fbpx
สื่อสาธารณะอายุเกือบร้อยปีมีหวั่นไหว เมื่อบอริสไล่เช็คบิล บีบีซี

สื่อสาธารณะอายุเกือบร้อยปีมีหวั่นไหว เมื่อบอริสไล่เช็คบิล บีบีซี

สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

พลันที่ผลการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมปรากฏออกมาว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟของ บอริส จอห์นสัน ได้เสียงท่วมท้นเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สมัยมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ และแม้ยังมิทันได้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ทีมงานที่ปรึกษาของผู้ได้ชัยชนะก็รีบส่งสัญญานผ่านสื่อต่างๆ ว่าถึงเวลา ‘เช็คบิล’ บีบีซี

ทีมงานหาเสียงของจอห์นสันสะสมความแค้นต่อสื่อสาธารณะที่ทยอยเปิดโปงจับผิดข้อมูลโกหก (fact-checking) และการโฆษณาหาเสียงฝ่ายรัฐบาลที่ลวงให้ชาวบ้านหลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่จริง รวมทั้งกรณีที่จอห์นสันผูกใจเจ็บหลังจากโดนพิธีกรของบีบีซี คือ แอนดรูว์ นีล ผู้จัดรายการสัมภาษณ์ผู้นำพรรคการเมืองระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ที่ออกมาท้าทายผ่านสื่อว่าเหลือหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียวที่ไม่ยอมมาให้สัมภาษณ์สดออกทีวีบีบีซี และตั้งคำถามว่า “หรือกลัวการตรวจสอบ?”

เป็นที่น่าสังเกตุด้วยว่าระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทีมงานของบอริส จอห์นสัน รู้ดีว่าหัวหน้าพรรคของตัวเองอาจจะไปเผลอ ‘โป๊ะแตก’ กลางอากาศ ในรายการสดที่เป็นรายการเรือธงของบีบีซี อย่างเช่น รายการทูเดย์ของวิทยุบีบีซีเรดิโอโฟร์, นิวส์ไนท์ของทีวีบีบีซีทู หรือ แอนดรูว์ นีลอินเทอร์วิว ของทีวีบีบีซีวัน ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเป็นรายการประเภท ‘จัดหนัก’ จึงแหวกธรรมเนียมไม่ยอมรับนัดไปออกรายการสดดังกล่าว กลัวถูกเปิดแผลกลางอากาศ ในขณะที่หัวหน้าพรรคอื่นๆ ต่างยอมไปรับการตรวจสอบแบบเข้มข้นกันหมดแทบทุกคน ตามประเพณีทางการเมืองอังกฤษที่สืบเนื่องมา

ขณะเดียวกันพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ก็รู้สึกว่าบีบีซีจ้องจะจับผิดหัวหน้าพรรคของตัวเองในหลายเรื่องหลายประเด็น แต่ไม่ยอมออกแรงตรวจสอบหัวหน้าพรรครัฐบาลในแบบเสมอหน้ากัน ภาพรวมการรายงานข่าวเลือกตั้งของบีบีซีที่ผ่านมาเอียงข้างให้ประโยชน์แก่พรรครัฐบาลมากกว่า ทำให้ฝ่ายตนสูญเสียคะแนนเสียงและพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

สำหรับคนที่เฝ้าดูการเมืองและสื่อในอังกฤษมานานๆ ก็จะไม่แปลกใจ เพราะเมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองชนะเลือกตั้งแบบเสียงท่วมท้น ฝ่ายค้านก็ย่อมอ่อนปวกเปียก สื่อสาธารณะจะกลายเป็นพลังการตรวจสอบสำคัญโดยปริยาย ทำให้นักการเมืองที่กำลังคึกคะนองกับชัยชนะมักจะเปิดศึกเล่นงานสื่อสาธารณะก่อนเพื่อตัดไม้ข่มนาม ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองคอนเซอร์เวทีฟ หรือเลเบอร์ ตัวอย่างที่เห็นชัดในยุครัฐบาลโทนี แบลร์ ซึ่งได้เสียงข้างมากท่วมท้นหลายสมัย ก็เล่นงานบีบีซีในกรณี ดร.เคลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธร้ายแรงของกระทรวงกลาโหมที่ออกมาปูดกับนักข่าวบีบีซีว่า ซัดดัม ฮุสเซน ไม่มีอาวุธร้ายแรงอย่างที่นายกฯ โทนี แบลร์ ยกเหตุอ้างในสภาเพื่อขอมติไปร่วมกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช บุกรุกอิรัก และต่อมาหลังสงครามสงบก็ไม่พบอาวุธร้ายแรงของซัดดัมจริงๆ ตามที่บีบีซีนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ

ในเวลานั้นนักข่าวสืบสวนสอบสวนของบีบีซีนำข้อมูลของ ดร.เคลลี ไปออกรายการทูเดย์ของวิทยุบีบีซีเรดิโอโฟร์ ทำให้ทำเนียบรัฐบาลยุคโทนี แบลร์ เป็นฟืนเป็นไฟ และเปิดศึกรบกับบีบีซี จนนักข่าว บก. ผู้บริหารและประธานบอร์ดบีบีซี ต้องลาออก ยังเป็นแผลที่เจ็บปวดมาถึงทุกวันนี้

ดังนั้นกรณีที่ทีมงานของบอริส จอห์นสันออกมาปล่อยข่าวตามสื่อต่างๆ ว่าบีบีซีเป็นศัตรูถาวรของพรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้น คงจะเป็นอคติของนักการเมืองที่หวาดกลัวการตรวจสอบของสื่ออิสระ บีบีซีเพียงทำหน้าที่สื่อสาธารณะตรวจสอบทำความจริงให้ปรากฏสู่สาธารณะ และนำผู้มีอำนาจออกมารับผิดชอบกับการกระทำ ‘To hold the powerful to account’ ซึ่งเป็นบทบาทพื้นฐานของสื่อในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองของพรรคไหนก็ตาม

ทีมงานของบอริส จอห์นสันเปิดเกมเชิงรุกด้วยการเล็งเป้าไปที่ TV licence fee หรือค่าธรรมเนียมรับบริการวิทยุโทรทัศน์ ที่เป็น funding model อันเป็นแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงบีบีซีมานานเกือบร้อยปี ที่ทุกครัวเรือนทั่วประเทศจะต้องจ่ายให้บีบีซีในแต่ละปี เพราะพวกเขารู้ดีว่าระบบเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนี้กำลังหมดความหมายไปในยุคที่มีสื่อดิจิทัลหลากหลายให้ประชาชนเลือก

ตามกฎหมายในสหราชอาณาจักรเจ้าของครัวเรือนจะต้องชำระค่าธรรมเนียมนี้ (ปีนี้ 157.50 ปอนด์) หากมีเครื่องรับวิทยุ ทีวี หรือคอมพิวเตอร์ที่รับรายการสตรีมมิ่งของ BBCIPlay หากถูกจับได้ว่าไม่จ่ายค่าธรรมเนียม อาจจะถูกนำตัวขึ้นศาลเพราะถือว่าเป็นความผิดอาญา

ระบบการหาทุนมาประกอบการสื่อสาธารณะแบบเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยตรงจากประชาชนถ้วนหน้าแบบนี้เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของบีบีซี จุดแข็งคือได้เงินทุนเป็นกอบเป็นกำ (ปีที่แล้ว 3.69 พันล้านปอนด์) และทำให้บีบีซีเชื่อมโยงกับผู้จ่ายเงินโดยตรงไม่ผ่านระบบการจัดสรรงบประมาณภาษีประจำปี ทำให้เป็นอิสระจากอำนาจการเมือง เพราะเจรจาต่อรองอัตราค่าธรรมเนียมกันทุกๆ สิบปี ทำให้บีบีซีสามารถ ‘จัดหนัก’ นักการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้ แต่ที่เป็นจุดอ่อนคือเป็นระบบภาษีที่เรียกเก็บทุกคนในอัตราเดียวกันหมดไม่ว่ายากดีมีจน ซื่งเป็นประเด็นที่บีบีซีควรต้องทบทวนเช่นกัน และระยะหลังนี้เริ่มเกิดความไม่เป็นธรรมในยุคที่มีความหลากหลายในทางเลือกของสื่อเพิ่มมากขึ้นในยุคดิจิทัลที่ผู้คนหันไปบริโภคคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ใช่จากบีบีซีเจ้าเดียวอีกต่อไป

การตรวจจับผู้ลักลอบดูรายการบีบีซีโดยไม่จ่ายค่าธรรมเนียมมีจริงและมีการดำเนินคดีตามกฎหมายก็จริง แต่ก็เป็นจำนวนน้อยที่จะถึงขั้นต้องติดคุกติดตารางกัน ส่วนใหญ่จะต่อรองผ่อนชำระกันมากกว่า  และผลสำรวจสองปีที่แล้วพบว่าครัวเรือนถึง 94% ทั่วประเทศยอมจ่ายภาษีพิเศษนี้

ทีมงานของบอริส จอห์นสันก็คงหวังผลบางอย่างที่ออกมาเขย่าบีบีซี ถึงขั้นปล่อยข่าวว่าจะออกกฎหมายยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม TV licence fee แล้วให้ผู้ชมรายการบีบีซีจ่ายเป็นค่าสมาชิกแบบค่าย Netflix ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายองค์กรสื่อสาธารณะแบบบีบีซีที่ตั้งขึ้นตามกฎบัตร Royal Charter โดยกำกับให้มีบทบาทรับใช้ผลประโยชน์สาธารณะ (public service remit) เป็นเงื่อนใขในการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ซึ่งทำให้บีบีซีแตกต่างจากสื่อโดยทั่วไป ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งอย่างที่คนรุ่นดิจิทัลเข้าใจกัน

ข้อกำหนดในกฎบัตรดังกล่าวทำให้บีบีซีเป็นองค์การสื่อผลิตและให้บริการในรูปแบบของ public goods คล้ายกับสวนสาธารณะ ห้องสมุดสาธารณะ โรงพยาบาลหลวง (NHS) โรงเรียนหลวง (comprehensive school) ที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้ฟรีทั่วหน้า ไม่ว่าจะใช้มากใช้น้อย หรือไม่ใช้เลย แต่ทุกคนจ่ายภาษีให้ส่วนกลางเพื่อการจัดบริการฟรีดังกล่าว ระบบ funding model ของบีบีซีก็เช่นกัน และบีบีซีก็มีหน้าที่ต้องผลิตคอนเทนต์และให้บริการที่เป็น public goods ที่มี pubic values ตามข้อกำหนดในกฎบัตร

อย่างกรณีโต้เถียงในประเทศไทยเรื่องสถานีมักกะสัน ว่าควรจัดให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อเป็นปอดของเมืองหลวงแบบไฮด์ปาร์กของลอนดอน เซ็นทรัลปาร์กของนิวยอร์ก สวนป่าชินจูกุกลางโตเกียว ซึ่งจะทำให้มักกะสันเป็น public goods เป็นปอดของเมืองหลวงที่ประชาชนทุกคนใช้ประโยชน์ได้ฟรี หรือจะเป็นศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดของเอเชียซึ่งจะทำให้พื้นที่สีเขียวแปลงสภาพเป็น consumers goods เป็นแหล่งการค้าที่พลุกพล่าน ลานจอดรถขนาดใหญ่ ซ้ำเติมเพิ่มฝุ่นและมลภาวะในอากาศ

สื่อสาธารณะก็เช่นกันที่ไม่ใช่สถานีโทรทัศน์แบบที่ทีมงานของบอริส จอห์นสันเข้าใจ แต่เป็นสถาบันทางสังคมที่มีหน้าที่ส่งเสริมค่านิยมสาธารณะ (public values) ที่สำคัญอย่างเช่นการส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตย พัฒนาคุณภาพพลเมือง (democratic value) และส่งเสริมค่านิยมทางด้านความรู้การศึกษา และพลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม (educational, culture and creative values) ซึ่งบีบีซีได้สะท้อนออกมาในรูปของคอนเทนต์คุณภาพสูง หลากหลาย กระจายออกตามแพลตฟอร์มต่างๆ ในยุคดิจิทัล ทั้งในประเทศและในต่างประเทศมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งบีบีซีกลายเป็น global brand ที่เด่นชัดได้รับความเชื่อถือและนิยมในระดับสากล มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ตอบแทนประชาชนผู้เสียภาษีพิเศษนี้ได้อย่างคุ้มค่า ลำพังการส่งออกสินค้าจาก creative industry ที่ได้รับแรงบัลดาลใจจากบีบีซี เช่นคอนเทนต์หรือฟอร์แมตรายการทีวี ก็เรียกว่าคุ้มค่าแล้ว

ดังนั้นความคิดของนักการเมืองที่มองสื่อสาธารณะเป็นเพียง consumers goods หรือสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งที่ต้องรับใช้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งนั้น จึงเป็นความคิดที่ผิดพลาดและสวนทางกับระบอบประชาธิปไตย และการคุกคามสื่อสาธารณะเท่ากับเป็นการคุกคามค่านิยมสาธารณะด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักเพราะนักการเมืองเหล่านี้มักจะขาดความซื่อตรงและไม่โปร่งใสในวิธีการแสวงหาอำนาจ เห็นได้ชัดว่าช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ทีมงานของพรรครัฐบาลไม่ได้บรรจุนโยบายที่ว่าจะมีการปฏิรูปการจัดเก็บค่าธรรมเนียม TV licence fee ในเอกสารแถลงนโยบายพรรค เพราะรู้ว่าประเด็นนี้อ่อนไหวอาจจะทำให้เสียคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ง่าย พอชนะเลือกตั้งค่อยหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขย่า

ส่วนประเด็นจำนวนผู้ชมหรือผู้ฟังหรือผู้ใช้คอนเทนต์ของบีบีซี ที่ในประเทศไทยเรียกว่าเรตติ้งนั้น ก็มีนักการเมืองบางคนพูดถึงเรตติ้งของบีบีซีที่ต่ำลง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่จริงทั้งหมดอีกนั่นแหละ เพราะรายการบันเทิงที่จำต้องมีเรตติ้งสูงนั้น รายการของบีบีซีทีวีได้เรตติ้งสูงสุดอันดับหนึ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์ที่ผ่านมากว่า 14 ล้านคนเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นทีวีพาณิชย์ แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าบางรายการมีเรตติ้งน้อย แต่บีบีซีก็จำเป็นต้องผลิตออกมารับใช้ผู้ชมรายการเหล่านั้นแม้จะมีจำนวนน้อย เพราะผู้ชมเหล่านั้นต่างก็จ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้บีบีซี เขาก็ควรได้ดูคอนเทนต์ที่เขาต้องการดูเช่นกัน เป็นหน้าที่ของบีบีซีที่จะต้องรับใช้ความหลากหลายของสังคม ดังที่เซอร์ จอห์น รีธ ผู้อำนวยการคนแรกของบีบีซี เคยกล่าวเอาไว้ว่า “บีบีซีต้องรวบรวมความหลากหลายของสังคมเอาไว้มาที่ตัวคนคนเดียว” และยืนยันได้เลยว่าผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในราชอาณาจักรแห่งนี้ ไม่มีใครกล่าวว่าตนไม่เคยได้รับหรือสัมผัสคอนเทนต์ของบีบีซี

บีบีซีจะถึงเวลาครบรอบฉลองร้อยปีในอีก 2 ปีข้างหน้า (2022) ซึ่งถือว่าเป็นสื่อสาธารณะที่มีอายุยืนยาวที่สุดเป็นต้นแบบที่หลายๆ ประเทศนำไปเป็นตัวอย่างและออกแบบคล้ายๆ กัน แต่ขณะเดียวกันก็ถึงกำหนดต้องมีการทบทวนข้อกำหนดว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม TV licence fee ในอีก 7 ปีข้างหน้า (2027) ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเปราะบาง ในบรรยากาศทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองมีเสียงข้างมากท่วมท้น และเมินเฉยต่อการตรวจสอบอย่างโปร่งใสเปิดเผยในที่สาธารณะ

อย่างไรก็ดี บีบีซีก็สะสมประสบการณ์ที่ต้องรับมือกับนักการเมืองหลากหลายสีมาทุกยุคทุกสมัย ได้รับความเจ็บปวดและสะสมบทเรียนหลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันก็สามารถสะสมศรัทธาและความน่าเชื่อถือในหมู่ประชาชนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ โดยที่บีบีซีมักจะนำมาเป็นเกราะปกป้องตัวเมื่อภัยมา

ประสบการณ์เหล่านั้นก็คงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับสื่อสาธารณะเกิดใหม่ในบางประเทศที่ยังไม่สามารถเรียกศรัทธาและสร้างอัตลักษณ์ที่เด่นชัดขึ้นมาเป็นเกราะคุ้มกันตัวเองเมื่อต้องผจญกับมรสุมแรงๆ อย่างเช่นกรณี ThaiPBS ที่ใช้ earmarked tax เป็น funding model ก็ยังต้องพึ่งความเมตตาจากอำนาจรัฐ และที่เป็นประเด็นสำคัญเรื่องการเรียกศรัทธา นั่นคือการแทรกแซง การครอบงำที่ซับซ้อนหลากหลายรูปแบบ จนขาดความกล้าหาญในจริยธรรมวิชาชีพและการส่งเสริมค่านิยมสาธารณะ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save