fbpx
ฟังเสียงจากเยาวชน ร่วมแก้ปัญหาสังคมแบบไร้พรมแดน

ฟังเสียงจากเยาวชน ร่วมแก้ปัญหาสังคมแบบไร้พรมแดน

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

‘เยาวชน’ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างมากในสังคม เนื่องจากเยาวชนเป็นเสมือนรากแก้วสำคัญ ที่จะหยั่งรากลึกเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศต่อไปข้างหน้า ดังนั้น การลงทุนในเยาวชนจึงเปรียบเสมือนการลงทุนในอนาคตที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ และพยายามจัดกิจกรรมที่ดึงเอาเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้จัดกิจกรรม ‘การสัมมนาเยาวชนไร้พรมแดน (Borderless Youth Forum)’ ขึ้น ซึ่งเป็นเวทีที่ ‘เยาวชน’ เป็นผู้นำ และ ‘ผู้ใหญ่’ เป็นผู้สนับสนุนและรับฟัง โดยกิจกรรมนี้มีเยาวชนเข้าร่วม 162 คน จาก 14 ประเทศ และมีการนำแนวคิด design across border ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ทำให้เยาวชนสามารถพูดคุยกันได้โดยไม่มีใครต้องบินมาเข้าร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพฯ

ในการทำกิจกรรม เยาวชนที่เข้าร่วมจะแบ่งกลุ่มกันตามประเด็นที่สนใจ ได้แก่ เรื่องความรุนแรงต่อบุคคลในเพศภาวะต่างๆ (Gender-based violence) เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเปราะบาง (Access to justice for vulnerable groups) และเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและการรับคนดีกลับสู่สังคม (Social Reintegration for Ex-Prisoners) และมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ในประเด็นนั้นๆ เพื่อที่เยาวชนแต่ละกลุ่มจะได้ร่วมระดมความคิด อันจะก่อให้เกิดเป็นทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ออกมาเป็นผลงานของแต่ละกลุ่ม

หลังจากนั้น ผู้จัดงานได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชนจำนวน 18 คน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นจากการทำงานร่วมกันข้ามพรมแดน และคัดเลือกผลงานตัวอย่างจำนวน 3 เรื่อง มาจัดแสดงที่งาน ‘Redesigning youth: showcase of the TIJ-UNODC Borderless Youth Forum’ ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนาน หรือ Side-event ในการประชุม Asia-Pacific Forum Sustainable Development ซึ่งจัดโดย UNESCAP เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

ต่อจากนี้คือการเก็บความจากงาน Side event ดังกล่าว ซึ่งเมื่ออ่านบทความนี้จบ คุณอาจพบว่าเยาวชนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการสัมมนาเยาวชนไร้พรมแดนว่า กิจกรรมนี้เป็นเสมือนโอกาสสำหรับเยาวชนในการทำความเข้าใจผู้คนที่ต้องเจอกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม และยังเป็นพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดวิธีการที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา หาหนทางแก้ปัญหาร่วมกัน และร่วมกันสร้างเครือข่ายต่อไปในอนาคต อีกทั้งกิจกรรมดังกล่าวยังทำให้เราเชื่อในพลังของเยาวชน และเชื่อในความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้

Jeremy Douglas

ขณะที่ Jeremy Douglas ตัวแทนระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้กล่าวว่า เมื่อเราคิดถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เราคิดถึงอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เยาวชนเป็นผู้ครอบครอง ดังนั้น พวกเราจึงต้องคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในอนาคตเหล่านี้ได้ สอดคล้องกับ กันต์รวี กิตยารักษ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ผู้จัดงานในครั้งนี้ ที่มองว่าการเสริมพลังให้เยาวชนเริ่มได้ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้พวกเขารู้ว่า ตนเองก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของความยุติธรรม

อย่างที่เรากล่าวไปแล้วว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วไปมาใช้ เพื่อให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยอาศัยเทคนิค design across borders ที่ริเริ่มโดย Glenn Fajardo ผู้เชี่ยวชาญและผู้สอนจาก Stanford d.school ซึ่งได้กล่าวเสริมไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องของเทคนิคต่างๆ ไม่ใช่จุดเด่นในกิจกรรมครั้งนี้ และจุดสำคัญของเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่เกี่ยวกับการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพลังให้กับเยาวชน (Youth Empowerment) เพื่อให้สามารถมองปัญหาสังคมได้อย่างลึกซึ้ง และสร้างโอกาสให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้

Mapping to Identify Issues Beyond Bars: Dancing back home

หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานคือ ตัวอย่างผลงานจากเยาวชน 3 เรื่อง โดยเรื่องแรก คือประเด็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มเปราะบาง ผู้จัดงานนำการตกตะกอนของเยาวชนกลุ่มหนึ่งผ่านแผนภาพ ‘Mapping to Identify Issues’ โดยเยาวชนกลุ่มนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการเข้าถึงความยุติธรรมของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (Migrant workers) ในฐานะกลุ่มเปราะบางในสังคม แผนภาพนี้ได้นำเอาแนวคิด design thinking เข้ามาช่วยเพื่อแสดงประเด็นต่างๆ ในระดับโครงสร้าง เพื่อที่พวกเขาจะสามารถระบุถึงความท้าทายที่แรงงานเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่ และต้องการที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่การตั้งประเด็นว่า เราจะสามารถสนับสนุนและจัดหาระบบลงทะเบียนที่ดีขึ้นให้เหล่าบุคคลไร้สัญชาติ (Stateless people) ในชุมชนอาเซียน โดยเฉพาะกับเด็กแรกเกิด ได้อย่างไร?

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีแนวคิดว่า กีฬาอาจไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อการแข่งขันเสมอไป แต่สามารถนำมาใช้เพื่อมอบโอกาสให้กับคนอื่นได้ด้วย จึงเกิดเป็นผลงาน ‘Beyond Bars: Dancing back home’ อันเป็นผลงานที่ได้รับคัดเลือกในประเด็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและรับคนดีกลับสู่สังคม ผลงานดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘Dancing Inmates’ ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยสมาชิกของกลุ่มเน้นที่การช่วยให้อดีตผู้ต้องขังสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น โดยตั้งกองทุนจากการแสดงเต้นเพื่อช่วยสนับสนุนด้านการเงินแก่อดีตผู้ต้องขัง

ส่วนประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ หนึ่งในคำพูดที่เรามักได้ยินกันจนชินหูคือ ‘เกิดเป็นลูกผู้ชายอย่าอ่อนแอ หรือไม่ควรร้องไห้ง่ายๆ’ ซึ่งชุดความคิดดังกล่าวได้สะท้อนมายาคติที่ผูกติดกับเพศสภาพว่า ผู้ชายต้องเข้มแข็ง และผู้หญิงก็เป็นเพศที่อ่อนแอ โดยลืมไปว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าเพศใด ล้วนมีช่วงเวลาที่อ่อนแอและสามารถร้องไห้ได้เหมือนกันหมด

ดังนั้น สมาชิกของกลุ่มที่สนใจประเด็นความรุนแรงต่อบุคคลในเพศภาวะต่างๆ จึงได้นำเสนอผลงานเรื่อง ‘#BoysCANCry’ โดยพวกเขามองว่าชุดความคิดที่ว่าผู้ชายไม่ควรอ่อนแอ จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic masculinity) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายก่อความรุนแรง ซึ่งสภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ชายถูกกดดันโดยสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ให้ต้องกดความอ่อนแอของตนเองไว้ และไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ออกมาง่ายๆ โดยสมาชิกของกลุ่มได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่น่าสนใจเอาไว้คือ สนับสนุนให้ผู้ชายสามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนออกมาได้ เพราะผู้ชายทุกคนก็สามารถอ่อนแอได้เหมือนกัน

ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา แสดงความเห็น

ผู้เข้าร่วมงานสัมมนา แสดงความเห็น ไมค์

นอกจากนิทรรศการและตัวอย่างผลงานทั้ง 3 เรื่องแล้ว เยาวชนทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกยังได้รับโอกาสในการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาพูดถึงกิจกรรมที่ผ่านไป และความรู้สึกของตนเองที่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งทุกคนล้วนมีความประทับใจในกิจกรรม โดยเฉพาะในเรื่องการนำแนวคิด design thinking เข้ามาใช้ เพราะแนวคิดดังกล่าวเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดคุย ทำความเข้าใจกับผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นโดยตรง และยังช่วยให้เยาวชนจากหลายประเทศที่มีพื้นเพต่างกันได้มาพูดคุยกัน และหาทางแก้ปัญหาสังคมร่วมกัน โดยที่พรมแดนไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป

บางคนกล่าวไว้อย่างน่าประทับใจว่า พวกเขาคือสิ่งที่เป็นเสมือนภาพแสดงว่าอนาคตข้างหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และกิจกรรมในครั้งนี้เป็นเหมือนก้าวแรกในการก้าวไปสู่การเป็นสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive society) ซึ่งเป็นสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

สังคมสำหรับทุกคน (Inclusive society)

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save