fbpx
neglect syndrome : เมื่อจู่ๆ โลกซีกหนึ่งหายไป

neglect syndrome : เมื่อจู่ๆ โลกซีกหนึ่งหายไป

[box]

Brainbug คอลัมน์ว่าด้วยเรื่องสมอง ที่อ่านแล้วไม่ปวดหมอง พาเราท่องเข้าไปในจักรวาลก้อนเต้าหู้อัศจรรย์ เลาะสำรวจแบบเอ็กคลูซีฟ จนมองเห็นสมองทั้งในมุมที่ผิดพลาดไม่สมบูรณ์แบบ และในมุมชาญฉลาดจนคาดไม่ถึง

[/box]

 

ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

 

ผมกับเพื่อนหยิบกาวน์ยาวขึ้นสวม แล้วเดินแหวกฝูงชนในห้องฉุกเฉิน มองหาเปลหมายเลข 24

“สวัสดีครับคุณลุง เราเป็นนิสิตแพทย์ขอมาซักประวัตินะครับ” พวกเรายกมือสวัสดีคุณลุง ก่อนที่ผมจะเดินเข้าไปทางซ้าย ส่วนเพื่อนเดินเข้าไปทางขวาของเปล พร้อมยกสมุดและปากกาขึ้นเตรียมซักประวัติ

คุณลุงยกมือขวาข้างเดียวขึ้นรับไหว้ แล้วส่งยิ้มให้เพื่อนผม ส่วนมือซ้ายยังอยู่ข้างตัวไม่ขยับ

“คุณลุงปีนี้อายุเท่าไรแล้วครับ” ผมถาม

ลุงไม่ตอบ ไม่หันมา อาจจะไม่ได้ยิน เพื่อนผมถามซ้ำ “คุณลุงปีนี้อายุเท่าไรแล้วนะครับ”

“62 ครับ” คุณลุงตอบ

“เป็นอะไรมาโรงพยาบาลครับ” ผมถามต่อ

ลุงยังไม่ตอบ ไม่มองหน้า

“คุณลุงเป็นอะไรถึงมาโรงพยาบาลนะครับ” เพื่อนผมถาม

“อ่อนเพลียครับ” คุณลุงตอบทันที

 

ตลอดครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น คุณลุงคุยแต่กับเพื่อนผม จะหันมาคุยกับผมก็แค่ไม่กี่คำ เฉพาะเมื่อผมเซ้าซี้มากๆ  จำได้แม่นเลยว่าตอนนั้นผมแอบคิดในใจว่าลุงอาจจะไม่ชอบขี้หน้าผม พอเราจดข้อมูลแล้วกลับไปรายงานหมอระบบประสาทรุ่นพี่ เขากลับบอกให้เราไปขอให้ลุงวาดหน้าปัดนาฬิกา

ครับ อ่านไม่ผิดหรอกครับ ให้คุณลุงวาดหน้าปัดนาฬิกา…

 

“นาฬิกาบอกเวลา 11 นาฬิกา 10 นาทีนะครับ” เราพยุงคุณลุงลุกขึ้น พร้อมส่งปากกากับกระดาษให้

คุณลุงรับปากกาไปพูดพึมพำ “11 นาฬิกา 10 นาที” แล้วลงมือวาด

 

neglect syndrome : เมื่อจู่ๆ โลกซีกหนึ่งหายไป

 

รูปนาฬิกาของคุณลุงมีตัวเลขตั้งแต่ 1-12 ครบอย่างที่ควรจะเป็น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าตัวเลขทั้งสิบสองตัว ดันไปเบียดกันอยู่ทางขวา เรียงตัวกันลงมาเป็นครึ่งวงกลม

เราทดสอบต่อด้วยการเดินเข้าไปตรงหน้าคุณลุงแล้วยกนิ้วชี้ทั้งสองข้างขึ้นมาในตำแหน่งที่ควรจะมองเห็น ให้นิ้วข้างหนึ่งอยู่ทางซ้าย ส่วนอีกข้างอยู่ทางขวาของคุณลุง

ลองกระดิกนิ้วที่อยู่ทางข้างขวาของคุณลุงแล้วถามว่า “เห็นนิ้วกระดิกอยู่ทางข้างไหนครับ”

“ข้างขวาครับ” คุณลุงตอบ

เปลี่ยนมากระดิกนิ้วที่อยู่ทางข้างซ้ายของคุณลุง ถามซ้ำ “เห็นนิ้วกระดิกอยู่ทางข้างไหนครับ”

“ข้างซ้ายครับ”

คราวนี้กระดิกพร้อมกันสองข้าง … “ตอนนี้ล่ะครับ”

“ข้างขวาครับ”

ผมบอกให้คุณลุงหลับตาแล้วลองลูบแขนข้างซ้าย-ขวา และเทียบกับสองข้างพร้อมๆ กัน แทนการกระดิกนิ้ว ผลที่ได้ก็เหมือนกัน “ซ้ายครับ” “ขวาครับ” “ซ้ายครับ”

 

ให้วาดรูปดอกไม้ กลีบใบไม้ก็จะมีอยู่เพียงข้างขวา

หวีผมก็จะหวีแต่เพียงข้างขวา โกนหนวดข้างเดียว

กินข้าวก็จะกินแต่เพียงข้างขวาของจาน

 

มีอยู่วันหนึ่งผมยืนดู คุณลุงกำลังทานข้าวเฉพาะฝั่งขวาของถาด พอข้าวฝั่งขวาหมด คุณลุงก็หยุดทาน

คุณพยาบาลเดินมาแล้วเอามือหมุนถาดบนโต๊ะครึ่งรอบ เปลี่ยนของที่เคยอยู่ข้างซ้ายมาอยู่ข้างขวา

คุณลุงก้มดูแล้วหยิบช้อนตักข้าวที่เหลือเข้าปาก

 

2

 

40 กว่าปีที่แล้ว มีนักวิจัยสองคนชื่อ Bisiach กับ Luzzatti อยู่เมืองมิลานที่มีโบสถ์ชื่อดัง Piazza del Duomo อยู่ใจกลางจัตุรัสที่ใครๆ ก็รู้จัก ถ้าเป็นบ้านเราก็น่าจะระดับสนามหลวงหรือสยามสแควร์อะไรทำนองนั้น พี่สองคนนี้เขาสนใจคนไข้ที่มีอาการแบบคุณลุง แต่ตั้งคำถามต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภาพในจินตนาการของคนกลุ่มนี้ ก็เลยทดลองด้วยการให้คนไข้ลองจินตนาการว่าตัวเองกำลังยืนหันหลังให้โบสถ์ Piazza del Duomo แล้วให้คนไข้ลองบรรยายว่า ที่จัตุรัสนี้มีอะไรเป็นแลนด์มาร์กสำคัญบ้าง ผลก็คือว่าคนไข้บรรยายแต่แลนด์มาร์กที่อยู่ทางด้านขวาจากด้านหน้าของตัวโบสถ์​

ผลที่ได้นี่ผมก็ว่าน่าสนใจแล้วนะ แต่ว่ายังครับ ยังไม่จบ ยังมีต่อ

มีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกันว่า ไอ้แลนด์มาร์กด้านขวาเวลามองจากด้านหน้าของตัวโบสถ์ มันบังเอิ๊นบังเอิญน่าสนใจกว่าด้านซ้ายของตัวโบสถ์

แล้วจะรู้ได้ยังไงน่ะเหรอครับ?

แทนที่จะไปไล่เดินทำโพลสำรวจความเห็นว่าแลนด์มาร์กตรงไหนน่าสนใจกว่ากัน ตาสองคนนี้ก็แค่ขอให้คนไข้คนเดิมจินตนาการใหม่ครับ แต่คราวนี้ ให้คนไข้ลองจินตนาการว่าตัวเองยืนหันหน้าให้โบสถ์ (แทนที่จะจินตนาการว่ายืนหันหลังให้โบสถ์เหมือนเมื่อกี้) เพียงแค่นี้ ของที่เคยอยู่ด้านซ้ายจะย้ายมาด้านขวา ด้านขวาก็ย้ายไปด้านซ้าย พอคราวนี้คนไข้รายงานเป็นแลนด์มาร์กที่อยู่ทางด้านขวาของตำแหน่งใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้พูดถึง ปริศนาก็ไขกระจ่าง

 

 

แผนที่ของจัตุรัสเมืองมิลานที่มีโบสถ์ Piazza del Duomo เป็นสิ่งก่อสร้างหลัก Bisiach ให้คนไข้จินตนาการว่าตัวเองยืนหันหลังให้โบสถ์ (ตำแหน่งสามเหลี่ยมสีน้ำเงินใหญ่) ผลคือคนไข้รายงานแลนด์มาร์กที่อยู่ทางด้านขวาของภาพในจินตนาการ (จุดสีน้ำเงินเล็กๆ) พอเปลี่ยนให้คนไข้จินตนาการว่าตัวเองยืนหันหน้าเข้าโบสถ์ (สามเหลี่ยมสีแดงใหญ่) คนไข้รายงานแลนด์มาร์กที่ก่อนนี้ไม่ได้รายงาน (จุดสีแดงเล็กๆ) ซึ่งก็ยังอยู่ทางด้านขวาของภาพในจินตนาการอยู่ดี / ที่มาภาพ Bisiach, E., & Luzzatti, C. (1978). Unilateral neglect of representational space.
แผนที่ของจัตุรัสเมืองมิลานที่มีโบสถ์ Piazza del Duomo เป็นสิ่งก่อสร้างหลัก Bisiach ให้คนไข้จินตนาการว่าตัวเองยืนหันหลังให้โบสถ์ (ตำแหน่งสามเหลี่ยมสีน้ำเงินใหญ่) ผลคือคนไข้รายงานแลนด์มาร์กที่อยู่ทางด้านขวาของภาพในจินตนาการ (จุดสีน้ำเงินเล็กๆ) พอเปลี่ยนให้คนไข้จินตนาการว่าตัวเองยืนหันหน้าเข้าโบสถ์ (สามเหลี่ยมสีแดงใหญ่) คนไข้รายงานแลนด์มาร์กที่ก่อนนี้ไม่ได้รายงาน (จุดสีแดงเล็กๆ) ซึ่งก็ยังอยู่ทางด้านขวาของภาพในจินตนาการอยู่ดี / ที่มาภาพ Bisiach, E., & Luzzatti, C. (1978). Unilateral neglect of representational space.

 

 

เคสทั้งหลายนี้ เป็นภาวะที่เรียกว่า neglect syndrome เกิดจากปัญหาในสมองตรงตำแหน่งเล็กๆ ใกล้กลางกระหม่อมเยื้องไปทางด้านขวาหลังส่วน parietal cortex  ซึ่งตามปกติมีหน้าที่คอยสนใจข้อมูลที่มาจากสิ่งแวดล้อมหรือร่างกายซีกตรงข้าม แต่ในช่วงที่สมองบริเวณเล็กๆ ด้านขวาไม่ทำงานนั้นเอง ทำให้สมองมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยสิ่งแวดล้อมและร่างกายซีกซ้าย ทั้งการมองเห็น การสัมผัส การได้ยิน ราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่โลกซีกซ้ายหลุดหายไปเสียเฉยๆ

ในเคสคุณลุง สุดท้ายเคราะห์ยังดีที่เนื้อสมองเสียหายไม่มาก อาการคุณลุงจึงกลับมาเกือบปกติ และอย่างน้อยผมก็สบายใจแล้วว่าที่คุณลุงไม่ยอมคุยกับผมก่อนหน้านี้ เพราะผมดันไปยืนฝั่งซ้ายที่คุณลุงไม่สนใจพอดี ไม่ได้เป็นเพราะคุณลุงเหม็นขี้หน้าผม!

การทดลองที่ Bisiach และ Luzzatti ทำก็คือการหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับโลกภายในของคนไข้ neglect syndrome ผมลองคิดตามเล่นๆ ว่า ถ้าเราให้คนไข้จินตนาการถึงพระจันทร์ พระจันทร์ของคนเป็น neglect syndrome คงไม่มีวันเต็มดวง

 

3

 

ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ มีข้อมูลที่ไหลเข้าทางตาหูจมูกปากและร่างกายแทบจะทุกวินาที เรารู้สึกว่าแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามในการมอง-ฟัง-ดม-อม-ชิม-รู้สึก แม้แต่น้อย

แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดนั้นตลอดเวลา คงต้องใช้พลังงานมหาศาล

ดังนั้นสิ่งที่สมองของเราทำคือ การเลือกวิเคราะห์เพียงบางข้อมูลที่มีความสำคัญ​เท่านั้น การรับรู้ก็จะเกิดขึ้นเป็นบางจุดต่อช่วงเวลา และนำมาเชื่อมต่อกันเป็นภาพใหญ่ในภายหลัง ทำให้น่าคิดว่าที่เราคิดว่าเรามองเห็นทุกอย่างที่ตกกระทบตา แต่จริงๆ แล้วเรามองเห็นแค่ไหนกัน?

ประมาณ 20 ปีที่แล้ว คุณสองนักวิจัย Simons & Chabris ช่วยกันสร้างวิดีโอขึ้นมา ในวิดีโอมีนักบาสทีมเสื้อเชิ้ตขาวกับทีมเสื้อเชิ้ตดำ มีทีมละ 3 คนเดินสวนกันไปมาพร้อมโยนส่งลูกบาสระหว่างคนในทีมไปด้วย ดูไปก็นึกถึงสมัยเรียนวิชาบาสเก็ตบอลสมัยมัธยมยังไงยังงั้น

หน้าที่ของผู้เข้าร่วมวิจัยก็ง่ายๆ แค่ต้องคอยนับว่าทีมขาวผ่านลูกบอลกันกี่ครั้ง

(ถ้ายังไม่เคยดูวิดีโอ แนะนำให้ดูก่อนนะครับ)

 

 

พอวิดีโอจบก็ถามผู้เข้าร่วมวิจัยว่า ตกลงว่าทีมขาวส่งลูกบอลกันกี่ครั้ง

เออ ว่าแต่ว่า ตอนที่กำลังนับๆ อยู่น่ะ สังเกตเห็นอะไรผิดปกติในวิดีโอรึเปล่า

เรื่องของเรื่องก็คือว่า ช่วงตอนช่วงกลางๆ ของวิดีโอจะมีคนใส่ชุดกอริลลาเดินเฉิบๆ เข้ามาจากด้านข้าง ฝ่ากลุ่มนักบาสฯ เข้าไปยืนอยู่ตรงกลางจอ แถมเฮียแกยังหยุดยืนหันหน้าให้กล้อง ทุบหน้าอกสองสามที ก่อนจะเดินออกไปอีกฝั่งหนึ่งอย่างคูลๆ  ไอ้ที่ฮาคือ มีผู้เข้าร่วมวิจัยเกือบครึ่งทีเดียว (46%) ที่ไม่เห็นไอ้เจ้ากอริลลานี้เลย (ผมก็ด้วยเหอะ!)

Simons & Chabris ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า inattentional blindness ซึ่งลองคิดดูแล้ว ก็อาจจะเรียกว่าเป็น neglect syndrome แบบที่เจอในคนปกติอย่างเราๆ นี่แหละ

 

ภาวะ neglect syndrome นี้เป็นเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของความบกพร่องที่เกิดจากรอยแผลเพียงตำแหน่งเล็กๆ ในสมอง ใครจะไปคิดว่าเนื้อสมองบริเวณเล็กๆ ในสมองข้างหนึ่งจะมีหน้าที่สำคัญในการเบนความสนใจไปยังข้อมูลในโลกภายนอกและภายในของฝั่งตรงกันข้าม

เช่นเดียวกับใครจะไปคิดว่ารอยแผลเล็กๆ ในสมองบริเวณอื่นๆ จะทำให้จู่ๆ เราก็คิดคำพูดไม่ออก พูดคล่องแต่ฟังไม่เข้าใจ อ่านหนังสือไม่ได้ คิดเลขไม่ออก จำหน้าคนไม่ได้  ใส่เสื้อไม่ได้ พยายามจำอะไรก็ลืม มองเห็นแต่บอกว่าไม่เห็น มองไม่เห็นแต่บอกว่าเห็น เห็นลูกบิดประตูทีไรแล้วห้ามใจไม่ได้ต้องไปเปิด พูดภาษาไทยแย่ลง แต่ดันพูดภาษาอังกฤษคล่องขึ้น และที่อันตรายขั้นสุด อยากจะชูนิ้วชี้ดันได้กลายเป็นนิ้วกลาง!

การศึกษาเหล่านี้ทั้งจากคนไม่สบายและคนปกติอย่างเราๆ ทำให้น่าคิดตามว่า สมองคนเราที่หน้าตาเหมือนเต้าหู้ย่นๆ จริงๆ ไม่ได้ทำหน้าที่เดียวกันทั้งก้อนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจ แต่ละบริเวณทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ข้างซ้ายข้างขวา ข้างหน้าข้างหลัง ข้างบนข้างล่าง ทำงานไม่เหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อโยงใย ไม่ได้ทำงานแยกส่วนกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แม้จะมีข้อจำกัดนู้นนี้นั้น ไม่ได้ทรงพลังอย่างคอมพิวเตอร์ทันสมัย แต่สมองของเราก็มีวิธีฉลาด (แกมโกง?) ในการประมวลผลจนเป็นที่มาของการรับรู้ เป็นที่มาของภาษา เป็นกล่องเก็บความทรงจำและการเรียนรู้ เป็นบ่อเกิดของความเกลียด ความโกรธ ความอิจฉา ความใคร่ ความกลัว และความเศร้า เช่นเดียวกับความสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ ความสุข ความรัก ความหวัง ความเชื่อ ความเมตตา และปัญญา

ทั้งหมดนี้เกิดอยู่ภายในก้อนเต้าหู้ในหัวของเรานี่เอง

 

 

อ้างอิง

  1. Chabris, C., & Simons, D. (1999). Gorilla Experiment. The Invisible Gorilla.
  2. Bisiach, E., & Luzzatti, C. (1978). Unilateral neglect of representational space. Cortex, 14(1), 129-133.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save