fbpx
BLISSFULLY BLIND : ถ้าการตื่นรู้มันเหนื่อยนัก ปิดตาสักพักจะผิดไหม?

BLISSFULLY BLIND : ถ้าการตื่นรู้มันเหนื่อยนัก ปิดตาสักพักจะผิดไหม?

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่องและภาพ

ภายในพื้นที่โล่งกว้างเพดานสูงสีขาวโพลนของแกลเลอรี่ใจกลางเมือง ดุจดาว วัฒนปกรณ์ จำลองพื้นที่ทางความคิดของสังคมไทยในการแสดง Blissfully Blind ไว้เป็นสามส่วน

สองส่วนแรกกินบริเวณสองด้านของการแสดง ฝั่งหนึ่งโปร่ง โล่ง มีวัตถุคล้ายเตียงแก้ว (ที่มองดีๆ จะพบว่ามันทำมาจากหนังสือ) วางตั้งอยู่ ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง วัตถุรูปร่างเดียวกันถูกวางตั้งเป็นภูเขาสูง แต่ขึงเส้นเชือกเอาเอาไว้ทั่วบริเวณ ทั้งสองฝั่งถูกคั่นกลางด้วยภูเขาสูงชัน หลอดไฟแอลอีดี และปรุด้วยสี่เหลี่ยมทึบแสง โปร่งแสง โปร่งใส พอให้เห็นสองส่วนแรกอย่างรางๆ หากคุณ ‘เลือก’ ที่จะยืนอยู่ในภูเขาแสนจะปลอดภัยแห่งนี้

ดุจดาวบอกกับผมในการพูดคุยครั้งก่อนว่าในการแสดงชิ้นนี้ เธอตั้งใจจะ ‘พูด’ ให้น้อยที่สุด ควบคุมประสบการณ์ของคนดูให้น้อยที่สุด และให้การเคลื่อนไหวร่างกายของเธอและนักแสดงอีกสี่คนเป็นตัวสร้างสถานการณ์ ดึงให้ผู้ชมอย่างเราเรียกประสบการณ์ส่วนบุคคลมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เธอตั้งใจจะสื่อสาร มากกว่าจะกำกับให้เราต้องตีความอย่างที่เธอต้องการ

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพื้นที่ทั้งสามส่วนที่ผมประจันหน้าตั้งแต่เดินผ่านประตูเข้ามาถึงเปิดให้ได้ผู้ชมเดินสำรวจ เลือกพื้นที่ที่ปลอดภัยของตัวเองในการนั่งดู มากไปกว่านั้น เรายังเดินไปเดินมาระหว่างการแสดงได้อีกต่างหาก

บางช่วงเวลา ผมเลือกที่จะอยู่ในฟากของผู้คงแก่เรียนที่มีตำราเป็นเกาะลอยให้ตัวเองอยู่เหนือน้ำ ขณะที่บางช่วง ผมเลือกจะออกมาอยู่ในอีกฟากของพื้นที่ที่โล่งโปร่ง ไม่บังคับให้ต้อง ‘นั่ง’ ก้มหัวใต้เส้นเชือกแหงนดูเหล่านักแสดงจากด้านล่าง แต่หลังจากเดินไปมาหาที่ที่เหมาะสมในการดูอยู่ไม่นาน ผมกลับเลือกภูเขาสูงใหญ่เรืองแสงที่ตั้งตระหง่านตรงกลางเป็นที่มั่นในการชมเกือบทั้งเรื่อง

อย่างที่ผมบอก ภูเขาตรงกลางที่ว่ากรุด้วยวัสดุโปร่งใส นั่นทำให้ผมได้เห็นเหตุการณ์จากทั้งสองฝั่ง (รวมไปถึงดุจดาวที่ปักหลักอยู่ตรงนั้น) อาจจะแย่หน่อยก็ตรงที่ความโปร่งใสนั้นถูกแทรกด้วยวัสดุมืดทึบเป็นระยะจนมองเห็นไม่ค่อยชัด ต้องมุดๆ เงยๆ ระหว่างการดูบ้าง แถมบางทียังต้องหลบทางให้กับเหล่านักแสดงที่เดินข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งจนแอบเกรงใจที่ต้องอยู่ใน ‘ความเป็นกลาง’ แบบนี้

แต่ไม่มีใครบอกว่าอยู่ตรงนี้มันผิดนี่ครับ

และอย่างที่ดุจดาวว่า เกือบทั้งหมดของ Blissfully Blind ไม่มีเสียงพูดให้ได้ยินแม้แต่คำเดียว

การเลือกยืนตรงกลางจนพอจะเห็นอะไรๆ ระหว่างที่นักแสดงทั้งห้าคนกำลังเคลื่อนไหวร่างกายไปตามบทเพลงอิเล็กทรอนิกส์และเสียงประกอบหลอนหู ก็ทำให้ประสบการณ์ส่วนตัวของผมทำงานกับท่วงท่าเหล่านั้นจนนึกขำในใจว่า ‘เออว่ะ กูก็เคยเป็น’ แต่สารภาพตามตรง ในบางช่วงบางตอนแม้ผมพยายามตีความว่าพวกเธอกำลังจะสื่อความหมายอะไร เหตุการณ์อะไร ปรากฎการณ์ไหนของสังคมผ่านเรือนร่าง ก็กลับมีเพียงความว่างเปล่าในหัว

ผมไม่เข้าใจเพราะตัวเองไม่เข้าใจ หรือผมไม่เข้าใจเพราะไม่เคยสนใจมาก่อนว่าในโลกความเป็นจริง เหตุการณ์ที่พวกเธอนำมาตีความผ่านท่าทางเกิดขึ้นในตอนไหน

ภาวะนี้อาจเป็นการเผชิญหน้ากับ ‘ความมืดบอด’ ในตัวเองอย่างที่ดุจดาวอยากให้พวกเราคนดูสัมผัสความรู้สึกนี้ไประหว่างการแสดง

แต่ความมืดบอดนั้นเป็นเรื่องผิดหรือเปล่า? การแสดงของเธอบอกกับผมว่า ‘ไม่’

หลังจากปล่อยให้คนดูกระจายตัวไปทั่วพื้นที่ ในช่วงท้ายของการแสดงที่เสียงประกอบจากลำโพงเริ่มเร่งเร้า นักแสดงทั้งห้าเข้ามาอยู่ในภูเขาแห่งความมืดบอดตรงกลาง ดุจดาวผู้เป็นตัวแทนของคนธรรมดาที่ไม่ใคร่จะหืออือกับความเป็นไปของโลกทั้งสองฝั่ง (และเลือกจะลบประวัติศาสตร์ [?] บนพื้นที่ปลอดภัยของเธอที่ถูกรุกเข้ามาเขียนโดยหนึ่งในนักแสดงจากฝั่งผู้คงแก่วิชา) ก็เปลี่ยนบทบาทเป็น ‘ผู้เฝ้าสังเกต’ ทันทีที่ไฟมืดดับลง

“What do you SEE?” เสียงของดุจดาวดังขึ้นพร้อมแสงไฟของภูเขาที่ค่อยๆ สว่างขึ้น ดึงให้ผู้ชมจากทั้งสองฝั่งเข้ามาสำรวจความเป็นไป พร้อมกับนักแสดงที่เหลือที่เดินไปมาตามคำสั่งหันซ้ายขวาของเธอ

“สีเหลี่ยมสีขาว” “เส้นตรงขนาดห้ามิลลิเมตร” “วัตถุโปร่งใสมองเห็นทะลุไปได้ชัดเจน” เสียงสะท้อนอื้ออึงจากหญิงสาวสี่คนที่เหลืออธิบายออกมาตามสิ่งที่พวกเธอเห็นตรงหน้า

“What is REALITY?” ดุจดาวถามอีกครั้งหลังออกคำสั่งให้พวกเธอเดินไปมาในภูเขา

“ดอกไม้ เพื่อนเอาดอกไม้มาให้…” “ไส้กรอก ไส้อั่ว ไส้…” นักแสดงหญิงที่อยู่ใกล้ผมที่สุดอธิบายสิ่งที่อยู่หน้าเธอ

หากเธอทั้งสี่คนผู้เคลื่อนไหวร่างกายไปมาในสองฝั่งของภูเขา คือตัวแทนขั้วตรงข้ามของคนที่เลือกจะมืดบอด พร้อมกระตือรือร้นสำรวจความเป็นไปของสังคมอย่างที่ ‘เห็น’ แบบตรงไปตรงมา ประโยคแรนด้อมชวนงงที่ผมได้ยิน คงเป็นสิ่งที่บอกว่านี่ต่างหากคือ ‘ความเป็นจริง’ ในตัวมนุษย์ทุกคน ที่แม้แต่คนที่คิดว่าตัวเองรู้และเข้าใจความเป็นไปของสังคมที่สุด –

ก็คงมีความมืดบอดของตัวเอง, ในแบบที่พวกเขาเลือกจะมอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022