fbpx
"วรรณกรรมทำให้เราเปิดกะลา" สำรวจการเดินทางของ 'บทจร' กับ วรงค์ หลูไพบูลย์

“วรรณกรรมทำให้เราเปิดกะลา” สำรวจการเดินทางของ ‘บทจร’ กับ วรงค์ หลูไพบูลย์

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

ในช่วงหลายปีนี้ หากมองไปยังตลาดหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คที่ยังคง ‘ไปได้ดี’ สวนทางกับสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ ที่เริ่มโรยรา หนังสือประเภทหนึ่งที่ดูคึกคักและมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา คือหมวดหมู่ของ ‘วรรณกรรมคลาสสิก’ จากบรรดาสำนักพิมพ์ขนาดเล็กหลายแห่ง

สำนักพิมพ์บทจร คือหนึ่งในสำนักพิมพ์น้องใหม่ที่มุ่งผลิตวรรณกรรมคลาสสิกร่วมสมัย โดยมีหมุดหมายตั้งต้นจากผลงานเล่มสำคัญอย่าง ‘รักเมื่อคราวห่าลง’ และ ‘ความรักและปีศาจตัวอื่นๆ’ ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เปลี่ยนโฉมวรรณกรรมคลาสสิกจากแนวขรึมขลัง ขึ้นหิ้ง สู่รูปลักษณ์และรูปเล่มที่ร่วมสมัย ไปจนถึงการเผยแพร่งานของนักเขียนระดับโลกคนอื่นๆ ให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก อาทิ อิตาโล คัลวิโน, อลิซ มันโร, มาริโอ บากัส โยซ่า

จ๋ง – วรงค์ หลูไพบูลย์ คือผู้อยู่เบื้องหลังสำนักพิมพ์นี้ จากคนทำงานด้าน IT ที่หลงใหลในงานวรรณกรรม เขาหันมาเอาจริงเอาจังกับการผลิตวรรณกรรมแปลตามแนวทางของตัวเอง

หากย้อนไปห้าปีก่อน วรงค์นับว่างานที่ทำอยู่นี้เป็นเพียงงานอดิเรกที่ทำเพื่อตอบสนองแพชชั่นส่วนตัว ทว่าตอนนี้เขาเริ่มมองหาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อทำให้งานนี้เป็นงานที่เลี้ยงตัวเองได้

เหนือกว่านั้นคือเขายังมีความฝันในการเปลี่ยนแปลงแวดวงหนังสือให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะในฐานะที่เคยเป็นคนนอก เขาพบว่าการจะเข้ามาอยู่ในวงนี้และมีที่ทางของตัวเองได้นั้น “เปรียบเสมือนการบำเพ็ญทุกรกิริยา” ซึ่งเขามองว่าเกิดจาก ‘ระบบ’ ที่บกพร่องและล้าหลัง

นับจากเล่มแรกที่ปักหมุดหมาย ถึงวันนี้เป็นเวลาราวๆ 5 ปี สำนักพิมพ์บทจรมีผลงานออกมาทั้งสิ้น 9 เล่ม ถือเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก แต่ทุกเล่มต่างมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี คล้ายนักมวยที่ออกหมัดน้อย แต่ต่อยหนัก

ที่สำคัญคืองานของบทจรมักเป็นงานที่สะท้อนภาวะสังคมการเมืองไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในวาระที่งานสัปดาห์หนังสือเวียนมาอีกครา เราถือโอกาสชวน วรงค์ หลูไพบูลย์ มานั่งคุยแบบยาวๆ ตั้งแต่เรื่องราวของสำนักพิมพ์บทจร แรงบันดาลใจและความใฝ่ฝันส่วนตัว ไปจนถึงเสียงสะท้อนในฐานะคนนอกแวดวงวรรณกรรม ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นคนวงในแบบเต็มขั้น

วรงค์ หลูไพบูลย์

I.

การเดินทางของ ‘บทจร’

 

ช่วงแรกที่ทำสำนักพิมพ์ คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ยังไม่อยากออกตัวว่าเป็นผู้บริหารสำนักพิมพ์ เพราะงานนี้คืองานอดิเรก และยังไม่มั่นใจว่าจะยืนระยะได้แค่ไหน ถึงตอนนี้ผ่านไป 5 ปี สามารถพูดได้รึยังว่านี่คือ ‘งาน’ ของคุณ

ตอนนี้ผมคิดว่าผมกล้าพูดแล้วล่ะ แต่ผมยังไม่แน่ใจนักว่าบทบาทของผม ควรเรียกว่าอะไร เพราะผมไม่ได้ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว มีคนเก่งๆ อีกหลายคนที่เข้ามาช่วยผม และทำให้งานมันออกมาดี โดยเฉพาะนักแปลและบรรณาธิการ ที่มักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ

ประเด็นที่อยากบอกคือ กระบวนการทั้งหมดมันคือการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย หลายคน จนกระทั่งออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจยังให้ความสำคัญกับนักเขียนเป็นหลัก มองนักเขียนเป็นเหมือนพระเจ้า แต่มักไม่เห็นองค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยให้หนังสือเล่มนั้นเกิดขึ้นมา

ในฐานะที่เราทำวรรณกรรมแปลเป็นหลัก ถ้าเปรียบกับการสร้างบ้าน นักแปลคือคนที่ต้องดูแบบแปลนแล้วสร้างบ้านออกมา แต่ถ้าสร้างแล้วมันมีรอยแตก มีจุดบกพร่อง บรรณาธิการคือคนที่ช่วยซ่อม เพื่อทำให้มันเนี้ยบ

ถามว่าบทบาทของผมคืออะไร ผมขอตอบแบบเปรียบเปรยละกัน  ครั้งหนึ่งผมไปฟังการบรรยายของผู้กำกับคนหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คนในแวดวงภาพยนตร์รวมถึงคนทั่วไป มักจะมองผู้กำกับว่าเป็นคนที่อัจฉริยะ มีฝีมือรอบด้าน แต่ผู้กำกับคนนี้เขาเปรียบตัวเองว่าเป็นเหมือนฟองน้ำ ที่ดูดซับความสามารถจากคนรอบข้างเข้ามา เพื่อทำให้เกิดเป็นงานที่ดีได้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่งเหมือนกัน  ถ้าถามว่าผมเป็นแบบไหน ผมว่าผมเป็นแบบฟองน้ำนี่แหละ

เป้าหมายของการทำสำนักพิมพ์คืออะไร แค่เผยแพร่วรรณกรรมที่น่าสนใจ หรือมีอะไรมากกว่านั้น

การเผยแพร่งานที่ดีก็ส่วนหนึ่ง แต่ผมไม่ได้มองหนังสือเป็นผลลัพธ์สุดท้าย แต่มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การพูดคุย บทสนทนา หรือกระทั่งการฝึกฝนเรื่องเสรีภาพผ่านวรรณกรรม หนังสือเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

งานหลายเล่มเป็นของนักเขียนที่ไม่โด่งดังนักในไทย คุณพบเจองานเหล่านี้จากไหน

ผมเคยพูดติดตลกว่า ผมไม่ใช่คนรักหนังสือ แต่หนังสือมันรักผม หนังสือหลายเล่มมันวิ่งมาหาผมเอง จนบางครั้งผมก็งงๆ ว่ามันมาได้ยังไง

พอเราเริ่มทำสำนักพิมพ์ เราก็จะเจอคนที่มีความฝันเต็มไปหมด บางคนก็บอกว่าเล่มนี้น่าทำนะ สนใจมั้ย หรือบางคนก็บอกว่าเขาตั้งใจมานานแล้วว่าอยากทำเล่มนี้ พูดง่ายๆ คือมีแต่คนวิ่งเข้ามาหาเรา ซึ่งพอเราไปนั่งฟังเขาพูด หรือลองอ่านหนังสือที่เขาส่งมา เออ มันก็น่าสนว่ะ

ตั้งแต่ทำมา มีแค่เล่มของมาร์เกซสองเล่มแรกที่เกิดจากตัวผมเอง เป็นความรู้สึกว่าอยากเริ่มต้นกับเล่มนี้จัง แต่หลังจากนั้นคือมีคนวิ่งมาหาเรา มีคนเอามาเสนอ ซึ่งมันก็ดีในแง่หนึ่ง เพราะถ้าเราเริ่มจากตัวเองหมด ทุกอย่างมันจะอิงกับเราเกินไป

บางเล่มที่เห็นว่าน่าสนใจ ถ้าเราเซ็ตทีมพร้อม เจอนักแปลที่ชอบ มีบรรณาธิการที่ช่วยได้ เราก็ลุยเลย เงื่อนไขผมจะประมาณนี้

ตัดสินใจยังไง ว่าจะเอาหรือไม่เอาเล่มไหน

อันนี้ตอบได้เลยว่ามาจากผมเองล้วนๆ เลือกจากความสนใจของผมเลย ถ้าเปรียบเทียบเป็นว่าต้นฉบับเป็นเมล็ดพันธุ์ งานที่ผมจะไม่เลือกเลย คืองานที่ผมไม่รู้ว่าจะปลูกมันยังไง ถ้าให้คนอื่นปลูกอาจจะดีกว่า เติบโตกว่า แต่บางงาน ผมเห็นแล้วรู้สึกว่ามันปังมาก ใช่เลย คล้ายเป็นสิ่งที่เรามองหามานานแต่ไม่เคยเจอสักที ถ้าเข้าข่ายนี้ผมก็จะลุยเลย

ยกตัวอย่างงานเล่มหนึ่งที่เรากำลังจะทำ เป็นงานของนักเขียนอิสราเอล ชื่ออามอส ออส เขียนถึงปัญหาของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ พอได้ฟังคอนเซ็ปต์แล้วก็ปิ๊งเลย เพราะผมรู้สึกว่าเราก็อยู่ในประเทศที่มีความขัดแย้งมานาน เราพูดถึงเรื่องยิวมานาน แต่เราก็รู้จักแค่ยิวในอเมริกา ส่วนยิวในอิสราเอลเรายังไม่รู้จัก แล้วนักเขียนคนนี้เป็นนักเขียนที่ดังมาก แต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก ฉะนั้นก็อย่ารอเลย ทำเลยดีกว่า

เหมือนเราเป็นนักเดินทางผ่านวรรณกรรม อิสราเอลยังไม่เคยสำรวจ งั้นลองหน่อยละกัน เปรูยังไม่เคยไป งั้นไปหน่อยละกัน หรืออย่างงานของอิตาโล คัลวิโน นักเขียนอิตาลี ก็เริ่มจากการที่คุณนันทวรรณ์ ชาญประเสริฐ เขาอยากแปล ผมชอบงานของคุณนันทวรรณ์อยู่แล้ว พอตกลงกันได้ก็ทำเลย หลังจากนั้นก็มีอีกสองเล่มตามมา

คิดถึงเรื่องคุณค่าทางวรรณกรรมไหม

ไม่เชิงนะครับ หลายเล่มที่เราเลือก เราไม่ได้เลือกจากคุณค่าหรือความดีงามทางวรรณกรรมด้วยซ้ำ เพราะถ้าเลือกแบบนั้น งานของอังกฤษที่ดีๆ งานฝรั่งเศสที่ดีๆ ก็มีเยอะแยะ เพียงแต่มันยังไม่กระทบเรา

แล้วเรื่องแบบไหน ประเด็นไหน ที่กระทบกับคุณบ้าง

ถ้าดูจากเรื่องที่ผ่านๆ มา ผมค่อนข้างชอบนิยายที่เกิดจากดินแดนหรือประเทศที่ยังมีปัญหา โดยเฉพาะประเทศโลกที่สาม เพราะมันมีปัญหาที่เทียบเคียงกับสังคมของเราได้ในระดับหนึ่ง ผมจะชอบเรื่องทำนองนี้ รู้สึกว่าเราเห็นทางที่จะบ่มเพาะมันได้

บางโปรเจ็กต์ มีนักแปลอยากทำมานานแล้ว เราก็ช่วยเขาประเมินว่าพอจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเป็นไปได้เราก็ทำ หรือบางทีเอเยนต์ที่เราติดต่อไป เขาเห็นเราทำเล่มนี้ ก็เสนอเล่มอื่นๆ มาว่าสนใจมั้ย มันพูดถึงประเด็นนี้นะ เรื่องเป็นแบบนี้นะ ทำให้เราได้เห็นงานใหม่ๆ อยู่เรื่อย บางทีฟังเขาเล่า เอ๊ะ มันตรงกับสถานการณ์เมืองไทยเลยนี่หว่า เอ๊ะ งานแบบนี้เมืองไทยยังไม่ค่อยมี น่าสนใจดีนะ อะไรทำนองนี้ ประกอบกับที่เราทำวรรณกรรมระดับโลก ซึ่งขอบเขตมันกว้างมาก มันเลยมีอะไรใหม่ๆ แปลกๆ วิ่งเข้ามาหาเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่มีทางทำได้ทั้งหมดหรอก เราก็แค่ประเมินว่าเล่มไหนน่าสนใจ เล่มไหนเป็นไปได้

เท่าที่ผ่านมา สังเกตว่างานของบทจร มีผลตอบรับที่ดีแทบทุกเล่ม อยากรู้ว่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

เท่าที่ผ่านมา อาจพูดแบบลำพองนิดนึงก็ได้ว่า เรายังไม่มีเล่มไหนที่ทำออกมาแล้วล้มเหลว ขายไม่ได้ ส่วนใหญ่ทำออกมาแล้วจะเกินเป้าที่เราตั้งไว้เสมอ ยิ่งเมื่อเราเป็นคนที่มาจากวงนอก พอทำไปเรื่อยๆ แล้วผลตอบรับมันโอเค มันก็ทำให้เราเหลิงพอสมควร เพิ่งมาเจอโลกแห่งความจริงก็คือเล่ม ‘ยัญพิธีเชือดแพะ’ ที่มันไม่เปรี้ยงเท่าไหร่ แต่โชคดีที่เราเตรียมใจไว้บ้างแล้ว ก็เลยไม่ช็อคมาก

ถามว่าเล่มอื่นๆ ประสบความสำเร็จขนาดนั้นมั้ย ก็ไม่เชิง เหมือนมันไปได้เรื่อยๆ มากกว่า แทนที่มันจะเจ๊งแล้วทำให้เราต้องปิดตัวไปเลย แต่ปรากฏว่ามันก็ขายได้เรื่อยๆ อย่างเล่ม ‘หิมะ’ ของออร์ฮาน ปามุก ก็ถือว่าโชคดีที่มติชนเขาทำอีกเล่มนึงออกมาพร้อมกันพอดี มันก็เลยปัง หรืออย่างงานของมาร์เกซสองเล่มแรก มันไปได้ก็เพราะมีคนถางทางมาก่อนแล้ว กระทั่งงานของคัลวิโน่ ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่ามันว่าจะดัง แต่ปรากฏว่ามันก็ไปได้ดี จนทำให้มีเล่มที่สองที่สามตามมาอีก ตั้งแต่ทำมา 9 เล่ม เพิ่งมีเล่ม ยัญพิธีเชือดแพะ ที่ค่อนข้างฝืด

สำนักพิมพ์บทจร

พอเจอแบบนี้ มีหวั่นไหวบ้างไหม

ไม่ (ตอบทันที) จะพูดยังไงดี คือผมโชคดีอย่างหนึ่งที่ผมไม่ได้อยู่ในธุรกิจหนังสือมาตั้งแต่ต้น และผมมีเพื่อนที่เคยทำธุรกิจมาก่อน ซึ่งเขาเตือนผมตลอดว่า เวลาที่เราทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ก็เหมือนกับเราเล่นหุ้น คุณไม่มีทางที่จะได้อย่างเดียวหรอก มันมีขึ้นมีลง ถ้าคุณทำธุรกิจแล้วมีขึ้นมีลง คุณจะได้เห็นอะไรตามความจริง แต่ถ้าคุณทำแล้วขึ้นตลอด ได้ตลอด ถึงเวลาที่คุณล้มครั้งแรก คุณจะเคว้งกับชีวิตมาก คุณจะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต เพราะคุณไม่เคยมีภูมิคุ้มกัน ทั้งที่มันเป็นเรื่องปกติมาก

ผมทำหนังสือมาห้าปี ก็เจอสถานการณ์คล้ายๆ แบบนั้น มันขึ้นมาตลอด ดีมาโดยตลอด ซึ่งผมก็เตรียมใจไว้ตลอดว่าสักวันคงต้องเจอจุดที่ตกต่ำบ้าง พอเจอเล่มนี้ ผมก็รู้แล้วว่านี่แหละ ใช่ มันถึงจุดที่ผมต้องเจอแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้มันจะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ขาย แต่ผมกลับได้อย่างอื่นกลับมาซึ่งมีค่าไม่น้อยไปกว่ากัน

เล่มนี้เราเริ่มทำกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผ่านไปสักพักก็มีรัฐประหาร สังคมไทยกลายเป็นเผด็จการ ซึ่งมันดันตรงกับเนื้อหาในเรื่องพอดี ทีนี้เวลาที่เราทำหนังสือสักเล่ม แล้วต้องหาวิธีโปรโมตมัน แต่ละเล่มก็ต้องใช้วิธีที่ต่างกันไป อย่างเล่มนี้ จริงๆ เราจะโปรโมตให้มันเป็น thriller เลยก็ได้ สนุกแน่นอน อ่านแล้ววางไม่ลง กับอีกแบบคือโปรโมตว่าเป็นนิยายสะท้อนระบอบเผด็จการ

สุดท้ายแล้วเราเลือกอย่างหลัง เพราะรู้สึกว่านักเขียนลาตินเขาไม่ผลักตัวเองออกจากการเมือง แล้วถ้าเราทำเสมือนว่านิยายเรื่องนี้ไม่ใช่งานการเมือง แต่บิดเป็นนิยาย thriller เพื่อที่จะขายให้ได้มากขึ้น ผมว่ามันเป็นวิธีที่ไม่ respect กับต้นฉบับเท่าไหร่นัก ฉะนั้นเราึงเตรียมใจไว้เลยว่า เล่มนี้อาจไม่ได้ยอดขายมากนัก แต่เราขอทำแบบนี้ ซึ่งพอถึงเวลาจริงๆ ก็เป็นอย่างที่เราคาดไว้ อ๋อ ที่เพื่อนๆ ในวงการเตือนกันไว้มันเป็นอย่างนี้เอง (หัวเราะ)

แล้วพอเราไปคุยกับเพื่อนๆ ในวงการ เขาก็แนะมาว่าถ้าโปรโมตอีกแบบ น่าจะขายดีนะ เราก็บอกว่าโอเค ถ้างั้นถือว่าเราเข้าใจถูกต้องแล้ว เราไม่ได้ทำผิด เพราะเล่มนี้ผมไม่ได้อยากให้มันสวยแบบนั้น ผมอยากให้มันมีความดิบ มีความกระด้าง เพื่อให้มันสอดคล้องกับประเด็นบางอย่างในเล่ม

 

ที่บอกว่าได้อย่างอื่นกลับมา ได้อะไร

มันทำให้เราได้เจอคนอย่างอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) เจออาจารย์ประจักษ์ (ก้องกีรติ) ที่เขาชอบงานของเรา ชื่นชมที่เราแปลงานแบบนี้ออกมา แล้วก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่ามันมีคุณค่า อาจารย์ปิยบุตรเสนอตัวมาเองเลยว่า ให้ผมช่วยพูดหรือช่วยโปรโมตอะไรมั้ย หรืออย่างอาจารย์ประจักษ์ ผมบอกเขาว่ามีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เกี่ยวกับเผด็จการในลาตินอเมริกา อยากชวนอาจารย์มาจัดเสวนามากเลย อาจารย์ก็บอกว่าเอาสิ ทำเลย น่าสนใจ สุดท้ายแม้มันจะไม่ตอบโจทย์ด้านการขาย มันก็ตอบโจทย์ด้านอื่นๆ อยู่ดี

แล้วถ้าย้อนไปเล่มก่อนๆ ที่ดีมาตลอด มันเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่างานวรรณกรรมแปลลักษณะนี้ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ มันต่างจากแบบที่ผมทำอยู่พอสมควร เช่น ถ้าดูจากภายนอก ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้รูปนักเขียน กับชื่อเรื่อง จบ วิธีคิดเกี่ยวกับรูปเล่มและการนำเสนอจะเป็นคนละแบบโดยสิ้นเชิง

เล่มของมาร์เกซที่ผมทำออกมาในตอนแรก ผมให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก เช่นเดียวกับเล่มต่อๆมา ยกตัวอย่างเล่ม ‘หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง’ พอปล่อยภาพปกออกมา ก็มีเสียงตอบรับเกรียวกราว แต่ทั้งนี้ เราไม่ได้ตั้งต้นจากความอยากให้มันขายดี แต่เราอยากให้มีมันบางอย่างที่สะท้อนกันและกัน ระหว่างรูปเล่มและเนื้อหาข้างใน นี่คือสิ่งที่ผมพยายามเน้น ส่วนในแง่ของการเลือกงาน เลือกนักเขียน เราก็อยากไปให้กว้างที่สุด ไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม

อีกข้อที่เราทำก็คือ เมื่อหนังสือออกมาแล้ว เราพยายามจัดกิจกรรมกับคนอ่าน อยากต่อยอดมันออกไป ไม่ใช่ว่าพิมพ์ออกมาแล้วก็จบ ช่วงแรกๆ ที่ทำเพจ เราจะเน้นมากว่าต้องแนะนำนักเขียน เพื่อปูทางให้นักเขียนเป็นที่รู้จักก่อน ซึ่งสำนักพิมพ์อื่นๆ อาจไม่ได้คิดหรือทำกันละเอียดแบบนี้

 

ขอถามเรื่องทุนบ้าง อยากรู้ไว้ใช้ทุนจากไหน

อันนี้ก็เป็นโชคอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะมีคนที่อยู่นอกวงการหนังสือที่เขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่ผมทำอยู่ ทั้งเพื่อนผม ญาติพี่น้องผม ที่ช่วยกันลงขันให้ผมได้ทำสำนักพิมพ์ คนสำคัญคนหนึ่งคือเพื่อนผมที่เป็นเจ้าของบริษัทด้าน IT ที่ผมทำงานอยู่ ซึ่งเขาเป็นคนที่ไม่ได้สนใจหรือรู้เรื่องในแวดวงหนังสือเลย แต่เขาก็ยังสนับสนุนผมอยู่ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่น เขาอาจไล่ผมออกไปนานแล้ว แต่อีกแง่หนึ่ง ผมก็รู้สึกว่าผมเอาเปรียบเขาอยู่เหมือนกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมอยากเริ่มทำให้มันเป็นธุรกิจแบบจริงจังแล้ว

คนที่ทำให้เราอยู่ได้จริงๆ คือที่อยู่นอกวงการ ที่เขาเห็นคุณค่าในงานของเรา ซึ่งผมก็หวังว่าในอนาคตคงต้องเริ่มไปหาทุนจากแหล่งอื่นบ้างแล้ว เช่นจากองค์กรด้านวัฒนธรรม หรือองค์กรด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเราก็พิสูจน์ตัวเองมาสักพักแล้วว่าเราทำจริงนะ แล้วมันเห็นผลสำเร็จนะ เพื่อจะได้ไม่ต้องเบียดเบียนคนเหล่านี้เยอะ เพราะเขาคงช่วยเราไม่ได้ตลอด

 

แล้วคุณโน้มน้าวหรืออธิบายกับคนเหล่านี้ยังไง เขาถึงเห็นดีเห็นงามในสิ่งที่คุณทำ

อันนี้ก็ยังเป็นปริศนาของผมเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเขาคงสัมผัสถึงพลังหรือความมุ่งมั่นของเราบางอย่าง อาจเห็นว่าผมอินกับสิ่งนี้มาก แล้วเขาก็อินตาม แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะเป็นพระเอกผู้ใจบุญอะไรอย่างนั้นนะ มันจะเป็นทำนองว่า ไอ้สัตว์ มึงทำกูเหนื่อยอีกแล้ว (หัวเราะ)

วรงค์ หลูไพบูลย์

II.

วรรณกรรมทำให้เราเปิดกะลา

จากตอนแรกที่คุณบอกว่า การทำหนังสือเป็นแค่จุดเริ่มต้น อยากให้ขยายความหน่อยว่าเป็นจุดเริ่มต้นยังไง แล้วจะนำไปสู่อะไรบ้าง

ผมรู้สึกตั้งแต่ต้นว่า การทำสำนักพิมพ์ครั้งนี้ เป็นการลงทุนที่หวังผลในระยะยาว ซึ่งถ้ามองในแง่ธุรกิจ หรือผลกำไร แน่นอนว่ายังไงก็ไม่คุ้ม แต่ถ้ามองในระยะยาว ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมันเป็นการปลูกฝังบางอย่างลงบนผืนดินนี้

สิ่งที่ผมรู้สึกอย่างหนึ่งคือ วรรณกรรมมันทำให้เราปลดปล่อยเสรีภาพภายในออกมาได้ ผมไม่เคยมองว่าวรรณกรรมเป็นความบันเทิง แน่นอนว่ามันอาจจะอ่านสนุก แต่มากกว่านั้นคือคุณต้องคิด ต้องจมจ่อมกับมัน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่ความสนุกเสมอไป แต่มันจะทำให้ค้นพบแง่มุมชีวิตบางอย่าง ตั้งคำถามกับมัน สนทนากับมัน ซึ่งช่วยเติมเต็มความเป็นมนุษย์ของเรา

บ้านเมืองเรายังขาดสิ่งนี้ ยังไม่ค่อยมีคนคิดอะไรแบบนี้ ผมจะไม่อินกับคนที่มองวรรณกรรมเป็นแค่เครื่องประดับ หรือคนที่อ่านเพื่อให้คนอื่นมองว่ากูเจ๋ง แต่จะอินกับคนที่อ่านแล้วมองเห็นหรือค้นพบแง่มุมบางอย่าง และตอบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่องานเหล่านั้นปะทะกับชีวิตเขา นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง ผมเลยพยายามจัดกิจกรรมที่ให้คนอ่านสามารถมาแลกเปลี่ยนกัน เพราะคิดว่านี่คือแบบฝึกหัดสำคัญที่สังคมของเรายังขาดอยู่

หลายคนมองว่างานวรรณกรรมระดับโลก เป็นงานที่อ่านยาก เข้าถึงยาก อยากให้ลองยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหน่อยว่า วรรณกรรมเหล่านี้มันดียังไง จากประสบการณ์ของคุณเอง

ผมรู้สึกว่าวรรณกรรมที่ดี เวลาที่เราหยิบมาอ่านในช่วงชีวิตที่ต่างกันไป เราจะเห็นแง่มุมใหม่ๆ จากมันเสมอ เพราะสิ่งที่ผู้เขียนเขียนออกมา มันกลั่นมาจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขา ตอนที่เราอ่านในช่วงวัยหนึ่ง เราอาจพบแง่มุมที่กระทบเราบางอย่าง แต่พอโตขึ้น กลับมาอ่านอีกที เราย่อมเห็นอะไรที่มากขึ้น

เราจะเห็นอะไรที่มากไปกว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน เห็นมากไปกว่าสิ่งที่สังคมพยายามทำให้เราเห็น บางอารมณ์ บางความรู้สึก เราอาจเคยได้ยินมาแต่ไม่รู้ว่าเป็นยังไง หรือไม่เคยตระหนักถึงมัน วรรณกรรมสามารถทำให้เรารู้ได้ เพราะมันถ่ายทอดชีวิตที่ผ่านการพินิจพิเคราะห์และหยั่งรู้ภาวะเหล่านั้นแล้ว

ไม่ว่านักเขียนหรือศิลปินคนนั้นจะใช้ชีวิตอย่างชั่วช้าเลวทรามแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าเวลาที่เขาเขียนงานเหล่านี้ออกมา เขาจะกลั่นเอาสิ่งที่บริสุทธิ์ออกมาเสมอ ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นความอัปลักษณ์ หรือเป็นความโกรธแค้น สิ่งเหล่านั้นเขากลั่นออกมาโดยผ่านกระบวนการคิด ตกผลึก และถ่ายทอดออกมาอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่เขียนระบายอารมณ์อย่างไร้สติ อย่างสะเพร่าหรือมักง่าย แต่เขาถ่ายทอดออกมาด้วยอุดมคติบางอย่าง

สมมติว่าเราอยู่บนเรือ อุดมคติของเราคือเส้นขอบฟ้าที่มีแสงอาทิตย์รำไร การอ่านวรรณกรรมก็เหมือนเรากำลังนั่งเรือไปยังเส้นขอบฟ้า ซึ่งเป็นเหมือนความรู้ความเข้าใจในชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด แต่เราก็ขยับเข้าไปใกล้เรื่อยๆ ใกล้เรื่อยๆ

คนที่เป็นนักเขียน เขาก็มีเส้นขอบฟ้าที่ใส่มาในงานของเขา เวลาเราอ่าน เราก็มีเส้นขอบฟ้าของเรา ตอนยังเด็ก เราอาจเห็นแค่นี้ โตขึ้นเราก็เห็นเพิ่มขึ้นมาอีก ถามว่าไปถึงเส้นนั้นไหม ไม่ถึงหรอก คนเขียนก็เช่นกัน

ถ้าเปรียบกับกะลา วันนี้เราอยู่ในกะลาเราก็มองเห็นแค่นี้ แต่ถ้าเราเปิดกะลาออกมา ถามว่าเจออะไร ก็เจอกะลาอันใหม่ การอ่านวรรณกรรมคือการเปิดกะลาไปเรื่อยๆ

หนังสือในโลกนี้มีมากมาย วรรณกรรมแตกต่างจากหนังสือประเภทอื่นยังไง

ผมขออ้างคำของมิลาน คุนเดอร่า ที่บอกว่าวรรณกรรมจะตายสนิททันทีถ้าเกิดเรามีคำตอบ เช่น ถ้าคุณรู้ว่าชีวิตนี้เกิดมาแล้วต้องทำอะไรบ้าง ตื่นเช้ามา นั่งทำงาน หาเงิน แต่งงาน จบ ถ้าคุณพบคำตอบแบบนี้คุณไม่ต้องอ่านวรรณกรรมแล้ว เพราะคุณรู้แล้วว่าต้องทำอะไรในชีวิต จากจุดเริ่มต้นไปจนถึงวันตาย

แต่สุดท้ายแล้วเราไม่มีทางรู้หรอก ไม่ว่าเราจะวางแผนดีแค่ไหน ผมเลยเปรียบเทียบว่ามันเหมือนเส้นขอบฟ้าที่ไม่มีวันไปถึง เพราะถ้าคุณรู้แต่แรกว่าออกเรือไปแล้วมันจะชน ตู้ม มันก็จบเลย ถ้าเป็นแบบนั้นคุณจะออกเรือไปทำไม

การแล่นเรือกับเส้นขอบฟ้ามันคือการเปรียบเปรย แต่ความจริงเราก็นั่งกันอยู่ตรงนี้แหละ อยู่ในโลกที่ต้องตื่นมาทำงาน หาเงิน กลับบ้าน เส้นขอบฟ้าที่เราพูดถึง มันคือโลกภายในของเราที่สามารถขยายไปเรื่อยๆ ผ่านการอ่านวรรณกรรม ถามว่าชีวิตจริงเราจะเจออะไรได้สักแค่ไหน เราจะรู้จักความกล้าหาญจากไหน รู้จักความขี้ขลาดจากไหน รู้จักความเกลียดความโกรธจากไหน อาจมีบ้างจากผู้คน จากเพื่อนร่วมงาน แต่ผมคิดว่ายังไงมันก็ไม่เทียบเท่าสิ่งที่นักเขียนคนหนึ่งเคยสัมผัสแล้วกลั่นออกมาให้เราอ่านผ่านวรรณกรรม

นอกจากหวังผลในแง่ของคนอ่าน คุณคาดหวังว่ามันจะส่งผลอะไรต่อสังคมด้วยไหม

คิดครับ แต่ผมมองว่ามันเป็นการหวังผลในระยะยาวมากกว่า อย่างที่บอกไป ซึ่งมันคงเทียบไม่ได้กับปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไขแบบเฉพาะหน้า บางคนอาจบอกว่า ตอนนี้มีคนกำลังหิว คุณจะแก้ปัญหายังไง แน่นอนว่าการอ่านวรรณกรรมมันช่วยอะไรไม่ได้หรอก มันต้องแก้อีกแบบ แต่สุดท้ายผมมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน การอ่านวรรณกรรมอาจไม่ได้ทำให้คนหายหิว หายจน แต่มันอาจทำให้คุณเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมคนถึงหิว ถึงจน อะไรทำนองนั้นมากกว่า

ความคาดหวังจากการทำงานวรรณกรรมของผม ก็คืออยากทำให้คนเห็นเส้นขอบฟ้าที่กว้างขึ้น เห็นโลกกว้างขึ้น ใจกว้างขึ้น

 

ในช่วงหลัง งานประเภทหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมเหมือนกัน ก็คืองานประเภทวิชาการย่อยง่าย ซึ่งสามารถให้ความคิดบางอย่างกับผู้อ่านได้เหมือนกัน ในแง่คุณค่ามันสามารถเทียบกันได้ไหม

ผมมองว่ามันเป็นการสำรวจโลกอีกแบบมากกว่า วรรณกรรมอาจเน้นด้านความงาม แต่งานวิชาการอาจเน้นไปที่ความจริง ซึ่งไม่มีอันไหนดีหรือแย่กว่ากัน สำหรับผมมันคือการสำรวจขอบฟ้าผ่านเส้นทางหลักคนละทาง

วรงค์ หลูไพบูลย์

III.

คนในไม่อยากออก คนนอกเข้ายาก

 

จากการทำ ‘บทจร’ มา 5 ปี อยากให้สะท้อนหน่อยว่า มีอะไรที่เป็นหรือไม่เป็นอย่างที่คิดไว้บ้าง

ข้อแรกที่ต้องบอกก่อนคือ ผมเป็นคนที่มาจากนอกวงการหนังสือ ดังนั้นผมจะมองตัวเองในฐานะที่อยู่วงนอกมากกว่าคนใน อีกข้อก็คือ วงการหนังสือที่เราพูดถึง น่าจะหมายถึงเฉพาะแวดวงหนังสือขนาดเล็กเท่านั้น เพราะองค์กรใหญ่ๆ ผมก็ไม่ได้คลุกคลีหรือมีข้อมูลมากนัก

ผมอยากพูดในฐานะของคนที่เจอความแตกต่างระหว่างคนที่ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะสาย open source กับการทำงานหนังสือ ว่าผมเห็นอะไรบ้าง

ข้อแรกที่ผมรู้สึกก็คือ วงการหนังสือที่ได้สัมผัสในช่วงที่ผ่านมา มีการแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ค่อนข้างชัดเจน เมื่อมันแบ่งเป็นกลุ่มเยอะๆ ความร่วมมือมันจึงเกิดยาก เพราะแต่ละกลุ่มก็เรียกร้องให้คุณต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์ ไปคลุกคลีกันก่อนประมาณหนึ่ง คุณถึงจะได้รับการยอมรับ และถึงจะเกิดความร่วมมือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องปกติก็ได้

แต่ผมในฐานะคนที่มาจากวงนอกมากๆ ผมรู้สึกว่ากว่าจะเข้ามาถึงตรงนี้ได้ มันยากมาก มันมีกำแพงที่สูงพอสมควร หมายความว่าถ้าเราอยากเข้ามา แล้วเราไม่ใช้ความพยายามมากพอ เราจะเสียเปรียบ แล้วถ้าเรายังทำเหมือนเดิม เราก็จะยิ่งเสียเปรียบไปเรื่อยๆ ในทุกๆ ด้าน

ถ้าเทียบกับวงการ open source จะต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะมันจะเปิดให้ทุกคนที่ไม่เคยรู้จักกันเลย ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยมีอุดมคติบางอย่างเป็นจุดเชื่อมเท่านั้น ถ้าคุณ contribute งานออกมาเรื่อยๆ สักพักก็จะเริ่มมีคนเห็นสิ่งที่คุณทำเอง

แต่วงการหนังสือ ถ้าคุณทำหนังสือออกมา แล้วไม่มีใครเขียนถึง ไม่มีคนพูดถึง มันก็จะตายไปแบบเงียบๆ ซึ่งกว่าผมจะเข้าใจว่าต้องทำแบบนี้ก่อนนะ หนังสือเราถึงจะถูกรีวิว ต้องทำแบบนี้ก่อนนะ ถึงจะไว้วางบนชั้นที่มีคนเห็น ก็ใช้เวลาเยอะเหมือนกัน การทำหนังสือเล่มหนึ่งออกมา มันมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ อีกเยอะมากที่ผมไม่รู้มาก่อน

ฉะนั้นเมื่อผมเข้ามาในวงการหนังสือ ผมจึงใช้เวลานานมาก กว่าจะเข้าใจว่าวัฒนธรรมในวงการนี้มันคืออะไร ช่วงแรกๆ จะมีความ culture shock เยอะมาก

คุณพอจะวิเคราะห์ได้ไหมว่าปัญหาเกิดจากอะไร

ปัญหาใหญ่น่าจะอยู่ที่ระบบ ผมคิดว่าระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ได้เป็นระบบที่การทำหนังสือสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยเฉพาะหนังสือแบบที่ผมทำ เหมือนมันบีบบังคับให้การทำหนังสือเป็นแค่สปริงบอร์ดไปสู่เรื่องอื่นๆ เท่านั้น เช่น คุณทำหนังสือเพื่อที่วันหนึ่งคุณจะมีชื่อเสียงมากพอ แล้วใช้ชื่อเสียงนั้นในการหาประโยชน์ทางอื่นต่อไป เพราะลำพังการขายหนังสือมันไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ดั้งนั้นคุณต้องมีทุนสนับสนุน หรือไม่ก็ใช้มันเป็นทางผ่านไปสู่อะไรบางอย่าง และเมื่อระบบมันเป็นเช่นนี้ การทำหนังสือมันจึงกลายเป็นงานที่ยากมากๆ สำหรับคนที่อยากเข้ามาทำ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น

ยกตัวอย่างเรื่องการโปรโมต มีช่วงหนึ่งที่ผมคิดไม่ตกว่า ทำไมหนังสือเราไม่มีใครเขียนถึงเลย เป็นเพราะหนังสือไม่ดี เป็นเพราะเราโปรโมตไม่ดี หรือเป็นเพราะอะไร จนกระทั่งผมถึงบางอ้อว่า คุณต้องรู้จักหรือเป็นเพื่อนกับคอลัมนิสต์ก่อน รู้จักสื่อนั้นสื่อนี้ก่อน เขาถึงจะเขียนถึงงานของคุณ

แต่ถ้าระบบมันดี สิ่งที่ควรจะเป็นคือ เราก็ทำหนังสือของเราออกมาให้ดีเถอะ แล้วเดี๋ยวจะมีสื่อที่เข้ามาหาหรือมาเขียนถึงเอง เดี๋ยวงานคุณก็ถูกหยิบไปวิจารณ์เอง โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไร เหมือนกับที่ในหลายๆ ประเทศเขาทำกันอยู่ แต่ของประเทศเรา เราต้องวิ่งเข้าหาสื่อเอง

ตอนนี้โลกเราไปไกลมาก แล้วระบบหนังสือของบ้านเราก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ด้วยอะไรบางอย่าง มันทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่เกิด พอการเปลี่ยนแปลงไม่เกิด มันเลยเกิดการชุลมุนกันเยอะพอสมควร

อีกปัญหาหนึ่งคือ มันไม่มีเจ้าภาพที่สามารถจัดการทุกอย่างได้ จะมีแต่กลุ่มเล็กๆ ที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งพอทุกคนมาอยู่ร่วมกันในระบบที่ยังไม่เวิร์ก แล้วทุกคนต่างต้องการทำอะไรใหม่ๆ หาอะไรใหม่ๆ มันจะเหนื่อย พอมันเหนื่อย สุุดท้ายทุกคนก็ต้องวิ่งเข้าหาใครสักคนที่มีบารมี หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัว เพื่อให้เขาช่วยเหลือคุณ ซึ่งใช่ว่าเขาจะช่วยคุณได้เสมอไป เพราะไม่ได้มีแค่คุณที่ไปขอความช่วยเหลือเขา พูดง่ายๆ ว่ามันยังอาศัยระบบอุปถัมภ์กันอยู่เยอะ

 

หมายความว่าเวลาจะทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องอาศัยเส้นสายและความสัมพันธ์ด้วย ใช้ฝีมืออย่างเดียวไม่ได้

อะไรทำนองนั้น ผมคิดว่าวงการหนังสือไทยอยู่ได้ด้วยการใช้ศาสนาและบารมี สังเกตว่าในแต่ละกลุ่มเล็กๆ ที่มีอยู่ ก็มักอยู่กันด้วยศาสนาและบารมี คุณต้องพยายามสร้างตัวตนของคุณด้วยบารมี ซึ่งมันมีอะไรฟุ้งๆ หลอกๆ เยอะ หมายความว่ามันไม่ได้อิงกับผลงานเท่าไหร่นัก ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราทำงานลำบาก

ทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นแบบนี้ เป็นเพราะเราไม่มีระบบที่แข็งแรงพอที่จะจัดการและควบคุมทุกอย่างได้ สุดท้ายแต่ละคนเลยต้องเอาตัวรอดกันแบบนี้ ทุกอย่างมันเหนื่อยไปหมด ยุ่งเหยิงไปหมด และทุกคนก็ดูหงุดหงิดง่ายไปหมด เหมือนเป็นปัญหางูกินหางที่ยังหาทางออกไม่ได้

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าทุกคนต้องการคือ เจ้าภาพสักคนที่เข้ามาช่วยทำให้ความยุ่งเหยิงเหล่านี้หายไป แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครยอมอยู่ภายใต้คนอื่นอยู่ดี เพราะแต่ละกลุ่มก็มีบารมีของตัวเองอยู่ หลายปัญหาไม่ใช่ว่าทุกคนไม่รู้หรือไม่เห็น แต่ด้วยวัฒนธรรมบางอย่างที่สะสมมา ทำให้มันไม่นำไปสู่การแก้ไข

แล้วพอคุณทำหนังสือออกมาเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคแค่ไหน

เยอะมาก ทุกวันนี้เวลาผมเจอคนทำหนังสือด้วยกัน แล้วได้ยินเขาบอกว่ามันเหนื่อยนะ ผมจะอินมาก เหมือนเรารู้ว่ากำลังอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เจอปัญหาแบบเดียวกัน ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ ก็ต้องบอกว่ามันเหมือนการบำเพ็ญทุกรกิริยา บุกป่าฝ่าดง กว่าจะทำหนังสือออกมาได้แต่ละเล่ม ไม่มีเล่มไหนที่สบายเลย จนเรางงว่ามันโหดหินขนาดนี้เชียวเหรอวะ

แล้วถ้าพูดในแง่เงินทุน การสนับสนุนบางอย่างก็ยังกระจายไม่ถึง อย่างผมเองก็ต้องการแหล่งทุนที่เข้ามาซับพอร์ตบ้าง อันนี้พูดอย่างไม่เกรงใจเลย เพราะการทำหนังสือมันใช้เงินเยอะ แต่เท่าที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยได้ทุนสนับสนุนเลย ซึ่งผมก็ดันรู้อีกว่า หลายๆ องค์กรเขาพร้อมที่จะช่วยเรานะ

แต่ปัญหาคือ คนที่อยากได้ กับคนที่อยากให้ มันไม่เคยเจอกัน เขาจะเจอกันอยู่แค่วงแคบๆ จะพูดว่าผูกขาดก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ผูกขาดเจ้าใหญ่นะครับ แต่ผูกขาดกับเจ้าเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะตะกายไปหานายทุนหรือคนที่มีบารมีเหล่านั้นได้ยังไง เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาที่ระบบอีกเช่นกัน

สุดท้ายแล้วผมก็ยังมองว่าคนในแวดวงหนังสือไม่ได้เลวร้าย แต่ด้วยความที่ระบบมันเป็นแบบนี้ มันทำให้เขาต้องพยายามหาก๊ก หาเผ่า เพื่อเอาตัวรอด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนหน้าใหม่ที่อยากเข้าไป จะลำบาก เกิดยาก ส่วนคนที่อยู่ในนั้นแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะเสียคนง่าย

เวลาผมคุยกับคนอื่นๆ ในแวดวง ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันมีปัญหา แทบไม่มีใครบอกว่าตอนนี้วงการหนังสือดีเลย อันนี้พูดถึงในแง่การทำหนังสือให้อยู่ได้นะ บางคนอาจบอกว่ามีความรุ่มรวยขึ้น ปกสวยขึ้น ผมไม่ปฏิเสธ แต่ในแง่ธุรกิจ คนที่บอกว่าฉันอยู่ได้ด้วยการทำหนังสือนะ แทบไม่มีเลย ทุกคนอยู่ได้ด้วยปัจจัยพิเศษอื่นๆ ทั้งนั้น

คุณบอกว่าอยากเริ่มขยับจากงานอดิเรก ไปสู่การทำเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว มีแผนไหมว่าจะเดินไปยังไง ในเมื่อระบบยังแย่อยู่แบบนี้ 

จากการทำงานที่ผ่านมา เราเรียนรู้ความผิดพลาดมาเยอะ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจ คืออยากทำให้คนที่อยากเข้ามาใหม่แบบเรา ไม่ต้องเจอสิ่งที่เราเคยเจออีก ถ้าคุณมาจากวงนอกหรือชายขอบ คุณก็ควรจะได้เจอสิ่งที่มันดีๆ ผมคิดว่าอย่างน้อยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้หักร้างถางพงไว้บางแล้ว เวลาเราเจอเส้นทางที่มันพัง เราจะรู้สึกว่าช่วยกันซ่อมหน่อยเถอะ อย่างน้อยคนที่ตามหลังมาจะได้ไม่ลำบาก

ตอนนี้เราเริ่มเจอคนที่ทำงานด้วยแล้วมีความสุขบ้างแล้ว เริ่มมีคนรู้จักบ้างแล้ว นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า เราน่าจะพอไปได้ แต่พอจะทำเป็นธุรกิจ แน่นอนว่ามันต้องมี business plan, financial plan, marketing plan เพื่อให้ธุรกิจมันไปได้ นี่คือเรื่องที่เราวางแผนกันอยู่ เราประเมินแล้วว่ามันอยู่ได้แน่ๆ แต่ยังต้องแก้ไขอีกหลายอย่าง หลักๆ คือต้องเอาวิธีคิดเชิงธุรกิจมาใช้ให้เยอะขึ้น ต้องมีวินัยกับตัวเองเยอะขึ้น

ตอนนี้เราเริ่มอยู่เป็นแล้ว รู้แล้วว่าจะอยู่ยังไงให้รอด เริ่มเข้าใจระบบนี้และหาความได้เปรียบจากมันได้บ้างแล้ว แต่เรารู้ว่ามันยังไม่ใช่ระบบที่ดี และไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นผมจึงหวังว่าสักวันหนึ่งที่เราเริ่มอยู่ได้แล้ว เราคงมีกำลังพอที่จะทำให้อะไรๆ มันดีขึ้น เพื่อให้คนที่เข้ามาใหม่ไม่ต้องลำบากแบบเรา เหมือนว่าตอนนี้เราอยู่ในตลาดมืด ซึ่งเราเริ่มคุ้นเคยกับมันแล้ว แต่เราไม่อยากอยู่ในตลาดมืดไปตลอด เราอยากทำให้ตลาดมันสว่างมากกว่า ถ้าพูดในทางธุรกิจก็ต้องบอกว่า barrier มันยังสูงอยู่

ยิ่งช่วงหลังที่สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มมีปัญหา มันก็เหมือนกับเรือแตก ทุกคนก็ต้องเอาตัวรอดก่อนเป็นธรรมดา จะไปเรียกหาน้ำใจอะไรกันตอนนี้คงเป็นไปไม่ได้ แน่นอนว่ามันมีทั้งคนที่ตะเกียกตะกายอยู่ กับคนที่รอดแล้ว ขึ้นเรือได้แล้ว คนที่อยู่บนเรือก็คงไม่บอกว่า เฮ้ย ขึ้นมาสิ เดี๋ยวกูกระโดดลงไปแทน

ในส่วนของผม ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งเราจะช่วยทำให้ความโกลาหลเหล่านี้คลี่คลายลงได้บ้าง พื้นที่ตรงนี้จะได้เป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้น สำหรับคนจำนวนมากขึ้น

ที่พูดมาส่วนใหญ่เป็นด้านลบ แล้วด้านที่ดีๆ มีบ้างไหม

ต้องมีสิครับ ไม่งั้นผมคงเลิกทำไปนานแล้ว (หัวเราะ) ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะได้รับน้ำใจอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งจากคนในแวดวง หรือจากนักอ่าน ที่เขาเห็นคุณค่าของงานที่เราทำ แต่แง่มุมที่มหัศจรรย์สำหรับผม ก็คือแง่มุมที่ได้จากนักอ่าน ผมเชื่อในการจัด reading group เชื่อในการไปฟังจากปากเขาว่าเขาได้อะไร ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราได้ฝึกฝนการใช้เสรีภาพผ่านงานวรรณกรรมด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ผมคาดหวังถัดจากนี้ ก็คือหนึ่ง การทำหนังสือมันจะเลี้ยงตัวเองได้ โดยที่เราไม่ลำบากนัก สอง คือการทำให้เกิดชุมชนการอ่านที่ดีขึ้นในสังคม ซึ่งต้องค่อยๆ ทำไป เป็นการหว่านเมล็ดเพื่อหวังผลในระยะยาว

เราหวังว่าจะได้เจอคนอ่านที่สนุกกับการเดินทางไปสู่เส้นขอบฟ้าใหม่ๆ เหมือนเรา ตามหาสิ่งที่ตกสำรวจ จนถึงการตามหาความหมายใหม่จากสิ่งที่เคยค้นพบแล้ว เราสนุกกับการทำงานแบบนี้ ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้พบเจอคนที่มีทัศนคติแบบเดียวกับเรา ซึ่งเราหวังว่าจะได้เจอคนแบบนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ

ผลงานลำดับถัดไปของบทจร มีอะไรบ้าง พอจะบอกได้ไหม

ตอนนี้มีอยู่ในสต็อกอีกเยอะเหมือนกันครับ ซึ่งเราคงทยอยทำไปเรื่อยๆ เท่าที่นึกได้ตอนนี้ก็มีของ อามอส ออส , ออร์ฮาน ปามุก , มิลาน คุนเดอร่า , หลุยส์ ฆอร์เก บอร์เกส ประมาณนี้ครับ อ้อ แล้วก็มีของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่หลายๆ คนรออยู่ด้วยครับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save