fbpx
จาก ‘บิกินี่’ สู่ฟรี ‘หัวนม’

จาก ‘บิกินี่’ สู่ฟรี ‘หัวนม’

อะไรจะเป็นตัวแทนของฤดูร้อนไปได้ดีกว่าแสงแดด หาดทราย และชายทะเล ที่ชักชวนให้เราถอดเสื้อผ้าเปลี่ยนเป็นชุดว่ายน้ำแล้วกระโจนลงไปรับความสดชื่นใต้ผืนน้ำสีมรกต (อาห์… แค่คิดก็ฟินแล้ว)

 

แต่ก่อนจะกระโดดลงทะเล ภายใต้ชุดว่ายน้ำของสาวๆ ทั้งวันพีซรุ่นแม่ จนถึงทูพีซแบบสาววิคตอเรียซีเคร็ต – ประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมายถูกบรรจุไว้ในผืนผ้าก่อนจะกลายมาเป็น ‘ชุดว่ายน้ำ’ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการแต่งกายในฤดูแห่งการเผยผิวท้าแดด (โดยเฉพาะกับผู้หญิง) จะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราอยากชวนหาคำตอบ

โบกครีมกันแดดให้พร้อม แล้วไปดูกัน

ไร้รอยต่อทอเต็มผืน

การเดินชายหาด นอนอาบแดด เล่นน้ำทะเล ถูกมองเป็นกิจกรรมสันทนาการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับมนุษย์ตั้งแต่สมัยช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการมาถึงของการคมนาคมด้วยรถไฟที่ทำให้บรรดาผู้รากมากดีในยุคสมัยวิคตอเรียนได้ออกไปเที่ยวเล่นพักผ่อน

แต่ในยุคที่ความบริสุทธิ์ของหญิงสาวเป็นสิ่งแสนมีค่า (ถึงขั้นห้ามพูดคุยกับผู้ชายโดยตรงถ้าไม่มีแม่สื่อที่แต่งงานแล้วมาชวนให้คุยกัน) การออกไปเล่นน้ำของผู้หญิงในยุคนี้จึงถูกจำกัดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘Bathing Machine’ หรือรถม้าที่จะลากพวกเธอลงทะเลให้ได้เปลี่ยนชุด เล่นน้ำแบบไม่ต้องโดนผู้ชายจับจ้องชุดว่ายน้ำที่เป็นเหมือนชุดกาวน์ปิดเต็มตัว ติดกระดุมถึงคอ ถ่วงน้ำหนักไว้ที่ริมระบายผ้ากันลอย และสวมถุงน่องกันโป๊

 

ชุดว่ายน้ำในยุควิคตอเรียน

 

หลังจบสิ้นยุควิคตอเรียนและค่านิยมแบบเก่า ชุดว่ายน้ำในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มผ่อนคลายความแน่นให้ลดลง ในช่วงแรกเป็นเดรสสบายๆ ยาวคลุมเข่า ที่ไม่ได้สะดวกกับการว่ายน้ำเอาเสียเลย กระทั่งเมื่อ แอนเนตต์ เคลเลอร์แมน นักว่ายน้ำหญิงคนแรกที่ว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษถูกจับที่บอสตันในข้อหาใส่ชุดว่ายน้ำวันพีซแนบเนื้อ หมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมุมมองชุดว่ายน้ำจึงเริ่มขึ้น

ทะมัดทะแมง แนบเนื้อ เน้นสัดส่วนและฟังก์ชั่นในการว่ายน้ำให้สะดวก เริ่มกลายเป็นแนวคิดในการออกแบบชุดว่ายน้ำ พร้อมๆ กับการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมในการศึกษาและการทำงานของผู้หญิง จากชุดแบบสวม เริ่มมีการประดิษฐ์เป็นเสื้อแบบใช้สายผูก กลายเป็นบิกินี่ในทศวรรษ ’50s ด้วยการมาถึงของ มาริลีน มอนโร และวัฒนธรรมป๊อปที่ทำให้การเผยผิวไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปพร้อมๆ กับการมาถึงของกระแสเฟมินิสต์ลูกที่สองที่มีมาตั้งแต่ยุค ‘60s ทำให้ผู้หญิงภูมิใจกับร่างกายของตัวเองมากขึ้น ชุดว่ายน้ำออกแบบด้วยความท้าทายมากขึ้นตามแนวคิด ‘ยิ่งโชว์ ยิ่งเริ่ด’ จนเราอาจคิดว่าชุดว่ายน้ำสุดเซ็กซี่อย่างที่เห็นทุกวันนี้คือปลายทางของแฟชั่นชุดว่ายน้ำสำหรับผู้หญิงที่จะท้าทายขนบไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

คำตอบคือ ผิดถนัด!

มันแน่นอกต้องยกออก

การมาถึงของกระแสเฟมินิสต์ลูกที่สองที่เชื่อว่าผู้หญิงมีเสรีภาพที่จะสวมใส่อะไรก็ได้ตามที่ใจอยากในช่วงยุคซิกซ์ตี้ นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของชุดว่ายน้ำเปรี้ยวๆ ในปัจจุบัน มันยังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของชุดว่ายน้ำสุดแสนจะคอนโทรเวอร์เชียลที่มีชื่อว่า Monokini

 

Monokini ชุดว่ายน้ำอื้อฉาวแห่งยุค ‘60s

 

โมโนกินีถูกออกแบบโดย รูดิ เกิร์นริค ดีไซน์เนอร์ชาวออสเตรียอเมริกันด้วยความตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ประกาศอุดมการณ์ของตัวเอง ด้วยดีไซน์แบบชิ้นเดียวที่ปิดส่วนล่าง และเปิดให้เห็นหน้าอกเหมือนกับชุดว่ายน้ำผู้ชาย นี่จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการปฏิวัติความเท่าเทียมทางเพศไปในเวลาเดียวกัน (และถึงจะบอกว่าออกแบบมาเล่นๆ แต่ก็ฮิตมากจนขายได้กว่า 3,000 ชิ้นเลยทีเดียวเชียว)

อันที่จริงแล้ว การเปิดเผยร่างกายส่วนบนในที่สาธารณะเพิ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับเมื่อประมาณ 80 กว่าปีที่แล้วเท่านั้น (ในสหรัฐอเมริกา) ผู้ชายเองก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาเช่นเดียวกัน – ในปี 1935 กลุ่มผู้ชายถอดเสื้อก็มารวมตัวกันเรียกร้องให้การไม่สวมเสื้อในที่สาธารณะไม่ผิดกฎหมาย จนทำให้โดนจับไป 42 คน แต่ถึงตอนนี้ ลองให้จินตนาการว่าผู้ชายต้องมาถอดเสื้อประท้วงด้วยเรื่องนี้ เราคงนึกภาพได้ยากน่าดู

ในขณะที่ชุดว่ายน้ำ Monokini ที่ดังระเบิดระเบ้อเมื่อห้าสิบปีก่อน กลายเป็นเพียงตำนานที่สวมใส่ (ในที่สาธารณะ) ไม่ได้ในปัจจุบัน 

เท่ากันแบบเทียมๆ

สิ่งที่ทำให้หน้าอกและหัวนมของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากการทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ต้อง ‘ปกปิด’ มาเป็นเวลานาน ผู้ชายถูก ‘ทำให้รู้สึก’ ว่าหน้าอกผู้หญิงเป็นหนึ่งในสิ่งเร้าทางเพศที่ลึกลับ น่าค้นหา และต้องถูกปกปิดจนกว่าจะเริ่มต้นกิจกรรมทางเพศ

แม้ว่าในหลายประเทศ การเปลือยอกในที่สาธารณะของผู้หญิงจะสามารถทำได้แล้วก็ตามที แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ในโลกที่จารีตสังคมยังสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงและชายในการแต่งกายและแสดงออกในพื้นที่สาธารณะอยู่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่สาธารณะในโลกออนไลน์

เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม สองโซเชียลมีเดียที่เราคุ้นเคยกันดีมีกฎห้ามลงรูปที่เผยให้เห็นรูปโป๊เปลือย ซึ่งรวมไปถึงภาพของหน้าอกและหัวนมของผู้หญิง แม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนาเพื่อยั่วยุอารมณ์ทางเพศ ด้วยสาเหตุที่ว่าแพลตฟอร์มนี้มีผู้ใช้หลากหลายอายุและความเชื่อ จึงต้องออกกฎไว้เพื่อทำให้พื้นที่นี้เป็นที่สำหรับทุกคน

ความสองมาตรฐานของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมถูกท้าทายจากหลายต่อหลายแคมเปญ หนึ่งในนั้นคืออินสตาแกรมที่ใช้ชื่อว่า @genderless_nipples ที่ลงรูปโคลสอัพหัวนมของทั้งหญิงและชาย เพื่อทดสอบความเท่าเทียมระหว่างเพศในโลกออนไลน์แห่งนี้ ผลปรากฎว่ามีหนึ่งรูปที่อินสตาแกรมแจ้งว่าผิดกฎ ทั้งที่รูปนั้นเป็นหัวนมของผู้ชาย!

 

หน้าอินสตาแกรมของ @genderless_nipples

 

จากโลกออนไลน์ที่เราเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก สู่โลกออฟไลน์ที่ถูกกฎหมายและวิถีสังคมครอบเอาไว้อย่างแน่นหนา ชะตากรรมแห่งเสรีภาพของผู้หญิง หน้าอก และหัวนม ยังถูกจำกัดไว้ไม่ต่างอะไรกับเมื่อครั้งอดีต

กักขังไว้ภายใต้ชุดว่ายน้ำที่ปิดมิดชิดบนรถม้า และตายไปพร้อมกับโมโนกินี่สุดชิคในยุคซิกซ์ตีส์

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง The Evolution Of The Bathing Suit From The 1800s Until Today Proves One Very Important Thing ของ Marlen Komar จาก Bustle, 

รวมภาพและที่มาของชุดว่ายน้ำ History of Bathing Suits จาก Victoriana

บทความเรื่อง Facebook Wages War on the Nipple ของ Lina Esco จาก Huffingtonpost

บทความเรื่อง Male or female? Genderless Nipples account challenges Instagram’s sexist standards ของ Elle Hunt จาก The Guardian

บทความเรื่อง Why Are Women’s Nipples Banned in Public and on Instagram, but Men’s Nipples Aren’t? ของ July 10, 2015

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

24 Dec 2018

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เขียนถึงเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตั้งคำถามกับประเด็นจริยธรรม เชื่อมโยงกับมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล

24 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save