สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
ภาพวิดีโอที่แสดงความอำมหิตของตำรวจอเมริกันผิวขาวกระทำกับคนผิวดำที่เมือง Minneapolis ในสหรัฐ แพร่ขยายทางสื่อสังคมออนไลน์แล้วต่อมาสื่อกระแสหลักก็นำมารายงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคมเป็นลำดับมา ได้จุดประกายทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงพฤติกรรมการเหยียดผิวในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ต้นตอของอุตสาหกรรมค้าทาสข้ามชาติ จากแอฟริกาสู่ยุโรปและอเมริกาสมัยเมื่อประมาณ 300 – 400 ปีก่อน และประกายไฟดังกล่าวนำไปสู่การเรียกร้องให้ทบทวนประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมและการค้าทาส
การจัดชุมนุมประท้วงที่มีกลุ่ม #BlackLivesMatter (BLM) เป็นหัวหอกสำคัญ ได้ยกระดับขึ้นมาจากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนผิวดำที่เป็นเหยื่อของอำนาจรัฐ ก้าวขึ้นมาตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อัปยศของคนผิวขาวในยุโรปยุคที่มีการบังคับคนผิวดำแอฟริกาไปใช้แรงงานทาสในไร่อ้อย ไร่ฝ้าย ในดินแดนอาณานิคม
จาก Minneapolis ในอเมริกา
ถึง Bristol ในอังกฤษ
ไม่มีใครคาดคิดว่า เพียงสองสัปดาห์หลังเหตุการณ์สลดในอเมริกาที่ตำรวจผิวขาวใช้หัวเข่ากดคอ George Floyd ชายผิวดำ จนเสียชีวิตระหว่างการจับกุม กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในเมือง Bristol เมืองท่าเรือทางภาคใต้ของอังกฤษสามารถล้มรูปปั้นของ Edward Colston พ่อค้าทาสคนดังที่บังคับล่ามโซ่คนดำจากแอฟริกาตะวันตกไปใช้แรงงานในคาริบเบียนและอเมริกาได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกลุ่มเรียกร้องให้ยุบ-ย้ายรูปปั้นดังกล่าวมา 5-6 ปีแล้ว แต่การรณรงค์ดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
Colston เป็นพ่อค้าเกิดในเมือง Bristol เมืองท่าเรือที่นำเข้าและส่งออกทาสที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ในยุคนั้นเขาสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองด้วยการกดขี่ค้าทาส และเมืองนี้ก็เติบโตทางเศรษฐกิจด้วยธุรกิจการค้าที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมค้าทาส มีบันทึกว่าระหว่างปี ค.ศ. 1680 – 1692 เขาบังคับส่งคนผิวดำไปเป็นทาสรวมกว่า 84,000 คน มีทาสหลายคนล้มป่วยตายอย่างน่าอนาถบนเรือสำเภาก่อนจะถึงที่หมาย ผู้คุมทาสก็โยนศพลงทะเลทิ้งไป พวกรอดชีวิตไปก็ถูกกดขี่ใช้แรงงานหนักในอาณานิคม
สาเหตุที่มีการสร้างรูปปั้นเป็นอนุสาวรีย์ให้แก่พ่อค้าทาสอัปยศคนนี้ ก็เพราะเขาได้บริจาคทรัพย์สินที่สะสมได้มาจากความยากแค้นและชีวิตเลือดเนื้อของทาสผิวดำจากแอฟริกาตะวันตก มอบให้ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน ศาลาประชาคม โรงทานคนยากจน โบสถ์ วิหาร (นิกายแองกลิกันที่เขาศรัทธา) ทั่วทางภาคใต้ของอังกฤษ โดยเฉพาะในเมืองบ้านเกิดของเขา ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นคนใจบุญสุนทานเรียกว่าเป็นคนดีศรีสังคมในหมู่ชาวเมือง Bristol จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ระหว่างปี 1710 – 1713 สังกัดพรรค Tory (อนุรักษนิยม) จากนั้นมีการใช้ชี่อของเขาตั้งเป็นชื่อถนนและโรงเรียนมัธยมที่เขาให้เงินบริจาค โดยที่ประวัติความเป็นมาของทรัพย์สมบัติที่ได้มานั้น แม้จะไม่ใช่เป็นเรื่องปกปิดลี้ลับ แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน

ประวัติศาสตร์อัปยศของกลุ่มคนดีในสังคมยุโรป
อุตสาหกรรมค้าทาสเฟื่องฟูและสร้างความมั่งคั่งให้กับขุนนาง-พ่อค้าในยุโรป และเศรษฐีใหม่ในอเมริกาเป็นเวลากว่า 170 ปี จนกระทั่งเกิดกระแสคัดค้านรณรงค์เลิกทาสในยุโรปต้นคริสตศตวรรษที่ 18 แต่ต้องใช้เวลารณรงค์ถึง 50 ปีกว่าจะมีการออกกฎหมาย เพราะมีการโต้เถียงต่อสู้กันจนถึงปี 1843 จึงสามารถเลิกทาสได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก่อนหน้านั้นในหมู่สังคมชั้นสูงของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นขุนนาง นักการเมือง ปัญญาชน ตลอดจนผู้นำศาสนา นักบวชผู้ทรงศีล ที่เชี่อกันว่าเป็นกลุ่ม ‘คนดี’ เสาหลักของสังคม ต่างก็พาเอออวยไป ไม่มีมโนสำนึกว่าธุรกิจค้าทาสนั้นผิดศีลธรรมอย่างไร
มีบันทึกว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1660 เป็นต้นมา สถาบันและกลุ่มอำนาจที่ปกครองอังกฤษ (British Crown) ได้ประกาศกฎบัตรหลายฉบับออกบังคับใช้ เพื่อให้พ่อค้า-ขุนนางเข้าไปตั้งบริษัท ควบคุมดูแลผลประโยชน์ในดินแดนหลายแห่งในทวีปแอฟริกา ใช้กำลังลำเลียงชาวแอฟริกันผิวดำไปเป็นทาสในดินแดนที่เป็นอาณานิคมของอังฤษในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ในบรรดาพ่อค้าทาสยุโรปด้วยกัน พ่อค้าทาสอังกฤษถือว่ามีขอบข่ายการขนส่งทาสไปอเมริกามากกว่าชาติใดๆ
แม้ว่าจะมีการทบทวนประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ในอังกฤษ ในวันครบรอบ 200 ปี (เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2007) ของการออกกฎหมายเลิกทาส (Abolition of the Slave Trade Act) แต่การชำระบาดแผลทางประวัติศาสตร์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่การค้าทาสเฟื่องฟู นำความมั่งคั่งให้แก่ชนชั้นนำของอังกฤษ กำลังทหารหลายหน่วยของอังกฤษที่ส่งไปประจำการในดินแดนต่างๆ ได้ใช้กำลังอาวุธปราบปรามการแข็งขืนลุกขึ้นสู้ของทาสผิวดำอย่างทารุณ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ว่า ชาวผิวขาวที่ใช้อำนาจรัฐจำนวนหนึ่ง ยังมีทัศนะดูถูกเหยียดผิวที่ฝังลึก แบบที่เห็นในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากลัทธิล่าอาณานิคมและการค้าทาสกลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ยากต่อการลืมเลือน เพราะทัศนคติฝังจำที่ว่าคนผิวขาวมีความเป็นมนุษย์สูงว่าคนผิวดำนั้นมีความคงทนยากที่จะสลัดทิ้งได้ โดยเฉพาะในสถาบันหรือหน่วยงานที่มีอำนาจและอาวุธเป็นเครื่องมือ เช่น ทหารและตำรวจ ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ
ถ้าเรามองภาพใหญ่ทางการเมืองของสองฝั่งแอตแลนติก ทัศนคติความยิ่งใหญ่ของชนผิวขาว (white supremacy) ความรู้สึกเหยียดหยามคนต่างเผ่าพันธ์ุ-ผิวพรรณฝังลึกในดีเอ็นเอของคนผิวขาวจำนวนมากทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งสามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมจากอาการของผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้โดนัลด์ ทรัมป์ (American First) ในสหรัฐและการลงประชามติเบร็กซิตแยกตัวจากอียู (Take Back Control) ในสหราชอาณาจักร เป็นภาพที่สวนทางกับความรู้สึกในยุคสมัยใหม่ที่ว่ากระแสโลกาภิวัตน์ในช่วง 30 – 40 ปีที่ผ่านมาทำให้อุดมการณ์เสรีนิยมสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนะทางสังคมและการเมืองของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าใจกว้างมากขึ้น

รูปปั้นและอนุสาวรีย์ มีไว้ทำไม
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพข่าวต่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่ผู้คนจดจำได้อีกยาวนาน ก็คงจะได้แก่วิดีโอคลิปในอเมริกาที่ชายผิวดำ George Floyd ถูกตำรวจใช้เข่ากดคอจนหายใจไม่ออกเสียชีวิต และภาพการล้มรูปปั้นในอังกฤษของพ่อค้าทาส Edward Colston แล้วลากไปทิ้งลงแม่น้ำ Avon ซึ่งความจริงแล้วนักกิจกรรมที่จัดชุมนุมประท้วงในเมือง Bristol ก็ไม่ได้ตั้งใจหรือวางแผนล่วงหน้าว่าจะไปล้มรูปปั้นกัน มันเกิดขึ้นเองไปตามกระแสอารมณ์ของผู้คนในตอนนั้น แกนนำของ BLM คนหนึ่งที่ถือโทรโข่งเดินนำหน้าผ่านรูปปั้นนั้นไปแล้ว เมื่อหันกลับมาเห็นรูปปั้นล้มลงแล้วอุทานว่า “Oh my God, this is history, this is history happening now.”
เหตุการณ์ล้มรูปปั้นของพ่อค้าทาสในอังกฤษและการชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้คนหลากสีผิวในหลายเมืองใหญ่ของสหราชอาณาจักรในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระตุ้นให้เกิดการโต้เถียงกันครั้งใหม่ให้ทบทวนประวัติศาสตร์กันว่าอนุสาวรีย์และรูปปั้นของผู้คนซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการยกย่องชื่นชมนั้น โดยแท้จริงเหมาะสม-สมควรจริงหรือไม่ เมื่อคนรุ่นหลังได้มีข้อเท็จจริงเพิ่มมากขึ้น เพราะเพียงไม่กี่วันหลังจากการล้มรูปปั้นของ Colston ที่เมือง Bristol ก็มีการจัดชุมนุมประท้วงที่หน้าวิทยาลัย Oriel College มหาวิทยาลัย Oxford เพื่อให้ถอดถอนรูปปั้นของ Cecil Rhodes พ่อค้านักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษที่สร้างความร่ำรวยมั่งคั่งจากการทำเหมืองแร่ในแอฟริกาใต้ เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทค้าเพชร De Beers ที่โด่งดัง และเป็นผู้ประกาศความเชื่อที่ว่า Anglo-Saxon Race เป็นเผ่าพันธุ์อันดับหนึ่งของโลก เรียกได้ว่าเขาคือไอดอลของพวกกลุ่มเหยียดผิว White Supremacist ในอเมริกาและ National Front ของอังกฤษ

ความจริงเมื่อหลายปีก่อนมีกลุ่มปัญญาชนในมหาวิทยาลัย ทั้งในเมือง Cape Town ที่ Cecil Rhodes เคยปกครอง และที่ Oxford ที่เขาได้บริจาคเงินก้อนมหาศาลสนับสนุนการศึษา ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ Rhodes Must Fall เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยถอดรูปปั้นออกจากหน้าอาคารของวิทยาลัย เพราะเป็นสัญญลักษณ์ของการเหยียดผิวและนักล่าอาณานิคม แต่ความพยายามของกลุ่มเรียกร้องนี้ไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งหลังการล้มรูปปั้นพ่อค้าทาส Colston ได้เพียง 2-3 วัน คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาเมือง Oxford จัดประชุมกันแล้วมีมติให้ถอดรูปปั้นดังกล่าวออก
เพียงไม่กี่วันหลังจากการล้มรูปปั้นของ Colston นั้น Sadiq Khan ผู้ว่าการมหานครลอนดอน ประกาศให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบรูปปั้นและอนุสาวรีย์ทั้งหลายในเมืองหลวงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าทาสหรือไม่ และทบทวนความเหมาะสม ส่วนนายกรัฐมนตรี Boris Johnson ได้ประกาศตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเช่นกันให้ศึกษารวบรวมข้อมูลหลักฐาน เรื่องการเหยียดผิว ความเหลื่อมล้ำ การใช้สองมาตรฐาน กับกลุ่มคนที่เรียกว่า BAME (black, asian, minority, ethnic) ในรูปแบบใดบ้างและให้สรุปข้อเสนอแนะ ที่ควรจะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังนี้อย่างจริงจัง โดยเน้นว่าจะต้องสรุปให้เสร็จและนำมาประกาศใช้ก่อนคริสต์มาสปีนี้ แต่ฝ่าย BLM ไม่เชื่อว่ารัฐบาล Tory จะมีความจริงใจเพราะเคยมีการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้มาแล้วหลายชุด
ความจริงแล้วยังมีรูปปั้นและอนุสาวรีย์อีกหลายแห่งในอังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ที่ถูกล้มไปแล้ว และบางส่วนถูกตั้งคำถามว่าทำไมคนรุ่นหลังจะต้องมายกย่องชื่นชมบุคคลในอดีตที่กดขี่ รังแก สร้างความเสียหายและปวดร้าวให้แก่มนุษย์อื่นๆ จำนวนมาก ในเวลาต่อมาบุคคลนั้นบริจาคทรัพย์สิน ซึ่งได้มาโดยมิชอบให้แก่สังคม แล้วพยายามลบล้างกลบเกลื่อนพฤติกรรมอัปยศในอดีตของพวกเขา
ข้ามฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางอเมริกา ก็มีการตั้งคำถามและการล้มรูปปั้นของอดีตนายทหารฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมืองที่ขัดขวางการเลิกทาส และบุคคลเด่นดังทางประวัติศาสตร์บางคนที่เคยได้รับการยกย่องมาในยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อพลิกประวัติศาสตร์ดูแล้วก็เปิดเผยความจริงที่น่าขยะแขยงออกมาให้เห็น เช่น Christopher Columbus, Thomas Jefferson, Theodore Roosevelt
ในขณะนี้ดูเหมือนการล้มรูปปั้น และการตั้งคำถามเพื่อชำระประวัติศาสตร์ยังคงจำกัดวงอยู่เฉพาะบุคคลสำคัญที่เป็นพ่อค้าทาสและนักล่าอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม แต่อดีตนักล่าอาณานิคมขนาดใหญ่อีกสองประเทคคือ สเปนและโปรตุเกส ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะพื้นที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้กำลังรับมือกับวิกฤตไวรัสโคโรนาที่กำลังลุกลามอย่างน่ากลัว
ความจริงแล้วพฤติกรรมของตำรวจจำนวนหนึ่งในอังกฤษและอเมริกาที่ใช้กำลังทารุณเกินกว่าเหตุเข้าจับกุมคนผิวดำจนถึงขั้นทำให้ผู้ต้องหาเสียชีวิตนั้นก็เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และก็เคยมีปฏิกิริยาต่อต้านและตอบโต้อย่างรุนแรงตามมาคล้ายๆ กัน แต่ไม่เคยมีการถามย้อนหลังไปถึงประวัติศาสตร์การค้าทาสและการล่าอาณานิคม แบบที่เราเห็นในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่า ทำไมในคราวนี้กระแสการประท้วงสามารถนำไปสู่การถอดถอนอนุสาวรีย์อัปยศหลายแห่งได้สำเร็จ และสังคมส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการชำระประวัติศาสตร์ เผชิญหน้ากับความจริงที่น่าอับอาย