fbpx
คนเหล็ก 2019

คนเหล็ก 2019

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

1

 

แม่ไม่เคยเล่าชัดๆ ว่าโตมากับหนังเรื่องอะไร แต่ร้อยทั้งร้อยถ้าถามตอนนี้ เธอน่าจะยังหลงใหลได้ปลื้มกับ The Grand Budapest Hotel หรืออาจจะนับรวมทุกเรื่องของ Wes Anderson เลยก็ว่าได้

ส่วนพ่อเหรอ, ถ้าไม่นับหนังดราม่าประเภทเจ้าพ่อ – แก๊งสเตอร์ หลายๆ เรื่องที่มาติดอกติดใจเอาตอนโตแล้ว สารภาพตามตรง Terminator 2 : Judgment Day นั้นน่าจะเกินกว่า 20 รอบที่พ่อดูแล้วดูอีก

ค่าที่เด็กน้อยตื่นตาตื่นใจกับคนเหล็กไล่ล่าฆ่ากันไม่ตายสักที ไอ้ตัวร้ายก็ดันเป็นเหล็กไหล ยิงยังไงก็ดันหลอมตัวเองกลับมามีชีวิตต่อได้ ส่วนไอ้ตัวดี แม้มันจะเชยทื่อมะลื่อ ดูแข็งๆ เก้งก้าง แต่ตอนมันยอมสละชีวิตลงในเตาหลอมเหล็กแล้วชูนิ้วโป้งร่ำลาให้มนุษย์นั้น พ่อเองก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่ค่อยอยู่

ยังไม่นับฉากที่จอห์น คอนเนอร์ ขี่มอเตอร์ไซค์หนีไอ้ตัวร้ายที่ขับรถเทรลเลอร์ไล่บี้ กับฉากไล่ล่ากันในโรงพยาบาลที่ซาราห์ คอนเนอร์ ถูกจับไปขังด้วยแล้ว ต้องบอกว่า 20 รอบนั้นไม่แปลก

ไว้ลูกโตมาลองพิสูจน์ดูเองก็ได้ แล้วอย่าลืมบอกพ่อด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง

พ่อมาคิดถึงหนังคนเหล็กอีกครั้งเมื่อคนเหล็กภาค 6 (2019) กำลังเข้าฉายอยู่ในโรง มีบางซีนในภาคนี้ที่คนเหล็กเริ่มเรียนรู้ความเป็นมนุษย์

จากที่ถูกสร้างมาให้เป็นเพียงเครื่องจักรสังหาร ยิ่งอยู่ในโลกนาน คลุกคลีกับผู้คนนานๆ ก็เริ่มมีแววตาที่เปลี่ยนไป แม้มันจะสารภาพด้วยซ้ำว่าทำได้ไม่เท่ากับความรู้สึกของคน แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็รู้จักความเป็นครอบครัว และโอบกอดคนรักเป็น

อาจฟังดูพิลึก ในขณะบ้านเมืองของเราในปีเดียวกัน บางผู้บางคนแทนที่จะรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักให้เกียรติประชาชน เริ่มกลายเป็นเรียนรู้ที่จะเป็นเครื่องจักรสังหารแทน

ใช่, เครื่องจักรสังหาร คำนี้ไม่เกินเลย เพราะว่ามีคนถูกไล่ล่าจริง ถูกจับกุมคุมขัง กระทั่งว่าถูกฆ่าตายจริงๆ

 

2

 

หนึ่งในบันทึกข้อเท็จจริงแห่งยุคสมัยของเรามาถึงมือพ่อในค่ำคืนหนึ่ง ก่อนหนังคนเหล็กเข้าฉาย 1 เดือน น้าแอนกับน้าบอยถือมาให้พ่อเองกับมือที่ร้าน Head Over Heels แล้วพวกเราก็สั่ง IPA ขมๆ มาแกล้มข้าวต้มเพื่อปรับสมดุลร่างกายกับสมองกันใหม่

หลังจากคืนนั้นมาอีกร่วมเดือน น้าบอยสะกิดทักมาทางออนไลน์ประมาณว่าภาพถ่ายพวกเราที่เคยนั่งๆ นอนๆ รับลมชมวิวอยู่ริมหาดสามร้อยยอด ปราณบุรีนั้นไม่มีลูก เพราะตอนนั้นลูกยังไม่เกิด ถ้าไปอีกรอบต้องมีลูกไปด้วย และถ้าโอกาสนั้นมาถึง ลูกอาจมีน้าบอยเป็นเพื่อนสอนถ่ายรูปได้

ที่แน่ๆ น้าแอนกับน้าบอยไม่ใช่เครื่องจักรสังหาร พวกเขาเป็นหนึ่งในพยานของยุคสมัย เป็นคนปกติที่มีเนื้อหนังบางๆ หุ้มไว้ ถ้าถูกยิงยังไงก็ตายเหมือนกัน

น้าแอนทำหน้าที่อำนวยการในนาม ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนษยชน‘ เพื่อให้หนังสือ ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช. ออกมาจนสำเร็จลุล่วง ส่วนน้าบอยเป็นช่างภาพ ติดตามบันทึกบางส่วนเสี้ยวของเหตุการณ์เถื่อนๆ ไว้ในเล่มเดียวกันนี้ด้วย

 

 

บางวรรคบางตอนในบทนำของ ‘ราษฎรกำแหง’ บอกเราว่า “จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 22 พฤษภาคม 2562 เป็นเวลา 5 ปีที่คณะรัฐประหารควบคุมอำนาจ มีประชาชนอย่างน้อย 106 คน ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

“มีมูลเหตุของคดีเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่ประชาชนอย่างน้อย 121 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ ‘ยุยงปลุกปั่น’ ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กลายเป็นข้อหาที่ถูกหยิบมาใช้จนดาษดื่นทั่วไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน

“ส่วนประชาชนอย่างน้อย 428 ราย ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งคณะรัฐประหารบัญญัติขึ้นเอง และอีกอย่างน้อย 245 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อันเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. รวมทั้งประชาชนอย่างน้อย 144 ราย ได้ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการแชร์ข้อมูลทางการเมืองในโลกออนไลน์”

อันที่จริงตัวเลขประชาชนรวมๆ กว่าหลายร้อยคนที่ถูกต้องคดีความนั้น ไม่น่าจะมีแค่เพียงแค่ 9 คดีที่ถูกบันทึกไว้ แต่ถ้าถือเอาตามคำอธิบายของบทนำย่อมเข้าใจได้ว่าทั้ง 9 คดีมีเหตุผลน่ารับฟัง

“…แบ่งเป็นคดีที่ประชาชนถูกกล่าวหาโดยคณะรัฐประหารหรือกองทัพ จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ด้วยข้อหาทางการเมืองต่างๆ 7 คดี และเป็นคดีที่ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการฟ้องกลับคณะรัฐประหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวน 2 คดี”

ที่น่าสนใจของทั้ง 9 คดีนี้คือ “ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นทั้งผู้แสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของการรัฐประหาร และยังเลือกจะต่อสู้ใน ‘กระบวนการทางกฎหมาย’ ที่เกิดขึ้นตามมา”

แน่นอน, คนที่ไม่ยอมจำนนง่ายๆ ย่อมพบเจอความยุ่งยากตามมา การลุกขึ้นยืนเผชิญหน้ากับคนถือปืนด้วยมือเปล่าไม่ใช่เรื่องที่บังคับกันได้

โดยเฉพาะ “เวลา” และ “ค่าใช้จ่าย” ที่ต้องเสียไปในระหว่างขึ้นโรงขึ้นศาล บางคนต้องสูญเสียอิสรภาพระหว่างการพิจารณาคดีเพราะถูกคุมขัง

บทนำระบุว่า “ในภาระยุ่งยากเหล่านี้ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคนเลือกจะยินยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็วและไม่ได้รับโทษที่รุนแรงนัก แต่นักต่อสู้หลายคน นอกจากเผชิญกับคณะรัฐประหารแล้ว ยังเลือกที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดด้วย”

 

3

 

นอกจาก ‘ราษฎรกำแหง’ ที่บันทึกการยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเถื่อนของประชาชนบางส่วนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอัลบั้มเพลงที่เป็นบันทึกการยืนหยัดเคียงข้างให้กำลังใจประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจเถื่อนด้วย

อัลบั้ม ‘สามัญชน’ ของวงสามัญชน เป็นอัลบั้มที่มีบางเพลงได้เคยเผยแพร่ทางออนไลน์ไปแล้วในช่วงที่คนหนุ่มสาวเริ่มทยอยถูกจับเข้าคุกตาราง เพียงเพราะออกมาต่อต้านรัฐประหาร เพลงนั้นคือ ‘บทเพลงของสามัญชน’ ที่แต่งโดย ‘ชูเวช’ กับ ‘แก้วใส’

จำได้, ช่วงเวลานั้นพ่อกับแม่ยังอาศัยอยู่ที่คอนโดริมสวนที่มีหมาเห่าเสียงดังหลังแต่งงานกันได้ไม่กี่เดือน

เมื่อมีกิจกรรมนัดกันไปให้กำลังใจนักศึกษาที่ถูกจับอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เราหัดร้องเพลงนี้กันที่คอนโด มีน้าปอและน้าปัณมาร่วมกันฝึกซ้อมร้องประสานเสียงกันอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อออกไปร่วมขับร้องกับคนอื่นๆ ด้วยตามวาระ

 

 

อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่นั่งฟังเพลงอยู่ตรงนี้
แบบว่ามีจริงๆ ได้ก็คงดี บอกทีว่ายังฝันอยู่
บนเส้นทางที่เราร่วมเดินกันไป อาจมองดูไม่สวยงาม
นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายและเราจะไม่ยอมแพ้

กี่ลมฝันที่พัดละอองโปรยอ่อนมาในกรงขัง
คงเหน็บหนาวเงียบเหงาลำพัง โปรดฟังเพลงที่เราร้องอยู่
อยากได้ยินเธอร่ำร้องตะโกนบทเพลงของสามัญชน
ปลุกผู้คนปลูกฝันสู่วันของเรา

 

YouTube video

 

น่าสนใจที่หนึ่งในตัวละครที่อยู่ในบันทึก 9 คดี ‘ราษฎรกำแหง’ คือ ‘ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ติดคุกไป 870 วัน พอได้รับอิสรภาพออกมา ไผ่ได้เข้าร่วมกับวงสามัญชน ทำหน้าที่เป็นมือพิณด้วย

อาจเป็นฤกษ์งามยามดีที่อัลบั้มนี้ออกมาในวันเวลาอันเหมาะสม อย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนให้เรามองย้อนกลับไปว่ากำลังใจในเส้นทางเถื่อนจำเป็นและมีอยู่จริง และ ‘บทเพลงของสามัญชน’ เป็นหนึ่งในกำลังใจที่น่าจดจำนั้น

พ่อได้อัลบั้มนี้จากทีมงานของวงส่งไปรษณีย์มาให้พร้อมลายเซ็นนักดนตรีครบทั้งสามคน ความเป็นมาของเพลง ‘บทเพลงของสามัญชน’ ถูกเล่าไว้ในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ที่สอดแทรกอยู่ใต้ปกอัลบั้มว่า

ถูกแต่งขึ้นภายใต้บริบทหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 เมื่อนักกิจกรรมซึ่งเป็นเพื่อนของผู้แต่งจำนวนมากต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ บ้างถูกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ไปรายงานตัวและกักตัวไว้ในค่ายทหาร ในนามของการ ปรับทัศนคตินอกจากนี้ยังมีการส่งคนไปคุกคามติดตามถึงที่บ้านพ่อแม่ไปต่างจังหวัด กดดันไปยังสถานศึกษา และดำเนินคดีโดยใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือน (ซึ่งผู้พิพากษาศาลทหารบางท่านไม่ต้องเรียนจบนิติศาสตร์)

“บทเพลงของสามัญชน เดิมทีถูกแต่งโดยไม่มีชื่อ เป็นเพียงบทเพลงที่เขียนให้เพื่อนๆ ที่ถูกคุมขังและถูกเรียกเข้ากระบวนการ ปรับทัศนคติในค่ายทหาร ต่อมากลุ่ม F.A.N. ได้รวมกลุ่มกันบรรเลงเพลงนี้แล้วอัดคลิปลง YouTube โดยท้าให้เพื่อนๆ ของพวกเขาอีก 3 คนร้องเพลงนี้และอัดคลิปลงต่อๆ กัน จึงทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักในแวดวงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหนึ่ง

“ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้งชื่อเพลงนี้เป็นคนแรก ทั้งนี้ลักษณะการท้าให้เพื่อนอีกสามคนทำแล้วท้าต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ได้มาจากแคมเปญระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรค ALS ที่รู้จักกันในนาม “Ice Bucket Challenge” ซึ่งเป็นแคมเปญที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในเวลานั้น”

ไม่เกินเลยไปจริงๆ ที่พ่อรู้สึกและอยากบอกลูกว่าหนังสือเล่มนี้ (ราษฎรกำแหง) และบทเพลงในอัมบั้มนี้คือบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ (ช่วง 5 ปี 2014 -2019) ในยุคสมัยของพ่อที่ลูกยังสนุกสนานตามวัยแบเบาะ และยังอีกนานหลายปีกว่าลูกจะเข้าใจว่าคนเราไม่ใช่เหล็ก ถูกทำร้ายก็บาดเจ็บ ถูกฆ่าก็ตายได้

แต่ไม่ใช่ทุกคนเสมอไปที่จะยอมให้ใครกดข่มจนตัวโค้งตัวงอได้ง่ายๆ

ในบางความหมาย หัวใจของคนบางคนก็แกร่งยิ่งกว่าเหล็กด้วยซ้ำไป

 

____________________________
อ่านคอลัมน์เมื่อเวลามาถึงทั้งหมดต่อที่นี่ 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save