fbpx

สืบ-จาก-ไฟล์ : พลิกโฉมการสืบสวนอาชญากรรมไซเบอร์ด้วย Big Data

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีหนึ่งข่าวใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในวงการข่าวอาชญากรรม ข่าวที่ว่าคือการจับกุม ‘เนเน่โมเดลลิ่ง’ เครือข่ายแพร่ภาพอนาจารเด็กรายใหญ่ โดยพบหลักฐานภาพถ่ายลามกอนาจารเด็กมากถึง 500,000 ภาพ และยังเกี่ยวพันกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจำนวนหลายพันราย ไม่ใช่แค่นั้น การจับกุมครั้งนี้ยังเป็นการร่วมมือของตำรวจจากหลายมุมโลก ตั้งแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), Australian Federal Police (AFP), Federal Bureau of Investigations (FBI), Homeland Security Investigations (HSI) และ New Zealand Police  

แต่หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของคดีนี้คือ ‘จุดเริ่มต้น’ ใครจะไปคาดคิดกันว่าจากภาพอนาจารของเด็กชายเพียงภาพเดียวที่หลุดเข้าไปในโปรแกรมของ Interpol จะสามารถนำไปสู่การทลายเครือข่ายการค้าภาพอนาจารเด็กระดับโลก โดยหัวใจหลักที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายของคนร้ายทางโลกไซเบอร์ครั้งนี้อยู่ที่การใช้เทคโนโลยีในการแกะรอยและเชื่อมโยง ‘เส้นทางไฟล์ภาพการทำอนาจารกับเด็ก’ 

หากมองย้อนกลับไป นับตั้งแต่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ได้พลิกโฉมโลกไปอย่างคาดไม่ถึงและเป็นการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ แน่นอนว่ามิติอาชญากรรมเองก็เช่นกัน การมาถึงของโลกยุคโลกาภิวัตน์พ่วงมาด้วยการเกิดใหม่ (อย่างทรงพลัง) ของ‘อาชญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime)’ ภัยร้ายที่ไร้สัญชาติ ไร้พรมแดน และสามารถทลายขอบเขตด้านเวลาและภาษาลงได้เพียงปลายนิ้วคลิก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด 

จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลเด็กหายและเด็กถูกละเมิดแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCMEC) พบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2563 มีข้อมูลเบาะแสการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเด็ก ทั้งการครอบครองและเผยแพร่สื่อลามกอนาจารที่มาจากประเทศไทยผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นถึง 160,000 กรณี ขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2562 มีเพียง 120,000 กรณีเท่านั้น 

101 จึงเดินทางไปพูดคุยกับ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผู้ทำงานในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาอย่างยาวนานถึงหน้าตาของอาชญากรรมในยุคไซเบอร์ ณ วันนี้ พร้อมเจาะลึกถึงการทำงานของดีเอสไอที่ต้องปรับตัวมาใช้หลากหลายนวัตกรรม ในวันที่พยานหลักฐานและสถานที่เกิดเหตุย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

หน้าตาที่เปลี่ยนไปของอาชญากรรม

ร.ต.อ.เขมชาติให้ข้อมูลว่า เทคโนโลยีทำให้หน้าตาของอาชญากรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จากเดิมที่ผู้ร้ายมักจะมาในลักษณะของ Child sex tourism หรือการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางข้ามประเทศเพื่อมาแสวงหาประโยชน์หรือละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย ซึ่งจะใช้วิธีการ grooming (การเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ) ในรูปแบบของ face to face เช่น คนร้ายจำเป็นต้องมีนกต่อเพื่อประชิดตัวและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับเด็ก ก่อนจะพาไปกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ 

แต่ในปัจจุบันลักษณะของการล่วงละเมิดทางเพศได้ย้ายไปอยู่บนพื้นที่ออนไลน์แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เด็กส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่หน้าจอ เปิดโอกาสให้ผู้ร้ายสามารถเข้าถึงตัวเด็กได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้นกต่ออีกต่อไป 

“ลักษณะของอาชญากรในอดีตมักจะมาในคราบของคนดี หรือคนที่มีอาชีพแลดูน่าเชื่อถือ เข้ามาตีสนิทเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับพ่อแม่เพื่อรอจังหวะเข้าถึงตัวเด็ก แต่มาวันนี้ไม่ใช่แล้ว อาชญากรเป็นใครหรืออยู่ที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้โลกไร้พรมแดน ยังไม่นับว่าเรามีโปรแกรมแปลภาษาที่ช่วยให้เราพูดคุยกันได้ทั่วโลก อาชญากรเองก็ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ในการล่อลวงเด็กเช่นกัน”  

ร.ต.อ.เขมชาติเสริมว่า เทคโนโลยีไม่ได้เพียงช่วยให้คนร้ายสามารถติดต่อสื่อสารกับเด็กง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การติดต่อสื่อสารกันในหมู่คนร้ายสะดวก รวดเร็ว และรัดกุมมากขึ้นด้วย จากประสบการณ์การทำงานติดตามคนร้ายคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์ทำให้เขาพบว่า การจะเข้าถึงตลอดจนการจับกุมตัวคนร้ายในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเหล่าคนร้ายมีการติดต่อกันข้ามประเทศผ่านทาง dark web, deep web หรือกลุ่มลับ ซึ่งโปรแกรมทั่วไปไม่สามารถที่จะเข้าไปดูการสนทนาของคนร้ายได้ 

ในขณะเดียวกันบทสนทนาของคนร้ายก็มีรายละเอียดที่ลึกขึ้น เช่น มีการแบ่งหมวดหมู่กลุ่มย่อยๆ ตามประเภทของวิธีการเข้าถึงตัวเด็ก มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือแนะนำช่องทางในการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ตลอดไปจนถึงมีการแนะนำทริคในการตอบคำถามหากถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ซึ่งจากหลักฐานที่ทางดีเอสไอพบบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าเหล่าคนร้ายมีการเตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้า

นอกจากตัวอาชญากรและลักษณะการก่อเหตุที่เปลี่ยนไปแล้ว สถานที่เกิดเหตุรวมไปถึงพยานหลักฐานในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์ก็มีหน้าตาที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

“ตลอดช่วง 20 ปีที่แล้ว เราถูกสอนมาว่าที่เกิดเหตุคือการที่คุณเดินเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่ง แล้วคุณเห็นอะไรรอบตัวคุณบ้าง เช่นคุณนั่งอยู่ในห้องนี้ นี่คือสถานที่เกิดเหตุ แต่ยุคออนไลน์ต่างออกไป อุปกรณ์แต่ละเครื่องคือที่เกิดเหตุที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งตัวเครื่องเองก็เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างเช่นการเก็บภาพลามกอนาจารเด็ก ถ้าเป็นในอดีตเราก็คงเก็บข้อมูลไว้ในเมมโมรีการ์ดหรือฮาร์ดดิสก์ แต่ถามว่าทุกวันนี้เราเก็บข้อมูลที่ไหน พวกเราก็ฝากไปเก็บไว้ในคลาวด์ งั้นถ้าถามต่อไปว่าแล้วพื้นที่จริงๆ ของคลาวด์อยู่ตรงไหน ใช่ เราก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน” 

“ฉะนั้นโจทย์สำคัญคือ เราจะไปหามาได้อย่างไรว่าสถานที่เกิดเหตุของภาพนี้อยู่ที่ไหน พร้อมทั้งจะแกะรอยพยานหลักฐานที่มีอยู่มากมายมหาศาลในอุปกรณ์ต่างๆ และนำมาใช้เป็นหลักฐานได้อย่างไร”

เปลี่ยนจาก ‘สืบจากตัวเด็ก’ มาเป็น ‘สืบจากภาพ’ 

แน่นอนว่าเมื่ออาชญากรรมเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะหน้าตาของอาชญากรที่เป็นใครก็ได้บนโลกใบนี้ วิธีการที่คนร้ายใช้ในการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ตลอดจนเครื่องมือที่คนร้ายใช้ในการก่อคดี ยังไม่นับการได้มาซึ่งเบาะแสที่กลายเป็นเรื่องยากไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร (ข้อมูล) ด้านเจ้าหน้าที่เองก็ถึงเวลาที่ต้องปรับตัวตาม รูปแบบและวิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสืบสวนคดี ณ วันนี้มีหน้าตาอย่างไร คือสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย 

ร.ต.อ.เขมชาติเล่าให้ฟังว่า สำหรับการสืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กในอดีต เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการสืบสวนจากตัวเด็กเพื่อสาวไปให้ถึงตัวคนร้าย โดยใช้หลักการเรื่องการสัมภาษณ์ทางนิติวิทยาศาสตร์ (forensic interview) เข้ามาช่วยในการสืบสวน แต่ความท้าทายของการสืบสวนในคดีลักษณะนี้อยู่ที่ว่า เด็กที่ถูกละเมิดมักจะมีความผูกพันใกล้ชิดกับคนร้าย ฉะนั้นเมื่อมีการสืบจากการสอบถามเด็ก ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นการช่วยเพิ่มเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ แต่อีกด้านก็อาจจะเป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้คนร้ายไหวตัวทันหรือง่ายต่อการทำลายพยานหลักฐานก่อนล่วงหน้า

นอกจากนี้ จากประสบการณ์การทำงานในคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่า ผู้ต้องหาในคดีลักษณะนี้มักครอบครองภาพอนาจารของเด็กอยู่เสมอ มีงานวิจัยจากหลายๆ หน่วยงานสนับสนุนแนวคิดนี้ ประกอบกับในปี 2558 ประเทศไทยมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดให้การเผยแพร่และครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กถือเป็นความผิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษปรับเปลี่ยนวิธีการสืบสวน จากเดิมที่สืบจากคำให้การของเหยื่อ มาเป็นการสืบจากภาพลามกอนาจารของเด็กแทน

“เราเปลี่ยนมิติการสืบสวนเสียใหม่และลงมาศึกษาโลกไซเบอร์อย่างจริงจัง ว่าทำอย่างไรเราถึงจะหาความจริงจากโลกไซเบอร์ ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กในโลกจริงได้ ประกอบกับเมื่อมีกฎหมายสื่อลามกเด็ก เราก็หันมาจับคนร้ายโดนเริ่มต้นจากตัวภาพ ก่อนจะค่อยไปหาต่อว่าเด็กในรูปคือใคร หลังจากที่พบเด็กแล้วจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์ตัวเหยื่อ จุดเริ่มการสืบสวนมันเปลี่ยนไป เรามีหลักฐานอยู่ในมือครบและคนร้ายก็ถูกจับเรียบร้อย อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าคนร้ายเป็นใคร ละเมิดเด็กคนไหน พอคดีหลักๆ เราได้ เราก็ไปต่อได้ นี่ก็เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์”

Big Data is a key! :
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจับผู้ร้าย

แม้เราจะมีวิธีการในการสืบสวนที่ยอดเยี่ยมเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเราจำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ (อันแสนชาญฉลาด) ที่จะมาช่วยในการคัดสรรและแกะรอยข้อมูล ยิ่งในยุคที่อาชญากรรมเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ จำนวนของข้อมูลยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ไหนจะการไร้พรมแดนของอาชญากรรมที่ส่งผลให้การตามสืบเครือข่ายคนร้ายเป็นไปได้ยากมากกว่าที่เคย จนอาจกล่าวได้ว่าแรงของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการสู้กับข้อมูลจำนวนมหาศาล

ร.ต.อ.เขมชาติ ยกตัวอย่าง ‘คดีเนเน่โมเดลลิ่ง’ เพื่อฉายให้เห็นภาพของการหยิบเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนคดี เขาเล่าย้อนว่าการจับกุมนาย ดนุเดช แสงแก้ว หรือ ‘เนเน่’ เจ้าของโมเดลลิ่งเด็กชื่อดังในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการจับกุมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นการจับกุมที่ใช้เวลาตามแกะรอยกลุ่มคนร้ายกว่า 4 ปี ตั้งแต่ได้เบาะแสครั้งแรกเมื่อปี 2560 ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ ‘Blackwrist’ ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิบัติการร่วมกับ Australian Federal Police (AFP) ในการจับกุมเครือข่ายอาชญากรที่ค้าภาพอนาจารและล่วงละเมิดทางเพศเด็กในหลายพื้นที่ทั้งในไทย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการดังกล่าวได้พบไฟล์สื่อลามกอนาจารของเด็กซึ่งเชื่อมโยงกับ ‘เนเน่โมเดลลิ่ง’ ทางดีเอสไอจึงติดตามแกะรอยต่อจนสามารถจับกุมตัวเนเน่ได้ในที่สุด

ความท้าทายของคดีนี้คือ สถานที่ที่พบหลักฐาน เว็บไซต์ที่จัดจำหน่ายสื่อลามกเด็ก ตัวเหยื่อและผู้กระทำความผิด ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทุกองค์ประกอบต่างกระจายตัวกันอยู่ทั่วมุมโลก คำถามที่สำคัญคือเราจะแกะรอยจากสื่อออนไลน์ที่เรามีจนนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิดในโลกจริงได้อย่างไร

ร.ต.อ.เขมชาติ ขยายความว่ามีการใช้นวัตกรรมที่หลากหลายเพื่อการสืบสวนคดีครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การได้รับเบาะแสมาจากระบบ International Child Sexual Exploitation (ICSE) image and video database หรือ ระบบฐานข้อมูลของ ICSE ที่รวบรวมและเปิดให้พนักงานสืบสวนจากทั่วโลกสามารถเข้ามาแชร์ข้อมูลรูปภาพหรือคลิปวิดีโอคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้จากทั่วโลก ซึ่งจัดทำขึ้นโดย Interpol

ระบบนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่รวบรวมหลักฐานสื่อลามกอนาจารของเด็กเข้าไว้ด้วยกันในที่เดียว ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์เปรียบเทียบรูปภาพและวิดีโอ เจ้าหน้าที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างเหยื่อ ผู้ล่วงละเมิด และสถานที่ต่างๆ ได้ในทันที พร้อมกันนี้ตัวระบบยังแก้ปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนของรูปภาพและวิดีโอ ด้วยการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันทีว่าชุดรูปภาพที่ได้มานี้มีการค้นพบในประเทศอื่นแล้วหรือไม่ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ 

แต่ระบบฐานข้อมูลแห่งเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยเป็นเบาะแสในการระบุที่อยู่ของคนร้ายได้ ดีเอสไอจึงใช้ระบบฐานข้อมูลของศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติ (National Center for Missing and Exploited Children หรือ NCMEC) ควบคู่ไปด้วย ซึ่ง NCMEC เป็นหน่วยงานกลางและศูนย์การรายงานการละเมิดทางเพศเด็กแบบครบวงจรในสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าหาก ‘แพลตฟอร์มผู้ให้บริการสัญชาติอเมริกัน’ เจ้าไหนค้นพบ ‘สื่อที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กบนโลกออนไลน์’ ก็จะรายงานข้อมูลนี้ไปทาง NCMEC เพื่อทำการสืบสวนต่อไป โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ลงนามความตกลงร่วมกับ NCMEC เพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา 

ที่มา : Child Rescue Coalition (CRC)

ร.ต.อ.เขมชาติ เสริมต่อว่าเมื่อถึงขั้นของการแกะรอย ดีเอสไอยังได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมที่ช่วยในการแกะรอยจากหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Child Rescue Coalition (CRC) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่คอยช่วยเหลือเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยสร้างเทคโนโลยี (แบบไม่มีค่าใช้จ่าย) เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อติดตาม จับกุม และฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก 

CRC มีเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Child Protection System (CPS) ที่จะช่วยตรวจสอบไฟล์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเด็กที่แชร์กันระหว่างบุคคลในเครือข่ายแบบเรียลไทม์ จนสามารถรู้ได้ว่าอาชญากรกำลังดาวน์โหลดและแบ่งปันเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมรูปแบบใดบ้างในโลกออนไลน์ จากข้อมูลที่มีนี้ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการข้อหมายค้นได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอให้คลิปหรือภาพอนาจารของเด็กเผยแพร่สู่สาธารณะเสียก่อน

ที่มา : Stop Child Abuse – Trace an Object

นอกจากนี้ในด้านการระบุตัวตนอาชญากร ทางดีเอสไอยังใช้เทคโนโลยีในการระบุตัวตนคนร้ายและเหยื่อจากสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวภาพ เช่น รอยสัก ลายเสื้อ หรือโต๊ะคอมพิวเตอร์ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันกับศูนย์ต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กของออสเตรเลีย (Australian Centre to Counter Child Exploitation หรือ ACCCE) โดย ACCCE ได้เปิดเว็บไซต์ให้พลเมืองโลกช่วยกันตามหาร่องรอยของคนร้ายผ่านภาพที่องค์กรได้สืบค้นเจอมา และหากบุคคลใดทราบเบาะแสหรือมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับภาพดังกล่าวที่จะช่วยเจ้าหน้าที่สืบหาที่อยู่ของคนร้ายได้ ก็สามารถแจ้งข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางหน้าเว็บไซต์ แพลตฟอร์มนี้ก็ช่วยให้เจ้าหน้าที่ประหยัดเวลาในการแกะรอยและทำให้การสืบสวนเป็นไปอย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งนี่มีค่าเท่ากับการป้องกันเด็กบริสุทธิ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

สู้ภัยการละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์
ด้วย ‘การตระหนักรู้’ ของเยาวชน  

“ปัจจุบันเทคโนโลยีไปไวมาก อาชญากรเองก็รู้เท่าทันเจ้าหน้าที่และมีการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ตรวจจับยากมากขึ้น ฉะนั้นเราเองก็ต้องมีการพัฒนาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะในด้านของนวัตกรรมการสืบสวนต่างๆ หรือทางด้านของกฎหมายที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงตัวอาชญากรได้ง่ายขึ้น ประกอบกับเรื่องของการประสานงานระหว่างประเทศ จะทำอย่างไรให้เราสามารถประสานงานได้รวดเร็วและทั่วถึง ขณะเดียวกันตัวเจ้าหน้าที่เอง นอกจากจะเพิ่มทักษะในการสืบสวนรูปแบบใหม่แล้ว ก็ต้องมีจำนวนที่เพียงพอต่อคดีที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อให้เราสามารถรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที” 

ร.ต.อ.เขมชาติ ให้ความเห็นถึงทิศทางในอนาคตของการสืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กออนไลน์ว่า แม้ตอนนี้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีความแน่นแฟ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกับทางศูนย์ ACCCE จากออสเตรเลีย หรือทาง NCMEC จากสหรัฐอเมริกาเป็นต้น แต่เขากลับมองว่านี่ยังไม่เพียงพอกับคดีที่เกิดขึ้น

โดย ร.ต.อ.เขมชาติย้ำว่าทุกภาคส่วนต้องเดินหน้าขับเคลื่อนและร่วมแรงร่วมใจในการส่งต่อหรือกระจายข้อมูลกันให้มากกว่านี้ เพราะเหมือนที่ได้กล่าวไปในตอนต้น หน้าตาของอาชญากรรมไซเบอร์ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว อาชญากรและเหยื่อเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน ไม่ว่าจะในด้านพื้นที่หรือในด้านของภาษา ฉะนั้นตัวเจ้าหน้าที่เองก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อการทำงานอย่างไร้พรมแดนเช่นกัน 

ร.ต.อ.เขมชาติยังมองต่อไปอีกว่าปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์เด็ก เป็นปัญหาที่ยากจะคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต และยังฝากรอยแผลเป็นใหญ่ไว้ในใจของเหยื่อ ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งดีเอสไอเองก็ได้มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์สำหรับเยาวชนมาโดยตลอด 

“อย่าลืมว่าโลกไซเบอร์เป็นโลกที่สามารถเข้าไปแตะตัวเด็กได้ทันที ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือตัวเด็กต้องเข้าใจ ถ้าเด็กเข้าใจว่าสิ่งนี้คือภัยคุกคามต่อตัวเขา ต่อให้อาชญากรจะมาด้วยกลอุบายแบบไหนเด็กก็ไม่มีทางหลงเชื่อ เราจำเป็นจะต้องเสริมทักษะการรู้เท่าทันให้กับเยาวชน เพื่อให้เขามีภูมิคุ้มกันต่อภัยที่จะเข้ามา เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเด็กได้รับวัคซีนในเรื่องนี้ ถ้าเด็กมีวัคซีน มีภูมิคุ้มกันที่ดี ถึงอย่างไร คนร้ายก็ไม่สามารถทลายภูมิคุ้มกันนี้เข้าไปได้ หน้าที่ของเราคือจะทำอย่างไรถึงจะทำให้เด็กได้รับวัคซีนไวและทั่วถึงมากที่สุด” 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save