fbpx
ชวนเธอไป (หลง) เจริญกรุง ณ เทศกาลงานออกแบบ BKKDW2019

ชวนเธอไป (หลง) เจริญกรุง ณ เทศกาลงานออกแบบ BKKDW2019

ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ภาพ

ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยม่านฝุ่น PM 2.5 เทศกาลงานออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพอย่าง ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562’ หรือ ‘Bangkok design week 2019’ (BKKDW2019) ที่จัดขึ้นเป็นปีที่สอง โดย TCDC และเหล่านักสร้างสรรค์จากทั่วทั้งประเทศ ก็เพิ่งจบไปหมาดๆ

งานครั้งนี้เต็มไปด้วยผลงานออกแบบของนักออกแบบชื่อดังและเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ ภายใต้ธีม ‘Fusing Forward ผสานสร้างสู่อนาคต’ แต่เสน่ห์อีกอย่างที่พลาดไม่ได้ของงานนี้ คือการเดินไปตามท้องถนน ผ่านชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม บนถนนที่มัสยิด ตลาด โรงงานเหล็ก ท่าเรือด่วน อยู่ใกล้กันในระยะที่เดินได้ ศิลปะที่ออกแบบจากเรื่องราวของชุมชน และความสร้างสรรค์ของศิลปิน ก็ถูกจัดวางไว้กระจัดกระจายทั่วหย่อมย่าน และหากจะชื่นชมให้ได้อารมณ์ เราชักชวนให้คุณลอง ‘เดิน’ ไปตามทางเท้า ด้วยการใช้แผนที่ ป้ายบอกทาง ดื่มด่ำกับการจ้ำอ้าวโดยไม่โบกพี่วิน

ฉันใช้เวลาตลอดบ่ายในการเดินเที่ยวครั้งนี้  และเก็บความประทับใจจากการไปหลงเจริญกรุง (ที่หมายถึงทั้งหลงรักและหลงทาง) มาฝากผู้อ่านทุกคน แต่ขอเตือนว่า บทความคงจะค่อนข้างยาวไม่แพ้ระยะทางที่ฉันเดิน (หลง) เลยขอให้คุณเตรียมน้ำเปล่าสักหนึ่งแก้วไว้ข้างกาย กะพริบตาสักสองทีเป็นการคลายกล้ามเนื้อ และถ้าพร้อมแล้ว ไปเดินลุยงาน Bangkok design week 2019 สไตล์ The101.world ให้น่องปูดกันไปเลย

Checkpoint ที่ 1 : ไม่คิด ‘อะแด็ป’ กันหน่อยเหรอ 

Checkpoint ที่ 1 :

ไม่คิด ‘อะแด็ป’ กันหน่อยเหรอ   

“จะเริ่มต้นยังไงดีนะ” คือความคิดแรกที่ดังขึ้นมาในหัวหลังจากที่ฉันได้แผนที่สีเขียวเล่มใหญ่มาจาก TCDC ฉันเปิดดูหน้าสารบัญก่อนสิ่งอื่นใดและพบว่าภายในเล่มได้บอกข้อมูลไว้อย่างครบถ้วน ทั้งวัน เวลา สถานที่ตั้งของนิทรรศการต่างๆ, ไฮไลท์ของงานที่ควรรับชม และเส้นทางแนะนำที่แบ่งตามความสนใจสามเส้นทาง

ราวกับมีนางฟ้ามาโปรด ฉันรีบพลิกไปยังหน้าแนะนำเส้นทางทันที และตัดสินใจว่า ‘เส้นทางที่ 3 เดินชมกิจกรรมส่งเสริมย่านสร้างสรรค์’ นี่แหละจะเป็นเส้นทางที่ฉันขอพิชิตในวันนี้

ฉันเดินตรงออกจากอาคารไปรษณีย์กลางบางรักมายัง ‘ซอยเจริญกรุง 36’ ตามแผนที่บอกไว้เป๊ะๆ เพียงเริ่มต้นก็พบว่ามนุษย์ที่ใช้ GPS จนชิน อาจจะงงกับเรื่องง่ายๆ อย่างการเดินเลี้ยวซ้ายหรือขวา แต่เมื่อสอบถามคนในพื้นที่ ก็ได้ความว่าเจริญกรุง 36 หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม ‘ซอยโรงภาษี’ จะนำพาฉันไปเจอกับหมุดหมายแรกของเส้นทางอย่าง ‘บ้านพักตำรวจน้ำ’

Checkpoint ที่ 1 : ไม่คิด ‘อะแด็ป’ กันหน่อยเหรอ 

อาคารไม้สีเขียวอ่อนอายุร้อยกว่าปี ให้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้ามาในยุคของวนิดาทันทีที่เหยียบเข้ามา ถึงแม้ตัวบ้านจะดูเก่าและให้ความรู้สึกชวนขนลุกเบาๆ อยู่บ้าง แต่ป้ายนิทรรศการ Design Instinct สีแดงเตะตาที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูน่าค้นหามากกว่าน่ากลัว

นิทรรศการ Design instinct โดยเหล่านักออกแบบจาก Design Plant เป็นนิทรรศการที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า ‘การออกแบบที่มีความเป็นไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร’ จะเป็นสัญลักลักษณ์หรือเป็นลายปักแบบไหนกันที่จะสามารถตอบคำถามที่ว่าได้ แต่จนแล้วจนรอดนักออกแบบก็ยังหาสไตล์ที่ใช่ไม่เจอ จนมาปิ๊งไอเดียที่ว่า ‘คนไทยเป็นนักประยุกต์ชั้นยอด’ ผ่านการหยิบจับสิ่งของใกล้ตัวมาใช้ในวิธีที่คาดไม่ถึง ปรับ ตัด เติมแต่ง สิ่งของต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการหรือเป็นตัวช่วยในการใช้ชีวิต

Checkpoint ที่ 1 : ไม่คิด ‘อะแด็ป’ กันหน่อยเหรอ 

Checkpoint ที่ 1 : ไม่คิด ‘อะแด็ป’ กันหน่อยเหรอ 

Design plant จึงหยิบสัญชาติญาณการออกแบบของคนไทย มาปัดฝุ่นเสียใหม่ ใส่การตีความ ใส่มุมมอง ใส่ดีไซน์ เปลี่ยนสัญชาติญาณเหล่านั้นให้ออกมาเป็นรูปธรรม และนำสิ่งของเหล่านั้นมาจัดแสดงให้เราได้ดูกัน ซึ่งถ้าจะให้ฉันเล่าทั้ง 33 ชิ้นก็คงจะไม่ไหว ไหนๆ ฉันก็เกาะธีมเลข 3 มาแล้วเลยขออนุญาตแนะนำสิ่งของ 3 ชิ้น ที่พิสูจน์ว่าคนไทยอย่างเราๆ เป็นนักอะแด็ปที่สุดยอดจริงๆ

  • ยาดมอาม่า ARMA by Dots design studio : นำของเก่ามาเล่าใหม่  “ดมยาดม มันต้องเท่ ไม่ใช่ดมแล้วดูเป็นเด็กแว้น” วิธีคิดง่ายๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบงานครั้งนี้ ยาสามัญประจำบ้านที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนได้ทันตาเห็น ทำให้ยาดมกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งของที่เอาชนะกาลเวลา แต่ขณะที่สรรพคุณของยาดมได้รับการยอมรับ ด้านภาพลักษณ์ยังรอการปรับปรุง นักออกแบบของ dots จึงอยากนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของยาดมให้ร่วมสมัยและเท่ทุกครั้งที่ยกขึ้นมาดม!

SITE-NGARN by sintorn 7 studio : นำของเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า 

  • SITE-NGARN by sintorn 7 studio : นำของเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า  จากเศษเหลือทิ้งของวัสดุก่อสร้างที่คนมองว่าเป็นขยะ เหล่าช่างก่อสร้างหยิบขยะเหล่านั้นมาสะบัดฝุ่น ทำความสะอาด และเปลี่ยนให้มันกลายเป็นวัสดุที่สามารถนำไปต่อยอดและสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสิ่งของใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักคนงานที่เราเห็นได้ตามไซต์งานต่างๆ ทีม sintorn 7 หยิบกิมมิคตรงนี้มาต่อยอดความคิดผสานเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอลที่แฝงไว้ด้วยคุณค่า

Prayukt collection by Room Lab : นำของรอบตัวมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

  • Prayukt collection by Room Lab : นำของรอบตัวมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนไทย ดูจะเป็นภาพลักษณ์อันโดดเด่น ROOM Lab จึงต้องการถ่ายทอดวิธีการแก้ปัญหาโดยนำเอาปัญหามาเชื่อมโยงกับสิ่งของ ถ่ายทอดออกมาผ่าน 4 ผลงานภายใต้คำเหล่านี้ “เกี่ยว – เสียบ – สวม – ใส่” อาทิเช่น กำไลรัดข้อมือที่สามารถปรับความยาวของกำไล แล้วนำมาใช้เป็นหูหิ้วแก้วน้ำ

Prayukt collection by Room Lab : นำของรอบตัวมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

Prayukt collection by Room Lab : นำของรอบตัวมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ฉันเดินดูงานจนครบทุกชิ้นและเกิดคำถามขึ้นมาในใจ หรือเราจะต้องมานิยามความหมายของนักออกแบบกันเสียใหม่ เพราะจริงๆ แล้ว นักออกแบบไม่ได้เป็นแค่นักออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังเป็น นักแก้ปัญหา นักสังเกต และนักคิดที่หยิบปัญหามาพูดคุยกับผู้คนและสร้างสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหายิบย่อยในชีวิตประจำวันด้วย

ความอิ่มอกอิ่มใจในงานออกแบบของคนไทยทำเอาฉันลืมไปเลยว่าวันนี้ทั้งวัน ยังไม่ได้หาอาหารลงไปให้พุงน้อยๆ ได้อิ่มท้อง โชคดีที่ ‘ชุมชนมัสยิดฮารูณ’ เป็นหมุดต่อไปของเส้นทางพอดี นี่คือชุมชนมุสลิมที่นอกจากจะมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานแล้ว ยังขึ้นชื่อเรื่องอาหารฮาลาลรสเด็ด และแน่นอนว่า เทศกาล BKKDW2019 ก็ไม่พลาดที่จะชวนชุมชนให้มาร่วมสนุกในเทศกาลออกแบบครั้งนี้ กับโครงการฮาลาลดีไซน์สไตล์ฮารูณ โดยได้นักออกแบบจาก Trawell และ นักศึกษาอาสาสมัครมาช่วยกันตกแต่งชุมชนให้เด็ดดวง สูสีกับรสชาติอาหาร

'ชุมชนมัสยิดฮารูณ'

'ชุมชนมัสยิดฮารูณ'

'ชุมชนมัสยิดฮารูณ'

โรตีกล้วยแผ่นหนาราดด้วยนมข้นหวาน เคียงคู่มาด้วยชาซีลอนเย็นแก้วใหญ่ จึงถูกนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะของฉัน ปากก็กินตาก็คอยมองร้านอาหารที่ถูกตกแต่งด้วยลวดลายแบบมุสลิม ป้ายเมนูอาหารที่ออกแบบอย่างน่ารัก จนอิ่มท้องก็ลุยไปยังเช็คพ้อยท์ต่อไป

'ชุมชนมัสยิดฮารูณ'

Checkpoint ที่ 2 : หยิบผืนฟ้า ผืนน้ำ ผืนดิน มาเล่าเรื่องเจริญกรุง

สงสัยพระอาทิตย์อาจกำลังเครื่องร้อน เพราะแดดที่ส่องลงมาในช่วงเวลาสี่โมงทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำเอาฉันที่กำลังเดินไปยังสถานที่ต่อไปแทบเป็นลมคาถนนเจริญกรุง แต่ด้วยปณิธานแน่วแน่ที่ตั้งใจไว้แล้วว่าวันนี้จะต้องเก็บให้ครบทุกจุดของเส้นทางที่ 3 ฉันเลยปาดเหงื่อที่ผุดขึ้นเต็มใบหน้าทิ้งไป และกางแผนที่เดินต่อด้วยความมั่นใจ

แต่ผ่านไปได้แค่ 15 นาที ฉันก็อยากจะขอถอนคำพูดข้างต้นเมื่อกี้คืน

“ก็ในแผนที่เขียนว่าอยู่ตรงซอยเจริญกรุง 32 ไหนวะ ร่มเงาเล่าเรื่อง” ฉันที่ทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย และอยากจะนั่งพัก สารภาพเลยว่าถ้าเดินไปจนสุดซอยแล้วยังไม่เจออะไร ฉันจะขอตัวกลับบ้าน ไม่ดง ไม่เดิน มันแล้ว

แต่ดูเหมือนความพยายามของฉันจะไม่เสียเปล่า เพราะเมื่อสับเท้ามาเรื่อยๆ ฉันก็ค้นพบเช็คพ้อยท์ที่สองที่ตามหาอยู่ นิทรรศการ ‘ร่มเงา เล่าเรื่อง เชื่อมโยง เจริญกรุง’ ไม่ได้มีภาพเหมือนที่ฉันคิดไว้ แค่ได้ยินชื่อฉันว่าใครหลายคนคงมีภาพผุดขึ้นมาในหัวคล้ายๆ กับฉัน ไปถึงเราจะต้องเห็นนิทรรศการที่เป็นซุ้มๆ มีขนมขาย หรือไม่ก็ต้องมีป้ายใหญ่ๆ เล่าถึงประวัติของเจริญกรุงเป็นแน่

แต่ไม่เลย ร่มเงาเล่าเรื่อง จุดที่ 1 อย่าง ‘Dragon Cloud’ เป็นร่มเงาที่สร้างสรรค์ขึ้นจากเทคนิคการจับจีบผ้า ฉันแอบไปรู้มาว่าเหล่านักออกแบบจาก all(zone) ได้มีการศึกษาวิธีการจับจีบด้วยการควบคุมตำแหน่งจีบผ้า ทำให้สามารถควบคุมทิศทางและปริมาตรของผ้าได้ เราจึงเห็นผ้าโปร่งแบบเดียวกัน แต่กลับมีความเข้มของเงาต่างกัน ฉันยืนพักอยู่ใต้เงาของ Dragon Cloud อยู่พักใหญ่ๆ แม้จะไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ไม่มีขนมอร่อยๆ ให้ทาน แต่การได้ยืนพักใต้ร่มเงาที่บดบังแสงแดดอันชวนให้เบิร์นเบบี้เบิร์น ก็ทำให้รู้สึกสบายใจได้ไม่น้อย

Dragon Cloud

ขวามือของ Dragon Cloud เป็น warehouse 30 ภายในจัดนิทรรศการเช่นเดียวกัน แต่น่าเสียดายที่ฉันถูกความกังวลว่าจะเดินไปไม่ครบทุกจุดก่อนพระอาทิตย์ตกของฉันค้ำคอไว้ ทำให้ต้องขอติดนิทรรศการใน warehouse 30 ไว้ก่อน และรีบพุ่งตัวไปยังร่มเงาเล่าเรื่องถัดไป ‘River Arch’

รูปทรงซุ้มคลื่นน้ำหลายจังหวะที่ทำมาจากไม้ไผ่ดัดโค้ง มัดสานกันด้วยเชือกป่าน ลอยผาดผ่านอยู่บนท้องฟ้า เป็นภาพแรกที่ฉันจำได้ไม่ลืม ผลงานการออกแบบของ Korakot Design ที่ใช้วัสดุบนผืนดินอย่างไม้ไผ่ มาจำลองลูกคลื่นในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตรอกท่าเรือด่วนเจ้าพระยา สะท้อนการเชื่อมต่อกันระหว่างผืนดินและผืนน้ำของพื้นที่ย่านเจริญกรุง

Dragon Cloud

คำว่า เชื่อมต่อ เชื่อมโยง และผสมผสาน คือคำที่แวบเข้ามาในหัวฉันทุกครั้งยามที่มาเดินเล่นแถวย่านเจริญกรุง ขนส่งสาธารณะที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ หรือแม้กระทั่ง ‘การเดิน’ อีกหนึ่งขนส่งสาธารณะที่คนมักจะมองข้าม เพราะถ้าเราไม่สามารถเดินจากสถานีรถไฟฟ้าไปขึ้นเรือที่โป๊ะได้ ก็คงไม่เรียกว่ามันเชื่อมต่อกันหรอก จริงไหม

ไม่ใช่แค่เชื่อมต่อในสิ่งที่จับต้องได้ แต่ที่นี่ยังสามารถเชื่อมโยงความเชื่อที่แตกต่างของคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันได้ เหมือนอย่างที่ร่มเงาเล่าเรื่องจุดสุดท้ายอย่าง Blended โดย Ease Studio ได้แสดงให้เราเห็น

ผ่านร่มเงาเล่าเรื่องมาได้ แม้จะไม่ร้อน แต่ก็เหนื่อยอยู่พอควรเมื่อคิดถึงจุดหมายถัดไป แต่ทันทีที่สัญลักษณ์เขียวๆ ของงานปรากฏให้เห็น ใจที่อ่อนล้าก็เริ่มสดใสขึ้นอีกหน่อย การเดินทางครั้งนี้นอกจากนิทรรศการจะจัดวางป้ายบอกทางและป้ายจุดเช็คพอยท์ไว้แล้ว ยังมีเทคโลยีน่ารักๆ อย่าเจ้ากล่องส่องทาง ที่คอยบอกรายละเอียดของสถานที่ๆ เรากำลังจะเดินไปเจอ เป็นสัญญานให้รู้ว่า ไชโย เราไม่ได้หลง เดินไปอีกหน่อยก็น่าจะเจอจุดหมายต่อไปตามที่เจ้ากล่องบอกไว้

warehouse 30

แล้วก็ใช่จริงๆ 300 เมตร ถัดจากจากตรอกท่าเรือด่วนเจ้าพระยา คือตรอกลัดไปสู่ชุมชนตลาดน้อย ตรอกเล็กๆ ที่เป็นเสมือนประตูสู่ย่านเก่าแก่ของชาวคริสต์และชาวจีน ปรากฏภาพของซุ้มเงาดอกไม้สองชนิดที่ถักทอผันเกี่ยวกันเป็นผืนเดียวอย่าง ‘ดอกกุหลาบ’ สัญลักษณ์แทนโบสถ์กาลหว่าร์ และ ‘ดอกโบตั๋น’ สัญลักษณ์แทนชาวจีนแห่งชุมชนตลาดน้อย ดอกไม้ทั้งสองชนิดแตกต่างกันตั้งแต่ชื่อ ความหมาย และความเชื่อ แต่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างงดงาม กลมกลืน เป็นเสน่ห์ที่หาที่ไหนไม่ได้นอกจากที่นี่ ชุมชนตลาดน้อยย่านเจริญกรุง

‘ดอกกุหลาบ’ สัญลักษณ์แทนโบสถ์กาลหว่าร์ และ ‘ดอกโบตั๋น’ สัญลักษณ์แทนชาวจีนแห่งชุมชนตลาดน้อย

Checkpoint ที่ 3 : สองรวมเป็นหนึ่ง we become one.

ความแตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ คือเสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายคนหลงรักชุมชมตลาดน้อย ดูเหมือนที่นี่จะทำให้ภาพที่อยู่ในอุดมคติของเราสามารถกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ และฉันว่่าเหล่านักออกแบบที่มาจัดนิทรรศการสองชิ้นนี้ ณ ตลาดน้อย ก็คงคิดคล้ายๆ กับฉัน ทั้งคู่จึงเลือกที่จะนำเสนอความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรมออกมาอย่างเต็มที่ โดยไม่กลัวว่าจะขัดกันหรือเปล่า เพราะนี่คือเสน่ห์ของคำว่าพหุวัฒนธรรม เรากลมกลืนกันด้วยความแตกต่างของเรา

ฉันเดินทะลุซุ้ม Blended มายังโบสถ์กาลหว่าร์ ริมกำแพงโบสถ์มีแท่นสีขาวหน้าตาคุ้นๆ ที่ไม่ว่าจะดูยังไง ก็รู้เลยว่าผลงานชิ้นนี้ต้องได้รับแรงบันดาลใจมาจากศาสนาคริสต์ โดย Murasaki studio และ printbot ขอยกห้องสารภาพบาปมาไว้กลางแจ้งผ่านผลงาน ‘Confesstation MK.II’ แต่จะเรียกว่าห้องสารภาพบาปก็คงไม่ถูกสักทีเดียว ฉันคิดว่ามันน่าจะเป็นแท่นสารภาพรักมากกว่า ด้วยไอเดียของการสร้างงานนี้มาจากหลักความเชื่อของศาสนาคริสต์ข้อหนึ่งที่ว่าด้วยการให้รักเพื่อนบ้าน จากป้ายที่ติดอยู่ข้างๆ ได้บอกวิธีการใช้ไว้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่ประทับฝ่ามือลงบนแท่น สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วสารภาพรักออกมา แท่นจะเปลี่ยนคำสารภาพเป็นไฟสีสวย คู่กันกับโปสการ์ดอวยพรให้ผู้สารภาพได้เก็บไว้เป็นของที่ระลึก

Confesstation MK.II'

ในฐานะคนที่แอบดูเจ้าแท่นนี้อยู่นาน ฉันคิดว่าถ้ามาคนเดียว การสารภาพรักในใจคงเวิร์กกว่า แต่ถ้ามาเป็นคู่การออกเสียงออกมาดังๆ ก็คงโรแมนติกไม่น้อย สังเกตจากแก้มของชายหญิงหลายคู่ที่แดงยิ่งกว่าลูกแอปเปิ้ลยามที่มาหยุดยืนอยู่หน้าแท่น

พูดถึงสีแดงแล้วฉันก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึง ‘ชาวจีน’ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนตลาดน้อย คิดได้ดังนั้นฉันจึงบอกลาเจ้าแท่นสารภาพรักไปยังผลงานชิ้นถัดไปที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ผลงานที่แสดงเอกลักษณ์ของชาวจีนตั้งแต่ชื่อผลงานยันความหมายเบื้องหลังแนวคิดต่างๆ อย่างผลงานที่มีชื่อว่า ‘มังกรตลาดน้อย’

'มังกรตลาดน้อย'

'มังกรตลาดน้อย'

ณ ใจกลางวงเวียนตลาดน้อย มีมังกรสแตนเลสตัวใหญ่ที่กำลังผงาดขึ้นฟ้าตั้งอยู่ ขอย้ำว่ามังกรสแตนเลสจริงๆ ฉันในตอนนั้นเข้าใจแล้วว่าความรู้สึกตอนที่เจ้าหนูโงกุนแห่งดราก้อนบอลพบเทพเจ้ามังกรนั้นเป็นอย่างนี้นี่เอง ไม่ใช่แค่ฉันที่ทึ่งกับมังกรตัวนี้ คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวรอบๆ ต่างเข้ามาชมมังกรกันอย่างไม่ขาดสาย แต่ท่ามกลางผู้คนที่เข้ามายืนมองแล้วเดินออกไป ฉันสังเกตเห็นชายคนหนึ่งที่พยายามเอียงตัวไปตามแนวทะยานขึ้นฟ้าของมังกร ราวกับกำลังพินิจอะไรบางอย่าง จนอดไม่ได้ที่จะเข้าไปพูดคุยด้วย

“ผมเป็นคนทำมังกรตัวนี้ขึ้นมาครับ” คำตอบของ ธนวัต มณีนาวา แห่ง TAM:DA (ทำดะ) ก็ทำให้ฉันเข้าใจถึงการกระทำเมื่อครู่ ธนวัตยิ้มเขินๆ เมื่อฉันชื่นชมถึงการออกแบบมังกรตัวนี้ได้ออกมาอย่างเฟี้ยวฟ้าวมาก

“ตอนที่ได้โจทย์มาว่าได้ย่านตรงนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่าควรสร้างอะไรดี แต่ในใจทุกคนในทีมคิดเหมือนกันหมดว่าเป็นมังกรแน่ๆ แต่พอมันเป็นเรื่องของดีไซน์ เฮ้ย มันดูเชย อะไรก็นึกถึงมังกร แต่สุดท้ายก็คิดอะไรไม่ออก เลยกลับมาที่มังกรเหมือนเดิม แต่จะทำยังไงให้มันมีลูกเล่นและดูไม่แปลกปลอมสำหรับคนในชุมชน เราก็เลยใช้พวกเครื่องครัว เช่น ช้อน ส้อม ตะหลิว อะไหล่ยนต์ มาเป็นวัสดุทำตัวมังกรนี้ขึ้นมา” เขาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการให้กำเนิดมังกรตลาดน้อย

ธนวัต มณีนาวา ศิลปินจาก TAM:DA (ทำดะ)
ธนวัต มณีนาวา ศิลปินจาก TAM:DA (ทำดะ)

ตลาดน้อยที่ปัจจุบันเป็นย่านชุมชน มีของซื้อขายประปรายนั้น สมัยก่อนยังเป็นแหล่งจำหน่ายอะไหล่ ชิ้นส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สำหรับรถใช้แล้ว หรือ ‘เชียงกง’ นามที่เราคุ้นเคยกัน ส่วนผสมของเจ้ามังกรประจำตลาดตัวนี้จึงรวมเอาสิ่งของในวิถีชีวิตของผู้คน และประวัติศาสตร์ชุมชนไว้อย่างครบถ้วน

ยามเมื่อลมพัดเกล็ดของมังกรที่ทำมาจากช้อน จะกระทบชนกันเกิดเป็นเสียงกรุ๊งกริ๊ง คล้ายกับเสียงระฆังดังกังวานไปทั่วทั้งตลาดน้อย ฉันยืนฟังเสียงนั้นข้างๆ กับธนวัต ก่อนจากกันเขาทิ้งท้ายเล็กๆ ไว้ว่า

“มันเป็นมังกรที่เป็นสามัญชน ข้าวของเครื่องใช้พวกนี้ล้วนเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เรารู้สึกว่าที่นี่มันเป็นแบบนี้ ทุกคนต่างออกมาทำมาหากินกัน ทั้งตลาดน้อย ทั้งมังกร มันเป็นตำนานก็จริง แต่สังเกตไหมว่าเกล็ดมังกรของเราเคลื่อนไหวได้ เพราะเราเชื่อว่ามันยังเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต”

ธนวัต มณีนาวา ศิลปินจาก TAM:DA (ทำดะ)

Checkpoint ที่ 4 : love is all you need

แดดจากพระอาทิตย์ค่อยๆ หายไปตามเวลาที่ล่วงเลย ฉันก้มลงมองนาฬิกา เข็มสั้นชี้ไปที่เลขหกส่วนเข็มยาวมาหยุดอยู่ตรงหนึ่งในสี่ของหน้าปัด เวลาวารีไม่เคยรอใครเหมือนที่เคยมีคนกล่าวไว้  ฉันหญิงสาวที่วันๆ อยู่แค่ย่านสะพานควาย กำลังหลงทางในย่านเจริญกรุง ด้วยความที่ชมนิทรรศการในชุมชนตลาดน้อยอย่างเพลิดเพลินไปหน่อย รู้ตัวอีกทีฉันก็มายืนแกร่วอยู่กลางสี่แยกของซอยๆ หนึ่งที่ฉันคาดว่าน่าจะอยู่ในชุมชนตลาดน้อย ซึ่งไม่ว่าจะดูยังไงก็ไม่เห็นทางที่จะไปเช็คพ้อยท์ถัดไปของฉันได้เลย

คำว่า ‘แย่แล้ว’ ลอยขึ้นมาในหัวไวยิ่งกว่าระบบต้อนรับอัตโนมัติของร้านสะดวกซื้อ ฉันหยิบแผนที่ขึ้นมาเพื่อจะลองดูว่ามีจุดไหนที่ฉันพอจะยึดเป็นหลักได้ไหม ซึ่งเมื่อกางแผนที่ออกมา ก็พบว่าไม่มีสถานที่ไหนเลย จนสุดท้ายฉันยอมลดปณิธานอันแน่วแน่ของตัวเองที่จะลองเป็นสาวอะนาล็อกหนึ่งวัน กลับมาเป็นสาวยุคดิจิทัลสักครู่ เปิดกูเกิ้ลแม็พหาที่ตั้งของเช็คพ้อยท์ต่อไป ‘ศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางตลาดน้อย’ โดยเมล์เดย์ ณ ซอยเจริญกรุง 22 อย่างรวดเร็ว

ป้ายรถเมล์ ตลาดน้อย

ในที่สุดฉันก็พาตัวเองมาถึงที่พักผู้โดยสารของเมล์เดย์ โอ้โห! ฉันไม่เคยคิดว่าการได้เจอป้ายรถเมล์ดีๆ จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าที่มีไปได้มากขนาดนี้ ยามที่ได้เห็นศาลากึ่งสำเร็จรูปสีน้ำเงินขาวตั้งอยู่ ฉันแทบจะร้องไห้ออกมาเป็นภาษาสเปน สองขาที่สั่นอ่อนด้วยความเหนื่อยล้าได้นั่งพิงเพื่อลดความปวดที่เกิดขึ้น ข้างๆ ที่นั่งในศาลาจะเห็นที่จอดรถเข็นสำหรับคนพิการ ชวนให้รู้สึกดีแม้จะยังไม่ได้ถูกใช้งานก็ตาม ด้านในสุดของศาลามีแผนที่แสดงเส้นทางเดินรถที่ผ่านป้ายนี้อย่างละเอียด ดีไซน์สวยงามเข้าใจง่ายสมกับที่เป็นเมล์เดย์

หลังจากนั่งพักจนหายเหนื่อย ฉันก็พร้อมที่จะไปยังเช็คพ้อยท์สุดท้ายที่จะปิดทริปของฉันวันนี้ ก่อนออกจากศาลาฉันเห็นคุณยายคนหนึ่งเดินมานั่งรอรถเมล์ที่ศาลาอย่างคุ้นชิน ทั้งๆ ที่ศาลานี้เพิ่งมาตั้งอยู่ตรงนี้ได้ไม่นาน มันทำให้ฉันรู้สึกดีใจว่าวลี ‘คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ’ อาจจะใช้ไม่ได้กับศาลาแห่งนี้เสียแล้ว เพราะตอนนี้ต่อให้คนมาใช้งานไม่ได้ทำ แต่ขอบอกคนทำเลยว่ามีคนใช้ศาลาอย่างแน่นอน

เช็คพ้อยท์สุดท้ายของฉันอยู่ที่ชุมชนโปลิศสภา ฉันเร่งฝีเท้าอย่างสุดกำลังเพื่อที่จะได้จบทริปในวันนี้พร้อมๆ กับพระอาทิตย์ที่กำลังตกดิน ท้องฟ้าสีส้มชวนให้ภาพวาด All you need is love ของ Juli Baker and Summer ณ สวนชุมชนโปลิศสภา ดูน่ารักและมีความหวังไม่ต่างจากสายรุ้งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ฝนตก

หนุ่มน้อยหลายคนกำลังเตะฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน พระอาทิตย์สีชมพูโค้งรูปครึ่งวงกลมทำหน้าที่เป็นโกลฟุตบอลได้อย่างพอดิบพอดี ฉันอมยิ้มให้กับความบังเอิญนี้ ไม่ต่างกันกับคุณลุงวินมอเตอร์ไซด์ข้างๆ ที่มานั่งรอลูกชายเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ  จากความตั้งใจที่จะเปลี่ยนพื้นที่โล่งให้เป็นลู่วิ่งและลานเกมตรงกลางด้วยงานอาร์ตเวิร์ก แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่ตรงนี้จะไปได้ไกลกว่าความตั้งใจเสียแล้ว

ภาพวาด All you need is love ของ Juli Baker and Summer ณ สวนชุมชนโปลิศสภา

ฉันถอนหายใจเล็กๆ ในที่สุดก็ปิดทริปนี้ได้อย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วสินะ ว่ากันตามจริง การมาเดินทั้งวันวันนี้ฉันไม่ได้อะไรกลับไปเลย แถมอาจจะต้องเสียเงินซื้อยาทาแก้เมื่อยกลับไปเผื่ออีกด้วย แต่ฉันก็อิ่มเอมใจที่ได้เห็นเด็กๆ กำลังเตะฟุตบอลกันอย่างสนุกสนานท่ามกลางสวนสีสันสดใส เห็นการออกแบบที่ไม่ได้มีไว้เพื่อแค่ความสวยงามแต่ยังมีประโยชน์ต่อคนในชุมชน ได้รับรู้ถึงแนวคิดต่างๆ ที่ถูกคิดมาอย่างดีเพื่อนำเสนอชุมชนให้คนภายนอกได้เข้าใจผ่านงานศิลปะ ได้เห็นปัญหาว่ายังมีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่รอการแก้ไข ได้ลองมาเดินชมเมืองของตัวเองด้วยสองขา แม้จะแอบโกงด้วยการใช้ GPS ไปหนึ่งครั้ง ฉันก็ไม่คิดว่ามันผิดมากนัก

ทางเท้าที่อาจยังไม่สมบูรณ์แบบนัก เรื่องราวของชุมชนที่ถูกบอกเล่าไปตลอดทาง ส่วนผสมของร้านค้า ชุมชน ย่านธุรกิจ และศิลปะ กิจกรรมที่ไม่มีคำว่าน่าเบื่อ องค์ประกอบของ Walkability ในเมืองที่หาไม่ได้บ่อยแบบนี้ ต่อให้ต้องลัดเลาะหรือเดินอีกหลายกิโล ฉันว่ามันก็ทดแทนความเหนื่อยล้าได้

ถ้าการเดินไปตามเช็คพ้อยท์ต่างๆ วันนี้เหมือนกับการแข่งแรลลี่ ฉันคิดว่าฉันก็ได้รางวัลชิ้นโตแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save