fbpx
อาคารสีฟ้าโดดเด้ง: คำถามต่อการปรับปรุงอาคารและการพัฒนาเมืองในอนาคต

อาคารสีฟ้าโดดเด้ง: คำถามต่อการปรับปรุงอาคารและการพัฒนาเมืองในอนาคต

ปรัชญพล เลิศวิชา เรื่อง

วราพร ธงชัย ภาพ

 

ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมืองที่มีธรรมชาติโอบล้อมและมีพื้นที่เมืองทันสมัยเคล้าไปกับความเป็นเมืองเก่า มีโรงแรมแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงได้ทำการปรับปรุงอาคารด้วยการทาสีฟ้า สีสันที่ดูแปลกแยกจากบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างรอบข้างที่ใช้สีโทนอ่อนทำให้โรงแรมดังกล่าวโดดเด้งออกมาจากบริบทโดยรอบ เมื่อภาพถ่ายของโรงแรมถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย บรรดาชาวเน็ตต่างก็แห่แหนมาแสดงความคิดเห็นต่อกันยกใหญ่ บางส่วนก็ออกความเห็นสนับสนุนการปรับปรุงนี้ เช่น

“สวยดีเป็นแลนด์มาร์คใหม่ได้เลย”

“เราว่าโอเค เปลี่ยนแปลงบ้างก็ดี มีสีสัน”

“ดูมีชีวิต​ชีวาขึ้นมาหน่อย​ สีขาว​ ครีม​ น้ำตาล​ คิดละเหมือน​ตึกร้าง”

ในขณะเดียวกัน หลายคนก็แสดงความเห็นต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าการทาสีฟ้าของอาคารเป็นการทำลายทัศนียภาพอันสวยงามของเมือง และอาจขัดแย้งกับภาพลักษณ์เมืองที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้เป็นเมืองมรดกโลก

“มันไม่ผิด แต่มันไม่สวยงาม มันมีผลต่อเมืองและสภาพแวดล้อมที่ดี”

“เป็นสีที่บ่งบอกถึงรสนิยม เมืองเชียงใหม่คือเมืองวัฒนธรรม ไม่ควรใช้สีขนาดนี้”

“ดีแล้ว น่าเกลียดดีมาก ทำลายทัศนวิสัยโดยรวมของเมืองได้อย่างชะงักงัน สุดยอดมาก

การปะทะกันของความคิดเห็นต่อโรงแรมแห่งนี้ก่อให้เกิดคำถามที่ชวนให้ฉุกคิดไปยังภาพใหญ่ของการพัฒนาเมืองว่า ในอนาคตเมืองต่างๆ จะรับมือการปรับปรุงเมืองอย่างไร เมืองในอนาตจจะหน้าตาเป็นแบบไหนบนความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้คน

 

อาคารสีฟ้า จังหวัดเชียงใหม่

 

ทาสีฟ้าผิดหรือไม่

 

หากลองพิจารณาการปรับปรุงอาคารที่เกิดขึ้นตามตัวบทกฎหมาย จะพบว่าการทาสีของโรงแรมนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้และไม่ผิดกฎหมายอะไร จริงอยู่ที่ในจังหวัดเชียงใหม่มีเทศบัญญัติเทศบาลนครเชียงใหม่ที่กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างและห้ามเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท โดยเนื้อหายังควบคุมการใช้โทนสีของอาคารด้วย แต่พื้นที่บังคับใช้ของเทศบัญญัตินี้ครอบคลุมเฉพาะบริเวณตัวเมืองเก่าและบริเวณคูเมืองชั้นนอก ทำให้โรงแรมต้นเรื่องซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงถัดออกจากเขตการควบคุม ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การบังคับของเทศบัญญัตินี้

 

แผนที่แสดงแนวเขตพื้นที่ในการควบคุมอาคารของเทศบัญญัตินครเชียงใหม่ และตำแหน่งของโรงแรม
แผนที่แสดงแนวเขตพื้นที่ในการควบคุมอาคารของเทศบัญญัตินครเชียงใหม่ และตำแหน่งของโรงแรม ที่มา: https://www.dpt.go.th/wan/lawdpt/data/02/2559/132_33g_100258_1.pdf

 

ถึงการทาสีอาคารที่เกิดขึ้นจะสามารถทำได้ตามข้อกฎหมายก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องความเหมาะสมของการทาสีและคำถามว่าการปรับปรุงนี้ถือเป็นปัญหาของเมืองหรือไม่ ก็คงยังไม่คลี่คลายไปได้ง่ายๆ

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของ ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น อาจารย์ณัฐพงศ์ มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นปัญหา แต่ไม่ใช่ปัญหาในด้านความสวยงาม หากแต่เป็นปัญหาเรื่องการกำหนดเป้าหมายร่วมกันของคนแต่ละภาคส่วน

 

ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย
ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย รูปจากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“ในมุมมองของผมแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหา แต่ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าอาคารสีฟ้านั้นสวยหรือไม่สวย เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร แต่คือปัญหาในการหาเป้าหมายร่วมกันของภาครัฐ เจ้าของที่ดิน และภาคประชาชน โดยแต่ละภาคส่วนอาจมีความคิดเห็นต่อการปรับปรุงอาคารไม่ตรงกัน”

เพราะความสวยเป็นเรื่องปัจเจกที่แต่ละคนมองไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่ควรมาทบทวนคือคุณค่าในการพัฒนาว่าควรให้ค่ากับการพัฒนาอย่างไร อะไรคือสิ่งที่คนเชียงใหม่มองว่าสวย มองว่าดี และเพื่อให้แต่ละภาคส่วนในเมืองมองเห็นคุณค่าที่ตรงกัน อาจารย์ณัฐพงศ์จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน

“การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากตามแนวคิดในระบอบประชาธิปไตย การพัฒนาใดๆ เราต้องเคารพทั้งสิทธิการพัฒนาของแต่ละคนบนที่ดินตัวเองและผลกระทบต่อทัศนียภาพซึ่งถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะ การกำหนดเป้าหมายร่วมกันจึงทำให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมตัดสินใจว่า จะบาลานซ์คุณค่าของสาธารณะกับสิทธิของบุคคลอย่างไร และคุณค่าอะไรที่ควรรักษาหรือสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต”

 

การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองร่วมกัน 

 

หากต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นคือการขาดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันแล้ว เราจะสามารถเริ่มให้มีการสร้างเป้าหมายร่วมกันได้อย่างไร ในเรื่องนี้อาจารย์ณัฐพงศ์ได้ให้ความเห็นว่า แนวทางการสร้างเป้าหมายนั้นเริ่มได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งจากแบบ Top-Down หรือ การดำเนินนโยบายควบคุมที่ริเริ่มต้นจากภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น และแบบ Bottom-Up หรือการผลักดันจากภาคประชาชนเพื่อส่งเสียงไปยังภาคการปกครอง

“สำหรับแนวทางแบบ Top-Down ถ้าผู้นำในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ท่านอาจจะเป็นหัวเรือหลักในการเปิดเวทีรับฟังประชาชนในพื้นที่ก็เป็นไปได้”

“ส่วนแนวทาง Bottom-Up อาจมาจากการให้ภาคประชาชนผลักดันเรื่องนี้เป็นนโยบายทางการเมืองของผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ถ้าท่านเห็นด้วยในนโยบายนี้ ก็จะมีประชาชนสนับสนุนเลือกท่านมาเป็นนายกเทศมนตรี อีกทางหนึ่งคือการรวมตัวกันของประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งคำว่าประชาชนในพื้นที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่คนในชุมชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเจ้าของโครงการที่ทำการปรับปรุงอาคารด้วยเช่นกัน หลังจากเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วก็เสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาเพื่อประกาศบังคับใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อมาได้”

โดยในระยะที่ผ่านมาก็เกิดการเคลื่อนไหวแบบ Bottom-Up จากเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่  ที่เห็นผลกระทบจากเรื่องที่เกิดขึ้น และได้ทำการประชุมระดมความเห็นเพื่อผลักดันให้เทศบาลนครเชียงใหม่ขยายขอบเขตพื้นที่ควบคุมในเทศบัญญัติ เพื่อให้ทัศนียภาพในเมืองเชียงใหม่เกิดความสอดคล้องกันและเกิดความสวยงาม ซึ่งนี่ก็เป็นอีกการเคลื่อนไหวหนึ่งจากภาคประชาชนที่น่าจับตามอง

 

บทเรียนการพัฒนาเมืองเก่าจากต่างประเทศ

 

เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://unsplash.com/photos/-gOvsQfHA88

 

กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองร่วมกันคือการพัฒนาเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ก่อนหน้าที่เมืองเกียวโตจะเป็นเมืองอนุรักษ์ที่สวยงามของญี่ปุ่นอย่างในทุกวันนี้ เมืองเกียวโตก็เคยประสบปัญหาในการพัฒนาเมืองเช่นกัน

ในช่วงทศวรรษ 1960 จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศญี่ปุ่น ทำให้พื้นที่ในเมืองเกียวโตถูกพัฒนาโดยเน้นการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการพัฒนาที่เกิดขึ้นก็ทำได้ทำลายสภาพแวดล้อมและบรรยากาศทางประวัติศาสตร์ของเมืองไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนรวมกลุ่มกันประท้วงขึ้น ถึงแม้ในช่วงแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่การเคลื่อนไหวก็ส่งผลให้รัฐบาลออกกฎหมายการอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่า (Law for the Preservation of Historic Landscape in Ancient Capitals) ในระยะต่อมา ซึ่งได้กำหนดข้อควบคุมต่างๆ ในการก่อสร้างอาคารในเขตพื้นที่อนุรักษ์

ต่อมาในปี 1968 รัฐบาลก็ออกกฎหมายการวางผังเมืองฉบับใหม่ ซึ่งทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดและวางแผนผังเมืองของตนเอง การออกกฎหมายนี้ยังมีส่วนช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการวางแผนเมืองอีกด้วย

ในขั้นตอนการวางแผนเมืองนั้น เทศบาลเมืองเกียวโตจะให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงจากประชาชนในหลายๆ กลุ่ม รวมไปถึงนักวิชาการ เพื่อให้เกิดความเห็นในการพัฒนาจากหลายภาคส่วน นอกจากนี้ทางเทศบาลก็ยังมีการจัดตั้ง The Kyoto Center for Community Collaboration (Machizukuri Center) ขึ้นมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองร่วมกันกับทางเทศบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนภาคประชาชนเอง ก็มีการรวมกลุ่มกันของประชาชนเพื่อร่วมผลักดันแนวทางการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Kyomachi Tomonokai ที่ผลักดันเรื่องการอนุรักษ์บ้านไม้เก่า (Kyo Machi) และวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือกลุ่ม Sustainable Community Centre Japan (SCCJ) ที่ทำงานฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน จากการร่วมมือกันของคนแต่ละภาคส่วน ทำให้การพัฒนาเมืองเกียวโตดำเนินไปในแนวทางที่แต่ละฝ่ายเห็นพ้องต้องกันนั่นคือการพัฒนาเมืองที่ทำควบคู่ไปกับการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่

 

อาคารสีฟ้า จังหวัดเชียงใหม่

 

เมื่อย้อนกลับมามองที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางที่ออกมานั้นย่อมส่งผลกระทบต่อชาวเมืองอย่างแน่นอนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันก็เป็นกระบวนการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนในแต่ละภาคส่วนได้ร่วมกันสรรค์สร้างภาพเมืองที่อยากเห็นและมีส่วนในการกำหนดอนาคตทั้งของเมืองและของตนเอง

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save