fbpx

หรือความขี้เกียจจะช่วยให้มีโอกาสรอดในโลกได้มากขึ้น?

เราอยู่ในยุคที่ดูเหมือนว่า นอกจากคนจะบูชาเงินเป็นพระเจ้าองค์ใหม่แล้ว คนยังบูชาความเก่งกล้าสามารถ (ในบางสังคมก็มืดบอดขนาดไม่ดูความถูกต้องดีงามตามศีลธรรมด้วยซ้ำ) และความขยันขันแข็ง แม้ว่าอันสุดท้ายนี้ อาจจำกัดกลุ่มมากอยู่สักหน่อยในหมู่ชนชั้นแรงงานหรือชนชั้นกลาง เห็นได้จากละครไทยที่มักให้ตัวเอกมีความสุขสบายได้เปรียบจากชาติกำเนิด มรดก หรือแม้แต่สถานะที่แต่งตั้งกันขึ้นมาเองในสังคม เช่น ยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ มากกว่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความสุขสบายที่เป็นผลลัพธ์จากความขยันขันแข็ง 

คำถามที่น่าสนใจคือ มนุษย์มีธรรมชาติที่ชื่นชอบ ชื่นชมความขยันขันแข็งอยู่ในตัว หรือเป็นเรื่องค่านิยมทางสังคมกันแน่? มนุษย์เกิดมามีนิสัยขี้เกียจและเลวทรามอย่างอื่น ตามที่พวกล่าอาณานิคมหรือผู้เผยแพร่ศาสนามองเห็นความเป็น ‘คนป่า’ ของคนในภูมิภาคแถบนี้—ใช่หรือไม่? 

สำหรับนักชีววิทยาแล้ว ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า หากความขี้เกียจเป็นเรื่องไม่ดี ทำไมนิสัยเช่นนี้ในมนุษย์จึงยังได้รับการถ่ายทอดต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย มันน่าจะโดนกำจัดให้หมดไปแล้วสิ? ทำไม ‘ยีนขยัน’ ไม่เข้าทดแทนไปจนหมด? ทำไมคนขี้เกียจจึงไม่หมดไปจากโลกนี้สักที?

ผลจากการวิจัยในคนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิด อาจทำให้เราต้องมองความขี้เกียจในแง่มุมใหม่ และอันที่จริงแล้วความขี้เกียจอาจเป็นเรื่องจำเป็นกับมนุษยชาติก็เป็นได้ 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neuropsychologia ปี 2018 [1] ที่น่าสนใจดี 

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยกลุ่มนี้เคยทำการทดลองให้อาสาสมัครจำนวน 29 คน เล่นเกมง่ายๆ เกมหนึ่ง ซึ่งจะมีตัวละคร ‘อวตาร’ ของผู้เล่นอยู่บนจอ จากนั้นก็จะมีภาพกิจกรรมต่างๆ โผล่ขึ้นมา อาจเป็นกิจกรรมที่ดูเป็นการออกกำลังกาย เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ ฯลฯ หรือในทางตรงกันข้าม อาจเป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงการพักผ่อนหย่อนใจหรือความเกียจคร้าน เช่น โทรทัศน์ เปลญวน หรือบันไดเลื่อน ฯลฯ 

ผู้ทดลองแจ้งกับอาสาสมัครว่า ให้กดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อขยับตัวอวตารเข้าหาภาพที่เป็นกิจกรรมคึกคักและขยับหนีห่างจากภาพกิจกรรมที่เฉื่อยชา จากนั้นให้ทดลองอีกครั้ง แต่คราวนี้ให้ขยับอวตารในทางตรงกันข้าม คือขยับหนีจากภาพที่ใช้แรงงาน แต่ขยับเข้าหาภาพที่ดูน่าสบายได้พักผ่อน  

เมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็ให้อาสาสมัครกลับบ้านไปพร้อมกับอุปกรณ์ติดตามตัว เพื่อวัดกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในแต่ละวัน พร้อมกับส่งข้อความไปกระตุ้นให้ออกกำลังกาย หากพบข้อมูลว่าอาสาสมัครไม่ขยันเท่าไหร่ ผลก็คืออาสาสมัครยอมรับว่า การได้รับข้อความกระตุ้นให้เคลื่อนไหว กระตุ้นให้เกิดความตั้งใจจะออกกำลังกายมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจก็ไม่ได้เข้มข้นมากพอที่จะกระตุ้นพวกเขาให้ออกกำลังกายได้จริงๆ และอาสาสมัครแทบทั้งหมดล้มเหลวในเรื่องการลุกขึ้นมาออกกำลังกาย! 

มีเพียงจำนวนน้อยที่ผลักดันตัวเองได้สำเร็จ 

ทำไมคนที่รู้ดีว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องดี จึงหันมาออกกำลังกายไม่สำเร็จ? เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราผ่านวิวัฒนาการบางอย่างมาจนทำให้สมองสั่งการให้เราไม่ทำอะไรหรือประหยัดพลังงานให้มากที่สุด  เพราะมีประโยชน์บางอย่างที่เหนือกว่าการหันมาออกแรง?

การทดลองในครั้งต่อมาจึงเพิ่มเติมด้วยการติดเซนเซอร์จำนวน 64 ตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือวัดคลื่นสมองที่เรียกอย่างย่อว่า EEG จึงติดเข้ากับกะโหลกของอาสาสมัครเพื่อให้ได้ข้อมูลการทำงานของสมองในรูปคลื่นไฟฟ้าออกมา

นักวิจัยพบว่าสมองต้องใช้ความพยายาม ‘มากขึ้น’ (มีสัญญาณไฟฟ้ามากกว่าและใช้เวลามากกว่าในระดับเศษเสี้ยววินาที) เมื่อต้องการย้ายอวตารหนีจากภาพที่ชวนให้รู้สึกสบายและผ่อนคลาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวงจรในสมองที่ชื่นชอบให้ร่างกายประหยัดพลังงานเป็นหลัก

เรื่องนี้ดูจะขัดแย้งกับอุปนิสัยของบรรพบุรุษของเราในช่วงหลายแสนปีย้อนไปจนถึง 2 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งมีนิสัยของพรานนักล่าสัตว์และหาของป่า ปกติแล้ว แต่ละวันพวกเขาอาจต้องเดินเป็นระยะทางเฉลี่ยถึง 14 กิโลเมตรเลยทีเดียว เพื่อให้สามารถหาอาหารได้เพียงพอต่อความอยู่รอด 

นักวิจัยอธิบายว่าแม้จะดูขัดแย้งกันอยู่ แต่เป็นไปได้ว่าการสงวนพลังงานในยุคโบราณมีความสำคัญมาก เนื่องจากการหาอาหารให้เพียงพอเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นต้องสงวนพลังงานไว้เพื่อใช้สำหรับหาอาหาร ล่าเหยื่อ ต่อสู้กับคู่แข่งในการแข่งขันหาคู่ และเพื่อหลบหลีกสัตว์ผู้ล่า 

การใช้แรงต่อเมื่อจำเป็น จึงน่าจะส่งผลให้สมองตั้งค่าร่างกายให้เฉื่อยชาไว้ก่อนเป็นหลัก แต่เรื่องนี้กลับส่งผลเสียในยุคปัจจุบันที่เราหาอาหารได้ง่ายและเหลือเฟือ ไม่ต่างอะไรกับนิสัยชอบกินของหวานที่ให้พลังงานสูง ซึ่งทำให้อ้วนและตามมาด้วยโรคภัยสารพัด     

อันที่จริงมีตัวเลขประมาณการว่า ผู้ใหญ่ในยุคนี้ขยับตัวน้อยกว่าที่ควรมากถึงราว 30% ของจำนวนทั้งหมดและเป็นแนวโน้มที่พบได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทุกแห่งในโลก องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีคนเสียชีวิตจากการเคลื่อนไหวน้อยราว 3.2 ล้านคนต่อปี หรือราว 1 คนในทุก 10 วินาทีเลยทีเดียว[2] 

คำแนะนำสำหรับแต่ละคนก็คือ หาทางทำให้การขยับตัวเป็นเรื่องสนุก หรือจำเป็นต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชวนกันออกกำลังกายเป็นกลุ่ม (ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันทำให้การออกกำลังน่าเบื่อน้อยลงและเพลิดเพลินมากขึ้น) หรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของบ้านและบริเวณรอบบ้าน ให้ต้องมีการขยับตัวมากขึ้น เข้าถึงบันไดได้ง่ายขั้น หรือจัดโต๊ะทำงานเป็นแบบยืนทำงาน ฯลฯ  

อันที่จริงอาจขยายเรื่องนี้ให้กว้างมากขึ้นไปอีกในแง่ของนโยบายสาธารณะ เช่น การจัดให้มีสถานที่สาธารณะ เช่น สวนหรือสนามกีฬาที่มีโครงสร้างพื้นฐานเหมาะสม คือเป็นสถานที่เปิดกว้าง มีความความปลอดภัยสูง และได้รับการดูแลอย่างดีจนน่ามาใช้งาน ไม่ว่าจะใช้เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือทำกิจกรรมการออกกำลังกายอื่นๆ 

กลับมาที่งานวิจัยเรื่องการใช้พลังงานของร่างกายอีกครั้ง

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง[3] ที่ศึกษาสัตว์จำพวกหอยและหมึกรวม 299 สปีชีส์ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 5 ล้านปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน โดยบางสปีชีส์ก็สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว บ้างก็ยังรอดชีวิตมีลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน โดยประเมินดูอัตราการสร้างและใช้พลังงาน (metabolic rate) ของสัตว์เหล่านี้      

ผลลัพธ์คือ บรรดาสัตว์เหล่านี้ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ต่างก็มีอัตราการสร้างและใช้พลังงานสูงกว่าพวกที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสิ้น นักวิจัยถึงกับออกปากทำนองแซวๆ ว่า คงต้องเปลี่ยนจาก survival of the fittest (การอยู่รอดของพวกที่เหมาะสมที่สุด) เป็น survival of the laziest (การอยู่รอดของพวกที่ขี้เกียจที่สุด) หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็น survival of the sluggish (การอยู่รอดของพวกขี้เกียจ)

น่าสนใจว่าจะสามารถใช้อัตราการสร้างและใช้พลังงานเป็นตัวบ่งชี้ ‘โอกาสสูญพันธุ์’ แบบหนึ่งได้หรือไม่? อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดจำเพาะกับสัตว์กลุ่มหอยและหมึกเท่านั้น หรือเกิดกับสัตว์กลุ่มอื่นๆ เช่น สัตว์มีกระดูกสันหลังหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยหรือไม่? 

ไม่น่าเชื่อว่าความขี้เกียจจะช่วยให้มีโอกาสรอดในโลกได้มากขึ้น!!! 

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความขยันและความขี้เกียจของสัตว์ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งอีกเช่นกัน  มาจากการทดลองในมดคันไฟ[4]

นักวิจัยเอามดคันไฟมาทำเครื่องหมายทีละตัวๆ แล้วปล่อยกลับเข้ากลุ่มที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาสร้างรังกันอยู่ เพื่อดูว่าแต่ละตัวมีความขยันมากน้อยอย่างไรในสังคมของสัตว์ที่ได้ชื่อว่าขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่ง 

ผลลัพธ์คาดไม่ถึงจริงๆ เพราะการขุดรังที่มีช่องทางเดินแคบพอให้มด 2 ตัวเดินผ่านกันได้นั้น มีมดเพียง 30% ของทั้งหมดเท่านั้นที่ขยันขันแข็งทำงานขุดสร้างรังได้มากถึง 70% ของงานโดยรวม ขณะที่ราว 1 ใน 4 ไม่แม้แต่จะโผล่หัวลงไปในรังด้วยซ้ำไป 

ส่วนที่เหลือแม้จะเดินลงไปดูสภาพในรัง แต่กลับไม่ได้ช่วยขุดเลยแม้แต่น้อย!

เกิดอะไรขึ้น? ทำไมจึงมีประชากรมดที่ทำตัวขี้เกียจและกินแรงเพื่อนในฝูงมากขนาดนี้? 

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ก็เลยลองย้ายเอามดตัวที่ขยันขันแข็งที่สุด 5 ตัวออกไปจากรัง สิ่งที่พบก็คือมีมดตัวอื่นที่เข้ามาทำหน้าที่แทนอย่างขยันขันแข็งในทันที และความสามารถในการสร้างรังโดยรวมก็ยังเหมือนเดิม 

การที่มดตัวใดจะขยันเป็นพิเศษในกรณีของมดคันไฟนี้ ดูราวกับเป็นเรื่องที่ได้รับการกระตุ้นโดยสัญชาตญาณเป็นอย่างดี การที่มดบางส่วนลอยชายหรือกินแรงงานเพื่อนในแต่ละช่วงจังหวะเวลา เป็นเรื่องปกติของรังมด ตราบเท่าที่การสร้างรังยังคืบหน้าอยู่ และมดที่เหลือก็พร้อมปรับตัวขยันขึ้นทดแทนด้วย  

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าประหลาดใจที่นักวิจัยพบก็คือ การที่มีมดบางส่วนกินแรงเพื่อนเช่นนี้ กลับทำให้การขุดรังมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่มดทุกตัวลงไปมะรุมมะตุ้มกัน เพราะทำให้ไม่ไปแออัดกันตามเส้นทางการขุด จนเกิดความติดขัดและทำงานไม่สะดวก หรือต้องขุดแล้วหยุดเป็นระยะๆ เพื่อแก้ปัญหา  

เมื่อทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อดูว่า จะใช้วิธีการขุดแบบใดจึงจะดีที่สุด ผลที่ได้จากการเลือกของคอมพิวเตอร์ก็สอดคล้องกับที่มดใช้อย่างไม่น่าเชื่อ วิธีการจัดการเช่นนี้ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง  

รู้เรื่องนี้แล้วมีประโยชน์อะไร?

นักวิจัยเชื่อว่าความรู้นี้จะมีประโยชน์กับการออกแบบการทำงานของกลุ่มหุ่นยนต์ที่กรูกันเข้าไปช่วยผู้รอดชีวิตจากเศษซากอาคารที่เสียหายจากหายนภัย เช่น แผ่นดินไหว หรือแม้แต่ในอนาคตอันใกล้ ก็อาจจะนำมาใช้กับ ‘นาโนบ็อต’ หรือหุ่นยนต์ขนาดซูเปอร์จิ๋วที่จะใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยความเจ็บป่วยหรือ เพื่อให้ยาหรือรักษาด้วยวิธีการต่างๆ นานา 

ความขี้เกียจจึงมีประโยชน์บางอย่างแฝงอยู่อย่างที่เราคาดไม่ถึงจริงๆ 

References
1 https://doi.org/10.1016/j.neuropsychologia.2018.07.029
2 https://scroll.in/article/947677/born-this-way-evolution-has-hardwired-us-to-be-lazy
3 Proc. R. Soc. B 285:20181292. http://dx.doi.org/10.1098/rspb.2018.1292
4 Science. 17 Aug 2018 Vol 361, Issue 6403 pp. 672-677 DOI: 10.1126/science.aan3891

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save