fbpx
บางแสงสว่างมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเนื้อ

บางแสงสว่างมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเนื้อ

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

 

วันอีสเตอร์

12 เมษายน พ.ศ. 2563

อันเดรอา โบเชลลี (Andrea Bocelli) นักร้องโอเปราผู้พิการทางสายตาชาวอิตาเลียนเปิดการแสดงคอนเสิร์ต Music for Hope ซึ่งประกอบด้วยห้าบทเพลง ได้แก่ Panis Angelicus, Ave Maria, Sancta Maria, Domine Deus และ Amazing Grace ผ่านไลฟ์สตรีมจากมหาวิหารแห่งเมืองมิลาน (Duomo di Milano)

 

26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

โบเชลลีเปิดเผยว่าตนเองและสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็คือราวหนึ่งเดือนก่อนคอนเสิร์ต Music for Hope ต่อมา โบเชลลีและภรรยาได้บริจาคพลาสมาให้กับโรงพยาบาลในเมืองปิซา เพื่อใช้ในการวิจัยและรักษาผู้ติดเชื้อรายอื่น

 

ตอนที่ดู Music for Hope ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนนั้น ผู้เขียนรู้สึกอยากเขียนถึงคอนเสิร์ตนี้อยู่เหมือนกัน แต่ได้ยั้งตัวเองไว้ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับดนตรี ตัวโบเชลลีผู้ขับร้อง สถาปัตยกรรมโบราณในอิตาลี คริสต์ศิลป์นานารูปแบบ หรือเทศกาลอีสเตอร์

ความ ‘ไม่รู้’ ที่ทำให้คิดว่า ‘เขียนไม่ได้’ หรือ ‘ไม่ควรเขียน’ นี้มีต้นตอมาจากความคิดที่ว่า ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพอันมีพื้นฐานอยู่ที่การค้นคว้าและขบคิดนั้น ไม่ควรทำแค่ ‘แปล’ และ ‘เรียบเรียง’ สิ่งที่อ่านมาเป็นภาษาไทย โดยปราศจากข้อคิดเห็นหรือประเด็นอื่นใดที่มาจากตัวเองเลย รู้สึกคล้ายๆ ว่าหากทำเช่นนั้นจะเป็นการโกงผู้อ่าน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนใจมาเขียนถึง คือข้อมูลที่เพิ่งเปิดเผยภายหลังว่าโบเชลลีติดโควิด-19 ก่อนที่เขาจะไปร้องเพลง อ่านข่าวแล้วรู้สึก moved จนบังเกิดความอีโมขึ้นมาอย่างท่วมท้น อยากจะลองพยายามดูสักครั้งหนึ่ง

 

เมื่อหวนกลับมาดู / ฟังคอนเสิร์ตที่ว่าอีกหลายครั้ง ทั้งแบบเปิดตาและปิดตาเพื่อทดลองเป็นคนตาบอดแบบชั่วคราว ก็ได้สังเกตถึงอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวเอง เรื่องแรก คือความเคยชินของการใช้สายตา ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ต้องพึ่งพาการมองอย่างมากจนแทบไม่เหลือทักษะอื่น (ผู้เขียนมีทักษะการฟังที่อ่อนมาก สมาธิสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับการทำกิจกรรมอื่น และการปิดตาฟังเพลงเพื่อสมมติว่าตัวเองเห็นแบบเดียวกับโบเชลลี หรือเห็นแต่ความมืดนั้นช่างเป็น 24.56 นาทีที่แสนจะยาวนาน)

เรื่องที่สอง คือความรู้สึกทนไม่ได้ที่จะ ‘ไม่รู้เรื่อง’ ทั้งประวัติความเป็นมา รูปแบบศิลปกรรม และศิลปวัตถุต่างๆ ที่ทับถมกันอยู่ในมหาวิหาร หรือเนื้อหาและความสำคัญของบรรดาบทเพลง ซึ่งหากยกเว้น Amazing Grace ที่เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ที่เหลือก็เป็นภาษาละตินทั้งหมด (อันทำให้ต้องไปหาบทแปลที่เป็นภาษาอังกฤษต่อไปอีกทอดหนึ่ง)

 

ราวกับว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะ appreciate อะไรบางอย่างได้โดยปราศจากความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น

 

อาจเรียกได้ว่านี่คือกรงขังชนิดหนึ่ง เป็นตัวตนประกอบสร้างที่ผ่านการถูกฝึกให้เป็นเช่นนั้นมาอย่างยาวนานจนยากจะเป็นอื่น จุดที่ยากที่สุดของผู้เขียนจึงเป็นช่วงเวลาที่นั่งหลับตาเพื่อฟังอย่างเดียวโดยไม่เห็นอะไรเลย เพราะงานประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับการใช้สายตาเพื่อมองดู (to look) เพื่อมองเห็น (to see) เพื่อระบุสิ่งที่เห็น (to identify) และเพื่อสำรวจตรวจสอบ (to examine) ก่อนขั้นตอนอื่น

 

“How do I know what I think until I see what I say?” – E.M. Forster

 

ผู้เขียนได้รู้จักประโยคคำถามนี้ครั้งแรกสมัยเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่ Birkbeck อาจารย์คนหนึ่ง (คนละคนกับที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ผู้หายสาบสูญ) ได้พูดถึงความสำคัญของประโยคนี้ต่อการทำงานวิจัยว่า การเขียนกับการคิดเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปพร้อมกัน เราไม่ได้คิดเสร็จแล้วจึงเขียน แต่เป็นการเขียนนั่นเองที่ทำให้การคิดและความคิดก่อรูปเป็นร่าง แปรเปลี่ยนเป็นการกระทำและรูปธรรม คือการปะติดปะต่อชิ้นส่วนในหัวไปพร้อมกับถ่ายเทออกสู่ภายนอกบนหน้ากระดาษ (หรือหน้าจอ) ขณะที่มือเขียนหรือพิมพ์ สมองก็คิดและเรียบเรียงไปด้วย เรา ‘เห็น’ สิ่งที่เรา ‘คิด’ เพราะเรา ‘เขียน’ มันออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตา

 

[ตัดเข้าสู่ช่วงของการ drop-name หรือเรียกอีกแบบว่าการเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร อี.เอ็ม.ฟอร์สเตอร์ (E.M.Forster) เป็นนักเขียนในกลุ่มบลูมส์เบอรี (Bloomsbury Group) ซึ่งประกอบด้วยนักเขียน นักคิด ศิลปิน และปัญญาชนที่รวมตัวกันในลอนดอนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สมาชิกของกลุ่มอีกคนหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดีคือ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ผู้เคยอาศัยอยู่ในอาคารเลขที่ 46 Gordon Square ในย่านบลูมส์เบอรี ปัจจุบันอาคารเลขที่ 43-46 เป็นที่ตั้งของ School of the Arts ของ Birkbeck]

 

ผู้เขียนเริ่มต้นการทำงานชิ้นนี้แบบเดียวกับทุกครั้งที่เริ่มต้นการเขียนถึงงานศิลปะ คือเริ่มด้วยการดู มีทั้งการกวาดตาดูโดยคร่าวเพื่อมองภาพรวม การดูเจาะเฉพาะจุดเท่าที่การแพนกล้องจะอนุญาต การกด pause เพื่อหยุดดูบางอย่าง (เทคโนโลยีมันดีอย่างนี้เอง) ดูเพื่อแยกแยะองค์ประกอบต่างๆ ภายในหน้าจอแบบเดียวกับการดูงานจิตรกรรมที่อยู่ภายในกรอบ ที่พื้นที่ภายในภาพพาให้มองลึกเข้าไปราวกับการมองฉากของเวทีละครอีกที (ในที่นี้คือภายในมหาวิหารที่สร้างขึ้นโดยใช้เวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14-20) จดโน้ตว่าเห็นอะไรเตะตา อะไรอยู่ตำแหน่งไหน ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแต่ละตำแหน่งเรียกว่าอะไร เพราะลืมศัพท์สถาปัตยกรรมประเภทโบสถ์วิหารไปหมดแล้ว อะไรที่ต้องไปหาข้อมูลเพิ่ม และที่สำคัญคือ อะไรๆ ที่ว่านี้ชวนให้คิดอะไรบ้าง

ในระหว่างที่กำลังหมกมุ่นหาข้อมูล เพราะคิดว่าจะต้องรู้ให้ได้ว่า บริเวณที่โบเชลลียืนอยู่นั้นเรียกว่าอะไร nave? transept? choir? apse? หรือรูปปั้นนักบุญองค์ใดบ้างที่ผ่านเข้ามาในกล้อง (องค์เดียวที่มองปราดเดียวแล้วรู้จักคือพระแม่มารีที่อยู่บนยอดมหาวิหาร) ผู้เขียนก็เริ่มสติแตก หมดความอดทน ขี้เกียจแหวกว่ายในมหาสมุทรแห่งข้อมูล แล้วย้อนกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า เรารู้เท่าที่รู้ได้ไหม ถ้ารู้เท่าที่รู้ ซึ่งคือมีส่วนที่ไม่รู้มากกว่าส่วนที่รู้ แล้วส่วนที่รู้อยู่นิดเดียวนั้นมีความหมายอะไรกับเราไหม เราปลดปล่อยตัวเองให้ดื่มด่ำกับสิ่งตรงหน้าโดยปราศจากความรู้แจ้งแทงตลอดได้หรือไม่?

 

 

แม้ว่าจะไม่รู้อะไรมากนัก แต่สำหรับส่วนที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นอกจากพระแม่มารีบนยอดมหาวิหารแล้วก็คือไม้กางเขนนั่นเอง โบเชลลีร้องเพลงโดยหันหน้าเข้าหาไม้กางเขนที่ห้อยลงมาจากด้านบน แน่นอนว่า ‘เขา’ มองไม่เห็นไม้กางเขนที่ว่า เป็น ‘เรา’ ที่มองเห็นไม้กางเขนที่เขาหันหน้าเข้าหา (โดยมองไม่เห็น) อีกที

ภายในมหาวิหารอันว่างเปล่า มีเพียงโบเชลลีกับเอ็มมานูเอล เวียเนลลี (Emanuelle Vianelli) นักเล่นออร์แกนประจำมหาวิหาร โอ่อ่าสง่างามแต่เวิ้งว้าง ในช่วงเวลาแห่งการระบาดของโรคร้ายที่เฉพาะในอิตาลีตอนนั้นก็มีผู้เสียชีวิตเกินสามหมื่นคนแล้ว คอนเสิร์ต Music of Hope ที่เปิดไลฟ์สตรีมออกมาจากมหาวิหารในขณะที่ทั้งประเทศอยู่ในภาวะล็อกดาวน์นั้น ชวนให้ทั้งสะท้อนใจ ทั้งเร้าศรัทธา ทั้งมีความหวังถึงวันข้างหน้าที่วิกฤตจะผ่านพ้นไปพร้อมกัน

นี่คือการร้องเพลงในวันอีสเตอร์ วันแห่งการเฉลิมฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู วันแห่งปาฏิหาริย์อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ โบเชลลีกล่าวข้อความด้านล่างเป็นภาษาอิตาเลียนในช่วงแรกของคอนเสิร์ต โดยมีบทแปลภาษาอังกฤษขึ้นเป็นซับไตเติล

 

“On the day in which we celebrate the trust in a life that triumphs, I’m honored and happy to answer ‘Sì’ to the invitation of the City and the Duomo of Milan.

I believe in the strength of praying together; I believe in the Christian Easter, a universal symbol of rebirth that everyone – whether they are believers or not – truly needs right now. Thanks to music, streamed live, bringing together millions of clasped hands everywhere in the world, we will hug this wounded Earth’s pulsing heart, this wonderful international forge that is reason for Italian pride.

The generous, courageous, proactive Milan and the whole of Italy will be again, and very soon, a winning model, engine of a renaissance that we all hope for. It will be a joy to witness it, in the Duomo, during the Easter celebration which evokes the mystery of birth and rebirth.”

 

 

ขณะที่กำลังซึ้งอยู่ สายตาเจ้ากรรม (ที่ถูกฝึกมา) ก็พลันเห็นชายคนหนึ่งเดินออกไปจากหน้าฉากทางขวามือ การปรากฎตัวของชายคนดังกล่าวทำลายมายาภาพที่เห็นเบื้องหน้า กระตุกเตือนให้ตื่นจากภวังค์ว่ามหาวิหารไม่ได้ว่างเปล่าเหมือนที่เราเห็น นอกกรอบของหน้าจอยังมีทีมงานถ่ายทำอีกหลายชีวิต เราไม่ได้เห็นทั้งหมด (ส่วนโบเชลลีนั้นไม่เห็นอะไรเลย)

แต่ทั้งหมดที่เราเห็นและไม่เห็นด้วยตาเนื้อ รวมทั้ง ‘ภาพหลุด’ ที่ทำให้เราได้เห็นในสิ่งที่ไม่ควรเห็น ก็ชวนให้คิดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ศรัทธา’ นั่นคือ ความเชื่อมั่นในสิ่งที่เหนือพ้นไปจากการรับรู้ด้วยผัสสะทั้งห้า เราไม่ได้มีศรัทธาเฉพาะสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแจ้งได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และเรารู้ตัวดีว่าเป็นเช่นนั้น ต่อให้เราพิสูจน์ได้ ต่อให้เราเท่าทันมายาภาพว่าเป็นเรามนุษย์เองที่เป็นผู้สร้างมันขึ้นมา เราก็ยังอยากจะเชื่อ

ภาพหลุดของชายคนนั้นที่ริมขอบจอ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงข้อถกเถียงว่าด้วยที่ทางของศาสนาในโลกสมัยใหม่ เรายังเชื่ออยู่อีกหรือไม่ว่าพระเจ้าเป็นผู้บันดาลสรรพสิ่ง รอยสะดุดซึ่งเกิดจากบุคคลที่สามที่ไม่ควรอยู่ตรงนั้นพาไปสู่การตระหนักรู้ว่า ไม้กางเขนที่เรามองเห็นราวกับว่าลอยอยู่กลางอากาศท่ามกลางเสียงบทเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้านั้น เราเห็นได้ด้วยการถ่ายทำ ทุกอย่างล้วนสร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ศรัทธาในพระเจ้าจะยังมีความสำคัญอยู่อีกไหม โดยเฉพาะในภาวะที่โรคระบาดโรคใหม่กำลังกลืนกินผู้คนและวิทยาศาสตร์การแพทย์คือความหวังของการมีชีวิตรอด?

 

บางทีคำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ที่การต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ปัจเจกบุคคลไม่จำเป็นต้องเลือกเหตุผลและความรู้โดยละทิ้งอารมณ์ความรู้สึก โบเชลลีร้องเพลงกลางมหาวิหารในวันอีสเตอร์ สื่อสัญญะถึงการเกิดใหม่ (rebirth) ซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันก็เข้ารับการรักษาทางการแพทย์และบริจาคพลาสมาของตัวเองในฐานะผู้รอดชีวิตด้วย

เป็นความบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์แบบ ความอ่อนแอ และความไม่ลงรอยต่างๆ นานาของมนุษย์นั่นเองที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ และการตระหนักถึงข้อจำกัดโดยปราศจากการยอมจำนนนั่นเองที่ทำให้มนุษยชาติมีความหวังถึงการอยู่รอด คือเครื่องหมายของความเข้มแข็ง พระเจ้าอาจจะมีหรืออาจจะไม่มี แต่ศรัทธาจะยังคงมี เพราะศรัทธาคือความเชื่อมั่น คือฝันของวันข้างหน้า

 

ถึงจุดนี้สำนึก PC เริ่มเข้ามาก่อกวนตามประสาคนจิตไม่ว่าง นักประวัติศาสตร์ศิลปะจากประเทศโลกที่สามซึ่งไม่เคยตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการไม่ควรตั้งคำถามถึงความไม่ inclusive ของวิดีโอคอนเสิร์ตนี้หรอกหรือ? องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมแล้วว่า โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) แต่ภาพเมืองในวิดีโอมีแค่มิลาน เมืองอื่นๆ ในอิตาลี ปารีส ลอนดอน และนิวยอร์กเท่านั้น ไหนเอเชีย? ไหนแอฟริกา?

นอกจากจะมีแต่เมืองของคนขาวแล้ว เพลงที่ร้องยังเป็นเพลงสวด (hymn) เร้าศรัทธาในคริสต์ศาสนาอีก (บวกให้ด้วยว่าสี่ในห้าเพลงเป็นภาษาละติน) ยังไม่นับว่าตลอดระยะเวลากว่าหกร้อยปีของการสร้างมหาวิหารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป เป็นรองแค่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในวาติกัน กลืนกินชีวิตของแรงงานไปเท่าไร ความซาบซึ้งบังตาเพราะมองด้วย Occidentalist gaze ผนวกกับความไม่อ่อนไหวเรื่องความไม่เท่าเทียมของชนชั้น? สุนทรียภาพเอื้อมมือมาลดทอนประเด็นปัญหา?

อย่างไรก็ตาม ขอบอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่คิดว่ามหาวิหารแห่งมิลานนั้นงดงาม อย่างน้อยออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ก็เคยเขียนถึงสถานที่แห่งนี้ว่า “The Cathedral is an awful failure. Outside the design is monstrous and inartistic. The over-elaborated details stuck high up where no one can see them, everything is vile in it; it is, however, imposing and gigantic as a failure, through its great size and elaborate execution.”

 

 

สารภาพว่าผู้เขียนมีความรำคาญความ over PC ที่ตามหลอกหลอนไปทุกหย่อมหญ้า เราจำเป็นต้อง inclusive โอบกอดทุกคนในทุกที่และทุกขณะจิตจริงหรือ? หรือเราไม่สามารถมีความรู้สึกร่วมกับอะไรได้เลยหากอะไรที่ว่านั้นไม่เชื่อมโยงกับตัวเราเองก่อน?

อนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ประการหนึ่งมีอยู่ว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นเป็นวิทยาการตะวันตกโดยรากฐาน นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนแรกคือจิออร์จิโอ วาซาริ (Giorgio Vasari, 1511-1574) ก็เป็นชาวอิตาเลียน กระนั้น ก็ไม่เสมอไปที่ว่าการชื่นชมในอารยธรรมอื่น โดยเฉพาะอารยธรรมตะวันตกจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราชาว non-white นั้นสยบยอมต่อคนขาวจนมืดบอด (เหมือนข้อถกเถียงเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นประเด็นอมตะ) งานประวัติศาสตร์ศิลปะในโลกนอกตะวันตกลงหลักปักฐานช้ากว่ากันหลายร้อยปีก็จริง แต่ความพยายามในการสร้างเรื่องราวและระเบียบวิธีในแบบของตัวเองควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากต้นแบบนั้นมีอยู่เสมอมา

 

สำหรับผู้เขียน Music for Hope พาไปสู่การทบทวนตัวเอง พาไปสู่การคิดคำนึงถึงความสำคัญของกระบวนการทำงานขั้นพื้นฐานที่ปกติทำไปโดยอัตโนมัติ นั่นคือ การมองเพื่อทำ visual analysis อันได้แก่การบรรยายแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ในภาพ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม การมองเห็นด้วยตาเนื้อก็ไม่ใช่ทั้งหมดของงานประวัติศาสตร์ศิลปะ พ้นไปจากการใช้สายตาเพื่อมองดู (to look) เพื่อมองเห็น (to see) เพื่อระบุสิ่งที่เห็น (to identify) และเพื่อสำรวจตรวจสอบ (to examine) แล้ว การอ่าน (to read) และการตีความ (to interpret) อันเป็นขั้นต่อไปนั้น เป็นเรื่องของสายตาเฉพาะตัวที่เรียกร้องมากกว่าการเห็นด้วยตาเนื้อ เป็นเรื่องของมุมมองที่สอนกันไม่ได้ แต่อาจเผยให้เห็นได้

ในแง่นี้ การมองไม่เห็นของโบเชลลีก็เป็นแสงสว่างสาดส่องให้เห็นบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับวิกฤตโรคระบาด นั่นคือ ความปรารถนาที่จะเขียนถึงสิ่งที่ไม่รู้จักและความพยายามที่จะบรรลุความปรารถนานั้น

ในความพยายามดังกล่าว ผู้เขียนนึกถึงชื่อบทความของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งอยู่ในบทความชุดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ To Look, To See, and To Find the Right Words

 

ทั้งนี้ก็เพราะ “How do I know what I think until I see what I say?”

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save