Blaming the Victim, Blaming the Student

Blaming the Victim, Blaming the Student

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

ประณามหญิงผู้เป็นเหยื่อ

 

แนวคิดหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงผู้สนใจทางด้านนิติศาสตร์แนวสตรีนิยม (Feminist Legal Theory) ก็คือ “blaming the victims”

ความหมายก็คือ เมื่อมีการค้นหาความจริงใน “ความผิด” ที่ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีล่วงละเมิดทางเพศที่มีต่อผู้หญิง สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือการหันไปกล่าวหาบุคคลที่ตกเป็น “เหยื่อ” ว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อการทำให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น

ดังกรณีการกล่าวหาว่าผู้ชายได้กระทำการข่มขืนผู้หญิง แทนที่จะให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานที่บ่งชี้การกระทำความผิดของชายว่าได้เป็นผู้กระทำจริงหรือไม่ ก็อาจมีการหันไปให้ความสนใจกับเหยื่อของการกระทำนั้น เช่น การตั้งคำถามว่าเป็นเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊หรือเปล่า ผู้หญิงเป็นแฟนกับคนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ หรือผู้หญิงได้แสดงท่าทีให้เห็นอย่างชัดเจนหรือไม่ว่าไม่ยินยอมกับการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าว เป็นต้น

การหันไปความสนใจกับเหยื่อของการกระทำว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใคร มีความประพฤติอย่างไร หรือมีภูมิหลังอย่างไร ถือว่าเป็นกลับตาลปัตรต่อแนวทางการค้นหาความจริงในระบบกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เมื่อมีการกระทำความผิดขึ้น สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือการค้นหาความจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องก็ต้องพยายามรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ มาทำการพิจารณา

อาจเริ่มตั้งแต่บุคคลดังกล่าวเป็นใคร มีภูมิหลังของชีวิตเป็นอย่างไร เคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ หรือเคยมีประวัติทางจิตมาก่อนหรือไม่ อย่างไร ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อตอบคำถามว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดหรือไม่ ผู้ถูกกล่าวหาจึงตกเป็นเป้าแห่งการค้นหาความจริง (object of investigation)

การกลับตาลปัตรจากการค้นหาความจริงจากผู้กระทำมาสู่ผู้ตกเป็น “เหยื่อ” สร้างผลกระทบต่อมุมมองในการให้ความหมายกับเหตุการณ์นั้นๆ อย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก การหันไปพิจารณาผู้เป็นเหยื่อมากกว่าตัวบุคคลผู้กระทำ จะมีผลอย่างสำคัญต่อการลดทอนความรุนแรงของการกระทำนั้นให้น้อยลง เพราะจะทำให้การอธิบายสาเหตุของการกระทำความผิดไม่ใช่เป็นเพียงความชั่วของผู้กระทำเพียงอย่างเดียว หากเป็นสาเหตุมาจากผู้เป็นเหยื่อของการกระทำด้วยเช่นกัน

ที่ผู้ชายข่มขืนผู้หญิง แม้จะเป็นความผิดก็จริง แต่ก็เพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊นั่นแหละ ถ้าไม่แต่งตัวแบบนั้น ทางผู้ชายก็คงไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรอก

ประการที่สอง เมื่อเปลี่ยนมุมมองไปยังเหยื่อของการกระทำ ในด้านหนึ่งก็จะทำให้แนวทางแห่งการสนทนาถูกเบี่ยงเบนไปเป็นประเด็นอื่นๆ เช่น ผู้หญิงเป็นฝ่ายมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการข่มขืนอย่างไร ควรมีการห้ามไม่ให้มีการแต่งโป๊ในที่สาธารณะหรือไม่ แต่ประเด็นซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ชวนถกเถียงในเรื่องนั้นๆ ก็ถูกมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญไป

แนวความคิดสตรีนิยมจึงโต้แย้งต่อการแนวทางการมองแบบ blaming the victims เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีการสร้างอำนาจเหนือกว่าของผู้มีอำนาจในสังคม ซึ่งแน่นอนว่าในมุมมองของกลุ่มนี้ก็คือ ระบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy)

 

ประณามนักศึกษาผู้เป็นเหยื่อ

 

กรณีของนักศึกษาซึ่งต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงจากบุคคลซึ่งมีหน้าที่สอนหนังสือในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนักศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็นับเป็นประเด็นที่ชวนขบคิดด้วยว่าจะมองและทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ในมุมมองแบบใด

ปฏิกิริยาแรกที่แพร่กระจายก็คือ การโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวของผู้สอนหนังสือกลุ่มนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ในการใช้ความรุนแรงเพื่อยุติกิจกรรมที่ทางฝ่ายผู้สอนหนังสือไม่เห็นด้วย และถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ซึ่งควรต้องถูก “จัดการ”

ในกรณีดังกล่าวมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การกระทำของนักศึกษามีความเหมาะสมหรือไม่ และ สอง การตอบโต้จากทางผู้สอนหนังสือเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

สำหรับประเด็นแรกนั้นเป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเข้ากับสถาบันต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างผู้คนแต่ละกลุ่ม การกระทำของนักศึกษาอาจ “เหมาะสม” หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้กระทำว่ามีอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองอย่างไร และในห้วงเวลาปัจจุบันควรยอมรับการแสดงออกของบุคคลได้กว้างขวางเพียงใด

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าการกระทำของนักศึกษาเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรรม หากเป็นเพียงสิ่งที่อาจรบกวนความเชื่อหรือจิตใจของคนกลุ่มอื่นๆ เท่านั้น

อยากตั้งข้อสังเกตบางประการไว้ ณ ที่นี้ว่า เอาเข้าจริงควรถือเป็นเรื่องน่ายินดีเสียด้วยซ้ำ เพราะนักศึกษาก็ไม่ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมในพิธีกรรมอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่โต้แย้งรูปแบบของการเข้าร่วมบางประการเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าลำพังเพียงการโต้แย้งในเชิงรูปแบบยังต้องเผชิญกับการตอบโต้แบบที่ไม่ควรเกิดในสถาบันการศึกษา

ประเด็นที่สอง ผู้เขียนอยากเสนอว่า คนสอนหนังสือแม้ในมหาวิทยาลัยก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา ซึ่งย่อมมีรัก โลภ โกรธ หลง เฉกเช่นบุคคลทั่วไป การสอนหนังสือก็เป็นเพียงอีกอาชีพหนึ่งในการทำมาหากิน เมื่อเป็นดังนั้น เขาหรือเธอก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเช่นเดียวกันกับคนทั่วไป รวมถึงกฎเกณฑ์ทางวิชาชีพ ซึ่งได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมหรือห้ามพฤติกรรมในวิชาชีพของตน หากกระทำผิดก็ต้องถูกลงโทษทั้งกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางวิชาชีพอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่การแอบอ้างถึงบุญคุณหรือการมีสถานะอันสูงส่งที่ควรต้องเคารพมาปิดปาก

ท่ามกลางการถกเถียงถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว มีหลายความเห็นได้เสนอวิธีคิดเรื่อง “การจัดฉาก” ของนักศึกษา ด้วยการให้คำอธิบายว่า เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องของความพยายามในการสร้างเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งก็ดูจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่การเสนอเรื่องการจัดฉากคือแนวทางที่คล้ายคลึงกับการโยนภาระไปให้กับผู้ถูกกระทำในแนวคิดแบบ blaming the victims อันนำมาซึ่งการหันไปเป้าหมายแห่งการสอบสวนไปยังผู้ถูกกระทำและลดทอนความรุนแรงของผู้กระทำให้น้อยลง ถึงการล็อคคอจะผิดแต่ก็ผิดเพราะนักศึกษาวางแผนมาก่อนนั่นแหละ

(สมมติว่าการกระทำของนักศึกษาเป็นผลจากการจัดฉากจริงแล้วจะหมายความว่าอย่างไร ผู้สอนสามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรมหรือ ไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนถึงความเหมาะสมของการกระทำเลยหรือ ฯลฯ)

พร้อมๆ กันไปก็เป็นการเปลี่ยนการถกเถียงในประเด็นสำคัญของเรื่องก็คือ ความเหมาะสมในการกระทำของนักศึกษา ซึ่งรวมถึงความเหมาะสมของพิธีกรรมดังกล่าวว่า ควรถูกจัดวางไว้ในลักษณะอย่างไรในสังคมปัจจุบัน

พิธีถวายสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์เคยเป็นพิธีกรรมสำคัญในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในหลายกรณี ดังเช่นในกฎหมายเกี่ยวกับการแปลงชาติ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) ได้กำหนดให้คนในบังคับต่างชาติที่ต้องการแปลงชาติมาอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของสยามต้องกระทำพิธี “ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานุสัตย์” อันหมายถึงการสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ กระบวนการในลักษณะดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรูปแบบของรัฐในห้วงเวลานั้นๆ ซึ่งถือคติว่ารัฐเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน บุคคลที่จะเข้ามาเป็นคนในบังคับก็ย่อมต้องแสดงความจงรักภักดีให้ปรากฏขึ้น แต่ภายหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐประชาชาติ พิธีกรรมนี้ก็ได้ถูกยกเลิกเพราะบัดนี้ “รัฐ” มิใช่สมบัติส่วนพระองค์อีกต่อไป

ไม่ใช่เพียงรูปแบบของรัฐที่เปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการของรัฐก็เปลี่ยนไปอย่างไพศาล เฉพาะระบบการจัดการศึกษาของรัฐในปัจจุบันก็ได้รับงบประมาณมาจากภาษีของประชาชนหรือค่าธรรมเนียมพิเศษของผู้เรียน ในหลายหลักสูตร เงินเดือนและสวัสดิการของผู้สอนก็มาจากภาษี แต่กลับกลายเป็นว่าในทางอุดมการณ์ถูกอธิบายไปในแบบอื่นๆ

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างบางประการที่อาจทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยขึ้นได้มิใช่หรือ หรือว่าคำถามใดที่ไม่ถูกหูของอั๊วแล้วก็ไม่ควรจะถาม

“จะทำอย่างไรให้สถาบันการศึกษาใช้ปัญญาในการจัดการกับความเห็นที่แตกต่างแทนที่การใช้กำลัง?” กลายเป็นคำถามสำคัญ หรือหมายความว่าสถาบันการศึกษากำลังสูญเสียความสามารถทางด้านการถกเถียงด้วยเหตุผลจึงต้องหันมาใช้อำนาจบังคับทดแทน

ถ้าเช่นนั้น “มหาวิทยาลัยก็คือค่ายทหาร” อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของบรรดาเหล่าผู้สอนหนังสือเอง สถานที่แบบนี้หรือที่สังคมควรฝากความหวังว่าจะเป็นแหล่งบ่มทางปัญญาและสร้างความงอกงามทางจิตใจให้บังเกิดแก่เยาวชนของเรา

MOST READ

Law

20 Aug 2023

“ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท”: ความผิดฐานหมิ่นประมาทกฎหมายเยอรมัน

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทไทย และยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นประมาทเยอรมันเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ

20 Aug 2023

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save