fbpx

BIMSTEC: ที่ซึ่งเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ (ยังไม่ได้) มาบรรจบกัน

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมสุดยอดความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiatives for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2022 ผ่านการประชุมทางออนไลน์ว่า เมื่อประเทศไทยเป็นประธานกรอบความร่วมมือนี้ต่อจากศรีลังกาในช่วง 2 ปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา จะผลักดันการดำเนินงานภายใต้หัวข้อหลัก 3 ประการด้วยคำหรูๆ ภาษาอังกฤษว่า PRO BIMSTEC อันประกอบไปด้วย

อย่างแรกคือความมั่งคั่ง (Prosperous) ในมิติด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งเสริมธุรกิจแบบใหม่ พัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประการที่สองความยั่งยืน (Resilient and Robust) ในมิติความมั่นคง สนับสนุนความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตการณ์ทุกรูปแบบ สนับสนุนนโยบายในการฟื้นตัวซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green) หรือ BCG ที่ไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวหลังโควิด และประการที่สามการเปิดกว้าง (Open) ในมิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งดูเหมือนว่าในตอนที่นำเสนอวิสัยทัศน์นี้คงจะยังไม่มีความคิดเกี่ยวกับ BIMSTEC แจ่มชัดเท่าใดนัก ยังได้แสดงความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในกลุ่มประเทศบิมสเทคที่ยั่งยืน มีคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย  

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย พูดที่ไอคอนสยามเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ระหว่างที่เปิดนิทรรศการเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของ BIMSTEC ว่าคำว่า PRO คืออักษรตัวแรกของ Prosperous, Resilient, Open จะเป็นสูตรสำเร็จที่จะทำให้กรอบความร่วมมือที่มีอายุในวัยเบญจเพศอันนี้แสดงผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเสียที

บทความนี้ต้องการที่จะโต้แย้งว่า ด้วยวิสัยทัศน์ดังกล่าวบวกกับความสามารถทางทูตและสถานะทางการระหว่างประเทศของไทยในยุคปัจจุบัน ประกอบกับบุคลิกของ BIMSTEC โดยตัวของมันเองและสมาชิกทั้งหมดแล้ว โอกาสที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายเช่นนั้นดูจะมีอยู่ไม่มากนัก ลำพังแต่จะทำให้กรอบความตกลงระหว่างประเทศอันนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้างก็เป็นเรื่องยากลำบากเต็มทนในสถานการณ์ที่ประเทศสมาชิก เช่น ไทย พม่า และศรีลังกา ต่างหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตัวเองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

25 ปีที่ผ่านเลยไป

อาจจะกล่าวได้ว่า BIMSTEC นั้นอาภัพตั้งแต่แรกเกิด เพราะตั้งใจจะทำให้เป็นกรอบความร่วมมือเพื่อบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่กลับเกิดขึ้นในประเทศไทยท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจในวันที่ 6 มิถุนายน 1997 ไม่ถึงเดือนก่อนที่รัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธจะประกาศลอยตัวค่าเงินบาทซึ่งแพร่เชื้อวิกฤตต้มยำกุ้งไปทั่วภูมิภาค ส่งผลให้ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ร่วมก่อตั้งที่เคยรุ่งเรืองก่อนหน้านี้ลดลงอย่างฉับพลัน

แรกเริ่มเดิมทีคงไม่ได้วางแผนว่ากรอบความร่วมมือนี้จะใหญ่โตหรือสำคัญอะไรมากนัก สังเกตได้จากผู้แทนของรัฐบาลที่มาลงนามร่วมนั้นเป็นระดับรัฐมนตรีช่วยเท่านั้น โดยรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของไทยที่ร่วมลงนามในตอนนั้นคือ พิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของศรีลังกาคือ ดี พี วิกรมสิงเห (D P Wickremasinhe หรือ วิเกรมาซิงห์ แต่แบบไทยมักนิยมอ่านว่า วิกรมสิงเห) ส่วนของอินเดียคือซาลีม อิคบาล เซอร์วานี (Saleem Iqbal Shervani) ซึ่งมีตำแหน่ง Minister of State เหมือนกับอาบูล ฮัสซันซาวดูรี (Abul Hasan Chowdhury) ของบังคลาเทศ

ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งกรอบความร่วมมือนี้มี 4 ประเทศคือ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย ร่วมกันลงนามในคำประกาศก่อตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันภายใต้ชื่อ Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation หรือ BIST-EC เป็นชื่อที่เกิดจากการเอาตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อประเทศมารวมกัน แต่เมื่อพม่าเข้าร่วมในเดือนธันวาคม 1997 จึงต้องเติมอักษร M เข้ามาอีกตัวหนึ่งอ่านได้ว่า BIMSTEC; Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation แต่ครั้นรับเอาเนปาลและภูฏาน เข้ามาเป็นสมาชิกในเดือนกรกฎาคม 2004 แล้วจะเอาอักษร N, B มาเติมก็อาจจะทำให้ไม่สามารถอ่านนอกเสียงได้ จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อความตกลงนี้กันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ยึดเอาอ่าวเบงกอลเป็นหลักเพื่อให้สะท้อนลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของความตกลงนี้เอาไว้

ในช่วงทศวรรษแรกหลังจากก่อตั้งเน้นความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ 6 สาขาด้วยกันคือ การค้า เทคโนโลยี พลังงาน ขนส่ง ท่องเที่ยว และประมง ต่อมาในปี 2006 ได้ขยายสาขาความร่วมมือโดยเพิ่มการเกษตร การลดทอนความยากจน ต่อต้านการก่อการร้าย สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ประชาชนต่อประชาชนและความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

แต่ไม่ว่าจะขยายขอบเขตความร่วมมือมากเท่าใดก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าเพิ่มภาระการประชุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของแต่ละประเทศ และผลที่ได้จากการประชุมก็เป็นแต่เพียงเอกสารรายงานการประชุมและแถลงการณ์เท่านั้นปราศจากการกระทำใดๆ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดของ BIMSTEC คือการตั้งสำนักเลขาที่กรุงธากา บังคลาเทศ ในปี 2014 เพื่อทำให้กรอบความร่วมมือนี้มีความเป็นสถาบัน มีเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่กิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่การประชุม และมีการจัดตั้งศูนย์พลังงานและศูนย์ภูมิอากาศ ซึ่งจนถึงปัจจุบันศูนย์ที่ว่านั้นก็ยังไม่ได้มีการปฏิบัติการใดๆ

มีการปรับเปลี่ยนสาขาความร่วมมือใหม่จาก 14 ให้เหลือเพียง 7 สาขา แบ่งให้สมาชิกรับผิดชอบกันประเทศละสาขา ได้แก่ การค้า การลงทุน การพัฒนา รับผิดชอบโดยบังคลาเทศ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยภูฏาน ความมั่นคงโดยอินเดีย เกษตรและความมั่นคงทางอาหารโดยพม่า ความสัมพันธ์ประชาชนต่อประชาชนโดยเนปาล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยศรีลังกา และการเชื่อมโยงโดยประเทศไทย ทั้งหมด 7 สาขาดังกล่าวนั้น สิ่งที่พอจะพูดได้ว่าเป็นความก้าวหน้าตลอด 25 ปีที่ผ่านมามีเพียง 2 สาขาคือ สาขาความมั่นคงที่สามารถบรรลุอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ายาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ 16 มีนาคม 2021 และสาขาความเชื่อมโยงที่สามารถจัดทำแผนแม่บททางด้านการเชื่อมโยงเมื่อปี 2020 จัดทำเป็นเอกสารหนา 164 หน้าสนับสนุนโดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียซึ่งกำหนดโครงการ 267 โครงการมูลค่า 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผ่านการอนุมัติของที่ประชุมสุดยอดเมื่อปีที่แล้ว

ชุบชีวิตให้ BIMSTEC

จุดเปลี่ยนสำคัญของ BIMSTEC อยู่ที่การประชุมสุดยอดครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2022 ก่อนที่ศรีลังกาจะส่งมอบตำแหน่งประธานให้ไทย เนื่องจากมีการผ่านเอกสารสำคัญหลายฉบับ เฉพาะอย่างยิ่งกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ที่ได้เปลี่ยนฐานะของการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันนี้ให้มีฐานะทางกฎหมายเป็นองค์กรระหว่างประเทศ (Inter-governmental organization) คล้ายๆ กับกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้การดำเนินการต่างๆ มีหลักเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกันอย่างแน่นหนา กฎบัตรกล่าวถึงโครงสร้างในเชิงสถาบันของบิมสเทค และแนวปฏิบัติในการดำเนินการ กระบวนการในการตัดสินใจซึ่งเป็นแบบฉันทมติเหมือนของกลุ่มอาเซียน และแนวทางการแก้ไขข้อขัดแย้งที่จะต้องทำผ่านการเจรจาโดยสันติ

นอกจากนี้ในการประชุมในคราวเดียวกันนั้นยังได้มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านสถาบัน การทูตระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของสมาชิก บันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา และอนุมัติแผนแม่บททางด้านการขนส่ง (ฉบับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้บิมสเทคโลดแล่นไปได้ไม่ใช่เป็นเอกสารพวกนั้น หากแต่อยู่ที่ความสามารถของประเทศสมาชิกที่จะผลักดันมันให้ก้าวหน้าออกไป ว่ากันตามตรงสมาชิกที่มีศักยภาพที่จะทำให้กรอบความร่วมมือนี้มีชีวิตได้มีเพียงอินเดียและไทยเท่านั้น เพราะมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าต้องการจะใช้บิมสเทคเป็นจุดเชื่อมระหว่างนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดียให้บรรจบกับนโยบายมุ่งตะวันตกของไทย แต่ทว่าในระยะที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างก็มีปัญหาภายในประกอบกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในแต่ละชุดของแต่ละประเทศก็มองบิมสเทคแตกต่างกันออกไป ทำให้การผลักดันความร่วมจากทั้งสองทิศทางดูไม่ค่อยจะสอดประสานกันเท่าที่ควร จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นอะไรออกมาเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันอินเดียภายใต้การนำของรัฐบาลนเรนทรา โมดี้ ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศในฝั่งตะวันออกมากขึ้นเพื่อคานการแผ่อิทธิพลของจีนเป็นสำคัญ หลังจากที่ผิดหวังกับความร่วมมือภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation – SAARC) ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เพราะเหตุที่ประเทศในภูมิภาคนี้ก็ไม่เคยลงรอยกันได้เลย อินเดียไม่อาจจะแสดงบทบาทนำในเอเชียได้ด้วยว่าขัดแย้งกับปากีสถานตลอดเวลา รัฐบาลในนิวเดลีจึงหันมาเอาจริงเอาจังกับบิมสเทคมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปรับสาขาความร่วมมือโดยอินเดียได้รับผิดชอบทางด้านความมั่นคงก็ทำให้การแสดงบทบาทในบิมสเทคดูจะสอดคล้องกับแนวยุทธศาสตร์ของตัวเองมากขึ้น จึงได้เห็นมีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติและการต่อต้านยาเสพติดออกมาบังคับใช้เมื่อสองปีที่แล้ว และเพื่อให้การดำเนินงานของบิมสเทคราบรื่นมีประสิทธิภาพ รัฐบาลอินเดียได้ให้งบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสนับสนุนสำนักเลขาธิการเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว[1]

ส่วนประเทศไทยนั้นมุ่งหวังที่จะใช้บิมสเทคเพื่อเป็นประตูเชื่อมไปสู่เอเชียใต้ แต่ไม่สามารถผลักดันอะไรให้เป็นจริงเป็นจังมากนัก ไทยรับผิดชอบสาขาการเชื่อมโยง (connectivity) เพื่อที่จะเชื่อมทั้งทางกายภาพ การขนส่งทั้งทางบก ทะเล และอากาศ แต่โครงการสร้างถนนเชื่อมสามประเทศจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียผ่านพม่าสู่อำเภอแม่สอดของไทยริเริ่มและผลักดันกันตั้งแต่ปี 2002 ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย แม้ว่าจะมีการปรับปรุงถนนหลายช่วงหลายตอนเสร็จสิ้นและเปิดใช้การได้ แต่โอกาสที่จะเห็นการเดินทางหรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสารผ่านสามประเทศได้อย่างสะดวกราบรื่นดูยังไม่แจ่มชัดมากนัก เนื่องจากทั้งสามประเทศยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกและรับประกันความปลอดภัยของการเชื่อมโยงการคมนาคมได้ อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศ

สถานการณ์การเมืองภายในทั้งของไทยและพม่าในระยะทศวรรษที่มาผ่านจนถึงปัจจุบัน ทำให้การพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายพบกับปัญหาล่าช้าจนอาจะยังไม่เป็นจริงได้ในเร็ววันนี้ ส่งผลให้การเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียยังไม่เป็นไปตามแผนการที่คาดหวัง

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียนำเสนอรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021[2] ว่าปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายในการใช้ประโยชน์จากบิมสเทคได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ประการแรกจะต้องผลักดันให้มีการเปิดเสรีทางการค้าภายในกลุ่มผ่านความตกลงการค้าเสรีบิมสเทค (BIMSTEC FTA) ที่เปิดการเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2004 ให้สำเร็จเป็นผลให้จงได้ เพราะหากแม้ว่าสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเชื่อมโยงการขนส่งได้ ทำให้การขนส่งให้สะดวกได้ แต่เมื่อไม่มีการค้าขายที่คล่องตัวเสียแล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นยวดยานพาหนะ ถนน ท่าเรือ สนามบิน เหล่านั้นคงไม่มีประโยชน์อะไร

ประการต่อมาซึ่งสำคัญ จะต้องผลักดันให้การเชื่อมโยงผ่านพม่าเป็นไปได้อย่างราบรื่น ความจริงรายงานฉบับนี้ทำเสร็จก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งการเดินทางและการขนส่งก็ไม่ได้สะดวกนักอันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่ไม่ลงตัว การบริหารงานของระบบราชการและลอจิสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่หลังรัฐประหารแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองก่อให้เกิดความรุนแรง การสู้รบ ผู้อพยพ ยิ่งทำให้การเดินทางผ่านพม่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

บทสรุป: BCG ไม่ใช่ยาวิเศษ

รัฐบาลไทยของประยุทธ์ซึ่งนับจากนี้ไปคงสาละวนกับการเตรียมการเลือกตั้งมากกว่าอย่างอื่น ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานระหว่างทำหน้าที่ประธานบิมสเทคที่เน้นหนักการเชื่อมโยงตามหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบในสาขานี้ โดยมุ่งการเชื่อมโยงใน 5 ด้านด้วยกันคือ

1.ความเชื่อมโยงทางบก จะผลักดันโครงการภายใต้แผนแม่บททางด้านคมนาคมของบิมสเทคที่ได้ผ่านการรับรองเมื่อปีที่แล้ว ผลักดันการบังคับใช้ความตกลงด้านยานยนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งข้ามแดน ผลักดันโครงการคมนาคมทางบกสามประเทศ ไทย-พม่า-อินเดีย แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การขนส่งทางบกระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้นั้นเกิดขึ้นอยู่แล้วตามความเป็นจริงในปัจจุบัน แต่เป็นไปอย่างยากลำบาก ตัวอย่างเช่น ถนนช่วงเมียวดี-กอกาเร็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสามประเทศที่รัฐบาลไทยช่วยเหลือปรับปรุงใช้การได้ดีเมื่อหลายปีก่อนถึงปัจจุบันนี้กลายเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ไปแล้ว รถบรรทุกสินค้าตกเป็นเป้าถูกโจมตีอยู่เนืองๆ ถ้าหากไทยจะผลักดันการเชื่อมโยงการขนส่งตามแผนการนี้คงจะต้องเริ่มต้นจากการช่วยให้เกิดสันติภาพและความสงบเรียบร้อยในพม่าเสียก่อน ซึ่งพิจารณาจากแนวทางของไทยในระยะที่ผ่านมาแล้วดูไม่น่าจะเกิดสันติภาพในพม่าได้ในเร็ววันนี้

2.ความเชื่อมโยงทางทะเลผ่านความเชื่อมโยงท่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งสินค้าทางเรือของประเทศริมอ่าวเบงกอล เป้าหมายใหญ่ของการขนส่งทางเรือคือการใช้ประโยชน์จากท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันให้มากที่สุด แต่ปัจจุบันก็มีเพียงระนองแห่งเดียวเท่านั้นที่รองรับการขนส่งทางทะเลด้านตะวันตกของไทย โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย คงจะยังไม่คืบหน้าไปไหน

3.ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนนั้นยังไม่มีแนวทางชัดเจนนัก เพราะความจริงแล้วสาขานี้อยู่ในความรับผิดชอบของเนปาล ซึ่งยังไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการแบ่ง 3 สาขาย่อยคือวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และเวทีประชาชน แต่ยังไม่ปรากฏว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดผล แต่หากจะต้องคิดเรื่องนี้จริงจัง คงจะต้องมุ่งสนใจว่ามีผู้คนจำนวนหลายล้านคนจากเอเชียใต้และพม่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยเองสนใจที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยและทำมาหากินในประเทศไทย ส่วนหนึ่งก็ไปอยู่ค่ายผู้อพยพในบังคลาเทศหรือตามเมืองชายแดนของอินเดีย ประเด็นนี้ก็อาจจะนับได้ว่าเป็นเรื่องของประชาชนต่อประชาชนด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมาบิมสเทคละเลยมองทำเป็นแสร้งมองไม่เห็น

4.ความเชื่อมโยงทางด้านพลังงาน โดยเน้นความเชื่อมโยงไปกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการส่งเสริมให้ใช้พลังงานชีวมวล พลังงานหมุนเวียนในระดับรากฐานอย่างกว้างขวาง ผ่านการผลักดันการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าบิมสเทค

ความจริงสาขาพลังงานไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของไทยโดยตรง บิมสเทคได้ลงนามบันทึกความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์พลังงานเมื่อปี 2011 แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการ ก็ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งโครงข่ายสายส่งไฟฟ้ากันในปี 2018 ระหว่างที่มีการประชุมสุดยอดครั้งที่ 4 ที่กาฐมาณฑุ เนปาล เอกสารนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 แต่ทว่าก็มีเฉพาะเอกสารเท่านั้น การดำเนินการจริงคงจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะจนถึงปัจจุบันบิมสเทคยังไม่สามารถจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้า โครงการนี้อยู่ในความรับชอบของสำนักเลขาธิการ ไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าประเทศไทยในฐานะประธานจะดึงโครงการนี้มาทำหรือผลักดันในรูปแบบใด อีกทั้งยังมองไม่เห็นความชัดเจนนักว่าจะนำแนวคิด BCG ไปบรรจุลงที่ใด เพราะแม้แต่ในประเทศไทยก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จได้ที่ใดบ้าง

รวมความแล้วตลอดระยะเวลา 2 ปีของการเป็นประธานบิมสเทคของประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลประยุทธ์ที่ผ่านมาและที่กำลังจะหมดไปนี้คงไม่สามารถผลักดันอะไรในกลุ่มนี้ได้เป็นชิ้นเป็นอันมากไปกว่าปฏิญญากรุงเทพ ที่คาดว่าจะเป็นเอกสารที่จะออกมาหลังการประชุมสุดยอดที่ยังได้มีการประกาศว่าจะจัดให้มีขึ้นเมื่อใด แผนการอื่นนอกนั้นก็ล้วนแล้วแต่ใหญ่โตและต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่แรงกล้าบวกกับประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ซึ่งยังหาได้ไม่ง่ายนักในยุคสมัยปัจจุบัน

ข้อมูลจำเพาะ

ชื่อความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiatives for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC)
ก่อตั้ง6 มิถุนายน 1997
สมาชิกบังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล  ภูฏาน พม่า ไทย
จำนวนประชากร1,700 ล้านคน (22 % ของประชากรโลก)
ขนาดเศรษฐกิจ3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
การค้าภายใน77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.9 % ของการค้ากับที่อื่นทั่วโลก)
สาขาความร่วมมือ– การค้า การลงทุน การพัฒนา (บังคลาเทศ)
– สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (ภูฏาน)
– ความมั่นคง (อินเดีย)
– การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (พม่า)
– ความสัมพันธ์ประชาชนต่อประชาชน (เนปาล)
– วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (ศรีลังกา)
– การเชื่อมโยง (ไทย)
ความคืบหน้า– อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ต่อต้านยาเสพติด (ลงนาม 2009 มีผล 2021)
– จัดตั้งสำนักเลขาธิการ (2014)
– บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งโครงข่ายระบบไฟฟ้า (2018)
– กฎบัตรบิมสเทค (2022)
– แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงคมนาคม (2022)
– อนุสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านอาญา (2022)
– บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีบิมสเทค (2022)
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] “India provides $1 million to BIMSTEC for operational budget” Financial Express August 24, 2022 (https://thefinancialexpress.com.bd/economy/india-provides-1m-to-bimstec-for-operational-budget-1661356038)

[2] Asian Development Bank. Thailand: Study on Thailand’s Regional Cooperation and Integration Initiatives and Their Implications on Thailand’s Development. (February 2021) p. 33

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save