fbpx

‘เพราะโฆษณาอยากเข้าถึงคน คนทำจึงต้องเข้าใจยุคสมัย’ คุยกับเบนซ์ ธนชาติ ศิริภัทราชัย ในวันที่ตั้งใจใส่เรื่องราวสังคมลงไปในงานที่ทำ

ท่ามกลางสารพัดความขมขื่นที่คนไทยกำลังเผชิญไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กำลังขยายเด่นชัดขึ้นในสังคม คลิปสัมภาษณ์ ‘แวน ธิติพงษ์’ ทายาทเศรษฐีก็ปรากฏขึ้น เรียกความสนใจจากผู้คนด้วยคำตอบในการถอดรหัสความสำเร็จอย่าง “เพราะบ้านผมรวย” “ผมมีทรัพยากร” ถูกอกถูกใจใครหลายคน ในช่วงที่ความเชื่อที่ว่า “การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องเริ่มที่ตัวเอง” กำลังถูกตั้งคำถามในสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม

The Good Human คือโปรเจกต์ส่วนตัวของ เบนซ์–ธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับโฆษณา เอ็มวี และนักเขียนที่มี ‘ความกวน’ เป็นเอกลักษณ์ในผลงาน จนกลายเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวที่ติดตัวไปจนถึง Salmon House โปรดักชันเฮาส์ที่เขาประจำเป็นผู้กำกับโฆษณาอยู่

มองลึกลงไปในการเสียดสีแบบตลกร้ายของธนชาติ จากหลายงานที่เขาผลิตสู่สังคม คนทำงานสร้างสรรค์อย่างเขาตั้งใจสอดแทรกรายละเอียดหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมลงไปในงานเพื่อสื่อสารถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีมานี้ที่หลายความเชื่อกำลังถูกสั่นคลอนด้วยแนวคิดใหม่ของคนรุ่นใหม่

101 ชวนธนชาติคุยกันถึงเบื้องหลังการทำงานของเขา ภายใต้มุกตลก เสียดสีหน้าตาย ยียวนกวนประสาท สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากอะไร เขามองความตลกร้ายอย่างไร เขาทำความเข้าใจกับบริบทสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และการนำประเด็นสังคมใส่เข้าไปในโฆษณาต้องผ่านการคิดวิเคราะห์อย่างไร 

‘ถอดบทเรียน’ กว่าจะเป็นงานแต่ละชิ้นของผู้กำกับและนักเขียนสไตล์กวนๆ กันได้ในบทสนทนาข้างล่างนี้

งานล่าสุดอย่าง The Good Human ได้รับเสียงตอบรับล้นหลาม มีฟีดแบ็กอะไรน่าสนใจสำหรับคุณอีกบ้างไหม

มีๆ เช่น บางคนบอกว่า ญาติเขาเชื่อว่านี่คือเศรษฐีจริงๆ ไม่คิดว่าเป็นนักแสดง ทั้งๆ ที่เราคิดว่า ณัฏฐ์ กิจจริตเป็นนักแสดงที่ดังนะ หนังที่เขาเล่น เรื่อง 4kings ก็มีป้ายติดทุกทางด่วน บนรถไฟฟ้าอีก แล้วยังเล่นเอ็มวีมากี่ร้อยล้านวิว ซีรีส์ก็เคยเล่น แต่มีคนที่ไม่รู้จัก แล้วเขาก็ส่งต่อในไลน์ว่า “คนนี้พูดตรงมาก” (หัวเราะ) ตลกดี 

หรือมี CEO ตัวจริงมาเปลือยชีวิตว่า “ใช่ ผมรู้สึกมาตลอดว่าความสำเร็จของผมมันมีบางอย่างซัปพอร์ต มันก็ไม่ใช่ความสามารถของผมตรงๆ หรอก” และมีอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาคุยกับเราว่างานนี้ดีมากเลยนะ มันเปิดเปลือยสังคม และทำให้เห็นอะไรแบบนี้สักที 

มัน spin off ออกไปถึงขั้นที่มีการพูดเรื่องภาษีคนรวย ทำไมคนรวยได้เปรียบเชิงนโยบาย โครงสร้างมันเป็นอย่างไร ซึ่งดีมากที่มีการขยายประเด็นออกไปเยอะๆ พวกเราจะได้ keep in mind ว่าไม่ใช่ this dude starts from nothing ถ้าเป็นการวิ่งผลัด ก็คือว่าพ่อของเขาวิ่งผ่านมาหลายอย่างและทำระยะได้เปรียบมาไกล จนมาส่งไม้ต่อมาให้เขา เขารับแล้วก็เดินเข้าเส้นชัยได้เลย 

จริงๆ เราเชื่อว่าเรื่องลูกคนรวยประสบความสำเร็จเพราะสิ่งที่เขามีอยู่แล้วไม่ใช่เมสเซจใหม่ มันมีมานานแล้ว แต่เราไม่ค่อยได้มองพาร์ตนี้กัน งานที่เราทำก็เหมือนเอาประเด็นนี้มาขยายและแปรรูปให้ออกมาน้ำเสียงกวนๆ 

จุดเริ่มต้นของงาน The Good Human เกิดจากอะไร ทำไมคุณอยากเอาประเด็นนี้มาเล่าแบบกวนๆ 

เกิดจากความชอบและอยากทำ หนึ่ง–เราเป็นคนชอบอารมณ์ขันเลวๆ เดดๆ รู้สึกว่ามันตลกดี แล้วเราร่วมงานกับณัฏฐ์มา 4 ปี ตั้งแต่เล่นโฆษณาจนมาเล่นเอ็มวี เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนกวนตีน หน้านิ่ง มีดีเอ็นเอคล้ายๆ กัน จะบอกว่าเป็นคนชั่วก็ได้ (หัวเราะ) ถึงมันจะชอบเล่นบทหนุ่มหล่อ มีคนมาหลงเสน่ห์ 

ทีนี้เราทาบทามณัฏฐ์ไว้นานแล้วว่ามาเล่น Skit กัน (Skit หรือ Sketch Comedy คือ แนวทางการทำคอนเทนต์ล้อเลียน เสียดสีด้วยเหตุการณ์สมมติเป็น Comedy สั้นๆ จบในตอน) ไม่ต้องมีลูกค้าหรอก ทำสนุกๆ กัน 

สอง–อยากพูดเรื่องสังคม คนรวย คนจน มีเพื่อนเราหลายคนที่มักจะมีการรับรู้ต่อคนจนในมุมปัจเจก เช่น คนจนเพราะขี้เกียจ คนจนไม่ยอมทำนู่น ทำนี่ โง่ จน เจ็บ เครียด กินเหล้า มันต้องความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ซึ่งความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

ในขณะเดียวกัน มีคนที่เรารู้จักหลายคน เพื่อนเราทั้งที่อยู่ที่นี่และที่อุบลฯ เขาเป็นคนเก่งมาก เป็นคนพยายามและมีความรู้ แต่เขาไม่มีทรัพยากร ไม่มีโอกาส ดังนั้น เราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่พยายามแล้วจะประสบความสำเร็จ พวกเขาทุ่มเทมาก แต่มีบางอย่างไม่เอื้อต่อเขา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการเมืองหรือนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ

อะไรที่ทำให้คุณไม่เชื่อใน ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ แล้ว

ไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่คิดว่า มันไม่ใช่สัจธรรมที่ถูกต้องในทุกสถานการณ์ ยิ่งโตขึ้น ยิ่งรู้ว่าผลลัพธ์ทุกอย่างมันไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราคอนโทรลได้อย่างเดียว ถึงจุดหนึ่งเราเห็นคนมากมายที่ work hard และไม่ได้ผลอย่างนั้น ต้องบอกว่าแต่ก่อนเราโตมาในยุคหนึ่งที่นิตยสารมีอิทธิพล เราจะได้รับเมสเซจว่า You must be somebody, you have to work hard มันจะเป็นยุคที่เชื่อในความเป็น somebody แล้วจะดีเอง ทุกคนรับผิดชอบในชีวิตตัวเอง ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเรา 

แต่ยุคที่เชื่อในความเป็น somebody ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสมอไป มันต้องการอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า มันอาจต้องการโครงสร้างนโยบายหรือการบริหารงานของภาครัฐ ที่ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือสังคมที่เราจะเติบโตได้ เพราะยุคนี้พิสูจน์แล้วว่าทำอะไรแทบตาย มันก็ไปไม่ถึงจุดที่โอเคสักที เด็กจบใหม่ทำอะไรผิด แม้แต่คนที่ได้เกียรตินิยม ยังไม่มีงานเลย นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาพยายามที่สุดแล้วเหรอ ต้องให้เขาพิสูจน์อะไรอีก มันมีเคสอย่างนี้เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า สิ่งที่ปลูกฝังมารุ่นหนึ่งไม่จำเป็นที่จะถูกเสมอไป

ในขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับว่าจุดหนึ่งทุกคนพร้อมจะถอดรหัสคนรวย ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าคนรวยไม่มีแนวคิดน่าสนใจนะ หลายคนเป็นคนเก่ง ความคิดก็ดี แม้จะไปกวนๆ เขา แต่เราก็ชอบฟังสัมภาษณ์หรือฟังพอดแคสต์นักธุรกิจรุ่นใหญ่ แนวคิดบางอย่างน่าสนใจนะ แต่มันก็มีปัจจัยอื่นที่เขาไม่ได้บอกเราเบื้องหลัง มันไม่ใช่การ start from the bottom หรือมันไม่ได้มาจากตัวเขาทั้งหมดหรอก ผมรู้ว่าเขาเป็นคนเก่ง แต่ต้องยอมรับว่ามันมีอีกส่วนหนึ่ง หรืออะไรบางอย่างที่เอื้อให้เขา ดังนั้น เราไม่สามารถนำแนวคิดทุกอย่างมาปรับใช้ได้ทุกคน อย่างเรื่องที่เขาชอบพูดกันว่า “ผมไม่หยุดที่จะเรียนรู้”  โห มีคนที่ไม่หยุดจะเรียนรู้เยอะแยะ แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเขาไม่มีต้นทุนแบบพี่ไง

พอได้เมซเซจนี้แล้ว เล่าได้ไหมว่ากระบวนการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก คิดงานออกวันพุธ เขียนบทอย่างมันมือในสองชั่วโมง ทักไปหาณัฏฐ์มาสัมภาษณ์ mockumentary กันหน่อย ณัฏฐ์เคลียร์คิวมาหา ทำการบ้านตัวละครมาดิบดี ถ่ายกัน 3-4 ชั่วโมง เสร็จแล้ว กองมีกันอยู่แค่ 4 คน ผู้กำกับ ตากล้อง นักแสดง คนอัดเสียง ตัดต่ออีกวันนึงก็ปล่อยวิดีโอ

กระบวนการผลิตไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก ตอนปล่อยวิดีโอออกไปแล้วนี่สิปวดหัวกว่า คือโอเค นอกจากคนแชร์นั่นนี่กันไป หรือฟีดแบ็กที่พูดไปด้านบน ก็มีเรื่องให้เหวอเหมือนกัน กล่าวคือ ย้อนกลับไปตอนเขียนบทอย่างมันมือนั้นเอง อยากได้ชื่อที่ดูอังกฤษๆ สักชื่อมาตั้งเป็นโรงเรียน เราก็เสิร์ชชื่อเมืองแมสๆ อย่างลิเวอร์พูลไป แล้วหาชื่อเมืองละแวกนั้นมาตั้งเป็นชื่อโรงเรียนดัดสันดานที่คุณแวนถูกส่งไป ก็มาเจอชื่อเมือง Oswestry เราก็โอเคใช้ชื่อนี้ 

ตัดภาพมา อีเมลจากอังกฤษส่งมาเลยครับ ปรากฏมันมีชื่อโรงเรียนนี้จริงๆ แถมเป็นโรงเรียนเก่าแก่ โรงเรียนดังด้วย เราก็ฉิบหาย จะโดนเขาฟ้องไหม ก็มาทำเรื่องออกจดหมายแก้ความเข้าใจผิดกันไป ถือเป็นเรื่องระทึกประจำเดือน เกือบไปแล้วไง ยังไงก็ต้องขอโทษทางโรงเรียน ศิษย์เก่าและผูัปกครองนักเรียนปัจจุบันอีกทีครับ 

เท่าที่สังเกต งานคุณส่วนใหญ่มีลายเซ็นชัดคือ การเล่าแบบมุกตลกหรือเสียดสี จิกกัดกันหน่อยๆ ซึ่งบางคนก็สงสัยว่า ทำไมต้องทำประเด็นเสียดสีด้วย บางเรื่องคุยกันดีๆ ก็ได้ คุณมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

เห็นด้วยๆ คุยกันดีๆ ก็ได้ แต่ว่าธรรมชาติของแต่ละคน วิธีการสื่อสารกันคนละแบบ การเสียดสีของเราอาจจะเป็นสันดานของการเป็นคนนิสัยไม่ดีของเราก็ได้ ถ้ามีคนบอกว่า “ธนชาติชอบกวนตีน ธนชาติชอบเสียดสี” ก็ใช่ครับ ผมเป็นคนเลวจริงๆ นั่นแหละ แต่เราไม่ได้เสียดสีคนอื่นอย่างเดียวนะ ตัวเรายังกวนตีนตัวเองเลย 

อย่างเราชอบกินโอมากาเสะ เราก็จะกวนตีนตัวเองว่า “แหม ทำมาชอบกินโอมากาเสะ” (ทำเสียงล้อเลียนแบบหมั่นไส้) หรือเราชอบสะสมนาฬิกา วันนั้นเราก็คิดว่า “ทำมาเป็นชอบนาฬิกามีมูฟเมนต์นู่นนี่นั่น แหม คนข้างนอกเขาไม่มาสนใจกับมึงหรอก” (ทำเสียงด่าตัวเอง) 

เราแย้งตัวเอง หมั่นเขี้ยวตัวเอง เพราะไม่งั้นเราจะอยู่ในโลกของตัวเอง แล้วเราคิดว่าทุกอย่างที่มันเป็นดีหมด อย่างที่เราพิมพ์สเตตัสใน Facebook เรื่องต้นกล้า อันนั้นเราก็วิพากษ์ตัวเอง ซึ่งหลายคนจะเข้าใจว่าเราต้าน จริงๆ ไม่ใช่นะ เราใช้วิธีนั้นในการถอดเอาตัวเองออกมาจากวงการ แล้วมองจากมุมมองบุคคลที่ 3 เราต้องผละออกจากตัวเราเอง ไปมองจากสายตาคนนอกบ้าง และกล้ากวนตีนตัวเองด้วย เพราะต้องยอมรับว่าจริตเราชาวชนชั้นกลางมันก็น่าหมั่นเขี้ยว

เรารู้สึกว่าทุกคนควรกวนตีนตัวเอง หรือเอาจริงๆ ไม่ต้องวิพากษ์ตัวเองแบบนี้ก็ได้นะ แค่ถอยออกจากตัวเองมามอง อย่าไปจม อย่าไปอินกับตัวเองมาก 

เวลากวนตีนตัวเอง ความรู้สึกลึกๆ ข้างในเป็นอย่างไร

ขำขื่นกับความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มันน่าเศร้าและน่าตลก แม้กระทั่งกับตัวเองนะ เช่น สมมติวันนี้ต้องไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ เราอยากให้เขามองว่าเราก็เป็นคนประสบความสำเร็จ น่าเชื่อถือ ทำยังไงวะ ไม่มั่นใจในตัวเองเลย งั้นใส่ Rolex สักหน่อย (หัวเราะ) เขาเห็น Rolex ก็น่าจะคิดว่า หมอนี้ใช้ได้หรือเปล่านะ 

แต่กลับมามองแล้วก็ขำขื่น อะไรของมึงวะ ไม่มี self-esteem จนต้องการนาฬิกาจากสวิสฯ มาแสดงความมั่นใจเหรอ พอมองจากสายตาคนอื่น เราจะเห็นว่า เราก็มนุษย์อ่อนแอคนหนึ่ง ไม่ได้เก่ง ไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้นหรอก ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นมนุษย์นะ การมองว่าเราเป็นคนห่วยๆ มนุษย์ขี้เหม็น มีกิเลส มีความโง่ เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ได้ถึงขั้นบรรลุทางธรรม มันทำให้เรายิ้มกับตัวเองแล้วขำ มึงมันก็แค่นี้แหละไอ้แว่น

แล้วยังทำสิ่งที่วิพากษ์ตัวเองต่อไปไหม

ก็ยังทำต่อไป (หัวเราะ) บอกแล้วไงว่า เข้าใจว่ามนุษย์เป็นแบบนี้ แต่มันไม่ได้ discourage มันแค่เป็นคนกวนตีนตัวเอง หมั่นเขี้ยวตัวเอง 

ที่วิพากษ์ตัวเองเพราะไม่มั่นใจในตัวเอง หรือเพราะต้องการเอาตัวเองออกจาก echo chamber 

ใช่ หนึ่ง–ต้องการออกจาก echo chamber สอง–เราไม่มั่นใจในตัวเอง หมายถึงว่า เรามั่นใจในสิ่งที่ทำนะ แต่เราไม่ได้มั่นใจว่าเราเป็นมนุษย์ที่เก่งอะไรขนาดนั้น เราไม่ใช่มนุษย์ที่เจ๋ง แล้วมันทำให้เรา on the ground มากๆ   

พอคุณพูดถึงสเตตัสต้นกล้า ลักษณะการสื่อสารแบบนั้นดูไม่เหมือนแซะตัวเองเลย เคยมีคนเข้าใจการสื่อสารของคุณผิดคิดว่าคุณแซะคนที่เขาอินกับเรื่องนั้นๆ ไหม

เรารู้สึกว่ามันเป็นอารมณ์ขัน แน่นอน ทุกอารมณ์ขันมีคนไม่เก็ตอยู่แล้ว แล้วเขาบอกว่าเราไปกวนตีนคนวิ่ง เราไปกวนตีนคนกินเนื้อวากิว คนซื้อนาฬิกา ก็ไม่นะ เรากวนตีนตัวเองทั้งนั้น ซึ่งมีคนไม่เก็ต มีคน take seriously ว่าต้นกล้ามันพูดอย่างนี้จริงๆ แล้วทำไมปล่อยในนี้ได้ เพราะเราเป็นตลกสายกวนตีนหน้าตาย 

แล้วคุณคิดยังไงกับการที่เขาไม่เข้าใจคุณ อยากอธิบายให้เขาเข้าใจไหม

เฉยๆ อารมณ์ขันไม่มีใครเก็ตทั้งหมด คลิปคุณแวนที่ออกไปก็มีคนเกลียด เราทำงานมาถึงจุดหนึ่งแล้วรู้ว่าแกไม่มีทางทำงานแล้วคนชอบได้หมด ถ้าทำงานที่ทุกคนพยักหน้าไปด้วยกันหมดมันจะ “แหงล่ะ” เกินไป เช่น “พูดดีใครๆ ก็รัก” (ทำเสียงเลียนแบบโฆษณา) ก็แหงล่ะ “เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลานะครับ” (ทำเสียงเลียนแบบโฆษณา) ก็แหงล่ะ ซึ่งมันไม่ได้ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคม

แล้วเราไม่อธิบายเลย เพราะงานแบบนี้มันมีกลุ่มเป้าหมาย เราเลยรู้สึกว่ากลุ่มคนที่ไม่เข้าใจเราไม่เป็นไร แต่กลุ่มคนที่เข้าใจเรา เราต้องทำเมซเซจให้มันถึงนะ มันถึงจะเกิด emotionally connected กับเขา ด้วยความเป็นโลกออนไลน์สมัยนี้ ทุกคนมีกลุ่มเป้าหมายเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เราไม่สามารถทำงานที่แมสได้

กลับมาที่งานที่คุณทำ นอกจากการเล่าเรื่องเสียดสีหรือเล่าตลกๆ แล้ว ที่ผ่านมาคุณหยิบประเด็นสังคมมาพูดในงานโฆษณาและเอ็มวีหลายชิ้น ทำไมคุณถึงอยากใส่ประเด็นสังคมในงานที่ทำ

เราอยากให้สังคมได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกันไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเพื่อสังคม หรือคนดีอะไรขนาดนั้น แต่เพียงแค่เราอยากคอนเน็กกับคน หรือมีบางอย่างที่อยากพูดกับคน

ไม่รู้เจ้าอื่นเป็นอย่างไร แต่เราคิดว่า โฆษณาเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากคนดู โฆษณาอยากทำสิ่งที่คนดูชอบอยู่แล้ว คนสมัยนี้นำหน้าเราไปไกลแล้ว ถ้าทำอะไรเสล่อออกมาจะโดนด่านะ เช่น ขายผลิตภัณฑ์ผู้หญิง ถ้าจะมาบอกว่า “ผอม สวย หน้าท้องแบนราบจนผู้ชายต้องมอง” (ทำเสียงเลียนแบบโฆษณา) โดนด่าแน่

หรือเล่นมุกแบบไม่ดูแลตัวเองเลย มีฉากคนอ้วนล้ม เพื่อนตลก ล้อกันว่าไอ้ดำ ณ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะว่าสังคมเปลี่ยนไป แล้วถ้าไม่เปลี่ยนตามสังคม หนึ่ง–แกจะโดนด่า สอง–แกจะถูกทิ้ง และสาม–เนื้อหาที่แกทำจะไม่คอนเน็กกับคน โฆษณาอยากจะคอนเน็กกับคน เพราะฉะนั้น คุณต้องดูก่อนว่าคนเป็นอย่างไร ถ้าคนนำไปแล้วแต่คุณยังทำอะไรแบบนี้ออกมาอีก โดนด่า

ส่วนตอนทำเอ็มวี เราคิดว่าเราเป็นคนบาลานซ์เมซเซจได้ เราเชื่อว่าเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตย มันมีออกมาเยอะแล้ว เราไม่ใช่คนที่ทำได้ดีที่สุดหรอก หลายคนทำจี๊ดกว่า ทำเนื้อหาไปสุดกว่า แต่เราเป็นคนทำโฆษณาที่สื่อสารกับกลุ่มแมสมากๆ เลยพอจะรู้ว่า บางเรื่องเหลาให้คมนิดหนึ่ง เพื่อให้คนดูที่อาจจะไม่ได้เห็นด้วย ทำให้เขาผงกหัวเห็นด้วยได้ ดูแล้วไม่รู้สึกต่อต้านในแวบแรกได้นะ 

อย่างตอนทำเอ็มวีให้ Getsunova เขาก็มาหาเราบอกว่า อยากทำเอ็มวีเกี่ยวกับบ้านเมือง เราก็ตอบว่า โอเคได้พี่ เดี๋ยวผมทำให้ เราก็สกัด core idea ของประเด็นมาเล่าในท่าทีเด็ก รวมถึงการคราฟต์งานวิดีโอด้วย เลยอาจจะทำให้อันนี้เป็นจุดแข็งของเรา 

ในแต่ละเรื่องที่คุณพูดถึง คุณต้องทำความเข้าใจประเด็นสังคมอย่างไร มีวิธีการที่ต้องลงไปเรียนรู้ในแต่ละเรื่องไหม

ง่ายที่สุด คือ เสิร์ชคำหรือเรื่องนั้นใน Google ดูว่าเขาถกเถียงอะไรกันอยู่ หรือไปคุยกับญาติพี่น้อง คุยกับเด็กที่ออฟฟิศ สนใจเรื่องอะไรไปหาหนังสือมาอ่าน 

อีกวิธีคือเราเป็นคนชอบสังเกตชีวิตคน แต่ก่อนเราชอบเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เพิ่งมาขับรถตอนอายุ 31 นี่เอง แล้วเราชอบสังเกตสิ่งแวดล้อม ดูคน ชอบพฤติกรรมคน ชอบเดินผ่านพนักงานออฟฟิศเขาทำอะไรกัน ทำไมเวลาเขากินข้าวต้องมาเป็นกลุ่ม ขนาดไปซื้อข้าวต้องวางบัตรไว้จองโต๊ะทำไม 

กลับมาที่ประเด็นงาน สมมติต้องทำโฆษณาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผู้หญิง เราก็ขอทำรีเสิร์ชเลย ชวนน้องผู้หญิง 20 คน เลือกแบบหลากหลายคนมาคุยกัน เรื่องนี้เขารู้สึกยังไงวะ เขาคิดอะไรอยู่ หน้าที่หลักๆ ของเราคือ ฟัง ทำตัวเป็น good listener อย่าเอา attitude ตัวเองไปใส่ เพราะอาจจะมีเรื่องที่เราเข้าใจผิดมาตลอดก็ได้ ทำตัวโล่งๆ open-minded เข้าไว้ เราว่ามันคือการออกจากตัวเองไปมองคนอื่นเยอะๆ ซึ่งโชคดีที่ธรรมชาติของการทำสื่อบังคับให้เราเป็นคนแบบนี้ และทำให้เราสนใจคนอื่น

การเป็นคนชอบสังเกตคน ทำให้คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมบ้างไหม 

เราชอบที่หลายๆ ความเชื่อหรืออะไรบางอย่างมันถูก correct ไปเรื่อยๆ หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างคนกลับไปมองและทบทวนกับมัน แล้วมันรู้สึกว่า “เออว่ะ มันไม่จริงเสมอไปนี่หว่า” 

เช่น สมัยก่อนเชื่อว่าต้องทำงานหนักสิถึงจะประสบความสำเร็จ แต่พอถึงยุคหนึ่งมันยังมีอย่างอื่นที่เรียกว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า อย่างน้องเราเล่นหวย เล่นคริปโตกันมากมาย เพราะส่วนหนึ่งเขาอยากมีวิธีหาเงินไวๆ เพราะเขารู้แล้วว่าการเล่นตามเกมปกติ หรือการทำงานตามปกติมัน hopeless 

หรือมีรุ่นน้องที่ออฟฟิศเราคนหนึ่ง ไปเรียนภาษเยอรมันมา เราถามว่าทำไมไปเรียน น้องบอกว่า “อีกสักพักผมจะย้ายประเทศ แล้วผมจริงจัง ดูลู่ทางไว้แล้วว่ามีสายงาน aupair (ผู้ช่วยงานชาวต่างชาติ) กับการดูแลคนแก่ บุรุษพยาบาลยังขาดอยู่ ผมไม่ได้เกี่ยงแล้วว่าจะทำงานอะไร แค่อยากไปอยู่ในที่ที่ดีมากกว่านี้” 

โห เราไม่เคยคิดเลย มันเหมือนเป็นการให้ความสำคัญกันคนละแบบ เราว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการจะดัง หรือหาตัวเองให้เจอเพื่อทำสิ่งที่รัก จำพวกแบบ ‘ทำงานที่ใช่ให้เป็นอาชีพที่ชอบ’ บางคนเขามองข้ามไปเลยนะ ไม่ต้องทำงานที่รักก็ได้ แต่อยู่ในที่ที่ดีก็พอ ซึ่งเราไม่เคยคิด เพราะเราโตมากับนิตยสารที่บอกว่าต้องเป็น somebody นะ ถึงจะประสบความสำเร็จ

 

ในเวลาที่คนรุ่นหนึ่งในสังคมให้คุณค่าต่างจากสิ่งที่คุณรับรู้ และเมื่องานโฆษณาที่คุณทำต้องคอนเน็กกับคนกลุ่มนี้ มีบ้างไหมที่คุณพยายามเอาประเด็นสังคมเข้ามาใส่ แต่ยังมีจุดบกพร่องอยู่

(นิ่งคิด) นึกภาพตอนนี้นึกไม่ออก พอทำงานไปเรื่อยๆ แล้วเรารู้สึก PC ตัวเองเยอะเหมือนกัน พยายามเช็กเยอะๆ เพราะเราว่าทำสื่อเรามีผลกระทบ แล้วเราไม่อยากพูดอะไรที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี เพราะเราก็เติบโตมาแบบมีคนพูดอะไรบางอย่างใส่ แล้วเรารู้สึกไม่ดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราค่อนข้างเช็กมากเลย 

แต่นั่นแหละ กระทั่งเช็กแล้ว ไม่ใช่ว่าคอมเมนต์จะขาวสะอาดใสร้อยเปอร์เซนต์นะ หลายๆ งานก็มีเสียงสะท้อนมาในแง่มุมอื่นๆ ที่เราคิดไม่ถึงเหมือนกัน Facebook กับ Youtube จะเฉยๆ แต่ Twitter จะมีอะไรให้เปิดหูเปิดตาเยอะพอสมควร ซึ่งอันนี้ก็เป็นความ subjective ของแต่ละคนกันไป  

วิธีการ re-check งานของคุณคืออะไร

เราว่ามันมาตั้งแต่ตอนระดมสมอง คุยกันในทีม ว่าจะใส่อันนี้เข้าไปดีไหม ตรงนี้เล่าเกินไปไหม แต่ตรงนี้ได้ หรือตรงนี้เราจะโดนด่านะ เพราะมันมีเรื่องชนชั้น มีเรื่อง LGBT มีเรื่องนู่น เรื่องนี่ มันคือการค่อยๆ คุยกันไป โยนกันไปมา โชคดีที่ออฟฟิศ Salmon House อายุใกล้เคียงกัน เป็นคนรุ่นใหม่ เราน่าจะแก่สุดแล้วมั้ง นอกนั้นน้องๆ อายุ 22-23 เราเลยได้เรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่เยอะ 

แม้ว่าเราจะเห็นโฆษณาหลายตัวเล่ามุมมองใหม่ๆ ในสังคม ในขณะเดียวกันถ้าเทียบเนื้อหากับงานอื่นๆ ในวงการสร้างสรรค์อย่างศิลปะ ภาพประกอบ ภาพยนตร์ วรรณกรรม นิยาย โฆษณาก็ยังไม่ได้เล่าเรื่องสังคมเยอะเท่างานอื่นๆ หรือเปล่า

เราเชื่อว่าอย่างนี้ โฆษณาเป็นสื่อที่ผลิตออกมาบ่อยที่สุดเนอะ มีเงินอัดฉีดตลอดทั้งปี ไม่น้อยนะ ซึ่งเราอาจจะเถียงแทนว่ามันมีโฆษณาที่คนตระหนักเรื่องสังคมเยอะขึ้น และเปลี่ยนมาพูดสิ่งที่ทันกับสังคมเยอะขึ้นจริงๆ ถ้าไปดูตอนนี้ มันไม่มีคนโฆษณาที่ล้อคนอื่นว่าดำหรืออ้วนแล้ว หรือว่ามันไม่ค่อยมีโฆษณาที่บอกว่ากลับไปทำเกษตร ไปเป็นชาวนาที่น่ารักที่ต่างจังหวัดกันเถอะ ไม่ใช่อย่างนี้แล้ว

ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่า โฆษณาครึ่งหนึ่งอาจจะไม่ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องสังคมเลยก็ได้นะ เช่น สีทาบ้านกันฝน คนทำอาจจะไม่รู้ว่าจะไปสื่อสังคมอะไร หรือจะมีบางอันที่ out of category ไปเลย เพราะเขาจะขายของ 

แต่ทั้งนี้ก็มีโฆษณาแตะๆ สังคมบางอันมันก็ยังอาจจะเป็นล้าหลังอยู่บ้าง หรือใช้เมซเซจเดิมๆ เราก็เข้าใจว่าโฆษณาเป็นสื่อที่มีนายทุนเอกชนหรือรัฐ เขามาจ้างทำโฆษณา การตัดสินใจสุดท้ายจึงไม่ได้จบที่ผู้กำกับ หลายๆ บริษัทที่มาจ้าง บางทีคนอนุมัติเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ฉะนั้น เรื่องอะไรที่เขาไม่สบายใจ รู้สึกว่ามันแหลมเกินไป เขาก็ไม่เอานะ ซึ่งโอเค แม้ว่าบางอย่างก็อยู่ที่ท่าทีการไฟต์ของคนทำจนได้สิ่งนั้นมา แต่มันก็ต้องมาดูว่าจะต้องไฟต์อย่างไร และไม่ใช่ว่าไฟต์แล้วจะได้หมดทุกอย่าง 

คนตัดสินใจขั้นสุดท้ายจริงๆ คือเจ้าของโปรดักต์ เพราะฉะนั้น มันเป็นธรรมชาติที่เราจะไม่ได้ทุกอย่างแบบที่งานสารคดี งานเขียน หรืองานอื่นๆ ซึ่งครีเอเตอร์สามารถจบได้ที่ตัวเอง แต่โฆษณาคือ commercial art เราใช้เงินคนอื่นมาทำงาน 

แต่ขณะเดียวกัน อย่างที่บอก โฆษณาหลายตัวเติบโตตามสังคมจริงๆ ยิ่งโฆษณาโปรดักต์เกี่ยวกับวัยรุ่น เดี๋ยวนี้ต้องเช็กหมดเลยนะ 

พอการตัดสินใจไปอยู่ที่คนถือเงิน เราในฐานะคนเล่า แล้วอยากพูดประเด็นสังคมด้วย มีบ้างไหมที่คนบอกว่าเราเอาเรื่องสังคมมาหากิน เราตามกระแส พยายามเอากระแสมาขายหรือเปล่า

จำไม่ได้ว่ามีไหม แต่หลายอันเขาก็ขำไปกับเรานะ บางอันก็มีคนบอกว่ามันเบียวบ้าง เอาเรื่องชาวบ้านเดือดร้อนมาเป็นเรื่องขำๆ บ้าง 

เคยเห็นโฆษณาที่เกี่ยวกับชาวนาของ Salmon House ที่คนวิจารณ์กันเรื่องมุมมองชนชั้นกลางและสุดท้ายจบด้วยการขายของเหมือนกัน

งานนั้นเราไม่ได้กำกับ แต่จะบอกว่ามันคือเรื่องเดียวกับธรรมชาติของโฆษณา เอาเงินคนอื่นมาทำเนอะ โปรดักชันขนาดนั้น เราคงไม่สามารถออกเงินเองได้ สุดท้ายมันต้องมีการตบเข้าโปรดักต์หรืออะไรสักอย่าง ซึ่งคนก็จะบอกว่าเนี่ย ‘งานโฆษณา’ ผมน้อมรับว่าใช่ มันยังมีบางอย่างที่สุดท้ายผมก็ต้องใส่โปรดักต์ลงไป แต่อย่างน้อยมันได้เผยอีกมุมหนึ่งที่ให้เห็นอีกด้านของชีวิตบางคนหรือเปล่า 

มันคงดีมากเลยถ้าเรามีเงิน 2 ล้านแล้วเราก็ทำแบบที่อยากทำ ถ่ายเรื่องชาวนาชีวิตไม่ง่ายเลย แล้วก็ตัดจบปึ้ง “เป็นชาวนาไม่ง่าย” ก็อยากให้เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้ามีเงิน แต่สุดท้ายเราเอาเงินคนอื่นเขามา เราก็ต้องให้เขา 

ซึ่งแน่นอน ไม่ได้หยุดคนให้ห้ามด่า ด่าเลยฮะ อย่างน้อยประเด็นนี้จะถูกพูดถึง แต่พอเกิดเรื่องแบบนี้ เราไม่ได้อยากไปแก้ต่างกับคนว่า ผมทำงานโฆษณาเพราะงั้นผมเลยต้องทำอย่างนี้ ไม่เลย คนดูมีสิทธิด่าทุกประการ ด่าเลย ผมปรับกระบวนทัศน์ได้ประมาณนี้ ที่เหลือผมต้องขายของ แต่อย่างน้อยเรารู้สึกว่ามันดีที่มีโฆษณาแบบนี้ออกมานะ และเราว่าโฆษณาแบบนี้ออกมา สังคมไม่ได้แย่กว่าเดิม 

ถ้าอย่างนั้นคุณจะบอกว่าข้อจำกัดของงานโฆษณาคือเอาเงินคนอื่นเขามาทำ

ใช่ แค่นั้นเลย ideal ของ Salmon House อยากมีเงินร้อยล้าน ใครอยากสนับสนุนให้ทำประเด็นสังคมมาได้เลย พวกเราก็อยากได้ทุนมาทำแบบไม่ต้องประนีประนอมเหมือนกัน  

แต่นั่นแหละ ผมเอาเงินเขามาทำ ซึ่งคนก็ยังด่าผมได้อยู่ดี ‘ไอ้แว่น สุดท้ายมึงก็เอาเงินคนอื่นมาทำ เมซเซจที่มึงทำสุดท้ายก็อยู่ในลูปเดิม’ ผมน้อมรับ ผมเถียงไม่ได้จริงๆ มันคือธรรมชาติของสื่อผม 

ถ้าเอาแบบสบายใจทั้งคนทำงานและคนถือเงิน คุณไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องสังคมไปใส่งานก็ได้หรือเปล่า 

ใช่ เราเพลย์เซฟก็ได้ แต่เราอยากทำอะไรที่ให้คนรู้สึก คนชอบคิดว่าหลายสิ่งที่มาจาก Salmon House คือคนเหี้ย ชอบกวนตีนสังคม แต่ไม่นะ เราอยากทำเรื่องรีเลตกับคน เราชอบพูดกับพี่วิชัย (มาตกุล) ว่ามันคือ humanize ทำให้โปรดักต์มีความเป็นมนุษย์ที่สุด เชื่อมโยงกับคนได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น มันคงดีที่เราทำอะไรบางอย่างลงไปแล้วมันเชื่อมโยงกับเขา เขาเปลี่ยนความคิดแล้วมองอีกมุมได้

เช่น เราเคยทำโฆษณาที่สื่อสารเรื่องคนเราโตมาไม่เหมือนกัน อย่าให้โฆษณามาบอกว่าคุณเป็นวัยรุ่นที่ใช้ไม่ได้ ในยุคที่โฆษณาส่วนใหญ่มักบอกว่าวัยรุ่นต้องออกไปค้นหาตัวเอง ต้องกล้า ต้องซ่า ต้องเสียงดัง ออลลี่สเก็ตบอร์ดในตึกร้าง 

เราทำโฆษณาที่บอกว่า การเป็นตัวของตัวเอง บางทีอาจจะแค่นั่งอ่านหนังสือ นั่งลูบหัวหมาอยู่ที่บ้านก็ได้ เพื่อนมาหาจะนั่งคุยกันเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์กัน 4-5 ชั่วโมงก็ได้นะ อย่าให้โฆษณามาบอกว่ามึงกำลังเป็นวัยรุ่นห่วย ทำสิ่งห่วย ทำสิ่งเห่ย หรือทำให้มึงไม่ชอบตัวเอง ไม่ใช่ มึงเป็นแบบนั้น ทำแบบไหนแล้วมีความสุขก็ทำไปเว้ย  

จำได้เลยว่าเราให้น้องที่รู้จักดูก่อนคลิปจะปล่อยออกไป น้องบอกว่า “หนูดูแล้วร้องไห้เลย เพราะหนูคิดมาตลอดว่าการที่หนูเป็นเด็กเงียบๆ แล้วเก็บตัว มันคือสิ่งที่ผิด มันคือสิ่งที่ใช้ไม่ได้มาโดยตลอด” คือคนมีหลายแบบจะ introvert และ extrovert  ก็แล้วแต่เขาจะเลือกเป็นไป 

สมมติพรุ่งนี้มีหน่วยงานรัฐมาจ้างคุณทำโฆษณาท่องเที่ยวไทย ทุ่มเงินให้เลย ไม่มีเพดานเนื้อหาด้วย คุณจะทำออกมาอย่างไร

พูดยากนะ (คิด) land of what the f*ck หรือเปล่า (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าโฆษณาไทย ก็ดีนะ ทำวิวสวยๆ เกาะมันนอก เกาะพีพี เห็นวัฒนธรรมอะไรหลายอย่าง แต่ชีวิตจริงมันคือแบบนี้ (ชี้ลงไปข้างล่างตึก) รัชดาซอย 3 ไม่มีฟุตพาท ทางเดินแชร์กันกับร้านค้า อยากจะกินอะไรก็กิน อยากจะเดินตรงไหนก็เดิน 

จริงๆ เราว่าฝรั่งมาไทย เพราะความสบายๆ ไม่เป็นระเบียบมาก มีความอีลุ่ยฉุยแฉก เจอเรื่องแรนด้อมบนถนน จะกินข้าวข้างทางก็กิน หรือไปเกาะรถแดงเชียงใหม่ขึ้นเขา มันคือความ casual แบบมาเมืองไทยไม่ต้องเก๊ก เมืองคีบแตะ ให้ความรู้สึกสบายๆ 

คือเราอาจจะต้องยอมรับความไม่เป็นระเบียบของเรา เหมือน Russell Crowe มาไทยแล้วชอบสายไฟ เราอาจจะต้องเก๊กน้อยลง และยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ถ่ายแบบ hangover ไปเลย มันอาจจะต้องเป็น land of ไม่ต้องเก๊ก ไม่ต้อง keep look มาแบบไหนก็เหมือนคุณอยู่บ้านวันเสาร์-อาทิตย์ เราว่าฝรั่งเขามาไทย เขารู้อยู่แล้วว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร มานี่เจอแต่เรื่องหลวมๆ land of loose loose หลวมหมด ทั้งระเบียบ ทั้งการเมืองหลวมทุกอย่าง

แต่คนอยู่ไม่แฮปปี้ที่เป็นแบบนี้หรือเปล่า

จริง อันนั้นอาจจะเป็นพริวิลเลจก็ได้นะ You enjoy it because you will go away someday, but I stay here forever. (หัวเราะ)

แล้วถ้าถามคุณในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ ประเทศไทยมีพื้นที่และสภาพแวดล้อมเหมาะกับคนทำงานแบบคุณไหม

สุดๆ ประเทศเราเต็มไปด้วยความขัดหูขัดตา มันกระตุ้นเราให้ตั้งคำถามเยอะแยะ ลองเดินจากตึกนี้ไปปากซอย แล้วจะเห็นทุกสิ่งที่อยากจะแก้ เหมือนอยู่ใน land of ตั้งคำถามว่าทำไมๆๆ ทำไมไม่มีฟุตพาทวะ ทำไมเดินออกไปเป็นอย่างนี้ ทำไมฝาท่อเป็นอย่างนี้

เราว่าโฆษณาหลายๆ อันคิดจากปัญหาที่มีอยู่ แล้วมันมีอะไรให้เราหยิบมาทำ เช่น “เคยใช่ไหม เดินวันฝนตกแล้วเจอกับเหตุการณ์นี้” แล้วก็เป็นภาพน้ำกระฉอกเต็มตีน เราเก็บมาต่อยอดได้ พูดง่ายๆ คือคอนเน็กคนด้วยปัญหาที่เจอกัน 

แต่หลายคนบอกว่าประเทศนี้ไม่เอื้อให้คนทำงานสร้างสรรค์อยู่ได้เลย ที่นี่ไม่ได้มีอะไรให้ปลอบประโลมจิตใจให้เขาสามารถมีไอเดียดีๆ ได้

เราว่ามันอาจจะเหมาะกับบางอย่าง เราโชคดีทำงาน commercial art ซึ่งน่าจะเป็นการทำงานสร้างสรรค์ที่อยู่ได้มากที่สุดแล้ว มีเรื่องเงินมาซัพพอร์ต แต่สมมติเราพยายามอยู่ในสายงาน fine art คำถามคือ ระบบแกลเลอรีดีหรือยัง เรื่องการประกันสุขภาพโอเคไหม หรือระบบมิวเซียมบ้านเรามันครอบคลุมแค่ไหน มี public space อะไรให้เราไปเดินไหม ถ้าเทียบกับโตเกียว นิวยอร์กไม่ได้แน่นอน คนทำงานก็จะยาก 

ถ้าอย่างนั้นให้คุณฝันถึงเมืองที่รองรับคนทำงานสร้างสรรค์ได้ทุกแบบ เมืองในอุดมคติของคุณจะเป็นแบบไหน

เราอยากได้ห้องสมุด มิวเซียม public space อิเวนต์ทางศิลปะมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็อยากเรียกร้องให้เศรษฐกิจที่ดีให้คนด้วย แต่ (คิด) มันก็ยากอีกแหละ 

เอาอย่างนี้ดีกว่า ขอพื้นที่ศิลปะ ขอห้องสมุดที่รวมหนังสือดีๆ เอาแบบ TCDC จะสุดยอดมากเลย ขอแบบ TCDC ทุกจังหวัด เข้าไปยังไงคุณก็จะได้แรงบันดาลใจแน่ๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save