fbpx

‘ปีศาจ’ ที่หลอนนโยบายต่างประเทศของ โจ ไบเดน

เป็นครั้งที่สองในการประกาศนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เขาถูกถล่มและวิพากษ์วิจารณ์อย่างแทบไม่มีอะไรดี นั่นคือนโยบาย ‘ออกุส (AUKUS)’ หรือสัญญาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา สามประเทศใหญ่ในสามทวีปในหนึ่งยุทธศาสตร์โลก แต่ทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวในภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์และสีผิว คือคนคอเคเชียนผิวขาวพูดภาษาอังกฤษและเป็นคริสเตียน

ทีมทำเนียบขาวคงนึกไม่ถึงว่า แค่ประกาศความร่วมมือกันระหว่างสามประเทศ ซึ่งก็เคยทำมาก่อนแล้ว เหตุใดจึงเป็นเรื่องที่สร้างความบาดหมางให้กับมิตรประเทศของสหรัฐฯ ไปได้ ก่อนนี้ในกลุ่มจตุรมิตร (The Quadrilateral Security Dialogue – QSD) หรือ Quad ที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่น (สมัยนายกฯ อาเบะ) ในปี 2007 ร่วมกับสมาชิกกลุ่มคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลียและอินเดีย เป็นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และมีการซ้อมรบด้วย กระทั่งจีนออกมาประท้วงบรรดาประเทศสมาชิกของกลุ่ม เพราะมันแน่ชัดว่า การตั้งกลุ่มจตุรมิตรนี้ก็เพื่อออกมาคานกำลังและอิทธิพลของจีนที่กำลังส่งแสงแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในย่านอินโด-แปซิฟิก

การประกาศตั้งกลุ่มออกุสครั้งนี้ก็มีจุดหมายใหญ่อยู่ที่การเผชิญหน้ากับจีนอีกเช่นเคย แต่บังเอิญไปเหยียบหัวแม่เท้าของฝรั่งเศสเข้า ในเรื่องสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำพลังดีเซลในราคา 6.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อสหรัฐฯ เสนอโครงการใหม่ที่ดีกว่าคือเป็นเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์พร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ให้กองทัพออสเตรเลียอีกด้วย ด้วยข้อเสนอที่ดีกว่าและคุ้มค่ากว่าของฝรั่งเศส ซึ่งดูจะไม่มีอนาคตเท่าไรในด้านเทคโนโลยี ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมออสเตรเลียถึงกล้าตัดสินใจเปลี่ยน

อีกด้านหนึ่ง พิจารณาในสถานการณ์ขณะนี้ บทบาทและฐานะของจีนก็เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อทศวรรษที่แล้วอย่างมาก การขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรคและรัฐของสีจิ้นผิง ทำให้จุดยืนและฐานะของจีนในเวทีการเมืองโลกเปลี่ยนไปแทบโดยสิ้นเชิงจากอดีต ที่สำคัญคือจีนเข้มแข็งและมั่นคงในทางเศรษฐกิจและการเมืองกว่าแต่ก่อนมาก ฝ่ายตะวันตกที่ยึดถือระบบทุนนิยมเสรีเคยคิดว่าถ้าทำให้จีนเป็นระบบทุนนิยม ก็จะทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอลง เหมือนกับที่สหภาพโซเวียตเคยประสบมาก่อนแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ระบบอำนาจนิยมก็จะถูกประชาชนที่อยากบริโภคแบบประเทศอื่นๆ พากันออกมาประท้วง กระทั่งแตกแยกกันภายในผู้นำพรรคในที่สุด

แต่หนังจีนเรื่องใหม่นี้กลับไม่เดินเรื่องไปตามพล็อตเก่า ตรงกันข้ามพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับประสบความสำเร็จในการทำให้ระบบทุนนิยมกลายเป็นแบบจีนคอมมิวนิสต์ไปในที่สุด เรียกว่า ‘ระบบสังคมนิยมตลาด’ ที่รัฐและพรรคคุมเหนือทุนและเอกชนทั้งหลายอย่างเหนียวแน่น ว่าไปแล้วก็คล้ายระบบกงสีในอดีต ที่ผู้ใหญ่ในบ้านควบคุมบรรดาลูกบ้านที่ทำงานและได้รับผลตอบแทนตามกำลังความสามารถ กุญแจที่กุมความสำเร็จนี้คือพวกผู้ใหญ่ในพรรคต้องไม่โกงกินเพื่อตนเองและพวกพ้องเท่านั้น ดังนั้นการลงโทษแกนนำพรรคระดับสูงจึงจะต้องมีอยู่ต่อไปเป็นฤดูกาล เมื่อทำได้เช่นนี้ การที่ประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปการเมืองและสถาบันก็จะไม่เกิด พรรคการเมืองอื่นก็ไม่ต้องดิ้นรนที่จะเกิด เพราะจะไม่มีพื้นที่ในการแสดงบทบาท

อย่างไรก็ตาม ควันหลงจากการประกาศกลุ่มออกุสก็แสดงถึงความไม่ลงร่องลงรอยและกระทั่งความขัดกันระหว่างคณะทำงานและที่ปรึกษาของประธานาธิบดีไบเดนกับฝ่ายกองทัพอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ในวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมามีการให้การต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา กรณีการถอนทหารและการอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากอัฟกานิสถานในปลายเดือนสิงหาคมที่เกิดปัญหาและความไม่พร้อมหลายประการ ที่สำคัญคือการที่ขบวนการตาลีบันกลับเป็นฝ่ายชนะยึดกรุงคาบูลได้อย่างไม่คาดฝัน ผู้ที่ให้ปากคำคือพลเอกมาร์ก เอ. มิลลี ประธานคณะเสนาธิการร่วม และพลเอกเคนเนธ เอฟ. แมคเคนซี ผู้บัญชาการส่วนกลางของกองทัพ รวมทั้งลอยด์ เจ. ออสติน รัฐมนตรีว่าการกลาโหม อดีตนายพลสี่ดาว ซึ่งต้องลาออกจากตำแหน่งทหารเพื่อมารับตำแหน่งการเมือง ดังนั้นในหน้าสื่อมวลชนจึงไม่ระบุตำแหน่งนายพลของออสตินเวลารายงานข่าวถึงตัวเขาอันตรงข้ามกับในเมืองไทย คำตอบที่สองนายพลให้แก่วุฒิสภาคือพวกเขาได้ให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีไบเดนแล้วว่าให้คงกองทหารไว้ราว 2,500 คนไว้ในอัฟกานิสถานก่อน อย่าเพิ่งถอนออกไปหมด ในขณะที่ก่อนหน้านี้ไบเดนให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าไม่มีคำแนะนำดังกล่าวเลย ผู้คนเลยพากันสงสัยว่าตกลงงานนี้ใครเป็นคนพูดความจริง

ไม่ว่าความจริงเบื้องหลังคำแนะนำนี้คืออะไร แต่ที่เดาได้ไม่ผิดคือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมือง (บริหาร) กับกองทัพนั้นไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ความจริงแล้วเกิดมาตั้งแต่มีรัฐบาลที่พลเรือนปกครองนับแต่สมัยจอร์จ วอชิงตันเป็นต้นมา ผ่านมาถึงสมัยอับราฮัม ลิงคอล์น ถึงทรูแมนก็เคยปะทะขัดแย้งกับผู้นำกองทัพมาแล้วทั้งนั้น ในสงครามเกาหลี ทรูแมนต้องออกคำสั่งปลดนายพลแมกอาเธอร์ออกจากทุกตำแหน่งเพราะกระทำการบุกโดยไม่ได้ทำตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรูแมนที่ไม่ให้ข้ามเส้นขนานที่ 38 เพื่อโจมตีถึงเขตแดนจีน เขาต้องการให้เจรจาสงบศึกตรงนั้น แต่แมกอาเธอร์คิดว่าบุกทำลายกำลังคอมมิวนิสต์ตอนนี้เลยจะได้ไม่มีอิทธิพลต่อไปอีก ทรูแมนอธิบายต่อรัฐสภาและประชาชนว่า เขาต้องรักษาคำปฏิญานที่ว่าจะทำตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการไม่ให้ทหารแทรกแซงในการเมืองของพลเรือน

ในการให้ปากคำกรณีอัฟกานิสถานครั้งนี้ก็เช่นกัน วุฒิสมาชิกทอม คอตตอนแห่งรัฐอาร์คันซอ พรรครีพับลิกัน ถามนายพลมิลลีว่า ทำไมท่านถึงไม่ลาออก? หลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่รับฟังคำแนะนำของเขาในภารกิจถอนทหารในอัฟกานิสถาน จนนำไปสู่ความผิดพลาดล้มเหลวอย่างไม่มีท่า พลเอกมิลลีตอบว่า “ประเทศนี้ไม่ต้องการให้บรรดานายพลทหารมาคิดแทนให้ว่าคำสั่งไหนที่เราจะยอมรับและไม่ยอมรับ นั่นไม่ใช่ภารกิจของเรา” เขากล่าวต่อไปว่า “บิดาข้าพเจ้าไม่ได้มีทางเลือกให้ลาออกที่อิโวจิมาและบรรดาคนหนุ่มเหล่านั้นที่ประตูแอบบี้เกต (สนามบินฮามิดคาร์ไซ) พวกนั้นก็ไม่มีทางเลือกให้ลาออก…พวกเขาไม่สามารถลาออกได้ ดังนั้นข้าพเจ้าก็จะไม่ลาออกเหมือนกัน…ไม่มีทาง ถ้าคำสั่งเหล่านั้นผิดกฎหมาย เราอยู่ในที่ซึ่งแตกต่างออกไป แต่ถ้าคำสั่งถูกกฎหมายจากอำนาจของพลเรือน ข้าพเจ้าตั้งใจจะนำมันไปปฏิบัติ”

พลเอกมิลลียังให้การต่อไปถึงการที่เขาโทรศัพท์ถึงผู้นำทหารของประเทศจีนสองครั้งในปลายสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องนี้มีการกล่าวขานกันว่าเขาทำเกินอำนาจหน้าที่หรือเปล่า แทนที่จะเป็นประธานาธิบดี แหล่งข่าวรายงานว่าเหตุที่พลเอกมิลลียกหูโทรศัพท์ไปถึงผู้นำทหารจีน เพราะต้องการยืนยันให้ฝ่ายโน้นรู้ว่า สหรัฐฯ จะไม่ทำการโจมตีจีนด้วยอาวุธนิวเคลียร์แน่นอน เนื่องจากตอนนั้นสถานการณ์ในประเทศมีความขัดแย้งและทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก จนทำให้ทรัมป์หาทางตอบโต้ฝ่ายประท้วงหนักมือมากขึ้น จนมีข่าวลือเรื่องเขามีอาการทางจิตไม่ปกติ และลือกันว่าเขาอาจกดปุ่มยิงอาวุธนิวเคลียร์เพื่อสร้างสถานการณ์ได้ ในเรื่องนี้พลเอกมิลลีตอบว่า เขาไม่ได้โทรไปเองอย่างพลการ หากแต่ทำตามคำสั่งของรัฐมนตรีกลาโหมและคณะที่ปรึกษากองทัพ เป็นการยืนยันว่าเขาทำตามคำสั่งในอำนาจของฝ่ายพลเรือน ไม่ได้ใช้ตำแหน่งทหารไปกระทำการอันขัดรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญที่ไม่เคยถูกฉีก ไม่เคยถูกละเมิด ก็จะยากที่จะละเมิดและฉีก

ผมดูข่าวเรื่องสหรัฐฯ ให้น้ำหนักกับการขยายบทบาทของจีนในการเมืองโลกที่เพิ่มมากขึ้น จนถึงขั้นเชื่อว่าในอนาคตไม่ไกลนี้จะต้องมีสงครามระดับหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจโลกนี้ ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า มีข้อมูลหลักฐานอะไรที่ทำให้อเมริกาโน้มเอียงไปทางเหยี่ยวมากขึ้น มีผู้สังเกตการณ์บางคนกล่าวว่า ทรรศนะดังกล่าวมาจากฝ่ายทหารอเมริกันที่ต้องการรักษาฐานะและบทบาทของตนไว้ในการเมืองโลกต่อไป แม้ในกลุ่มออกุสก็ตาม อังกฤษจะมีกองทหารเรือประจำการในเอเชียเคียงข้างไปกับกองทัพเรือนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย เป็นการดึงเอาทั้งอังกฤษและออสเตรเลียเข้ามาในความขัดแย้งทะเลจีนใต้กับจีน และนี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ ไม่ชวนประเทศในกลุ่มนาโตมาเข้าร่วมด้วย เพราะรู้อยู่ว่าพวกนั้นคงไม่ต้องการมาร่วมในปัญหาทะเลจีนใต้ แล้วตกลงการตั้งกลุ่มออกุสเป็นความคิดของใครกันแน่ ระหว่างที่ปรึกษาต่างประเทศหรือฝ่ายทหาร

นโยบายของลัทธิไบเดนคืออะไร จากผลงานใหญ่ๆ ที่เขาทำมาทำให้คนประหลาดใจมากว่า แทนที่ไบเดนจะเดินนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างไปจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่คนวิจารณ์ว่าโฉ่งฉ่างและ ‘อเมริกามาก่อน’ มากเกินไป แต่ผลที่ออกมาตอนนี้ สิ่งที่ไบเดนกระทำก็ล้วนเป็นการสานต่อหนทางที่ทรัมป์ได้ปูไว้ทั้งนั้นเลย ตั้งแต่การถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานทันทีอย่างไม่ต้องรั้งรออีกต่อไป การกดดันจีนมากขึ้นแม้ไม่ใช่ในทางการค้าแบบทรัมป์ แต่ก็ไปออกทางยุทธศาสตร์การทหาร ด้วยการทำให้ปัญหาจีนเป็นปัญหาใจกลางของนโยบายต่างประเทศไป กระทั่งทำให้ความสัมพันธ์กับกลุ่มนาโตบาดหมางและห่างเหินกันออกไปอีก สุดท้ายไบเดนก็ ‘อเมริกามาก่อน’ อีกเหมือนกัน

แต่ถ้าดูจากการที่ประธานาธิบดีไบเดนพยายามติดต่อพูดคุยโดยตรงกับสีจิ้นผิงหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและล่าสุดก็มีการปล่อยตัวหมิงว่านโจว ( Meng Wanzhou) ผู้บริหารระดับสูงและบุตรสาวของเจ้าของบริษัทหัวเว่ย หลังจากถูกจับกุมตัวในแคนาดาไปถึงสามปี ข้อหาละเมิดกฎหมายอเมริกันในการติดต่อค้าขายกับอิหร่าน ซึ่งเธอถูกจับสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ก็อาจมองได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณลดระดับความตึงเครียดระหว่างสองประเทศลงได้บ้าง แต่น้ำเสียงของสื่อมวลชนจีนที่รายงานข่าวการปล่อยตัวนี้ต่างกันแบบเป็นคนละเรื่องเลย ในเมืองจีนข่าวการปล่อยตัวนี้ถูกเสนอว่านี่คือชัยชนะของจีนต่อตะวันตก พร้อมกับตอกย้ำว่าถ้าหากตะวันตกมาย่ำยีเหยียบหยามจีนอีกก็จะถูกตอบโต้อย่างสาสมต่อไป

ลึกลงไปแสดงว่าความรู้สึกต่อต้านและไม่กลัวอำนาจตะวันตกได้พุ่งสูงขึ้นเป็นลำดับในเมืองจีนแล้ว นั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีต่ออุณหภูมิของสัมพันธภาพระหว่างจีนกับตะวันตกในอนาคตที่ไม่ไกลนี้ ทั้งนี้เพราะเชื้อเพลิงของความขัดแย้งมีรออยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะในทิเบต ซินเจียงกับมุสลิมอุยกูร์ที่ตะวันตกกล่าวหาว่าถูกจับเข้าค่ายกักกันนับล้านๆ คน มาถึงฮ่องกงที่จีนใช้กฎหมายความมั่นคงเข้าจัดการปราบปรามจับกุมฝ่ายประชาธิปไตยเสรีอย่างไม่ไว้หน้า และสุดท้ายคือไต้หวันที่พร้อมจะระเบิดเป็นสงครามโลกได้

บรรยากาศของความไม่มั่นคงและไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อสองทศวรรษก่อนตอนที่จีนยังเพิ่งเริ่มทดลองสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบจีนนั้น ไม่มีใครคิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงมาเหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้เลย

ทั้งหมดนี้อธิบายความสับสนและไม่เป็นระบบไม่มีระเบียบในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของโจ ไบเดนได้อย่างไร การก้าวขึ้นมาของจีนในฐานะของผู้นำโลกประเทศใหม่ ถ้าเป็นสภาพการณ์ในอดีต ที่สหรัฐฯ ยังมีเอกภาพและความแน่นเหนียวภายในประเทศในด้านหลักๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เหมือนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจนถึงยุคสงครามเวียดนาม ลำพังแค่การท้าทายจากจีนเพียงประเทศเดียวคงไม่ทำให้สหรัฐฯ ถึงกับเสียศูนย์ไปได้มากขนาดนี้ แต่ในสภาพการณ์ขณะนี้ อเมริกากำลังเผชิญกับความแตกแยก ขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างผู้คนที่ยึดถืออุดมการณ์และความคิดทางการเมืองที่แตกต่างแบบไม่เผาผีกันเลย ระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันที่ไม่ยอมประนีประนอมกันอีกต่อไป มีแต่การหักล้างทำลายกันไปข้างหนึ่ง ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสี ระหว่างเพศสภาพ ระหว่างพลเมืองกับผู้อพยพลี้ภัย แม้แต่ในศาลสูงสุดของประเทศก็ถือหางในจุดยืนทางการเมืองที่ตรงข้ามกันระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษนิยมอย่างไม่ต้องอายสาธารณชนอีกต่อไป ถึงขนาดอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ผู้แพ้การเลือกตั้งทั่วไปยังออกมานำกลุ่มประชาชนเอียงขวาให้ออกมาเดินขบวนบุกทำลายเข้าไปถึงในตึกรัฐสภาคองเกรสด้วยการใช้กำลังและความรุนแรงชนิดที่ไม่เคยและไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในดินแดนแห่งประชาธิปไตยที่เป็นแม่แบบอันสมบูรณ์ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

ภายใต้สภาพสังคมและการเมืองที่ไม่สงบและไม่ปกติดังกล่าวนี้เอง การขึ้นมาและดำรงอยู่ในเวทีการเมืองโลกของจีน ในสภาพที่ตรงข้ามกับอเมริกาโดยสิ้นเชิง กลายเป็น ‘ปีศาจ’ ตัวใหม่ที่กำลังหลอกหลอนรัฐบาลและพรรคการเมืองไปถึงกลุ่มพลังการเมืองต่างๆ ในอเมริกาให้ยิ่งแสดงถึงจุดอ่อนและความอ่อนไหวของพวกเขาออกมา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save