fbpx

Blue Again: สีครามหมายความเหมือนใจมนุษย์

*ชื่อบทความจากส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง ‘คราม’ โดย Bodyslam

ครามเป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่ง ช่อดอกนำมาใช้ทำสีย้อมผ้า แต่การ ‘ย้อมคราม’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระบวนการซับซ้อนของการหมักช่อดอก ทั้งอุณหภูมิที่เหมาะสม ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ การย้อมครามเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความใส่ใจ จนถูกเรียกกันว่า ‘การเลี้ยงคราม’ ราวกับว่าสีน้ำเงินเข้มที่จะติดลงบนผ้านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตายลงได้หากได้รับการเลี้ยงดูไม่ดีพอ 

บ้านของเอที่สกลนครเป็นโรงย้อมคราม หลังบ้านเป็นโรงเรือนเล็กๆ ที่มี ‘หม้อคราม’ ราวสิบหม้อ ยายและแม่เลี้ยงครามเป็นอาชีพ แม้ตอนนี้ยายจะชราลงไปมาก และแม่หันความสนใจไปที่การหาสามีฝรั่งเพื่อจะไปให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ เอก็ยังอยากสานต่อการย้อมครามธรรมชาตินี้ต่อไป

ตอนนี้เอกำลังกลับบ้านในช่วงงานแห่ดาวของสกลนคร มันเป็นปีสุดท้ายในชีวิตนักศึกษาของเธอ เธอตัดสินใจเข้ามาเรียนแฟชั่นในกรุงเทพฯ ตั้งใจว่าจะสืบทอด หาหนทางให้โรงย้อมครามของที่บ้านเติบโตต่อไปได้ แต่ชีวิตในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้เธอกำลังเจอปัญหาหนัก ทั้งไร้เพื่อน ธีสิสย้อมครามของเธอก็ทำท่าจะล่ม เธอต้องกลับบ้านไปย้อมครามด้วยตัวเองเพราะแม่ใจลอยเกินกว่าจะช่วย และมันเป็นช่วงเวลาสุดท้ายก่อนอากาศจะเย็นลงจนไม่สามารถเลี้ยงครามได้อีก ที่นั่นเธอพบว่า สุเมธเพื่อนเก่าคนเดียวที่เธอมีก็กลับมาบ้านหลังจากตกงาน ครอบครัวของสุเมธและของเธอเป็นคริสต์ทั้งคู่ แต่สุเมธอยากบวช หลังจากย่าของเขาเริ่มฝันเห็นความตาย สุเมธคิดเอาเองว่าการบวชจะช่วยต่ออายุให้ย่า แม้นั่นจะหมายความว่าเขาต้องแตกหักกับพ่อแม่ที่เป็นคริสต์เคร่งครัด

และในระหว่างการกลับบ้านของเอนี้เอง หนังค่อยๆ พาผู้ชมย้อนกลับไปในช่วงเวลาสี่ปีในกรุงเทพฯ ของเอ ชีวิตของครามที่พยายามจะเติบโตท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย ดินที่ไม่ได้เรื่อง และความเป็นกรดด่างเกินเลยของชีวิต ในกรุงเทพฯ ยุคต้นทศวรรษ 2010 ยุคสมัยที่การเมืองยังถูกผูกขาดการพูดด้วยเสียงของคนชั้นกลางในเมืองหลวง

Blue Again เป็นหนังที่น่าทึ่ง ทั้งความยาวของมันและเรื่องที่มันเล่า ซึ่งไม่มีอะไรเหมือนหนังไทยกระแสหลัก หรือแม้แต่หนังโลกจำนวนมาก ที่มุ่งขายเรื่องเล่าชวนประทับใจ ความพลิกผันของชีวิตและการเติบโต Blue Again จดจ่ออยู่กับเรื่องราวภายในของตัวละครหลัก ปฏิเสธท่าทีอมพะนำแบบหนังอาร์ตเฮาส์ ตัวละครเผชิญกับเหตุการณ์ เรียนรู้ ล้มเหลว เรียนรู้ใหม่ สุดท้ายได้เพียงความเข้าใจและยอมรับตัวเองในฐานะคนดีๆ ชั่วๆ คนหนึ่ง เหตุการณ์ที่ดูเหมือนดาษดื่นสามัญ หนังให้เวลาผู้ชมในการทำความเข้าใจลมฟ้าอากาศต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นภาวะภายในของตัวละคร ความไม่เร่งรีบของหนัง ทำให้นี่คือหนังที่บันทึกมนุษย์ได้อย่างงดงาม

นี่คือภาพยนตร์ที่ใช้เวลาในการทำถึง 8 ปี หนังเริ่มต้นจากงานทีสิสของฐาปณี หลูสุวรรณในปี 2014 สำเร็จและออกฉายในปี 2022 และการที่มันก่อร่างขึ้นในช่วงเวลาหลังรัฐประหารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้หนังอาจจะเล่าเรื่องที่เป็นเรื่องภายในของตัวละคร แต่คงต้องบันทึกไว้ว่าหนังได้กวาดเก็บเอาสภาพสังคมที่ยังอยู่ในสภาวะน้ำท่วมปาก สังคมช่วงท้ายๆ ที่อำนาจนิยมยังคงแผ่ขยายตัวมันไปทั่วระบบการศึกษาโดยไม่ถูกต่อต้าน และช่วงที่การสังหารหมู่เสื้อแดงยังมีภาพจำเป็นเพียงเรื่องของการเผาบ้านเผาเมือง หนุ่มสาวยังไม่ลุกขึ้นต่อต้าน น่าสนใจที่เมื่อหนังเสร็จและได้ฉายในปีหลังการประท้วงใหญ่ และอำนาจนิยมแบบเก่าถูกท้าทาย ต่อต้าน และปฏิเสธ ในทางหนึ่งคล้ายว่าหนังมาช้าไป แต่ในอีกทางหนึ่งความผิดเวลาของหนังกลับขยายผลให้เห็นที่มาที่ไปทางอารมณ์ของคนหนุ่มสาวที่ส่งต่อกันมา

หนังโฟกัสอยู่ที่ตัวของเอ เด็กสาวที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ หนังอาจไม่ได้เล่าปูมหลังของเธอมากนัก นอกจากพูดคร่าวๆ ว่า แม้แต่ตอนที่อยู่ต่างจังหวัดเธอก็แปลกแยกกับเพื่อนเรียน มีเพียงสุเมธเท่านั้นที่คอยดูแล เธออาจจะเป็นลูกครึ่งและแปลกแยกจากความเป็นลูกครึ่งของตัวเอง เธอแปลกแยกกับที่บ้าน และแปลกแยกกับเมือง แปลกแยกจากครอบครัว จากแม่ที่ไม่อยากมีชีวิตแบบที่เป็นอยู่ จนเธอได้พบกับแพร เด็กสาวที่ร่าเริงเกินเหตุและอยากเป็นเพื่อนกับทุกๆคนในช่วงเทศกาลรับน้องที่แรกทีเดียวเธอปฏิเสธที่จะเข้าร่วม แต่พอเป็นเพื่อนกับแพรเธอก็ยอมเพราะแพรอยากเข้า และเธอพบว่าในพิธีกรรมของการเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมใหม่นี้ มีค่าใช้จ่ายเป็นการยอมสยบต่ออำนาจนิยมในระบบการศึกษา การผ่านความทุกข์ปลอมๆ มาด้วยกันจะทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การสยบยอมต่ออำนาจร่วมกันทำให้เรารักกัน ซึ่งต่อให้ผ่านรับน้องมาได้ มันก็ไม่ทำให้เอเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนอยู่ดี หนังค่อยๆ ติดตามชีวิตตลอดสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไม่รีบร้อนโดยมีแกนกลางอยู่ที่ความสัมพันธ์ของแพรและเอที่เป็นทั้งคู่หูกัน ในขณะเดียวกันก็แตกต่างกัน แพรต้องการเพื่อน อยากเกาะอยู่กับกลุ่มและเอนจอยกับช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย ขณะที่เอทะเยอทะยานที่จะไปข้างหน้า เออยู่กึ่งกลางของการพะวักพะวนระหว่างการพยายามจะเป็นตัวของตัวเองและเป็นที่รักของเพื่อนสักคน 

หากหนังเล่าเรื่องของตัวละครหลักที่ไม่น่ารัก น่าเอาใจช่วย เอไม่ใช่คนดีที่ถูกเพื่อนทอดทิ้ง แต่เธอเป็นคนเอาแต่ใจ เป็นคนสนใจแต่ตัวเอง เอพยายามที่จะเรียนไปด้วยและทำธุรกิจเสื้อผ้าของเธอไปด้วย ขูดรีดแรงงานจากแพรและน้องรหัสตัวเอง พร้อมที่จะก้าวล้ำเส้นทุกคน เอโดนรุ่นพี่ด่าว่าเอาของของคณะมาใช้เป็นของส่วนตัว ในฉากหนึ่งเอพยายามบังคับให้ริชชี่เพื่อนร่วมรุ่นที่ดูจะชอบเอมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ให้ใส่กำไลนิกเกิลทั้งๆ ที่แพ้ และพอผื่นขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่เอทำคือการดึงดันจะถ่ายรูปต่อมากกว่าเป็นห่วงเพื่อน

เอกลายเป็นคนไม่แคร์คนอื่น เพื่อบรรลุเป้าหมายก็พร้อมจะโดดเดี่ยว เธอเป็นสัตว์โลกที่ไม่ปรารถนาจะเป็นสัตว์รวมหมู่ เป็นสัตว์มีพิษที่รู้ดีว่าตัวเองมีหนามแหลมคมสามารถทิ่มแทงผู้คนได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และเมื่อถูกลากเข้าไปอยู่ในฝูงไม่ว่าจากความจำเป็นหรือความตั้งใจ ก็ช่วยไม่ได้ที่ในที่สุดหนามแหลมเหล่านั้นย่อมทิ่มแทงคนอื่น 

หากแพรเป็นภาพของความไร้เดียงสาทางการเมืองทั้งในระดับปัจเจกและภาพรวมทำให้ตัวละครแพรที่เห็นเพื่อนสำคัญกว่าการเมือง ถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างเอกับคนที่เหลือในคณะ ทนให้หนามแหลมของเพื่อนรักทิ่มแทง หรือกลมกลืนไปกับสังคมที่อาจไม่มีที่ทางที่แท้ให้อยู่ เหนื่อยล้าที่ต้องรักษาสมดุลนี้ไปเรื่อยๆ ขณะที่เอก็ใส่ใจความรู้สึกเพื่อนน้อยลงไปทุกที นั่นยิ่งผลักให้แพรต้องเลือกระหว่างการเป็นสัตว์ตัวหนึ่งในฝูงกับการจะเป็นสัตว์โดดเดี่ยวไปด้วยกัน แพรชวนให้นึกถึงผู้คนจำนวนมากที่อาจไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองใดๆ เพียงล่องไหลไปตามกระแสร่วมของสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในวงล้อมของผู้คนโดยรอบ แพรทำให้นึกถึงคนใจดีหลายๆ คนที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อชุมชน คนดิบคนดีที่คอยดูแลทุกคน คนแบบที่ซื้อของฝากพะรุงพะรังทุกครั้งที่ไปเที่ยว คนที่คอยถามไถ่ทุกข์สุข หรือใส่ใจวันเกิดของผู้คน คนที่ในที่สุดเมื่อจำเป็นต้องเลือกข้าง ก็มักจะเลือกทางที่อยู่กับสังคมรวมหมู่  ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนชั่วร้ายกลับกลอก แต่ช่วยไม่ได้ที่จะไม่ได้เป็นคนที่เข้มแข็งมากนัก  กระนั้นก็ตามเราอาจบอกได้ว่า เอกับแพรอาจไม่ได้ต่างกันเท่าที่พวกเขาต้องขาดออกจากกัน ทั้งคู่ต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งเป็นที่รัก ชนะการแข่งขันบ้าง แต่พอถึงจุดหนึ่ง พวกเขาเพียงเลือกตำแหน่งที่ต่างกันเมื่อจำเป็นต้องเลือกก็เท่านั้นเอง

ถึงที่สุด adapter Mac เลยกลายเป็นภาพแทนของการเชื่อมต่อที่ขาดออกจากกันของสองระบบปฏิบัติการที่ไม่เหมือนกัน และเชื่อมต่อกันไม่ได้อีกต่อไป

หนังติดตามการค่อยๆ ยอมรับตัวเองของเอ เรียนรู้ที่จะรับผลจากการกระทำของตน โดดเดี่ยวไปเถอะ เพราะมีแต่ความโดดเดี่ยวเท่านั้นที่จะมอบระยะที่เหมาะสมและอากาศให้หายใจ และกลายเป็นว่าเด็กหนุ่มร่วมรุ่นอย่างกันต์ คนที่ปฏิเสธการเข้ากลุ่มตั้งแต่แรก ปฏิเสธการรับน้อง การทำงานกลุ่ม แฟชันโชว์ของคณะ คนที่เพื่อนไม่คบและไม่คบเพื่อน กลายเป็นเพื่อนไม่กี่คนที่เอมี กลายเป็นคนเดียวที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเอในยามลำบากจริงๆ เป็นคนที่จะไม่อยู่รวมหมู่ แต่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวไปพร้อมกันนั้นเพียงพอแล้ว คนที่เชื่อมต่อด้วยระบบปฏิบัติการเดียวกัน เชื่อมต่อโดยไม่เชื่อมต่อกัน  

นอกจากแพรและกันต์ คนที่เอพอจะผูกพันด้วยคือพี่หยก รุ่นพี่ที่เป็นเสมือนหัวกะทิของคณะ พี่หยกเป็นเหมือนความใฝ่ฝันของรุ่นน้อง การที่เอสนิทกับพี่หยกมาตั้งแต่ก่อนเข้าคณะยิ่งทำให้เพื่อนหมั่นไส้ ในขณะเดียวกันเรากลับพบว่าแม้จะอยู่ในสถานะดาวคณะ พี่หยกก็ไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนรอบข้าง เธอรู้สึกแปลกแยกเสมอ หนังเล่าไว้จางๆ ว่า พี่หยกอาจได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์คืนสังหารเสื้อแดงและเธออาจเป็นเช่นเดียวกันกับบรรดาผู้คนในยุคนั้นที่แปลกแยกต่อฝั่งที่ครองอำนาจนำ และได้แต่เก็บงำทุกอย่างไว้กับตัว 

ในทางหนึ่งมันจึงมีความเป็นการเมืองอยู่ในตัวละครของเอ กันต์ และพี่หยก ที่นอกจากจะเป็นตัวละครวัยรุ่น กลายเป็นภาพแทนของผู้คนที่เคยอยู่อาศัยในยุค ‘ล่าแม่มด’ ยุคที่ความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องไม่พูดออกมา ช่วงเวลาหลังการรัฐประหารที่ชวนอึดอัดคับข้อง การเมืองไม่ได้เป็นแค่ความเห็นเรื่องการชุมนุมหรือรัฐประหาร แต่ครอบคลุมไปถึงทุกองคาพยพในชีวิต ยุคที่เราต้องเลือกระหว่างการไหลไปตามน้ำ หรือแยกตัวออกมาอยู่เงียบๆ การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอำนาจนิยมหรือต่อต้านมัน ความโดดเดี่ยวจากสังคมไม่ได้มาจากปัญหาทางการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นการแตกหักระหว่างอุดมคติสองชุดที่แผ่ขยายไปถึงความคิดต่อชีวิตประจำวันด้วย  

ฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือฉากที่ริชชี่ไปส่งเอกับแพรที่หอพัก แพรกระโดดขึ้นรถอย่างไม่ต้องคิด และเอตามขึ้นไปเพราะแพรไป หลังจากแพรลงจากรถ ริชชี่คุยกับเอ ทั้งคู่เป็นลูกครึ่งเหมือนกัน แต่ดูเหมือนทั้งคู่จะพูดอังกฤษไม่ได้เรื่องเหมือนกัน และพอริชชี่ถามว่าเอมาจากไหน ก็สรุปว่าเอเป็นคนลาว เอสวนกลับว่าในอีสานมีหลายเชื้อชาติมากกว่านั้น และทั้งคู่ก็ต่างเงียบไป ถึงที่สุด เอ แพร ริชชี่ ก็ต่างติดอยู่ในภาพสามัญทัศน์ (stereotype) บางอย่างในกันและกัน ไม่อยากให้ตัวเองอยู่ในภาพจำนั้น แต่ก็ใช่ภาพจำนั้นกับคนอื่นๆ เราต่างมีภาพจำต่อกันในฐานะ ‘คนอื่น’ หากบทสนทนานี้เดินมาถึงเพดานของมัน เมื่อรถของริชชี่ต้องติดอยู่บนถนนยาวนานเพราะบางอย่างที่เป็นเพดานของทุกสิ่งในอาณาเขตนี้

หนังตัดสลับชีวิตสี่ปีของเอเข้ากับช่วงเวลาของการกลับบ้านไปย้อมครามที่เธอดึงดันจะย้อมธรรมชาติ แทนที่จะใช้เคมี หนังตามเรากลับไปที่บ้านที่ประกอบด้วยยายที่เงียบงันและแม่ที่ห่างเหิน เอต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะหากหนาวกว่านี้ครามจะตาย แม่ที่ควรจะช่วยได้ ก็ดูเหมือนใส่ใจอยู่กับการคุยแชตกับฝรั่ง ไม่นานแม่ที่สิ้นหวังต่อแผ่นดินเกิด ก็เปิดเผยแผนที่จะไปจากบ้านนี้  

เพื่อนคนเดียวของเอที่บ้านคือสุเมธ สุเมธยังคงนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ พ่อพยายามควบคุมชีวิตของเขาจนอึดอัด มีแต่ย่าเท่านั้นที่ดูจะเป็นคนที่เข้าใจ แต่ย่าฝันไม่ดีมาหลายวันแล้ว ย่าฝันว่ากำลังจะตาย และเผลอหลุดปากให้สุเมธไปบวชเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้ย่า แต่การบวชไม่ใช่แค่การสะเดาะเคราะห์ แต่คือการขบถจากครอบครัวอย่างร้ายแรงด้วย

น่าเสียดายที่หนังไม่ได้ให้เวลากับตัวละครอย่างแม่หรือสุเมธมากนัก พาร์ตสกลนครที่เอและสุเมธกลับไปรื้อฟื้นอดีตที่โรงเรียน หรือหลังจากบวชก็ถูกลากออกไปงานแห่ดาว เลยกลายเป็นช่วงที่หนังอ่อนกำลังลงไป เราอาจจะเข้าใจเอและแพร หรือเพื่อนร่วมคณะในตำแน่งแห่งที่ที่แต่ละคนเลือกยืน แต่สำหรับแม่และสุเมธ เราได้เพียงเฝ้ามองการกระทำของพวกเขา แต่หนังปิดกั้นเราออกจากความเข้าใจว่าทำไมสุเมธจึงบวชและทำไมแม่จึงไปจากที่นั่น เขารู้สึกนึกคิดอะไรอยู่ในขณะนั้น รวมไปถึงการแสดงของนักแสดงในพาร์ตนี้ที่ไม่แข็งแรงเท่ากับการแสดงของตะวัน จริยาพรรุ่ง และอสมาภรณ์ สมัครพันธ์ จนทำให้หนังไม่สมดุลระหว่างส่วนกรุงเทพฯ และส่วนของสกลนคร นี่อาจจะเป็นจุดด้อยไม่กี่อย่างของหนัง 

กระนั้นก็ตาม เราค่อยๆ เห็นว่าบ้านก็ไม่ใช่ฟูกสำหรับพิงหลังของเอ บ้านเป็นดินที่แห้งแล้งและเหน็บหนาวต่อการเจริญเติบโตของครามธรรมชาติ เอไม่มีที่ทางทั้งในบ้านเกิดและในกรุงเทพฯ เธอมีแค่ตัวเอง ความไม่ยอมจำนนต่อดินที่ไม่ดี อากาศที่ไม่เหมาะสม ผลักให้เธอต้องต่อสู้ในแบบของเธอเอง แน่นอนว่ามันสำเร็จบ้าง ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ เพราะดินของเราไม่เท่ากัน ในสังคมที่การแข่งขันเท่านั้นที่เสมอหน้า 

ดูเหมือนสุดท้ายเอต้องพ่ายแพ้และยอมจำนน ครามธรรมชาติตายลงและเธอต้องย้อมเคมี เพื่อนที่เคยมีก็ไม่มีอีก เอปฏิเสธการถ่ายรูปหมู่ในวันจบการศึกษา ยืนมองสายตาของแพรที่มองสวนมา แพรที่ไม่มีที่ทางอยู่ในที่ทางบางอย่างที่เลือกแล้ว สิ่งเดียวที่เอได้รับคือการรู้จักตัวเอง เมื่อเธอเลือกจะถ่ายรูปหน้าคณะตัวคนเดียว จบสิ้นช่วงวัยหนึ่งเริ่มต้นช่วงวัยต่อไป หนังจบลงด้วยบาดแผลและการเติบโตของเอ จุดสิ้นสุดของชีวิตมหาวิทยาลัย ที่เอไม่ได้อะไรนอกจากการได้เรียนรู้ศักยภาพและข้อจำกัดของตัวเอง สูญเสียเพื่อนและครอบครัว ครามของเออาจย้อมไม่ติดสีที่ต้องการในครั้งนี้ แต่เอก็ได้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการประคับประครองหม้อครามใบหนึ่งในตัวเอง สำหรับการย้อมสีน้ำเงินครั้งต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save