นรา เรื่อง
เมื่อปี 1989 หนังเรื่อง Do the Right Thing ผลงานกำกับของสไปค์ ลี ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นล้นหลาม ได้รับคำชื่นชมในวงกว้าง ทำรายได้เข้าเกณฑ์น่าพึงพอใจ (เมื่อเทียบกับต้นทุนที่เป็นหนังฟอร์มเล็ก) เข้าชิงรางวัลและชนะในสาขาหนังยอดเยี่ยมจากหลายๆ สถาบัน แต่กลับถูกมองข้ามจากรางวัลออสการ์ โดยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงแค่ 2 สาขา (คือ นักแสดงสมทบชาย แดนนี ไอเอลโล และบทภาพยนตร์ดั้งเดิม โดย สไปค์ ลี) และกลับบ้านมือเปล่า (ส่งผลให้เกิดข้อครหาติดตามมาว่า รางวัลออสการ์มีอคติเรื่องสีผิว)
ความสำเร็จของ Do the Right Thing ส่งผลให้สไปค์ ลี ในวัย 32 กลายเป็นคนทำหนังรุ่นใหม่ที่โดดเด่นน่าจับตามองมากสุดอีกราย
ถัดจากนั้น เขามีผลงานมากมายออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนัง สารคดี หนังสั้น มิวสิควิดีโอ หนังสร้างขึ้นเพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ แต่ยิ่งนานวัน ชื่อเสียงกลับยิ่งถดถอย มีงานในเกณฑ์ดีพอประมาณช่วงทศวรรษ 1990 และหลังปี 2000 เป็นต้นมา งานส่วนใหญ่ของเขามีคุณภาพย่ำแย่ชวนให้นึกอยากลืม เป็นอาการ ‘ฟอร์มตก’ เรื้อรัง จนเหมือนคนทำหนังที่หมดสภาพไปเรียบร้อย
แต่แล้วผลงานล่าสุดอย่าง BalcKkKlansman ก็ทำให้สไปค์ ลี ‘กลับชาติมาเกิดใหม่’ อย่างสวยงาม หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขา ประกอบไปด้วย ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับ บทภาพยนตร์ดัดแปลง นักแสดงสมทบชาย (อดัม ไดรเวอร์) ตัดต่อ-ลำดับภาพ และดนตรีประกอบ
ตรงนี้ก็เกิดการตั้งข้อสังเกตสวนทางกับข้อครหาในอดีต นั่นคือ รางวัลออสการ์ปีนี้ มีกระแสนิยมเอนเอียงเทใจไปให้กับหนังที่สะท้อนปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ นอกจาก BlacKkKlansman แล้ว ยังมี Green Book, If Beale Street Could Talk และหนังซูเปอร์ฮีโรอย่าง Black Panther (หรืออาจจะรวมถึงหนังเม็กซิกันอย่าง Roma เข้าด้วยก็ได้) ที่มีสาระใจความในประเด็นใกล้เคียงกัน
นี่ยังไม่นับหนังเนื้อหาใกล้เคียงกันที่มีคุณภาพระดับรองๆ ลงมา อีกหลายเรื่อง ซึ่งไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใดๆ เลย
จำนวนปริมาณความถี่ของหนังที่สะท้อนปัญหาเรื่องสีผิวและเชื้อชาติ ไม่ได้เพิ่งมีเฉพาะแค่ในปีที่ผ่านมาหรอกนะครับ แต่เป็นกระแสเด่นชัดที่ค่อยๆ ก่อตัวมาระยะหนึ่งแล้ว หรือจะพูดระบุให้ชัดคือ ตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นโยบายและท่าที คำพูดคำจาไม่รื่นหูของเขา มีส่วนโหมกระพือความขัดแย้งเหล่านี้ให้ลุกโชน เกิดแรงต่อต้านไปทั่วสารทิศ รวมถึงในแวดวงบันเทิง ซึ่งมีทั้งที่เป็นการแสดงทัศนะโดยตรง และสะท้อนผ่านผลงาน
หนังที่สะท้อนปัญหาสังคมนั้น ผมแบ่งกว้างๆ หยาบๆ ได้เป็น 2 จำพวก อย่างแรกคือ การสะท้อนปัญหาแบบตรงไปตรงมา โดยเจตนานำเสนอของคนทำหนัง ว่าต้องการจะให้ผลงานของเขาสื่อสารเนื้อหาประเด็นใดกับผู้ชม
ส่วนอีกแบบหนึ่งก็คือ หนังที่สะท้อนปัญหาสังคมทางอ้อม บนพื้นฐานความคิดที่ว่า สื่อภาพยนตร์เป็นผลผลิตของสังคม
การสะท้อนปัญหาสังคมทางอ้อมในหนัง พูดง่ายๆ ก็คือ สภาพความเป็นจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือกระแสสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง กระทั่งว่าเหตุผลทางด้านการตลาด (ซึ่งมุ่งตอบสนองกระแสความนิยมของคนดูให้ทันท่วงที) ล้วนมีส่วนผลักดันให้เกิดหนังเนื้อหาแบบใดแบบหนึ่ง (หรือสะท้อนเนื้อหาแง่คิดประเด็นใดประเด็นหนึ่ง) ออกมาเป็นกลุ่มก้อนคล้ายๆ กัน
ตัวอย่างเช่น สภาพเศรษฐกิจตกต่ำหนักในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1930 ส่งผลให้หนังอาชญากรรมและหนังเพลงเฟื่องฟูเป็นที่นิยม (หนังประเภทแรกนั้น วิเคราะห์กันว่า สะท้อนถึงความล้มเหลวและความรู้สึกเบื้องลึกของผู้คนส่วนใหญ่ ที่ปราศจากความเชื่อมั่น เสื่อมศรัทธาต่อประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ ส่วนความนิยมที่มีต่อหนังเพลง เป็นผลสืบเนื่องจากความต้องการหลบหนีปลีกตัวออกจากวิกฤตต่างๆ ในชีวิตจริงชั่วขณะของผู้ชม
ตัวอย่างอื่นๆ อีกก็เช่น ความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ไปส่งผลชดเชยทางอ้อม ให้เกิดความนิยมในการสร้างและดูหนังจำพวกสัตว์ประหลาดหรือมนุษย์ต่างดาวบุกโลกออกมามากมายในช่วงทศวรรษ 1950
พูดอีกแบบ หนังสะท้อนปัญหาหรือสะท้อนสภาพสังคมทางอ้อมนั้น เกิดขึ้นและมีอยู่ตลอดเวลา และมีทุกหนทุกแห่งในโลก เพียงแต่ต้องพิจารณาประกอบควบคู่กันระหว่างความเป็นไปทางสังคมกับหนังในจำนวนปริมาณมาก จึงจะพอจับสังเกตได้ รวมทั้งมีเงื่อนไขปัจจัยสำคัญอีกอย่าง คือ ต้องครอบคลุมระยะเวลาพอสมควร
อย่างไรก็ตาม หนังบางเรื่องอาจเข้าข่ายทั้ง 2 กรณี คือเป็นงานที่คนทำตั้งใจสื่อสารเนื้อหาสะท้อนสังคมอยู่ก่อนแล้ว และสร้างออกมาในช่วงเวลาที่เงื่อนไขห้อมล้อมทางสังคมสอดคล้องตรงกัน
BlacKkKlansman คืองานประเภทนี้นะครับ โดยตัวมันเองมีแก่นสารสาระพูดถึงปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ขณะที่โดยสภาพสังคมช่วงที่งานชิ้นนี้สร้างขึ้นออกฉาย คนอเมริกันกำลังตื่นตัวและประสบกับปัญหาดังกล่าว
หนังสร้างจากเหตุการณ์จริง ดัดแปลงจากงานเขียนประเภท non-fiction ปี 2014 เรื่อง Black Klansman ของรอน สตอลเวิร์ธ เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวสีของเมืองโคโรลาโด สปริงส์ ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว งานเขียนชิ้นนี้เล่าถึง รายละเอียดในปฏิบัติการทำหน้าที่สายสืบของตัวเขาเองเมื่อปี 1979
บทหนัง (ซึ่งมีสไปค์ ลี เป็นหนึ่งในทีมเขียนบท) ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเกิดเหตุจากปี 1979 มาเป็นปี 1972 เพื่อให้หนังขยับเข้าใกล้หลายๆ เหตุการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาการเหยียดสีผิวมากขึ้น เช่น แคมเปญหาเสียงในการสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของริชาร์ด นิกสัน (เมื่อปี 1972)
พูดง่ายๆ คือ เป็นการเจตนา ‘โกงอายุ’ หรือ ‘บิดเบือน’ เวลาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อหวังผลในการตอกย้ำเนื้อหาสาระให้เด่นชัดขึ้น เช่นเดียวกับที่มีการปรับเปลี่ยน ลดทอน ต่อเติม รายละเอียดหลายๆ อย่าง เพื่อผลในด้านความบันเทิง
BlacKkKlansman เล่าถึงชายหนุ่มผิวสีชื่อรอน สตอลเวิร์ธ ซึ่งมีความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ และสบโอกาสเหมาะเมื่อมีการเปิดรับสมัคร โดยให้โอกาสแก่ทุกเชื้อชาติผิวสี
รอนจึงกลายเป็นตำรวจคนแรกที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันในโคโลราโด สปริงส์ เมืองที่มีปัญหาการเหยียดผิวสีค่อนข้างรุนแรง (และก่อนหน้านั้นไม่นาน เพิ่งเกิดกรณีตำรวจผิวขาวยิงคนผิวสีจนเสียชีวิต แบบกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยไม่ต้องรับโทษใดๆ ส่งผลให้ตำรวจกลายเป็นที่เกลียดชังของคนผิวสี)
ตำแหน่งความรับผิดชอบเบื้องต้นของรอน คือ เจ้าหน้าที่ประจำห้องเก็บประวัติอาชญากรรม และต้องเผชิญกับการเหยียดผิวจากเพื่อนร่วมงานอยู่เนืองๆ บวกรวมกับความน่าเบื่อหน่ายจำเจของงานเอกสารประจำออฟฟิศ รอนจึงร้องขอต่อผู้บังคับบัญชาขอทำงานออกภาคสนามในตำแหน่งสายสืบ แต่คำขอก็ถูกปฏิเสธทันทีทันควัน
แต่เพียงไม่นาน ความปรารถนาของรอนก็กลายเป็นจริง เมื่อเขามีคุณสมบัติเหมาะกับภารกิจ จึงได้รับคำสั่งให้ปลอมตัว (พร้อมทั้งติดอุปกรณ์ดักฟัง) เข้าไปร่วมกิจกรรมชุมนุมเพื่อฟังคำปราศรัยนักต่อสู้เรื่องการเหยียดผิวชื่อ ควาเม ตูเร
รอนปฎิบัติภารกิจดังกล่าวลุล่วงไปด้วยดี จนได้ย้ายมาทำงานสายสืบ พร้อมๆ กันนั้นในระหว่างเข้าร่วมการชุมนุม ก็เป็นเหตุให้เขาได้พบและรู้จักกับแพทริซ ดูมาส์ ประธานสหภาพนักศึกษาผิวสี ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงาน และพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นคู่รัก (โดยที่รอนต้องปกปิดไม่ให้เธอรู้ความจริงว่าเขาเป็นตำรวจ)
แล้ววันหนึ่ง รอนก็อ่านเจอโฆษณาชิ้นเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นประกาศแจ้งความของกลุ่มคู คลักซ์ แคลน ซึ่งไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย ยกเว้นเพียงแค่เบอร์โทรศัพท์
ตำรวจหนุ่มลองโทรศัพท์ติดต่อไป แต่ไม่มีผู้รับสาย เครื่องตอบรับอัตโนมัติระบุให้ฝากข้อความทิ้งไว้ รอนจึงแกล้งแสดงตัวเป็นคนขาวที่ไม่พอใจคนผิวสีอย่างสมบทบาท จนได้รับการติดต่อกลับและมีโอกาสได้พูดคุยกัน
การสนทนาจบลง รอนสร้างความประทับใจจนทำให้อีกฝ่ายยินดีต้อนรับเข้าเป็นสมาชิก และนัดหมายพบเจอกัน
เพื่อจะให้การแฝงตัวเข้าร่วมกลุ่มดำเนินต่อไปได้ รอนจึงขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา และวางแผนให้ฟลิป ซิมเมอร์มานคู่หูของเขา (ซึ่งเป็นคนขาวและเป็นยิว) สวมรอยเป็นรอน
จึงเกิดเป็นรอน สตอลเวิร์ธ 2 คน คนหนึ่งเป็นตัวจริงคอยติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ ส่วนอีกคนเป็นตัวปลอมเข้าคลุกคลีตีโมงใกล้ชิดกับบรรดาสมาชิกคนเหยียดผิว ตรงตามชื่อหนัง ‘คนดำที่เป็นพวก คู คลักซ์ แคลน’
เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้น ก็ว่าด้วยความคืบหน้าในการสอบสวน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาตัวรอดเมื่อเกิดพิรุธชวนสงสัย การโน้มน้าวให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงแผนมุ่งร้ายและการสกัดยับยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้น
พล็อตคร่าวๆ ที่ผมเล่ามา เหมือนหนังแอ็คชันตำรวจจับผู้ร้ายทั่วๆ ไป แต่ข้อแตกต่างของ BlacKkKlansman ก็คือ ไม่มีฉากบู๊ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่มีตัวละครจำพวกวีรบุรุษผู้เก่งกาจหรือจอมวายร้าย และที่สำคัญคือ สิ่งที่หนังพาผู้ชมไปพบเจอตลอดทาง คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสีผิวอย่างถี่ถ้วน ทั้งมุมมองของคนผิวสี ซึ่งรู้สึกว่าพวกเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างโหดร้าย และมุมมองของคนผิวขาว ซึ่งเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในเชื้อสายอันบริสุทธิ์สูงส่ง และกำลังอยู่ในสถานะสั่นคลอน ถูกเบียดเบียน ถูกรบกวน บ่อนทำลายโดยเชื้อชาติที่ด้อยกว่าและน่ารังเกียจ
ผมคิดว่า ประเด็นทางเนื้อหาคือส่วนที่โดดเด่นสุดของหนังเรื่องนี้ มันไม่ได้พูดอะไรใหม่หรือแตกต่างไปจากที่หนังจำนวนมากเคยเล่าไว้ก่อนแล้ว ไม่ได้ลงลึกชนิดรัดกุมรอบด้าน ไม่ได้เสนอทางออกที่เปี่ยมด้วยความหวังทางบวก แต่ BlacKkKlansman เล่าถึงความเกลียดแค้นชิงชังระหว่างกันออกมาได้อย่างทรงพลัง น่าสะพรึงกลัว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความเชื่ออันตราย’ ของพวก คู คลักซ์ แคลน สุดโต่งบางคน ซึ่งเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า ความรุนแรงและแผนร้ายที่ลงมือกระทำ เป็นสิ่งถูกต้องดีงาม เป็นภารกิจอันสูงส่งศักดิ์สิทธิ์) เต็มไปด้วยอารมณ์ขันเย้ยหยันเจ็บปวดจนผมหัวเราะไม่ออก และรู้สึกขมขื่นมากกว่า (เช่น ในการสวมรอยเข้าสืบคดี รอนตัวจริงตัวปลอมทั้ง 2 คน ต้องแกล้งพูดจาแสดงท่าทีเหยียดผิวด่าทอตนเองให้สมจริง)
ข้อดีประการต่อมา คือ หนังเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยฉากสนทนา ปราศจากแอ็คชันโลดโผน มีรายละเอียดเยอะแยะมากมาย แตะต้องประเด็นเนื้อหาหนักหน่วงจริงจัง ให้ออกมากระชับฉับไว เรื่องราวคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา ดูง่ายเข้าใจง่าย และสื่อสารใจความสำคัญได้เด่นชัด
จุดเด่นต่อมา เกี่ยวโยงกับ 3 สาขาที่หนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ คือ การกำกับ บทภาพยนตร์ และงานตัดต่อ-ลำดับภาพ ทั้ง 3 ส่วนนี้ผสมผสานกลมกลืนกันมาก จนทำให้ BlacKkKlansman กลายเป็นหนังที่มีลีลาการดำเนินเรื่องลื่นไหล เข้มข้น และชวนติดตามมากๆ
จริงๆ แล้ว ผมควรใช้คำว่า ‘สนุกมาก’ แต่เนื้อหาสาระในประเด็นการเหยียดสีผิวเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ก็ทำให้ผมเลือกใช้คำว่า ‘ชวนติดตาม’ จึงจะเหมาะใจและถูกกาลเทศะมากกว่า
เนื้อหาเกี่ยวกับการแฝงตัวเข้าไปในกลุ่ม คู คลักซ์ แคลน การวางแผนก่อเหตุร้าย และการหาทางยับยั้ง เป็นความลับและไคลแม็กซ์ที่ไม่สมควรเปิดเผยในที่นี้ แต่หนังก็มีช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ (สำหรับผมเอง คิดว่าช่วงดังกล่าวนี้ คือ จุดสูงสุดที่แท้จริงของเรื่อง) และพอจะเปิดเผยเล่าสู่กันฟังได้โดยไม่บั่นทอนอรรถรส
ช่วงดังกล่าว หนังเล่าด้วยวิธีตัดสลับไปมาระหว่าง 2 เหตุการณ์ คือ การชุมนุมรวมตัวกันในหมู่คนผิวสี เพื่อบอกเล่าถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อปี 1916 ซึ่งเรียกขานกันว่า ‘การประชาทัณฑ์เจสซี วอร์ชิงตัน’ กับพิธีกรรมรับสมาชิกใหม่ของ คู คลักซ์ แคลน
ทั้ง 2 เหตุการณ์ตัดสลับรับส่ง โต้ตอบกันและกันได้อย่างยอดเยี่ยม เต็มไปด้วยความเจ็บปวด เศร้าสะเทือนใจ และสยดสยองสั่นสะเทือนความรู้สึกเอามากๆ ก่อนจะขมวดจบเข้าหากันโดยมีหนังคลาสสิกอื้อฉาวปี 1915 เรื่อง The Birth of Nation ของ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ ที่ให้ภาพคนผิวสีแลดูชั่วร้าย และสนับสนุน คู คลักซ์ แคลนอย่างเด่นชัด เป็นจุดร่วม
ในช่วงท้ายของ BlacKkKlansman หลังจากเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับรอน สตอลเวิร์ธและคู่หู คลี่คลายแล้ว สไปค์ ลี แสดงความฉลาด ด้วยการทำให้หนังมี ‘บททิ้งท้าย’
เริ่มด้วยฉากรอนกับแฟนสาวนั่งคุยกันในห้องพัก แล้วได้ยินเสียงคนมาเคาะประตูบ้าน ทั้งคู่จึงเดินออกไปโดยพกปืน แล้วหนังก็ตัดไปสู่ภาพที่อาจจะไม่เกี่ยวกัน เกิดขึ้นต่างที่ต่างเวลา (แต่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังเกิดขึ้นที่หน้าบ้านของตัวละคร) เป็นภาพพวก คู คลักซ์ แคลน กำลังทำพิธีเผาไม้กางเขน
ติดตามมาด้วยฟุตเทจภาพข่าว ‘เหตุการณ์จราจลที่ชาร์ล็อตวิลล์’ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 (การชุมนุมของพวก คู คลักซ์ แคลน และนีโอนาซี รวมตัวกันในชื่อของกลุ่ม ‘อัลต์-ไรท์’ (Alt-Right) เพื่อคัดค้านการทำลายอนุสาวรีย์ของนายพลโรเบิร์ต อี.ลี. ผู้นำฝ่ายใต้ในช่วงสงครามกลางเมือง ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเหยียดผิว จนนำไปสู่ ‘ม็อบชนม็อบ’ แล้วลุกลามบานปลายกลายเป็นการจลาจล และกลายเป็นโศกนาฎกรรม) ท่าทีของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว คำให้สัมภาษณ์ของเดวิด ดุ๊กตัวจริง (เขาคนนี้เป็นผู้นำ คู คลักซ์ แคลน ระดับชาติ และเป็นตัวละครที่มีบทอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย) ก่อนจะปิดฉากทิ้งท้ายด้วยภาพธงชาติอเมริกันกลับหัว ค่อยๆ ลดทอนสีสันจนกลายเป็นภาพขาว-ดำ
บททิ้งท้ายนี้ นอกจากจะกระชากอารมณ์ผู้ชมจากความปลอดโปร่งโล่งใจ กลับมาสู่ความหดหู่หม่นหมองแล้ว ผมคิดว่า มันยังประกอบรวมกับตัวหนังทั้งเรื่อง สื่อสารสาระสำคัญอีกหนึ่งเนื้อความ