fbpx
Binge-watching : คำสาปอาถรรพ์ในวันซีรีส์เรื่องใหม่ออนแอร์

Binge-watching : คำสาปอาถรรพ์ในวันซีรีส์เรื่องใหม่ออนแอร์

ค่ำคืนวันศุกร์ คุณตั้งตารอซีซั่นใหม่ของ Stranger Things ซีรีส์สยองขวัญไซไฟที่จะปล่อยออกมาตูมเดียวจบบน Netflix และหลังจากนั้นตลอดทั้งคืน รู้ตัวอีกที ทั้งเก้าตอน (สิริรวมเวลาทั้งสิ้น 8 ชั่วโมงนิดๆ) ก็ผ่านสายตาคุณอย่างครบถ้วน

ขาดไปเพียงอย่างเดียวคือ ‘การนอน’

 

อาการดูรวดเดียวจบแบบเหมาโหลที่ว่ากลายเป็นศัพท์ใหม่ของยุคสมัยในชื่อ Binge-Watching ตั้งแต่เน็ตฟลิกซ์เริ่มหันมาเอาจริงเอาจังกับการนำซีรีส์โทรทัศน์มาไว้ให้สมาชิกรับชม ก่อนจะพบว่าการเอามาลงทั้งซีซั่นให้ผลตอบรับดีกับซีรีส์แบบจริงจังที่ต้องดูอย่างต่อเนื่อง (ต่างกับสถานีโทรทัศน์ที่ไม่ค่อยเอาไปรีรัน แต่เลือกแบบจบในตอนอย่างซิตคอมไปฉาย เพราะสะดวกกว่า)

เมื่อเห็นช่องทาง และได้เวลาเริ่มลงทุนกับออริจินอลคอนเทนต์ของตัวเองเมื่อปี 2013 เน็ตฟลิกซ์จึงแหกกฏการดูซีรีส์แบบเดิมๆ บนโทรทัศน์ด้วยการปล่อยทุกตอนในซีซั่นออกมารวดเดียวตั้งแต่วันแรก จนกลายเป็นผู้สถาปนาการดูซีรีส์แบบยาวไปอย่าง Binge-watching และได้รับความนิยมถึงขั้นที่ Reed Hastings ซีอีโอของบริษัทออกมาบอกว่าคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของพวกเขาคือการนอน!

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดแค่บนเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น เพราะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ละครคลาสสิก บัลลังก์เมฆ ถูกนำกลับมารีรันแบบมาราธอนตามข้อกำหนดผังรายการโทรทัศน์ที่เปลี่ยนไป ทั่วทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ก (รวมถึงแม่ของผู้เขียนเอง) ก็สารภาพกันอย่างไม่อายว่าพวกเขา Binge-watching ชีวิตรันทดของคุณนายแม่ปานรุ้งกันแทบไม่หลับไม่นอน

นอกเหนือไปจากความสนุกที่หยุดไม่ได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการดูละครมาราธอนจะส่งผลต่อร่างกายและ ‘สุนทรียะ’ ในการเสพความบันเทิงอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึง

 

ร่างกายของมนุษย์ต้องการการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพออย่างน้อยก็ 8 ชั่วโมงตามที่อาจารย์สุขศึกษาพร่ำสอนมาเมื่อสมัยเรียน แต่เมื่อสิ่งน่าดึงดูดใจอย่างความบันเทิงบนหน้าจอมาอยู่ตรงหน้าพร้อมปุ่ม ‘ออโต้เพลย์’ ที่จะเล่นตอนต่อไปอัตโนมัติ การ ‘พักผ่อน’ จึงถูก ‘พักก่อน’ ไปโดยปริยาย

Jan Van den Bulck และ Liese Exelmans สองนักวิจัยจาก University of Michigan ทดลองศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม Binge-watching และคุณภาพในการนอนหลับผ่านการทำแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่างกว่า 400 คน พวกเขาค้นพบว่าในกลุ่มคนที่ดูซีรีส์เรื่องเดียวติดต่อกันอย่างน้อยสองตอนขึ้นไป จะนอนหลับยากกว่า และรู้สึกเพลียหลังตื่นมากกว่าอีกกลุ่มที่ดูรายการโทรทัศน์แบบปกติ

“จนถึงตอนนี้ ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้น้อยมาก” Liese บอกกับ Quartz “แต่ผลเท่าที่มีการค้นพบก็พอจะสรุปได้ว่าพฤติกรรม Binge-watching เกิดขึ้นอย่าง ‘ไม่ตั้งใจ’ ทำให้เราเผลอดูตอนต่อไปเรื่อยๆ มากกว่าที่คิดว่าจะดูในตอนแรก”

แล้วอาการดูต่อแบบไม่รู้ตัวที่ว่า เกิดขึ้นจากอะไร?

กระบวนการที่พาให้เราเสพติดการดูซีรีส์ตอนต่อไปเรื่อยๆ แบบหยุดไม่ลงแม้จะรู้ว่าใกล้เวลาไก่จะขันในอีกไม่ถึงชั่วโมง ที่จริงแล้วเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในสมองของเราเอง ที่ตอบรับกับเรื่องราวบนหน้าจอด้วยการปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้เรากระหายความตื่นเต้น ก่อนจะให้รางวัลตัวเองกับฮอร์โมนที่ทำให้เราอิ่มเอม

เป็นเรื่องปกติที่ละครหรือซีรี่ส์ทางโทรทัศน์จะเขียนบททิ้งเรื่องราว ‘หักมุม’ แต่ยังไม่เฉลยที่มาที่ไป (เรียกกันว่า Cliffhangers) เพื่อทิ้งไว้ให้คนอยากติดตามต่อในตอนหน้า แต่เมื่อยุคสมัยการดูซีรีส์เปลี่ยนจากการรอทีละอาทิตย์มาเป็นการดูยาวๆ ต่อไปเรื่อยๆ ได้อย่างสะดวกสบายแบบไม่ต้องคลิกให้เมื่อย ความตื่นเต้น สงสัยอยากรู้ตอนต่อไปก็ทำให้ร่างกายตอบสนองและบังคับให้เราเอนหลังนอนดูต่อ

สัญญาณหน้านิ่วคิ้วขมวดในสามนาทีสุดท้ายของตอนทำให้เกิดอาการเครียดฉับพลัน ส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนชื่อว่า Corticotropin-Releasing Hormone หรือ CRH ออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ เมื่อ CRH ทำหน้าที่กระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ที่ทำให้เราตื่นตัวจากความเครียดด้วยแล้ว มันจึงยิ่งไปขัดขวางความต้องการที่จะนอนหลับของร่างกาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกล้า (ในเวลานั้น) และกดดูตอนต่อไปให้หายเครียด

ขั้นตอนต่อไปในวงจร Binge-watching คือความรู้สึก #AchievementUnlocked จากการได้ดูซีรีส์ตอนใหม่หรือซีซั่นใหม่จบก่อนใคร ที่มีอิทธิพลคล้ายกับอาการเสพติดของผู้เสพยา

ความรู้สึกได้รับชัยชนะจากการทำสิ่งที่ใจหวัง (ในที่นี้คือเสพติดซีรี่ส์) เข้าไปสั่งการให้ฮอร์โมนแห่งความสุขอย่าง Dopamine หลั่งออกมาในกลุ่มเซลล์ประสาทสมองส่วน Nucleus accubens ที่เป็นพื้นที่รับรู้ความสุขในสมอง เมื่อรู้สึกสุข เราจึงกดดูตอนต่อไปร่วมกับอารมณ์ตื่นเต้นในขั้นตอนแรก กลายเป็นพฤติกรรมดูไม่หยุดถ้าไม่สุดที่ยามเช้า

เช่นเดียวกับอาการเสพติดแบบอื่นๆ เมื่อ Nucleus accubens ได้รับโดพามีนอย่างท่วมท้นบ่อยเข้า ระบบการให้รางวัลในสมองก็เริ่มรู้ว่าถ้าทำแบบนี้ เราจะรู้สึกมีความสุข สมองส่วน Hippocampus จะจดจำความรู้สึกสุขนี้ไว้ ในขณะที่ส่วน Amygdala ก็จะเริ่มรู้ว่าถ้าเราเริ่ม ‘Netflix and Chill’ เมื่อไหร่ มันจะตอบสนองอย่างไร

 

นอกจากผลด้านร่างกายที่ทำให้เสพติดแถมยังนอนไม่พอ การนอนอืดๆ ดูซีรีส์แบบ Binge-watch ยังทำให้ความทรงจำของการเสพซีรีส์ที่เราชื่นชอบด้อยลงกว่าเดิมอีกต่างหาก

Jared Hovarth และทีมนักวิจัยจากคณะจิตวิทยา University of Melbourne ทดลองศึกษาว่าการดูซีรีส์แบบปกติ (หนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์) การดูวันละตอน และการดูแบบ Binge-watching รวดเดียวจบ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับความทรงจำและสุนทรียะในการดู

Jared เริ่มต้นโดยใช้ผู้ถูกทดลองจำนวน 51 คนมาแบ่งเป็นสามกลุ่ม ให้มาดูซีรีส์เรื่อง The Game ความยาว 6 ตอนจบในห้องแล็บ หลังจากนั้น แต่ละคนจะตอบคำถามเมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง 1 สัปดาห์ และ 140 วัน หลังดูครบทุกตอน เพื่อดูว่าพวกเขาจำรายละเอียดของเรื่องได้มากน้อยแค่ไหน

ผลที่ได้ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะหลังจากหนึ่งวันที่ได้ดู กลุ่มที่ตอบถูก ความจำดีมากที่สุดคือกลุ่ม Binge-watching ตรงข้ามกับกลุ่มที่ดูสัปดาห์ละครั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือยิ่งเวลาผ่านไป กลุ่มที่ดูยาวๆ กลับจำรายละเอียดไม่ได้เท่าเดิม เทียบกับกลุ่มดูแบบที่ฉายตามโทรทัศน์ทั่วไป ที่ความทรงจำเกี่ยวกับซีรีส์ยังหลงเหลืออยู่มากกว่า ที่สำคัญ เมื่อถามถึงความรู้สึก ‘เอ็นจอย’ กับการดู กลุ่ม Binge-watching ยังรู้สึกมีสุนทรียะในการดูน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ดูแบบสัปดาห์ละครั้ง

นั่นหมายความว่า ในช่วงเวลาที่เราเสพติดการดูซีรีส์ซีซั่นใหม่แบบยาวๆ มันอาจเป็นความสุขแค่ชั่วคราวที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป หายไปไวเหมือนกับการเสพสารเสพติดที่ต้องกลับมาใช้ใหม่บ่อยๆ ก็ได้

อ่านไปอ่านมา พฤติกรรม Binge-watching ดูจะมีแต่ข้อเสีย

แต่อย่างที่รู้กันดี… นั่งหน้าจอเมื่อไหร่ ปุ่ม Continue Watching มันช่างมีแรงดึงดูดมากเหลือเกิน!

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความวิจัยเรื่อง Binge Viewing, Sleep, and the Role of Pre-Sleep Arousal โดย Liese Exelmans and Jan Van den Bulck จาก National Center for Biotechnology Information (NCBI)

บทความเรื่อง The Netflix Addiction: Why Our Brains Keep Telling Us to Press Play โดย Catherine Franssen จาก Huffingtonpost

บทความเรื่อง Cancel your Netflix session: Binge watching TV makes it LESS enjoyable as you’re more likely to forget plot details โดย Phoebe Weston จาก MailOnline

บทความเรื่อง Binge Watching TV Makes It Less Enjoyable, Study Says โดย Daniel Oberhaus จาก Motherboard

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save