fbpx
“สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ” บินหลา สันกาลาคีรี

“สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ” บินหลา สันกาลาคีรี

บินหลา สันกาลาคีรีในวันที่ยังแข็งแรง เขาเสียงดัง หัวเราะอร่อย ขับรถนิ่ม และมีมุกตลกเหลือรับประทาน

เขาเป็นผู้เขียนหนังสือ เจ้าหงิญ, คิดถึงทุกปี, เราพบกันเพราะหนังสือ, บินทีละหลา, ฉันดื่มดวงอาทิตย์, นกก้อนหิน และอีกหลายเล่มที่แค่ชื่อเรื่องก็บ่งบอกว่าลูกล่อลูกชนทางภาษาของเขามีล้นเหลือขนาดไหน

เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสารไรท์เตอร์ และเป็นเจ้าของร้าน The Writer’s Secret ที่ถนนนครสวรรค์ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองถูกปิดปาก บินหลาพยายามสร้างให้ The Writer’s Secret กลายเป็นที่พูดคุยถกเถียงของทั้งเหล่านักเขียนและนักอ่าน จนหลายคนเคยบอกว่า ‘เราพบกันเพราะไรท์เตอร์’

ช่วงที่นักเขียนหลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศหรือถูกจับด้วยคดีทางการเมือง บินหลาเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่เขาจะทำได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินทอง ก็ช่วยเรื่องทางใจ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังบอกว่า เขาทำน้อยเกินไป

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บินหลาต้องกลับไปอยู่บ้านที่สงขลาด้วยความจำเป็นของความป่วยไข้ หลังจากช่วงชีวิตที่ผ่านมาเขาผกโผนเดินทางและทำงานอย่างคนไม่รู้เหนื่อย มาวันนี้บินหลาบอกว่า เขาถือว่าตัวเอง ‘เข้าพรรษา’ อยู่ แค่เป็นพรรษาที่ยาวกว่าปกติเท่านั้นเอง

และเช่นกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. แม้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่ก็มีหลายประเด็นที่สังคมยังกังขาในความโปร่งใสของรัฐบาล และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวประท้วงของคนหนุ่มสาวก็ยิ่งทำให้ภูมิทัศน์การเมืองไทยร้อนแรงและเฉียบคมขึ้นอย่างชัดเจน

101 นัดคุยกับบินหลาในช่วงที่เขาขึ้นมาจากสงขลา อาการป่วยไข้ดีขึ้นมากแล้ว แม้จะยังเดินเหินไม่สะดวก แต่เขายืนยันว่าหัวใจของเขายังเสรีเหมือนคนหนุ่มสาว

เราพูดคุยกันตั้งแต่เรื่องการเมือง การลงชื่อแก้มาตรา 112 มุมมองต่อสังคม ความภูมิใจในชีวิต และงานเขียนที่บินหลาบอกเสมอว่าคือชีวิตของเขา


ประเทศไทยมีการประท้วงมากว่าหนึ่งปีแล้ว คุณมองเห็นอะไรในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

ประเมินเท่าที่รู้สึก ผมเห็นสังคมที่หดหู่ลงเรื่อยๆ ควรจะมีคนลุกขึ้นมาตะโกนบ้าง ตอนนี้สถานการณ์เหมือนนิทานที่เด็กคนหนึ่งบอกว่าพระราชาแก้ผ้า แล้วคนทั้งเมืองไม่เห็น แต่ตอนนี้คนทั้งเมืองก็เริ่มเห็นแล้วว่าพระราชาแก้ผ้าจริงๆ

คนที่เห็นมีสองพวก คือเห็นแล้วไม่ได้สนใจหรือไม่อยากเชื่อ รู้สึกว่าเป็นภาพลวงตา กับอีกพวกคือไม่เชื่อเลย เพราะเขาเชื่อว่าพระราชาแก้ผ้าไม่ได้ พระราชาต้องแต่งตัวหรูหรา

แล้วผมก็สงสารเด็ก เพราะเด็กโดนกระทำมาก


มีเยาวชนถูกจับกุมเยอะมาก ทั้งจากคดี 112 และคดีที่สืบเนื่องมาจากประเด็นการเมือง คุณคิดว่าฝ่ายที่อยู่ในอำนาจจะยื้อวันเวลาได้ขนาดไหน

ยื้อไม่ได้หรอก นี่เป็นสัจจะของโลก ไม่ว่าใครก็ยื้อไม่ได้ แต่ว่าแต่ละสังคมย่อมมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเร็วแค่ไหน ถ้ายอมรับเร็ว ก็จะลดทอนความเจ็บปวดและบาดแผลในประวัติศาสตร์มาก แต่ถ้าเรายอมรับช้า ในช่วงเปลี่ยนนี้จะแรง และจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดและความตายมาก คราวนี้ผมเลยไม่แน่ใจว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนเร็วหรือช้า

คุณต้องเลือกแล้วแหละว่าคุณจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือช้า เพราะในที่สุดก็จะต้องเปลี่ยนแน่ๆ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายที่จะต้องเปลี่ยน เขาไม่อยากเปลี่ยน อยากยื้อให้อยู่แบบเดิม ในที่สุดก็จะลงเอยด้วยความรุนแรง


คุณศึกษาประวัติศาสตร์มาเยอะ ถ้ามองจากเส้นประวัติศาสตร์ที่คุณศึกษามาจนถึงตอนนี้ คุณคิดว่าประวัติศาสตร์จะถูกเขียนไปอย่างไรในอนาคต

ผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์จริงๆ อาจจะมีมุมมองที่ผิดหรือถูก แต่มนุษย์แต่ละสังคมมักจะเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยบางอย่าง เช่น ปัจจัยภายนอกที่ก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับปัจจัยภายใน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดในสังคมไทยมีอยู่สองสามเรื่อง

ผมยกตัวอย่างเรื่องการเลิกทาส เราเลิกหลังอเมริกาไม่กี่ปี การเลิกทาสเกิดจากปัจจัยจากภายนอกบีบให้เราต้องตัดสินใจ ผมเชื่อว่าชนชั้นนำของไทยไม่ได้พร้อมจะเลิกทาส เพราะเขารู้สึกว่าก็ใช้ชีวิตอย่างนี้มาเนิ่นนานแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายนอก เช่น มหาอำนาจฝรั่งเศสมากดดัน ฝรั่งเศสรุกคืบในเขมร ซึ่งขณะนั้นเป็นเขตของสยาม คนย้ายไปขึ้นตรงกับฝรั่งเศสเยอะมาก เพราะมีข้อเปรียบเทียบว่าขึ้นตรงกับฝรั่งเศสคุณเป็นไท แต่ถ้าอยู่กับสยามคุณยังต้องเป็นทาสอยู่ จนส่งผลให้ต้องมีการเลิกทาสเพื่อรักษาจำนวนคนไว้

ปัจจัยอย่างนี้สะท้อนสังคมเรามาตลอด แม้แต่ในนาทีนี้ก็ตาม เราเรียนรู้และเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่ตะวันตกทำเยอะมาก เขาเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลอย่างไรกับบ้านเมืองเขา ถึงเวลาที่เราต้องเอามาพัฒนาตัวเองบ้าง ผมเลยมองว่าปัจจัยภายนอกน่าจะมีผลต่อความคิดในสังคม


ตอนนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายที่อยู่ในอำนาจก็ไม่ยอมเปลี่ยน เหมือนอยากหยุดเอาไว้เท่านี้ ไม่ว่าจะมีปัจจัยภายนอกมาก็ไม่เกี่ยว มีคนลุกฮือจำนวนมากก็จริง แต่หลายคนก็เชื่อว่าทำไปก็อาจจะไม่มีหวังหรอก คงไม่มีใครมาช่วยเราได้หรอกตอนนี้คุณคิดว่าจะยังมีหวังอยู่ไหม

มีหวัง ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอน เช่น ตอนปรีดีปฏิวัติปี 2475 ผมเข้าใจว่าวิธีคิดหรือความเชื่อว่าต้องเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการปฏิวัติเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นนานพอสมควร อาจจะ 10 ปีด้วยซ้ำ คือยุคที่คนไปเรียนเมืองนอก ได้ไปเห็น คิด ร่วมมือ และตกลงกัน พอกลับเมืองไทย อารมณ์ที่อยากจะเปลี่ยนสังคมยังปะทุอยู่ข้างใน ไม่ได้หายไป มันสั่งสม แล้วพอเจอคนที่เข้าใจความคิดกัน ก็ต่อเนื่อง เชื่อมโยง และเป็นไฟที่แรงขึ้นๆ ในที่สุด

ผมเชื่อว่านาทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลง 2475 คนที่คิดจะเปลี่ยนแปลง นอกจากผู้นำอย่างเช่นท่านปรีดี และอีก 4-5 คนแล้ว เขาอาจจะไม่ได้กระจ่างหรือเข้าใจอะไรนัก แต่ก็เกิดพลังและแรงกระแทกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จนเกิดการปรับใช้อย่างเป็นรูปแบบในภายหลัง

เมืองไทยในอนาคตก็น่าจะเป็นแบบเดียวกัน ในนาทีที่จะเปลี่ยนแปลง ทุกคนที่จะเปลี่ยนแปลงก็คงไม่ได้เห็นด้วยกันทั้งหมดว่าจะเปลี่ยนอย่างไร เพียงแต่เราไม่สามารถทนอยู่กับสภาพเดิมได้ ก็ต้องเปลี่ยน ค่อยๆ ปรับปรุง แต่งแต้ม แต่งสรรรูปแบบไปเรื่อยๆ


ในปี 2554 คุณร่วมลงชื่อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 อยากให้คุณเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วในวันที่ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ อะไรทำให้คุณตัดสินใจลงชื่อ กฎหมายมาตรานี้มีปัญหาอย่างไร

ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่เข้าใจว่ามีความคิดมาก่อนแล้วระดับหนึ่งจากคนกลุ่มหนึ่ง ผมก็นั่งคิดเรื่องนี้เองอยู่ที่บ้าน แต่ผมก็ไม่ได้คิดจะเสนอชื่ออะไร เพราะไม่รู้ว่ามีคนอื่นคิดอย่างนี้ด้วย แต่ตอนนั้นคิดว่าต้องเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกันอย่างจริงจัง แล้วจะคุยกันได้ก็ต่อเมื่อทุกคนสามารถพูดได้โดยไม่ต้องกลัวผิดกฎหมาย มีอะไรก็ชี้แจง ถกเถียง โต้แย้งกัน

ผมมองว่ากฎหมาย 112 อันตรายมากสำหรับการโต้แย้ง เป็นกฎหมายที่ไม่สามารถอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้ กฎหมายนี้ไม่ได้แปลว่าถ้าคุณดูหมิ่นแล้วมีความผิด แต่อาจจะรวมว่าแค่คุณพูดก็มีความผิด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง

เมืองไทยไม่ยอมแตะต้องกฎหมายฉบับนี้ เพราะกลัวจะไปละเมิดหรือแตะต้องพระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ทุกอย่างสะดุด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยการแก้กฎหมายก่อน กรณีแบบนี้มีอยู่ตลอดเวลา เช่น ส.ศิวรักษ์ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งก็โดนฟ้องหลังจากที่พูดถึงพระนเรศวร ถ้าวิจารณ์พระนเรศวรไม่ได้ แล้วคุณมีสิทธิอะไรไปวิจารณ์พระเจ้าเอกทัศน์ ถ้าพระเจ้าเอกทัศน์จะมีคนปกป้องบ้าง ชี้ให้เห็นว่ามีความดีหรือไม่ดีบ้าง ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชน ไม่อย่างนั้นคุณก็หมดสิทธิที่จะเรียนรู้ แล้วเราจะเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม ถ้าเราไม่สามารถเอาข้อดีหรือข้อเสียในประวัติศาสตร์มาพูดถึงเพื่อจะแก้ไขสังคมปัจจุบันและอนาคตเราได้

ถ้าเรามาชำระประวัติศาสตร์จริงๆ เราจะเห็นว่าในเมืองไทยมีทั้งข้อดีของกษัตริย์หลายอย่าง และมีข้อผิดพลาดของกษัตริย์หลายอย่าง ถ้าเราเข้าใจชัดเจนว่าอันไหนเป็นข้อดีหรือข้อเสีย เราก็นำมาใช้ในปัจจุบันได้ แต่กฎหมาย 112 ทำให้เราพูดไม่ได้ ผมเลยเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะต้องยกเลิก 112

แต่ในสมัยนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องใหม่มากของเมืองไทย ผมไม่แน่ใจว่ามีกี่คน น่าจะสัก 7-8 คนที่เป็นนักเขียนด้วยกัน เช่น วรพจน์ พันธุ์พงศ์ วาด รวี ปราบดา หยุ่น แล้วก็ผม ซึ่งทุกคนก็ได้รับผลกระทบคล้ายๆ กัน คือแรงกระแทกจากคนรอบข้าง แรงด่าทอ คือถ้าเขาทำอะไรที่รุนแรงได้ก็คงทำไปแล้ว

ในที่สุดผมถือว่าไม่มีคนฟัง หรืออาจจะมีคนบางส่วนที่ได้ฟัง เราไม่ถือว่าสิ่งที่ทำเป็นความสำเร็จ เราแค่ได้พูดอย่างที่ควรจะพูด แต่ไม่ถูกนำไปขบคิดจริงจังว่าสมควรจะแก้ไขหรือเลิกกฎหมายฉบับนี้เลยไหม ผมก็เสียใจนะที่สังคมไทยไม่ฟังอะไรเลย แต่ก็ยังดีใจที่อย่างน้อยเราก็ได้ทำไป


ตอนนั้นคุณโดนแรงกระแทกอะไรบ้าง

ตัวผมเองโดนไม่เยอะ แต่คนใกล้ตัวผมที่เป็นข้าราชการก็จะรู้สึกว่าเขาได้รับผลกระทบ พี่น้องญาติว่านเครือทำตัวไม่ดี เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม ก็อาจจะโดนผลกระทบต่อเขาบ้าง เขาก็ตักเตือน


ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คุณจะยังลงชื่อเหมือนเดิมไหม

ยังลงเหมือนเดิม เพราะยังรู้สึกว่าตราบใดที่ยังไม่แก้ไขหรือไม่พิจารณาข้อกฎหมายมาตรานี้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอยู่ดี


แต่ก็จะมีคนบางกลุ่มที่บอกว่าจะไปยุ่งเรื่องนี้ทำไม ถ้าไม่มีกฎหมายมาตรา 112 แล้วใครจะปกป้องดูแลพระมหากษัตริย์

ถ้าไม่มีมาตรานี้ก็ไม่ใช่ว่าด่ากษัตริย์ได้นะ ด่าแล้วก็ผิดกฎหมาย แต่มาตรานี้เต็มไปด้วยความลักลั่น ข้อแรกคือ ตามกฎหมายเราถือว่าคนทุกคนบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่าคุณผิด คุณจึงค่อยรับผลของการกระทำนั้น แต่ด้วยมาตรานี้ ใครก็ฟ้องร้องได้ ไม่ต้องเป็นกษัตริย์หรือผู้เกี่ยวข้องนะ ชาวบ้านก็ฟ้องได้ เพราะฉะนั้นคนที่ฟังมาแบบผิดๆ ถูกๆ ก็ฟ้องได้ แล้วเขาก็จะบอกว่าถ้าคุณถูกต้องเดี๋ยวศาลก็ตัดสินเอง แต่กว่าศาลจะตัดสินล่ะ ใช้เวลานานแค่ไหน แล้วพอคุณโดนฟ้อง คุณเข้ากระบวนการยุติธรรม คุณก็ติดคุก โอกาสประกันตัวก็แทบจะไม่มี

อากง (อำพล ตั้งนพกุล) เคยต้องตายในคุกมาแล้วเพราะมาตรานี้ ผู้พิพากษาเองก็อาจจะไม่กล้าให้ประกันตัว เพราะเดี๋ยวถูกตัดสินว่าไม่จงรักภักดี ที่บอกว่าเดี๋ยวไปสู้กันในศาล ถ้าบริสุทธิ์เดี๋ยวเขาก็ปล่อย แต่บางคนสู้เป็นสิบปีกว่าศาลจะตัดสินได้

คุณบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนอาวุโส โดนคดีนี้มา 4 ครั้งแล้ว จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องกล่าวหาว่าท่านบ้า เพื่อจะให้ปล่อยตัวได้ การกล่าวหาว่าบ้านั้นรุนแรงพอๆ กับการตัดสินเลย น่าเศร้ามาก แต่คนอาจจะไม่รู้จักหรือลืมไปเลยว่าในประเทศนี้มีคนชื่อบัณฑิต อาร์ณีญาญ์อยู่ด้วย


ในขณะที่มีนักเขียนหลายคนออกมาต่อสู้เพื่อแก้กฎหมายมาตรานี้ แต่ก็ยังมีนักเขียนบางกลุ่มที่ไม่ได้รู้สึกว่าประเด็นคนถูกละเมิดสิทธิหรือถูกจับกุมเป็นปัญหา คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นปัญหาของเราแล้วเราถึงจะเดือดร้อน ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ต้องทำอะไรเลย คนที่ตาย เจ็บ ติดคุก เขาไม่ใช่คนแบบเดียวกับเราเหรอ การมองเห็นความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่คนอื่นโดนกระทำก็เป็นภาระของคน ยิ่งเป็นนักเขียนยิ่งต้องตระหนักถึงคนอื่นในสังคมที่ได้รับผลกระทบ คุณจะคิดว่าคุณไม่เดือดร้อนไม่ได้ เพราะคุณอยู่ในสังคม

คนไทยเวลามีคนต่างประเทศเดือดร้อน เราจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับเขาด้วย เพราะเราไม่ได้มีผลกระทบอะไร แต่พอคนในสังคมเรามีผลกระทบเอง เรากลับปิดปากเงียบ ผมว่าเป็นนิสัยที่น่าเศร้านะ เราเป็นประเทศที่เห็นความเดือดร้อนของหมาแมวได้ แต่มองไม่เห็นความเดือดร้อนของคน


ในภาวะบ้านเมืองที่คนโดนละเมิดสิทธิเยอะมาก คุณคิดว่านักเขียนควรจะมีหน้าที่ทำอะไรบ้างไหม

นักเขียนไม่ต้องทำอะไรหรอกครับ นักเขียนก็คือคนหนึ่งของสังคม แต่สังคมจะต้องต่อสู้เพื่อคนที่เดือดร้อน บางครั้งการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องง่าย การต่อสู้กับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องของทั้งสังคมเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องยาก แต่บางเรื่องเราต่อสู้ได้ เพราะคนเดือดร้อนจำนวนไม่เยอะ ถ้าคนทั้งสังคมช่วยกันต่อสู้ก็จะแก้ปัญหาได้

การต่อสู้ไม่ได้แปลว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณสู้รึยัง สังคมที่สู้เพื่อคนอื่นที่เดือดร้อนก็จะประคองสังคมไปด้วยกันได้ สังคมที่ไม่สู้ก็จะมีปัญหาตามมาเรื่อยๆ

สมมติมีหมู่บ้านหนึ่ง บ้านส่วนมากไม่รวยมาก ลักษณะบ้านคล้ายๆ กัน แต่มีบ้านอีกหลังที่ร่ำรวยมาก ปลูกอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แออัด เป็นบ้านหรูในสลัม คุณคิดว่าในหมู่บ้านนี้ บ้านหลังไหนต้องการการดูแลมากที่สุด หลังไหนที่ต้องบำรุงบำเรอกับการสร้างความปลอดภัยให้ตัวบ้านมากกว่า บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องดูแลความปลอดภัยบ้านคนรวย แต่เป็นเพราะว่าสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างนั้นยิ่งต้องระวัง เพราะคุณมีรั้วอยู่บ้านเดียว บ้านอื่นเป็นสลัม แล้วก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมบ้านตัวเองรวยอยู่หลังเดียว


ก่อนหน้านี้คุณเป็นนักข่าว-นักเขียนมา 20-30 ปี แล้วตอนนี้ที่คุณเขียนหนังสือได้ไม่เหมือนเดิม ในภาวะบ้านเมืองที่การเมืองร้อนระอุ และอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ คุณอึดอัดไหม อยากจะทำอะไรถ้ามีแรงจะทำ

อึดอัดมาก เราอยู่ในสังคมที่แทบจะคุยกันไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถเห็นพ้องกันทั้งหมดได้ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณเห็นพ้องหรือไม่เห็นพ้อง ปัญหาอยู่ที่คุณพูดไม่ได้ เพราะกติกาไม่เอื้อให้คุณพูด เช่นเรื่องแก้มาตรา 112 ผมไม่สามารถพูดกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับผมได้ เพราะแค่พูดก็ผิดกฎหมายแล้ว เลยทำให้คนที่จะโต้แย้งเราก็โต้แย้งไม่ได้ พอพูดกันไม่ได้ทุกเรื่องก็จะนำไปสู่การไม่พูดกัน หรือการเข้าใจที่ไม่ตรงกัน

พอเราเห็นน้องๆ นักศึกษาออกมาพูดแล้วโดนกระทำ เราก็รู้สึกว่าสังคมเป็นอะไรไป ทำไมไม่สามารถฟังได้ สังคมเราจะเต็มไปด้วยคนที่เซฟตัวเอง อ่อนแอ ขี้ขลาด สุดท้ายก็ถูกทำให้กลายเป็นคนแบบเดียวกันทั้งหมดเพื่อจะอยู่ในสังคมได้ สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ แล้วนำมาสู่ความพินาศในที่สุด ผมเลยเศร้า

สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ แล้วนำมาสู่ความพินาศในที่สุด


ถ้าคุณยังทำงานได้ คุณจะทำอะไรในสถานการณ์ตอนนี้

ผมก็คงใช้สถานะเดียว คือสถานะนักเขียน แต่ไม่ได้แปลว่านักเขียนเป็นสถานะอภิสิทธิ์นะ ก็ธรรมดา แต่นักเขียนมีอยู่สองอย่าง คือสติปัญญา และเงื่อนไขที่สามารถอธิบายหรือเปิดให้คนเห็นภาพกว้างได้ ก็คงใช้สถานะนักเขียนอธิบายมากกว่า ส่วนทำไปแล้ว จะมีคนเชื่อมากเชื่อน้อย ก็คงเป็นเรื่องอนาคต


ช่วงชีวิตที่ผ่านมาที่ไม่ได้เขียนหนังสือมา 5 ปี เป็นอย่างไรบ้าง

ผมไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ตอนนี้ยอมรับแล้วว่าต่อให้ในอนาคตผมหายป่วย ผมก็อาจจะเขียนหนังสือได้ไม่ดีเท่าที่คิดฝัน เริ่มยอมรับมากขึ้นว่าอาจจะตายไปโดยที่ไม่ได้ทำประโยชน์มากกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ แล้วสิ่งที่เคยทำได้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่น้อยมากนะในสังคมนี้ แต่ก็ทำได้แค่นี้

การเจ็บป่วยทำให้ผมเข้าใจว่าในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนน่าจะทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ตัวเองเคยทำ แต่ที่ผ่านมาผมไม่ได้คิดถึงตรงนี้ แค่ทำไปผ่านๆ แล้วก็มานั่งเสียใจว่าทำไมไม่ทำให้ดี


คนเราเกิดมาจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อสังคม?

มนุษย์เกิดมามีความคิดบางอย่างที่สัตว์อื่นไม่มี มนุษย์มีเรื่องเล่า มีความคิด มีสมอง ถ้าคุณไม่ผลักดันสิ่งที่คุณคิดออกมาต่อสาธารณชนให้เกิดการถกเถียง ทำให้สังคมดีขึ้น แล้ววันหนึ่งถ้าคุณไม่มีสมอง คุณก็จะเสียใจว่าตอนที่คุณมีทำไมไม่ใช้

ผมไม่รู้ว่าชาติหน้ามีจริงรึเปล่านะ แต่สมมติชาติหน้าผมเกิดเป็นหมาสักตัวหนึ่ง ซึ่งคงเขียนหนังสือไม่ได้ แล้วคุณดันรำลึกได้ว่าชาติที่แล้วคุณเกิดเป็นคน ก็คงเสียดายว่า ทำไมตอนที่กูเป็นคนถึงไม่เขียนหนังสือให้ดีวะ


พอคุณเผชิญกับความป่วยไข้ ชีวิตไปคิดเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพไหม

ผมไม่ใช่คนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพมากนัก เมื่อเทียบกับคนที่ต่อสู้จริงๆ จังๆ ผมเป็นแค่คนคนหนึ่งที่วันหนึ่งทรมานจากความเจ็บป่วยและสังขาร เสียดายว่าไม่ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างคุ้มค่า เราน่าจะทำอะไรที่คุ้มค่ากับสังคมมากกว่านี้ แล้วพอเรามาเจอการห้ามพูดในสังคม ก็อึดอัดบ้าง

ที่อึดอัดไม่ได้เป็นเพราะว่าผมเป็นคนต้องสู้กับเสรีภาพ ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่พอวันหนึ่งที่อยากทำอยากพูดขึ้นมา แล้วดันพูดไม่ได้ก็เลยรู้สึกไม่ดี พอเห็นคนอื่นที่ควรจะได้พูดแล้วเขาถูกห้าม ผมก็รู้สึกว่า เฮ้ย ให้เขาพูดสิ

มนุษย์เกิดมามีความคิดบางอย่างที่สัตว์อื่นไม่มี มนุษย์มีเรื่องเล่า มีความคิด มีสมอง ถ้าคุณไม่ผลักดันสิ่งที่คุณคิดออกมาต่อสาธารณชนให้เกิดการถกเถียง ทำให้สังคมดีขึ้น แล้ววันหนึ่งถ้าคุณไม่มีสมอง คุณก็จะเสียใจว่าตอนที่คุณมีทำไมไม่ใช้


มีนักเขียนที่ต้องลี้ภัยเยอะ ก่อนหน้านี้คุณก็พยายามช่วยนักเขียนที่ลี้ภัยหรือโดน 112 เช่น พยายามพิมพ์หนังสือช่วย คุณรู้สึกอย่างไรเวลาที่เห็นนักเขียนที่ต้องลี้ภัย หรือที่ต้องโดนจับด้วยคดีเหล่านี้

ในเมื่อคุณเห็นคนที่ลำบากเพราะความไม่เป็นธรรม เช่น ถูกปิดปากห้ามพูด แล้วคุณทำอะไรได้บ้าง ถ้าคุณทำได้ก็ทำไปสิ ไม่ว่าสิ่งนั้นอาจจะเล็กน้อยหรือมากมายก็ตาม แค่ได้ทำผมก็พอใจแล้ว เป็นเรื่องที่ไตร่ตรองดูตามสถานะ ดูตามพลังของคุณเอง แต่ผมทำน้อยมากนะ ตอนนี้ผมก็เสียดายที่ไม่สามารถทำได้มากกว่าที่เคยทำมา แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมมีความสุขมาก คือการได้ทำละครเวทีเรื่องศรีบูรพา

ปี 2557 ผมทำละครเวทีเรื่องศรีบูรพา ตั้งแต่เด็กๆ ผมชอบนิยายศรีบูรพา แล้วก็รู้สึกว่าศรีบูรพาเขียนนิยายไม่ค่อยเก่ง ผมชอบเรื่องข้างหลังภาพ มาก สงครามชีวิต ก็ชอบ แต่เรื่องอื่นๆ ไม่ชอบเลย เป็นเรื่องน้ำเน่าบ้าง เราก็รู้สึกว่านักเขียนคนนี้น่าจะมีฝีมือมากกว่านี้นะ

พอโตขึ้นถึงรู้ว่าเขาเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ไม่สามารถอยู่เมืองไทยได้ ต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองจีน เราก็เริ่มสนใจในตัวเขา เริ่มอ่านงาน อยากเข้าใจเขามากขึ้น จนกระทั่งศรีบูรพาเปลี่ยนแปลงจากนักเขียนแนวโรแมนติกเป็นเกรี้ยวกราด ความคิดชัดเจน เพราะสังคมทหารที่เขาอยู่บัดซบมาก ทำให้เขาต้องพูดในเรื่องที่ไม่เคยพูดมาก่อนตอนหนุ่มๆ

ผมเลยรู้สึกว่านักเขียนคนนี้น่ายกย่องมาก เป็นคนที่มีความคิดทางการเมืองชัดเจน แต่ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองเพราะเห่อตามคนอื่นนะ แต่เขาเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เห็นได้ชัดว่าเขาเปลี่ยนอย่างไร แล้วในที่สุดบั้นปลายชีวิตเขาก็ลงเอยด้วยความเศร้า

ผมเคยไปดูละครเรื่องศรีบูรพาของพี่ตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง ที่โรงละครเล็กๆ แถวสะพานควาย มีคนดูสัก 20 คนน่าจะได้ แต่เป็นละครที่ดีมาก ผมประทับใจมาก จนคิดว่าในชีวิตนี้ถ้ามีโอกาสทำละคร ผมก็อยากทำเรื่องนี้ อยากกระจายเรื่องนี้ให้คนดูจำนวนมาก จนกระทั่งมาทำไรท์เตอร์ เริ่มมีน้องๆ และมีกำลังมากขึ้น ก็เลยชวนพี่ตั้วมาทำละคร ผมบอกพี่ตั้วว่า เคยไปดูละครพี่ตั้วแล้วชอบมาก อยากให้ทำเรื่องนี้อีก เจาะจงเลยว่าเป็นเรื่องศรีบูรพา แล้วพี่ตั้วก็ทำละครเรื่องศรีบูรพาขึ้นมาใหม่ มีการเติมเนื้อหาเข้าไปหลายตอน และเป็นเนื้อหาที่ผมมองว่าสำคัญด้วย สุดท้ายก็หาทุนมาจนทำได้

ตอนที่ละครเรื่องนี้เล่นที่หอศิลป์ฯ เป็นช่วงที่ผมไม่สบาย ตอนนั้นคือแทบจะพูดไม่ได้ แต่เข้าไปดูด้วยความสุข ดูทุกรอบเลย ดูด้วยความรู้สึกมันมาก คนก็ดูเยอะมาก ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะชอบหรืออินกับละครขนาดไหน แต่ผมรู้สึกว่าเป็นความดีงามที่พี่ตั้วสร้างไว้กับแผ่นดินนี้ และไรท์เตอร์มีโอกาสช่วยเหลือผลักดันให้ออกมาด้วย

ผมพอใจมาก เวลาทบทวนเรื่องเก่าๆ เรื่องนี้ก็นับเป็นความสุขของชีวิต ถ้าตายไปก็จะพูดว่าความสุขอย่างหนึ่งคือการได้ช่วยผลักดันละครเรื่องศรีบูรพาออกมา


นอกจากละครเรื่องศรีบูรพาแล้ว มีอะไรที่คุณคิดว่าภูมิใจที่ได้ทำ ดีใจ ยินดีกับมันมากๆ

ก็ไรท์เตอร์นี่แหละ ผมทำไรท์เตอร์ประมาณ 4-5 ปี หมดเงินไปหลายล้าน เป็นหนี้หลายตังค์ แต่มีความสุขมาก

ในแง่ยอดขายนับว่าไรท์เตอร์ล้มเหลว เป็นหนังสือที่ขายไม่ดีนัก คนอ่านก็แทบไม่รู้จัก ในแง่ความสำเร็จว่าอยากให้เป็นศูนย์กลางของวงการอ่านเขียนเมืองไทยก็แทบจะล้มเหลว เพราะคนไม่รู้จัก และถึงรู้จักเขาก็ไม่ได้ชอบ เพราะฉะนั้นไม่ว่ามองในแง่ไหนก็ดูว่าไรท์เตอร์ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ผมมองสองอย่าง หนึ่ง ผมได้ทำมัน สอง ผมคิดว่าไรท์เตอร์เป็นที่เล็กๆ ที่สร้างผู้คนจำนวนหนึ่งขึ้นมาให้เติบโตในสังคมวันนี้ และน่าจะเป็นกำลังหลักของสังคมในอนาคต ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไรท์เตอร์ทำได้มากขนาดไหน แต่เชื่อว่าได้ทำบ้าง อย่างน้อยผมก็ได้กินเหล้ากับน้องๆ


คุณเจ็บใจไหมที่ตัวเองป่วยก่อน ในช่วงที่ชีวิตกำลังมัน

ไม่เจ็บใจ แต่เสียดาย แต่ก็ได้บทสรุปว่าในเมื่อมึงทำตัวอย่างนี้ ไม่ดูแลตัวเอง ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเป็นอย่างนี้ มึงเตะฟุตบอลแบบตะลุย ก็ต้องโดนเตะตัดขา ต้องออกไปนั่งข้างสนามดูคนอื่นเล่น ผมแค่เสียดายที่ไม่ได้เล่นต่อ ไม่ได้สนุกกับมัน แต่ก็ไม่ได้เสียดายมาก เพราะทำตัวอย่างนี้ ก็สมควรโดนอย่างนี้


ช่วงที่คุณป่วย คุณเคยบอกว่าเขียนหนังสือไม่ได้ ปัญหาติดอยู่ตรงไหน

ไม่ได้ดั่งใจ อ่านแล้วไม่สนุก ไม่ได้ความรู้สึกอย่างที่เราคิด แต่เข้าใจว่าเป็นเพราะเรื้อเวที ไม่ได้เขียนหนังสือนานด้วย วิธีคิดก็เลยไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่ควรจะเป็น ก็ต้องฝึกไปเรื่อยๆ

ความคิดของผมไม่ยาวพอที่จะประมวลเป็นภาพหรือพลังที่อ่านแล้วสะเทือน กระแทก หรืออิ่มเอมตามที่ต้องการได้ ตอนนี้เป็นแค่การทิ้งก้อนหินลงไปในน้ำ น้ำก็กระเพื่อม แต่ไม่ได้ส่งผลอย่างแต่ก่อนที่เคยทิ้งก้อนหินลงไปในน้ำแล้ว


แต่ก่อนคุณเดินทางเยอะมาก แต่ตอนนี้ไม่ได้ไปไหน คุณรู้สึกอย่างไร

นิยายสองเรื่องที่คิดอยู่ในหัวตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดจากคนที่ไม่ได้เดินทาง คนที่หม่นเศร้าบางอย่าง แต่ผมก็ไม่ได้เดินทางตลอดชีวิตนะ ตอนผมหนุ่มๆ เพื่อนผมเดินทางกันเยอะมาก แต่ผมเดินทางน้อย

ผมทำงานที่ข่าวสด ทำหนังสือพิมพ์แทบไม่มีเวลาว่าง 4 ปีที่ข่าวสด ผมไม่ได้ไปไหนเลย แต่ก็คิดเสียว่าเป็นการเข้าพรรษา แต่พอออกพรรษา ผมก็เดินทางมาก คุ้มกับที่เข้าพรรษามา เวลาผมมีปัญหาเรื่องเงินทอง ผมก็จะบอกตัวเองว่า เฮ้ย มึงเข้าพรรษาอยู่ พอมีเงินก็ออกพรรษา ก็เดินทาง ไม่ได้เศร้ากับมัน เข้าใจมัน

ตอนที่ป่วยก็เหมือนกัน อยู่บ้าน บอกตัวเองว่าเข้าพรรษาอีกแล้วนะ


ช่วงเข้าพรรษา 5 ปีที่ผ่านมา คุณทำอะไรบ้างในแต่ละวัน

หมดไปกับการพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ เช่น อ่านหนังสือ เสพข่าว ผมเคยเข้าใจเอาเองว่าในบางช่วงของชีวิตน่าจะได้เข้าใจเรื่องธรรมะบ้าง ผมก็รู้สึกว่าการเข้าพรรษาก็ดี คงได้ศึกษาธรรมะอย่างลึกลงไปมากขึ้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ศึกษาธรรมะลึกเท่าที่ควร ผมก็ยังเสียดายเวลาว่าไม่ได้ทำอย่างที่ควรจะทำ


คุณอยากศึกษาธรรมะ?

ใช่ แต่คำว่าอยากศึกษา ผมก็ไม่แน่ใจว่าศึกษาแล้วจะอธิบายอะไรกับผมได้ แต่แค่อยากศึกษา แต่เพราะความไม่ค่อยเชื่อเรื่องธรรมะเลยทำให้ผมไม่ได้สนใจมันจริงจัง


ก่อนหน้านี้คุณเคยคิดไว้ว่าตอนตัวเองอายุ 50 จะทำอะไรอยู่

ตอนผมอายุยังน้อยกว่านี้ ผมคิดว่าอายุ 50 เป็นช่วงเวลาของความชรานะ ผมเคยคิดตั้งแต่ตอนหนุ่มๆ แล้วว่าผมน่าจะอายุไม่ยืน เพราะทำตัวเสเพล ที่ผ่านมาก็เลยมีแรงกระตุ้นทำสิ่งที่ตัวเองสนใจใคร่รู้ อยากทำอะไรก็ทำไปเลย

ตอนหนุ่มๆ ผมคิดว่าอายุ 60 ผมคงจะตายแล้ว แต่พอถึงอายุ 50 จริงๆ ถึงรู้ว่าอายุ 50 ก็ยังเป็นวัยหนุ่มอยู่ ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงมาก ยังหนุ่มกว่าที่ตัวเองเคยคิด ทุกวันนี้ก็ยังหนุ่มอยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรแบบคนหนุ่ม


พอคุณเห็นสังคมเคลื่อนไป ในขณะที่คุณเข้าพรรษาอยู่ แล้วมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาพยายามเปลี่ยนสังคม คุณเห็นแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

ยิ่งเห็นคนออกมาเท่าไหร่ ผมยิ่งสนุกกับสังคมมากขึ้น สนุกกับตัวเองมากขึ้น ถ้ามองในแง่หนึ่ง สังคมก็มีคนแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัยแหละ ผมดีใจที่ประเทศไทยมีคนเหล่านี้ และหนึ่งในนั้นมีหลายคนที่ผมเคยเจอและรู้จัก เช่น เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์)

ตอนนั้นผมยังทำไรท์เตอร์ เพนกวินมานั่งคุยกับผมที่ร้านไรท์เตอร์ ตอนนั้นเขาอยู่ ม.6 เป็นเด็กหนุ่มที่น่าสนใจมาก คุยกันสนุกมาก ผมจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคุยเรื่องอะไร แต่รู้สึกว่าคุยกับเขาแล้วมัน เขาอายุห่างจากผมน่าจะสัก 30 ปี แต่คุยกันเหมือนเพื่อนเลย ทัศนะของเขาอธิบายตัวตนเขาดีมาก ตอนนี้ก็ยังประทับใจอยู่ ติดตามข่าวเขาตลอด แล้วก็เศร้ากับสิ่งที่เขาโดนกระทำ แต่ก็เชื่อว่าไม่มีใครทำอันตรายเขาได้หรอก เขาแข็งแกร่ง ชัดเจน และมีพลังกว่าที่คนเห็นหรือสบประมาท คุณอาจจะไม่เชื่อว่าคนคนนี้ไม่ใช่มนุษย์น่ะ แต่เป็นลูกระเบิดดีๆ นี่เอง ผมเชื่ออย่างนั้น ดีมากที่ประเทศไทยมีคนอย่างเขา


มีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่คุณเคยรู้จักมาก่อนหน้านี้อีกไหม ที่ตอนนี้กลายมาเป็นคนสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

อีกคนที่ผมเพิ่งเจอในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คือไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ผมรู้จักตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษา วันนั้นผมไปหมู่บ้านวังสะพุงที่จังหวัดเลย กับอาจารย์ธีร์ (อันมัย) ชาวบ้านกำลังต่อสู้เรื่องเหมือง อาจารย์ธีร์ก็พูดถึงว่านักศึกษาที่มาที่นี่ มีคนหนึ่งชื่อไผ่ น่าสนใจเพราะกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ ผมได้ยินชื่อก็สนใจ แต่เราไปถึงหมู่บ้านนั้นค่ำเลยไม่ได้เจอ มาเจออีกวันหนึ่ง ผมเห็นนักศึกษาคนหนึ่ง ผิวคล้ำๆ พูดจาโผงผาง เลยถึงรู้ว่านี่คือไผ่ที่เราพูดถึงเมื่อวาน

พอคุยแล้วถึงรู้ว่าทำไมคนนี้อาจารย์ธีร์ถึงจำได้ ทำไมคนนี้ถึงมีบุคลิกที่ชาวบ้านรัก ผมคุยกับเขาไปเรื่อยๆ โดยที่เขาไม่รู้ว่าเราสนใจหรือชื่นชมเขา จนกระทั่งวันหนึ่งที่ร้านไรท์เตอร์ มีเสวนาเรื่องสิทธิของชาวบ้านในการต่อสู้เพื่อชุมชน ผมก็อยากเชิญพี่จินตนา แก้วขาว ที่บ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์มาพูด แล้วก็คิดถึงคนรุ่นหนุ่มสาวอีกคน เลยนึกถึงไผ่ เลยชวนมาพูดที่ร้านด้วย คุยว่าเขาโตมาอย่างไร เขามองสังคมอย่างไร เขาก็มีความคิดที่ดี

หลังจากนั้นไม่นานเขาก็โดนจับ ผมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย แต่ก็รู้สึกเหมือนน้องชายเราโดนจับ ผมไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำขอนแก่น ผมไปสองสามครั้ง ไม่ได้คุยกันมาก เพราะต้องคุยทางโทรศัพท์ แล้วผมก็ไม่เชื่อว่าบทสนทนาจะปลอดภัย ก็ถามสารทุกข์สุขดิบไป แต่ก็รู้สึกผูกพันกับเด็กคนนี้ เชื่อมั่นในตัวเขา สงสารก็สงสาร แต่ก็เชื่อมั่นและภูมิใจที่สังคมมีคนแบบนี้


ถ้าเพนกวินเป็นลูกระเบิด ไผ่เป็นอะไร

เขาคือไผ่ ไผ่เป็นไม้ที่สามารถโค้งงอหรือดัดได้ แต่เวลาดีดกลับจะแรงมาก ทำให้คุณกระเด็นได้ ยิ่งคุณดัดมากเท่าไหร่ ไผ่ก็จะดีดแรงเท่านั้น คนที่คิดจะดัดไผ่ต้องระวังตัวให้ดี

ผมเห็นคนเหล่านี้ก็คิดถึงสมัยตัวเป็นนักศึกษาอยู่ ผมไม่ได้กล้าหาญแบบเด็กพวกนี้นะ แต่ก็รู้สึกว่าพวกเขามันดี ได้ทำสิ่งที่วัยหนุ่มสาวควรทำ ตอนผมอายุเท่าเขา ผมก็ได้ทำบางอย่างที่ควรทำ แต่ก็เสียดายบางอย่างที่ควรจะทำแล้วไม่ทำ


เมื่อกี้เราคุยถึงคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ถ้ามองกลับมาที่นักเขียนในฐานะนักคิดและปัญญาชนของประเทศนี้ คุณคิดว่าควรจะต้องทำอะไรที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ไหม

สำหรับผม นักคิดทำงานน้อยไปนิด แต่ผมไม่เชื่อว่าสังคมนี้ปฏิวัติโดยนักเขียน สังคมปฏิวัติโดยคนปฏิวัติ

นักเขียนมีส่วนสำคัญมากในหลายสังคม แต่สังคมเรา นักเขียนมีบทบาทน้อยเกินไป เรียกว่าไม่มีบทบาทเลยดีกว่า น่าเสียดาย เพราะผมมองว่านักเขียนเป็นคนที่สุกงอมทางความคิด อธิบายความคิดออกมาให้คนอื่นเห็น และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่มีนักเขียน คนรุ่นนั้นก็จะเติบโตอย่างฉับพลัน ไม่ละเอียดอ่อน พอไม่ละเอียดอ่อนก็จะเต็มไปด้วยความรุนแรง

นักเขียนจะผสานให้มีความนุ่มนวลในการเปลี่ยนแปลง แต่พอนักเขียนไม่ได้ทำหน้าที่นี้ การเปลี่ยนแปลงจะไม่นุ่มนวล แล้วก็เกิดความเจ็บปวด


นักเขียนในไทยอาจจะมีชีวิตยากจน จนไม่มีแรงไปทำอะไรไปมากกว่านี้?

ไม่มีแรงก็คงใช่ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือคิดว่าตัวเองไม่มีแรงด้วย ผมถือว่าตัวเองเป็นนักเขียนยากจนนะ ถ้าผมมีลูกเมียด้วย ก็คงต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียด้วยความยากลำบาก แล้วก็อาจจะต้องระมัดระวังที่จะทำอะไร ห่วงหน้าห่วงหลัง แต่โชคดีที่ผมไม่มีลูกเมีย ก็เลยไม่ต้องดูแลใครมาก ลำบากก็ลำบากไป

เพราะฉะนั้นนักเขียนจะอ้างเรื่องลำบากไม่ได้หรอก เพราะถ้าอ้างว่าลำบาก ก็ไม่ต้องเป็นนักเขียนตั้งแต่แรก เพราะนักเขียนกับความลำบากอยู่คู่กันอยู่แล้ว ไม่ได้แปลว่านักเขียนต้องลำบากนะ แต่เหมือนเป็นที่ยอมรับและรับรู้ว่านักเขียนลำบาก แล้วคุณเลือกมาเป็นนักเขียนแล้ว แต่ถ้าคุณจะหลุดพ้นความลำบาก ก็เป็นเรื่องของคุณ เป็นความสามารถส่วนตัว

นักเขียนก็รวยได้ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยความลำบาก อย่างผมจะบอกตัวเองเสมอว่านักเขียนต้องกินเหล้าดีๆ ต้องกินเบียร์ดีๆ ก็ไม่มีใครห้าม ถ้ามีเงินก็จัดการตามสบาย แต่ก็ต้องฝึกกินเหล้าถูกๆ ให้เป็นบ้าง เพราะบางทีก็ต้องเผชิญความลำบากอย่างที่บอก


หนักหนาเหมือนกันนะที่นักเขียนต้องทำอะไรเพื่อสังคมด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเราต้องเผชิญกับความยากจนด้วย

ชีวิตก็อย่างนั้นอยู่แล้ว ชีวิตคือการต่อสู้ คือการทำงานที่ลำบาก ถ้าเข้าใจคุณก็ทำ ถ้าไม่เข้าใจก็ไปทำอย่างอื่น


พูดได้ไหมว่าการเขียนหนังสือเป็นแรงผลักที่ทำให้คุณอยากหายป่วย และอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

พูดได้ อาชีพเดียวที่ผมทำเป็นคือเขียนหนังสือ ถ้าผมไม่ได้เขียนหนังสือก็ไม่รู้จะทำอะไร

ผมไม่ได้คิดว่าอาชีพเขียนหนังสือวิเศษกว่าคนอื่นนะ แต่เป็นอาชีพเดียวที่ผมเชื่อและมั่นใจในการทำ ทำได้อย่างค่อนข้างถึงหัวใจและมีความสุข ถ้าไม่ได้ทำก็ไม่รู้จะไปเริ่มต้นอาชีพอื่นอย่างไร ก็เลยประคองตัวเองเพื่อจะเขียนหนังสือให้ได้ มีความปลุกตัวเองที่จะเขียนหนังสือ เพราะฉะนั้นถ้าเรื่องไหนมากระทบเรื่องการเขียนก็พยายามจะแก้ไข ยอมแลกเพื่อที่จะเขียนหนังสือ


คุณอยากให้คนจดจำบินหลา สันกาลาคีรีแบบไหน

คนอยากจำผมแบบไหนก็จำไป คนที่ผมเคยรักเขาและเขารักผม ก็จำในเรื่องที่ทำให้เขารักผม ส่วนคนที่ไม่ชอบผมก็ไม่ต้องไปจำมัน จะไปจำทำไม จำก็เป็นความเกลียดชัง ชีวิตมีเรื่องให้จำเป็นล้านเรื่อง จำแต่เรื่องที่สำคัญจริงๆ ดีกว่า

การตายไปโดยที่คนจดจำไม่ได้เป็นการตายที่สูญเปล่ามากนะ แต่ถ้าคุณเกิดมาแล้วคุณทำตัวอย่างนั้น ก็เพียงพอที่เขาจะไม่จำคุณ ความจำใกล้เคียงกับความรักนะ ถ้าคุณไม่ได้สร้างให้เขารัก ไม่ได้สร้างให้เขาจำ ก็ถูกต้องแล้วที่เขาจะไม่รักหรือจำคุณ


ถ้ามีชีวิตอยู่ถึง 20 ปีข้างหน้า คุณอยากมีชีวิตแบบไหน

จนถึงตอนนี้ผมไม่รู้เลยว่าอีก 20 ปี โลกจะเป็นอย่างไร แต่ผมค่อนข้างคิดเผื่อว่าหนังสือน่าจะขายยากขึ้น พอหนังสือขายยากขึ้น การดำรงชีวิตของผมก็คงยากลำบากขึ้นนิดหน่อย แต่พอดีว่าผมสร้างตัวเองมาระดับหนึ่ง ก็คงไม่ถึงกับอดตาย แต่คงจะไม่ร่ำรวยไปกว่านี้ เพราะโอกาสสำเร็จก็ยากขึ้นในอนาคต ต้องเตรียมตัวที่จะอยู่อย่างยากจน ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็คงเป็นนักเขียนที่ยากจน แล้วตายไปอย่างยากจน


ไม่รวยหน่อยเหรอ?

รับรองว่าไม่รวย แต่ชีวิตผมไม่ได้โศกเศร้า เพราะผมไม่ได้กัดก้อนเกลือกิน ทุกวันนี้ผมก็ยังพออยู่ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save