fbpx
เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว “ใครบ้างที่เจ็บปวด”: 10 ปีล้อมฆ่า 2553 กับคำถามอันเงียบงัน

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว “ใครบ้างที่เจ็บปวด”: 10 ปีล้อมฆ่า 2553 กับคำถามอันเงียบงัน

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

“มีคนที่เจ็บปวดกับกรณีสลายการชุมนุมสักเท่าไหร่กัน ใครบ้างที่เจ็บปวด มันยังไม่ได้เป็นความเจ็บปวดร่วมของสังคม ยังไม่ได้เป็นบาดแผลร่วมกันที่ทำให้สังคมรู้สึกว่าเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรกับมัน”

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอมุมมองต่อวาระครบ 1 ทศวรรษเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษาฯ-พฤษภาฯ 2553 ไว้อย่างเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งและน่าใคร่ครวญ

หากมองเพียงฉากหน้า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันคน รัฐบาลใช้งบประมาณในการปราบปรามประชาชนไปกว่า 3,700 ล้านบาท กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอันเรื้อรัง

แต่ฉากหลัง – สังคมไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ทำไมเหตุการณ์ดังกล่าวถึงไม่มีผู้รับผิดชอบ อะไรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ

อ่านทัศนะของเบญจรัตน์ได้ตั้งแต่บรรทัดถัดไป…

 

 

เพ่งมองความสูญเสีย

 

เวลาใช้กรอบแว่นตาด้านสิทธิมนุษยชนมองปรากฏการณ์ใดๆ เราจะมองคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ว่ามีความเท่าเทียมกัน ดังนั้นคนต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่ากัน และรัฐก็มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

เมื่อคิดแบบนี้ พอเรามองเหตุการณ์ เม.ย. – พ.ค. 2553 เราจะเห็นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างน้อย 4 มิติ ที่ทำให้เหตุการณ์นี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

มิติแรก – รูปธรรมการใช้อาวุธเข้าไปปราบปรามผู้ชุมนุม มีการเข่นฆ่ากันด้วยการใช้สไนเปอร์และอาวุธสงคราม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีแค่นั้น ไม่ได้มีแค่การใช้ความรุนแรงในรอบ 2 เดือนแล้วก็จบ ยังมีมิติที่สะท้อนถึงระบบคุณค่าของในการมองสิทธิมนุษยชนในสังคมด้วย

มิติที่สอง – ตลอดกระบวนการปราบปรามผู้ชุมนุม เราได้เห็นถึงการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้นและตราหน้าพวกเขาว่า “ผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง พวกคอร์รัปชัน” การสร้างวาทกรรมเหล่านี้มันสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามของรัฐ เมื่อพื้นฐานในการมองคุณค่าความเป็นมนุษย์บกพร่อง ก็ทำให้การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทำได้ง่ายขึ้น

มิติที่สาม – นอกจากระบบคุณค่าของรัฐแล้ว สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ประชาชนด้วยกันมองคนเสื้อแดงว่าไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ สมควรที่จะตายไป หรือรู้สึกสมน้ำหน้าที่ถูกปราบปราม ความรู้สึกมีตั้งแต่ระดับไม่แยแส ไม่สนใจ ไปจนถึงขนาดที่ว่าสมควรแล้วที่รัฐจะใช้ความรุนแรงกระทำกับผู้ชุมนุม นี่เป็นภาพสะท้อนถึงระบบคุณค่าสิทธิมนุษยชนในไทยที่ล้มเหลวอย่างแท้จริง

มิติที่สี่ – ถ้าเรามองผ่านหลังเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากมีการปราบปราม เราจะเห็นอีกประเด็นคือการรับผิดของรัฐ เพราะแม้จะมีหลักฐานมากมายว่ารัฐเป็นผู้กระทำ แต่ผู้สั่งการหรือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังไม่ได้รับผิดทางกฎหมายจากการใช้ความรุนแรงกับประชาชนเลย แล้วก็ทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดไปเรื่อยๆ ซึ่งเกิดมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ไฟเขียวแห่งการปราบปราม

 

เราไม่สามารถมองเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์เดียวหรือมองแยกจากประวัติศาสตร์อื่นๆ เพราะที่จริงแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง

ก่อนหน้านั้นที่เริ่มมีประชาชนออกมาไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็มีการใช้วาทกรรมทางการเมืองเรื่องคนดี และสร้างภาพว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นคอร์รัปชัน สกปรก การเมืองเป็นเรื่องของการซื้อเสียง แล้วฝ่ายที่สร้างวาทกรรมนี้ก็บอกว่าต้องการผู้ที่มีคุณธรรมสูงส่งกว่าเข้ามาปกครองบ้านเมือง ต้องการคนที่มีคุณธรรม มีศีลธรรมมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้าเรามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2553 โดยเห็นบริบทของวาทกรรมทางการเมืองแบบนี้ เราจะเข้าใจได้ว่าทำไมความรุนแรงมันถึงบานปลาย

ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งพยายามบอกว่าต้องการคนดีมาปกครองบ้านเมือง ไม่ยอมรับระบบการเมืองของนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมา อีกฝ่ายหนึ่งคือประชาชนจำนวนมากก็มีสำนึกทางการเมืองสูงจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยซึ่งเริ่มขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านั้น

คนเริ่มมองเห็นว่าเสียงที่ตัวเองเลือกเข้าไปในสภาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตนเองจริงๆ คนมีสำนึกแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน จึงเกิดเป็นการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่ต้องการรักษาอำนาจเอาไว้ด้วยวาทกรรมคุณธรรมความดี กับฝ่ายประชาชนที่ต้องการให้เสียงของตนเองได้รับการตอบสนองทางการเมือง ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

การปราบปรามด้วยกำลัง หรือการใช้มาตรการต่างๆ ของรัฐกับประชาชนจึงเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่กว่านั้น

ที่สำคัญคือหลังจากเหตุการณ์ปี 2553 แม้จะไม่เกิดการฆ่ากันอีก แต่ความรุนแรงก็ยังปรากฏอยู่ ภายใต้ความขัดแย้งของความคิดความเชื่อแบบนี้ ความรุนแรงทางการเมืองจะปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจจะเปลี่ยนไปในรูปแบบอื่นๆ ที่สังคมก็ยังยอมรับมันได้อยู่

หลังจากเหตุการณ์นั้นมา ความรุนแรงโดยรัฐก็เปลี่ยนรูปแบบไป หลังรัฐประหาร 2557 ความรุนแรงไม่ใช่การเอาปืนมายิงให้เห็น แต่มันมีความรุนแรงแบบอื่นๆ ที่เนียนกว่าแต่ยิ่งน่ากลัว โดยอ้างว่าที่ทำไปทั้งหมดทำในนามการคืนความสุขให้กับประชาชน หรือทำในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ทำในนามของการสร้างการปรองดอง แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการละเมิดสิทธิฯ ที่ค่อนข้างรุนแรง

ความรุนแรงแบบนี้ส่วนหนึ่งปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำให้เป็นกระบวนการทางการทหารไป อย่างการจับคนไป ‘ปรับทัศนคติ’ ซึ่งที่จริงก็คือการจับกุมและกักขังโดยพลการ ไม่ผ่านกระบวนการทางอาญา การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารก็คือการใช้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความอิสระและไม่เป็นธรรมโดยถือว่าประชาชนคือศัตรูของรัฐ หรือการส่งเจ้าหน้าที่ไป ‘เยี่ยมบ้าน’ ติดตามที่บ้านของนักเคลื่อนไหวหรือการ ‘เชิญไปกินกาแฟ’ อันที่จริงก็คือการคุกคามปิดปากประชาชน สร้างความกลัวให้เกิดในสังคมวงกว้าง

เรื่องพวกนี้น่ากังวลเพราะไม่ได้เป็นความรุนแรงที่เห็นได้ชัดเจน ดูเหมือนจะนุ่มนวล และถูกใช้โดยแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน จนสังคมเริ่มมองว่าเป็นเรื่องปกติ และคนส่วนหนึ่งยอมรับได้เพราะคิดว่าเป็นเงื่อนไขจำเป็นเพื่อนำไปสู่ภาวะสงบสุข ความรุนแรงแบบนี้ยังดำเนินคู่ไปกับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพที่เหมือนจะเกิดขึ้นน้อยครั้งกว่า เฉพาะกับคนที่ออกมาท้าทายรัฐอย่างโดดเด่น อย่างการทำร้ายนักเคลื่อนไหว หรือกรณีของของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ แล้วถูกคุกคาม บางคนถูกอุ้มหายไปจนพบศพอยู่ริมแม่น้ำโขง บางคนหายสาบสูญ โดยที่รัฐไม่มีกระบวนการค้นหาความจริงเลย

ที่น่ากังวลอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่ประชาชนกระทำกับประชาชนกันเอง อย่างกรณีมาตรา 112 ก็มีหลายเคสที่ผู้ฟ้องร้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ประชาชนฟ้องกันเอง หรือการไล่ล่าประจานคนที่เห็นต่างทางการเมือง เป็นรูปแบบการละเมิดที่ดูเหมือนจะไม่รุนแรง แต่จริงๆ แล้วรุนแรง และกำลังถูกสร้างให้กลายเป็นมาตรฐานในสังคมนี้

 

 

บทเรียนท้าทายนักสิทธิมนุษยชน

 

คงต้องย้ำว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องศีลธรรมหรือมนุษยธรรม ไม่ใช่เรื่องความเมตตา เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดว่าคนเราเท่ากัน ไม่ได้เป็นเรื่องของการทำดีต่อกันเพราะว่าเราเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช่ว่าการเห็นอกเห็นใจหรือการมีคุณธรรมเป็นเรื่องไม่ดีนะคะ แต่เป็นคนละฐานคิด ในมุมมองแบบสิทธิมนุษยชนเราปฏิบัติดีต่อคนอื่นก็เพราะเราเห็นว่าเขามีความเป็นมนุษย์เท่ากับเรา ไม่ใช่เพราะเขาน่าสงสาร หรือเพราะเราเป็นคนดี

เมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนในระดับสังคมที่มากไปกว่าการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ จึงเป็นเรื่องของการที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากันในสังคมทางการเมือง การอ้างหลักสิทธิมนุษยชนเป็นการยืนยันหลักตรงนี้ และจึงทำให้มันเป็น ‘เรื่องการเมือง’ เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อกำหนดว่าในสังคมนั้นๆ ใครเป็นคนที่มีอำนาจ และในรัฐนั้นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองเป็นอย่างไร ใครเป็นคนที่มีสิทธิในรัฐนั้น

สิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องที่ผูกติดกับระบบการเมืองอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ เราไม่สามารถบอกเพียงแค่ว่า เราสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าคนเท่ากันแล้วก็จบ โดยไม่สนใจมิติอื่นๆ ทางการเมืองได้ เรื่องนี้ต้องย้ำให้เห็นชัดเจน

เหตุการณ์ปี 2553 จึงยิ่งย้ำกับเราว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อนิยามความเป็นพลเมือง และอำนาจของคนในสังคม

เราพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นมีประเด็นที่ท้าทายคนทำงานสิทธิมนุษยชนในไทยมาก ถ้าย้อนไปมองข้อถกเถียงในกลุ่มคนทำงานสิทธิฯ ช่วงนั้น เราจะเห็นได้ว่าหลายคนก็ไม่ได้มีทัศนคติที่จะยืนยันเรื่องสิทธิของผู้ชุมนุม บางคนเอาทัศนคติทางการเมืองของตัวเองไปบอกว่าผู้ชุมนุมไม่มีความชอบธรรม เพราะมองว่าพวกเขาสนับสนุนนักการเมืองสกปรก ไม่ได้มองว่าคนเสื้อแดงสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองและความเท่าเทียม

อคติอย่างนี้ทำให้เขามองว่าผู้ชุมนุมสมควรแล้วที่จะถูกปราบปราม มันสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยยังมีอคติทางการเมืองเรื่องอำนาจหรือเรื่องความดีมีคุณธรรมเข้ามามีผลต่อจุดยืนหรือท่าทีต่อหลักการสิทธิมนุษยชนด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นที่ท้าทายคนทำงานสิทธิมนุษยชนต่อไปอีก คือส่วนหนึ่งของงานด้านสิทธิมนุษยชนมีฐานอยู่ที่การบันทึกข้อเท็จจริงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 ทำให้เราเห็นว่าสังคมไม่ได้อยู่กันบนฐานข้อเท็จจริง เรื่องที่ยังอัศจรรย์ใจตัวเองอยู่คือ เรามีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปราบปรามคนเสื้อแดงเยอะมากมากมาย ทั้งที่ได้มาจากกระบวนการศาล ผ่านคำตัดสินจากการไต่สวนสาเหตุการตาย มีรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะการใช้กำลังต่างๆ ที่ชี้ค่อนข้างชัดเจนว่าทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุปราบปรามผู้ชุมนุม และผู้เสียชีวิตทั้งหมดก็ไม่ได้ถืออาวุธ มีคนที่ถูกจับติดคุกข้อหาเผาศาลากลางในต่างจังหวัดทั้งที่ข้อเท็จจริงคือตอนนั้นเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น

แต่ผ่านไปสิบปีสังคมไทยในวงกว้างยังเหมือนไม่ได้เปิดรับหรือถกเถียงกันบนฐานข้อเท็จจริงนี้ แต่กลับติดอยู่ในวังวนวาทกรรมเรื่อง ‘ควายแดง’ และบอกว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดง ‘เผาบ้านเผาเมือง’ เป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ อยู่เลย อุปสรรควันนี้คือเราไม่ได้มีพื้นที่ที่จะมาคลี่คลายข้อเท็จจริงก็เลยทำให้เหมือนเป็นเรื่องที่คุยกันอยู่ในกลุ่มเล็กๆ

พอสังคมไม่ได้ทำงานกันบนฐานเรื่องข้อเท็จจริงอย่างนี้ การทำข้อเท็จจริงให้ประจักษ์มันไม่เพียงพอต่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนควรจะมีหน้าตาอย่างไร จะทำอย่างไรให้สังคมได้หันมานั่งถกเถียงกันอย่างไม่เข่นฆ่ากัน ทำอย่างไรให้สังคมเห็นพ้องกันว่าความรุนแรงแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และต้องร่วมกันสร้างมาตรฐานการจัดการกรณีความรุนแรงเพื่อไม่ให้เกิดการลอยนวล

 

นักสิทธิมนุษยชน vs. อำนาจรัฐ

 

ถ้าพยายามย้อนมองคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในรุ่นก่อนจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งบางคนมีประสบการณ์จากการต่อสู้รุ่น 14 ตุลาฯ 2516 หรือ 6 ตุลาฯ 2519 หรือได้รับการถ่ายทอดเรียนรู้มาจากคนรุ่นนั้น ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพวกเขาเรียนรู้สิทธิมนุษยชนมาอย่างไร เป็นการเรียนรู้แบบที่พูดถึงในเชิงหลักการเท่านั้นหรือเปล่า เช่น เชื่อว่ามนุษย์คนเราเกิดมาเท่ากัน เพราะฉะนั้นคนเราควรจะต้องมีสิทธิอันไม่อาจพรากจากได้ เป็นคำในตำราที่นิยามเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กำลังเติบโตเป็นวาทกรรมสากลมาในช่วง 40-50 ปีหลังนี้

ปัญหาคือพวกเขาอาจจะไม่ได้เอามาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับการสังคมและเมืองไทยที่เป็นจริง ว่าสังคมไทยเรามีวัฒนธรรมแบบไหนที่ทำให้คนไม่เท่ากัน และมีการเมืองแบบใดที่ทำให้ความเป็นพลเมืองของคนไม่เท่ากัน  นักสิทธิมนุษยชนที่อ่านเฉพาะตำราหรือเชื่อในสิทธิมนุษยชนเพียงในเชิงโวหารก็อาจจะเห็นแค่ตัวละครระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นก้อนๆ แต่มองอะไรที่ลึกซึ้งถึงตัวละครต่างๆ วาทกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อการนิยามความหมายสิทธิมนุษยชนในไทยไม่ได้มากนัก เลยอาจทำให้คนทำงานสิทธิฯ บางส่วนไม่ยืนยันหลักสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง เพราะถูกอคติทางการเมืองบดบังอยู่ หรือมีภาพความบริสุทธิ์ของการทำงานสิทธิมนุษยชนว่าจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาเป็นตัวกำหนดท่าทีอีกชั้นหนึ่ง

คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งจึงลอยตัวจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม อาจเพราะเห็นคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มที่แปดเปื้อนไปกับนักการเมืองสกปรก แต่ไม่มองว่าถ้าเราไม่ตั้งคำถามเรื่องโครงสร้างอำนาจที่กำหนดความสัมพันธ์ของประชาชนในไทยแล้วเราจะทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร  เราจึงได้เห็นคนรุ่นหลังๆ ที่เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาในภาวะที่สังคมเริ่มมีการถกเถียงกันมากขึ้นถึงระบบอำนาจต่างๆ ในสังคม กลายมาเป็นกำลังหลักในการยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนแทน

แต่โดยส่วนตัวยืนยันตลอดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของคนที่จะพูดกันถึงอำนาจในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนโดยลอยตัวอยู่เหนือปัญหาการเมืองได้

 

เปิดคลาสทำความเข้าใจคนเสื้อแดง

 

เวลาที่ตัวเองสอนก็พยายามชวนนักศึกษาคุยว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้น เราจะคลี่คลายและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้นอย่างไร รวมถึงการตั้งคำถามว่าถ้านักการเมืองคอร์รัปชันหรือสกปรกแล้วยังไง จะตรวจสอบด้วยวิธีแบบไหน คนดีมีศีลธรรมคือทางเลือกแทนนักการเมืองหรือเปล่า แล้วเราจะตรวจสอบคนดีเหล่านั้นได้อย่างไร วาทกรรมเรื่องการทำดีหรือคนดีในสังคมไทยอยู่ภายใต้ระบบอำนาจอย่างไร ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ผลประโยชน์เพื่อใคร

ถ้าเราเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่อย่างรอบด้าน ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกความเข้าใจการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถูกตราหน้าว่าเป็นควายแดงหรือสนับสนุนนักการเมืองอย่างเดียวได้ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ ไปรื้อถอนวาทกรรมมาคุยกันทีละจุด

โดยส่วนตัวถ้ามีโอกาสก็จะพูดถึงกรณีความรุนแรงโดยรัฐในไทย โดยเฉพาะในการเรียนการสอน แต่ถามว่าเราพูดได้เต็มที่ไหมก็ไม่ขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าเราจำกัดตัวเองเพราะกลัวถูกรัฐปราบ แต่กลายเป็นว่าเรายังกลัวท่าทีของคนฟังมากกว่า กลัวจะเป็นการทำลายน้ำใจกัน

นี่เป็นเรื่องท้าทายในสังคมที่คนเห็นต่างและขัดแย้งกันเยอะมาก เราไม่แน่ใจว่าการที่เราแสดงความเชื่อหรือความคิดทางการเมืองจะไปกระทบความรู้สึกของคนรอบข้างยังไง ในห้องเรียนก็เหมือนกัน เราต้องพยายามสร้างบรรยากาศที่ทุกคนรู้สึกโอเคที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่สังคมที่ทุกคนต้องเห็นพ้องกันไปหมด หรือสังคมที่ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่อย่างที่เรามักเข้าใจกัน แต่เป็นสังคมที่รับฟังความเห็นที่หลากหลายได้ ทะเลาะกันได้ ถกเถียงกันได้

ต้องยอมรับว่าเรามีนักศึกษาและอาจารย์ที่อาจจะเคยเข้าร่วมขบวนการทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง และมีอีกหลายคนที่ไม่สนใจเรื่องการเมืองเลย เราต้องพยายามมาสร้างพื้นที่การพูดคุยกัน นี่เป็นความท้าทายสำคัญนอกเหนือจากการถอดรื้อมายาคติหรือวาทกรรมต่างๆ เพราะถ้าเราไม่พูดแล้ว เราเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ค้ำยันวัฒนธรรมการลอยนวลที่รัฐไม่เคยต้องรับผิดกับความรุนแรงที่ทำกับประชาชน

 

 

อนาคตของการประท้วง

 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ต้องบริสุทธิ์ไหม คำว่าบริสุทธิ์ที่บางคนเรียกร้อง เช่น จะต้องไม่สนับสนุนฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การเรียกร้องแบบนี้แสดงว่าไม่ได้เข้าใจการเมือง เพราะการเมืองมันเป็นเรื่องการต่อรองแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เป็นการพยายามจัดสรร กระจายอำนาจว่าใครบ้างที่จะมีอำนาจในสังคม เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องบริสุทธิ์ หรือบอกว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกี่ยวกับนโยบายทางสาธารณะใดๆ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เป็นการตั้งต้นที่ผิดแล้ว

การเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังไงเสียก็จะไปปรับระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่ดี มันอาจจะไปตรงกับอุดมการณ์หรือความเชื่อทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องเรื่องบริสุทธิ์

ถ้าถามว่าจะทำอะไรได้บ้าง เราคิดว่าในมุมหนึ่ง การประท้วงทุกวันนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพียงอย่างเดียว การแสดงพลังทางการเมืองทำได้หลายรูปแบบ ทุกวันนี้มีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นในการแสดงพลังของประชาชน อย่างน้อยก็เป็นการผนวกเอาการต่อสู้แบบบนท้องถนนที่ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพราะยังเป็นพื้นที่หลักที่คนที่ไม่มีสิทธิไม่มีอำนาจสามารถใช้แสดงพลังของตนได้ เข้ากับการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวมันใหม่ขึ้น เปิดพื้นที่ได้มากขึ้น มีคนสนใจมากขึ้น คนเริ่มอยากเรียนรู้มากขึ้น

ถ้าถามแล้วการชุมนุมต้องสันติอหิงสาแค่ไหน เราเองยังเชื่อว่าขบวนการเคลื่อนไหวควรจะเป็นการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ในความหมายว่าไม่ได้เป็นการใช้กองกำลังเอาอาวุธมาสู้กัน เพราะการสู้กันแบบนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทที่เป็นอยู่ และเราก็ไม่มีอาวุธไปสู้แบบที่รัฐลงทุนซื้ออาวุธไปมากมาย

ที่สำคัญคือถ้าเราต้องการเสียงสนับสนุนและเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ การไม่ใช้อาวุธต่อสู้ ไม่เกิดความรุนแรงก็จะได้รับความชอบธรรมกว่า ถ้าผู้พยายามเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยึดหลักเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงและพยายามหาช่องทางการเคลื่อนไหวที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโลกที่ข้อมูลข่าวสารเยอะแยะมากมาย และรัฐไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แม้รัฐจะพยายามทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีเข้ามาควบคุมช่องทางต่างๆ อย่างน้อยก็ทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังได้ เป็นการต่อรองกันไปภายใต้สภาวะที่รัฐพยายามกดทับมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ การที่บอกว่าการเคลื่อนไหวจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่ทำอะไรที่ไปขัดขวางระบบปกติหรือต้องไปใช้แต่ช่องทางการเมืองในระบบเท่านั้นนะ ถ้ามองจากมุมมองของประชาชนที่ต้องการเคลื่อนไหว การขัดขวางระบบการเมืองปกติยังเป็นยุทธวิธีสำคัญ และเราต้องพยายามสื่อสารกับสังคมด้วยว่า การที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นเพราะอะไร ทำไมกลไกระบบการเมืองถึงไม่มีช่องทางที่จะทำให้เสียงของพวกเราได้ถูกรับฟังได้จนต้องออกมาเคลื่อนไหว

แน่นอน รัฐจะบอกว่าการชุมนุมเป็นการสร้างความวุ่นวายและไปละเมิดสิทธิคนอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาก็โดนข้อหาแบบนี้มาตลอด เวลาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในเมือง มันก็เคยมีกรณีการจัดการแบบปิดถนนส่วนหนึ่งเปิดส่วนหนึ่ง บางช่วงเวลาเปิด บางช่วงเวลาปิด เพื่อให้คนทั่วไปสามารถสัญจรผ่านไปได้ จะได้ไม่เกิดข้ออ้างเรื่องการละเมิดสิทธิคนอื่น เพราะฉะนั้นการชุมนุมส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้ไปด้วยว่าจะทำยังไงให้ชนะใจคนในสังคม

แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนกลัวการชุมนุม คนมักมองเรื่องการชุมนุมเป็นเรื่องรุนแรง ทำให้สังคมวุ่นวาย หรืออาจจะเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่หรือเปล่า ตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญเหมือนกัน

คำถามคือเราจะทำยังไงให้การเคลื่อนไหวแบบปฏิบัติการรวมหมู่ของประชาชนหรือการชุมนุมประท้วงกลับมาเป็นเรื่องปกติได้ อาจต้องใช้เวลาอีกสักหน่อยที่สังคมจะก้าวข้ามภาพจำว่าการชุมนุมคือความรุนแรง

 

ใครบ้างที่เจ็บปวด?

 

เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ความรุนแรงโดยเฉพาะกรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 นี่ยังคงเป็นบาดแผลที่ไม่ได้นำไปสู่การเรียนรู้เรื่องการรับผิดและยังไม่ได้เป็นบทเรียนร่วมกันของสังคมไทย ถามว่ามีคนที่เจ็บปวดกับกรณีสลายการชุมนุมสักเท่าไหร่กัน ใครบ้างที่เจ็บปวด มันยังไม่ได้เป็นความเจ็บปวดร่วมของสังคม ยังไม่ได้เป็นบาดแผลร่วมกันที่ทำให้สังคมรู้สึกว่าเราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรกับมัน

ถ้าเรามองไปที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทุกวันนี้มีคนรู้จักมากยิ่งขึ้น ภาพฟาดเก้าอี้เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่คนรู้และเก็ตกับมัน มันกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่เหตุการณ์ปี 2553 ล่ะ คนสนใจรับรู้กันในวงกว้างขนาดไหน อันนี้ไม่แน่ใจ คนที่เจ็บปวดกับมันมีกี่คนที่ไม่ใช่คนเสื้อแดงหรือคนที่สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของคนเสื้อแดง

เราจะเรียนรู้กับมันได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อมันมีกระบวนการทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ มีการแสดงความรับผิด ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะโดยการรับผิดทางอาญาหรืออย่างน้อยก็โดยการขอโทษและการเยียวยาผู้เป็นเหยื่อ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในสังคมไทย ถ้าไปดูเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ, พฤษภาทมิฬ และล่าสุดในปี 2553 รวมไปถึงเหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์กรือเซะ หรือทนายสมชายถูกอุ้มหายไป คุณบิลลี่ถูกอุ้มหายไป และกรณีอื่นๆ อีก มีใครต้องรับผิดไหม ยังไม่มีสักคน คนสั่งการยังไม่เคยถูกเอามารับผิด รัฐยังไม่เคยออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิด

เพราะฉะนั้นเรายังไม่เคยได้เรียนรู้ในแง่ที่ว่าเรายังไม่ได้นำไปสู่กระบวนการที่เรียกว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะเรายังไม่เปลี่ยนผ่านไปรู้ภาวะหลังความขัดแย้งหรือความรุนแรง

บทเรียนคือที่ตราบใดที่ยังไม่เคยมีการเอาผิดได้ สังคมไทยก็จะเป็นวัฏจักรไปแบบนี้ และเราได้เรียนรู้ว่าเรายังไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ทำให้ก้าวพ้นจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดได้เลย เหตุการณ์ปี 2553 ผ่านมาสิบปีแล้ว ดูเหมือนปีนี้จะมีคนพูดถึงกันมากขึ้น มีการเอาความจริงมานำเสนอย้ำถึงความรุนแรงของรัฐมากขึ้น ก็ได้แต่หวังว่านี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตัดตอนวัฏจักรนี้ได้

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save