fbpx
คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation

คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยีเกิดขึ้นรายวัน ทิศทางหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือการพยายามนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม นำไปสู่การถกเถียงเชิงทฤษฎีว่าคนในสังคมควรปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เข้ามายุ่มย่ามต่อชีวิตมนุษย์มากเพียงใด เมื่อเทคโนโลยีไม่ได้มีแต่ข้อดีในการทำให้ชีวิตสะดวกสบาย เป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมมากขึ้น แต่เทคโนโลยีสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมพลเมือง ตัดสินพฤติกรรมมนุษย์ จนถึงการใช้เป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจต่างๆ ที่นำมาซึ่งผลกระทบมหาศาล

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการรักษาความปลอดภัยในโลกโซเซียล เป็นคนหนึ่งในแวดวงเทคโนโลยีที่ทำงานอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเขาได้เข้าไปร่วมออกแบบกฎหมายและนโยบายที่เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ที่ผ่านมา ดร.ภูมิ ได้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development) หรือ RoLD ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดขึ้นเพื่ออบรมบุคลากรจากหลากหลายวิชาชีพให้เข้าใจเรื่องหลักนิติธรรมต่อการพัฒนาสังคม และต่อมา ดร.ภูมิ ร่วมกับผู้เข้าร่วมหลักสูตรส่วนหนึ่งได้นำมาต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการทำงาน สามารถเข้าถึงงานรูปแบบดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เขามองว่าสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยต้องปรับตัวสู่ความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล คือ คนที่มีอำนาจต้องเปิดกว้างว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง แต่กฎระเบียบข้อบังคับและความเข้าใจเก่าๆ จะเป็นสิ่งฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเดินไปในจังหวะเดียวกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

และนี่คือทัศนะของเขาถึงโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างความยุติธรรมในสังคม จนถึงทิศทางที่โลกดิจิทัลกำลังเคลื่อนตัวไปและส่งผลกระทบรอบด้านต่อชีวิตมนุษย์

คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation

 

ส่วนใหญ่ Digital transformation มักถูกพูดถึงในเชิงเศรษฐกิจ แล้วในเชิงสังคมได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

Digital transformation เปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างในสังคมเรา การนำเทคโนโลยีมาใช้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบของการทำธุรกิจ การอยู่ร่วมกัน จนถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม

ถ้าปล่อยให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบตามมีตามเกิด ไม่พยายามเข้าไปแทรกแซงเลย ใครทำไหวก็ทำ ใครทำไม่ไหวก็อดไป จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น เพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีต้องมีความรู้และมีเงิน ซึ่งคนสองกลุ่มนี้ต่อให้ไม่มีเทคโนโลยีก็ได้เปรียบคนอื่นอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีทำให้เขาเข้าถึงได้มากขึ้น จึงสามารถที่จะมีอำนาจและสร้างผลที่มากขึ้นได้

บางคนบอกว่าถ้าเราปล่อยให้ใช้เทคโนโลยีแบบตามมีตามเกิด อาจนำมาซึ่งการล่าอาณานิคมจากต่างชาติ แต่ผมไม่ชอบใช้คำที่แรงขนาดนั้น มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมโดยที่เราอยู่ภายใต้อำนาจหรือถูกควบคุมโดยแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีที่มาจากต่างชาติ

ใช่ว่าเทคโนโลยีจะทำร้ายสังคมอย่างเดียว มันสามารถเสริมให้สังคมไปสู่ความยุติธรรมที่มากขึ้นได้ มีการพูดถึงมากเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในสังคม ทำให้คนทุกคนเข้าถึงข้อมูล ลดการใช้วิจารณญาณและความรู้สึกในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่อยู่ในอำนาจได้ในเชิงทฤษฎี แต่การปฏิบัติจริงยากกว่าที่คิด เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจเทคโนโลยี พอไม่เข้าใจแล้วเทคโนโลยีก็เลยก็ไม่โปร่งใสในตัวเอง

พอคนไม่เข้าใจเทคโนโลยีแล้วจะทำให้กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่โปร่งใสอย่างไร

ตัวอย่างเช่นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีข้อโต้แย้งเรื่องนับคะแนนผิด บัตรดี-บัตรเสีย ซึ่งเป็นการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเขาไม่ได้ชอบพรรคใดพรรคหนึ่งเลยให้อีกพรรคหนึ่งมีบัตรเสียมาก จึงมีการพูดถึงการใช้เทคโนโลยีหลากหลาย ตั้งแต่โหวตด้วยเทคโนโลยีหรือกาแบบเดิมแต่ใช้ AI มานับคะแนนแทน

การโหวตด้วยเทคโนโลยีคือใช้ซอฟต์แวร์ในการบวกเลข คนแค่จะกดถูกจุดหรือไม่ถูกจุด ไม่มีการกานอกกรอบ เพิ่มความโปร่งใสและลดคอร์รัปชันได้ในเชิงคอนเซ็ปต์ แต่จะรู้ได้ยังไงว่าคนจัดเตรียมเทคโนโลยีไม่ได้ดีไซน์ให้พรรคนี้กดง่ายกว่าอีกพรรคหนึ่ง เพราะมีเทคนิคการดีไซน์ User interface (UI) ที่หลอกตาเราได้ รู้ได้ไงว่ามันบวกเลขหลังบ้านถูก เพราะคนไม่ได้ไปเห็นโค้ด

ถ้าเปลี่ยนเป็นให้คนกาในกระดาษแต่เอา AI มานับแต้ม รู้ได้ไงว่าชุดตัวอย่างที่ให้ AI ฝึกมันแฟร์จริง

เทคโนโลยีช่วยด้านสังคมได้ แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีและใช้ความพยายามกับมัน ไม่ใช่แค่ภาครัฐลุกขึ้นมาบอกว่าฉันจะ 4.0 แล้ว เอาเทคโนโลยีมาแล้วจะลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประโยชน์ทางสังคม

เทคโนโลยีประเภท AI ที่จะเอามาใช้ช่วยคน ถูกสร้างมาด้วยข้อจำกัดของสังคม ปัจจุบันเริ่มมีคนเอามาช่วยวิเคราะห์การปล่อยกู้เงิน เทคโนโลยีก็เรียนรู้จากพฤติกรรมการใช้เงินของคน ปรากฏว่าเทคโนโลยีพวกนี้ปัจจุบันเริ่มถูกวิเคราะห์แล้วว่ามันมี bias (อคติ) มันลำเอียงเข้าข้างคนผิวขาว เอาเปรียบคนผิวสี เพราะถูกสอนด้วยชุดข้อมูลที่ racist (การเหยียดเชื้อชาติ)

การจะใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาความโปร่งใสไม่ง่ายอย่างที่คิด ทำได้ แต่ต้องระวัง

ประเทศอื่นๆ เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาสังคม ความยุติธรรม และการสร้างนิติรัฐ-นิติธรรม ตอนนี้ประเทศไทยทำเรื่องนี้ในระดับไหน

เราอยู่ในจุดที่กำลังเริ่มต้น มีอีกหลายประเทศที่ยังไม่เริ่มเลย แต่ก็มีหลายประเทศมากที่ทำไปไกลแล้ว ภาครัฐของไทยเริ่มหันมาเห็นความสำคัญ ภาคเอกชนก็เริ่มรวมตัวกันมากขึ้น มีกลุ่มที่จะทำโอเพ่นดาต้า มีกลุ่มที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาทำโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เยอะขึ้น แต่เทียบเป็นสัดส่วนแล้วก็ยังไม่เยอะมาก

มองในแง่ดีคือเรากำลังติดสปีดเร่งความเร็ว ภาครัฐเห็นความสำคัญมากขึ้น มีโปรเจกต์ที่ผมเข้าไปเป็นอนุกรรมการช่วยออกแบบอยู่ คือ รัฐธรรมนูญระบุว่าจะออกกฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็น แต่ไม่ได้ให้วิธีการ ทุกหน่วยงานก็อ้างว่ารับฟังความคิดเห็นแล้วด้วยการจัดสัมนาเล็กๆ คนที่ตัวเองไม่ชอบก็ไม่เชิญมา กฤษฎีกาจึงกำลังจะเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาแล้วเขียนกฎหมายว่าทุกหน่วยงานในประเทศไทยต้องรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบนี้ โดยกฤษฎีกาจะเป็นคนกลาง ยกเว้นถ้าได้รับคำสั่งพิเศษจากครม. หรือมีกฎหมายเฉพาะที่ไม่ต้องมาใช้สิ่งนี้

เมื่อคนแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มแล้วเขาจะสรุปความคิดเห็นส่งกลับไปให้หน่วยงาน โดยที่หน่วยงานนั้นไม่สามารถเลือกความคิดเห็นได้ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสมากขึ้น และหากเราสนใจเรื่องอะไรก็เข้าไปที่แพลตฟอร์มแล้วบอกว่าเราสนใจกฎหมายที่มีคีย์เวิร์ดนี้ หากมีการแก้กฎหมายเราจะได้รับแจ้งเตือนให้มาแสดงความเห็น ทำให้ทิศทางความเห็นไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่คนร่างกฎหมายเชิญมา

นี่เป็นตัวอย่างของการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหาทางสังคม เข้ามาแก้ปัญหานิติรัฐ นิติธรรม แต่มีประเด็นที่ต้องระวังคือคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและคนพิการจะมีปัญหา เราต้องออกแบบให้คนเหล่านี้แสดงความคิดเห็นได้ด้วย

การจะใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำแล้วให้คนทั้งสังคมเข้าถึงจริง ต้องใช้ความพยายาม ไม่ใช่แค่ออกแบบให้แก้ปัญหาทางสังคมได้ แต่ต้องออกแบบให้ดูแลคนทั้งสังคมได้พร้อมๆ กันด้วย

คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation

เพราะอะไรการใช้เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนหรือ AI เพื่อแก้ปัญหาสังคมจึงยังไม่แพร่หลายในไทย

เรื่องค่าใช้จ่ายไม่ใช่ประเด็นใหญ่นัก เราที่ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นจะมีประเด็นเรื่องกำลังคนมากกว่า ระบบการศึกษาเราไม่สามารถสร้างคนมาทำงานด้านนี้ได้ในจำนวนมาก ในวงการก็รู้จักกันทุกคน เพราะมันเล็กมาก เป็นคนที่ขวนขวายเข้ามาด้วยตัวเอง เทคโนโลยีต้องเริ่มที่คน ต้องมีคนก่อน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก

ส่วนเรื่อง AI ข้อจำกัดของเราไม่ใช่แค่เรื่องคนอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องข้อมูลด้วย ข้อมูลของภาครัฐไม่ค่อยยอมเปิดให้คนเข้าถึงได้ง่ายนัก มีการกีดขวาง มีข้อจำกัดเยอะ ข้อมูลที่หากันเองได้ในวงการเอกชน open source เริ่มมีเยอะ แต่ข้อมูลเป็นทางการที่น่าเชื่อถือจากภาครัฐยังหยิบมาใช้ไม่ค่อยได้ ทำให้ทำโปรเจกต์พวกนี้ยากหน่อย

มีเครื่องมือไหนที่สามารถหยิบมาใช้เพื่อช่วยสร้างความยุติธรรมในสังคมได้เลย เช่นที่คนอาจจะพูดถึงบล็อกเชนกันเยอะ

เทคโนโลยีดิจิทัลทำได้ทั้งนั้น อินเทอร์เน็ต สมาร์ตโฟน โมบายแอพพลิเคชั่น 3จี 4จี 5จี แต่เทคโนโลยีตอนนี้คนจะพูดถึงบล็อกเชนกับ AI เยอะ ทั้งคู่เข้ามาช่วยได้และก็เข้ามาทำลายได้ โดยเฉพาะ AI

เราอาจได้เห็นบล็อกเชนใน 10 ปี แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่เรื่องที่คนเอามาดีเบตกันเฉยๆ ตัวอย่างที่บล็อกเชนช่วยเพิ่มความโปร่งใสคือการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและการันตีว่าไม่มีหน่วยงานรัฐไหนจะไปถอนสิทธิการมีส่วนร่วมนั้นได้ เช่น เลือกตั้งครั้งล่าสุดมีพรรคการเมืองหนึ่งเสนอให้เอาบล็อกเชนมาใช้กับประชาธิปไตยทางตรง แต่ประชาธิปไตยทางตรงไม่ได้เหมาะกับทุกเรื่อง โจทย์ที่สามารถทำได้ เช่น จะยอมให้ใช้พาราควอตหรือไม่ ปัจจุบันเราไม่มีวิธีถามที่มีประสิทธิภาพพอ จัดสัมมนาล็อบบี้ยิสต์หรือเอ็นจีโอก็ขนคนของตัวเองมา

ถ้าเราเริ่มลงทุนพัฒนาบล็อกเชนตอนนี้ อีก 3 ปีเราอาจมีเทคโนโลยีที่คนทั้งสังคมสามารถมาแสดงความเห็นแล้วรัฐไม่สามารถแทรกแซงได้ เพราะหากใช้เทคโนโลยีอื่น รัฐหรือเอกชนจะเข้าไปแทรกแซงให้ผลออกมาเป็นอย่างที่ต้องการได้เสมอ แต่การออกแบบบล็อกเชนช่วงแรกค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่ง่ายที่เอ็นจีโอจะทำกันเอง ถ้าผลักดันให้ภาครัฐทำร่วมกับภาคประชาสังคมได้จะเป็นโอกาสที่บล็อกเชนจะทำได้อีกหลายโจทย์

ส่วน AI สามารถเข้ามาช่วยลดวิจารณญาณและลดปริมาณข้าราชการได้ เมื่อค่าใช้จ่ายของรัฐลดลง ก็แบ่งเงินภาษีไปช่วยคน ลดความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น แต่มีข้อกังวลว่าการออกแบบ AI อาจมีอคติที่ทำให้คนชาติพันธุ์หรือคนพิการเสียเปรียบ เพราะ AI ตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงถึงความเห็นอกเห็นใจคนเหล่านั้น ข้อเสียอีกอย่างคือคนที่เข้าถึงได้ต้องมีเงินและความรู้มาก ถ้าปล่อยไปเฉยๆ จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำสูงมาก เพราะคนที่มี AI จะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่มีมาก ตอนนี้ทั้งโลกจึงแข่งกันเป็น AI superpower

ที่สำคัญคือประเทศไทยยังไม่มีนโยบายเรื่อง AI แต่มาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี จีน มี ยุทธศาสตร์ AI ระดับชาติแล้ว อินโดนีเซียก็กำลังเขียนอยู่

นโยบายระดับชาติด้าน AI ที่ว่าจะเป็นการวางแผนที่จะใช้เพื่อพัฒนาหรือเพื่อควบคุม

ต้องทำทั้งคู่ คำว่า ‘ควบคุม’ มี 2 แบบ คือ ควบคุมประชาชนกับควบคุม AI ถ้าควบคุมประชาชนไม่ต้องเอามาคุยเลย ไม่ควรเอา AI มาควบคุมประชาชน เป็นไอเดียที่แย่มาก

เวลาพูดถึงนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับ AI ต้องมองว่าจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในประเทศอย่างไร ต้องควบคุมการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ไม่เกิดผลเสียต่อประเทศได้อย่างไร จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างไร ส่วนเรื่องประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เดี๋ยวนักธุรกิจเขาทำเอง รัฐอาจต้องช่วยให้ไปแข่งกับนักธุรกิจต่างชาติได้ โดยต้องไม่ทิ้งภาคสังคม

ปัญหาคือพอเราไม่มีนโยบายระดับชาติแล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงนโยบายการใช้ AI เพื่อสังคม เหมือนเรากำลังปล่อยเกียร์ว่าง คนมีความรู้สูงกับคนมีเงินเยอะจะได้เปรียบคนอื่นในสังคมมาก ระดับโลกพยายามแก้ปัญหานี้โดยหลายองค์กรเริ่มเอา AI มาให้คนในสังคมใช้ฟรี แต่คนมีเงินก็ยังได้เปรียบมหาศาล จึงต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ

ส่วนการใช้ AI ควบคุม มีคนพยายามเอาเทคโนโลยีมาควบคุมประชาชนเยอะมาก อย่างจีน

เราต้องคุยกันในสังคมว่าจะให้เทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตแค่ไหน เมืองซานฟรานซิสโกออกกฎหมายมาแล้วว่าไม่อนุญาตให้ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ AI ทำ Face Recognition ในพื้นที่สาธารณะ เพราะแม้จะเป็นที่สาธารณะแต่คนก็ยังต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่ คุณจะเห็นผมอยู่ตรงนั้นเฉพาะเวลาที่คุณก็อยู่ตรงนั้นด้วย ไม่ใช่เอากล้องมาติดตามว่าผมเดินไปมุมไหนบ้าง เป็นมุมมองว่าไม่ต้องการให้คนที่มีทรัพยากรและเทคโนโลยีเอามาใช้ควบคุมคน ตรงข้ามกับอังกฤษที่มีกล้องวงจรปิดติดอยู่ทุกมุมถนน รู้ว่าคนอังกฤษคนไหนเดินผ่านแถวไหนบ้างตลอดเวลา โดยอ้างว่าทำเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย เช่นเดียวกับหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ทั่วโลก

ส่วนจีนคือฉันจะติดตามดูประชากรทุกคน ใครพูดจาไม่ดีต่อ สี จิ้นผิง เมื่อไหร่จะไม่มีสิทธิขึ้นรถไฟ โหดร้ายมาก จีนมีนโยบายระดับชาติเรื่อง AI ที่เข้มแข็งมาก เอกชนเขาทำเรื่องนี้ได้ดีมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แข่งกับอเมริกาได้เลย แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพถูกพูดถึงอย่างจำกัดมาก

คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation

เทรนด์ระดับโลกมุ่งใช้เทคโนโลยีไปในทางส่งเสริมสิทธิของพลเมืองหรือควบคุมพลเมืองมากกว่ากัน และจะส่งผลต่อการสร้างนิติรัฐและความยุติธรรมในสังคมอย่างไร 

ในอดีตกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้วอย่างในยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เน้นไปทางส่งเสริมสิทธิประชาชนมากขึ้น ส่วนกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างเอนเอียงไปทางอำนาจนิยมจะเน้นใช้เทคโนโลยีมาควบคุมประชาชน แต่เทรนด์ในปัจจุบัน ระบบการปกครองโลกมีการเหวี่ยงกลับของอนุรักษนิยม เริ่มมีไอเดียการเอาเทคโนโลยีมาควบคุมประชาชนมากขึ้น เทรนด์ในอนาคตจึงอาจจะเปลี่ยน

ส่วนเรื่องนี้จะส่งผลต่อการสร้างนิติรัฐอย่างไร จริงๆ นี่เป็นดีเบตทางปรัชญา ส่วนตัวผมเชื่อว่าระบบนิติรัฐกับความยุติธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้จริงต้องมีการมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้โดยทุกคน เพราะคนจะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง การใช้เทคโนโลยีมาควบคุมประชาชนย่อมสุ่มเสี่ยงต่อระบบนิติรัฐ แต่ในโลกความเป็นจริง ประเทศจีนใช้เทคโนโลยีควบคุมประชาชนเยอะแต่ปัญหาของระบบนิติรัฐดีขึ้นทั้งๆ ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพน้อยลงแปลว่าทฤษฎีอาจจะไม่ได้เวิร์คขนาดนั้น จีนกำจัดข้าราชการคอร์รัปชันที่กดขี่ประชาชนไป

จากมุมมองของผมทฤษฎีต้องเปลี่ยนเล็กน้อย คือเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ถ้าคนที่ออกกฎหรือคนที่ควบคุมเทคโนโลยีต้องการจะทำสิ่งที่ดี เทคโนโลยีก็ช่วยได้ ฉะนั้นการเข้ามาควบคุมประชาชน ถ้าผู้นำเป็นคนดี ต้องการทำสิ่งที่ดีก็แก้ปัญหาทุจริตได้ คำถามคือผู้นำจะเป็นอย่างนั้นตลอดไปหรือเปล่า ถ้ากำจัดศัตรูหมดแล้วพรรคพวกตัวเองเริ่มทุจริตจะเอาจริงเอาจังเท่าเดิมไหม ถ้าเขาเถรตรงจริง การควบคุมก็อาจจะเวิร์คในแง่การลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มนิติรัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่าเพิ่มนิติรัฐแต่ไม่ทำให้คนมีสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ดีนะ ต้องแยกเป็นสองโจทย์

คำถามที่ผมคิดว่าสำคัญกว่า คือ หากการได้มาซึ่งนิติรัฐและความสงบในสังคม ต้องแลกมาด้วยการไม่มีสิทธิเสรีภาพ สังคมที่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันนิดหน่อยแต่มีสิทธิเสรีภาพ ดีกว่าสังคมที่ระบบนิติรัฐแข็งแรงมาก คนทุจริตไม่ได้ แต่คนดีก็พูดอะไรไม่ได้เลย อันนั้นผมไม่เห็นด้วย

ในระยะยาวผมไม่คิดว่าการใช้เทคโนโลยีมาควบคุมประชาชนจะแก้ปัญหาได้ ช่วงแรกอาจทำได้ถ้าผลประโยชน์ของผู้นำตรงกับผลประโยชน์ของสังคม แต่ถ้าผลประโยชน์ไม่ตรงกันแล้วเทคโนโลยีก็ต้องเดินตามคนที่มีอำนาจ เราจึงต้องสร้างเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอำนาจคนทั่วไป เพราะหากระบบนิติรัฐอยู่กับเราได้แค่นายกฯ หนึ่งคน มันไม่ดีพอหรอก เราไม่รู้ว่าคนถัดไปจะเปลี่ยนเอาเทคโนโลยีนั้นมาทำสิ่งที่ไม่ดีหรือเปล่า

มีประเทศไหนบ้างที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการใช้ AI กับกระบวนการยุติธรรม

เกาหลีใต้ทำได้ดี แต่ที่พัฒนามากๆ จะเป็นเอสโตเนียกับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เอสโตเนียมีผู้พิพากษาที่เป็น AI แล้ว ประชากรเขาล้านเดียว ผู้พิพากษา AI ก็จะตัดสินคดีพิพาทเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขับรถชนแล้วต้องจ่ายค่าเสียหาย ผ่าไฟแดงแล้วต้องจ่ายค่าปรับ แล้วให้ AI ตัดสินว่าคดีนี้ควรปรับสูง ปรับต่ำ หรือไม่ปรับเลย เขาอ้างงานวิจัยของอเมริกาที่บอกว่า ถ้าผู้พิพากษาเป็นคนทำยังไงก็ไม่แฟร์ เพราะจะเหนื่อยล้า ถ้าตัดสินคดีง่ายๆ อย่างขับรถฝ่าไฟแดง 30 คดี ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ตอนเริ่มนั่งจะตัดสินโทษเบาเพราะยังไม่เหนื่อย แต่พอถึงคดีท้ายๆ คำตัดสินจะเอ็กซ์ตรีมมากขึ้น ไม่ปรับน้อยมาก ก็ปรับแพงมาก พอสมองเราล้าก็จะเริ่มไม่อยากเปรียบเทียบรายละเอียดแล้ว เอสโตเนียเลยลองใช้ AI เพราะมันไม่เหนื่อย

อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ ผมไม่คิดว่าในระยะยาวจะเวิร์ค แต่ข้อดีคือคนที่โดนตัดสินด้วย AI ถ้าไม่พอใจก็อุทธรณ์ให้มีคนมาดูอีกทีได้ ประเด็นของผมคือมีประเทศที่กล้าทำขนาดนี้แล้ว แต่ยังพูดชัดๆ ไม่ได้ว่า ความก้าวหน้านี้เป็นเรื่องดี

อีกข้อดีหนึ่งสำหรับคนที่โดน AI ตัดสินคือไม่ต้องมาที่ศาล ส่งเอกสารทุกอย่างทางออนไลน์ แล้วคำตัดสินจะมาทางออนไลน์ และอาจเพราะมันเป็นคดีเล็กๆ คนจึงอาจจะโอเคก็ได้ เพิ่งเริ่มใช้มาได้ไม่ถึงปี แต่อย่าเอาเอสโตเนียมาเทียบกับไทย ประเทศเราใหญ่กว่าเขามาก แต่คดีเล็กแบบนี้เราใช้การเปรียบเทียบปรับซึ่งนำมาซึ่งปัญหาทุจริตอื่นๆ แต่หากเปลี่ยนมาใช้ AI เปรียบเทียบปรับแทนตำรวจก็อาจทำให้ปัญหาบางอย่างลดลงและปัญหาอย่างอื่นเพิ่มขึ้น

คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation

มองว่ากฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ที่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างมีการบาลานซ์เรื่องการส่งเสริมสิทธิพลเมืองกับการควบคุมพลเมืองอย่างไร กฎหมายที่ออกมาเป็นไปตามจุดมุ่งหมายก่อนที่จะเข้าไปร่วมร่างหรือเปล่า

หลักการแรกเริ่มคือเราจำเป็นต้องมีกฎระเบียบให้รัฐสามารถจัดสรรทรัพยากรและอำนาจมาดูแลยามเกิดปัญหาได้ แต่ปัญหาคือคนร่างกับคนใช้อำนาจไม่เข้าใจเรื่อง cyber security เทคโนโลยี สังคม และธุรกิจมากพอ กฎหมายจึงเป็นการใช้อำนาจปกครองควบคุมทั้งสิ้น ไม่มีกลไกของการใช้ความร่วมมือทางสังคม ไม่มีกลไกการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจ ไม่มีกลไกให้ประชาชนหรือภาคสังคมมีส่วนร่วม แล้วยังพยายามบายพาสระบบยุติธรรม ด้วยการให้บายพาสศาลได้ในบางกรณี

ผมไม่ได้กังวลว่าจะมีการใช้กฎหมายด้วยเจตนาร้าย แต่กังวลเรื่องความไม่เข้าใจมากกว่า ประเทศเรามีความพยายามจะใช้กฎหมายนอกเหนือไปจากสิ่งที่เหมาะสมเยอะมาก เช่น ทะเลาะกันเพราะปัญหาการเมือง หาว่าคนนั้นทุจริต คนนี้ไม่ดี แทนที่จะแก้ด้วยเครื่องมือทางการเมือง กลับไปแก้ด้วยเครื่องมือทางกฎหมาย ตีความว่าการด่ากันในโลกออนไลน์ผิดกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์แทนที่จะผิดกฎหมายหมิ่นประมาท เพราะตีความแบบนั้นแล้วสะดวก เกิดใช้พ.ร.บ.มั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตีความแบบนั้นจะยิ่งแย่ พ.ร.บ.คอมพ์ยังแค่ไปฟ้องศาลแล้วศาลตัดสินตามพ.ร.บ.คอมพ์ถ้าผิดก็ติดคุก แต่พ.ร.บ.มั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้อำนาจเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์ ยึดข้อมูล เข้าไปดักฟังได้ บางอย่างต้องขออำนาจศาล แต่การขอศาลที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพคน ต้องให้โอกาสเขาปฏิเสธด้วย ปัญหาคือศาลเห็นหลักฐานจากข้าราชการฝ่ายเดียว แล้วผู้พิพากษาจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก ฉุกเฉินมาก ด่วนมากจริงๆ ส่วนใหญ่ก็คงเซ็นต์ไปเพราะกลัวปัญหาลุกลาม

ระบบยุติธรรมจะแฟร์เมื่อผู้พิพากษาได้ฟังเหตุผลทั้ง 2 ข้าง แต่การขอบุกบ้านคนเข้าไปยึดข้อมูลเขา โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าคนนั้นทำความผิดไหม ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วย

เคยมีอาจารย์กฎหมายบอกผมว่ากฎหมายของประเทศเรา 90% เขียนโดยข้าราชการ ผ่านในยุครัฐประหาร ฉะนั้นต่อให้เรามี ส.ส. และผู้พิพากษาที่เป็นอิสระ แต่ระบบของประเทศ 90% เป็นอำนาจที่เขียนโดยระบบราชการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เลยมีความไร้ประสิทธิภาพในระบบการปกครองอยู่เยอะมาก ตอนนี้ก็หวังว่าเรามี ส.ส. แล้วเขาจะเริ่มมีทีมเขียนกฎหมายของเขาเองที่ฟังประชาชนมากขึ้น

ได้เข้าไปร่วมหลักสูตร RoLD ของ TIJ ได้เห็นประเด็นอะไรใหม่ๆ เรื่องความยุติธรรม

ได้เปิดโลกเลยครับ หลักสูตรนี้ทำให้เห็นว่าแม้แต่หลักกระบวนการยุติธรรมเองก็มีปัญหาที่ต้องเจอ เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่แค่ผู้พิพากษาตัดสินคดี แต่หลังจากนั้นมีการดูแลคนที่โดนตัดสินไปแล้ว การปรับเขากลับเข้าสู่สังคม เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยที่หลายอย่างต้องมาแก้กันที่ข้างนอกด้วย

เชื่อว่าสาเหตุที่เขาเปิดหลักสูตรนี้ให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างผมเข้าไปเรียน เพื่อให้เรารู้และช่วยคิดว่าจะแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมจากมุมมองนอกระบบได้อย่างไรบ้าง เช่น การลดคดีที่ไปสู่ศาลอาจทำได้ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้คนติดยาเสพติดน้อยลงหรือมีช่องทางหารายได้มากขึ้น

สิ่งที่ผมได้ประโยชน์มากที่สุดจากหลักสูตรนี้คือได้เข้าใจคำว่า ‘หลักนิติธรรม’ (rule of law) ผมทำงานในวงการเทคโนโลยีแต่ก็ทำนโยบายสาธารณะด้วย ไปช่วยเขาร่างกฎหมาย ช่วยดูแลระบบ ช่วยการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ ซึ่งมุมมองผมในอดีตเป็นมุมมองของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และนักวิชาการ แต่ไม่มีมุมมองของหลักนิติธรรม ผมมองแต่ประสิทธิภาพ ไม่ได้ดูให้แน่ว่าสิ่งที่เราทำจะดูแลทุกคนในสังคม รวมถึงคนที่ด้อยโอกาสด้วย เรื่องพวกนี้ต้องทำก่อนถึงกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ระบบการศึกษา ระบบการปกครอง

ทราบว่ามีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับ RoLD เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมอย่างไรบ้าง

ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีหลายมิติ เรามุ่งเน้นไปยังคนที่กลับเข้าไปติดอยู่ในห่วงโซ่ของกระบวนการยุติธรรม ทำผิดกฎหมาย ติดคุกออกมาแล้วก็วนกลับเข้าไป เขาหางานดีๆ ทำไม่ได้ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเขียนไว้เต็มไปหมดว่าถ้าเคยมีคดีจะหางานประจำทำไม่ได้ ทำมาค้าขายได้แต่ก็ไม่มั่นคง แล้วสิ่งที่คนข้างบนทำ ถ้าทำให้เศรษฐกิจไม่ดี จะกระทบคนพวกนี้รุนแรงมาก แม่ค้าที่ตลาดเป็นคนแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เพราะสายป่านเขาไม่ยาว ตลาดเขาไม่กว้าง คนที่เคยถูกตัดสินว่าผิดแม้ว่าครั้งแรกอาจจะไม่ได้ทำอะไรผิดมากมาย แต่พอมีความผิดติดตัวปุ๊บไม่สามารถกลับมาอยู่ในสังคมที่มีความมั่นคง มีอาชีพประจำได้ เหลือแต่อาชีพที่ไม่มั่นคง สัก 1-3 ปี เขาอาจกลับไปพึ่งสิ่งที่ไม่ดีอีก

เราก็เลยคิดว่าจะปลดล็อคด้วยการสร้างอาชีพ สร้างความรู้ให้เขา โดยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเปิดตลาดออนไลน์ เพราะโลกออนไลน์ไม่ต้องเจอหน้ากัน บริษัทที่ทำธุรกิจในโลกออนไลน์อาจจะพร้อมจ้างคนที่เคยมีคดีเพื่อทำงานบางอย่างให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เข้าถึงแหล่งงานที่กว้างขวางขึ้น ทำให้เขามีรายได้เสริมมากขึ้นตามเวลาที่เขามี นั่นก็คือแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นให้สามารถแจกจ่ายงานรูปแบบดิจิทัลได้ทุกรูปแบบ ซึ่งงานประเภทนี้มีเยอะ งานแปลเอกสาร งาน data cleansing งาน data classification คอยแท็กว่ารูปนี้จริง รูปนี้ไม่จริง คำนี้แปลว่าอะไร คำนี้ดี คำนี้ไม่ดี ซึ่งต้องการทักษะเพียงเล็กน้อย เข้าใจภาษาไทยก็สามารถทำได้

เมื่อเขาเริ่มมาทำงานแล้วจะมีการเก็บสะสมข้อมูลว่าคนนี้ขยันมากน้อยแค่ไหน ทำงานคุณภาพดีแค่ไหน คนนี้อาจจะความรับผิดชอบสูงแต่ไม่มีทักษะภาษาอังกฤษที่จะทำให้ได้ค่าแรงแพงกว่า ก็ให้เอ็นจีโอที่ทำเรื่องนี้หาเงินทุนมาแล้วให้คูปองเขาไปเรียนภาษาอังกฤษ มีกระบวนการที่ทำให้เราเข้าใจว่าปัญหาของเขาคืออะไร แล้วก็ไล่แก้ไป

ในอนาคตเราจะใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ว่าคนเหล่านี้มีความต้องการอะไร อาจขยายไปสู่การช่วยเขาหางานทำ กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่เขากับคนที่พร้อมจ้างคนเคยติดคุก มีประวัติการทำงานว่าคนกลุ่มนี้มีความขยัน จะเป็นแหล่งที่เปิดโอกาสให้เขา

ที่จริงเราอยากเข้าไปทำกับกลุ่มที่เคยติดคุกหรือกำลังติดคุกอยู่ แต่มีสิ่งที่ต้องไปฝ่าฟันก่อน ช่วงแรกจึงเริ่มจากชุมชนคลองเตย คนที่ด้อยโอกาส เด็กที่ไม่มีพ่อแม่หรือเด็กที่ต้องหาเช้ากินค่ำร่วมกับพ่อแม่ ซึ่งกลุ่มคนด้อยโอกาสไม่มีเหตุผลให้เขามาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จะทำให้เกิดช่องว่างห่างออกไปเรื่อยๆ เขาต้องหัดใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่ใช่การนั่งเล่นเกม หวังว่าเขาจะเห็นประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ และชวนเพื่อนบ้านมาหัดใช้กัน ตอนนี้อุปกรณ์พวกนี้ไม่ได้แพงมาก อินเทอร์เน็ตก็แพร่หลายมากแล้ว คิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หลายมิติ ทั้งความเหลื่อมล้ำเชิง digital literacy ความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ ความเหลื่อมล้ำเชิงโอกาส

นี่คือสิ่งที่ระดมความคิดกันหลังจากเรียนกับ TIJ ไป 4-5 เดือน น่าจะเป็นอะไรเล็กๆ ที่ไม่ได้ทำยากมาก ซึ่งกำลังจะเริ่มทำจริงจังกับกลุ่มคนด้อยโอกาสในชุมชนคลองเตย

คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation

จากการเข้าร่วมหลักสูตรนี้มองว่าการมีความรู้ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมจำเป็นสำหรับนักเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง

จำเป็นมาก นักเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะโฟกัสอยู่ที่ตัวเทคโนโลยีจนลืมนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าใช้เทคโนโลยีโดยไม่ดูตาม้าตาเรือจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำแล้วเกิดผลที่ไม่ดีต่อโลก โดยเฉพาะคนที่ต้องคิดวิธีนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคม คำนึงถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนอื่น คำนึงว่าเทคโนโลยีที่เอามาใช้มีโอกาสสร้างผลข้างเคียงต่อคนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีเหมือนเรา ซึ่งการเข้าใจหลักนิติธรรมจะช่วยเติมสิ่งนั้นให้เต็มได้

นอกจากนี้ยังต้องมีความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจผู้อื่น ปัญหาของนักเทคโนโลยีคือจะมีความเป็นหุ่นยนต์เล็กน้อย ไม่ค่อยมีอารมณ์ความรู้สึก แต่สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีต้องใช้โดยคน ใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน แล้วกระทบชีวิตคน ถ้าเราสร้างเทคโนโลยีโดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นปลายทางจะมีโอกาสที่จะร้ายมากกว่าดี

โลกเรามีตัวอย่างเทคโนโลยีที่ผลออกมาร้ายมากกว่าดีเยอะ กระทั่งเทคโนโลยีที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะให้โทษได้มากขนาดนั้น อย่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลาย เราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายมันจะถูกนำมาใช้จัดการสังคมจนได้ โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ใครจะไปคิดว่าที่เราเล่นๆ กันอยู่นี่จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกนี้ได้

ในความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเร็วมาก ประเทศไทยควรเตรียมตัวรับมืออย่างไร ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนทั่วไป ต้องทำอะไรบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมาแน่นอน เราต้องเปิดใจให้กว้างพร้อมเข้าใจว่าโลกกำลังเปลี่ยน ใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจตอนนี้ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ถ้าไม่เข้าใจต้องหลีกทางโดยอาจจะหาคนอื่นมาทำแทน วิบากกรรมที่ผมเจอคือบางคนคิดว่าตัวเองเข้าใจ ทั้งที่ไม่เข้าใจและไม่อยากเข้าใจมากไปกว่าที่ตัวเองเข้าใจ เป็นปัญหาที่จะไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้

สังคมไทยมีข้อเสียคือมีระบบอาวุโส วัยวุฒิสำคัญกว่าคุณวุฒิ เก่งแค่ไหนแต่ถ้าอายุน้อยกว่าต้องฟังคนอายุมากกว่า ซึ่งไร้สาระมาก

สิ่งนี้มันใช้ได้กับโลกในอดีตที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลัก 10 ปี ขณะที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหลักปี อายุมากกว่าก็ย่อมได้เปรียบคนอายุน้อยกว่า แต่พอโลกเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงกันหลักวันกับหลักสัปดาห์ แล้วคุณดำรงชีวิตในหลักปี มันก็เข้ากันไม่ได้ เหมือนเอาไม้เมตรมาวัดสิ่งที่ขนาดหลักมิลลิเมตร วัดยังไงก็ไม่แม่น

สังคมไทยต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น ต้องพร้อมเปิดรับเทคโนโลยี และต้องหาวิธีเร็วที่สุดที่จะกำจัด red tape ทั้งหลาย เรามีกฎระเบียบ มีกฎหมายเยอะเกินไป ใครจะทำอะไรต้องอ้อนวอนขอรัฐตลอดเวลา บริษัทไทยจะเสียเปรียบมากในโลกเทคโนโลยี กว่าจะขอเจ้าหน้าที่รัฐทำนั่นนี่ ต่างชาติเขาพัฒนาเทคโนโลยีเสร็จจนมีลูกค้าแล้ว ผมถึงได้ตั้งข้อสังเกตว่านวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไม่มีการควบคุมเท่านั้น

คุยกับ ภูมิ ภูมิรัตน ประเทศไทยต้องรอดใน Digital Transformation


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save