fbpx
'ร้านยาชุมชนอบอุ่น' หน่วยบริการใกล้บ้านก่อนถึงมือแพทย์

‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ หน่วยบริการใกล้บ้านก่อนถึงมือแพทย์  

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่องและภาพ

 

เวลาเป็นสิ่งมีค่า โดยเฉพาะสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ การไปโรงพยาบาลรัฐทุกวันนี้ เสียเวลานานเป็นวัน หากเจ็บป่วยไม่รุนแรง หลายคนจึงเลือกซื้อยากินเองจากร้านยาใกล้บ้าน ดังนั้นร้านยาจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะหน่วยดูแลสุขภาพประชาชนใกล้บ้านก่อนถึงมือแพทย์

จากผลสำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 พบว่าในจำนวนประชาชนที่ไม่ใช้สิทธิกว่าร้อยละ 51 มีสาเหตุจากการรอรับบริการที่นาน สอดคล้องกับข้อมูลสำรวจปี 2560 ที่ระบุว่ามีประชาชนร้อยละ 17.6 ที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือนและเลือกซื้อยากินเอง ทั้งยังพบปัญหายาเหลือใช้ในบ้านผู้ป่วย โดยรายงานปี 2555 พบผู้ป่วยครอบครองยาเกินความจำเป็น หรือที่เกิดจากการกินยาไม่ครบ มีมูลค่าความสูญเสียทางการคลังสูงถึง 2,350 ล้านบาท ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมเหล่านี้ สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงบริการและการดูแลสุขภาพของประชาชน

การพัฒนา ‘ร้านขายยาแผนปัจจุบัน’ (ข.ย.1) เป็น ‘หน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา โดยเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ได้เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ สปสช. เขต 13 คือกทม. โดยเร่งดำเนินการรับสมัครร้านขายยา (ข.ย.1) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบบัตรทอง ภายใต้ชื่อ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’

ร้านขายยารุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 30 ร้าน ที่ผ่านการคัดเลือกและเข้าสู่โครงการนำร่องร้านขายยาชุมชนอบอุ่น ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเสมือนหน่วยคัดกรองโรคเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยในชุมชนใกล้เคียง

ร้านยาชุมชนอบอุ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ร้านยาชุมชนต้นแบบ

ร้านขายยาสุณีเภสัช ริมถนนเจริญนคร ใกล้สี่แยกบุคคโล เป็นหนึ่งในร้านยาที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะที่นี่เปิดบริการมานานกว่าสามสิบปี และทำหน้าที่ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนตามแนวทางของร้านยาคุณภาพมาตั้งแต่เริ่มโครงการ ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาเภสัชศาสตร์จาก 4 มหาวิทยาลัยอีกด้วย ที่นี่มีเครื่องวัดความดัน ตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว รวมทั้งมีสมุดคนไข้ประจำมากกว่า 200 คนเรียงรายอยู่บนชั้น ยามเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไหร่ก็จะแวะมาให้ทางร้านตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น ราวกับเป็น ‘คลินิคประจำตัว’ เลยทีเดียว

เภสัชกรสุณี ปัญญาวุฒิไกร เจ้าของร้านและอาจารย์ประจำสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาเภสัชกรหลายสถาบัน บอกถึงแนวคิดในการทำสมุดบันทึกประวัติคนไข้ในร้านขายยาของเธอว่า เธอเคยฝันอยากเปิดร้านขายยาคุณภาพมาตั้งแต่วันแรกของการก้าวเดินบนเส้นทางอาชีพเภสัชกร ด้วยเชื่อมั่นว่าการซักถามและวิเคราะห์อาการของโรคก่อนจำหน่ายยาให้คนไข้ เป็นหน้าที่หลักของเภสัชกรในร้านขายยา เพราะจะได้จ่ายยาให้ตรงกับโรค และคนไข้มีสุขภาพดีขึ้น โดยไม่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ภายในสมุดประวัติสุขภาพจะมีรายละเอียดของคนไข้ ตั้งแต่ประวัติการศึกษา เพราะถ้าคนไข้อ่านหนังสือไม่ออก การเขียนบนซองยาก็จะไร้ประโยชน์ แต่เภสัชกรต้องช่วยอธิบายจนคนไข้จดจำวิธีการกินยาให้ได้ก่อนกลับบ้าน นอกจากนี้ยังมีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพครอบครัว พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อาชีพ และเบอร์ติดต่อญาติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คนไข้จะเป็นคนยินยอมให้รายละเอียด หลังจากเกิดความ ‘ไว้ใจ’​ ให้เภสัชกรสุณี ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว เพราะใช้บริการกันจนคุ้นเคย

ร้านขายยา เภสัชกร

เภสัชกรเจ้าของร้านยาคุณภาพกล่าวถึงวิธีการสร้างความไว้ใจระหว่างร้านขายยากับลูกค้าประจำว่า “ถ้าเมื่อไหร่เขาเคยปรึกษาเรา และได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดี เขาจะยินดีให้ข้อมูลเรา โดยจะให้คนไข้เซ็นชื่อรับรองด้วยว่า เขาให้การยินยอมที่จะให้ข้อมูลและยินดีให้เราดูแลเขา”

สิ่งสำคัญที่เภสัชกรที่มีความมุ่งมั่นจะทำร้านยาคุณภาพต้องยึดถือไว้เสมอ คือหัวใจของการให้บริการ ซึ่งจะกลายเป็นจุดขายที่ลูกค้าสัมผัสได้ว่าแตกต่างจากร้านยาทั่วไป

คุณรัชนี พรมเลิศ วัย 54 ปี ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงที่ใช้บริการร้านยาสุณีเภสัชมานานหลายสิบปี บอกถึงความแตกต่างของการใช้บริการร้านยาแห่งนี้กับร้านยาทั่วไปว่า

“เราสัมผัสได้ว่าเขาทำงานด้วยใจ ที่นี่ถามละเอียดมากกว่าร้านยาทั่วไป เมื่อก่อนเคยไปซื้อยาหมอตี๋ เขาจะไม่ถามว่าแพ้ยาอะไรไหม เคยกินแล้วแพ้ยาจนปากคันบวมเขียว หลังจากใช้บริการที่นี่ก็ไม่ไปที่ไหนอีกเลย สังเกตเห็นว่าเขาอธิบายแบบนี้กับคนไข้ทุกคน ร้านขายยาอื่นๆ อาจตามใจคนซื้อ อยากซื้อยาอะไรก็ขาย เช่น ปวดเมื่อย ที่อื่นจะจัดเป็นยาชุด บางทีมีสารสเตียรอยด์ กินเข้าไปแล้วหายเลย แต่นานๆ ไปจะเกิดผลเสียกับร่างกายเรา แต่ถ้ามาที่นี่ไม่กังวลเลย”

เมื่อมีร้านยาที่มั่นใจใกล้บ้าน ความสุขใจก็ตามมา เพราะยามป่วยไข้เล็กน้อย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล แค่เดินเท้าไม่กี่นาทีก็ถึง

“มันไม่ใช่แค่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นนะ สบายใจเลยล่ะ มาถึงก็จะถามว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง คอยดูแลความดันให้ตลอด การไปโรงพยาบาลก็จะลดลง แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ยังต้องนั่งรอเป็นครึ่งวันเลย ตอนนี้ทุกโรงพยาบาลคนแน่นหมด ถ้ามาแบบนี้สะดวกสบายกว่ามาก โดยเฉพาะคนไข้ที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ”

เภสัชกรไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนขายยา

โครงการ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ของกระทรวงสาธารณสุข นับเป็นโครงการที่ช่วยทำให้ร้านขายยามีบทบาทในการคัดกรองโรคมากขึ้น และทำให้เภสัชกรได้ใช้วิชาชีพที่ร่ำเรียนมาอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เภสัชกรหญิงผู้มีประสบการณ์มายาวนานกว่าสามสิบปีเล่าถึงองค์ความรู้ของเภสัชกรว่า ต้องเรียนลึกในด้านสุขภาพใกล้เคียงกับวิชาชีพแพทย์ แต่คนส่วนใหญ่อาจมองว่าอาชีพเภสัชกรชุมชนเป็นเพียงคนขายยาเท่านั้น ทำให้เภสัชกรจำนวนไม่น้อยไม่ได้ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่

“เราต้องเรียนโครงสร้างและระบบการทำงานในร่างกายเหมือนแพทย์ เพื่อเราจะได้รู้ว่ายาดูดซึมทางไหน ขึ้นสู่ระดับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ขับออกจากร่างกายในเวลากี่ชั่วโมง ทางไหน ไตหรือตับ หรือทั้งตับและไต หรือขับออกเฉยๆ ไม่ผ่านตับเลย ยาแต่ละตัวก็จะไม่เหมือนกัน

“ในหนึ่งรุ่นเภสัชที่เรียนจบด้วยกันมามีประมาณหนึ่งร้อยคน ปัจจุบันเหลือเปิดร้านยาแค่สามร้าน ในแต่ละปีน่าเสียดายบุคลากรเภสัชที่ออกจากวิชาชีพไปกว่าครึ่ง เพราะบ้านเราไม่ได้สร้างบทบาทให้เภสัชกรคุณภาพอยู่รอดได้ ทั้งที่เราสามารถช่วยลดภาระของแพทย์ในการคัดกรองโรค และแนะนำการใช้ยาอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญกับอันตรายจากการใช้ยาผิดวิธี”

หนึ่งในตัวอย่างยาที่ประชาชนนิยมซื้อกินเอง และมีผลต่อการทำงานของไตหากกินติดต่อกันเป็นเวลานาน คือ ยาแก้ปวดข้อ ปวดเส้น ซึ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานนิยมซื้อกินเองแบบต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้หลายคนมีภาวะไตเสื่อมเร็วขึ้น เภสัชกรหญิงสุณีกล่าวถึงโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ สปสช. ให้การสนับสนุนว่าจะช่วยลดภาระทั้งภาครัฐและประชาชนไปได้มาก หากมีการคัดกรองโรคและให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธี

“ปัจจุบันจะพบคนไข้เป็นโรคไตกันเยอะขึ้นมาก จนคนไข้โรคไตล้นโรงพยาบาล อย่างเช่นคนทำงานแบกหาม กินยาแก้ปวดข้อ ปวดเส้น ติดต่อกันมาเป็นสิบปี บางคนอายุสี่สิบกว่าก็ต้องฟอกไตแล้ว นอกจากนี้เราเจอคนไข้เป็นโรคความดันเยอะมาก โดยไม่รู้ตัวมาก่อน ถ้ามาซื้อยาที่ร้าน  เราจะขอวัดความดันก่อนทุกครั้ง เพราะจากข้อมูลพบว่าคนไข้สิบคนที่มาซื้อยาแก้ปวดข้อ มีห้าคนที่ความดันสูงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงตามมาหลายเรื่อง

“หนึ่งคือหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก สองคือโรคหัวใจ สามคือไตเสื่อม ตอนนี้ สปสช. จึงเห็นความสำคัญ ที่จะให้ร้านยามาทำหน้าที่คัดกรองโรค จะได้รักษาแต่เนิ่นๆ ถ้ามารักษาหลังจากเป็นโรคไตแล้ว รัฐต้องแบกภาระฟอกไตเดือนละเป็นหมื่น แต่ถ้าเราให้ยากินคุมความดัน เดือนละ 3 แผง แผงละ 10 บาท คุณสามารถป้องกันไม่ให้เขาเป็นโรคไตในอนาคตได้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพประชาชนของรัฐก็จะลดลงไปได้เยอะมาก”

เภสัชกรหญิงสุณี

เภสัชกรหญิงสุณี เป็นรุ่นบุกเบิกที่นำเครื่องวัดความดันมาใช้คัดกรองโรค ตั้งแต่เปิดร้านยาวันแรก ซึ่งในยุคนั้นต้องฝ่าฟันกับกระแสต่อต้านของวงการวิชาชีพสาธารณสุข ที่ไม่เข้าใจความหวังดีของเธอ แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำไม่ได้หวังผลใดๆ นอกจากสุขภาพที่ดีของประชาชน เธอจึงมุ่งมั่นทำร้านยาในฝันจากวันแรกมาจนถึงวันที่ สปสช. มีนโยบายให้ร้านยาเป็นหน่วยคัดกรองโรคเบื้องต้น มีอุปกรณ์การแพทย์เบื้องต้น เช่น เครื่องวัดความดัน ตรวจน้ำตาล วัดความจุปอด เป็นต้น

“เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ตอนเปิดร้าน เรามีเครื่องวัดความดัน ถูกตำหนิว่าไปละเมิดวิชาชีพแพทย์ คนที่เรียนเภสัชด้วยกันบางคนก็บอกว่า เราจะไปแตะต้องตัวคนไข้เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคไม่ได้ คุณมีหน้าที่จ่ายยาอย่างเดียว โชคดีที่หมอคลินิกใกล้ๆ เข้าใจ เขาบอกว่าเราทำดีแล้ว เพราะได้ยินคนไข้ซื้อยาที่นี่เล่าให้หมอฟังว่า เราให้คำปรึกษาและแนะนำยาที่ตรงกับโรค

“เราคิดว่าคนในวิชาชีพสาธารณสุขต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ทุกคนต้องช่วยกันโดยไม่คิดว่าใครก้าวก่ายใคร เพราะหลังจากให้สิทธิบัตรทอง คนไข้ก็เทไปโรงพยาบาลรัฐหมด ถ้าเภสัชมาช่วยในส่วนการคัดกรองโรคได้ ก็จะสามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ได้ เพราะคนไข้เยอะมาก แพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา ”

นางสาวธนพร เกียรติอมรเวช นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 6 จากมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่าสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มากไปกว่านั้น คือบทบาทของร้านขายยาต่อชุมชน ว่ามีความสำคัญมากเพียงใดหากมีเภสัชกรที่มีคุณภาพอยู่ประจำร้านขายยา

“ร้านขายยาคุณภาพมีความสำคัญมาก เพราะตอนไปฝึกที่โรงพยาบาลคนไข้เยอะมาก คนไข้ที่ได้รับยา ได้คุยกับเภสัชสองสามนาที บางคนไม่ได้ฟังด้วยซ้ำ การมีร้านยาชุมชนจะปรึกษานานเท่าไหร่ก็ได้ ร้านยาจึงเป็นตัวช่วยที่ดีทั้งสำหรับผู้ป่วย และสำหรับโรงพยาบาล”

เจ้าของร้านยาคุณภาพที่มีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 30 ปี กล่าวถึงสูตรสำเร็จของการสร้างร้านยาคุณภาพว่าต้องมีส่วนผสมระหว่างความรู้เรื่องยาและความรักในวิชาชีพเภสัชกร ที่ต้องใส่ใจ จริงใจ และดูแลลูกค้าทุกคนด้วยหัวใจดุจดังญาติมิตรในครอบครัว เพียงเท่านี้ร้านยาก็จะกลายเป็น ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ที่มีลูกค้าประจำอยากเข้ามาใช้บริการอยู่เสมอ

เภสัชกรหญิงสุณี

“เรามีความสุขที่เห็นคนไข้หายป่วย และกลับมาเล่าให้ฟัง เราอยู่ใกล้ชิดชุมชน ได้เป็นที่ปรึกษาในเรื่องยาให้กับคนในชุมชน คนแถวนี้ก็จะเรียกเราว่าหมอหมดเลย ไปไหนมาก็มักจะซื้อของมาฝาก ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำ แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีเงินมากมาย แต่เขาก็แสดงออกถึงความมีน้ำใจกับบริการของเรา”

“เราจะบอกน้องๆ เภสัชอยู่เสมอว่า ถ้าจะเปิดร้านขายยาต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามปีในการสร้างความไว้ใจในชุมชน บางคนเปิดมาปีเดียวก็ถอดใจปิดร้านไปแล้ว มีน้องคนหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ผิดหวังในการเป็นเภสัชกรชุมชน เนื่องจากตนเองเคยเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลมาก่อน พอมาอยู่ร้านยาแล้วคนไข้ไม่เชื่อ ก็รู้สึกกดดัน เกิดคำถามกับตัวเองว่าฉันมาทำอะไรตรงนี้ ทำไมคนไข้ไม่เชื่อฉัน

“ถ้าเภสัชอยากเปิดร้านขายยา ต้องทำลายอีโก้ตนเองลงเสียก่อน เวลาเปิดร้านใหม่ คนไข้ก็จะกลัวว่าเราจะหลอกขายยาให้เขา เมื่อเราแนะนำยาให้เขา เราต้องไม่ไปกดดันคนไข้ ไม่โกรธเขาถ้าเขาไม่เชื่อเรา หลังจากเขาปรึกษาเราครั้งแรกแล้วเขาดีขึ้น เขาจะกลับมาปรึกษาเราทั้งครอบครัว และเราก็จะกลายเป็นร้านยาคุณภาพได้ในที่สุด เราต้องให้คนไข้มาหาเราด้วยความศรัทธา”

ปัจจุบันร้ายสุณีเภสัชจึงทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘คลินิคประจำครอบครัว’ ของในชุมชนย่านนี้ หลายครอบครัวแม้ไม่ได้ป่วยไข้ก็ยังซื้อของฝากกันด้วยความคิดถึงราวกับเป็นคนสนิท เพราะเชื่อใจในคำแนะนำของเภสัชกรที่พวกเขาเต็มใจเรียกว่า ‘หมอสุณี’ เพราะพวกเขาได้รับการรักษาเบื้องต้นและคำแนะนำที่ดีกับสุขภาพจาก ‘หมอ’ คนนี้มายาวนานกว่าสามสิบปี

หากประเทศไทยมีร้านขายยาคุณภาพมากขึ้นเท่าไหร่ แพทย์ตามโรงพยาบาลก็จะมีคนช่วยแบ่งเบา มีเวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งประชาชนก็จะได้รับการรักษาเบื้องต้นโดยไม่ต้องเสียเวลาไปทำมาหากินไปรอคิวที่โรงพยาบาล เพราะเวลามีค่าสำหรับทุกคนเสมอ และสิ่งที่มีค่ามากไปกว่านั้นคือสุขภาพของประชาชนที่จะดีขึ้นจากการได้รับคำแนะนำเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง


ข้อมูลเพิ่มเติม – ปัจจุบันร้านขายยา (ข.ย.1) ทั่วประเทศมีจำนวน 15,359 แห่ง และ กทม.จำนวน 4,895 แห่ง โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่ถือบัตรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ที่ต้องรับยารักษาต่อเนื่องใน 4 กลุ่มโรคเรื้อรัง สามารถนำใบสั่งยาไปรับยาฟรีได้ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ร้านขายยาชุมชนอบอุ่น กับภาครัฐได้แล้ว โดยมี 50 โรงพยาบาลและ 500 ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการนี้ (ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วมได้ที่ลิงค์นี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save