fbpx
“แบล็ค แพนเธอร์” ชัยชนะของแอฟริกันอเมริกันในอเมริกา

“แบล็ค แพนเธอร์” ชัยชนะของแอฟริกันอเมริกันในอเมริกา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

เมื่อตอนที่ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ระบบทาสอเมริกันนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะเรียนเรื่องราวของคนผิวดำ หรือปัจจุบันเรียกแอฟริกันอเมริกันอย่างจริงจัง ยังคิดว่าจะเรียนเรื่องระบบทาสในเชิงประวัติศาสตร์ว่าเป็นอย่างไรและประวัติศาสตร์ยุคทาสมีหรือไม่ และสุดท้ายจะศึกษาประวัติศาสตร์ยุคทาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอาณาจักรไทยได้ไหม มองกลับไปอีกครั้งนึกไม่ออกเลยว่าความไร้เดียงสาของเราในปัญหาเรื่องทาสอเมริกันผิวดำนั้นชวนหัวเราะเยาะยิ่ง

 

หลังจากติดตามเรื่องราวและความเปลี่ยนแปลงในการเมืองอเมริกันมาโดยตลอด ผมสรุปความรับรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์อเมริกันว่า ปัญหาอันเป็นแกนกลางของมันได้แก่สัมพันธภาพเชิงวิภาษวิธี ระหว่างคนผิวขาวกับผิวดำที่เป็นพลังขับเคลื่อนวิญญาณของความเป็นอเมริกัน ที่สำคัญในส่วนที่แสดงออกในทางวัฒนธรรมอันหลากหลายทั้งที่เป็นมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษรรวมถึงดนตรี

ปรากฏการณ์ล่าสุดของหนังเรื่อง “แบล็ค แพนเธอร์” ที่ทำลายสถิติในการเปิดโรงด้วยรายได้ที่ตีหนังดังด้วยกันเสียกระจุย จนผมทนเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความอัศจรรย์ของหนังเรื่องนี้ไม่ได้ เมื่อได้ดูแล้วก็อดไม่ได้ที่จะกลับมาทบทวนถึงความสำเร็จนี้ว่ามันยืนยันหรือบั่นทอนความรับรู้ของผมในปัญหาประวัติศาสตร์อเมริกันหรือไม่

ผมคิดว่าคำตอบหลักยังเป็นการยืนยันถึงความสัมพันธ์เชิงวิภาษวิธี ระหว่างคนแอฟริกันอเมริกันกับอเมริกันทั่วไปที่ยังคงดำเนินมาอย่างมีพลวัต

เนื้อหาหลักของหนังยังคงสืบทอดจารีตของการต่อสู้ของคนผิวดำในสหรัฐฯที่ดำเนินมาเป็นศตวรรษ หลังจากถูกบังคับให้เป็นผู้อพยพที่ไม่สมัครใจ เพื่อมาเป็นแรงงานทาสให้กับนายทาสผิวขาว ซึ่งเป็นผู้อพยพจากยุโรปโดยสมัครใจ แม้หลายคนอาจไม่ได้เลือกมาอย่างเต็มใจก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวคนผิวขาวประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมตามความฝันและอุดมการณ์ของปัจเจกชนเสรีนิยม โดยเฉพาะเมื่อชาวอาณานิคมอเมริกันร่วมใจกันสลัดพันธนาการของกษัตริย์อังกฤษออก แล้วสถาปนารัฐประชาชาติขึ้นมาโดยมีตัวแบบอำนาจรัฐที่เป็นมหาชนรัฐ อันเป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดมาจากการเป็นด้านตรงข้ามกับรัฐกษัตริย์ ในขณะที่คนผิวดำกลายเป็นแรงงานทาสสำหรับระบบการผลิตในไร่เพื่อส่งออก ความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาวกับผิวดำกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงและเป็นมหากาพย์แห่งการต่อสู้อันยาวนานเพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของคนแอฟริกันอเมริกันในดินแดนแห่งเสรีภาพไปอย่างไม่น่าเชื่อ

หลายคนคงได้ดูหน้งแบล็ค แพนเธอร์แล้ว คงไม่ต้องเสียเวลาเล่าเรื่องกันอีก ผมจะสรุปประเด็นที่เป็นใจความสำคัญที่จะอภิปรายกันดังต่อไปนี้

แอฟริกามีดินแดนลับที่เรียกว่าวากันดา เป็นเมืองที่ไม่มีใครเอาชนะได้ เพราะมีธาตุไวเบรเนียม (Vibranium) ซึ่งเล่ากันว่าตกมาจากลูกอุกกาบาตที่มีอำนาจอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งนำไปสร้างเครื่องมือและอาวุธ เช่น เสื้อเกราะของกัปตันอเมริกาก็ยิงไม่เข้าและเหาะเหินเดินอากาศได้ ว่าไปแล้วคงเหมือนนิทานโบราณที่พระฤษีให้แก้วสารพัดนึกแก่พระเอกไปสู้กับพวกยักษ์และมารจนชนะ แต่ไวเบรเนียมต่างจากแก้วสารพัดนึกตรงที่เอาไปทำการผลิตและสร้างเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต กระทั่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยในการพัฒนาประเทศและบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าไปได้ ไม่ใช่ให้อำนาจวิเศษแก่พระเอกใช้เพียงคนเดียว ทำให้วากันดาเป็นอาณาจักรที่ทันสมัยยิ่งในใจกลางแอฟริกาและโลก

ตรงนี้อดคิดไม่ได้ว่า ไรอัน คูเกลอร์ ผู้กำกับและเขียนบท นักสร้างหนังคนผิวดำแห่งเมืองโอคแลนด์ แคลิฟอร์เนีย สามารถขมวดปมเงื่อนของปัญหาคนผิวดำในอเมริกาออกมาได้อย่างมีความหมายยิ่ง นั่นคือการกลับไปมองดูว่าการที่คนผิวขาวไปลักพาและบังคับซื้อคนผิวดำจากแอฟริกา ก็เพื่อเอามาเป็นแรงงานทาสในระบบการผลิตเกษตรกรรมขนาดใหญ่เพื่อตลาดโลกในทวีปอเมริกาและแคริบเบียน การลงทุนในระบบผลิตขนาดใหญ่ที่เรียกว่า mass production ในระยะนั้นคือศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เป็นการปูทางไปสู่การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมโลกต่อมา

กระทั่งนักประวัติศาสตร์และผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชของแอฟริกา อีริค วิลเลียม เขียนหนังสือเล่มสำคัญที่สั่นสะเทือนวงการประวัติศาสตร์ตะวันตกขณะนั้น Slavery and Capitalism (1944) ด้วยการเสนอทฤษฎีของเขาว่า โดยเนื้อแท้แล้วความสำเร็จในการก่อรูปของระบบทุนนิยมโลกได้นั้น ก็เพราะได้อาศัยระบบทาสผิวดำเป็นปัจจัยแกนกลางในการสร้างมูลค่าส่วนเกินที่เป็นกำไรอันมหาศาลให้แก่ชนชั้นนายทุนยุโรปนั่นเอง

งานเขาเจาะลึกเฉพาะอังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจสำคัญในการสร้างระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ในแง่นี้การเปรียบเปรยว่าแอฟริกามีขุมทรัพย์อันเป็นที่ต้องการของโลกภายนอกก็ไม่ผิด แต่ที่ตื่นเต้นกว่าก็คือในหนัง ขุมทรัพย์นี้ไม่ได้ทำให้คนแอฟริกันต้องตกเป็นทาส เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์และต้องตกเป็นเหยื่อของคนอื่นมาตลอด ไม่ว่าในทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือคนแอฟริกันถูกดูถูกจากคนอื่นมาโดยตลอด คราวนี้เราได้เห็นแอฟริกันยืนขึ้นบนสองขาและแขนของตัวเอง ภาพของสังคมแอฟริกันในหนังไม่ใช่มีแต่ความยากจน และการถูกกดขี่เยี่ยงสัตว์อีกต่อไป

ที่น่าสนใจคือ แทนที่วากันดาแลนด์จะผยองและโอ้อวดศักดาอภินิหารของตนออกไปทั่วแปดทิศ ตรงกันข้ามผู้ปกครองวากันดากลับจงใจปิดประเทศ เดินนโยบายโดดเดี่ยวตัวเองจากประเทศอื่นๆ ทั้งหลาย เพราะกลัวความลับแห่งไวเบรเนียมจะล่วงรู้ไป อันอาจทำให้เกิดการทำศึกสงครามแย่งชิงทรัพยากรสำคัญนี้ แต่แล้วความปรารถนานี้ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดก็มีคนภายนอกล่วงรู้ถึงมูลค่าอันใหญ่หลวงของดินแดนนี้ การต่อสู้กับผู้ต้องการเข้ามาแย่งชิงหัวใจของวากันดาจึงเริ่มเกิดขึ้น และในที่สุดกษัตริย์ผู้เป็นบิดาของทีชัลลาก็ถูกลอบฆ่า

หนังแบล็ค แพนเธอร์ เริ่มเดินเรื่องจากจุดของความขัดแย้งและความรุนแรงระดับสูงสุดคือสงครามระหว่างรัฐ ส่วนในประเทศก็เริ่มมีการถกเถียงกันถึงนโยบายของการปิดประเทศและโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอก ว่ายังเหมาะสมและเป็นไปได้ไหม ถ้าหากจะเปิดประเทศ นั่นหมายถึงการนำเอาอำนาจวิเศษเหนือโลกไปใช้ ปัญหาคือจะใช้ทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ เหนืออื่นใด ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินไปเพื่ออุดมการณ์ของสันติภาพ ไม่ใช่สงครามหรือการเข่นฆ่าระหว่างมนุษย์ที่ต่างชาติพันธุ์และประเทศ

เค้าโครงเรื่องใหญ่นี้ดูเผินๆ เหมือนนิทานและการ์ตูนประเภทฮีโร่แบบซูเปอร์แมน หรือมนุษย์ค้าวคาว (แบตแมน) มาถึงสไปเดอร์แมน แต่ที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคือผู้สร้างการ์ตูนของค่ายมาร์เวลให้แก่แบล็ค แพนเธอร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 คือ สแตน ลีกับแจ๊ค เคอร์บี้ (Stan Lee & Jack Kirby) สองนักวาดยิวจากนิวยอร์กตั้งใจสร้างเรื่องนี้เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นคนผิวดำรู้สึกว่าพระเอกหรือฮีโร่ของเรื่องนี้เป็นอัตลักษณ์เดียวกับพวกเขา ไม่ใช่เอะอะก็มีแต่ฮีโร่ที่เป็นคนผิวขาวหรือบุรุษเพศแต่ฝ่ายเดียว แบล็ค แพนเธอร์จึงมีสำนึกทางการเมืองของเพศสภาพและเชื้อชาติมาแต่แรก แม่ทัพใหญ่ของทีชัลลาเป็นสตรี ส่วนหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือเจ้าหญิงชูรี ผู้เป็นน้องสาว จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อหนังแบล็ค แพนเธอร์ออกฉายในโรง ด้วยการกำกับและสร้างอย่างอลังการ

เป็นเรื่องแรกที่ฮอลลีวูดยอมให้ลงทุนสร้างหนังที่มีพระเอกเป็นคนผิวดำและตัวละครหลักทั้งหมดเป็นคนแอฟริกันอเมริกัน เป็นครั้งแรกที่คนผิวขาวกลายเป็นตัวประกอบของหนังไป คนดูซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำทวีตถึงหนังเรื่องนี้อย่างถล่มทลายแบบว่าไม่เคยมีหนังที่ออกฉายรอบปฐมฤกษ์ในวันที่ 10 มกราคม 2018 ที่กวาดรายได้สูงเท่าแบล็ค แพนเธอร์มาก่อน ทีชัลลาในชุดเสือดำประสบความสำเร็จในการยึดกุมหัวใจของประชาชน ที่ไม่ใช่เพียงเป็นประชาชนของวากันดา หากแต่เป็นประชาชนของประเทศต่างๆ ในโลก ที่ต้องการเห็นชัยชนะของคนที่ตกเป็นเหยื่อและถูกกดขี่ขูดรีดมานับศตวรรษ สามารถลุกขึ้นมาประกาศศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของเขาเหนือความยิ่งใหญ่ของประเทศตะวันตกได้

ฉากสำคัญในหนังคือการสู้กันระหว่างทีชัลลาซึ่งได้เป็นกษัตริย์แห่งวากันดาสืบต่อจากบิดา ด้วยการประลองฝีมือต่อสู้กับผู้ท้าชิง อันเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวแอฟริกัน หลังจากนั้นเรื่องก็ผกผันไปสู่การกลับมาของอีริค คิลมองเกอร์ (Eric Killmonger) เพื่อท้าชิงตำแหน่งผู้ปกครองวากันดาอันชอบธรรม เนื่องจากเขาก็เป็นลูกของหนึ่งในเชื้อสายของกษัตริย์วากันดาเหมือนกัน แต่ไปเกิดและโตในเมืองโอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะพ่อเขาถูกส่งให้ไปทำงานเป็นสายลับในอเมริกา

ที่น่าสนใจคืออีริค คิลมองเกอร์ทำงานให้กับซีไอเอ จนล่วงรู้วิธีการทำงานในการแทรกซึมบ่อนทำลายรัฐบาลประเทศอื่น คือนโยบายของการล่าเมืองขึ้น คิลมองเกอร์ต้องการเป็นผู้ปกครองวากันดาที่มีพลังอำนาจล้นฟ้า ต้องการเอาพลังวิเศษนี้ออกไปช่วยเหลือประเทศที่เป็นเมืองขึ้นทั้งหลาย ด้วยการใช้กำลัง ไม่มีความคิดและความเชื่อในสันติวิธีใดๆ ทั้งสิ้น ทำนองว่าเขาได้เรียนรู้วิธีคิดแบบนักล่าอาณานิคมมาจากการทำงานกับซีไอเอ ซึ่งเป็นองค์กรในการล่าอาณานิคมให้สหรัฐฯ

การปะทะกันทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างทีชัลลากับคิลมองเกอร์ก็น่าคิด เพราะมันสะท้อนถึงปัญหาพื้นฐานอันดำรงอยู่อย่างยาวนานในขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในอเมริกามาตั้งแต่วาระแรกๆ ของการดิ้นรนเพื่อหลุดออกจากพันธนาการและโซ่ตรวนของระบบทาส ว่าจะใช้วิธีการรุนแรง เช่น การลุกฮือกบฎ กระทั่งปฏิวัติล้มนายทาส หรือด้วยอหิงสา ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของนายทาส แต่หาวิธีลดทอนบรรเทาความรุนแรงของระบบทาส ด้วยการทำให้นายทาสเชื่อใจยอมรับในความจงรักภักดี กระทั่งยอมให้มีอิสระและชีวิตครอบครัวที่ปกติได้บ้าง บนหนทางอันยาวนานและคดเคี้ยวของคนผิวดำ การต่อสู้สองแนวทาง ระหว่างแบบอหิงสากับแบบรุนแรง ระหว่างการยอมรับอำนาจรัฐผิวขาวกับการปฏิเสธแล้วกลับไปหารากเหง้าคือแอฟริกา ระหว่างการปฏิรูปกับการปฏิวัติ เป็นศตวรรษมาที่ไม่มีหนทางหรือแนวทางอันหนึ่งอันใดได้ชัยชนะ และนำเอาเสรีภาพและสิทธิพลเมืองและความเป็นมนุษย์มาให้แก่พวกเขาอย่างสมบูรณ์ หากแต่ชัยชนะแต่ละขั้นแต่ละระดับที่คนดำได้รับมาล้วนผ่านการต่อสู้ทั้งสองหนทางและรูปแบบด้วยกันทั้งนั้น

นักคิดสำคัญที่สังเคราะห์ประสบการณ์ในการต่อสู้ของคนผิวดำออกมาได้อย่างเป็นระบบและมีพลังยิ่งคนแรกๆ ได้แก่ วิลเลียม ดูบัวส์ ด้วยการประกาศอย่างหนักแน่นว่า คนดำนั้นมีทวิลักษณ์ ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างมีความหมายหากปราศจากการยึดโยงของสองปัจจัยที่ว่านี้ นั่นคือ ประการแรก คนดำเป็นคนแอฟริกัน ประการที่สองเป็นคนอเมริกัน ไม่อาจปฏิเสธอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ปัญหาคือจะผสมผสานสองปัจจัยนี้อย่างไรในการปฏิบัติทางการเมืองและอื่นๆ ในระยะเวลาเดียวกันนั้น ก็มีผู้นำคนผิวดำอีกคนที่เสนอแนวทางที่มุ่งสู่การปฏิบัติได้อย่างทันทีเลย นั่นคือบุ๊กเกอร์ วอชิงตัน ด้วยการเสนอให้ใช้วิธีการเข้าร่วมกับคนผิวขาว แบบธรรมชาติเหมือนกับนิ้วมือห้านิ้วที่ไม่เท่ากัน แต่รวมกันแล้วทำให้มือทำงานได้

หลังจากนั้นที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิพลเมืองอย่างมาก คือสองแนวทางระหว่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งประกาศต่อสู้อย่างอารยะขัดขืน (civil disobedience) แต่อหิงสา กับมัลคอม เอ๊กซ์ แห่งขบวนการชาติมุสลิม และต่อมายังมีขบวนการประท้วงของนักศึกษาที่นำไปสู่การสร้างกลุ่มแบล็ค แพนเธอร์ โดยฮิว พี.นิวตัน (Huey P. Newton) กับบ๊อบบี้ ซีล (Bobby Seal) ที่มีการติดอาวุธในการต่อสู้กับรัฐบาล

การที่หนังแบล็ค แพนเธอร์ชูการต่อสู้ระหว่างผู้นำผิวดำกันเอง จึงเป็นการสะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เป็นจริงของคนแอฟริกันอเมริกันจากอดีตถึงปัจจุบัน ว่าเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาหล้กของคนผิวดำในการสร้างรัฐและสังคมใหม่ของพวกเขาอยู่  ฉากการสู้กันระหว่างทีชัลลากับคิลมองเกอร์ดำเนินไปบนรางรถไฟที่วิ่งอยู่ใต้ดิน นี่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกอันของอดีตทาสในอเมริกา

ในยุคที่ระบบทาสยังไม่ถูกเลิก ทาสจำนวนหนึ่งพากันหลบหนีจากไร่และที่อยู่ในภาคใต้เพื่อขึ้นไปภาคเหนือและแคนาดา เนื่องจากทาสที่หลบหนีจากนายเป็นความผิดตามกฎหมายอันถูกลงโทษได้ สามารถตามจับและส่งตัวกลับได้ ทำให้ฝ่ายต่อต้านระบบทาสต้องหาทางสร้างเครือข่ายและที่พักตามรายทางสำหรับช่วยไม่ให้ทาสที่หลบหนีถูกจับตัวได้ บรรดาเส้นทางและบ้านปิดลับต่างๆ ไปถึงคนนำทางและรับช่วงต่อกันไป กลายเป็นเส้นทางที่รู้จักกันในนามของ “ทางรถไฟสายใต้ดิน” (Underground Railroad) และนี่คือภูมิหลังที่ทำให้การต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างทีชัลลากับคิลมองเกอร์ในทางรถไฟใต้ดินมีนัยของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพจากความเป็นทาสอยู่ด้วย

ความสำเร็จของหนังแบล็ค แพนเธอร์ที่สำคัญมาจากการเคลื่อนไหวและก่อตั้งขบวนการด้านศิลปะวัฒนธรรมของคนแอฟริกันอเมริกันซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานเช่นกัน ก่อนจะถึงยุคสมัยของขบวนการประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมืองในทศวรรษ 1960 ก็มีการรวมตัวและนำเสนอผลงานของบรรดานักเขียน ศิลปินหลากหลายใน “ยุคฮาร์เล็มเรเนซองส์” ที่สร้างนักเขียนรุ่นใหญ่เช่น ริชาร์ด ไรต์ ในเรื่อง “Black Boy” ราล์ฟ เอลลิสัน (The Invisible Man) และที่ลืมไม่ได้คือนักเขียนสตรี โซลา นีล เฮอร์สตัน กับกวีชื่อดังแลงสตัน ฮิวจ์เป็นต้น

ในยุคปัจจุบันก็มีการทำงานของกลุ่ม “Afrofuturism” ซึ่งได้ยกระดับงานศิลปวัฒนธรรมไปอีกก้าวใหญ่ กล่าวคือพวกเขาตั้งเป้าหมายการทำงานว่าต้องสร้างสรรค์อย่างคนดำ โดยก้าวให้พ้นและเหนือกว่าข้อจำกัดของจินตนาการแบบคนผิวขาว การทำงานได้เท่าและเหมือนกับคนขาวคิดและทำ เท่ากับเป็นการยอมรับและตกอยู่ภายใต้ความคิดและจินตนาการแบบคนขาวอยู่ร่ำไป การทำงานและต่อสู้ไม่ใช่เพียงเพื่อให้คนดำจะได้มีที่อยู่ในอนาคตเท่านั้น หากยังต้องคิดใหม่ว่าในอนาคตนั้นพวกเขาต้องได้ชัยชนะด้วย และนั่นคือการที่ต้องผนึกองค์ความรู้สมัยใหม่ทั้งหลายไม่ว่าเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ต่างๆ เข้ามาด้วย ชัยชนะของคนดำจึงจะปรากฏเป็นจริงได้

การเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมล่าสุดจึงหมายถึงการจินตนาการว่า “บ้าน” ของคนดำในอเมริกานั้นจะมีหน้าตาอย่างไร และแบล็ค แพนเธอร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ทางศิลปวัฒนธรรมคนผิวดำปัจจุบัน วากันดาจึงเป็นดินแดนในฝัน “เป็นที่ซึ่งอยู่ในความคิดและจิตวิญญาณคนผิวดำมาโดยตลอดนับแต่วันแรกที่ถูกนำเข้ามาด้วยโซ่ตรวน”

ที่ผ่านมาเคยมีความสำเร็จทำนองนี้มาก่อนแล้ว เมื่อนิยายดังของอเล็กซ์ ฮาร์เลย์ (Roots) สร้างแรงสะเทือนถึงความเป็นมาของทาสผิวดำในอเมริกาอย่างมากในทั่วประเทศ แต่หลังจากนั้นแรงกระเพื่อมนั้นก็แผ่วลง เหลือเพียงความทรงจำว่า พวกเขาสามารถอ้างความเป็นคนอเมริกันและบ้านที่อยู่ได้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ไม่ใช่คนที่เป็นเพียงผู้อพยพที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไรก็ได้

แต่บทเรียนอีกอันที่พวกเขาได้เรียนรู้คือ รู้ว่าคนดำในสหรัฐฯ นั้นเป็น “ทั้งคนที่มีทั้งสองอย่างและก็ไม่มีอีกอย่าง” (to be both with and without one) ต้องเป็นทั้งคนดำและอเมริกัน แต่ก็ถูกปฏิเสธทำให้ไม่อาจมีทั้งสองอย่างได้ตลอดมา นั่นคือยอมรับว่าคนดำก็เป็นคนที่มีบ้านในดินแดนนี้มายาวนาน แต่ขณะเดียวกันก็ถูกบอกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนนี้ด้วยเหมือนกัน หาสาแหรกรากเหง้าของตนเองได้ สร้างประวัติศาสตร์ของคนดำที่เป็นเส้นตรงของพวกเขาได้ มีสถานที่และคุณค่าของพวกเขาได้ แต่ก็ยังไม่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างใหญ่ได้ทั้งหมด

 

การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชีวิตที่มีความหมายและที่อยู่ในมือของคนผิวดำด้วยกันเอง จึงยังเป็นโครงการในอนาคตต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save