fbpx
วาฬคืนเมือง บทพิสูจน์ว่าการอนุรักษ์ยังไม่สายเกินไป

วาฬคืนเมือง บทพิสูจน์ว่าการอนุรักษ์ยังไม่สายเกินไป

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

นี่ไม่ใช่วาฬบรูด้า วาฬสยามแห่งกรุงเทพมหานคร แต่ภาพวาฬหลังค่อมที่มีนครนิวยอร์กอยู่เบื้องหลังก็คงน่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน ใครจะเชื่อว่าทะเลที่สกปรกที่สุดแห่งหนึ่งและเต็มไปด้วยสารพิษและมลภาวะของนิวยอร์กเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะกลายมาเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของวาฬได้อีกครั้ง จากการพบเห็นวาฬเพียง 5 ตัวเมื่อปี 2011 กระโดดเพิ่มมาเป็น 272 ตัวเมื่อปีที่แล้ว และปีนี้ (เดือนกันยายน) พบวาฬทั้งสิ้น 377 ตัวเข้าไปแล้ว

กฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. น้ำสะอาด (Clean Water Act) พ.ร.บ. สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act) และ พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล (Marine Mammal Protection Act) ได้พลิกโฉมหน้าพื้นที่ทะเลและชายฝั่งหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาให้กลับมาเป็นทะเลแห่งชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แม้แต่พื้นที่ทะเลรอบๆ แมนฮัตตัน ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของโลก

วาฬพวกนี้ฟื้นคืนจำนวนกลับมาได้อย่างไร?

เหตุผลสำคัญก็คือเมื่อมลภาวะและสารเคมีต่างๆ ถูกควบคุม คุณภาพน้ำทะเลก็ดีขึ้นตามลำดับ สาหร่ายและแพลงตอนกลับมาเพิ่มจำนวนในระดับสมดุล ลูกปลาเมนฮาเดน (Brevoortia spp.) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) ก็หวนคืนกลับมาหากินในทะเลบริเวณนี้อีกครั้ง เจ้าลูกปลาพวกนี้เองที่เป็นอาหารโปรดของวาฬ ไม่ต่างจากลูกปลากะตัก ของโปรดวาฬบรูด้าในอ่าวไทย

ปลาเมนฮาเดน หรือที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่าบังเกอร์ ไม่ใช่ปลาที่มนุษย์นิยมมาทำอาหาร เพราะกลิ่นแรงและมีความมันจัด ส่วนใหญ่จะถูกนำไปสกัดทำวิตามินโอเมก้า 3 หรือเป็นปลาป่นประกอบอาหารสัตว์มากกว่า ปลาชนิดนี้เป็นอาหารที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของวาฬ เพราะพวกวาฬจะกินตุนเพื่อสร้างไขมันก่อนการอพยพลงใต้ในช่วงฤดูหนาวเพื่อผสมพันธุ์

การเพิ่มจำนวนขึ้นของวาฬหลังค่อมเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าข้อตกลงการอนุรักษ์ในระดับนานาชาตินั้นเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ หลังจากนานาชาติให้พันธสัญญาที่จะเลิกล่าวาฬเชิงพาณิชย์เมื่อปี 1982 ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการล่าวาฬ (ICRW) และการกำกับของคณะกรรมาธิการกำกับการล่าวาฬนานาชาติ (IWC) ประชากรวาฬหลังค่อมและวาฬหลายชนิดก็ค่อยๆ ฟื้นฟูประชากรกลับมา

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวาฬมีบทบาทสำคัญต่อทะเลแถบนี้ แม้จะไม่มีข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ว่าในอดีต ทะเลนิวยอร์กพบวาฬทั้งหมดกี่ชนิดและมีจำนวนมากเท่าไหร่กันแน่  แต่การกลับมาของวาฬก็เป็นสัญญาณที่ดีต่อสุขภาพของมหาสมุทรแอตแลนติกในระยะยาว

 

 

โดยทั่วไปเรารู้ว่าวาฬมีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนแร่ธาตุในมหาสมุทรอย่างยิ่งโดยเฉพาะการหมุนเวียนในแนวตั้ง เพราะวาฬใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลลึก แต่ที่น้ำลึกความดันจะสูง วาฬจึงต้องขึ้นมาถ่ายมูลในระดับน้ำตื้น ขี้วาฬอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและไนโตรเจนจากใต้ทะเลลึก จึงเท่ากับเป็นการนำแร่ธาตุสำคัญมาเติมให้แก่แพลงตอนพืช (Phytoplankton) ที่อาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำ ขี้วาฬมีความสำคัญมากในภูมิภาคที่มีแร่ธาตุต่ำอย่างเช่นมหาสมุทรตอนใต้

แพลงตอนพืชในทะเลทำหน้าที่เหมือนพืชบนบกคือ ดึงเอาคาร์บอนไดอ็อกไซด์ออกจากอากาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง แล้วปล่อยออกซิเจนออกมาให้กับโลก ออกซิเจนที่แพลงตอนพืชผลิตขึ้นมีปริมาณมากคิดเป็นครึ่งหนึ่งของออกซิเจนทั้งหมดที่มีในชั้นบรรยากาศเลยทีเดียว จึงไม่ผิดที่บอกว่าทุกลมหายใจที่สองที่เราสูดเข้าไป เราต้องขอบคุณมหาสมุทร แพลงตอนและวาฬ​

กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่สร้างออกซิเจนเท่านั้น เพราะยังมีแพลงตอนสัตว์คอยกินแพลงตอนพืชอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเมื่อแพลงตอนสัตว์เหล่านี้ตายลงก็จะจมดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทร เป็นการดึงคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon sink) ออกจากชั้นบรรยากาศที่มีประสิทธิภาพมาก ราว 1 ใน 3 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรด้วยกลไกนี้

ถ้าให้เฉพาะเจาะจงลงไป การศึกษาวาฬหัวทุยเมื่อปี 2010 ได้ประเมินว่าประชากรวาฬหัวทุย 12,000 ตัวในมหาสมุทรตอนใต้ ทำหน้าที่เติมธาตุเหล็กให้แพลงตอนพืชปีละกว่า 50 ตันผ่านการอึ เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับว่าได้ช่วยดึงเอาคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้มากถึง 2 แสนตันต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกจากรถยนต์ราวๆ 5 หมื่นคันเป็นเวลา 1 ปี วาฬจึงเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการขนานนามว่า ‘วิศวกรแห่งระบบนิเวศ’ (ecosystem engineer) เพราะวาฬมีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศ

ย้อนกลับมาหาวาฬที่นิวยอร์ก แม้การล่าวาฬเชิงพาณิชย์จะยุติไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมการจับปลาเมนฮาเดนเพื่อไปทำอาหารสัตว์และสกัดไขมันเป็นอาหารเสริม ก็เป็นภัยคุกคามสำคัญในปัจจุบัน เพราะเขตปลอดการประมงให้การคุ้มครองเพียงแค่ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเท่านั้น

 

 

นอกจากนี้ทะเลรอบๆ นครนิวยอร์กก็จัดเป็นย่านที่มีการเดินเรือหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ที่ว่ากันว่ามีคิวเข้าจอดเทียบอย่างน้อย 20 ลำตลอดเวลา โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุการชนจึงเกิดขึ้นได้เสมอ

จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2016 พบวาฬหลังค่อมเสียชีวิตทั้งหมด 103 ตัวในน่านน้ำด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตจากกิจกรรมมนุษย์โดยเฉพาะเรือชน และการติดเครื่องมือประมง ราวๆ 28 ตัวพบในนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์

เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันสมุทรศาสตร์วู๊ดโฮล และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำนิวยอร์ก ได้ร่วมกันพัฒนาทุ่นเสียงไฮเทคที่ชื่อเมลวิลล์ (Melville) (ชื่อเดียวกับผู้แต่งหนังสือเรื่อง โมบี้ดิ๊ก) เพื่อคอยจับคลื่นเสียงของวาฬที่เข้ามาใกล้ และส่งสัญญาณเตือนออนไลน์แบบเรียลไทม์ให้กับกัปตันเรือที่อยู่ในบริเวณนั้นรู้ว่า วาฬอยู่ตรงไหน เพื่อจะได้ชะลอความเร็วหากอยู่ในระยะเสี่ยง

ทางสถาบันวู๊ดโฮลกำลังดำเนินการติดตั้งทุ่นลักษณะเดียวกันเพิ่มอีกสองทุ่น ด้วยการสนับสนุนของบริษัทพลังงานลม Equinor ซึ่งมีแผนติดตั้งกังหันลมในทะเลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า มีข้อกังวลว่าเสียงในช่วงการก่อสร้างอาจรบกวนการสื่อสารของวาฬใต้น้ำ การติดตั้งทุ่นดังกล่าวอาจช่วยลดผลกระทบในช่วงที่วาฬเดินทางผ่านในบริเวณนั้นได้

การกลับมาของวาฬในนิวยอร์กเป็นข่าวดีในยุคที่เราได้ยินแต่ข่าวร้ายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่เว้นแต่ละวัน มหานครแห่งนี้กำลังจะเป็นที่ประชุมสุดยอดเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในสัปดาห์หน้า และวันศุกร์ที่ 20 และ 27 กันยายนนี้ก็จะมีการชุมนุมใหญ่เของเยาวชนที่นำโดยเกรต้า ธันเบิร์กเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วนที่นิวยอร์กและอีกหลายเมืองในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

ประชากรวาฬหลังค่อมที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าทึ่ง คือบทพิสูจน์ความสำเร็จของการอนุรักษ์ในหลายระดับ ทั้งกฎระเบียบในระดับเมืองและระดับประเทศ ไปจนถึงข้อตกลงและความร่วมมือในระดับนานาชาติ  การกลับมาของวาฬย้ำเตือนว่ายังไม่สายเกินไปที่เราจะลุกขึ้นมาฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อปกป้องโลกใบนี้

วาฬคืนเมืองคือปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าถ้ามนุษย์ตั้งใจจะแก้ปัญหาอะไรจริงๆ แล้ว เราทำได้แน่นอน ขอแค่เอาจริงและลงมือทำ สำหรับเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เช่นกัน

 


 

อ้างอิง

Lavery et al. 2010  Iron defecation by sperm whales stimulates carbon export in the Southern Ocean.  Proceedings of the Royal Society B. 16 June 2010.

Worral, S. 2019. Whale populations in New York Harbor are booming—here’s why. National Geographic 17 September 2019

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save