fbpx
ร่องรอยวิกฤตโควิด ในชีวิตคนต่างเจเนอเรชัน : ภูเบศร์ สมุทรจักร

ร่องรอยวิกฤตโควิด ในชีวิตคนต่างเจเนอเรชัน : ภูเบศร์ สมุทรจักร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

 

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมการระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่แค่ต้องระมัดระวังเชื้อโรค แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องระวังหลังจากมีนโยบายให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ

จากลูกที่ต้องไปโรงเรียน พ่อแม่ต้องไปทำงาน คนโสดใช้ห้องไว้เป็นแค่ที่พักหลังเลิกงาน กลายเป็นผู้คนต้องมาอยู่รวมกันในที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน ความต่างของเจเนอเรชันจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง รวมถึงวิธีการรับมือของคนต่างเจเนอเรชันที่มีภาระชีวิตต่างกันไปในภาวะวิกฤตเช่นนี้

101 สรุปความจากรายการ 101 One-On-One Ep.127 ที่คุยกับ ภูเบศร์ สมุทรจักร กลุ่มสาขาวิชาประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและเจเนอเรชัน

คนแต่ละช่วงวัยเผชิญโควิดต่างกันอย่างไร มีปัญหาสำคัญเฉพาะรุ่นไหม เด็กเจเนอชันล่าสุดอย่าง Z-Alpha จะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน โควิดเข้ามาเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้หรือไม่ อย่างไร และหน้าตาของครอบครัวไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ฟังรายการ 101 One-On-One Ep.127 : ร่องรอยวิกฤตโควิดในชีวิตคนต่างเจเนอเรชัน – ภูเบศร์ สมุทรจักร

 

Working Generation

รับศึกรอบทิศทางในวิกฤตโควิด

 

เจเนอเรชันที่แบกรับภาระในการดูแลสังคมแบบรอบด้านจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือ working generation เป็นเจเนอเรชันที่อยู่ในภาวะการทำงาน ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองด้วย ดูแลเจเนอเรชันที่อายุน้อยกว่าเขาด้วย ซึ่งคือลูก และต้องดูแลเจเนอเรชันที่อายุมากกว่าเขาด้วย อาจจะเป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ เจเนอเรชันนี้เป็นกำลังหลักของครอบครัว

working generation รวมเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ช่วงปลาย ซึ่งตอนนี้อายุ 60 กว่าๆ เดี๋ยวนี้หลายคนก็ยังทำงานอยู่ ยังกระฉับกระเฉง ถัดจากนั้นก็เป็นเจเนอเรชัน X และ Y ช่วงต้นถึงกลาง กลุ่มเจเนอเรชันเหล่านี้จึงมีความอึดอัดและมีความเครียดค่อนข้างสูง กลุ่มที่อยู่ในวัยทำงานก็จะซาบซึ้งกับเหตุการณ์โควิดมากกว่าเจเนอเรชันอื่นๆ

คนเจเนอเรชัน X ช่วงต้นหรือกลาง จะนึกออกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เป็นอย่างไร ตอนที่คนพูดถึงเรื่องเลย์ออฟ เปิดท้ายขายของ เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเอง ถูกเลิกจ้างงาน ต้องประหยัด ส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไร ตอนนี้ลักษณะก็จะคล้ายๆ กัน

ผมคิดว่าคนที่จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องการปรับตัว คือเจเนอเรชันที่อายุไม่มาก เช่น X ปลายๆ ลงไปจนถึง Y, Z เขาปรับตัวได้เร็วกว่า เนื่องจากมีอัตราการเรียนรู้สูง มีความคล่องตัวในการใช้เทคโนโลยี ถ้าเทียบกับผู้สูงอายุที่รอฟังข่าวจากโทรทัศน์ หรือใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียในการตามข่าวโควิด-19 ได้ไม่คล่องตัวเท่าเจเนอเรชันเด็กๆ

 

Z : เจเนอเรชันแห่งอนาคต

 

เจเนอเรชัน Z นับเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2547-2566 ซึ่งตอนนี้ยังเกิดไม่ครบทั้งเจเนอเรชัน ในด้าน Generational Study นับช่วงหนึ่งเจเนอเรชันประมาณ 15-20 ปี ตอนนี้ที่เกิดมาครึ่งแรก ผมเรียกว่า Z-Alpha (เกิดปี 2547-2556) และครึ่งหลังที่จะเกิดมาอีกเรียกว่า Z-Beta (เกิดปี 2557-2566) ณ ขณะนี้เรายังยืนยันความแตกต่างไม่ได้ เพราะเราเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาได้เฉพาะครึ่งแรกคือเจเนอเรชัน Z-Alpha ถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลในเวฟที่สองได้ ก็อาจจะยืนยันความแตกต่างหรือความเหมือนระหว่างเจเนอเรชันนี้ได้

เวลาเราบอกว่าเด็กเจเนอเรชัน Z จะฉลาดกว่าคนรุ่นก่อน ผมอยากระมัดระวังการใช้คำว่าฉลาด เราฉลาดเท่ากับชาวอียิปต์ที่สร้างพีระมิดรึเปล่า แต่ถามว่าเรามีข้อมูลมากมั้ย ตอบได้ว่าข้อมูลที่สะสมมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีทำให้เรามีมวลความรู้มากขึ้น ตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มที่กระจายความรู้ให้คนในวงกว้างมากขึ้น อันนี้ยืนยันได้ว่าเจเนอเรชันล่าสุดมีข้อมูลและความรู้เยอะมากจริงๆ

ข้อมูลมีอิทธิพลกับการเรียนรู้ มีอิทธิพลกับการก่อรูปร่างความรู้สึกนึกคิด และรีแอคชันต่างๆ ที่สร้างพฤติกรรมของคน เมื่อเหตุการณ์โควิดวิ่งมาชนเขาในช่วงที่ยังอยู่ประมาณ ม.ปลาย อาจจะทำให้เขาระแวดระวังเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความสะอาด รักษาสุขภาพ และระวังในการรวมตัวกันของกลุ่มคนเยอะๆ ซึ่งอาจจะตีความไปจนถึงการสัมผัสทางด้านกายภาพ การติดต่อพูดคุย รวมกลุ่ม เพราะว่าได้พบเห็นความสูญเสียที่เกิดขึ้น แล้วมันเกิดขึ้นรอบโลก ผมคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่จะฝังอยู่ในความรู้สึกของเขา

รวมถึงการที่ต้องเดินทางไปในประเทศต่างๆ เจเนอเรชันหลังๆ มีการเดินทางระหว่างประเทศเยอะกว่าเจเนอเรชันก่อนหน้า เมื่อก่อน ผู้สูงอายุที่เกิด อยู่ และตาย โดยไม่เคยไปไหนเลย มีเยอะมากนะ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท แต่วันนี้เราไปถามเจเนอเรชันใหม่ๆ ใครอยู่ที่เดิม ไม่เคยออกไปสัมผัสที่ไหนเลย มีน้อยมาก ทุกคนได้ออกไปเปิดโลกกว้าง แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น อาจจะทำให้เขาระมัดระวังมากขึ้น สถานที่สำคัญในดวงใจหลายคน เช่น อิตาลี เกาหลี ญี่ปุ่น ก็อาจจะทำให้เขามีความรู้สึกบางอย่างที่ไม่เพลิดเพลินและอิสระมากเท่าสมัยก่อนที่อยากจะไปที่ไหนก็ไปเลย

แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า เหตุการณ์นี้เหมือนอุกกาบาตที่วิ่งชนโลก พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง คนจะจำรายละเอียดได้ไม่มาก มีบางกลุ่มเท่านั้นที่อยู่ใกล้ชิดกับมัน สูญเสียกับมัน ที่จะซาบซึ้งแล้วรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น นอกนั้นก็อาจจะเลือนๆ รางๆ แต่จะมีร่องรอยของเหตุการณ์เหลืออยู่ ซึ่งพอเหตุการณ์ผ่านไป เขาอาจจะนึกไม่ออกว่า ฉันทำอันนี้เพราะอะไร ทำไมฉันต้องกลัวเวลาไปอยู่ใกล้ๆ กับใคร หรือทำไมจะต้องล้างมือกันเยอะแยะขนาดนี้ ทำไมจะต้องมีแมสก์ในกระเป๋า ทำไมฉันต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้ช้อนกลาง คนลืมไปแล้ว นี่คือร่องรอยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วร่องรอยที่ฝังอยู่ในคนกลุ่มหนึ่งน่ะเป็นตัวทำให้เกิดคาแรกเตอร์ของเจเนอเรชัน

 

หน้าตาครอบครัวไทยในอนาคต เมื่อคน ‘เกิดน้อย อายุยืน’

 

ขณะนี้การอยู่แบบครัวเรือนขยายมีแนวโน้มลดลง สิ่งที่เราพบก็คือ ลักษณะของคนที่คุ้นเคยกับการอยู่เป็นครอบครัวขยายก็มีแนวโน้มที่จะสบายใจในการอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่สำหรับคนที่อยู่ในครอบครัวที่มีจำนวนคนน้อยๆ เขาก็จะคุ้นเคยอยู่อย่างนั้น แล้วก็จะรู้สึกไม่สะดวกสบายเท่าไหร่นักถ้าคนหลายคนจะมาอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน ในพื้นที่เดียวกัน

ประเด็นของผมก็คือ ในเมื่อเทรนด์ของสังคมเป็นไปในลักษณะที่มีสมาชิกน้อยคนในครัวเรือน คนจะคุ้นเคยและสบายใจที่จะอยู่กันแบบนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราอาจจะเห็นอนาคตว่าจำนวนสมาชิกในครัวเรือนจะมีจำนวนน้อยลงไปๆ เราจะเห็นครัวเรือนที่มีลูกแค่ 1-2 คน แล้วก็มีสามีภรรยาอีกไม่น้อยเลยที่รู้สึกว่าการมีลูกเป็นความรับผิดชอบอันใหญ่โตที่เขาไม่อยากแบกรับ ความหมายของการมีลูกตอนนี้กับเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ไม่เหมือนเดิม การมีลูกไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน ทำให้หลายคนเลือกจะไม่มีลูกด้วยซ้ำไป หลายคนก็มองว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ ฉันเลี้ยงลูกไม่ได้ ซึ่งหมายรวมไปถึงสังคมไม่น่าปลอดภัยและอื่นๆ

ตอนนี้เราเริ่มมีการพูดว่า โควิดจะทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของคนลดลงไปรึเปล่า เพราะคนกลัวเกี่ยวกับเรื่อง physical contact หรือ social distancing รวมไปถึงเรื่อง casual sex หรือการมีเซ็กซ์แบบไม่คิดอะไรมาก มันมีอิทธิพลนะ คนก็เริ่มจะเป็นห่วงว่าเราไม่ควรจะทำอะไรเหล่านี้พร่ำเพรื่อแล้วไม่มีการป้องกัน เราไม่ได้พูดถึงถุงยางอนามัย ตอนนี้เราพูดถึงการป้องกันสารคัดหลั่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในตอนเรามี social intercourse เรื่องเหล่านี้กระทบต่อ fertility (ภาวะเจริญพันธุ์) แน่นอน

พอสมาชิกครัวเรือนมีจำนวนน้อยลง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกครัวเรือนในเชิงสังคมและเชิงเศรษฐกิจก็ลดน้อยลงไปด้วย ในสมัยก่อน ครัวเรือนขยายมีปู่ย่าตายาย มีพ่อแม่ มีลูกอยู่ด้วยกัน ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงลูก ลูกโตมา ช่วยดูแลปู่ย่าตายายตอนอายุมากขึ้น ในขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงาน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเจเนอเรชัน พอปู่ย่าตายายเสียชีวิต ก็มีทรัพย์สมบัติส่วนหนึ่งตกมาจนถึงลูกถึงหลาน เป็นการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

แต่พอครัวเรือนแยกกันอยู่ ปู่ย่าตายายอยู่อีกที่หนึ่ง พ่อแม่ลูกอยู่อีกที่หนึ่ง เหล่านี้มีความแตกต่างของโซเชียลฟังก์ชันเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต อาจจะเป็น new normal ที่สังคมมนุษย์กำลังพยายามปรับตัวอยู่ ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า interdependence คือการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างหน่วยต่างๆ ที่อยู่ในครัวเรือนมีการเปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษนี้

 

ความเปราะบางของผู้สูงวัย แก้ด้วยความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม?

 

ในอดีตเราอาจจะไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องผู้สูงอายุอยู่คนเดียว เพราะผู้สูงอายุมักจะต้องอยู่กับลูกหลาน หรือแวดล้อมบ้านด้วยพี่น้อง ผมถามว่าวันนี้ ผู้สูงอายุแบบนี้มีเหลืออยู่กี่คน ที่ในบ้านมีลูกหลานอยู่ด้วย ข้างๆ บ้าน เป็นญาติพี่น้องที่รู้จักกัน เข้ามาในเมืองใหญ่หรือในตัวอำเภอก็หาบรรยากาศอย่างนี้ยากแล้ว คนเราพอไปถึงวัยพึ่งพิง มันพึ่งพิงจริงๆ ตอนเป็นเด็กก็เป็นวัยพึ่งพิง พอเป็นผู้สูงอายุก็อยู่ในวัยพึ่งพิง แต่กลไกในการพึ่งพิงหายไปจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะการอยู่อาศัย

ถามว่าลูกหายไปไหน หนึ่ง ตัดสินใจที่จะไม่มี ผมคิดว่าเจเนอเรชันที่เริ่มตัดสินใจมีลูกน้อยลงเริ่มจากเจเนอเรชัน X ซึ่งขณะนี้อายุ 50 กว่าๆ เรื่อยไปจนถึงเจเนอเรชัน Y ซึ่ง Y ยิ่งหนักเลย นอกจากจะมีน้อยแล้ว บางคนก็เลือกที่จะไม่มีลูกหรือไม่มีชีวิตคู่เลย  ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเห็นได้มากขึ้นเมื่อตอนที่กลุ่มอายุเหล่านี้เข้าสู่วัยสูงอายุในอีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า

สอง ลูกที่มีอยู่ มีแนวโน้มสูงมากที่อาจจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะเขาจะไปอยู่ในพื้นที่ที่มีพัฒนาการที่สูงกว่า เช่น พื้นที่ในเมือง ในต่างประเทศ ผมไม่ได้พูดจากการมองไปที่ชนชั้นกลางเท่านั้นนะ คนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่ด้อยลงไปก็มีแนวโน้มย้ายถิ่นฐานไปอยู่ใกล้ที่ทำกินแหล่งใหม่ หรือใกล้ที่เรียนแหล่งใหม่สูงกว่าในอดีต เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวก็มีความเปราะบางสูง เพราะอยู่ในวัยพึ่งพิง

ตอนนี้เป็นครั้งแรกที่คนจะลุกขึ้นมาตื่นตัวกันว่าเราจะดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวอย่างไร ในอนาคตเราก็มองเห็นเทรนด์แล้วว่าจะมีจำนวนมากขึ้น ที่ญี่ปุ่นก็มีปรากฏการณ์ที่คนตายลำพัง เรียกว่า ‘โคโดคุชิ’ แล้วเราเริ่มได้ยินข่าวเหล่านี้ในประเทศไทยมากขึ้น เรากำลังตั้งข้อสังเกตว่า ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวในเมือง ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจระดับปานกลางถึงล่าง อาจจะเปราะบางมากกว่าคนที่อยู่ในชนบทด้วยซ้ำไป เพราะในชนบทมีการไปมาหาสู่ของ อสม. กลไกการดูแลท้องถิ่นอาจจะแข็งแรงและดูแลได้ดีกว่าในเมือง ทุนทางสังคมที่อยู่ในชนบทสำหรับการดูแลคนเหล่านี้อาจจะมีมากขึ้น

ถ้ามองในแง่นโยบาย รัฐมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสังคมอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด ไม่เหมือนสมัยก่อนที่รัฐใหญ่ ดูแลจำนวนประชากรไม่มากเท่าไหร่ และภาวะเศรษฐกิจก็ไม่ใหญ่มาก แต่วันนี้กลไกภาครัฐมีจำนวนไม่มาก ตัวรัฐเองก็พยายามลดขนาดตัวเองลง สำหรับปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผมไม่คิดว่าภาครัฐจะสามารถช่วยดูแลได้ทั่วถึงกับขนาดของประชากรขนาดนี้ กับลักษณะการพัฒนาทางเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายแบบนี้

ผมคิดว่าควรจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชนและภาคกึ่งรัฐ กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มท้องถิ่น ควรจะมีกลไกที่ทำเรื่องนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะแบ่งเบาภาระรัฐนะ เพียงแต่ผมคิดว่ามันเกินจากที่ภาครัฐทำงานได้ ลองดูกลไกของกระทรวงสิ มีกี่กระทรวงที่สามารถรับมือแล้วลุกขึ้นมาตอบสนองกับปัญหาโควิดได้ทันท่วงที มีไม่กี่กระทรวง นอกนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้ กลไกภาครัฐต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวเองเหล่านี้ ภาครัฐอาจจะมีบทบาทในการชี้ให้เห็นประเด็น สิ่งสำคัญคือชวนให้คนมาร่วมมือกันขับเคลื่อนประเด็นครอบครัว

ณ วันนี้เชื่อมั้ยว่า ถ้ามีประชาชนเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการ ตกลงจะจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสวัสดิการสังคม กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ หรือมหาดไทย แล้วถ้าได้รับคำตอบจากภาครัฐว่า อ๋อ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของเขา จะเศร้ามาก

เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ เวลาสังคมพัฒนาไปยังพื้นที่ที่ไม่มีใครดูแล ถามว่าใครที่ใกล้กับประชาชนมากที่สุดก็คือตัวประชาชนกับชุมชนเอง ผมคิดว่าประเทศไทยควรเคลื่อนไปในภาคนั้น และเท่าที่ผมตั้งข้อสังเกต ภาคประชาชนมีกำลัง มีสติปัญญา และมี passion ที่จะทำมากกว่า

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save