fbpx
ข้ามพรมแดนความคุ้นเคย

ข้ามพรมแดนความคุ้นเคย

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

 

สังคมอุษาคเนย์แม้จะมีลักษณะร่วมกันหลายประการ เช่น การให้ความสำคัญกับผู้หญิง การที่อำนาจจากบารมีสำคัญต่อการเป็นผู้นำ หรือการมีอาหารการกินหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็จริงอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นในแต่ละท้องถิ่น แต่ละประเทศ ต่างก็มีวิถีชีวิตเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป หรืออาจกล่าวได้ว่าต่างก็มีพรมแดนของโลกอันคุ้นเคยที่แตกต่างกันออกไป

พรมแดนความคุ้นเคยนี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไรไม่ทราบ ส่วนหนึ่งคงเนื่องมาจากพื้นฐานเดิมในแต่ละถิ่นที่พัฒนาลักษณะเฉพาะตัวขึ้นมา ประกอบกับพัฒนาการของอำนาจรัฐแต่ละแห่งบ่มเพาะความแตกต่างเฉพาะตนขึ้นมา การอยู่ในวิถีชีวิตที่แตกต่างกันนี้ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่แตกต่างกัน หล่อหลอมตัวตนขึ้นมาแตกต่างกัน บางทีต่างกันจนราวกับว่าเราอยู่กันคนละโลก

ความรู้ทางมานุษยวิทยาและการทำวิจัยในเวียดนามอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 20 ปีแล้ว สอนบทเรียนเกี่ยวกับความคุ้นเคยมากมาย ผมเคยอยู่เวียดนามอย่างต่อเนื่องนานที่สุดก็ประมาณ 3 ปี แล้วก็ไปๆ มาๆ ทุกปี อย่างน้อยปีละครั้งหรือสองครั้ง

เมื่อนานวันเข้า สิ่งหนึ่งที่เริ่มขาดหายไปคือความตื่นเต้นกับโลกรอบตัว และนั่นก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนอาชีพการเป็นนักมานุษยวิทยาที่ส่วนหนึ่งคือการอาศัยความแปลกหูแปลกตาในการทำความเข้าใจมนุษย์

การศึกษาทางมานุษยวิทยามักให้ความสำคัญกับการเดินทางไปสำรวจสังคมที่ต่างๆ ด้านหนึ่งเป็นความจริงที่ว่าการเดินทางสำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการขยายอำนาจของเจ้าอาณานิคม อาชีพที่มีคนให้ทุนไปท่องเที่ยวสำรวจที่ต่างๆ แบบที่นักมานุษยวิทยาทำนั้นเป็นอาชีพที่มีการลงทุนสูงในระดับหนึ่ง ผู้ที่จะลงทุนให้มีทรัพยากรบุคคลแบบนี้ได้มักจะเป็นรัฐหรือไม่ก็บริษัทเอกชนที่มีอำนาจไม่น้อยทีเดียว ฉะนั้น เลี่ยงไม่พ้นที่ต้องยอมรับว่าการเดินทางไปที่ต่างๆ ของนักมานุษยวิทยาเกิดขึ้นมาและดำเนินต่อไปด้วยการสนับสนุนของประเทศหรือบริษัทที่มีอำนาจในระดับโลกหรือภูมิภาค

ในด้านหนึ่ง การไปเห็นที่แปลกหูแปลกตาก็เป็นวิธีการศึกษาหาความรู้ของนักมานุษยวิทยาอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่านักมานุษยวิทยาจะต้องไปศึกษาในที่ไกลๆ เสมอไป แต่ด้วยความที่ถูกเรียกร้องให้อาศัยเอาวิถีชีวิตในที่ต่างๆ เป็นห้องทดลองเพื่อการเปรียบเทียบหาลักษณะทั่วไป และเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีหรือความเข้าใจที่มาอยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยตัวอย่างของชีวิตที่แตกต่างออกไป นักมานุษยวิทยาจึงมักต้องเดินทางไปที่ต่างๆ เพื่อค้นหาวิถีชีวิตหรือแง่มุมของชีวิตที่แตกต่างไปจากที่คุ้นเคยกัน เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับมนุษย์

อีกชั้นหนึ่งของความสำคัญในการเดินทางไปศึกษาสังคมอื่น คือชีวิตที่แปลกใหม่นั้นช่วยให้นักมานุษยวิทยาเห็นรูปแบบหรือแง่มุมของชีวิตมนุษย์ ที่อาจจะไม่เคยได้รับการพิจารณาศึกษามาก่อนได้ดีกว่าการศึกษาสังคมที่เราคุ้นเคย การไปเผชิญกับภาวะ culture shock หรือการตระหนกทางวัฒนธรรม จึงมักให้บทเรียนใหม่ๆ กับนักมานุษยวิทยาเสมอ

ต่างจากการที่นักมานุษยวิทยาศึกษาสังคมตนเอง เนื่องจากยากที่จะหาอะไรที่สะดุดตาสะดุดใจมาชวนให้สงสัย ตั้งคำถาม แล้วนำไปสู่การทำความเข้าใจจนได้ข้อเสนอใหม่ๆ ส่วนหนึ่งของการเลือกไปทำวิจัยที่เวียดนามของผมก็เพื่อข้ามพรมแดนความคุ้นเคยไปยังสังคมที่แตกต่างออกไปนี่แหละ

เมื่อผมเริ่มไปทำวิจัยที่ฮานอยใหม่ๆ อะไรต่อมิอะไรก็น่าตื่นเต้นไปเสียทุกอย่าง เช่น เรื่องการพูดจา ไม่เพียงภาษาที่แตกต่าง แต่วิธีการเปล่งเสียงของคนฮานอยที่มักพูดเสียงหนัก ไม่นิยมทอดเสียงหรือดัดเสียงอ่อนแบบคนไทยพูดภาษาไทย ทำให้การพูดของผมแปร่งหูคนฮานอย ยิ่งกับคนค้าขาย การเปล่งเสียงยิ่งต้องดัง ห้วน และมีลักษณะเหมือนขู่กรรโชกเวลาต่อราคาสินค้า ไปจนกระทั่งการแต่งตัวหรือการจัดวางท่าทางของร่างกาย

โลกที่แตกต่างของแต่ละถิ่นที่เห็นได้ชัดและสัมผัสได้ทันทีเมื่อไปต่างประเทศคือการจราจร หากใครคิดว่าการจราจรในกรุงเทพฯ โหดร้ายแล้วล่ะก็ คงรู้ดีเมื่อไปฮานอยหรือไซ่ง่อนว่าการจราจรที่นั่นโหดยิ่งกว่าอย่างไร แต่ที่ว่าโหดนั้นไม่ใช่ว่าเพราะเขาไม่มีระเบียบ หรือในกรุงเทพฯ เอง ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีระเบียบ แต่เป็นระเบียบแบบหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นระเบียบที่ไม่ได้มีเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไหน แต่คนยึดถือปฏิบัติตามจนกลายเป็นอุปนิสัย เช่น ในกรุงเทพฯ คนเดินเท้ามักรอให้รถไปก่อน ไม่ค่อยมีที่รถจะหยุดให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายก่อนแล้วค่อยไป

ระเบียบนี้ต่างจากหลายแห่งในซีกโลกตะวันตก ที่คนเดินข้ามตรงทางข้ามมักจะได้รับสิทธิก่อนรถเสมอ หรือระเบียบเรื่องป้ายสัญญาณจราจร เช่น ป้ายหยุดในกรุงเทพฯ แทบไม่มีผลบังคับใช้ ไม่มีใครหยุดตรงเส้นหยุดแล้วดูรถซ้ายขวา หากมีคนหรือมีจักรยานก็ต้องให้ไปก่อน แล้วดูรถอีกครั้งจึงค่อยไป แต่ในเมืองใหญ่และเมืองเล็กในสหรัฐอเมริกาเท่าที่ผมได้สัมผัสและคุ้นเคย เมื่อถึงแยกที่มีป้ายหยุดจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตโรงเรียนและก่อนข้ามทางรถไฟ ระเบียบเหล่านี้เพิ่งเริ่มมีขึ้นในฮานอย

เมื่อสักสิบกว่าปีก่อน คนฮานอยแทบไม่เคารพสัญญาณจราจร แต่เขามีระเบียบบางอย่างในใจที่ใครที่ไม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงบนถนนมาก่อนก็เสี่ยงจะถูกรถชน เช่นในครั้งแรกที่ผมถีบจักรยานในฮานอย ผมก็ถูกรถจักรยานยนต์ชนแล้วถูกบริภาษว่าถีบรถไม่เป็นหรืออย่างไร การเข้าแยกแล้วผ่านแยกไปจะขึ้นกับจังหวะและโอกาส กฎคร่าวๆ คือ รถใหญ่จะต้องไปก่อน รถเล็ก รถจักรยานยนต์ทีหลัง รถสามล้อ รถจักรยาน และคนเดินทีหลังสุด

ทั้งนี้ต้องรู้จักสื่อสารกับคนอื่นด้วยการสบตา ดูจังหวะความเร็ว ประเมินความยุ่งยากในการหยุดหรือไม่หยุดของคู่สนทนาบนท้องถนน ประเมินนิสัยใจคอ แล้วค่อยๆ ผ่านแยกไปอย่างระแวดระวัง ระเบียบนี้ไม่ค่อยขึ้นกับสัญญาณป้าย สัญญาณไฟ หรือเส้นกำกับการจราจร ฯลฯ กฎนี้ไม่มีความคิดเรื่องคนเดินและรถเล็กต้องได้สิทธิใช้ทางก่อนแบบโลกตะวันตก แต่กฎที่ดูอลหม่านนี้ก็อนุญาตให้คนเดินข้ามถนนปลอดภัยได้หากค่อยๆ เดินไปตามจังหวะเวลาและที่ว่างอันเกิดจากการรอมชอมกันระหว่างคนขับรถและคนข้ามถนน

แม้ผมจะเรียนรู้ระเบียบสังคมของการใช้ถนนในฮานอยขึ้นมาบ้าง จนถึงทุกวันนี้ผมก็ไม่พร้อมที่จะขยับความเร็วของการจราจรไปถึงขั้นขับรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ในฮานอย คงใช้การสัญจรเพียงจักรยาน เดินเท้า และจ้างให้คนอื่นขับรถให้ คืออาศัยรถเมล์บ้าง รถแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้างบ้าง หรือบางครั้งก็สามล้อบ้างแทนดีกว่า

ความแตกต่างที่ลึกซึ้ง ทว่าสามารถสัมผัสกันได้อย่างง่ายดายคืออาหารการกิน อาหารเวียดนามในฮานอยแตกต่างจากอาหารไทยอย่างยิ่ง และยิ่งต่างจากอาหารเวียดนามที่คนไทยมักคุ้นเคยในประเทศไทย เรื่องรสชาติอาหารนี้ผมใช้เวลานานพอสมควรจึงจะเข้าใจ หรืออย่างน้อยที่สุดคือสามารถอธิบายแนวโน้มของรสชาติอาหารแบบฮานอยได้ เมื่อเข้าใจแล้ว ผมก็ค่อยๆ ปรับตัวปรับใจยอมรับรสชาติแบบนี้ได้

ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับมิติต่างๆ ของการใช้ชีวิตแบบฮานอยแล้ว หลังๆ มาเมื่อเริ่มคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบฮานอยมากขึ้น ความรู้สึกในการอยากเรียนรู้ อยากลอง อยากค้นหาอะไรแปลกใหม่ของผมมันลดน้อยลง แต่ความอยากรู้อยากเห็นผมมักจะกลับมาใหม่หรือบางครั้งก็ทำให้ต้องทบทวนความรู้ที่คิดว่ารู้อยู่แล้ว คุ้นเคยดีอยู่แล้วกันเสียใหม่เมื่อใดก็ตามที่พาเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง หรือนักศึกษา เดินทางไปบนเส้นทางที่ผมคุ้นเคย

เรื่องหนึ่งที่ต้องอธิบายเสมอๆ และพา “ลงสนาม” ไปทดลองปฏิบัติจริงเสมอๆ คือการข้ามถนนในแยกที่วุ่นวายจนผู้ใช้ถนนชาวไทยนึกไม่ออกว่าจะเดินข้ามไปได้อย่างไร หรือหากเป็นเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ผมก็จะพาพวกเขาไปชิมอาหารจานที่ดูพื้นๆ ที่คนไทยรู้จักกันดีในร้านอาหารเวียดนามในประเทศไทยคือ “เฝอ” เพื่อให้เข้าใจว่าในฮานอยน่ะ มันต่างจากเฝอในกรุงเทพฯ และที่หากินได้ในประเทศไทยอย่างไร แล้วหลายคนก็จะมีคำถามที่ทำให้ผมต้องทบทวนความคุ้นเคยเกี่ยวกับเฝอว่า รสชาติเฝอแบบฮานอยน่ะมันประกอบสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

เช่นว่า เฝอในฮานอยไม่มีเฝอหมู มีแต่เฝอเนื้อกับเฝอไก่ สิ่งที่ทำให้เฝอในฮานอยแตกต่างอย่างยิ่งจากเฝอในกรุงเทพฯ คือเส้นเฝอ ซึ่งเป็นแป้งสดเหมือนเส้นใหญ่ แล้วหั่นซอยให้เล็กกว่าเส้นใหญ่ แต่ไม่คลุกน้ำมัน หรือแม้แต่คำว่า “เฝอ” ก็ไม่ได้แปลว่า “ก๋วยเตี๋ยว” เพราะเฝอเป็นอาหารเส้นชนิดหนึ่งในบรรดาอาหารเส้นอีกหลายๆ ชนิดที่มีชื่อต่างกันออกไป แต่อาหารเส้นเหล่านั้น คนไทยส่วนใหญ่ก็จะเรียกรวมๆ ว่าก๋วยเตี๋ยว พูดง่ายๆ คือ คนเวียดนามไม่มีคำเรียกอาหารเส้นรวมๆ แบบที่คนไทยมีคำว่าก๋วยเตี๋ยว

ถ้าจะลงรายละเอียดมากไปกว่านั้นคือเฝอไก่และเฝอเนื้อใช้น้ำซุปคนละแบบกัน และมีการปรุงแต่งกันคนละแบบ เฝอเนื้อแบบฮานอยมักจะใส่เครื่องเทศแบบเครื่องยาจีนจางๆ ต้มไปพร้อมกับกระดูกวัว แต่เฝอไก่จะไม่ใส่เครื่องเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีกลิ่นขิงจางๆ ในน้ำซุปกระดูกไก่

ที่ต่างกันอย่างยิ่งคือ เฝอไก่ในฮานอยมักจะโรยด้วยใบมะนาวเวียดนาม กลิ่นคล้ายใบมะกรูดแต่ฉุนลึกกว่า ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เราจะหาเฝอแบบที่ฮานอยกินที่ไหนแทบไม่ได้หากไม่ไปกินที่ฮานอย และนั่นทำให้ผมมีนิสัยเสียและเรื่องมากเกี่ยวกับการกินอาหารเวียดนามนอกถิ่นฐานของอาหารเอง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีที่ไหนเลยนอกเวียดนามที่ทำอาหารเวียดนามได้ถูกลิ้นที่คุ้นเคยของผม เพียงแต่หาได้ยากมาก

สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะใช้ทดสอบความก้าวหน้าของการเปิดรับอะไรใหม่ๆ ของชีวิตในโลกที่ต่างความคุ้นเคยกันก็คืออาหารนี่แหละ คนไทยหรือคนชาติไหนที่เดินทางไปเวียดนามกับผมหรือไปเจอผมที่เวียดนาม ผมก็มักจะพาเขาไปสร้างความตระหนกทางวัฒนธรรมผ่านการลิ้มรส ส่วนหนึ่งเพื่อ “ปรับทัศนคติ” “ให้การศึกษา” หรือเรียกได้ว่าเป็นการ “สร้างบทสนทนา” บทแรกๆ ระหว่างอาหารเวียดนามแบบฮานอยกับนักชิมชาวไทย ก่อนที่จะพา “ข้ามพรมแดน” ความคุ้นเคยไปไกลกว่านี้

อย่างเช่นอาหารประเภทแกงชนิดหนึ่ง ที่ชาวฮานอยภูมิใจนักหนาว่าเป็นอาหารเฉพาะถิ่นของพวกเขา คือ “แกงจัว” ซึ่งแปลว่าแกงส้ม แกงจัวที่ขึ้นชื่อคือแกงจัว “เหน” หรือแกงส้มหอยเสียบจาก “โห่ เต็ย” ทะเลสาบแห่งหนึ่งในฮานอย

ขั้นตอนคือเขาจะล้างหอยหลายๆ น้ำ แล้วต้มหอย แยกหอยออกมาแกะเปลือกเอาแต่เนื้อไว้ใส่แกง ส่วนน้ำหอยเก็บไว้เป็นน้ำแกง หากใส่มะเขือเทศ ก็มักจะผัดมะเขือเทศกับน้ำมันสักเล็กน้อย แล้วใส่หอยลงไปเคี่ยวให้รสเปรี้ยวมะเขือเทศออกมาสักเล็กน้อย แล้วใส่น้ำต้มหอยที่พักไว้ เคี่ยวจนได้ที่ก็ปรุงรสให้เปรี้ยวแหลมขึ้นมาอีกนิดด้วย “กว่า เสิว” หรือลูกสมอ หากหาไม่ได้หรือไม่ใช่ฤดูของมันก็อาจใส่สับปะรด ไม่ก็มะเฟืองแทน แล้วใส่หอมแดงทุบเล็กน้อย โรยด้วยเครื่องหอม คือ ผักไผ่ซอยทั้งต้น ต้นหอมซอย และผักชีลาวซอย

ผมไม่เคยเจอว่าคนฮานอยจะใส่มะนาว มะขามเปืยก หรือส้มแขกในแกงจัว เพราะมันคงเปรี้ยวเกินไปจนดับกลิ่นรสของน้ำต้มหอย ปรุงรสเค็มด้วยเกลือ เหยาะน้ำปลาเล็กน้อยแค่ให้ได้กลิ่น แต่ไม่มากจนดับกลิ่นน้ำแกงหอยเสียบ แกงจัวเหนจึงเป็นแกงที่มีกลิ่นเครื่องเทศสด รสเปรี้ยวนำแค่เพียงจางๆ รสหวานตามธรรมชาติ ไม่มีรสเผ็ด กับมีกลิ่นดินเรื่อๆ ของหอยเสียบ

แกงจัวเหนเป็นอาหารจานหนึ่งที่ผมมักเอาไว้ใช้สร้างบทสนทนาบทแรกๆ ระหว่างอาหารเวียดนามแบบฮานอยกับนักชิมชาวไทย ที่พอจะใช้เริ่มบทสนทนาได้ก็เพราะแกงจัวเหนคล้ายๆ แกงแคในถิ่นภาคเหนือและแกงอ่อมภาคอีสาน ตรงที่เครื่องเทศไม่มากชนิด มักจะเป็นเครื่องเทศสดที่ใช้กันในท้องถิ่นภาคเหนือและภาคอีสานในประเทศไทย คือผักไผ่และผักชีลาว แต่รสชาติจะจางกว่า ไม่เผ็ดร้อนเท่า ไม่เค็มเท่า ไม่เข้มข้นเท่าแกงในภาคเหนือและอีสาน

แต่ที่ยิ่งทำให้ไกลจากภูมิทัศน์แกงในลิ้นรสของชาวไทยคือ แกงจัวห่างไกลจากแกงในภาคกลางและภาคใต้ของไทยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะใกล้ก็จะใกล้กับต้มยำ ต้มโคล้งมากกว่า แต่ก็รสชาติไม่จัดจ้านเท่าต้มยำและต้มโคล้งอย่างแน่นอน เมื่อใดที่แนะนำให้เพื่อนชาวไทยรู้จักว่านี่คือ “แกงส้ม” แบบเวียดนาม ก็เป็นอันต้องถูกเพื่อนทำหน้างงๆ ทุกที เพราะมันไม่แม้แต่จะใกล้เคียงกับต้มยำจัดจ้านแบบที่คนไทยสมัยนี้นิยม

พรมแดนความคุ้นเคยนี้เกิดกับคนเวียดนามที่มาประเทศไทยเช่นกัน ผมได้ยินข่าวชาวเวียดนามถูกรถชนเสียชีวิตในกรุงเทพฯ บ่อยๆ เพราะพวกเขาไม่เข้าใจระเบียบรถยนต์ในกรุงเทพฯ และยิ่งแย่กว่าคือการที่กรุงเทพฯ มีรถยนต์มากกว่าในเมืองใหญ่ของเวียดนาม แถมวิ่งเร็วและเอาแต่ใจมากยิ่งกว่ารถยนต์ในเวียดนาม

ส่วนอาหารการกิน แม้ว่าคนเวียดนามจะนิยมลองชิมอาหารไทย และมีร้านอาหารไทยเปิดขายในฐานะอาหารต่างชาติราคาแพงในประเทศเวียดนามอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมาเมืองไทยเข้าจริงๆ ก็ยากที่คนเวียดนามจะเข้าใจอาหารไทย เช่น มีครั้งหนึ่งที่ผมพาเพื่อนไปกินสลิ่ม เพื่อนเวียดนามก็งงว่าทำไมคนไทยเอาวุ้นเส้นที่เป็นอาหารคาวมาทำเป็นอาหารหวานได้ ยิ่งรสชาติจัดจ้าน หลายรส แถมอาหารคาวหลายจานยังมีรสออกหวาน ยิ่งเป็นรสชาติที่ไม่คุ้นลิ้นคนเวียดนาม เรียกว่าผิดไปจากไวยากรณ์ของการสื่อสารด้วยรสบนลิ้นของชาวเวียดนาม

สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะต้องคอยสั่งเพิ่มเป็นพิเศษเมื่อพาเพื่อนเวียดนามไปกินอาหารในกรุงเทพฯ ก็คือผัก ทั้งผักสด ผัดผัก หรืออย่างน้อยก็ต้องมีแกงจืดผัก นอกจากนั้นอุปกรณ์การกินอาหารก็เป็นปัญหาเหมือนกัน คนเวียดนามคุ้นเคยกับการใช้ตะเกียบ กินอาหารในถ้วย ร้านอาหารไทยมักให้จานและคาดหวังให้กินด้วยช้อนและส้อม ซึ่งในทางตรงกันข้าม เมื่อคนไทยไปกินอาหารในเวียดนามก็จะประสบกับความยุ่งยากในการใช้ตะเกียบกินข้าวในถ้วยไม่น้อยเช่นกัน

ส่วนคนเวียดนามคนไหนที่ติดใจรสชาติ วิธีปรุง วิธีทำให้สุกของอาหารไทยในประเทศไทย จนอยากเอาไปเผยแพร่หรือไปขอร้องให้พ่อครัว แม่ครัวในเวียดนามทำให้กิน ก็อาจจะถูกต่อว่าแบบเดียวกับที่ผมเคยเจอกรณีหนึ่งในฮานอยเช่นกัน

มีวันหนึ่งผมไปกินอาหารฮานอยในร้านที่ถูกปากและไปบ่อยร้านหนึ่ง มีคนเวียดนามวัย 30 เศษๆ คนหนึ่ง ผมเดาเอาว่าเขาคงเพิ่งเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ ก็เลยอยากให้เพื่อนๆ เขาที่มาร่วมโต๊ะกันได้ลองชิมอาหารกรุงเทพฯ บ้าง ชายคนนั้นเรียกเจ้าของร้านมาสั่ง “หมึกทอดกระเทียม” เจ้าของร้านสวนกลับมาทันทีว่า “ไม่มี มีที่ไหนเอาปลาหมึกไปทอดกับกระเทียม ปลาหมึกถ้าไม่ผัด ก็ย่าง หรือต้ม เอาไปทอดก็ผิดแล้ว” พอคนสั่งบอก “ไปกินมาจากกรุงเทพฯ ที่กรุงเทพฯ เขาทำกินกันทั่วไป” เจ้าของร้านก็สวนกลับทันทีอีกว่า “คนพวกนั้นทำอาหารไม่เป็น” เป็นอันว่าโต๊ะนั้นก็อดชิมหมึกทอดกระเทียม เพราะวิธีปรุงอาหารแบบนี้ไม่ได้อยู่ในไวยากรณ์อาหารของครัวเวียดนาม

พรมแดนความคุ้นเคยเป็นพรมแดนที่มองไม่เห็น แต่ฝังลึกอยู่ในตัวเราจนเราไม่รู้ตัวหลงคิดไปว่าโลกที่แท้จริงก็เป็นอย่างที่เราคุ้นเคยนี่แหละ แล้วนั่นมีส่วนทำให้เราเอาความคุ้นเคยของเราไปเป็นไม้บรรทัด ชี้วัด ตัดสินความคุ้นเคยของคนอื่น จนเกิดการดูถูกหรืออ้างเป็นเหตุในการเอาเปรียบกัน

การได้เดินทางไปที่ต่างๆ จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดตัวเองสู่ความคุ้นเคยใหม่ๆ เป็นการข้ามพรมแดนของชีวิตและประสบการณ์ การข้ามพรมแดนของวิถีชีวิตไม่เพียงแต่เป็นการได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป หากเราเปิดใจ พยายามเข้าไปในใจของพรมแดนอื่นๆ ก็จะเป็นการได้พาเอาความคุ้นเคยของตนเอง พาเอาวิถีชีวิตเรา พาเอาความเชื่อมั่นแบบเดิมๆ ของเรา ไปตรวจสอบด้วยความคุ้นเคยของคนอื่นๆ เป็นการไปค้นหาเส้นเขตแดนความคุ้นเคยของตนเอง

สำหรับหลายๆ คน การข้ามพรมแดนความคุ้นเคยน่าจะนำไปสู่โอกาสสำหรับการขยายพรมแดนความคุ้นเคย ขยับไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนที่แตกต่างกัน จนกระทั่งเกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนาลักษณะเฉพาะของกันและกันแบบใหม่ๆ ยิ่งขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save