fbpx
เปลี่ยนกำแพงที่แข็งให้นุ่มลงได้ : Borderwall as Architecture

เปลี่ยนกำแพงที่แข็งให้นุ่มลงได้ : Borderwall as Architecture

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ภาพและคลิปวิดีโอเด็กๆ เล่นไม้กระดกสีชมพูที่พาดผ่านกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก คงปรากฏอยู่บนหน้านิวส์ฟีดของใครหลายคนในช่วงที่ผ่านมา เสียงหัวเราะ ท่าทาง และสีหน้าของเด็กทั้งสองฝั่ง ดูสนุกและไร้เดียงสา ราวกับเบื้องหน้าปราศจากกำแพงแห่งความขัดแย้งสูงใหญ่ขวางกั้น เป็นโมเมนต์ที่ทำให้หลายคนอิ่มใจจนอดกดแชร์ไม่ได้

 

 

งานศิลปะที่น่ารัก เรียบง่าย แต่สร้างอิมแพคได้อย่างทรงพลังชิ้นนี้ มีชื่อว่า Teeter-Totter Wall ออกแบบและสร้างโดยสตูดิโอ Rael San Fratello ของสถาปนิกและอาจารย์วิชาสถาปัตยกรรม Ronald Rael

ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ คุณต่างมีความหมายต่อกันบนสองฝั่งของไม้กระดก การกระทำที่เกิดขึ้นในฝั่งหนึ่ง ย่อมส่งผลถึงคนอีกฝั่งนี่คือสารอันหนักแน่นภายใต้ท่อนเหล็กสีชมพู ที่ผู้ออกแบบตั้งใจส่งถึงประชาชนทั้งฝั่งเม็กซิโกและอเมริกา เพื่อวิพากษ์แผนการสร้างกำแพงกั้นเขตแดนของประธานาธิบดีโดนัลด์  ทรัมป์ 

แม้ไม้กระดกสีสันสดใสจะถูกสร้างใน ค.. นี้ แต่รู้หรือไม่ว่า ไอเดียนี้ถูกคิดขึ้นตั้งแต่ปี 2009 หรือ 10 ปีที่แล้ว !

หนังสือ Borderwall as Architecture : A Manifesto for the U.S. – Mexico Boundary ตีพิมพ์ในปี 2017 เป็นหนังสือต้นทางที่บันทึกไอเดียของ Teeter-Totter Wall เอาไว้ ทั้งหมดอยู่ภายใต้โปรเจ็กต์ที่สตูดิโอ Rael San Fratello เฝ้าพัฒนาเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณกำแพงกั้นเขตแดนโดยเฉพาะ มาเป็นเวลาร่วม 10 ปี 

Borderwall as Architecture เล่มนี้รวบรวมไอเดียของสถาปนิก Ronald Rael และศิลปิน นักออกแบบคนอื่นๆ ที่ร่วมกันจินตนาการและนิยามพื้นที่กำแพงกั้นเขตแดนสหรัฐฯเม็กซิโก ความยาว 650 ไมล์นี้ขึ้นใหม่ ให้เป็นมากกว่าเพียงสิ่งกั้นเขตแดน และกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่คนสามารถเข้าไปใช้สอยได้ ภายใต้โจทย์ที่ว่ากำแพงคืออะไร ?’ และอะไรที่กำแพงนี้ สามารถเป็นไปได้ ?’

 

ภาพ : Rael San Fratello

 

แม้ว่าไอเดียว่าด้วยกำแพงทั้งหมดอยู่ในรูปแบบภาพสเก็ตช์และโมเดล (อย่างที่บอก มีเพียง Teeter-Totter Wall เท่านั้นที่เพิ่งหลุดออกมาจากหนังสือและถูกสร้างให้เกิดขึ้นจริง) แต่หลายสิบไอเดียในเล่มก็น่าสนใจเอามากๆ เพราะมีตั้งแต่ระดับขำๆ เสียดสีให้แสบคัน ไปจนถึงวาดให้เห็นภาพร่างของอนาคตอันใกล้ แต่ละชิ้นกระเจิงความคิดของเรา เกี่ยวกับความหมายของกำแพงได้ไม่น้อย

ไอเดียแรกที่เราอยากชวนดูมีชื่อว่า ‘Burrito Wall’ แรงบันดาลใจมาจากรถขายอาหารแบบ food cart ที่คนสองฝั่งสามารถมาใช้บริการและใช้พื้นที่ระหว่างกำแพงเป็นโต๊ะนั่งกิน Burrito และ Taco อาหารชื่อดังประจำท้องถิ่น พื้นที่ตรงนี้ออกแบบเพื่อให้ ญาติ พี่น้อง หรือมิตรสหายจากสองฝั่งใช้พูดคุย แลกเปลี่ยน สารทุกข์สุขดิบกันได้ อันที่จริงแล้ว มันคือกิจกรรมที่ผู้คนในพื้นที่เขตแดนทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในเวลาที่กำแพงยังไม่ปรากฏขึ้น

 

ภาพ : Rael San Fratello

ภาพ : Rael San Fratello

 

นอกจากกำแพงจะกลายเป็นจุดตัดนัดพบ กำแพงอันหนาหนักจะสร้างความบันเทิงและเพลิดเพลินให้คนได้มั้ย? Xylophone Wall คือไอเดียที่นักออกแบบ Glenn Weyant เปลี่ยนท่อนเหล็กบนกำแพงให้เป็นระนาดเหล็กหรือ Xylophone ตามชื่อ เพื่อให้ผู้คนทั้งสองฝั่งสามารถบรรเลงดนตรีร่วมกัน

 

ภาพ : Los Angeles Times

 

Weyant เรียกตัวเองในงานชิ้นนี้ว่า Border Deconstructionist หรือผู้รื้อสร้างเส้นแบ่งเขตแดน ไอเดียของเขาคือเปลี่ยนกำแพงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความกลัวด้วยการเล่นกับมัน นอกจากเสียงดนตรีจะให้ความเพลิดเพลิน มันยังเป็นบทสนทนาสำหรับคนสองฝั่งในตัวมันเอง

นอกจากเล่นกับตัวกำแพง หนังสือ Borderwall as Architecture ยังมีไอเดียของการเปลี่ยนพื้นที่สองฝั่งกำแพงให้เป็นพื้นที่ของการเล่น

The Volleyball Wall ใช้กำแพงแทนฟังก์ชันของตาข่ายในกีฬาวอลเลย์บอล (ที่ Rael เรียกแบบขำๆ ว่า Walleyball) แนวคิดของการออกแบบคือ ใช้เกมกีฬาที่สนุกสนาน ล้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของกำแพงออกไปซะ แทนที่คอนเซ็ปต์ของกำแพงจะเป็นเส้นแบ่ง แต่ใช้การออกแบบทำให้กำแพงกลายเป็นจุดนำคนเข้ามาเจอกัน และสร้างมิตรภาพต่อกันแทน

 

ภาพ : Rael San Fratello

 

ไอเดียเปลี่ยนรั้วแห่งความกลัว ให้เป็นความสนุกในหนังสือเล่มนี้ยังมีอีกเพียบ อย่าง The Theater Wall ได้แรงบันดาลใจจากพรมแดนสหรัฐฯ และแคนาดาที่เปลี่ยนพื้นที่เขตแดนให้เป็นพื้นที่จัดอีเว้นต์ ไอเดียนี้ Rael คิดพาคนจากสองฝั่งมาดูหนังร่วมกัน ในโรงหนังที่มีพื้นที่นั่งรวมถึงจอหนังแยกออกเป็นสองฝั่งด้วยแนวกำแพง ในขณะที่ผู้คนสนุกสนานไปกับหนังเรื่องเดียวกัน หัวเราะเป็นเสียงเดียวกัน คงอดเกิดคำถามไม่ได้ว่าทำไมเราจึงถูกแยกกันด้วยกำแพง

 

ภาพ : Rael San Fratello

 

อย่างที่บอกไปตอนต้น ไอเดียของกำแพงกั้นเขตแดนในหนังสือ ไปไกลถึงระดับนโยบายที่อาจสร้างประโยชน์มากกว่าแค่ระดับชุมชนสองฝั่งกำแพง แต่อาจเป็นระดับเมือง

งบประมาณในการก่อสร้างกำแพงทั้งหมด 33 ล้านดอลล่าร์ Rael เสนอว่างบจำนวนนี้ เราสามารถนำไปสร้างระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณรอยต่อระหว่างสองเมืองได้สบายๆ จากการคำนวนแล้ว ระบบนี้สามารถผลิตน้ำสะอาดได้ 20 ล้านแกลอลอนต่อวันเลยทีเดียว

 

ภาพ : Rael San Fratello

 

แม้แต่ไอเดียที่ทรัมป์จะติดตั้งแผงรับพลังงานโซล่าเซลล์บนกำแพง ก็ถูก Rael ขึ้นภาพสเก็ตช์ในหนังสือ Borderwall as Architecture ไว้เรียบร้อย เพียงแต่เวอร์ชั่นนี้ แผงโซล่าเซลล์อาจไม่ต้องอยู่ในรูปแบบของกำแพงกั้น แต่เป็นแผงที่คนจากสองฟากฝั่งสามารถแชร์พลังงานกันใช้ได้

 

 

หลายคนอาจเกิดคำถามว่า เอาเข้าจริง งานศิลปะอย่าง Teeter-Totter Wall ไปจนถึงสเก็ตช์ดีไซน์ในหนังสือเล่มนี้ มันสร้างประโยชน์ที่เรียลลิสติกขนาดไหน เพราะสุดท้าย กำแพงก็ยังคงตั้งอยู่ตรงนั้น และภาพฝันในหนังสือก็คงยากจะเกิดอยู่ดี

Rael พูดประโยคหนึ่งที่มีความหมายมากว่า

“They conceptually transform the meaning and dismantle ‘the wall,’ which I hope leads to its eventual physical dismantling.”

ก่อนที่กำแพงจริงๆจะถูกรื้อ พวกเขาอาจจะต้องเปลี่ยนความหมายและรื้อกำแพงในความคิดของตัวเองออกก่อน

เราไม่อาจรื้อกำแพงทิ้งได้ในวันนี้พรุ่งนี้ก็จริง แต่ระหว่างนี้ เราอาจเปลี่ยนกำแพงที่ใหญ่ แข็ง น่าเกรงขาม ให้นุ่มและน่ารักขึ้นได้  และภาพกำแพงในจินตนาการที่ถูกออกแบบและรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ อาจทำหน้าที่นั้น

ลองย้อนกลับไปดูผู้ใหญ่และเด็กๆ ผู้กุมอนาคตของดินแดนสองฟากฝั่ง บนไม้กระดกสีชมพูดีๆ อีกครั้ง

บางทีกำแพงในใจพวกเขาอาจสลายไป พร้อมกับเสียงหัวเราะนั้นแล้ว ว่ามั้ย?

 

 

อ้างอิง

http://www.borderwallasarchitecture.com

https://www.businessinsider.com/alternative-us-mexico-border-wall-ideas-borderwall-as-architecture-2017-9#the-solar-wall-6

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save