fbpx

เมื่อการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่ม แถมนายจ้างยังได้ประโยชน์?!?

‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของไทยเป็น 600 บาทภายในปี 2570 ไม่นานหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเป็น 328-354 บาท

การถกเถียงส่วนหนึ่งมักจะมุ่งไปที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อ โดยคนจำนวนหนึ่งมองว่าเมื่อแรงงานมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้น เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มจากเดิม จะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น กระทั่งแรงงานออกมาเรียกร้องเพิ่มค่าแรงวนไป จนในที่สุดเศรษฐกิจจะต้องพังพินาศ

การถกเถียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำอีกส่วนหนึ่งยังมุ่งประเด็นไปที่ฝั่งการผลิต โดยเกิดความกังวลว่าภาคธุรกิจจะรับมือไหวหรือไม่กับค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นหรือมีค่าแรงเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของธุรกิจ ขณะที่แรงงานไทยก็ไม่ได้มีผลิตภาพสูงขนาดนั้น ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ก็อาจปรับตัวไม่ได้ แบกรับต้นทุนไม่ไหว ต้องปรับลดการจ้างงาน หรือกระทั่งปิดกิจการไป

ประเด็นเหล่านี้พอจะมีการศึกษาชี้ว่าความกังวลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นมากเกินจริง โดยเฉพาะงานชิ้นสำคัญของ David Card และ Alan Krueger ที่แสดงให้เห็นว่า รัฐนิวเจอร์ซีย์ที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราว 20% กับรัฐข้างเคียงอย่างเพนซิลเวเนียที่ไม่ได้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ล้วนไม่ได้มีผลกระทบต่อการจ้างงานในทั้งสองรัฐ

สรุปงานวิจัยของ Card และ Krueger โดย The Royal Swedish Academy of Sciences

จุดสำคัญที่ขาดหายไปในการถกเถียงเหล่านี้คือโมเดลพฤติกรรมและปัญหาความไม่สมบูรณ์ของตลาด (market imperfections) ที่ทำให้เหตุการณ์ไม่เกิดขึ้นจริงตามข้อโต้แย้ง บทเรียนในตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น (ที่คนมักจะลืมหยิบมาถกกัน) ยังบอกด้วยว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอาจเพิ่มการจ้างงานก็ได้ ในตลาดที่ฝ่ายผู้จ้างงานมีอำนาจเหนือตลาด หรือในกรณีที่เศรษฐกิจมีอุปสงค์อ่อนแอ ไม่ได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ การเพิ่มกำลังซื้ออาจไม่ได้ทำให้เกิดวัฏจักรเงินเฟ้ออย่างรุนแรง แต่อีกด้านกลับทำให้เศรษฐกิจเข้าใกล้ศักยภาพได้มากขึ้น

วันนี้จึงชวนทุกท่านมาเปิดข้อถกเถียงใหม่อีกอย่าง ที่แทบไม่มีการพูดถึงในเรื่องนี้ คือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นได้ และอาจเป็นการตัดสินใจที่ win-win ทั้งแรงงานและนายจ้างในหลายกรณี ผ่านงานวิจัยเชิงประจักษ์ชิ้นใหม่ โดย Decio Coviello, Erika Deserranno และ Nicola Persico ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2022

การใช้ Microdata ของภาคธุรกิจ และวิธีวิจัยแบบ Border-Discontinuity Design

งานวิจัยดังกล่าวพยายามประเมินผลกระทบของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่อผลิตภาพของพนักงานขายของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งมีร้านค้ามากกว่า 2,000 แห่งใน 50 รัฐทั่วประเทศ บริษัทดังกล่าวมีนโยบายจ่ายเงินเดือนตามฐานรายได้ที่กำหนดให้เท่ากันทั่วประเทศ (ซึ่งมักเป็นฐานที่ต่ำ) แต่บวกเพิ่มด้วยค่าคอมมิชชันจากการขาย ทำให้บริษัทต้องบันทึกข้อมูลยอดขายของพนักงานขายทุกคน ในกรณีที่พนักงานได้เงินเดือนไม่ถึงตามเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำของรัฐหรือเมืองที่ร้านค้าตั้งอยู่ บริษัทจึงค่อยจ่ายชดเชยเพิ่มให้ถึงระดับที่กฎหมายกำหนดไว้

ในช่วงปี 2012-2015 ที่เป็นระยะเวลาการทำวิจัย บริษัทค้าปลีกดังกล่าวต้องเจอกับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 70 ครั้ง โดย 49 ครั้งเป็นการปรับเพิ่มในระดับรัฐ และ 21 ครั้งเป็นการปรับเพิ่มในระดับเมือง โดยเป็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยครั้งละ 7% ซึ่งผู้วิจัยต้องการเปรียบเทียบว่า หลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พนักงานจะพยายามทำงานมากขึ้นหรือดีขึ้น จนมีประสิทธิภาพ (ที่วัดโดยยอดขายเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงาน) ดีขึ้นหรือไม่

แต่เดี๋ยวก่อน!

การวิเคราะห์ผลกระทบนี้ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเปรียบเทียบยอดขายของพนักงานในช่วงก่อน-หลังการขึ้นค่าแรงได้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากยอดขายอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ด้วย ‘ปัจจัยรบกวน’ หลายอย่าง อาทิ ความนิยมของร้านค้าที่อาจเปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น อาจไปกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่ จะทำให้ยอดขายดีขึ้นโดยปริยาย จนเราไม่อาจฟันธงได้ว่าความเปลี่ยนแปลงในประสิทธิภาพของแรงงานเกี่ยวข้องกับความพยายามของแรงงานเอง

นักวิจัยจึงต้องหากลุ่มเปรียบเทียบ เพื่อดูว่าปัจจัยรบกวนส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างไร ซึ่งเราจะต้องหักลบผลความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกับกลุ่มที่ไม่เพิ่ม ทั้งในช่วงเวลาก่อนและหลังการเพิ่มค่าแรง

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบข้ามกลุ่มจะดีได้ก็ต่อเมื่อตัวอย่างของเรามีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน หากคู่เปรียบเทียบแตกต่างกันมาก ก็จะทำให้เราไม่ทราบว่าผลความแตกต่างของประสิทธิภาพมาจากการขึ้นค่าแรงมากเพียงใด การเปรียบเทียบระหว่างรัฐที่ขึ้น-ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น อาจจะพอลบผลกระทบจากปัจจัยรบกวนแบบมหภาค ที่กระทบกับทุกรัฐพอๆ กัน แต่ปัญหาเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่อาจเติบโตไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ยังไม่อาจขจัดได้ด้วยวิธีดังกล่าว

เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการทดลองตามธรรมชาติที่เรียกว่า Border-discontinuity design กล่าวอย่างง่ายๆ ผู้วิจัยจะต้องจับคู่ร้านค้ามาเปรียบเทียบกัน โดยร้านหนึ่งมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่อีกร้านที่อยู่ไม่ห่างกันแต่กลับไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สองร้านนี้จึงอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มทางธุรกิจเหมือนกัน (หากเศรษฐกิจดีขึ้นหรือแย่ลง ก็น่าจะส่งผลกระทบกับทั้งคู่) จะมีความแตกต่างก็แต่เพียงการขึ้น-ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำบนสองฝั่งของแนวเส้นสมมติของรัฐหรือเมืองเท่านั้น เมื่อจับคู่มาได้หลายๆ คู่ และหาค่าเฉลี่ยของความแตกต่างของผลิตภาพ เราก็จะสามารถสรุปความเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้

ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม ผลิตภาพแรงงานก็เพิ่ม
โดยเฉพาะแรงงานที่ได้ค่าแรงเท่าอัตราขั้นต่ำ

ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย โดยทุก 1% ของค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นช่วยยกระดับประสิทธิภาพแรงงานได้ราว 0.35%

อย่างไรก็ตาม ผลการเพิ่มผลิตภาพนี้ไม่ได้แปลว่าแรงงานทุกคนจะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นเหมือนกันทุกคน ที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าวมีการจ่ายค่าคอมมิชชันตามยอดขายอยู่แล้ว พนักงานขายแต่ละคนจึงไม่ได้มีเงินเดือนเท่ากัน คนที่เดิมทำยอดขายได้ดี มีเงินเดือนเกินค่าแรงขั้นต่ำไปมาก ก็ไม่ควรได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จึงไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประสิทธิภาพ ในขณะที่คนที่มียอดขายกลางๆ ได้รับเงินเกินค่าแรงขั้นต่ำมาไม่มาก และกลุ่มที่มียอดขายแย่ เดิมได้รับเงินเดือนเท่าค่าแรงขั้นต่ำ พวกเขาเหล่านี้จะตอบสนองต่อการปรับค่าแรงขั้นต่ำมาก

งานวิจัยพบว่า กลุ่มที่เดิมได้รับค่าแรงที่ระดับขั้นต่ำนั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 1.78% เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1% พวกเขายังมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นไปถึง 2.28% หลังจากการเพิ่มค่าแรงผ่านไปแล้ว 6 เดือน ซึ่งแสดงว่าผลกระทบนี้ค่อนข้างคงทนพอสมควร และที่น่าสนใจคือ สำหรับแรงงานกลุ่มนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกลับทำให้บริษัทนายจ้างมีกำไรเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ!

ส่วนกลุ่มที่มีผลงานปานกลางก็มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นราว 0.65% จากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 1% ซึ่งแปลได้ว่า ราวครึ่งหนึ่งของค่าแรงในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ถูกจ่ายไปแล้วด้วยประสิทธิภาพของแรงงาน[1]

นี่อาจจะขัดสัญชาตญาณของเราที่ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้คนที่เดิมได้รับเงินเดือนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำหรือสูงกว่าไม่มาก น่าจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไร จึงไม่น่ามีเหตุผลให้พวกเขาพยายามพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้นหรือเปล่า?

แล้วทำไมผลถึงได้เป็นเช่นนี้?

ผลที่เกิดขึ้นอาจอธิบายได้ด้วยทฤษฎีอีกด้านหนึ่งที่เรียกว่า ‘ค่าจ้างประสิทธิภาพ’ (efficiency wage) กล่าวคือเมื่อแรงงานได้รับค่าจ้างมากขึ้น พวกเขาก็จะพยายามทำงานให้ดีขึ้นเพื่อรักษางานไว้ เนื่องจากช่องว่างรายได้ระหว่างการทำงานกับการไม่ได้ทำงานใหญ่ขึ้น พวกเขาจึงกลัวที่จะสูญเสียงานดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

ทฤษฎีดังกล่าวไม่ใช่ทฤษฎีใหม่ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่นักธุรกิจไม่ทราบ เพราะบริษัทชั้นนำหลายแห่ง ก็ใช้เงินเดือนที่สูงกว่าคู่แข่งมาล่อพนักงาน ไม่ใช่เพียงแค่ล่อหัวกะทิเข้ามาทำงาน แต่ต้องล่อให้หัวกะทิเหล่านั้นคั้นประสิทธิภาพของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวมักจะไม่ค่อยได้รับการพิสูจน์ในระดับมหภาค ว่าหากเกิดการเพิ่มเงินเดือน/ค่าแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าแรงขั้นต่ำ) ในวงกว้างแล้ว ทฤษฎีจะยังใช้ได้ผลอยู่หรือไม่

เมื่อประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น แขวนอยู่บนโอกาสที่จะตกงาน

จุดสำคัญอย่างหนึ่งในทฤษฎีค่าจ้างประสิทธิภาพคือการที่แรงงานมีโอกาสตกงานได้หากผลงานไม่เข้าตานายจ้าง แต่หากเป็นกรณีที่แรงงานไม่ได้ถูกนายจ้างจับตามองอย่างใกล้ชิด ระดับความพยายามในการทำงานของแรงงานก็อาจไม่ได้มีผลต่อการจะตกงานหรือไม่ตกงาน ซึ่งแปลว่าแรงงานกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องทำงานหนักแต่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างชิลๆ

นักวิจัยตระหนักถึงข้อต่อสำคัญในตรรกะนี้ดี และได้ทำการทดสอบผลโดยแยกระหว่างร้านค้าที่มีการ ‘ติดตามตรวจสอบ’ สูงและต่ำ โดยวัดจากสัดส่วนของหัวหน้างานต่อพนักงานขาย

พวกเขาพบว่า การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในกลุ่มที่เดิมได้รับค่าแรงขั้นต่ำและกลุ่มที่มีผลงานปานกลางนั้น ขึ้นกับระดับของการติดตามตรวจสอบอย่างมาก

เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1% กลุ่มที่รับค่าแรงขั้นต่ำในร้านค้าที่มีการติดตามสูงจะมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นถึง 2.04% (เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเฉลี่ยรวม 1.78% ข้างต้น) แต่ในร้านที่การติดตามต่ำไม่พบว่าพวกเขามีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มที่ผลงานปานกลางและผลงานดีที่อยู่ในร้านที่มีการติดตามต่ำกลับมีประสิทธิภาพที่ลดลง (แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) หลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น บริษัทได้ประโยชน์ทางอ้อม

เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มต้นทุนของบริษัท แต่ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มขึ้น แล้วสุดท้ายกำไรของบริษัทจะเป็นอย่างไร? นักวิจัยได้ลองทดสอบสมมติฐานดังกล่าวเช่นกัน ในการศึกษาตามโมเดล Border-discontinuity design ซึ่งเป็นวิธีวิจัยหลักนั้นพบว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้กระทบต่อกำไรของร้านค้า (โดยที่ กำไร/ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) แต่ในอีกแบบจำลองหนึ่งที่คำนวณผลต่อทุกบริษัทกลับพบว่าร้านค้าในพื้นที่ที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจะมีกำไรลดลง พวกเขาจึงยังไม่รีบฟันธงในงานวิจัย

อย่างไรก็ตาม กำไรไม่ใช่สิ่งเดียวที่ธุรกิจได้จากนโยบายดังกล่าว เพราะเมื่อค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น ทำให้พนักงานกลุ่มที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ (ซึ่งก็มีประสิทธิภาพดีขึ้นหลังจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ) มีแนวโน้มจะทำงานเดิมนานขึ้น ลาออกน้อยลง ซึ่งช่วยลดอัตราการหมุนเวียนของพนักงาน (turnover rate) จึงช่วยลดต้นทุนธุรกิจในการฝึกฝนพนักงานใหม่ในระยะยาวได้ด้วย


งานวิจัยนี้ช่วยให้เรากลับมาคิดใหม่เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้ที่ผ่านมาเราจะพอทราบกันบ้างแล้วว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากอย่างที่คาดคะเนกันไว้ แต่งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยบอกเราว่าต้นทุนของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจไม่ได้สูงอย่างที่คิด เนื่องจากมันสามารถจ่ายต้นทุนตัวเองได้ส่วนหนึ่งจากการสร้างผลิตภาพแรงงาน

เราต้องไม่ลืมว่าผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ต้องมีระบบการติดตามการทำงานที่ดี พนักงานจึงจะตั้งใจทำงานมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ผลิตภาพแย่ลงก็ได้ แต่ในโลกยุคใหม่ที่การทำงานวัดค่าคนด้วยผลงานมากขึ้น รวมถึงมีเทคโนโลยีในการจับตาสอดส่องการผลิตในแทบจะทุกขั้นตอน การจับตามองก็น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นบริบทที่ส่งให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษานั้นเป็นการเพิ่มที่มีอัตราเฉลี่ยเพียงครั้งละ 7% เท่านั้น (งานวิจัยของ Card และ Krueger ก็พูดถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่อัตราราว 20% และยังไม่มีการปรับเพิ่มไปอีกระยะหนึ่ง) ขณะที่นโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองไทยเสนอในตอนนี้เหมือนจะใหญ่กว่ามาก เราจึงยังไม่อาจอิงงานวิจัยเพื่อคาดการณ์ผลของการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตามข้อเสนอพรรคการเมืองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้บริบทของแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน ทำให้เราต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการนำผลตรงนี้มาใช้เป็นฐานคิด ซึ่งในทางเทคนิคเรียกว่าเป็นปัญหา external validity ซึ่งมักเป็นจุดตายของผู้ที่ชอบ ‘ลอก’ นโยบาย-กฎหมายต่างชาติไปแปะในประเทศของตนเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำของไทยปรับตัวแบบค่อนข้างสุดขั้ว คือถ้าไม่ปรับใหญ่ไปเลยอย่างเมื่อ 10 ปีก่อน ก็เป็นการปรับเล็กหรือไม่ปรับเลยเป็นเวลานาน สุดท้ายค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจึงไม่เคยไล่ทันสภาพเศรษฐกิจ จนทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยมีค่าน้อยกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) อยู่เกือบครึ่งหนึ่ง และมีช่องว่างของค่าจ้างกับรายได้ต่อหัวตามที่วัดโดย GDP เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่าการเติบโตเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยลงไปถึงกลุ่มแรงงานมากนัก

ภาพจากบทความ ‘ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

ผมจึงเห็นว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ควรทำและควรตั้งเป้าให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งเป้าหมายราว 600 บาทถือเป็นเลขที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับงานวิจัย โดยในการจะไปสู่จุดนั้นได้ เราต้องปรับขึ้นแต่ละครั้งให้เร็วกว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง ไม่เช่นนั้นค่าแรงขั้นต่ำที่แท้จริง (ค่าแรงที่หักผลของเงินเฟ้อ) ก็อยู่ที่เดิม และอาจจะต้องปรับเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าที่พรรคการเมืองเสนอและสม่ำเสมอกว่าที่ผ่านมาเสียหน่อย เพื่อให้ธุรกิจวางแผนและปรับตัวได้ทัน

References
1 นักวิจัยได้พยายามทดสอบความเป็นไปได้อีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้มั่นใจว่าผลที่ได้มาจากประสิทธิภาพของพนักงานจริงๆ พวกเขาพยายามยืนยันได้ว่าประสิทธิภาพของผู้ที่อยู่ในร้านที่ขึ้น-ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีแนวโน้มที่เหมือนกันมาตลอดก่อนที่จะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ นักวิจัยยังลองวิเคราะห์ผลเฉพาะการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำระดับเมือง (เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์อื่นๆ ในระดับรัฐ) ซึ่งก็ยังพบว่าประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พวกเขาได้ลองเทียบภาพถ่ายดาวเทียมของที่จอดรถรอบๆ ร้านค้า เพื่อวัดผลของประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี/แย่ ซึ่งก็พบว่าปกติแล้วผู้ที่เดิมมียอดขายดีจะตอบสนองต่อปัจจัยด้านเศรษฐกิจมากกว่า แปลว่าเราค่อนข้างมั่นใจได้ว่าผลลัพธ์ในกลุ่มผู้รับค่าแรงขั้นต่ำและผู้ที่มีผลงานปานกลางนี้มาจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจริงๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save