fbpx
ผุดเกิดมาลาร่ำ ความงามของความตาย

ผุดเกิดมาลาร่ำ ความงามของความตาย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก ที่เราจะลอยตัวเป็นธรรมชาติได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงไปดำผุดดำว่ายในกระแสน้ำ  การอ่าน ‘ผุดเกิดมาลาร่ำ’ ของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข เป็นแบบนั้น

นับตั้งแต่ประโยคแรกในบทเปิด แม้จะต้องใช้เวลาปรับตัว แต่เมื่อตัวหนังสือเกาะเกี่ยวสายตาของคุณได้แล้ว โถงใจของคุณก็จะถูกลากให้ล่องลอยไปตามสายธารอักษรด้วย คล้ายไม่มีจุดสิ้นสุด คล้ายไม่มีวันหยุดหย่อน

‘ผุดเกิดมาลาร่ำ’ ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะงานศิลปะ หลังจากอารยาจัดนิทรรศการ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ ช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ 100 ต้นสนแกลลอรี่ นวนิยายเล่มแรกในชีวิตเปิดตัวหลังสิ้นสุดการแสดงนิทรรศการ

“นิยายของศิลปะ เมื่อศิลปะถมเติมนิยาย เมื่อความตายถมเติมชีวิต” เป็นถ้อยคำที่วางอยู่บนปกหลัง

หนังสือปกแข็งทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า อัดแน่นด้วยตัวหนังสือขนาดเล็ก แทรกด้วยภาพขาวดำบนกระดาษไข เล่นล้อกับผู้อ่านด้วยงานภาพถ่าย ภาพวาด และเรื่องเล่าที่สลับสับเปลี่ยนเพื่อเติมเต็มกันและกัน กลายเป็นหนังสือหายากภายในเวลาอันรวดเร็ว

ค่อนปีผ่านมา สำนักพิมพ์มติชนนำผุดเกิดมาลาร่ำมาพิมพ์ใหม่อีกครั้ง หลังจากหนังสือเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2018 และได้รับความสนใจจากนักอ่านจำนวนมาก  ลดทอนภาพศิลปะลง แล้วให้ตัวหนังสือทำหน้าที่เล่าเรื่องอย่างเต็มที่ในฐานะงานวรรณกรรม ฉันอ่านผุดเกิดมาลาร่ำจากฉบับพิมพ์ใหม่นี้ ดำผุดดำว่ายลงไปในทะเลตัวหนังสืออย่างคนไม่รู้ทางออก

ฉบับพิมพ์แรกของ 100 ต้นสนแกลลอรี่, ฉบับพิมพ์ใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน
(ซ้าย) ฉบับพิมพ์แรกของ 100 ต้นสนแกลลอรี่ (ขวา) ฉบับพิมพ์ใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน

เรื่องว่าด้วยชีวิต 3 ช่วงของ ‘ไลลียา’ “เด็กหญิง – ที่เกิดมาพร้อมอวัยวะเพศรูปกลีบดอกไม้แย้ม หญิงสาว – ผิวโพรงนุ่มกระตุบ กระดุบหดรี่รำในจังหวะง่วนปรารถนา ผู้หญิง – หญิงชราขยับเคลื่อนทวนสังขาร”  ทั้งสามเป็นคนเดียวกัน แต่ต่างกันด้วย ‘ตัวตน’ เพราะต่างวันเวลา

หะแรก การขยับตัวเองให้เข้ากับเรื่องเล่าต้องใช้ความพยายามเอาเรื่อง หนังสือเรียกร้องสมาธิอย่างมาก คล้ายมีมือผลักไสว่าถ้าไม่พร้อมอย่าเพิ่งเข้ามา แต่ทันใดที่สามารถละลายตัวเองเข้าไปกับตัวเรื่องได้ เมื่อนั้นก็ล่องไหลไปในสายน้ำโดยธรรมชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในแม่น้ำที่ปรากฏในตอนต้นเรื่อง “แม่น้ำสายหนึ่งไหลมาเยือนเมืองชั่วนาตาปี ก็แม่น้ำสายนั้นเอง สายที่ไหลออกทะเลแบบหลายอารมณ์ ทอดเนือยเนิบช้าในหน้าร้อน แล้วเฉี่ยวเชี่ยวจนเกรี้ยวกราดในฤดูฝน”

ฉากหลังเป็นบ้านไม้ริมแม่น้ำในต่างจังหวัด หลังจากการสูญเสียแม่ในวัยเด็ก ไลลียาเริ่มคิดถึงความสันโดษ “สำหรับเด็กน้อยผู้ที่มวลรักอบอุ่นและอ่อนโยน เคยสัมผัสในเวลาแสนสั้นได้ฉีกโหว่เป็นโพรงกลวงมาแล้วจากความตายของแม่”

ช่วงวัยเด็กเป็นภาพคล้ายความทรงจำหม่นเศร้า จดจำเป็นรายละเอียด ไม่ปะติดปะต่อ ตัดสลับเข้ามาในห้วงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร และถ่ายทอดด้วยประโยคยาวยืดคล้ายบทสวดมิรู้จบ เช่นการบรรยายฉากในงานศพอย่างกระจ่างแจ้งเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ความลำพังตัวอาจฉวยขณะดาราโลงแย่งซีนความเด่นเฉิดฉายใต้แสงไฟนีออนศาลาตั้งศพ จะจู่โจมใครดีล่ะถ้าไม่ใช่เด็กไร้เดียงสาเสียขวัญ งุนงงสงสัยถึงความมีอยู่ ที่อยู่ดีๆ ก็ขาดหายไป จะใครล่ะถ้าไม่ใช่เด็กน้อยสามขวบ ผู้ฉงนจนถามยายว่า

“ทำไมแม่ไม่ลุกมากินข้าวเย็น” ทำไมไม่มากินข้าวด้วยกันเหมือนเคยในทุกเย็นของชีวิตตั้งแต่ไร้รู้ความจนพอรู้ความ ทำไมร่างในชุดผ้านุ่มสวยคราวนี้นอนนิ่งแข็งในกล่องไม้แคบล้อมดอกไม้บนแท่นตั้งมลังเมลืองอย่างนั้น

“นี่จะไม่ได้กอดซุกอุ่นกันอีกเลย”

ความโดดเดี่ยวลำพังโอบนุ่มแผ่ว เข้าตีสนิทเด็กเล็กท่ามกลางเสียงสวดและผู้คนในชุดดำนั่งนิ่งขึง ราวกับประติมากรรมรูปซ้ำเรียงแถว

 

อย่างไม่รู้กำหนดเริ่มและสิ้นสุด ทำปฏิกิริยาราวฟองน้ำรู้สึกนึกคิดซับฉ่ำความลำพังตัวไว้กับตัวเสมอ

และนับแต่นั้นมา

ในทุกขณะความเติบใหญ่ของเด็กน้อย น่าจะทุกเรื่องทุกราววางเดิมพันกับการแลกมาซึ่งความสันโดษ…

ไลลียาเติบโตมาด้วยความทรงจำกับพ่อและแม่เลี้ยงที่ไม่ค่อยดีนัก ความรู้สึกเป็นส่วนเกินทะลักจนกลายเป็นบาดแผลในวัยเด็ก

“ตอนเริ่มราวสามสี่ปีแรกคือระหว่างเรียนประถมปีที่ 2 จนถึงจบชั้น ป.4 มักเป็นเรื่องกระทบกระทั่งในชีวิตประจำวันเช้าสายบ่ายค่ำ ไม่ว่าเรื่องอะไรกระทบได้หมด ล้างจานแล้วจานแตก ขวดโซดาของพ่อที่ต้องเอามาล้างฝุ่นจากลัง แล้วขนไปแช่ตู้เย็นเกิดลื่นหลุดมือ วิ่งเล่นกับน้องต่างแม่บนเนินริมแม่น้ำก็มีเรื่องราวได้

เหมือนทุกขณะของการขยับทำอะไรสักอย่างจะมีเรื่องราวใหญ่โตแย่ๆ ตามมาทุกครั้งไป”

หลังจากผ่านพ้นวัยเด็ก เธอกลายเป็นหญิงสาวที่เข้ามาเรียนศิลปะในกรุงเทพฯ และช่วงเวลาวัยรุ่นนี่แหละที่เป็นช่วง ‘มีชีวิตชีวา’ ที่สุดของเรื่อง ไลลียาใช้ชีวิตหัวหกก้นขวิด หลงใหลงานศิลปะ ใช้คืนวันไปกับเพื่อนฝูงและการสร้างงาน และวิพากษ์โลกอย่างคนขบถ เช่น การตั้งคำถามต่อวิธีการเรียนการสอนของอาจารย์

ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับ ‘แบบ’ หรือต้นแบบ ในเมื่อศิลปะคือหนทางในความพยายามที่จะค้นพบความต่างจากเดิม

หรือประโยคที่ไลลียาเปรยกับเพื่อน

“สีที่ฉันวาดผสมโคบอลต์บลูกับเยลโลโอ๊ก ฉันว่ามันเป็นสีของอากาศที่มีในธรรมชาติ แต่ฉันไม่เห็นสีเขียวเวอริเดียนเจือแดงที่อาจารย์วาดทับลงไปในแจกันดอกไม้ของฉัน ฉันมองไม่เห็น แล้วทำไมฉันต้องทำตามหรือยอมรับสีผสมจัดจ้านกว่าในเมื่อฉันชอบสีหม่นเจืออากาศ”

หลังจากผ่านพ้นวัยแห่งความดิบห่าม รู้จักความรักและความผิดหวัง เธอเติบโตเป็นผู้หญิงที่ชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น และมีความปรารถนาอันแรงกล้าต่อความตายชัดขึ้นด้วย จนนำมาสู่บทท้ายๆ ของเล่มในตอน ‘พิพากษา’ ที่เหมือนการสะสมมวลน้ำมาตลอดเรื่อง แล้วค่อยซัดเราตู้มเดียวไม่ให้หายใจหายคอ

หนังสือเล่มนี้พูดถึงความตายด้วยสายตาเป็นมิตร ความลำพังสันโดษแทบจะเป็นเพื่อนแท้คนเดียวของไลลียา และเชื่อเถอะ มนุษย์ต่างมีความทุกข์อันข้นคลั่กเป็นของตัวเอง แม้ว่าภายนอกจะยังดูมีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งในวงสังสรรค์ หรือมีรอยยิ้มอยู่เสมอ

นับแต่การสูญเสียแม่ ไลลียาค่อยๆ ขยับเข้าใกล้ชิดความตายทีละนิด ไม่ใช่เฉพาะเวลาชีวิตที่นับถอยหลัง แต่ยังเป็นการเอาใจเข้าไปใส่ในความตายด้วย เห็นแง่งามของความตาย หมกมุ่นหลงใหลอยู่กับความสันโดษและการจากลา

ระหว่างเรื่อง เธอเล่าถึงอาการผิดปกติทางจิตแทรกอยู่เสมอ ทุกครั้งที่บทสนทนาระหว่างจิตแพทย์กับไลลียาเริ่มขึ้น เมื่อนั้นคำสารภาพก็จะหลั่งไหลออกมาไม่หยุด

“ฉันเริ่มสังเกตตัวเองว่าอยู่เนือยๆ เซื่องๆ ไม่ได้ ต้องลงมือทำอะไรที่ท้าทาย น่าตื่นเต้น เพื่อปรุงรสรู้สึก ถ้าไม่อย่างนั้นความหดหู่ความทอดอาลัย ความเนิบเนือยจนเหมือนไม่มีชีวิตก็จะเข้าห่มคลุมฉัน ค่อยๆ กลืนฉัน เผลอเมื่อไหร่เป็นมา มาแล้วก็ทรมานมาก เหตุผลที่ทรมานมากเพราะรู้ว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ ปล่อยให้เป็นแบบนี้ฉันจะเหมือนคนตายที่เดินได้กินได้ เป็นซากที่มีชีวิต

เป็นร่างที่ชีวิตยังแต่บรรจุความตายเอาไว้…”

นอกจากถ่ายทอดชีวิตของคนคนหนึ่งได้อย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผุดเกิดมาลาร่ำยังเล่นล้ออยู่กับสองสิ่งคู่ตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา ความเป็นเด็กที่ยังฝังแน่นในร่างผู้ใหญ่ การพยายามมีชีวิตอยู่และการฝันถึงความตาย ชีวิตในชนบทกับการเข้ามาอยู่ในเมือง

เด็กหญิงผุดเกิดอยู่ในร่างเด็กหญิง แต่ยังตามติดแน่นอยู่ในร่างของหญิงสาว และหญิงสาวก็ลอยวนอยู่ในร่างของผู้หญิง ทั้งสามร่างผลุบโผล่ทีละเศษเสี้ยวไปอยู่ในแต่ละช่วงชีวิตของกันและกัน

ถ้าจะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติก็ย่อมได้ เพราะมีความใกล้เคียงกับชีวิตจริงของอารยาผู้เขียนอย่างมาก หรือถ้าจะเรียกว่าเป็นการเขียนเพื่อเตรียมสู่ความตายก็คงไม่ผิดนัก

อารยาเขียนด้วยชีวิต และกรีดวิญญาณออกมาแผ่อย่างไม่เหนียมอาย ห้วงชีวิตของมนุษย์ก็มักเป็นเช่นนี้ บางความทรงจำหม่นมืดกว่าความจริง บางความทรงจำเบาบางเหมือนไม่เคยมีอยู่ บางฉากยังติดตรึงในตาแน่น แต่สิ่งที่ชัดเจนคือความรู้สึกที่ติดค้างอยู่ในใจและถูกถมทับซ้ำๆ ด้วยประสบการณ์ชีวิต

แม้หนังสือจะข้นหนืด และชวนให้เหนื่อยยากในตอนแรก แต่หากเราพร้อมจะเข้าไปสำรวจความเป็นคนอื่น ความเป็นตัวเอง การมีชีวิตอยู่ และแง่งามของความตาย ผุดเกิดมาลาร่ำจะผุดเกิดผุดดับในใจเรา สะกิดให้มองชีวิตตัวเองด้วยสายตาที่ละเอียดลออขึ้น เข้าใจความตายมากขึ้น และยังเข้าใจคนที่อยากตายมากขึ้นด้วย

อารยา เคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของผุดเกิดมาลาร่ำไว้ว่า “ตัวเองเป็นคนหมกมุ่นอยู่กับความตายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ตอนที่แม่เสีย… เป็นคนที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ถ้าตายได้ตอนนี้ ก็อยากจะตายไปเลย”

หากไม่ได้ใช้ชีวิตมาอย่างยาวนาน พิจารณาความตาย แล้วปล่อยวางตัวตน ก็ไม่อาจเขียนอย่างเข้าใจชีวิตและความตายได้เช่นนี้

ในนามของผู้อ่านที่ไม่ได้ชื่นชอบความตาย อ่านจบแล้วทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งในเรื่อง

“ความตายไม่ใช่ไม่สวย แต่หากถึงขนาดงามทีเดียวเชียว”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save