fbpx

บราซิลเลียน โมเดล : ฟ้องผู้นำ ชาติพ้นภัย (?) กรณี ปธน.โบลโซนารู จ่อถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมจากความผิดพลาดในวิกฤตโควิด

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีรายงานข่าวจากฝั่งบราซิลว่า ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีหัวขวาจัดมีแนวโน้มจะโดนตั้งข้อหาฆาตกรรมและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กรณีจัดการวิกฤตโควิด-19 ที่ผิดพลาดจนนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้คนกว่า 6 แสนชีวิต จากจำนวนประชากรทั้งหมด 212 ล้านคน

ถ้ายังจำกันได้ ช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกตอนต้นปี 2020 โบลโซนารูคนนี้นี่เองเคยปรามาสโรคระบาดนี้ว่า “มันก็แค่ไข้หวัดเล็กๆ ทั่วไป” (ประโยคคุ้นๆ มากเลย ไม่น่าเคยได้ยินแค่ที่บราซิล) และเมื่อยอดผู้เสียชีวิตพุ่งทะลุหลักแสนจนประชาชนออกมาร้องเรียนกันเต็มถนน ก็เป็นเขาอีกเช่นกันที่บอกว่า “ไอ้คนประเทศนี้นี่มันงอแงเสียจริง จะอย่างไรเสียเราก็ต้องตายในสักวันอยู่ดี!” นอกจากนี้ ยังมีรายงานเรื่องความไม่ยี่หระต่อสถานการณ์ร้ายแรงถึงชีวิตของประชาชน ตลอดจนการไม่กระตือรือร้นในการจัดหาวัคซีน จนผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ต้องแสดงหลักฐานว่าทางบริษัทพยายามติดต่อขายวัคซีนให้บราซิลหลายครั้งแล้ว แต่รัฐบาลของโบลโซนารูก็ไม่ตอบกลับแต่อย่างใด (ประโยคคุ้นมากเลย ไม่น่าเคยเกิดขึ้นแค่ที่บราซิล)

โดยวุฒิสมาชิกฝ่ายค้านของบราซิลมีมติประชุมร่างรายงานสรุปผลการสืบสวนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความยาวจำนวน 1,078 หน้ากระดาษ ใจความตอนหนึ่งมีการแนะนำให้ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดี ข้อหาฆาตกรรมในฐานะที่บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลวจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และชี้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะโบลโซนารูละเลยต่อความรุนแรงของสถานการณ์ การเป็นผู้นำที่ไร้ความสามารถ (อะแฮ่มๆ) และปฏิเสธหลักฐาน ตลอดจนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จนทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาล มิหนำซ้ำยังมีเจตนาเลื่อนระยะเวลาการซื้อวัคซีนสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างจงใจ (อะแฮ่มๆ)

และภายในร่างนั้นก็มีการกล่าวหาประธานาธิบดีขวาจัดว่าก่ออาชญากรรมทั้งสิ้น 11 กระทง รวมทั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, ปลุกเร้าให้เกิดอาชญากรรมและหลอกลวงประชาชน จากกรณีที่เขายืนกราน ดึงดัน โหมประโคมโฆษณาว่ายาจำพวกไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) สามารถใช้บรรเทาอาการจากโรคโควิด-19 ได้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะสั่งระงับการทดลองใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 แล้วก็ตาม ร่างรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หากปราศจากวัคซีน ยอดผู้เสียชีวิตจะพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ดังที่เกิดขึ้นแล้วในที่สุด และลงท้ายว่าพวกเราจะไม่มีวันลืมได้ลงเลย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ กรณีที่โบลโซนารูไม่ติดต่อสื่อสารกับผู้จัดจำหน่ายวัคซีนจนทำให้อัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะหลังเชื้อกลายพันธุ์เดลต้ารุกคืบเข้ามาในเดือนเมษายน 2021 และกระจายตัวเป็นวงกว้างโดยไม่อาจควบคุม นำมาสู่การเสียชีวิตของประชาชนวันละเกือบ 4,000 ชีวิต ซึ่งเหล่าสมาชิกวุฒิสภามองว่านี่เป็นการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากความประมาทและความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของผู้นำ

โดยในแถลงการณ์ระบุว่า “ทั้งที่มีผู้เสนอวัคซีนมาให้แล้ว แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะไม่ยอมสั่งซื้อ เป็นการตัดสินใจขัดต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์อันชี้ให้เห็นว่า (วัคซีน) ปลอดภัยและมีประสิทธิผล ทั้งยังขัดต่อคำแนะนำของนักระบาดวิทยาผู้ป่าวประกาศอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่ามีเพียงวัคซีนเท่านั้นที่สามารถรักษาชีวิตผู้คนได้ ทั้งนี้ การตัดสินใจที่จะไม่รับวัคซีนในเดือนกรกฎาคม 2020 จนถึงราวเดือนมกราคม 2021 โดยปราศจากพื้นฐานข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังออกเดินทางท่ามกลางคำแนะนำจากหน่วยงานด้านสุขภาพระหว่างประเทศเหล่านี้ลงเอยด้วยชีวิตชาวบราซิลนับพันที่ต้องการวัคซีนอย่างปราศจากข้อสงสัย”

ทั้งนี้ เพื่อจะอธิบายภาพรวมให้เข้าใจว่า โบลโซนารูผู้มีแนวคิดขวาจัด ทั้งยังเปิดเผยว่าตนเหยียดชนพื้นเมือง (เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในหมู่อินเดียนแดงอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาค่อยๆ กลายเป็นมนุษย์แบบพวกเราแล้วล่ะ”) และเคยพยายามให้เอาประเด็นรักร่วมเพศออกจากตำราเรียน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไรโดยไม่ต้องรัฐประหาร (อะแฮ่มๆ) แถมยังเดินหน้าประกาศนโยบายแบบขวาหักศอกเสียจนได้รับการขนานนามว่า เป็นชายผู้ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันของสหรัฐฯ ดูเป็นซ้ายขึ้นมาทันที

ก่อนหน้าจะมาลงสมัครเลือกตั้ง โบลโซนารูแวดล้อมโดยกองทัพมาตั้งแต่วัยเรียน เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารและประจำการในกองทัพนาน 15 ปี ภายหลังเจ้าหน้าที่ในกองทัพนิยามว่าเจ้าหนุ่มโบลโซนารูนั้นออกจะ ‘ดุดัน’ และ ‘ทะเยอทะยานเรื่องเงินทอง’ (มีรายงานว่าเขาเคยไปขุดทองในรัฐบาเอีย เจ้าตัวให้เหตุผลว่า “มันเป็นแค่งานอดิเรก แถมทำแล้วดีต่อสุขภาพจิตด้วยนะ”) และเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อเขาเขียนบทความลงนิตยสาร Veja ระบุถึงค่าแรงอันต่ำต้อยของนายทหารจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องเอาคนออกเพื่อประหยัดงบประมาณ จนกวาดเอาเสียงชื่นชมจากบรรดานายทหารในกองได้กราวใหญ่ เท่ากันกับที่ถูกผู้บังคับบัญชาระดับสูงหมายหัวจนทำให้เป้าหมายเดิมในการจะไต่เต้าดำรงตำแหน่งที่สูงกว่านี้ในกองทัพของโบลโซนารูสั่นคลอน และเพื่อหลีกเลี่ยงการกลั่นแกล้งในสายงาน โบลโซนารูในวัย 33 ปีจึงเลือกเดินสายเข้าสู่การเป็นนักการเมืองในที่สุด

โบลโซนารูลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018 ในแคมเปญ ‘บราซิลมาก่อนทุกสิ่ง พระเจ้าอยู่เหนือทุกคน’ และสัญญาว่าหากได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะปราบปรามการก่ออาชญากรรมและจะน้อมนำค่านิยมเก่าแก่ของบราซิลกลับมาใช้ ทั้งยังย้ำว่าจะขจัดการทุจริตให้ออกจากหน้าการเมืองบราซิลให้หมดจด

ช่วงที่เขาลงเลือกตั้งนี้ มีคนจำนวนมากที่ต่อต้านและหยิบเอาบทสัมภาษณ์เก่าๆ ของเขาขึ้นมาโจมตี โดยเฉพาะสารพัดวลีที่โบลโซนารูเคยกล่าวไว้ ครั้งที่อื้อฉาวมากที่สุดคือปี 2014 เมื่อ มารีอา โด โรซาริโอ นักการเมืองหญิงจากพรรคฝ่ายซ้ายกล่าวหาว่าโบลโซนารูกำลังปลุกเร้าให้เกิดบรรยากาศของการคุกคามทางเพศ ซึ่งโบลโซนารูก็โต้กลับอย่างเดือดดาลว่า “ผมไม่ไปข่มขืนคุณหรอก เพราะหน้าตาคุณน่าเกลียดมากๆ เลย” (หรือแม้แต่บทสัมภาษณ์ถึงเมียเก่าเมื่อปี 2000 ที่ว่า “ผมไม่เคยทุบตีเมียผมเลยนะ แต่ก็มีบ้างที่คิดอยากจะยิงเธอทิ้งอยู่หลายครั้งหลายคราว”) หรือแม้แต่ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เจ้าตัวก็ให้สัมภาษณ์ได้ชวนปวดหัวแทบทุกครั้งไป เช่นในปี 2016 ที่เขาให้สัมภาษณ์หน้าตาเฉยว่า “สิ่งที่เผด็จการทหารในบราซิล (ช่วงปี 1964-1985) ทำพลาดไปมากๆ คือแทนที่จะฆ่าพวกนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายให้หมด ก็ดันไปทรมานพวกนั้นแทน”

แต่ไม่ว่าจะปากร้าย หรือทัศนคติสวนทางกับสากลโลกแค่ไหน แต่โบลโซนารูก็ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่า 55% จากการเลือกตั้งปี 2018 จนหลายคนตั้งคำถามว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมเขาจึงยังชนะการเลือกตั้ง

เงื่อนไขหลักมาจากการที่คนบราซิลเองเหนื่อยหน่ายจากการบริหารงานของพรรคแรงงาน ที่ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาพาเศรษฐกิจดิ่งลงเหวไปไม่รู้กี่ตลบ สวนทางกับคดีอาชญากรรมที่พุ่งทะลุเพดาน แถมอดีตประธานาธิบดีจากพรรคแรงงานสองสมัยอย่าง ลูลา ดา ซิลวา ก็ถูกศาลจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชัน อันเป็นคดีที่แสนจะ ‘ยอกหัวใจ’ กองเชียร์ฝั่งซ้าย (แม้หลายคนจะตั้งคำถามว่า การเข้าคุกของลูลาครั้งนี้เป็นหนึ่งในเกมการเมืองของฝ่ายขวาหรือไม่) จนพรรคต้องส่ง เฟอร์นันโด อัดแดด ผู้สมัครอีกคนเข้าชิงประธานาธิบดี ซึ่งผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็นคือพ่ายให้โบลโซนารูกราวรูด

เบนจามิน ยุงเกอ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ค ผู้เคยทำวิจัยครอบครัวชนชั้นแรงงานกับชนชั้นกลางในบราซิลออกความเห็นต่อปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือนโยบายปราบปรามอาชญากรรมของโบลโซนารูนั้นน่าจับตา เพราะหลังจากที่ชาวเมืองใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดกลัวทุกลมหายใจเข้าออก ในที่สุดก็มีนักการเมืองสายทหาร ท่าทีดุดัน แข็งกร้าว ประกาศจะกำจัดอาชญากรออกไปให้หมด จึงนับเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้ลงคะแนนให้เขาอย่างปฏิเสธไม่ได้ มิหนำซ้ำ แม้บราซิลจะเป็นประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมานานหลายทศวรรษเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชิลีหรืออาร์เจนตินา แต่เมื่อสิ้นสุดยุคทหารปกครอง บราซิลก็ไม่อาจควบรวมฉันทามติของผู้คนในประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ จนคนที่เกิดทันปลายยุคทหารเรืองอำนาจก็จำไม่ได้ (หรือไม่รู้) ว่าทหารเลวร้ายอย่างไร ขณะที่คนรุ่นหลังๆ ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเผด็จการหลงเหลืออยู่เลย (อย่างไรก็ดี ยุงเกอชี้ว่าในที่สุดบราซิลก็ใส่ช่วงเวลาที่ทหารครองเมืองลงในหน้าประวัติศาสตร์หนังสือเรียนแล้ว)

เช่นเดียวกับผู้นำหลายๆ ประเทศทั่วโลก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยท้าทายและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาวะผู้นำ ตัวโบลโซนารู (ผู้ยืนหยัดมุ่งมั่นแก้ปัญหาอาชญากรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ และเมินเฉยต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน) ไม่เพียงมองว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่ยังไม่กระตือรือร้นที่จะจัดการแก้ปัญหาอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา ซึ่งยังผลให้เกิดความสูญเสียมหาศาลในที่สุด อันโตนิโอ คาร์ลอส คอสตา นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในบราซิลผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับโบลโซนารู นิยามประธานาธิบดีด้วยคำ 3 คำว่า “ไร้ความสามารถ ประมาท และด้านชาเหลือเกิน”

“ช่วงเวลาที่ผ่านมาคือช่วงเวลาของความหิวโหย โศกเศร้า มีคนตายและตกงานเป็นจำนวนมาก ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ในยุคสมัยนี้ แต่ประธานาธิบดีกลับไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจใดๆ ทั้งสิ้น”

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตประเทศนี้จะไม่ต้องถูกปกครองโดยรัฐบาลแบบโบลโซนารูอีก” คอสตากล่าว 

พร้อมกันนี้ ฝั่งองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็เผยแพร่รายงาน ‘1,000 days without rights: The violations of the Bolsonaro government’ ที่ชี้ว่ารัฐบาลของโบลโซนารูนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความประมาทเลินเล่อ ปรามาสความรุนแรงของโรค ต่อทำสัญญากับบริษัทจัดซื้อวัคซีนล่าช้า รวมทั้งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการต่อต้านวัคซีนอยู่หลายครั้ง (ครั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มากคือเขาให้สัมภาษณ์ว่า “วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงแก่ตัวผู้ที่ฉีด เช่นเชื้อ AIDS ได้” จนเฟซบุ๊กและยูทูบต้องลบเอาคลิปวิดีโอที่เขาให้สัมภาษณ์ออก) ทั้งรัฐบาลของโบลโซนารูยังจำกัดงบประมาณด้านสาธารณสุขจนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนผู้ป่วยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงเวลาที่ไวรัสแพร่ระบาดหนัก

อย่างไรก็ดี ตัวโบลโซนารูก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาในร่างรายงานสรุปผลการสืบสวนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ขณะที่ ฟลาวิโอ โบลโซนารู หนึ่งในลูกชายของเขาออกมาตำหนิร่างดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อนว่า “เจตนาของ ส.ส. บางคนในคณะกรรมการสอบสวนก็แค่อยากทำให้ประธานาธิบดีเสื่อมเสียให้ได้มากที่สุดเท่านั้นแหละ” ฟากโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีปากแจ๋วแห่งสหรัฐฯ ก็ออกมาให้กำลังใจโบลโซนารูว่า “ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารูกับผมเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมานาน เขาทุ่มเททำงานอย่างหนักด้วยความรักเพื่อชาวบราซิล เช่นเดียวกับที่ผมทำเพื่อประชาชนชาวสหรัฐฯ นั่นแหละ บราซิลนั้นโชคดีเหลือเกินที่มีชายอย่างฌาอีร์ โบลโซนารูทำงานเพื่อพวกเขา เขาเป็นประธานาธิบดีที่ยอดเยี่ยมและไม่มีทางทำให้ประชาชนผิดหวังอย่างแน่นอน!”

ทั้งนี้ ร่างรายงานสรุปผลการสืบสวนนั้นก็ยังต้องผ่านความเห็นและการลงมติจากคณะกรรมการวุฒิสภา คำถามต่อมาคือ แล้วโอกาสที่โบลโซนารูจะถูกดำเนินคดีในฐานะ ‘ผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ สามารถทำได้จริงหรือไม่ เจน เคอร์บี ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Vox ตั้งสมมติฐานว่า หากคณะกรรมการวุฒิสภาลงมติเห็นด้วยกับร่างดังกล่าว เรื่องจะดำเนินไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วสามารถดำเนินคดีต่อโบลโซนารูได้ เพราะบราซิลเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute – สนธิสัญญาจัดเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยก็ร่วมลงนามไปเมื่อปี 2000 แต่ยังไม่ได้ยื่นสัตยาบันสาร) ดังนั้นบราซิลจึงถือว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย

กระนั้น ตัวเคอร์บีชี้ว่าแม้สิ่งที่โบลโซนารูทำนั้นจะหนักหนาและเป็นชนวนเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย แต่การจะตีความถึงประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน ธรรมนูญกรุงโรมได้ระบุอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติไว้ว่า “เป็นการกระทำที่มุ่งเน้นการโจมตีพลเรือนเป็นวงกว้างหรือเป็นระบบ โดยผู้กระทำตระหนักรู้ถึงการโจมตีนั้นดี จึงจะนับเป็นการฆาตกรรมที่มีระบบ รวมทั้งการบังคับสูญหาย หรือการกระทำอันไร้มนุษยธรรมอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อันก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ”

ดังนั้น การตีความประมาทและการให้ข้อมูลผิดๆ แก่ประชาชนของโบลโซนารูจึง ‘ยาก’ จะเข้าข่ายนิยามของธรรมนูญกรุงโรม แต่ก่อนอื่นนั้น ถึงที่สุดร่างรายงานสรุปผลการสืบสวนก็ยังต้องรอผ่านการลงมติจากคณะกรรมการวุฒิสภาเสียก่อน ซึ่งมีแนวโน้มว่ายากมาก ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์สคะเนว่าโบลโซนารูคงไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ เพราะการฟ้องร้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออัยการสูงสุด (ที่โบลโซนารูเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพราะอัยการสูงสุดของบราซิลจะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีและได้รับการลงมติเห็นชอบยืนยันจากวุฒิสภา) เป็นผู้สั่งฟ้อง

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะรู้ว่าการดำเนินคดีนี้ต่อโบลซานารูนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถึงที่สุด มันคือสัญลักษณ์สำคัญของการขับเคลื่อน ‘วัฒนธรรมความรับผิดชอบ’ ที่สร้างแรงสะเทือนและการตระหนักรู้ในภาพรวม ด้วยการยืนยันว่าความเสียหายมากมายที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุอันควร เช่น ความประมาท ความล่าช้า หรือการเพิกเฉยในการจัดซื้อวัคซีนท่ามกลางภาวะโรคระบาดอย่างร้ายแรงนั้นเป็นเรื่องที่ควรมีคนต้องรับผิดชอบ ในอันจะย้ำเตือนว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในภายภาคหน้า ก็ไม่ควรมีใครต้องตายจากหรือสูญเสียเพราะความไม่เป็นมืออาชีพของผู้นำอีกต่อไป

อ้างอิง :

Charge Bolsonaro with murder over Covid toll, draft Brazil senate report says

Bolsonaro should be charged with crimes against humanity, Covid inquiry finds

Is ignoring the pandemic a crime against humanity?

Brazil elects Jair Bolsonaro as president – The far-right politician has been called “Trump of the Tropics.”

1,000 days of Bolsonaro and Brazil’s grave human rights crisis

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save