fbpx

เบลฟาสต์ & ฟีล เลิฟ Belfast

เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ Belfast เข้าฉายในบ้านเราด้วยจำนวนโรงเพียงแค่หนึ่งเดียว (ที่ house samyan) ทำให้โอกาสที่ผู้ชมจะได้ดูหนังเรื่องนี้จำกัดอยู่ในแวดวงเล็กๆ

เทียบเคียงกับบรรดาหนังทั้งหมดที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดด้วยกัน ผมคิดว่า Belfast คือหนังที่จับอกจับใจและมีเสน่ห์ชวนให้ตกหลุมรักไม่น้อยหน้าเรื่องใด

ผมชอบ Belfast มากที่สุดนะครับ ชอบแบบรู้ทั้งรู้ว่านี่ไม่ใช่หนังที่ยอดเยี่ยมสุด แต่เป็นด้วยเรื่องราวที่กระทบใจกว่าเรื่องอื่นๆ

ก่อนจะเข้าเรื่องหนัง ควรต้องกล่าวถึงเคนเน็ธ บรานาห์กันพอสังเขปนะครับ เขาเป็นผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดงที่ประสบความสำเร็จพอสมควร มีทั้งงานดีๆ ที่น่าจดจำและงานที่ล้มเหลวชวนให้หลงลืม

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในระยะแรกๆ บนเส้นการทำหนัง เคนเน็ธ บรานาห์ เปิดตัวแรงได้รับคำแซ่ซ้องสรรเสริญ ด้วยการนำบทละครหลายเรื่องของเชกสเปียร์มาดัดแปลงเป็นหนังได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น Henry V, Much Ado About Nothing และ Hamlet โดยยังไม่นับหนังแนวอื่นอย่าง Dead Again

ด้วยการเหมาในตำแหน่งสำคัญ ทั้งกำกับ เขียนบท และแสดง ส่งผลให้เคนเน็ธ บรานาห์ในขณะนั้น ได้รับการคาดหมายและทำนายทายทักว่า จะเป็นลอเรนซ์  โอลิเวียร์คนต่อไป (ลอเรนซ์ โอลิเวียร์เป็นสุดยอดนักแสดงละครเวทีและภาพยนตร์ชาวอังกฤษ) และออร์สัน เวลส์คนต่อไป (ออร์สัน เวลส์เป็นผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดง เจ้าของผลงานอย่าง Citizen Kane ซึ่งได้รับการยกย่องให้ติดกลุ่มหนังดีที่สุดของโลกตลอดกาล และงานคลาสสิกอีกหลายเรื่อง)

แต่ในเวลาต่อมา ผลงานของเคนเน็ธ บรานาห์กลับขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ จนกระทั่งลดชั้นลงมาเป็นแค่ผู้กำกับระดับปกติธรรมดาทั่วไป (แต่ในฐานะนักแสดงเขายังคงได้รับเครดิตและการยกย่องอยู่มากพอสมควร)

เหตุผล (ผมเดาล้วนๆ เลยนะครับ) น่าจะเป็นเพราะว่า เขาทำงานในลักษณะรับจ้างกำกับแบบไม่พิถีพิถันในการเลือกสักเท่าไร (ใช้คำว่าอีเหละเขละขละน่าจะถูกต้องและตรงกว่า) มีงานพอดูได้สลับกับหนังแย่ๆ อยู่ตลอด นานวันเข้าผู้คนก็เลยหลงลืมภาพ ‘เด็กอัจฉริยะ’ หรือ ‘เด็กมหัศจรรย์’ ที่เคยมีไปจนหมดสิ้น

จนกระทั่งกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งใน Belfast ซึ่งเป็นงานคืนฟอร์มเก่งเดิมๆ ของเคนเน็ธ บรานาห์

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับและเขียนบทของเคนเน็ธ บรานาห์ อันที่จริงเขาแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย ปรากฏตัวอยู่ในฉากจบอีกแบบที่ไม่ได้ใช้ และถูกตัดออกไป (ผมได้ดูฉากจบนี้ใน Youtube เป็นฉากจบที่ดีมากๆ เสียอย่างเดียวคือมันไม่ดีเท่าและลดทอนพลังของฉากจบที่เป็นอยู่)

Belfast เป็นงานกึ่งอัตชีวประวัติของเคนเน็ธ บรานาห์ มีความเป็นส่วนตัวสูง ทั้งเรื่องราวที่บอกเล่า บรรยากาศและฉากหลัง ตลอดจนแง่มุมทางด้านเนื้อหา แต่ความยอดเยี่ยมเบื้องต้นของหนัง คือการทำให้ผู้ชมผูกพัน มีความรู้สึกร่วมใกล้ชิดกับตัวละคร กระทั่งสามารถสัมผัสถึงทุกข์สุขต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ปานกัน

ในตอนจบของหนัง ขึ้นข้อความอุทิศไว้ว่า “แด่ผู้ที่ยังอยู่ แด่ผู้ที่จากไป และแด่หัวใจที่หลงทาง”

คำอุทิศนี้กินความหมาย 2 ทางนะครับ อย่างแรก หมายถึงคนที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ล่วงลับวายชนม์ อย่างต่อมา คือคนที่ยังพำนักในหลักแหล่งเดิมและผู้พรากจากระเหระหนไปสู่แผ่นดินถิ่นอื่น

ทั้ง 2 ความหมายนี้คือหัวใจของเรื่องราวที่ Belfast นำเสนอ

พูดอีกแบบคือมันเป็นหนังในหมวดหมู่ “โลกของผู้ใหญ่ที่มองผ่านสายตาของเด็ก” เช่นเดียวกับงานคลาสสิกในอดีตอย่าง Cinema Paradiso, Roma, Hope and Glory และ My Life as a Dog ฯลฯ

หนังถ่ายทำเป็นขาว-ดำเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ยกเว้นช่วงเปิด-ปิด และเหตุการณ์ในเรื่องเมื่อตัวละครไปดูหนังดูละครเท่านั้นที่เป็นภาพสี

ย่อหน้านี้ขออนุญาตนอกเรื่องเล็กน้อยนะครับ ภาพจากหนังเก่าๆ ที่ปรากฏใน Belfast ประกอบไปด้วย Star Trek, The Man Who Shot Liberty Valance, High Noon (ซึ่งเพลงในหนังเรื่องนี้ ถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบฉากสำคัญของ Belfast ด้วย) ทั้งสามเรื่องนี้เป็นหนังขาว-ดำ ส่วนที่เป็นหนังสีคือ One Million Year B.C. และ Chitty Chitty Bang Bang (เรื่องนี้สร้างจากนิยายของเอียน เฟลมมิง ผู้เขียนเจมส์ บอนด์ และเขียนบทดัดแปลงโดยโรอัล ดาลห์นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่นักอ่านบ้านเราคุ้นเคยกันดี) ส่วนละครเวทีคือ A Christmas Carol

Belfast ใช้วิธีเล่าเรื่องเน้นไปที่ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของตัวละคร ประกอบไปด้วยเหตุการณ์ปลีกย่อยมากมายเรียงลำดับกันอย่างไม่ปะติดปะต่อ จนกระทั่งค่อยๆ เกิดเป็นเส้นเรื่องขึ้นมาทีละนิด

เล่าใหม่แบบไม่ตรงกับหนังได้ว่า หนังถ่ายทอดเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านสายตามุมมองของบัดดี้ (ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนในวัยเยาว์ของเคนเน็ธ บรานาห์) เด็กชายวัย 9 ขวบ พำนักอาศัยอยู่ที่เมืองเบลฟาสต์ ในครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ วิล (พี่ชาย) และปู่กับย่าที่อยู่ใกล้จนสามารถไปมาหาสู่กันได้บ่อยๆ

มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่าตัวละครผู้ใหญ่ทั้งหมดในครอบครัวไม่มีการระบุชื่อ แต่จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดนั้น ผมไม่ทราบจริงๆ

พ่อมีอาชีพเป็นช่างไม้ ใช้เวลาส่วนใหญ่ข้ามฝั่งทะเลไปทำงานที่อังกฤษ (และกลับมาบ้านในช่วงวันหยุด ตกราวๆ ทุก 2 สัปดาห์) แม่จึงต้องเป็นฝ่ายรับภาระเลี้ยงดูลูก ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ไปพร้อมๆ กัน ส่วนปู่และย่าก็เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่บัดดี้ มักจะแวะเวียนไปเล่าสู่ปรับทุกข์ ปรึกษาปัญหาชีวิต (โดยเฉพาะเรื่องแอบรักเด็กหญิงเพื่อนร่วมชั้นเรียน)

พ้นจากนี้แล้ว ละแวกบ้านของบัดดี้ยังเป็นชุมชนที่เพื่อนบ้านทุกคนสนิทสนมรู้จักกันหมด เป็นสภาพชีวิตที่อบอุ่น สงบสุข

หนังเปิดฉากเริ่มเรื่องในวันที่ 15 สิงหาคม 1969 ผู้ชมได้เห็นบรรยากาศรื่นรมย์ในชุมชน แม่ยืนหน้าบ้านตะโกนเรียกบัดดี้ให้มากินมื้อค่ำ เพื่อนบ้านตะโกนบอกต่อกันเป็นทอดๆ จนกระทั่งข้อความส่งไปถึงเด็กชาย ซึ่งกำลังเล่นปราบมังกรด้วยดาบปลอมและมีฝาถังขยะต่างโล่

บัดดี้วิ่งกลับบ้าน ตะโกนทักทายพูดคุยกับใครต่อใครตามรายทาง จนกระทั่งถึงหน้าบ้าน เด็กชายยืนนิ่งจ้องบางสิ่งบางอย่าง กล้องเคลื่อนรอบตัวละครเป็นวงกลม ก่อนจะหยุดที่เบื้องหลังเด็กชาย เห็นกลุ่มคนถืออาวุธยืนอยู่ไกลออกไปเบื้องหน้า

ชีวิตความเป็นอยู่อันสงบสุขเพียบพร้อมในวัยเด็กของบัดดี้จบลงตั้งแต่บัดนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เหตุการณ์จลาจลและความรุนแรง เมื่อกลุ่มโปรแตสแตนต์ออกอาละวาดทำร้ายชาวคาทอลิก (ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยในละแวกนั้น) และทำลายทรัพย์สิน ร้านค้า บ้านเรือน

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง (นอกจากประเด็นทางศาสนาแล้ว ยังมีเรื่องการเมืองเกี่ยวกับการที่ไอร์แลนด์เหนือต้องการแยกตัวออกจากการปกครองของอังกฤษด้วย) ที่เรียกกันว่า The Trouble ซึ่งยืดเยื้อคาราคาซังสืบมาอีกหลายสิบปีนั้น นำไปสู่วิถีชีวิตแบบ new normal ละแวกบ้านของบัดดี้ มีการล้อมรั้วกั้นเครื่องกีดขวาง วางยามคุมเข้มผู้คนเข้าออก มีอาสาสมัครตรวจตราระวังภัยทุกค่ำคืน และวันดีคืนดีก็มีเหตุปะทะและความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ (ท่ามกลางรายละเอียดเหล่านี้ หนังยังสะท้อนภาพความขัดแย้งในวงกว้างผ่านรายงานข่าวทางโทรทัศน์ ซึ่งแทรกสลับอยู่ตลอดเวลา)

ความยอดเยี่ยมต่อมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของหนัง ได้แก่ การสะท้อนภาพบ้านเมืองที่วุ่นวายโกลาหลปราศจากความสงบสุข เคียงคู่ไปกับการแสดงให้เห็นถึงโลกวัยเยาว์ของบัดดี้ ซึ่งยังคงสวยงาม รื่นรมย์ และอบอุ่นเป็นสุข ด้วยการมองโลกผ่านสายตาซื่อใสไร้เดียงสา, ความไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงเรื่องโหดร้ายรุนแรงสารพัดสารพันที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว, การมีความรักในครอบครัวที่ผูกพันกันแน่นแฟ้นเป็นที่ยึดเหนี่ยว รวมถึงการปลีกหนีจากความจริงชั่วขณะ ผ่านความหลงใหลรักชอบการดูหนัง

บรรยากาศขัดแย้งตรงข้ามข้างต้น ทำให้ผู้ชมติดตามดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยอารมณ์ความรู้สึกเจือปนกันอย่างซับซ้อน ด้านหนึ่งก็เจ็บปวดเศร้าสะเทือน (ด้วยความที่เราไม่ได้ใสบริสุทธิ์เหมือนอย่างบัดดี้ และเข้าใจตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าตัวละคร) ด้านหนึ่งก็สนุกสนานคล้อยตามไปกับความน่ารักน่าชังในชีวิตของบัดดี้และครอบครัว

นี่ยังไม่นับรวมถึงจุดเด่นเรื่องอารมณ์ขัน ซึ่งมีอยู่ในปริมาณมากและหลากหลาย ตั้งแต่วิธีมองโลกของบัดดี้, ตลกอ่อนโยนนุ่มนวลของคุณปู่ใจดี ผู้เข้าใจโลกเข้าใจชีวิต (และสนุกมากทุกครั้งเมื่อปู่ต่อปากต่อคำกับย่า ซึ่งเคร่งศาสนา และมีบุคลิกท่าทางค่อนไปทางปากร้ายใจดี) เพื่อนบ้านเครือญาติหลายๆ คน ซึ่งช่างถากถางเสียดสี และดูจะถนัดช่ำชองเป็นพิเศษในการหยิบฉวยข้อด้อยด้านลบ (กระทั่งว่าสิ่งที่เป็นเรื่องทุกข์เศร้า) มาแปลงเป็นอารมณ์ขันได้อย่างหลักแหลมร้ายกาจ

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก คือมีผู้หญิง (ถ้าผมจำและเข้าใจไม่ผิด น่าจะเป็นป้าของบัดดี้) นั่งร้องเพลง Danny Boy อยู่หน้าบ้าน ด้วยเจตนาจะทรมานผู้ฟัง แกล้งร้องอย่างเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนบ้านที่ยืนฟังแทนที่จะบ่นหรือต่อว่า กลับถามนิ่มๆ ว่า “เธอเอาเงินที่มีอยู่ไปทำอะไรจนหมด?”

ผู้ถูกถาม ได้แต่งุนงงสงสัยจนต้องย้อนถามว่า “เงินอะไรหรือ?”

“เงินที่เธอควรจะต้องนำไปใช้สมัครเรียนร้องเพลงน่ะ”

อย่างไรก็ตาม นับจากฉากเริ่มต้นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจล รายงานข่าวความวุ่นวายที่ปรากฏทางโทรทัศน์ ความวุ่นวายที่ลุกลามบานปลายขึ้นตามลำดับ ค่อยๆ ส่งผลกระทบโดยตรงมากขึ้นต่อบัดดี้และครอบครัว จนผู้ชมสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าเรื่องราวบั้นปลายท้ายสุดจะคลี่คลายลงเอยในทิศทางใด

เรื่องราวในช่วงท้ายๆ ผูกปมขัดแย้งที่ทำให้ตัวละครต้องตัดสินใจลำบาก พ่อได้รับข้อเสนองามๆ จากนายจ้าง มีงานโครงการใหญ่ รายได้ดี พร้อมกรรมสิทธิ์มีบ้านพักเป็นของตนเอง (นี่ยังไม่นับรวมความจำเป็นบีบบังคับจากฐานะครอบครัวที่ยากจน มีหนี้สินและโดนเก็บภาษีย้อนหลัง) ประกอบกับสถานการณ์จลาจลในบ้านเกิดที่ทวีความรุนแรงและไม่ปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจยาก เลือกลำบาก ก็คือความรักผูกพันต่อเบลฟาสต์อย่างลึกซึ้งเหนียวแน่น มันเป็นโลกเพียงหนึ่งเดียวที่พวกเขารู้จักคุ้นเคย เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นชีวิตทั้งชีวิต การละทิ้งจากไปเท่ากับตัดขาดกับอดีตชนิดถอนรากถอนโคน ต้องกลายเป็นอื่น เป็นคนแปลกหน้า โดดเดี่ยว เผชิญกับผู้คนอีกโลกที่ตั้งแง่รังเกียจ ไม่เป็นมิตร และเลวร้ายกระทั่งว่าไม่มีใครเข้าใจสำเนียงที่พวกเขาพูด

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ผู้ชมเกิดอาการน้ำตาตกใน แม้จะได้รับคำอธิบายและเหตุผลคมคายลุ่มลึกจากปู่ ทางเลือกและการตัดสินใจก็ยังคงเป็นเรื่องยาก และหนังก็พาไปสู่อีก 2-3 เหตุการณ์สำคัญ ซึ่งทำให้ตัวละครไม่หลงเหลือทางเลือกอื่นใดอีกต่อไป พวกเขาต้องเดินทางไปจากบ้านเกิดอันเป็นที่รัก เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

จากพล็อตเรื่องที่ผมเล่ามา หนังน่าจะจบลงด้วยการบีบคั้นโน้มน้าวให้สะเทือนใจกันหนักๆ ชนิดเอาตายแล้วตายอีกกันหลายระลอกนะครับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ หนังเร้าอารมณ์อย่างชาญฉลาดและแยบยลเพียงน้อยนิด ปราศจากความฟูมฟาย ใช้บรรยากาศของฉากหลัง (ซึ่งโดดเด่นจนเปรียบได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ) ที่ผู้ชมเห็นกันมาตลอดทั้งเรื่อง บวกรวมความผูกพันกับตัวละครทั้งหมด (ซึ่งน่ารักและมีชีวิตชีวาอย่างทั่วถึง) ทำให้ผู้ชมค่อยๆ ซึมซับและสั่งสมทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว เมื่อถึงฉากจำพรากและการร่ำลา แค่บทพูดง่ายๆ ธรรมดา จังหวะจะโคนอันเหมาะเจาะ และแน่นอนว่ารวมถึงการแสดงที่ยอดเยี่ยม

ทั้งหมดนี้ผสมรวมกันแล้ว กลายเป็นอีกฉากจบที่จะติดตรึงในความทรงจำของผู้ชมไปอีกนานแสนนาน

สำหรับผมแล้ว Belfast เป็นเรื่องเล่าที่เรียบง่าย แต่ร่ำรวยอารมณ์ความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งโหดร้าย เศร้าสะเทือนใจ ตลกขบขัน หดหู่หม่นหมอง สดใสรื่นรมย์ เจ็บปวด แต่ก็เปี่ยมด้วยความหวัง

รวมความแล้ว ผมรู้สึกว่าเป็นอารมณ์อันงดงาม เป็นอารมณ์อันวิเศษ

นอกจากความโดดเด่นในเรื่องอารมณ์แล้ว Belfast ยังเป็นหนังที่เด่นครบเครื่อง เริ่มตั้งแต่บทภาพยนตร์ซึ่งเล่าเรื่องได้อย่างฉลาด ชวนติดตาม มีบทสนทนาดีๆ อยู่เต็มไปหมด รวมทั้งฉากและสถานการณ์แบบ ‘หมัดน็อค’ โป้งเดียวจอดเยอะแยะมากมาย, งานสร้างการถ่ายทำที่ประณีตทุกส่วน โดยเฉพาะฝีมือการกำกับภาพของฮาริส แซมบาร์ลูคอส ซึ่งทำให้ ‘จดหมายรักถึงเบลฟาสต์’ งดงามชวนหลงใหลและชวนให้รู้สึกอาลัยอาวรณ์เป็นอย่างยิ่ง, ดนตรีและเพลงประกอบโดย แวน มอร์ริสัน ซึ่งเหมาะเจาะเข้ากับเรื่องราวและอารมณ์ของหนัง ราวกับแต่งเพลงรอหนังเรื่องนี้เอาไว้ล่วงหน้า, ลีลาชั้นเชิงทางศิลปะ (น่าจะเป็นความดีความชอบของบทหนังและการกำกับนะครับ) มีการใช้ภาษาภาพเล่าเรื่องดีๆ อยู่หลายฉากหลายตอน ตัวอย่างเช่น ฉากเปิดเรื่อง, การเผชิญหน้าระหว่างพ่อกับบิลลี แคลนตัน (ผู้ร้ายของเรื่อง) โดยมีเพลงประกอบจากหนังคาวบอยคลาสสิคเรื่อง High Noon ตลอดจนฉากจบ

แต่ที่โดดเด่นเห็นชัดสุด และน่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างทั่วถึงก็คือ การแสดงอันยอดเยี่ยมเป็นหมู่คณะ

คนที่โดดเด่นสุดคือ จูด ฮิลล์ในบทบัดดี้ ซึ่งขโมยหัวใจผู้ชมได้อยู่หมัดตั้งแต่เริ่มปรากฏตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปลักษณ์ของนักแสดง ซึ่งแลดูเป็นเด็กธรรมดาทั่วไป แต่ก็มีเสน่ห์และความพิเศษเฉพาะตัวบางอย่างที่แลดูน่ารักมากๆ บวกกับการแสดงที่เล่นเป็นธรรมชาติมากๆ มีบุคลิกของตัวละครที่ผู้ชมพร้อมจะตกหลุมรักและเอาใจช่วย

พูดได้อีกอย่างนะครับว่า ถ้าตัวละครบัดดี้ ‘ไม่ถึง’ และไม่ดีเท่ากับที่ปรากฏในหนัง คุณภาพของ Belfast ก็อาจไม่ดีดังเช่นที่เป็นอยู่ เพราะนี่คือตัวละครที่แบกหนังทั้งเรื่อง

อีก 2 คนที่เด่นเหลือหลายคือ เซียแรน ไฮนด์ส ในบทปู่ และจูดี เดนซ์ ในบทย่า ทั้งคู่มีบทไม่เยอะนัก อีกทั้งตัวบทก็เรียบง่าย ไม่ได้มีฉากโชว์ให้แสดงอารมณ์อย่างจะแจ้ง แต่ทุกครั้งที่ปรากฏตัว ทั้งสองก็ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ตลอด บทคุณปู่มีโอกาสได้แสดงความอ่อนโยน นุ่มนวล และความน่ารักมากกว่า แต่ฉากสุดท้ายในตอนจบของคุณย่า จูดี เดนซ์ก็โชว์ความเป็นยอดฝีมือในระดับเวิลด์คลาส โดยใช้เวลาและโอกาสที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย มอบสุดยอดการแสดงได้อย่างน่าประทับใจ

ถ้าหากว่าขณะที่ข้อเขียนของผมเผยแพร่สู่ท่านผู้อ่าน Belfast ยังมีรอบฉายอยู่ ขอแนะนำเป็นอย่างที่สุดเลยนะครับ ว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save