อไปอีกว่า จริงๆ แล้ว เรามั่นใจได้แค่ไหนกับสิ่งเราคิดว่าเราคิดว่าเรามอง(ไม่)เห็น?

3

ภาวะ blindsight นี้ถูกบรรยายครั้งแรกๆ ในคนไข้ที่มีโรคของสมอง ‘ส่วนแรกของการมองเห็น’ หรือ V1 เช่นเดียวกับคุณครูที่มาหาผม

ในช่วงที่เริ่มมีการรายงานกรณีผู้ป่วยในระยะแรกๆ นักวิทยาศาสตร์และหมอบางคนไม่เชื่อว่าภาวะนี้จะมีอยู่จริง จนกระทั่งมีการศึกษาเพิ่มเติมในสัตว์ทดลองและคนปกติอย่างเราๆ (ดังตัวอย่างการทดลองที่เล่าให้ฟังข้างต้น) หลังจากนั้นคำถามก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นว่า มีอะไรบ้างที่สมองทำได้โดยปราศจากการรับรู้ของเรา?

มีการทดลองหนึ่ง มีผู้ป่วย blindsight ชื่อ TN ที่สมองส่วนการมองเห็นขาดเลือดทั้งสองข้าง ทำให้เขามองไม่เห็นอะไรเลย (ทั้งซีกซ้ายและขวา) ทีมวิจัยขอให้ TN ลองเดินไปตามทางเดิน โดยที่ทีมงานได้วางของไว้ระหว่างทางเดินโดยไม่ได้บอก TN ผลปรากฏว่า TN สามารถเดินหลบของที่อยู่บนทางเดินได้โดยไม่สะดุดหกล้ม (ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าคุณ TN เกิดหกล้มขึ้นมา ทีมวิจัยจะตอบผู้ดูแลจริยธรรมงานวิจัยว่ายังไง :P) แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถเดินหลบสิ่งกีดขวางได้โดยที่ไม่ต้องรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันด้วยซ้ำ!

(ดูตัวอย่างการเดินของ TN ได้ ที่นี่)

จนถึงปัจจุบันเราพบว่าสมองของผู้ป่วย blindsight สามารถประมวลผลสิ่งที่เห็นได้อย่างน้อย 4 ชนิด อย่างแรกคือกรณีของ TN แม้จะไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ แต่เขาก็สามารถขยับร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่มองไม่เห็นได้ (เรียกว่า action-blindsight) ความสามารถอื่นๆ คือถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งที่มองไม่เห็นได้ (attention-blindsight) กระทั่งเดาได้ว่าของที่มองไม่เห็นนั้นคืออะไร (agnosopsia) หรือบอกได้ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นมีอารมณ์อย่างไร (affective-blindsight)

ช่างน่ามหัศจรรย์ว่าสมองสามารถทำสิ่งซับซ้อนเหล่านี้ เหมือนรถที่ไม่ต้องการคนขับ

ใช่ว่าคนไข้ที่มีรอยแผลที่สมองส่วนการมองเห็นทุกคนจะมีภาวะ blindsight เอาเข้าจริงแล้ว คนไข้ส่วนมากจะมาด้วยอาการเดินชนข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำ หรือไม่ก็ขับรถแล้วเบียดเสาปีนฟุตบาทข้างใดข้างหนึ่งบ่อยๆ (แต่ผมแอบคิดว่า จริงๆ แล้วน่าจะพบได้บ่อยกว่าที่เราคิด เพียงแต่เวลาผู้ป่วยบอกเราว่าเขามองไม่เห็น จะมีสักกี่ครั้งที่หมอจะคะยั้นคะยอขอให้เขา ‘เดา’)

นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มตั้งสมมติฐานว่า ถ้าสมองเกิดรอยแผลเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยคงจะสูญเสียทั้งการมองเห็นและการรับรู้ถึงการมองเห็น แต่อาจจะมีตำแหน่งของรอยแผลในเฉพาะที่บางตำแหน่ง ที่ทำให้เกิดการสูญเสียเฉพาะการรับรู้​โดยที่การมองเห็น (ขั้นต้น) ยังเป็นปกติ

แต่สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สมองต้องเกาหัวตัวเองก็คือ ความจริงที่ว่า สมองส่วนที่ผิดปกติในคนไข้ blindsight นั้น ดันเป็นสมองส่วน primary visual cortex (V1) หรือแปลเป็นไทยประมาณว่าเป็นสมองส่วนที่เปรียบเสมือนประตู ‘บานแรก’ ของการมองเห็น

เหตุที่เราตั้งชื่อสมองส่วนนี้ว่าเป็น primary visual cortex (V1) ก็เพราะว่า ถ้าเราแปลงร่างไปเป็นมนุษย์ฮอบบิตจิ๋วแล้วกระโดยเข้าไปในลูกตา ควักแว่นขยายแล้วค่อยๆ ก้มหน้าเดินตาม ‘รอยเท้า’ หรือ ‘สายไฟการเดินสัญญาณ’ ของสัญญาณจากดวงตาแล้วละก็ ในที่สุดหัวเราจะไปโหม่งกับไอ้เจ้าสมองส่วน V1 นี้แหละ

ถ้าเปรียบการประมวลผลข้อมูลการมองเห็นแต่ละขั้นตอนเป็นเหมือนการเดินเข้าห้องทีละห้องๆ ลึกลงไปเรื่อยๆ การที่ V1 มีปัญหาก็เหมือนว่าประตูบานแรกเปิดไม่ออกเสียแล้ว ถ้าคิดตามหลักการนี้ผู้ป่วยก็ไม่ควรที่จะมองเห็นอะไรได้อีก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

เว้นแต่ว่า … มันจะมีประตูลับ!

นักวิทยาศาสตร์จึงกลับไปรื้อสายไฟย้อนดูรอยทางเดินใหม่ จนพบประตูอีกบานหนึ่ง เป็นประตูเก่าแก่ที่เปิดสู่ทางเดินสายรองที่ดำดิ่งวกลงสู่ถ้ำชั้นบาดาล (ในก้านสมอง) ก่อนจะวกกลับขึ้นไปเปิดสู่ห้องแห่งการมองเห็นชั้นในโดยไม่ต้องผ่านห้องแรกสุด

สาเหตุที่คุณครูมองเห็นแต่ไม่รับรู้ เป็นเพราะในขณะที่เส้นทางหลักที่ทำให้เกิดการรับรู้นั้นปิดลงเสียแล้ว สัญญาณจากดวงตายังสามารถแอบวิ่งผ่านห้องลับไปสู่การประมวลผลอื่นๆ ได้

ประตูบานแรกแห่งการมองเห็น
ทางเดินประสาทของการมองเห็นสองเส้นทาง ผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ V1 ซึ่งรับข้อมูลจากเส้นทางหลักสายสีน้ำเงินจะไม่รับรู้ว่าตัวเองมองเห็น แต่ทว่าสมองยังคงประมวลข้อมูลผ่านเส้นทางลับเก่าแก่ได้

ที่เรียกว่าเป็นประตูเก่าแก่นั้นเพราะว่านักวิทยาศาสตร์พบว่าเส้นทางสายสีแดงนี้เป็นเส้นทางการเดินประสาทที่พบในสัตว์ชนิดต่างๆ แม้แต่สัตว์เลื้อนคลาน แสดงถึงการมีรากเหง้าแห่งวิวัฒนาการมายาวนาน จึงเชื่อได้ว่าเป็นทางเดินประสาทที่พัฒนามาก่อนนานแล้ว

นั่นแสดงว่า เส้นทางที่เราค้นพบทีหลังนี้ มีอยู่มาตั้งนานมากแล้ว ก่อนที่เราจะเริ่มพัฒนาเส้นทางการมองเห็นที่เรารู้ตัวอย่างที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้เสียอีก

4

สิ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์ blindsight น่าสนใจนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เพียงเพราะว่ามันทำให้เราค้นพบเส้นทางประสาทลับเก่าแก่ที่ทำให้เรามองเห็นได้โดยไม่ต้องรับรู้

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นักวิทยาศาสตร์สมองเชื่อว่ามันอาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่คำตอบของคำถามที่คนให้ความสนใจมากที่สุดคำถามหนึ่งว่า consciousness ของเราคืออะไรกันแน่

ถ้าลองจัดอันดับคำถามเกี่ยวกับการทำงานสมองที่น่าสนใจที่สุด ผมเชื่อว่าคำถามที่เกี่ยวกับ consciousness ต้องติดอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ตั้งแต่ consciousness คืออะไร อยู่ภายใต้การทำงานของสมองหรือไม่ ถึงวันหนึ่งปัญญาประดิษฐ์จะมี consciousness ได้หรือไม่ และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย

ถึงจะน่าสนใจมากเพียงใด แต่นักวิทยาศาสตร์สมองส่วนมากกลับเลือกที่จะศึกษาเรื่องอื่น สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคำนิยามของคำว่า consciousness ของแต่ละคนนั้นมีความหมายไม่เหมือนกัน (และยากที่จะทำให้มีความเห็นตรงกัน) นักวิทยาศาสตร์เรียกการศึกษา consciousness ว่าเป็น “คำถามที่ยากจะตอบ (the hard problem)”

แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วน (อย่าง Francis Crick ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลแต่ผันตัวมากสนใจ consciousness ในช่วงท้าย)​ เชื่อว่ามีวิธีที่เราจะสามารถศึกษา consciousness ได้โดยไม่ต้องไปสนใจว่าคำนิยามของ consciousness คืออะไรเลยก็ได้ ผ่านการศึกษาปรากฏการณ์อย่าง blindsight

ในปัจจุบันวงการที่ศึกษา consciousness เชื่อว่าหากนำสิ่งที่คนเราสามารถกระทำได้โดยปราศจากการรับรู้ (unconscious processing) มาหักลบออกจากสิ่งที่เราทำได้ทั้งหมด (จะรับรู้หรือไม่ก็ตาม – with or without consciousness) เมื่อนั้นเราจะเข้าใจว่า consciousness คืออะไร

ปรากฏการณ์ blindsight ในคนไข้และคนปกติบอกกับเราว่า ความจริงคือเราไม่ได้รับรู้สิ่งที่เรามองเห็นทั้งหมด นั่นหมายความว่าในขณะที่เรารับรู้ รู้สึก ตัดสินใจ เคลื่อนไหวอยู่นี้ จริงๆ แล้วเป็นเพียงฉากหน้าของเวที ตลอดเวลาที่ตัวของเรากำลังซึมซับประสบการณ์ต่างๆ มีอะไรบางอย่างที่แอบอยู่ในเงามืด ทำอะไรอยู่อย่างเงียบๆ โดยไม่ให้เราไม่รู้ตัว

น่าสนใจว่า blindsight นั้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างการ ‘รับ’ และการ ‘รู้’ ความรู้สึกต่างๆ  นอกเหนือจากเรื่องของการมองเห็นแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ คล้ายๆ กันกับการรับสัมผัสทางร่างกาย (numbtouch) หรือการได้ยิน (deafhearing) อีกด้วย

และแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐาน แต่ก็พอจะอนุมานจากการศึกษา blindsight ได้ว่า สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส เมื่อรับเข้ามาแล้วอาจมีบางส่วนแอบไปประมวลผลและก่อให้เกิดความรู้สึกภายในอย่างลับๆ

ต่อให้สมองเส้นทางหลักจะยืนยันกับคุณว่าไม่รู้สึกอะไรก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม

  1. Leopold DA. Primary visual cortex: awareness and blindsight. Annual review of neuroscience. 2012 Jul 21;35:91-109.
  2. Tong F. Primary visual cortex and visual awareness. Nature Reviews Neuroscience. 2003 Mar;4(3):219-29.
  3. Kolb FC, Braun J. Blindsight in normal observers. Nature. 1995 Sep;377(6547):336-8. วิธีที่ใช้ในการทดลองนี้ เรียกว่า binocular rivalry ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวในการศึกษาการมองเห็นโดยไม่ต้องรับรู้ ยังมีวิธีการอื่นๆ อีก เช่น continuous flash suppression, visual masking, motion-induced blindness ซึ่งผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ
  4. De Gelder B, Tamietto M, Van Boxtel G, Goebel R, Sahraie A, Van den Stock J, Stienen BM, Weiskrantz L, Pegna A. Intact navigation skills after bilateral loss of striate cortex. Current Biology. 2008 Dec 23;18(24):R1128-9.
  5. Pegna AJ, Khateb A, Lazeyras F, Seghier ML. Discriminating emotional faces without primary visual cortices involves the right amygdala. Nature neuroscience. 2005 Jan;8(1):24-5.
  6. Crick F, Koch C. Towards a neurobiological theory of consciousness. In Seminars in the Neurosciences 1990 (Vol. 2, pp. 263-275). Saunders Scientific Publications.
  7. Garde MM, Cowey A. “Deaf hearing”: Unacknowledged detection of auditory stimuli in a patient with cerebral deafness. Cortex. 2000 Jan 1;36(1):71-9.
  8. Paillard J, Michel F, Stelmach G. Localization without content: A tactile analogue of’blind sight’. Archives of neurology. 1983 Sep 1;40(9):548-51.
  9. BBC special program; Phantoms in the brain: VS Ramachandran 
  10. What is blindsight?
  11. Blindsight: the strangest form of consciousness. BBC article.
  12. Blind, Yet Seeing: The Brain’s Subconscious Visual Sense. 

[1] เพื่อให้แน่ใจว่าอาสาสมัครไม่ใช่เป็นพวกไม่ใส่ใจจะตอบคำถามดีๆ (คือตอบความมั่นใจไปมั่วๆ) พวกเขายังมีกรณีที่ตาซ้ายกับตาขวาเห็นภาพเดียวกัน ซึ่งอาสาสมัครก็มั่นใจและตอบได้ตามที่ควรจะเป็น แสดงว่าพวกเขาให้ความร่วมมือกับการทดลองเป็นอย่างดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save