fbpx
เมื่อพรรค BJP และชาตินิยมฮินดูยังได้ไปต่อ(?): สังเกตการณ์การเมืองอินเดียหลังการเลือกตั้งระดับรัฐ

เมื่อพรรค BJP และชาตินิยมฮินดูยังได้ไปต่อ(?): สังเกตการณ์การเมืองอินเดียหลังการเลือกตั้งระดับรัฐ

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายระดับในอินเดียตามหน้าสื่อของไทย ข่าวหนึ่งที่อาจเป็นที่สนใจสำหรับชาวโซเชียล คือการผู้สมัครรายหนึ่งได้รับคะแนนเสียงเพียงคะแนนเดียวในการภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่รัฐคุชราต (Gujarat) หรือเมื่อ 3 ปีก่อน เหตุการณ์คล้าย ๆ กันก็เกิดขึ้นในรัฐปัญจาบ (Punjab) ถึงแม้ว่าการนำเสนอข่าวเหล่านี้จะเป็นการนำเสนอมุมมองสะท้อนอารมณ์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งชาวอินเดีย แต่อีกมุมหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของประชาชนอินเดียทั่วไปในการแสดงสิทธิการปกครองตนเอง และเช่นเดียวกัน ในปี 2019 การเลือกตั้งระดับประเทศของอินเดีย ซึ่งนำไปสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของนายนเรนทรา โมดี ก็เป็นที่จับตาไปทั่วโลก ในฐานะที่อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การเฝ้าดูการเลือกตั้งอินเดียในระดับต่างๆ นับว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่งในการจะเรียนรู้ทิศทางและความเป็นไปของอินเดีย โดยบทความชิ้นนี้จะพาไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งระดับรัฐในอินเดียในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจถึงความนิยม แนวทางและอัตลักษณ์ทางการเมืองของรัฐบาลกลาง บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐ รวมทั้งมองเห็นความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

เข้าใจระบบการปกครองและรัฐของอินเดีย

สาธารณรัฐอินเดียหรืออินเดียปัจจุบันที่เรารู้จักเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า รัฐบาลอินเดียเป็นรัฐบาลในระบบสหภาพแห่งรัฐ (Union of States) ซึ่งได้รับต้นแบบมาจากแคนาดา โดยอำนาจการปกครองของรัฐแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือการปกครองส่วนกลาง การปกครองท้องถิ่น และการปกครองระดับรัฐ

แม้จะมีการกระจายอำนาจมากพอสมควร แต่รัฐบาลกลางก็ยังมีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน สามารถดึงอำนาจปกครองจากรัฐและท้องถิ่นในภาวะฉุกเฉินได้ ส่วนการปกครองท้องถิ่นก็คือการปกครองระดับระบบปัญจญัติและเทศบาล ซึ่งเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตยระดับรากหญ้า ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการกิจการต่างๆ ในพื้นที่ของตนอย่างสูง

และส่วนสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญในบทความนี้ คือการปกครองในระดับรัฐ โดยอินเดียแบ่งเขตการปกครองเป็น 28 รัฐและ 8 ดินแดนสหภาพ ซึ่งรัฐและดินแดนต่างๆ มีรัฐบาลเป็นของตนเอง มีอำนาจในการบริหารราชการจากรัฐบาลกลาง โดยมีมุขมนตรี (Chief Minister) ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งมีวาระ 5 ปี อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในแต่ละรัฐไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ขึ้นอยู่กับวงรอบการดำรงตำแหน่งของมุขมนตรีในแต่ละรัฐ โดยมุขมนตรีมีหน้าที่บริหารงานตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแห่งรัฐ (Council of Minister) วางแนวทางไว้ นักการเมืองอินเดียในระดับรัฐและท้องถิ่นหลายคนสามารถเติบโตจากระบบการปกครองที่กระจายอำนาจในลักษณะนี้ แม้แต่นายนเรนทรา โมดีเองก็เคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีรัฐคุชราตถึง 3 สมัยก่อนจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งระดับรัฐหลังการเลือกตั้งรัฐบาลโมดีสมัย 2

การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียในปี 2019 นับเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในการจะขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง เพราะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการว่างงาน และราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ นอกจากนี้ เมื่อย้อนไปเดือนธันวาคม 2018 ที่มีการเลือกตั้งระดับรัฐบางแห่ง ก็ปรากฏว่า 8 ตัวแทนของพรรคภารัตติยะ ชะนะตะ (Bharatiya Janata party – BJP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของโมดีไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ จนมีการวิเคราะห์กันว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2019 น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ดูสูสี แต่ในที่สุด พรรครัฐบาลของโมดีก็สามารถชนะการเลือกระดับชาติได้

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าความนิยมต่อรัฐบาลจะลดน้อยลง เพราะเมื่อดูผลการเลือกตั้งระดับรัฐหลายพื้นที่ จะเห็นว่าพรรครัฐบาลไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะการเลือกตั้งมุขมนตรีกรุงเดลีในปี 2020 ขณะที่รัฐอื่นๆ อย่างรัฐเกรละ (Kerala) รัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) และรัฐเบงกอลตะวันตก (West Bengal) พรรครัฐบาลก็ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เลยอีกเช่นกัน มีเพียงรัฐอัสสัม (Assam) เท่านั้นที่พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งได้ ทั้งนี้เนื่องจากการเลือกตั้งจัดขึ้นในภาวะวิกฤตโควิด ซึ่งรัฐบาลถูกโจมตีอย่างมาก เพราะไปมุ่งใส่ใจหาเสียงมากกว่าจะจัดการปัญหาโควิดให้มีประสิทธิภาพ พลังและการนำเสนอนโยบายที่อิงกับพลังชาตินิยมฮินดูของรัฐบาลจึงดูเหมือนจะเสื่อมคลายลงไป โดยเฉพาะการเลือกตั้งในเดลี ที่พรรคอามอาดมี (Aam Aadmi Party) สามารถชนะเลือกตั้งได้อย่างเด็ดขาด ก็สะท้อนความต้องการของประชาชนที่ต้องการนโยบายที่จับต้องได้มากกว่าการนำเสนอนโยบายในลักษณะชาตินิยมในภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งระดับรัฐในช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมาก็ทำให้เราเห็นฉากการเมืองระดับรัฐที่เปลี่ยนไป พรรครัฐบาลสามารถเอาชนะการเลือกตั้งระดับรัฐได้ทั้งในรัฐกัว (Goa) รัฐมณีปุระ (Manipur) รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) โดยเฉพาะในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดียและต้องมีการทยอยการลงคะแนนเสียงระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์-7 มีนาคม โดยมีเพียงรัฐปัญจาบ (Punjab) เพียงรัฐเดียวเท่านั้นที่มุขมนตรีมาจากพรรคอามอาดมี ขณะที่พรรคคองเกรสซึ่งเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองเก่าแก่ของอินเดียยังไม่สามารถกลับมาเป็นที่นิยมของประชาชนได้เลย การชนะเลือกตั้งแทบจะทั้งหมดของพรรค BJP จึงเป็นการรับรองความชอบธรรมในการบริหารของรัฐบาลโมดีได้เป็นอย่างดีในหมู่ประชาชนอินเดีย

อย่างไรก็ตามในปลายปีนี้ก็ยังเหลือการเลือกตั้งระดับรัฐในหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) และรัฐคุชราต (Gujarat) แต่ทั้ง 2 รัฐก็เป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะกับรัฐคุชราตที่โมดีเคยเป็นมุขมนตรีมาก่อน

BJP ยังได้ไปต่อ? = ชาตินิยมฮินดูยังได้ไปต่อ?

การเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับรัฐแสดงให้เราเห็นถึงความซับซ้อนในสังคมอินเดีย แม้ว่าปัญหาจากโควิด-19 ปัญหาการว่างงาน เศรษฐกิจที่ชะงักงัน และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่นับถือศาสนาต่างกัน จะเป็นความท้าทายอย่างมากต่อรัฐบาล รวมถึงนายกรัฐมนตรีนเรทรา โมดีเองก็ถูกโจมตีจากหลายฝ่ายในเรื่องความล้มเหลวของการบริหารจัดการโควิด และการโฆษณาตนเองหรือการเน้นการหาเสียงทางการเมืองมากเกินไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าวิธีการของโมดีสามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างทั่วถึงมาก

นอกจากพรรครัฐบาลเองจะเป็นสัญลักษณ์ของการขยายแนวคิดชาตินิยมฮินดูอยู่แล้ว การที่โมดีมักสื่อสารกับผู้คนด้วยภาษาฮินดีตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังได้รับการตอบรับจากผู้ลงคะแนนเสียงที่นับถือฮินดูและใช้ภาษาฮินดีได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการแสดงออกถึงวัฒนธรรมและการพูดภาษาเดียวกันช่วยสร้างความมั่นใจต่อประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางระดับล่างและระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ใช้ภาษาฮินดี นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โมดีเองยังแสดงตนในที่สาธารณะด้วยวิถีที่แตกต่างไปจากนักการเมืองเดิม ด้วยการสวมใส่ชุดสีสันสดใสแทนชุดคลุมพื้นเมืองสีขาวซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องแบบของนักการเมืองอินเดีย ทั้งหมดนี้ทำให้โมดีเป็นภาพตัวแทนของประเทศในทางการเมืองและวัฒนธรรม ที่เป็นที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งกว่านักการเมืองที่เติบโตและสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษแบบเดิม

การเลือกตั้งระดับรัฐในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งพรรครัฐบาลสามารถชนะการเลือกตั้งในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดอย่างรัฐอุตตรประเทศ ก็น่าจะเพิ่มความมั่นใจให้กับพรรค BJP สำหรับการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2024 ได้อย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาย่อมคาดหวังจะชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน และที่สำคัญ นี่ยังเป็นสัญญาณว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมอินเดียกำลังถูกท้าทาย โดยกำลังมีวัฒนธรรมการเมืองที่มุ่งไปทางขวา สู่การมีหลักชาตินิยมฮินดูเป็นศูนย์กลางมากขึ้น นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องติดตามกันต่อไปในประเทศที่ได้ชื่อว่าประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก


อ้างอิง

Kalyani Shankar. (2019). The Triumph of the Indian Right: Reasons and Ramifications. https://www.wilsoncenter.org/publication/the-triumph-the-indian-right-reasons-and-ramifications

Milan Vaishnav (editor). (2019). The BJP in Power: Indian Democracy and Religious Nationalism. Retrieved from https://carnegieendowment.org/2019/04/04/bjp-in-power-indian-democracy-and-religious-nationalism-pub-78677

The Times of India. (17 March 2022). Assembly elections 2022: BJP to retain CMs of 3 states. Retrieved from https://timesofindia.indiatimes.com/india/assembly-elections-2022-bjp-to-retain-cms-of-3-states/articleshow/90278573.cms

Election Commission. (n.d.). List of States Government Tenure and Tentative Date of Upcoming Elections in India. Retrieved from https://www.elections.in/upcoming-elections-in-india.html

ข่าวสด. (12 มกราคม 2565). หนุ่มสุดช้ำ ลงเลือกตั้ง ได้มาแค่ 1 คะแนน ทั้ง ๆ ที่มีคนในครอบครัวร่วม 12 ชีวิต. สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6829157

บีบีซี ไทย. (10 เมษายน 2562). ทำความเข้าใจการเลือกตั้งอินเดีย การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในโลก. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/international-47865575

_____. (4 ตุลาคม 2564). อินเดีย: ทำไมคนหนุ่มสาวยังสนับสนุนนายกฯ โมดี แม้อัตราว่างงานในประเทศสูงสุดในรอบ 45 ปี. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/international-58787314

ปิยณัฐ สร้อยคำ. (22 เมษายน 2562). มองการเลือกตั้งอินเดีย ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก. https://waymagazine.org/india-election-2019/

_____. (2564). 30 ปีอินเดีย: การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหลังแก้รัฐธรรมนูญ. สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก. (18 กุมภาพันธ์ 2563). ส่องศึกเลือกตั้งนิวเดลี: เมื่อคนเมืองหลวงไม่ต้อนรับพรรครัฐบาลอินเดีย. สืบค้นจาก https://www.the101.world/new-delhi-election-2020/

_____. (18 กุมภาพันธ์ 2565). ฮินดูทวากับกระแสชาตินิยมฮินดูของอินเดีย ในวันที่ความหลากหลายถูกท้าทาย. สืบค้นจาก https://www.the101.world/hindutva-nationalism/


หมายเหตุ: ข้อความและข้อคิดเห็นต่างๆ เป็นของผู้เขียนบทความ ไม่ถือเป็นความเห็นของศูนย์อินเดียศึกษา และศูนย์ฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับข้อความและข้อคิดเห็นใดๆ ของผู้เขียน 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save