fbpx
บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ วีรบุรุษตัวจริงที่ไม่มีในตำราเรียน

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ วีรบุรุษตัวจริงที่ไม่มีในตำราเรียน

เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน คอหนังจำนวนมากคงเคยผ่านตาหนังสงครามโลกชื่อดังเรื่อง Schindler’s List ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลออสการ์ประจำปี 2536 โดยผู้กำกับการแสดงชื่อดัง สตีเวน สปีลเบิร์ก สร้างจากเรื่องจริงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารเยอรมนีสร้างค่ายกักกันชาวยิวเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวให้หมดสิ้น แต่นักธุรกิจนามชิลเดอร์ ผู้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายทหารนาซี ทนเห็นการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมไม่ไหว จึงได้เป็นผู้ช่วยชีวิตชาวยิวหลายพันคนอย่างลับๆ ให้รอดจากการถูกรมแก๊สตาย

บ้านเราเองก็มีวีรบุรุษนิรนามในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ช่วยชีวิตเชลยศึกให้รอดพ้นจากการทำร้ายของทหารญี่ปุ่น ในการก่อสร้างทางรถไฟข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี แต่ไม่ค่อยมีใครเปิดเผยเรื่องราวของเขาให้สังคมได้รับรู้ คือผู้ชายชื่อ บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์

ด้านหนึ่ง ธุรกิจของเขาเป็นที่รู้จักของคนในเมืองหลวงเมื่อ 30-40 ปีก่อน นั่นคือ ‘รถเมล์บุญผ่อง’ รถเมล์เอกชนที่ได้สัมปทานวิ่งรับผู้โดยสารในกรุงเทพมหานคร อาทิสาย 15 บางลำพู-สะพานกรุงเทพ ภายหลังมีเพิ่มอีกหลายสายเช่น บางลำพู-สีลม และประตูน้ำ-สีลม จนกระทั่งปี 2518 ทางการได้ยึดกิจการรถเมล์ของเอกชนมาเป็นรัฐวิสาหกิจบริหารเองในนาม ขสมก. จนขาดทุนย่อยยับ

แต่ดูเหมือนชื่อของบุญผ่องจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งรำลึกถึงบุญคุณของท่านมากกว่าคนไทยเสียอีก

ในปี 2485 กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นตัดสินใจสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างประเทศพม่าและประเทศไทย เพื่อขนส่งกองทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์จากไทย โดยมีเป้าหมายคือยาตราทัพบุกยึดพม่าและอินเดียให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

กองทัพญี่ปุ่นจึงเกณฑ์แรงงานพลเรือนชาวเอเชียกว่า 2 แสนคน รวมทั้งทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรอังกฤษ ออสเตรเลียและส่วนใหญ่ที่จับได้ในสิงคโปร์ มาเลเซียอีกกว่า 6 หมื่นคน เพื่อสร้างทางรถไฟระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตรให้เสร็จภายในปีเดียว โดยกาญจนบุรีถูกเลือกเป็นที่สร้างทางรถไฟ ด้วยความเป็นชัยภูมิสำคัญ และควบคู่ไปกับทางรถไฟก็คือค่ายเชลยที่ถูกสร้างขึ้นตลอดเส้นทางตัดผ่าน

เชลยศึกพันธมิตรหลายพันคนต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ การทำงานหนัก และการถูกคุมขัง ระหว่างการสร้างทางรถไฟ หลายคนต้องเสียชีวิตลง จนมีคำกล่าวว่า “หนึ่งไม้หมอนคือหนึ่งชีวิตของเชลย” ทำให้รถไฟสายนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘ทางรถไฟสายมรณะ’

แต่เชลยศึกจำนวนมากก็รอดตายจากการแอบช่วยเหลืออย่างเงียบๆ ของคนไทยหลายคนที่แอบส่งเสบียงและยารักษาโรคให้ด้วยหลักมนุษยธรรม แม้ว่าจะมีโอกาสถูกทรมานหรือถูกยิงทิ้งเสียชีวิต หากถูกทหารญี่ปุ่นจับได้

เวลานั้น นายบุญผ่อง สิริเวชชะภัณฑ์ ในวัย 40 ปี ลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี และได้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2483-2485 ซึ่งตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพอดี และนับเป็นนายกเทศมนตรีคนที่ 3 ของเมืองกาญจนบุรี

นายบุญผ่องเป็นคนมีฐานะดีในเมืองกาญจนบุรี อาศัยบนถนนปากแพรกซึ่งเป็นย่านการค้าของเมือง เป็นพ่อค้าไทยเจ้าของร้านสิริโอสถ ผู้ค้าขายกับทหารญี่ปุ่น ได้รับสัมปทานส่งอาหารให้แก่ค่ายเชลยไปจนถึงทางตอนใต้สุดของทางรถไฟสายมรณะ และประมูลตัดไม้หมอนรถไฟขายให้กับทหารญี่ปุ่นด้วย เวลานั้น ปากแพรกเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าสำคัญ เพราะอยู่ใกล้ค่ายทหารที่สุด นอกจากนี้ บุญผ่องยังได้เปรียบร้านอื่นตรงที่เขาสามารถพูดภาษาอังกฤษ จึงติดต่อกับทหารญี่ปุ่นและเชลยศึกได้เป็นอย่างดี ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจในการเข้าออกค่ายเชลยศึก

จากอาชีพพ่อค้าที่เริ่มจากการขายสินค้าอย่างเดียว แต่เมื่อได้เข้าไปรับรู้ความทุกข์ยากทรมานของเชลยศึกในค่ายโดยเฉพาะการป่วยไข้มาลาเรีย โดยที่ไม่มียาควินินเพียงพอ ทุกวันมีคนป่วยตายถูกเอาศพโยนลงแม่น้ำ และในที่สุดเมื่อบุญผ่องได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจาก น.พ.เอ็ดเวิร์ด “เวรี่” ดันล็อป แพทย์ทหารชาวออสเตรเลีย หนึ่งในเชลยศึก บวกกับเหตุผลทางมนุษยธรรม เขาจึงยอมเสี่ยงชีวิตลักลอบเอายาควินินมาให้หมอเวรี่รักษาคนไข้รอดตายอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งซุกซ่อนอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องใช้ต่างๆ แอบมาในเข่งผัก เพื่อมอบให้กับเชลยศึก หลายครั้งเขาต้องแอบว่ายน้ำเข้ามาในค่ายตอนกลางคืน โดยแขวนเครื่องเวชภัณฑ์รอบคอ ส่งต่อมายัง ด.ญ.ผณี ลูกสาววัย 10 ขวบ ให้แอบนำยาไปให้เชลยศึกเพื่อไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นสงสัย

นอกจากนี้ นายบุญผ่องยังเป็นผู้ลอบติดต่อกับเชลยสงคราม ช่วยส่งเอกสารลับบอกพิกัดของสะพานข้ามแม่น้ำแควให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรหลายครั้งหลายหน จนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดลงสะพานข้ามแม่น้ำแควได้อย่างแม่นยำ

คุณป้าลำใย น้องสะใภ้ของบุญผ่องได้เคยเล่าว่า “สะพานมันอยู่ในป่าในดงน่ะ ใครจะไปเห็นได้ชัด ตอนนั้นเชื่อได้ว่าพี่บุญผ่องต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระเบิดลงถูกจุด”

บางครั้ง เชลยศึกหลายคนไม่มีเงิน บุญผ่องก็ให้เชลยกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อของจอห์น โคสต์ อดีตเชลยศึกชาวอังกฤษได้เคยเขียนบันทึกว่า “พวกเชลยผอมโซ ขาดอาหารและไม่มีเงิน เขาก็ให้กู้โดยมีสิ่งของเช่น นาฬิกา แหวน หรือซองบุหรี่ เป็นประกัน ตอนแรก พวกเรายังไม่ค่อยเชื่อใจเขานัก แต่กาลเวลาพิสูจน์ว่าเขามีสัจจะตามคำพูดทุกอย่าง เขาคืนสิ่งของให้กับทุกคนที่มาไถ่”

สุดท้าย เมื่อคุณสุรัตน์ ผู้เป็นภรรยาของบุญผ่องทราบเรื่อง ก็เกิดการทะเลาะกันในครอบครัวอย่างรุนแรง ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้ครอบครัวมีอันตราย แต่อีกฝ่ายหนึ่งยอมเปลืองตัวเพื่อช่วยชีวิตผู้คนไม่ให้ตายไปต่อหน้า แม้ต้องเดิมพันชีวิตด้วยครอบครัว ภรรยา ลูกสาวและครอบครัวสิริเวชชะพันธุ์ทุกคน

กระทั่งปลายปี 2487 สงครามโลกใกล้สงบ กองทัพญี่ปุ่นกำลังพ่ายแพ้ทุกสมรภูมิรบ บุญผ่องได้ถูกลอบยิงในเมืองได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากคนที่ไม่พอใจบุญผ่องช่วยเหลือทหารเชลยศึก

หมอเวรี่ได้เคยบันทึกไว้ว่า “บุญผ่องรอดตายจากการถูกยิง กระสุนทะลุเข้าที่หน้าอก” แต่ด้วยฝีมือความพยายามอย่างสุดชีวิตของทีมแพทย์ของอดีตเชลยศึกเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งบุญผ่องรอดพ้นอันตราย มีชีวิตยืนยาวต่อมาจนออกมาทำธุรกิจรถเมล์บุญผ่อง โดยได้รับการช่วยเหลือจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกรถบรรทุกร่วม 200 คันที่ยึดได้จากทหารญี่ปุ่น ให้เขามาประกอบธุรกิจรถประจำทางในเมืองหลวงในปี 2490 คือรถเมล์บุญผ่องสายสีน้ำเงิน คู่แข่งของรถเมล์นายเลิศ สายสีขาว ของนายเลิศ เศรษฐบุตร

วีรกรรมที่นายบุญผ่องสร้างไว้ ทำให้ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากชาติสัมพันธมิตร และได้รับฉายาว่า “The Quiet Lions” (สิงโตเงียบ) เนื่องจากนายบุญผ่องต้องระมัดระวังตัวมาก ในช่วงต้นๆ ที่เขาเริ่มติดต่อกับสัมพันธมิตร

หลังสงคราม อดีตเชลยต่างชาติและชาวต่างชาติต่างยกย่องให้เขาเป็น ‘วีรบุรุษแห่งทางรถไฟสายมรณะ’ ผู้ที่ชาวต่างชาติหลายพันคนยืนยันว่า “พวกเขาเป็นหนี้บุญคุณนายบุญผ่องตลอดชีวิต เป็นหนี้…ที่ใช้คืนไม่หมด!!!”

ในปี 2491 นายบุญผ่องได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลออสเตรเลีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ทุกวันคริสต์มาส เขาและภรรยาได้รับจดหมายอวยพรและของขวัญจากเชลยศึกเป็นจำนวนมาก

พระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 และพระสวามี เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนเมืองไทยในปี 2515 ได้รับสั่งให้บุญผ่องและภรรยาเข้าเฝ้า พร้อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The George Cross (GC) และยังร่วมโต๊ะเสวยด้วย นอกจากนี้ นายบุญผ่องยังได้รับการประดับยศจากทั้งอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ให้เป็น ‘พันโทบุญผ่อง’

จนเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2525 หน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลียรายงานว่า วีรบุรุษสงครามโลกชาวไทยเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจพอง โดยมีการสัมภาษณ์อดีตทหารผ่านศึกหลายคน ซึ่งได้กล่าวยกย่องความกล้าหาญของผู้ชายคนนี้ที่ทำให้พวกเขารอดชีวิตมาได้

เมื่อปี 2541 ในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด กาญจนบุรี เพื่อรำลึกถึงทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ รัฐบาลออสเตรเลียโดยนายจอห์น โฮวาร์ด นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้บันทึกความกล้าหาญของนายบุญผ่องเอาไว้ โดยมอบใบประกาศยอมรับว่าพวกเขาเป็นหนี้นายบุญผ่อง ผ่านหลานชายของนายบุญผ่อง โดยระบุในใบประกาศว่า

“ขอให้ประกาศนียบัตรฉบับนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความสำนึกในบุญคุณอันหาที่สิ้นสุดมิได้ของเรา สำหรับการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยคุณงามความดีของบรรพบุรุษของท่าน และขอให้นี่เป็นสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่นของมิตรภาพของเรา ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นับแต่สงครามเป็นต้นมา…”

แต่ดูเหมือนบุญผ่องแทบจะไม่เคยได้รับการสรรเสริญหรือยกย่องจากรัฐบาลไทยประการใด ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เสี่ยงชีวิตช่วยเพื่อนร่วมโลกได้มากมาย 

จนกระทั่งเมื่อทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำวีรกรรมของพันโทบุญผ่องมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง ‘บุญผ่อง’ เมื่อกลางปี 2556 ทำให้คนไทยรุ่นหลังได้รู้จักวีรบุรุษสามัญชนที่ชาวต่างชาติยกย่องว่า

“พวกเขาเป็นหนี้บุญคุณนายบุญผ่องตลอดชีวิต เป็นหนี้…ที่ใช้คืนไม่หมด!!! ”

เรื่องราวของนายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ วีรบุรุษคนนี้จึงเป็นหนึ่งในสามัญชนอีกหลายคน ผู้สร้างคุณูปการให้กับสังคมมหาศาล แต่ไม่เคยถูกบรรจุในตำราเรียนของไทย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save