fbpx
ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ : ทำความรู้จักภาวะ ‘ไม่รู้จักใบหน้า’ ทำไมบางคนจึงไม่ทักใครก่อน

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ : ทำความรู้จักภาวะ ‘ไม่รู้จักใบหน้า’ ทำไมบางคนจึงไม่ทักใครก่อน

ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

 

ธารากำลังอารมณ์ดีเป็นพิเศษกับทรงผมและสีผมใหม่ของเธอ

แต่ทันทีที่เธอเดินออกจากร้านตัดผม จู่ๆ เธอก็รู้สึกเหมือนมีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ใกล้ๆ ด้วยความตกใจ เธอก้าวเท้าเดินให้เร็วขึ้น แต่ผู้หญิงคนนั้นกลับเร่งความเร็วขึ้นเช่นกัน

ธาราใจเต้นแรงและเดินเร็วขึ้นไปอีก จนวินาทีที่ไหล่ของผู้หญิงคนนั้นมาชนไหล่ของเธอ เธอจึงตัดสินใจเอามือผลักผู้หญิงคนนั้นอย่างแรง!

มือของเธอกลับรู้สึกเหมือนกระแทกเข้ากับกำแพง พอสังเกตดีๆ ปริศนาก็ไขกระจ่าง ผู้หญิงที่เดินอยู่ข้างเธอไม่ใช่ใครที่ไหน

แต่เป็นตัวเธอกับทรงผมใหม่ในกระจกนั่นเอง

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้กับเธอ หลังจากธาราเข้าโรงพยาบาลด้วยปัญหาหลอดเลือดในสมองตีบ หลังออกจากโรงพยาบาล ธาราเริ่มสังเกตว่าหน้าของเพื่อนๆ เธอ ไม่ต่างอะไรกับ ‘คนแปลกหน้า’

ไม่ใช่ว่าเธอมองไม่เห็นใบหน้า ธาราเห็นรายละเอียดใบหน้าเป็นปกติ เธอบอกได้ว่า ตาของใบหน้าที่เธอกำลังมองอยู่สีอะไร รูปจมูกหรือปากลักษณะเป็นอย่างไร แต่ธารากลับดูไม่ออกว่าใบหน้านั้นเป็นของใคร ทั้งๆ ที่เธอยังคงมองเห็นและเรียกชื่อของต่างๆ ได้เป็นปกติ จะมีปัญหาก็เพียงแต่เรื่องใบหน้าแค่อย่างเดียว! แม้กระทั่งใบหน้าของเธอเอง

คุณหมอบอกว่าธาราว่า เธอมีภาวะ ‘ไม่รู้จักใบหน้า’ (face blindness) หรือที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า ‘โพรโซแพกโนเซีย’ (prosopagnosia)

 

2

 

ในเสี้ยววินาทีที่เรามองเห็นใบหน้าของใครคนหนึ่ง เรารับรู้ทั้งตัวตนและความรู้สึกที่สื่อสารผ่านทางสีหน้า เราอ่านสีหน้าของคนอื่นออกแทบจะทันทีโดยไม่ต้องพยายาม

ในบรรดาการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด การแสดงออกทางใบหน้าและดวงตาคือการบอกเรื่องราวที่มีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยเหตุนี้ ใบหน้าจึงเป็นสิ่งที่คนมักเลือกให้ความสนใจเป็นอันดับแรกๆ หากต้องการจะเข้าใจเรื่องราวปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ว่ากันว่า ‘ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ’ ผมพยายามค้นหาที่มาของคำกล่าวนี้แต่ไม่ทราบแน่ชัด บ้างก็ว่ามาจาก ‘The eyes are the window to the soul.’ ของเชคสเปียร์ บ้างก็ว่ามาจาก ‘The face is a picture of the mind as the eyes are its interpreter.’ ของมาร์คัส ซิเซโร่

แต่ไม่ว่าคนกล่าวนี้จะเป็นใคร ที่แน่ๆ คือ คุณอัลเฟรด ยาร์บัส เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่ใช้ดวงตามาศึกษาความนึกคิด ด้วยการใช้กล้องเล็กๆ ติดตามตำแหน่งของดวงตาทั้งสองข้างเวลามองภาพ ตัวอย่างเช่น เขาให้คนมองภาพ The Unexpected Visitor ด้านล่างนี้ (ภาพทางซ้าย) แล้วบันทึก ‘เส้นทางการมอง’ ซึ่งก็คือเส้นสีขาวยึกยือที่ลากไปมาในภาพด้านขวามือ เมื่อบอกให้คน “มองภาพนี้ตามสบาย” จะเห็นว่าคนเรามักใช้เวลามองที่ใบหน้าของคนในภาพมากกว่าตำแหน่งอื่นๆ แม้แต่เวลามองภาพวาด แสดงให้เห็นว่าใบหน้ามีความสำคัญและมีเรื่องราวมากเพียงใด

 

การทดลองติดตามตำแหน่งการมองโดย Alfred L. Yarbus (1967) ชื่อภาพ The Unexpected Visitor

 

ความสามารถในการจดจำใบหน้าของมนุษย์ก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ในขณะที่ใบหน้าของคนเรามีความคล้ายกันอย่างมาก เพราะไม่ว่าใบหน้าของใครก็ประกอบไปด้วยสองตา สองหู หนึ่งจมูก หนึ่งปากเหมือนกันไปหมด จะต่างก็เพียงขนาด สัดส่วน การจัดวางเล็กๆ น้อยๆ แต่การศึกษากลับพบว่าคนคนหนึ่งสามารถแยกแยะและจดจำใบหน้าโดยเฉลี่ยได้มากถึง 5,000 หน้า!

นอกเหนือจากความสำคัญในการสื่อสาร และปริมาณใบหน้าที่คนเราจดจำแยกแยะได้มหาศาลแล้ว การมองเห็นใบหน้าของคนเรายังมีคุณลักษณะเฉพาะหลายประการ ทั้งในแง่การรับรู้และกลไกทางสมอง ผมขอยกบางตัวอย่างที่ดูจะเป็นการทดลองเล่นๆ แต่ก็มีความหมายไม่น้อยเลย มาเล่าให้ฟังครับ

อย่างแรกเลยคือ เราไม่ได้อาศัยรายละเอียดหรือตำแหน่งของอวัยวะบนใบหน้าแบบเป๊ะๆ ในการระบุตัวตน ขอเพียงให้สัดส่วนระหว่างอวัยวะต่างๆ บนใบหน้ายังเหมือนเดิมก็เพียงพอแล้ว

ตัวอย่างภาพใบหน้าด้านล่างที่แสดงให้เห็นว่า ต่อให้เราเบลอภาพ บีบอัดให้แคบ หรือยืดขยายภาพใบหน้าไปมากพอสมควร แต่เราก็ยังบอกได้ในชั่วพริบตาเดียวว่าเป็นหน้าของใคร

 

 

 

แต่ความสามารถในการระบุตัวตนอันสุดยอดนี้ ใช้ได้กับใบหน้าที่จัดวางในแนวตั้งแบบปกติเท่านั้นนะครับ เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่า เพียงแค่เราจับภาพใบหน้ากลับหัว ความสามารถพิเศษที่ว่านั้นก็เหมือนจะหายไปทันที ตัวอย่างเช่นใบหน้าหัวกลับสองภาพด้านล่างนี้มีบางจุดต่างกัน แต่ดูเผินๆ แล้วคล้ายกันมาก ถ้าไม่บอกว่าต่างกันอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ ถ้าถามว่าต่างกันตรงไหนจะตอบไม่ได้ในทันที  ต้องขอเวลามองดูดีๆ

 

 

 

 

แต่เมื่อนำภาพเดียวกันมาวางในแนวหัวตั้งตามปกติแล้ว เราแทบไม่ต้องมองหาเลยว่าสองภาพนี้ต่างกันตรงไหน ความแตกต่างนั้นแทบจะกระโดดออกมามอบตัวแต่โดยดี

 

 

 

 

 

ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘แทตเชอร์เอฟเฟ็กต์’  (Thatcher effect) หรือ face inversion effect ที่ค้นพบโดยคุณปีเตอร์ ทอมป์สัน และใช้ภาพของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่าง การค้นพบง่ายๆ นี้เปิดเผยหัวใจสำคัญสองประการ

ประการแรกคือ ระบบการวิเคราะห์ใบหน้าของสมองเรา ถูกออกแบบมาใช้เฉพาะกับภาพใบหน้าแนวตั้งเท่านั้น

ประการที่สองคือ การมองเห็นใบหน้าของคนเราใช้การมองภาพรวมมากกว่าจะมองเห็นเป็นส่วนๆ (เช่น หู จมูก ปาก ตา) มิเช่นนั้นการมองเห็นความผิดปกติในภาพหัวกลับคงทำได้โดยไม่ยากเย็น

 

รูป Thatcher illusion โดย Peter Thompson (1980)

 

อดีตประธานาธิบดีโอบามาก็เคยถูกใช้เป็นตัวอย่างเช่นกัน

 

นอกเหนือจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีการที่ถ้าเอาใบหน้าครึ่งบนกับครึ่งล่างของคนสองคนมาประกบกันแบบแนบสนิทพอดี แล้วถามว่าใบหน้าครึ่งบนกับครึ่งล่างนั้นเป็นของใคร คนเราจะต้องใช้เวลานานกว่าจะตอบได้ แต่พอทำให้ใบหน้าครึ่งบนกับครึ่งล่างเหลื่อมกันแม้เพียงเล็กน้อย คนเราจะตอบได้ทันที (เรียกว่า composite-face effect ซึ่งคันพบโดยคุณยัง, เดโบราห์ และเฮย์)

 

 

Composite-face effect

 

 

น่าสนใจอย่างมากว่า ตัวอย่างปรากฏการณ์ทั้งหมดที่ว่ามา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะกับการมองเห็นใบหน้าเท่านั้น จนอดคิดไม่ได้ว่า สมองของเราน่าจะ ‘หมกมุ่น’ เรื่องใบหน้าเอาเรื่องทีเดียว ขนาดที่สร้างระบบเอาไว้ใช้มองใบหน้าโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่เวลาเรามองนู่นมองนี่อยู่ดีๆ ก็พาลจะเห็นเป็นใบหน้าอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่ของหรือสถานที่เหล่านั้นก็ไม่ใช่ใบหน้าสักหน่อย ปรากฏการณ์ที่เห็นใบหน้าในสิ่งที่ไม่ใช่ใบหน้านี้เรียกว่า face pareidolia ดังตัวอย่างข้างล่างนี้

 

Adapted from http://justsomething.co/

 

3

 

การที่มีกรณีผู้ป่วยที่สูญเสียการรู้จักใบหน้าหลังจากเกิดโรคหรืออุบัติเหตุทางสมองอย่างธารา และปรากฏการณ์บ่งบอกความหมกมุ่นเกี่ยวกับใบหน้าเหล่านี้จุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งสมมติฐานว่า เป็นไปได้ไหมที่สมองของคนเราอาจจะมีบริเวณที่ทำหน้าที่เฉพาะการรับรู้ใบหน้า

ซึ่งเมื่อได้ลองไปศึกษาตำแหน่งของสมองผู้ป่วยที่มีปัญหาการมองเห็นใบหน้า ก็พบว่าไม่ใช่ว่ารอยแผลในสมองจะเป็นที่ไหนก็ได้ เพราะผู้ป่วยส่วนมากมักจะมีรอยแผลที่สมองข้างขวาค่อนไปทางท้ายทอยและสมองส่วนใกล้ขมับ แต่ก็ด้วยข้อจำกัดว่ารอยแผลในสมองของผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค ทำให้ทฤษฎีนั้นยังคงเป็นเพียงสมมติฐานที่รอการพิสูจน์

จนกระทั่งปี 1997 คุณแนนซี่ แคนวิเชอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ปิ๊งไอเดียว่าแทนที่เราจะรอให้คนมีรอยแผลในสมอง เราน่าจะเปรียบเทียบการทำงานของสมองในขณะที่คนมองเห็นใบหน้าเทียบกับเวลามองเห็นอย่างอื่น เช่น บ้าน หรือ อวัยวะส่วนอื่น (เช่น มือ ขา อย่าคิดลึก (เหมือนผม)!) เพื่อหาว่าสมองส่วนไหนที่ตื่นเต้นเวลาเห็นใบหน้ามากเป็นพิเศษ

เธอเลยลองวัดการทำงานสมองของคนปกติ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Functional MRI (fMRI) โดยเครื่องที่ว่านี้สามารถวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่เข้าไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของสมอง โดยมีหลักการง่ายๆ ว่าสมองส่วนใดทำงานมากก็ย่อมต้องการใช้ออกซิเจนมาก ย่อมมีออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงมากเป็นพิเศษ ว่าแล้วเธอก็เกณฑ์อาสาสมัคร 15 คนมาเข้าเครื่อง fMRI แล้วนอนมองใบหน้ากับรูปอื่นๆ ทีละรูปๆ

แนนซี่พบว่า ในอาสาสมัคร 13 คนจาก 15 คน จะมีบริเวณเล็กๆ เท่านิ้วก้อยบริเวณหนึ่งในสมองส่วนใต้ขมับที่ชื่อ fusiform gyrus ที่ตอบสนองเป็นพิเศษต่อภาพใบหน้า (fusiform แปลว่า ‘กระสวย’ เพราะคนตั้งชื่อคนแรกคิดว่าสมองส่วนนี้รูปร่างคล้ายกระสวย — ซึ่งผมก็ยังสงสัยว่ามันเหมือนยังไงนะ)

เพราะเป็นบริเวณสมองชื่อ fusiform gyrus และตอบสนองกับใบหน้าเป็นพิเศษ คนเลยเรียกสมองบริเวณนี้ว่า fusiform face area (FFA) ซึ่งมักจะอยู่ที่สมองด้านขวาและมักเป็นส่วนหนึ่งของรอยแผลที่เกิดกับผู้ป่วยที่สูญเสียการรู้จักใบหน้าเสียด้วย

 

ตัวอย่างภาพหน้าคนและภาพบ้านที่ใช้ในการทดลองของ Nancy Kanwisher และสมองส่วน FFA (1997)

 

แม้กระนั้นตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว การที่เจอปรากฏการณ์ A กับ B ร่วมกันก็ใช่จะสรุปได้ว่า A ทำให้เกิด B หรือ B ทำให้เกิด A เพราะมันแค่อาจจะเกิดร่วมกันเฉยๆ โดยที่ไม่ได้เป็นเหตุและผลของกันและกันก็ได้

ในกรณีนี้เป็นไปได้ว่า FFA อาจจะตื่นเต้นเวลาเห็นใบหน้า แต่การที่ FFA ตื่นเต้นไม่ได้แปลว่ามันมีความจำเป็นต่อการเห็นใบหน้า เหมือนเวลาเราเปิดคอมพิวเตอร์แล้วมีไฟติด ตัวหลอดไฟนั้นเป็นสัญญาณว่าคอมพิวเตอร์กำลังทำงานอยู่ แต่หลอดไฟไม่ได้มีความจำเป็นต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ เพราะต่อให้หลอดไฟดับ แต่คอมพิวเตอร์ก็ยังคงทำงานต่อได้

โอ๊ย เรื่องมากจัง แล้วจะต้องทำยังไงถึงจะพิสูจน์ได้ว่ามันสำคัญจริงๆ

วิธีที่พิสูจน์ว่า A กับ B เชื่อมต่อกันจริงๆ คือต้องไปขยับ A แล้วดูว่า B ขยับตามหรือไม่ หรือตรงกันข้ามคือขยับ B แล้วดูว่า A ขยับหรือไม่ ในกรณีนี้ก็คือการไปรบกวนการทำงานเฉพาะตำแหน่งของ FFA ครับ แล้วดูว่าการมองเห็นใบหน้าจะผิดปกติไปหรือไม่

ว่าแต่ว่าเราจะไปรบกวนการทำงานสมองได้ยังไง

จะบ้าเหรอ คงไม่มีใครโรคจิตไปลองแอบเปิดกะโหลกคนกำลังหลับ แล้วไปลองกระตุ้น FFA ดูหรอกนะครับ

ยกเว้นแต่ว่าคนไข้บางคนมีขั้วไฟฟ้าไปวางอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วพอดี… ซึ่งบังเอิญมีกรณีแบบนั้นอยู่จริงๆ

โรคลมชักเกิดจากระบบไฟฟ้าสมองผิดปกติทำให้คนไข้เกิดอาการได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับตำแหน่งที่ไฟฟ้าลุกลามไป ในโรคลมชักบางประเภทเกิดจากความผิดปกติของไฟฟ้าแค่เพียงจุดเล็กๆ ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล (ซึ่งคนส่วนมากควบคุมอาการจนเป็นปกติได้ด้วยการทานยาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ) อาจจะจำเป็นต้องหาทางเอาจุดเล็กๆ นั้นออกด้วยการผ่าตัด แต่ก่อนอื่นจะต้องระบุพิกัดของไอ้เจ้าจุดเล็กๆ นี้ให้ได้เสียก่อน ด้วยการวางขั้วไฟฟ้าไปบนผิวสมองส่วนต่างๆ

 

ภาพแสดงการวางขั้วไฟฟ้าลงบนผิวสมองด้วยวิธีต่างๆ

 

จุดไคลแมกซ์ก็คือ ในบางครั้งขั้วไฟฟ้าอาจจะไปแปะอยู่บน FFA พอดี ทีมของคุณเพอร์วิซีที่สแตนฟอร์ดจึงใช้โอกาสนี้ลองปล่อยกระแสไฟเบาๆ (มากๆๆ) เข้าไปกระตุ้น FFA ขณะที่คนไข้กำลังมองหน้าคุณหมออยู่

“พอเรานับหนึ่ง…สอง…สามจบแล้ว บอกเรานะครับว่าเห็นอะไร” ทีมบอกกับคนไข้

ทีมเริ่มจากลองทำเป็นเหมือนไฟติดแล้ว แต่ไม่ได้จ่ายกระแสไฟจริงๆ แล้วนับหนึ่งถึงสาม

“ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ” คนไข้ยังเห็นหน้าหมอเหมือนเดิม

พอกระตุ้นด้วยไฟอ่อนๆ จริงๆ

“หนึ่ง…สอง…สาม”

คนไข้ยิ้มแล้วบอกว่า “หน้าหมอแปลกไปครับ…มันเบี้ยวๆ…เหมือนหน้าย้อยไปทางซ้าย”

“ผมมองเห็นตาและอย่างอื่นเหมือนใบหน้าทั่วๆ ไป แต่ผมบอกไม่ได้นะครับว่าเป็นหน้าคุณหมอ เหมือนเป็นหน้าใครก็ได้ … เปลี่ยนเฉพาะใบหน้านะครับ อย่างอื่นเหมือนเดิมเลย เสื้อผ้า เน็คไท”

และเขาก็กลับมามองเห็นใบหน้าเป็นปกติในทันทีที่หยุดกระตุ้น

จนมาถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าการมองเห็นใบหน้าไม่ได้อาศัยเพียงการทำงานของ FFA เท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อมโยงกับสมองบริเวณอื่นๆ เป็นเครือข่ายด้วย โดยแต่ละบริเวณจะทำหน้าที่แตกต่างกันไปเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น สมองบางบริเวณอาจจะเน้นเรื่องการแยกแยะบุคคล บางบริเวณอาจจะเน้นเรื่องความหมายของสีหน้า บางบริเวณอาจจะเน้นเรื่องการแปลผลว่าเป็นคนที่เราเคยรู้จักมาก่อนหรือไม่

ล่าสุดในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์สมองอย่าง ดอริส เซา ไม่พอใจกับการรู้ว่าสมองส่วนไหนทำงานเกี่ยวกับการเห็นใบหน้าบ้าง เธอต้องการจะเข้าใจภาษาที่สมองใช้สื่อสารกัน

เธออยากจะไข ‘รหัส’ ที่เซลล์สมองใช้รับรู้ใบหน้า (neural codes)

สมมติว่าเซลล์สมองแต่ละเซลล์ที่สนใจใบหน้า สนใจคนละแง่มุมของใบหน้า เช่น เซลล์ A อาจจะถูกใจใบหน้ารูปไข่มากกว่ารูปเหลี่ยม เห็นใบหน้ารูปไข่ทีไรจะต้องกรีดร้องทุกที (หมายถึงปล่อยสัญญาณไฟฟ้าถี่มากเป็นพิเศษ) ส่วนเซลล์ B อาจจะสนใจเรื่องสัดส่วนของตากับจมูก ว่าอยู่ใกล้หรือไกลจากกัน เซลล์ C ก็อาจจะสนใจแง่มุมอื่นๆ เช่นเดียวกับเซลล์ D,E,F,G … และอื่นๆ

เพื่อที่จะเข้าใจว่าเซลล์ไหนชอบอะไร ดอริสและทีมวาดใบหน้าจำลองหลายพันหน้าโดยใช้คอมพิวเตอร์  ข้อดีของการสร้างหน้าจำลองก็คือ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนแง่มุมต่างๆ ได้ตามใจชอบ อยากจะให้หน้าไข่มากหรือน้อย ตาใกล้กันหรือไกลกัน อยากจะโหนกแก้มนูนหรือไม่ คางจะแหลมหรือไม่แหลม คิ้วจะเป็นยังไง

จากนั้น เธอแอบสอดขั้วไฟฟ้าเล็กๆ เข้าไปในสมองลิงส่วนที่ชอบใบหน้าเป็นพิเศษ เสร็จแล้วเธอก็เอารูปพวกนี้ไปให้ลิงดู พร้อมๆ กับแอบฟังเซลล์ประสาทเม้าท์มอยกันไปด้วย

ว้าย…เธอดูคิ้วของตานี่สิ อีกเซลล์อาจจะคอมเม้นต์เรื่องรูปปาก และอื่นๆ

แหม ฟังดูง้ายง่าย ถ้าเซลล์สมองพูดกันง่ายๆ แบบนั้นก็คงจะดี แต่เอาเข้าจริงทีมของเธอได้ยินแต่เสียง ‘ครึ่กๆ’ หรือ ‘ครึ่กๆๆๆ’ จากเซลล์หลายๆ ตัวเท่านั้นแหละครับ

หลังจากที่ให้ลิงแต่ละตัวดูรูปวนไป จนพอจะเข้าใจแล้วว่าเซลล์ไหนชอบอะไร ก็ถึงเวลาทำงานทดสอบว่าเธอไขรหัสสำเร็จจริงๆ หรือคิดไปเอง

เธอให้เหตุผลน่าคิดว่า ถ้าเธอรู้แล้วว่าเซลล์ไหนทำอะไรด้วยรหัสแบบไหน ถ้าเธอฟังเสียงเซลล์คุยกันจะต้องบอกได้ว่าลิงตัวนั้นกำลังมองใบหน้าหน้าตาแบบไหนอยู่

คือเธอจะต้องใช้สัญญาณสมองมาวาดภาพใบหน้าได้ เอากับเขาสิ!

และเพื่อให้ผลการทดลองขาวสะอาดที่สุด เธอยังตั้งธงไว้ว่า ภาพหน้าที่เอาไว้ทดสอบ จะต้องเป็นภาพหน้าที่ไม่ซ้ำกับภาพหน้าที่เธอใช้ไขรหัสมาก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่เป็นแค่การจำได้เพราะเคยเห็นมาก่อน

ภาพข้างล่างนี้คือตัวอย่างภาพที่เธอใช้ทดสอบ (ซ้าย) และภาพที่เธอวาดขึ้นมาจากสัญญาณสมอง (ขวา)

 

 

ภาพรูปใบหน้าที่ลิงมองเห็นจริงๆ เทียบกับรูปที่ทำนายจากสัญญาณสมองลิง Doris Tsao (2017)

 

 

แม้วงการวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการรับรู้ใบหน้าจะก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ยังคงมีคำถามสำคัญๆ ที่ยังคงเฝ้ารอคำตอบ เช่น ความสามารถในการมองเห็นใบหน้าเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด หรือเป็นสิ่งที่ประสบการณ์ชีวิตหล่อหลอมให้เกิดขึ้นภายหลังกันแน่

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้าเราไปอยู่บนโลกที่สื่อสารผ่านรักแร้ ทำให้รักแร้มีความสำคัญยิ่งกว่าใบหน้า เราอาจจะมี fusiform gyrus (ที่เราคิดว่าเป็น face area) เอาไว้รู้จักรักแร้ และการกระจายตัวของขนรักแร้แทนใบหน้า? เป็น fusiform axilla area (FAA) แทน?

ถึงเราจะสร้างโลกรักแร้อย่างที่ว่าไม่ได้ (แม้จะมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์เพียงใดก็ตาม :P) แต่ก็มีข้อมูลบางชุดที่ดูเหมือนจะสนับสนุนว่าการมองเห็นใบหน้านั้นได้รับการพัฒนาขึ้นภายหลัง เช่น นักวิทยาศาสตร์ อิซซาเบล เกอร์เทียร ทำการศึกษา ‘เซียนรถ’ และ ‘เซียนนก’ โดยให้ทั้งสองกลุ่มมองดูภาพรถกับนกขณะที่วัดระดับออกซิเจนในสมองส่วน FFA ไปด้วย พบว่า FFA ของทั้งเซียนนกและเซียนรถตื่นเต้นเวลามองเห็นใบหน้าตามคาด

แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ FFA ของเซียนนกคึกคักเวลามองเห็นนกมากกว่าเวลามองเห็นรถ ขณะที่ FFA ของเซียนรถคึกคักเวลามองเห็นรถมากกว่ามองเห็นนก แสดงให้เห็นว่า FFA ที่เราเชื่อว่าถูกสร้างมาเพื่อใบหน้า แท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นเพราะใบหน้ามีความพิเศษในเชิงวิวัฒนาการ แต่เป็นเพราะใบหน้าคือสิ่งที่จำเป็นและเราทุกคนต่างก็ถูกฝึกฝนให้เป็น ‘เซียนหน้า’ ต่างหาก

 

4

 

ความจริงแล้ว ภาวะ ‘ไม่รู้จักใบหน้า’ นี้พบได้ไม่น้อยเลยนะครับ ว่ากันว่าในทุกๆ 50 คน จะเจอคนที่มีปัญหากับการรู้จักใบหน้าคนหนึ่ง (ประมาณ 2-2.5% และคุณเองก็อาจจะมีปัญหานี้อยู่ก็เป็นได้) และคนส่วนมากที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจดจำใบหน้านั้นเป็นมาตั้งแต่จำความได้ (ต่างจากกรณีของธาราซึ่งพึ่งมามีอาการภายหลัง) และอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

หากคุณคิดว่าคุณคือหนึ่งในนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องไม่สบายใจแต่อย่างใดนะครับ เพราะการไม่เก่งเรื่องใบหน้าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางความสามารถอื่นๆ แต่อย่างใด จริงๆ แล้วมีผู้มีชื่อเสียงหลายคนมีภาวะนี้ ตัวอย่างของคนดัง (ดังในอเมริกา แต่อาจจะไม่ดังในเมืองไทย ฮา) เช่น นักวานรวิทยาอย่าง แจน กูเดล, หมอสมองและนักเขียน โอลิเวอร์ แซ็กซ์ หรือศิลปินอย่าง ชักค์ โคลส

โดยเฉพาะ ชักค์​ โคลส ที่โด่งดังจากการวาดรูปใบหน้า ทั้งๆ ที่ตัวเขามีปัญหาเรื่องการรับรู้ใบหน้า

ชักค์เล่าว่าเวลาเขาพยายามบอกให้ได้ว่าใบหน้านั้นเป็นของใคร เนื่องจากเขาไม่สามารถมองเห็นใบหน้าอย่างเป็นองค์รวมได้ เขาจะอาศัยรายละเอียดบนใบหน้าเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นจุดเด่นเฉพาะตัว เช่น สีผม หนวด ไฝ คิ้ว ขนาดใบหู​  เหมือนเปิดแผ่นป้ายทีละใบเพื่อค่อยๆ รวมรวมข้อมูลทีละนิดให้เขาไขปริศนาว่าเจ้าของใบหน้าคือใคร

เขาสื่อสารวิธีการมองใบหน้าของเขาผ่านศิลปะ ด้วยการตีตารางแบ่งภาพใบหน้าของคนที่เขามองเห็นออกเป็นส่วนเล็กๆ หลายๆ ส่วน แล้วค่อยๆ วาดไปทีละช่อง เมื่อมาประกอบรวมกันจึงเกิดเป็นภาพใบหน้า ทำให้เราสามารถเลือกชื่นชมภาพจากระยะใกล้เพื่อเก็บรายละเอียดภายในช่องเล็กๆ แต่ละช่อง หรือจะเลือกชมภาพจากระยะไกลเพื่อให้เห็นใบหน้าทั้งใบ ทำให้ได้อารมณ์ของการใช้รายละเอียดเล็กๆ บนใบหน้ามาปะติดปะต่อกันเป็นใบหน้าอย่างที่เขาเป็น

 

ตัวอย่างภาพผลงานของชักค์ โคลส

 

ทั้งโอลิเวอร์และชักค์ต่างก็เล่าว่า ไม่อยากจะเข้าสังคมเพราะจะถูกคนอื่นมองว่าเป็นคนหยิ่งหรือไม่ให้เกียรติคนอื่นอยู่เป็นประจำ ถึงขนาดที่โอลิเวอร์ต้องมีเลขาเอาไว้คอยบอกคนอื่นๆ ไว้ก่อนว่า ดร.โอลิเวอร์ แซ็กซ์ ไม่ได้หยิ่ง แต่เขาแค่มีปัญหาเรื่องการรู้จักใบหน้า ถ้าทักแล้วเขาจำไม่ได้ก็อย่าตกใจ คนจะได้ไม่เข้าใจผิด เหตุผลหนึ่งที่โอลิเวอร์และชักค์สื่อสารในฐานะผู้ที่ไม่ค่อยเก่งเรื่องการรู้จักใบหน้า คือ การหวังให้ภาวะนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อย่างน้อยจะได้มีคนที่เข้าใจความกระอักกระอ่วนใจของพวกเขาเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย

ไม่รู้ว่าเป็นเหมือนผมไหมครับ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เรามองเห็นกันแค่ครึ่งบนของใบหน้า แค่เท่านี้ก็มีอยู่หลายครั้งแล้วที่ผมลืมทักคนที่ผมรู้จัก หรือไปเผลอทักคนที่ผมไม่รู้จักให้กระอักกระอ่วนใจอยู่บ้างเหมือนกัน ดีที่ยังไม่เคยมีสถานการณ์ต้องอ่านใจใครผ่านหน้ากาก

 

5

 

ในสารคดีที่เกี่ยวกับภาวะไม่รู้จักใบหน้า มีช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ให้กลุ่มคนที่มองไม่เห็นใบหน้าดูใบหน้าของหญิงสาวคนหนึ่ง

ไม่มีใครดูออกว่าหญิงสาวคนนั้นเป็นใคร

“โจ คุณควรจะต้องดูออกว่าผู้หญิงคนนี้คือใคร” ผู้สัมภาษณ์ถามโจ สุภาพสตรีมีอายุท่านหนึ่งโดยเฉพาะ

โจตั้งใจเพ่งอยู่สักครู่ ก่อนที่จะยืนยันว่า เธอไม่รู้จริงๆ ว่าผู้หญิงคนนั้นคือใคร

“เหมือนใครสักคนในครอบครัวไหมคะ” ผู้สัมภาษณ์ถามต่อ

โจเอียงคอ พยายามนึกอย่างมาก แต่ก็นึกไม่ออก

“ลูกสาวคุณไงคะ”

โจอาจจะอ่านใบหน้าไม่ออก แต่ใบหน้าของเธอแสดงออกชัดเจนว่าเธอเจ็บปวดเพียงใด

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ทั้งที่การมองเห็นใบหน้ามีความหมายต่อชีวิตของเรามหาศาล แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นความสำคัญ อาจเป็นเพราะเราสามารถ ‘อ่าน’ ใบหน้าได้ในชั่วพริบตา ราวกับว่าเป็นความสามารถที่ได้มาฟรีๆ ทั้งที่แท้จริงแล้วเกิดจากระบบการทำงานของสมองที่ถูกออกแบบขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

และอย่างน้อยการที่เข้าใจว่าคนบางคนอาจจะไม่สามารถจดจำหรืออ่านใบหน้าได้ง่ายดายเหมือนเรา คงทำให้เราไม่หงุดหงิดจนเกินไปเวลาเจอใครที่จำเราไม่ได้

โดยเฉพาะเวลาที่เจอคนที่ (เคย) สำคัญกับเรา แต่ถูกเขามองผ่านเหมือนเราไม่เคยรู้จักกัน

สมองส่วนรับรู้ใบหน้าของเขาอาจจะไม่ทำงานแล้วก็ได้

 

อ่านเพิ่มเติม

  1. Yarbus AL. Eye movements and vision. Springer; 2013 Nov 11.
  2. Thompson P. Margaret Thatcher: a new illusion. Perception. 1980.
  3. Young AW, Hellawell D, Hay DC. Configurational information in face perception. Perception. 2013 Nov;42(11):1166-78.
  4. Parvizi J, Jacques C, Foster BL, Withoft N, Rangarajan V, Weiner KS, Grill-Spector K. Electrical stimulation of human fusiform face-selective regions distorts face perception. Journal of Neuroscience. 2012 Oct 24;32(43):14915-20.
  5. Sacks O. Face blind. The New Yorker. 2010 Aug;86:25-36.
  6. Jenkins R, Dowsett AJ, Burton AM. How many faces do people know?. Proceedings of the Royal Society B. 2018 Oct 10;285(1888):20181319.
  7. Chang L, Tsao DY. The code for facial identity in the primate brain. Cell. 2017 Jun 1;169(6):1013-28.
  8. Tsao DY. Face values. Scientific American. 2019;320(2):22-9.
  9. ดูสัมภาษณ์ Doris Tsao ได้ที่นี่
  10. Kanwisher N, McDermott J, Chun MM. The fusiform face area: a module in human extrastriate cortex specialized for face perception. Journal of neuroscience. 1997 Jun 1;17(11):4302-11.
  11. Tarr MJ, Gauthier I. FFA: a flexible fusiform area for subordinate-level visual processing automatized by expertise. Nature neuroscience. 2000 Aug;3(8):764-9.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save