fbpx

From Syria to Belarus วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยซ้ำสอง ใจกลางการเมืองโลก

ในกระแสการเมืองโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน หากจะนับว่าอะไรคือวิกฤตการเมืองโลกบ้าง คงไม่เหนือความคาดเดานัก ว่า ‘วิกฤตผู้อพยพ’ จะถูกนับรวมว่าคือหนึ่งในวิกฤตการเมืองโลกด้วยเช่นกัน

วิกฤตผู้อพยพครั้งสำคัญในฤดูร้อนปี 2015 เกิดขึ้น ณ ใจกลาง ‘สหภาพยุโรป’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่โอบรับคุณค่าเสรีนิยม สิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่เมื่อรัฐหน้าด่านพรมแดนสหภาพยุโรปบางส่วนกั้นรั้วลวดหนาม สร้างกำแพงกีดกันผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางที่หนีภัยสงครามจากบ้านเกิดมา ตามมาด้วยกระแสต่อต้านความเป็นอื่นทั่วสังคมยุโรป คำถามที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ “เกิดอะไรขึ้นกับสหภาพยุโรป?”

และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้อพยพ ‘ถูกทิ้งไว้กลางทาง’ ระหว่างพรมแดนโปแลนด์และเบลารุสอีกครั้งในฤดูหนาวปี 2021 ฤานี่จะกลายเป็นวิกฤตซ้ำรอยของสหภาพยุโรปหรือไม่?

ทำไมวิกฤตผู้อพยพครั้งนี้จึงเกิดขึ้นบริเวณชายแดนเบลารุส? เกี่ยวพันกับเกมการเมืองของประธานาธิบดีลูกาเช็งกาแห่งเบลารุสหรือไม่? สหภาพยุโรปมีท่าทีอย่างไร? การเมืองยุโรป-รัสเซียเปลี่ยนไปแค่ไหน? แล้วผู้อพยพอยู่ตรงไหนของวิกฤต?

ร่วมถอดรหัส ‘วิกฤตผู้อพยพเบลารุส’ ไปพร้อมกันได้ นับจากบรรทัดด้านล่างนี้

หมายเหตุ  – เรียบเรียงจากงานเสวนา “ถอดบทเรียนเบลารุสและซีเรีย : วิกฤตผู้อพยพกับการเมืองโลก” จัดโดย ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพุธที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30–12.10 น.

สองวิกฤตผู้อพยพใต้พรมแดนสหภาพยุโรป ณัฐนันท์ คุณมาศ

ภาพจาก kunnamas.com

“สหภาพยุโรปถือว่าเป็น hotspot ของการรับผู้อพยพลี้ภัยมาตลอด และมีการเคลื่อนย้ายของคนเป็นปกติ” 

ณัฐนันท์ คุณมาศ จากศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวนำเปิดประเด็นเสวนา พร้อมชี้ให้เห็นนัยสำคัญทางการเมืองของประเด็นผู้อพยพในสหภาพยุโรปว่า เป็นประเด็นที่ส่งผลต่อพลวัตการเมืองภายในของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างที่พรรคการเมืองและมวลชนฝ่ายขวาประชานิยมผงาดขึ้นมาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กระทบต่อกระบวนการบูรณาการสหภาพยุโรป และที่สำคัญ นำไปสู่คำถามต่อคุณค่าเสรีนิยมที่สหภาพยุโรปยึดถือมาตลอดในฐานะผู้นำโลกด้านอำนาจเชิงปทัสสถาน (normative power) และกิจการทางมนุษยธรรม

นัยเหล่านี้ปรากฏอย่างเด่นชัดครั้งแรกในวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในฤดูร้อนปี 2015 ณัฐนันท์อธิบายภาพรวมของวิกฤตว่า แม้ในระยะแรกผู้ลี้ภัยจะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประชาชนชาวยุโรปหลายประเทศ แต่สิ่งที่ตามมาคือ รัฐบาลประเทศพรมแดนหน้าด่าน นำโดยฮังการีภายใต้การนำของวิกเตอร์ ออร์บานเริ่มปิดพรมแดน กั้นรั้วลวดหนามกันผู้ลี้ภัยไม่ให้เดินทางเข้ามาในสหภาพยุโรปได้ “เพราะฉะนั้น หลักการ free movement ภายในพรมแดนสหภาพยุโรปถูกละเมิด กลายเป็นว่าอำนาจอธิปไตยรัฐอยู่เหนือหลักการของสหภาพยุโรป” รวมทั้งมีรัฐสมาชิกที่ละเมิดกรอบนโยบายผู้ลี้ภัยร่วม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการรับผิดชอบร่วมกันและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) ในสหภาพยุโรป และปฏิเสธโควตารับผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะฮังการี โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ค และสโลวาเกีย

อีกครั้งหนึ่งที่วิกฤตผู้อพยพปะทุขึ้นคือ ในปี 2021 เมื่อมีผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาบริเวณพรมแดนโปแลนด์ ลิทัวเนีย และลัตเวีย ซึ่งสร้างความฉงนอย่างมาก เพราะผู้อพยพลี้ภัยไม่ได้เดินทางด้วยเส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตามปกติ แต่เดินทางทางอากาศมาที่เบลารุส เพื่อใช้พรมแดนเบลารุสเดินทางต่อไปยังยุโรปตะวันตก ปรากฏว่าปฏิกิริยาของโปแลนด์ และประเทศหน้าด่านอื่นๆ ณ พรมแดนคือ กั้นรั้วลวดหนามและตรึงกำลังทหารไม่ให้ผู้อพยพลี้ภัยเข้าสหภาพยุโรปผ่านพรมแดนโปแลนด์ได้ พร้อมประกาศสภาวะฉุกเฉิน ส่วนเบลารุสเองก็ใช้มาตรการไม่ต่างจากโปแลนด์เช่นกัน เพื่อกันไม่ให้ผู้อพยพเดินทางกลับมายังเบลารุสได้

จากสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนเบลารุสและโปแลนด์ ณัฐนันท์ตั้งประเด็นต่อไปว่า ทำไมเบลารุสจึงกลายเป็นเส้นทางอพยพสู่สหภาพยุโรป นี่คือการใช้ผู้อพยพเล่นการเมืองในเกมต่อรองของเบลารุสต่อสหภาพยุโรปหรือไม่ และทำไมเบลารุสต้องเดินเกมการเมืองเช่นนี้

‘เบลารุส’ กับเกมเดิมพันอำนาจนิยม กลางสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์ยุโรป-รัสเซีย – จิตติภัทร พูนขำ

เมื่อมองทะลุปรากฏการณ์วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยบริเวณพรมแดนเบลารุส-โปแลนด์ จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยครั้งนี้ คือเกมต่อรองอำนาจของเบลารุสต่อสหภาพยุโรป และคือหนึ่งในเกมงัดข้อบนสมรภูมิอำนาจระหว่างรัสเซียและสหภาพยุโรป 

“วิกฤตผู้อพยพลี้ภัย-วิกฤตพรมแดนระหว่างเบลารุส-โปแลนด์ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป คือเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของเบลารุสในการต่อรองกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพยายามกดดันให้สหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเบลารุส”

แต่หากกล่าวให้ถึงที่สุด อาจมองได้ว่าวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยครั้งนี้คือเกมต่อรองอำนาจเพื่อรักษาระบอบการเมืองอำนาจนิยมของประธานาธิบดีอเลียกซันดรา ลูกาเช็งกา ผู้กุมอำนาจทางการเมืองที่ครองเบลารุสมายาวนานว่า 26 ปี จนได้รับการขนานนามว่า ‘เผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป’ (Europe’s last dictator) 

“สุดท้ายเบลารุสอาจจะแพ้และต้องยอมถอยในเกมผู้อพยพลี้ภัย แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกาเช็งกาชนะคือ การรักษาการดำรงอยู่ของระบอบการเมืองเผด็จการอำนาจนิยม”

“แต่ทั้งหมดนี้ก็มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่เบลารุสต้องหันไปพึ่งพิงรัสเซียในระดับที่สูงมากขึ้น หรือการไม่มีหลักประกันว่า การใช้ผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาในเกมต่อรองกับสหภาพยุโรปที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำคุณค่าทางมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนจะได้ผลในการกดดันเสมอไป และทำให้อำนาจต่อรองกับสหภาพยุโรปอ่อนลงไปพอสมควร”

ในทัศนะของจิตติภัทร วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยและผู้ลี้ภัยเบลารุสจึงสะท้อนนัยสำคัญสามประการที่ต่างออกไปจากวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยครั้งอื่นคือ หนึ่ง ความเป็นการเมืองระหว่างประเทศและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงอยู่ในวิกฤตทางมนุษยธรรม สอง ความเป็นวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยที่ ‘สร้าง’ (fabricate) ขึ้นมาโดยรัฐ ไม่ใช่การอพยพข้ามย้ายพรมแดนที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลาตามปกติ ซึ่งในกรณีนี้ รัฐบาลลูกาเช็งกาปรับการอนุมัติวีซ่าและอำนวยความสะดวกบริษัททัวร์ท่องเที่ยวและสายการบิน หนุนให้คนเดินทางเข้าสู่พรมแดนเบลารุสเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศปลายทางในสหภาพยุโรปได้ง่ายขึ้น และสาม การขยับของดุลภูมิรัฐศาสตร์ยุโรป-รัสเซีย

คำถามสำคัญมีอยู่ว่า อะไรที่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยครั้งนี้?

จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2020 ซึ่งเป็นการแข่งขันชิงตำแหน่งระหว่างประธานาธิบดีลูกาเช็งกาและสเวียตลานา ทีคานอฟสกายา ผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสายเสรีประชาธิปไตยแทนเซอร์เก ทีคานอฟสกี สามีของเธอ และยูทูบเบอร์ชื่อดังเจ้าของช่อง ‘Country for Life’ ที่เสนอภาพชีวิตจริงของคนเบลารุสที่สถานีโทรทัศน์รัฐไม่ได้นำเสนอ และสะท้อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของประเทศและระบอบลูกาเช็งกาผ่านการสัมภาษณ์ หลังจากที่ กกต. ไม่อนุมัติการสมัครชิงตำแหน่งของทีคานอฟสกีและถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม 

ชนวนที่จุดให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ลูกาเช็งกาขึ้นครองอำนาจ คือการโกงผลการเลือกตั้งของลูกาเช็งกา ประกอบกับความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจและการจัดการโควิดที่ล้มเหลวจากการที่ลูกาเช็งกาไม่เชื่อว่าไวรัสมีอยู่จริง กระนั้น การลงถนนภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยมตามมาด้วยการปราบปรามประชาชนด้วยกำลังและความรุนแรง การจับกุมและตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคนสำคัญอย่างมาเรีย คอเลสนิคาวา ผู้จัดการแคมเปญการเลือกตั้งของวิกเตอร์ บาบาริกา นายธนาคารและอีกหนึ่งผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ถูกตัดสินจำคุกก่อนการเลือกตั้ง และการตัดสินใจลี้ภัยออกนอกเบลารุสอย่างที่ทีคานอฟสกายาเลือก สถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ทำให้สหภาพยุโรปตัดสินใจประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันลูกาเช็งกา  

แต่จิตติภัทรชวนมองย้อนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง หากมองในเชิงโครงสร้าง การสร้างรัฐและการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจไปสู่การเป็นรัฐหลังโซเวียต (post-soviet) ของเบลารุส ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกาเช็งกาครองอำนาจนำได้ และระบอบลูกาเช็งกาเอง คือคลื่นใต้น้ำที่นำไปสู่การปะทุของปัญหาเบลารุส ตามมาด้วยวิกฤตผู้อพยพลี้ภัย

ในมิติการสร้างรัฐและการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจหลังโซเวียตล่มสลาย ตรงกันข้ามกับมายาคติที่บอกว่าเศรษฐกิจเบลารุสล้าหลัง จิตติภัทรอธิบายว่า ที่จริงแล้ว เบลารุสคือเรื่องเล่าที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมไปสู่เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในระยะแรก มีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตและทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม คุณภาพการครองชีพค่อนข้างดี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำไม่มากนัก 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ล้มเหลวจากภาวะเงินเฟ้อและภาคการผลิตตกต่ำ จนเปิดทางให้ลูกาเช็งกาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย (ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย) ในปี 1994 นำไปสู่การที่รัฐและรัฐวิสาหกิจกลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาทุนนิยม และการหันเหสู่เส้นทางอำนาจนิยมผ่านการกระชับอำนาจของลูกาเช็งกา แต่เมื่อรัฐเล่นบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagnation) ย่อมเลี่ยงไม่ได้จากการพัฒนาที่อิ่มตัวและกระจุกตัวอยู่ที่มินสก์ ประกอบกับราคาน้ำมันโลกตกและหนี้สาธารณะสูง สัญญาณความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจเริ่มปรากฏ เสถียรภาพทางการเมืองเริ่มไม่สำคัญเท่ากับปัญหาปากท้อง

“ตั้งแต่ช่วง 2010 เป็นต้นมา เราจะเห็นวาทกรรมที่เรียกว่า Two Belaruses คือ ‘เบลารุสแบบเก่า’ ที่อยู่ภายใต้ลูกาเช็งกา และ ‘เบลารุสแบบใหม่’ ที่เริ่มเติบโตจากคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาพัฒนาภาคเศรษฐกิจไอทีและภาคเศรษฐกิจใหม่อื่นๆ”

“ในการเลือกตั้งปี 2020 เราจะเห็นการปะทะกันของ Two Belaruses อย่างชัดเจน”

“จะเห็นว่าแคมเปญในการเลือกตั้งของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีบ่งบอกถึงอนาคตของเบลารุสใหม่ที่เป็นเสรีประชาธิปไตยระดับหนึ่ง อย่างทีคานอฟสกายาก็ทำแคมเปญเพื่อคนที่ถูกรัฐเบลารุสทอดทิ้ง ซึ่งต่อมามีอิทธิพลทางความคิดของคนรุ่นใหม่มาก ส่วนแคมเปญของวิกเตอร์ บาบาริกาและวาเลรี เซปกาโลก็เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจใหม่”

ส่วนในมิติผู้นำ จิตติภัทรอธิบายว่า ลูกาเช็งกาเรียกได้ว่าเป็น ‘Soviet man’ ขนานแท้ คือเชื่อในสหภาพโซเวียต และการเมืองแบบอำนาจนิยม อีกส่วนหนึ่งที่เกื้อหนุนให้ลูกาเช็งการวบอำนาจได้คือรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประธานาธิบดีไว้สูงมาก 

ทั้งหมดนี้ทำให้เบลารุสตกอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองอำนาจนิยม และคือสาเหตุที่ว่าทำไมลูกาเช็งกาถึงทำทุกหนทางเพื่อพยายามรักษาอำนาจและระบอบการเมืองของตนเองไว้ ไม่ว่าจะทั้งจากการเลือกตั้งและการประท้วง ผ่านการใช้กลไกรัฐและกฎหมายกีดกันศัตรูทางการเมืองและใช้ความรุนแรงปราบมวลชน และจากการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ผ่านการใช้ผู้อพยพลี้ภัยเล่นกับอารมณ์ความรู้สึก จนกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยที่พรมแดนสหภาพยุโรป

จิตติภัทรยังเสริมอีกว่า ในฤดูหนาวที่กำลังจะถึงนี้ เกมภูมิรัฐศาสตร์พลังงานอาจเป็นไพ่อีกหนึ่งใบที่ลูกาเช็งกาหยิบขึ้นมาใช้เพื่อสร้างแรงกดดันต่อสหภาพยุโรปอีกระลอก เพราะเบลารุสคือทางผ่านของท่อก๊าซที่ส่งพลังงานจากรัสเซียไปยุโรป

และในมิติภูมิรัฐศาสตร์ เกมรักษาอำนาจของลูกาเช็งกาและแรงกดดันจากสหภาพยุโรปกลับบีบให้เบลารุสต้องหันหารัสเซียมากกว่าเดิม พึ่งพารัสเซียมากกว่าเดิม ซึ่งทำให้เบลารุสดำเนินนโยบายประกันความเสี่ยง (hedging) ระหว่างสหภาพยุโรป-รัสเซียได้ยากยิ่งขึ้น

เมื่อถอยออกมามองบริเวณพรมแดนเบลารุส-สหภาพยุโรป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้อพยพลี้ภัยถูกทิ้งไว้กลางทาง จะกลับไปเบลารุสก็ต้องเผชิญกับกำลังทหารที่ตรึงบริเวณพรมแดนไว้ จะไปต่อก็ไม่ได้ เพราะโปแลนด์กั้นรั้วลวดหนามไว้

“วิกฤตพรมแดนและผู้อพยพลี้ภัยรอบนี้สะท้อนถึงโจทย์คลาสสิกของสหภาพยุโรปว่า สหภาพยุโรปจะมีอัตลักษณ์และเล่นบทบาทแบบไหนในการเมืองระหว่างประเทศ 

“ในแง่หนึ่ง สหภาพยุโรปพยายามจะเป็นเสรีนิยม สากลนิยม แต่ในอีกมุมหนึ่ง สหภาพยุโรปก็ต้องการที่จะปกป้องพรมแดนตนเอง ซึ่งทุกวันนี้ความลักลั่นและการขับเคี่ยวก็สะท้อนผ่านแนวนโยบายของรัฐสมาชิกว่า จะเปิดหรือไม่เปิดพรมแดน จะปกป้องผู้อพยพลี้ภัยตามกรอบกฎหมายสหภาพยุโรป หรือจะรักษาอำนาจอธิปไตย เศรษฐกิจ และความมั่นคง” จิตติภัทรตั้งคำถามต่อสหภาพยุโรป พร้อมชี้ให้เห็นการขับเคี่ยวในการเมืองภายในสหภาพยุโรปที่กำลังเกิดขึ้นจริงระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่ประกาศว่า การให้เงินสนับสนุนรัฐสมาชิกเพื่อสร้างรั้วลวดหนามหรือกำแพงไม่ใช่วิสัยของสหภาพยุโรป และรัฐขนาดเล็กบริเวณพรมแดนตะวันออกของสหภาพยุโรปที่เรียกร้องให้สหภาพยุโรปจ่ายงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างรั้วลวดหนามป้องกันพรมแดน 

“ร่องรอยความลักลั่นของสหภาพยุโรปจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น” 

ช่องว่างของกรอบกฎหมายผู้อพยพลี้ภัยของสหภาพยุโรป ที่เปิดช่องว่างให้รัฐสมาชิกไม่ต้องออกกลไกภายในรัฐเพื่อรับผู้อพยพลี้ภัย ทั้งๆ ที่ข้อตกลงกำหนดว่าประเทศปลายทางต้องรับผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาในพรมแดนสหภาพยุโรปก็สะท้อนความลักลั่นของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตพรมแดนครั้งนี้ความลักลั่นยิ่งสลับซับซ้อน เพราะโปแลนด์ที่เป็นประเทศหน้าด่านพรมแดนสหภาพยุโรปปกครองโดยรัฐบาลฝ่ายขวาประชานิยมที่ต่อต้านผู้อพยพลี้ภัย ไม่อนุญาตให้ผู้อพยพลี้ภัยยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งที่จริงผิดกฎหมายสหภาพยุโรป และที่สำคัญ ยังมีข้อพิพาทกับสหภาพยุโรปในประเด็นการละเมิดหลักนิติธรรมจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบตุลาการ

“สภาวะเช่นนี้ก็ทำให้สหภาพยุโรปกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อ จะตีหัวโปแลนด์หนักๆ ก็ลำบาก เพราะโปแลนด์เป็นด่านหน้าพรมแดนสหภาพยุโรป จะถอยเรื่อง rule of law ก็ถอยไม่ได้ หรือจะเปิดพรมแดนรับผู้อพยพลี้ภัยก็โดนกระแสโต้กลับแน่ๆ”

“คิดว่าครั้งนี้ สหภาพยุโรปมีแนวโน้มจะยึดแนวทางความมั่นคงมากพอสมควร คือมือถือสากปากถือศีล ถือธงความเป็นเสรีนิยม เปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลาย มีมนุษยธรรม แต่ความมั่นคงต้องมาก่อน” จิตติภัทรวิพากษ์

หากมองวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยผ่านเลนส์แบบภูมิรัฐศาสตร์ จิตติภัทรวิเคราะห์ว่า “คนที่มองสถานการณ์อย่างยิ้มเยาะคือรัสเซียแน่นอน” เพราะสหภาพยุโรปก็ตกอยู่ในภาวะที่ความเป็นเสรีนิยมสั่นคลอน หาทางออกไม่เจอ ส่วนเบลารุสที่ต้องบาลานซ์ดุลอำนาจประกันความเสี่ยงระหว่างรัสเซียและยุโรปก็จำต้องหันหารัสเซียมากขึ้น เพราะประตูฝั่งสหภาพยุโรปถูกปิดลง 

ในภาพใหญ่ วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยคือส่วนหนึ่งของเกมดุลอำนาจภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างยุโรปและรัสเซีย โดยมีความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสและรัสเซียเป็นตัวกำหนดดุลอำนาจ เช่นเดียวกันกับที่กำหนดดุลภูมิรัฐศาสตร์ทางพลังงาน หรือความมั่นคงในยูเรเชีย 

คำถามต่อมาคือ เราจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสและรัสเซียได้อย่างไร? 

จิตติภัทรเสนอว่า ต้องพยายามทลายมายาคติหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสและรัสเซีย

ประการแรก มักมีมายาคติว่าเบลารุสมีความเป็นยุโรปและไม่เหมือนรัสเซีย แต่ที่จริงแล้ว เบลารุสมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซีย และอาจเป็นส่วนหนึ่งของ Russian World (Russkiy Mir) ชื่อ ‘เบลารุส’ เองก็มีที่มาจากคำว่า White Russia แต่เบลารุสก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Russian World ในลักษณะเดียวกับยูเครน ที่แนวเล่าประวัติศาสตร์รัสเซียมองว่ายูเครนคือจุดกำเนิดของรัสเซีย และความเป็นรัสเซียไม่ได้แบ่งประชากรในเบลารุสอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างเบลารุสและรัสเซียก็ถูกหยิบฉวยมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายใต้วาทกรรม ‘พี่-น้อง’ ในบางช่วงเวลา

ประการที่สอง เบลารุสมักถูกมองว่าเป็น ‘ใจกลางของยุโรป’ ซึ่งเป็นความจริงในทางภูมิศาสตร์ แต่จิตติภัทรเสนอว่าการมองเช่นนี้ทำให้มองไม่เห็นภาพของเบลารุสในความสัมพันธ์เชิงอำนาจว่า เบลารุสคือรัฐขนาดเล็กที่มีอำนาจไม่มากนัก และไม่เห็นร่องรอยความไม่ชัดเจนและความลักลั่นทางอัตลักษณ์ว่า มีความเป็นยุโรปตะวันตกหรือตะวันออกมากกว่ากัน เพราะในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เบลารุสคือดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้หลายอำนาจจักรวรรดิ ทั้งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย จักรวรรดิรัสเซีย หรือสหภาพโซเวียต

ประการที่สาม แม้ว่าสังคมการเมืองเบลารุสจะมีความเป็นเนื้อเดียวกันสูง แต่อัตลักษณ์ความเป็นชาติเบลารุสมีความลักลั่นและไม่ชัดเจน เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการประกอบสร้างทางประวัติศาสตร์ ว่าจะสร้างอัตลักษณ์ผ่านความเป็นยุโรปหรือความเป็นรัสเซียกันแน่ ในขณะที่การประกอบสร้างให้เบลารุสเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปไม่ใช่กระแสหลักในเบลารุส ความพยายามให้การประกอบสร้างให้เบลารุสเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียก็ไม่ได้เข้มข้นมากนัก ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการวางท่าทีของเบลารุสในสนามภูมิรัฐศาสตร์ยุโรป-รัสเซียที่ใช้ยุทธศาสตร์ประกันความเสี่ยงกับทั้งสหภาพยุโรปและรัสเซีย

ประการที่สี่ พลวัตความเป็นพันธมิตรระหว่างเบลารุสและรัสเซียมีทั้งช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์แนบแน่นและช่วงเวลาที่ตึงเครียด มีการต่อรอง กล่าวคือไม่ได้ชื่นมื่นตลอดเวลา และหากกล่าวให้ถึงที่สุด จิตติภัทรมองว่า เบลารุสจะไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดของรัสเซียง่ายๆ ส่วนปูตินก็ไม่ได้ไว้ใจลูกาเช็งกานัก ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเบลารุสดำเนินนโยบายประกันความเสี่ยง มีการหันเข้าหาสหภาพยุโรปเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับรัสเซียที่มีแต้มต่อในเบลารุสอย่างมากในการเมืองเรื่องพลังงาน

ประการที่ห้า ฉายา ‘Europe’s last dictatorship’ ของเบลารุสมีมิติในการโจมตีเชิงคุณค่าอยู่ด้วย เพราะบริเวณหลังบ้านรัสเซียยังมีรัฐอำนาจนิยมใช้อำนาจเผด็จการในระดับที่สูงกว่าเบลารุส ในขณะที่การรับรู้ของโลกตะวันตกจะมุ่งโจมตีความเป็นเผด็จการของเบลารุส เนื่องจากผลประโยชน์ในเกมการต่อรองอำนาจทางการเมือง

“หากทลายมายาคติเกี่ยวกับเบลารุสลง เราจะเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสและรัสเซียว่า เบลารุสไม่ได้เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับรัสเซียอย่างชัดเจน แต่พลวัตการเมืองภายในที่ส่งผลให้แต่ละช่วงเวลามีความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ มีความร่วมมือ ขัดแย้ง หรือเจรจาต่อรองกันตลอดเวลา”

สุดท้าย จิตติภัทรตั้งประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไปในดุลภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างเบลารุสและรัสเซียหลังวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยว่า ประเด็นด้านพลังงาน การซื้อกิจการในเบลารุส และอำนาจความเป็นเจ้าหนี้ของหนี้สาธารณะเบลารุสจะทำให้สถานการณ์เข้าทางรัสเซียมากขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อเบลารุสที่มากยิ่งขึ้นอีกต่อจากที่เผชิญแรงกดดันจากสหภาพยุโรปอยู่แล้วหรือไม่ อย่างไร

‘ผู้อพยพลี้ภัย’ เหยื่อกลางกระแสการเมืองโลก? ภาณุภัทร จิตเที่ยง 

ภาพจาก kaanjittiang.com

“วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการ ‘สร้าง’ (fabricate) แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากการ ‘ผลิต’ (manufacture) ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการย้ายถิ่นที่เชื่อมโยงกับประเทศต้นทางและประเทศกลางทาง โดยอาศัยความต้องการย้ายถิ่นของคนมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมือง” นี่คือภาพใหญ่ของวิกฤตพรมแดนเบลารุส-โปแลนด์ในทัศนะของ ภาณุภัทร จิตเที่ยง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการมองวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยเบลารุส-โปแลนด์ผ่านเลนส์ของการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ภาณุภัทรเสนอกรอบการทำความเข้าใจการย้ายถิ่นออกเป็นต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง โดยมองว่า ผู้อพยพลี้ภัยมาจากต้นทางไหน ทำไมต้องย้ายถิ่น ต่อไปยังกลางทางว่า ทำไมต้องเลือกเดินทางผ่านเบลารุส เพื่อเดินทางไปยังปลายทางอย่างสหภาพยุโรป

เริ่มต้นจากต้นทาง ภาณุภัทรชี้ให้เห็นว่า ผู้อพยพลี้ภัยกว่า 20,000 คนที่เดินทางผ่านพรมแดนเบลารุส มีทั้งส่วนที่อพยพด้วยเหตุผลของการหลบหนี ‘ลี้ภัย’ การประหัตประหารและความรุนแรงจากภาวะสงครามและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง อย่างเช่นผู้อพยพลี้ภัยชาวเคิร์ดและยาซิดีที่หนีความรุนแรงจากอิรักและไอซิส ผู้อพยพลี้ภัยจากซีเรียที่หนีจากภาวะสงครามกลางเมือง ผู้อพยพลี้ภัยจากอัฟกานิสถานที่ลี้ภัยจากการปกครองของตาลีบัน หรือผู้อพยพลี้ภัยจากเยเมน และส่วนที่อพยพเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เหตุผลและแรงจูงใจของการอพยพระลอกนี้มีความหลากหลายและผสมผสานกัน (mixed migration)

และเมื่อพิจารณาแนวทางการย้ายถิ่นตามกรอบกฎหมายการย้ายถิ่นของประเทศทั้งต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง อีกประเด็นหนึ่งที่ภาณุภัทรยกขึ้นมาคือ การอพยพระลอกนี้จัดว่าเป็นการอพยพแบบไม่ปกติ (irregular migration) เพราะแม้ว่าจะมีการอพยพบางส่วนที่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายผ่านการขอวีซ่าเข้าไปยังเบลารุส แต่ในการเดินทางเข้าสู่สหภาพยุโรปผ่านพรมแดนธรรมชาติหรือการปีนรั้วลวดหนามนับว่าไม่อยู่ในกรอบการย้ายถิ่นตามกฎหมาย 

ต่อมาที่ระหว่างต้นทางและกลางทาง หากวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการย้ายถิ่น คำถามมีอยู่ว่า การย้ายถิ่นถูกผลิตขึ้นมาอย่างไร?

ส่วนแรก อุตสาหกรรมการย้ายถิ่นอาศัยแรงจูงใจและความหวังในการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในยุโรป แม้ว่าในความเป็นจริง แต่ละประเทศในยุโรปจะมีระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ต่างกันไป และมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ แต่เมื่อมองจากนอกภูมิภาค ยุโรปยังเป็นภาพของโอกาสทางเศรษฐกิจและชีวิตที่ดีกว่า

ส่วนที่สอง อุตสาหกรรมการย้ายถิ่นอาศัยขบวนการนำพา (smuggling network) เพื่อเชื่อมโยงการเคลื่อนย้ายจากต้นทางไปสู่ปลายทาง อย่างไรก็ตาม ภาณุภัทรอธิบายว่า ในวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยเบลารุส ขบวนการนำพากลับเชื่อมโยงการเคลื่อนย้ายระหว่างต้นทางกับกลางทาง 

“ปกติเส้นทางการย้ายถิ่นจากตะวันออกกลางไปสู่ยุโรปที่ง่ายที่สุดคือการเดินทางผ่านตุรกี แล้วข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนเพื่อเข้าพรมแดนอิตาลีหรือกรีซ แต่กรณีเบลารุส มันผ่านการคิดมาแล้วว่า ช่องทางไหนคือช่องทางการอพยพที่ง่ายกว่า และนั่นคือจุดขายที่เบลารุสพยายามจะนำเสนอ” ซึ่งก็คือการอนุมัติวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อให้คนเดินทางเข้ามาในพรมแดนเบลารุสได้อย่างถูกกฎหมาย

ในขบวนการนำพาประกอบไปด้วยสามส่วนที่ทำงานประสานกันได้แก่ traveling agency สายการบิน และวีซ่า ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด โดยบริษัทท่องเที่ยวจะทำหน้าที่ขายแพ็กเกจทัวร์เที่ยวเบลารุส และโฆษณาว่าเป็นหนทางที่จะช่วยให้เดินทางเข้าไปทำงานในพรมแดนยุโรปได้ง่ายขึ้น และมีกระบวนการรองรับ ต่อมาที่สายการบิน สายการบิน Fly Baghdad ซึ่งเป็นหนึ่งสายการบินที่เปิดเส้นทางการบินสู่กรุงมินสก์ ก็โฆษณาเช่นกันว่า หากบินกับ Fly Baghdad ตลอดเส้นทางจากมินสก์ไปยังพรมแดนตะวันตกของเบลารุส-ตะวันออกของโปแลนด์ จะมีรถคอยรับส่งและที่พักอย่างดี รวมทั้งมีคนคอยรับที่พรมแดนสหภาพยุโรปเพื่อพาไปหางาน 

“แต่ที่สำคัญที่สุด ทั้งหมดนี้คือการขายจินตภาพที่มีราคาจ่ายจริง ว่าจะได้เดินทางไปหาโอกาสทางเศรษฐกิจและโอกาสอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการการันตีว่าจะเดินทางไปถึงสหภาพยุโรปได้จริงอย่างที่โฆษณา หรืออย่างที่เขียนไว้ใน testimony ของผู้ใช้บริการ traveling agency” ภาณุภัทรกล่าว และเสริมต่อว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับแพ็กเกจเดินทางทั้งหมดตกอยู่ที่ประมาณ 6,000-20,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

และเมื่อเดินทางมายังปลายทางอย่างสหภาพยุโรป แน่นอนว่าการเคลื่อนย้ายของผู้อพยพลี้ภัยย่อมไม่จบลงที่ประเทศพรมแดนอย่างอิตาลี กรีซ สเปน หรืออย่างโปแลนด์ ลิทัวเนีย และลัตเวียในวิกฤตครั้งนี้ กล่าวคือประเทศเหล่านี้เป็นเพียงแค่ประตูไปสู่ประเทศยุโรปอื่นๆ ทางตะวันตกและทางเหนืออย่างเยอรมนี หรือสวีเดนที่มีสถานะเศรษฐกิจดีกว่าประเทศหน้าด่านที่ต้องรับภาระเปิดประตูรับผู้อพยพลี้ภัย แต่ที่ต่างไปจากเส้นทางการอพยพครั้งอื่นๆ คือ เบลารุสคือทางผ่านใหม่ไปสู่สหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม ระบบรับผู้อพยพลี้ภัยของสหภาพยุโรปยังคงมีช่องว่าง

แม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีกลไกรองรับและช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยเข้าสู่พรมแดนสหภาพยุโรปภายใต้กรอบ Common European Asylum System (CEAS) มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยการพิจารณาเงื่อนไขและกระบวนการพิสูจน์และคัดกรองการรับสถานะผู้ลี้ภัยผู้บนเหตุผลของความกลัวภัยการประหัตประหาร ผ่านการรับมือต่อวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยซีเรียเมื่อปี 2015 และผ่านการปฏิรูปกลไกผ่าน Dublin III Regulation ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การให้แต่ละรัฐสมาชิกต้องรับผิดชอบการพิจารณาการรับสถานะของผู้ลี้ภัย ทำให้การรับผู้ลี้ภัยเป็นความรับผิดชอบร่วมของรัฐสมาชิกตามหลัก EU solidarity และเพิ่มการแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบ (fairer burden sharing) ของรัฐสมาชิกผ่านการปรับกลไกการขอรับสถานะผู้อพยพลี้ภัยแล้วก็ตาม แต่ช่องว่างสำคัญของกรอบการรับผู้ลี้ภัยอยู่ที่อำนาจอธิปไตยของรัฐสมาชิก

“ปัญหาสำคัญที่สุดของ Common European Asylum System คือ สุดท้ายก็ยังปล่อยให้รัฐมีอำนาจเหนือในการตัดสินใจดำเนินการหรือไม่ดำเนินการได้ ซึ่งหลายประเทศเลือกที่จะไม่ดำเนินการ” 

สหภาพยุโรปยังคงอยู่บนเส้นทางในการพัฒนาปรับปรุงกลไกและระบบการรับผู้อพยพลี้ภัย ค่อยๆ ลดช่องว่างของระบบ ภาณุภัทรเล่าว่า หนึ่งในนั้นคือการพยายามสร้าง framework ใหม่เมื่อปี 2020 ผ่าน New Pact on Migration and Asylum วางให้รัฐสมาชิกมีส่วนรวมและแบ่งเบาภาระในการจัดการพรมแดน จัดการวิกฤตนอกพรมแดนสหภาพยุโรป และเน้นให้กรอบการจัดการผู้อพยพลี้ภัยที่มีอยู่แล้วถูกนำไปปฏิบัติจริง 

แน่นอนว่า หนึ่งในความท้าทายยังคงอยู่ที่ความตึงแย้งภายในสหภาพยุโรป วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยเบลารุสไม่ใช่วิกฤตพรมแดนครั้งแรกและจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของสหภาพยุโรป แต่ที่สำคัญยิ่งว่าสิ่งอื่นใด นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเช่นกันที่วิกฤตผู้อพยพลี้ภัยและผู้อพยพถูกหยิบฉวยขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ภาณุภัทรฉายภาพให้เห็นว่า ก่อนหน้าวิกฤตชายแดนเบลารุส เคยเกิดปรากฏการณ์การใช้ผู้อพยพลี้ภัยเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองกับสหภาพยุโรปแล้วอย่างน้อยสองครั้ง 

ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในวิกฤตผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางเมื่อปี 2015 โดยที่รัฐกลางทางอย่างตุรกีเลือกหยิบไพ่เปิดพรมแดนให้ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลผ่านตุรกีเข้าสู่พรมแดนยุโรปขึ้นมาต่อรอง เพื่อให้สหภาพยุโรปยอมขึ้นโต๊ะเจรจารับตุรกีเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป 

ส่วนครั้งที่สอง คือปัญหาระหว่างโมร็อกโก-สเปนเมื่อเดือนเมษายน 2021 เช่นเดียวกันกับตุรกี โมร็อกโกขู่จะใช้ไพ่เปิดพรมแดนให้ผู้อพยพจากโมร็อกโกเดินทางเข้าสเปน เพื่อให้สเปนยอมถอนผู้แทนออกจากบริเวณซาฮาราตะวันตก (West Sahara) อดีตดินแดนใต้อาณานิคมสเปนที่ยังไม่มีอำนาอธิปไตยใดครอบครอง และเปิดทางให้โมร็อกโกผนวกซาฮาราตะวันตก

และในครั้งที่สามก็คือวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยเบลารุส

ภาณุภัทรอธิบายต่อว่า ในกรณีโมร็อกโก-สเปนจบด้วยการที่สเปนยอมถอย แต่ที่ภาณุภัทรมองว่าน่าสนใจคือ วิธีการที่สหภาพยุโรปเลือกใช้ในการแก้วิกฤตเมื่อปี 2015 เหมือนกับสิ่งที่เบลารุสกำลังทำอยู่

“สิ่งที่สหภาพยุโรปทำคือ การสร้างประเทศกลางทางอย่างตุรกีขึ้นมา เพื่อให้ตุรกีทำหน้าที่เป็นกันชนรับผู้อพยพลี้ภัยแทน และหยุดการเดินทางเข้าพรมแดนสหภาพยุโรป ผ่านการจ่ายเงินอุดหนุนให้ตุรกีรับผู้ลี้ภัยไว้

“ถ้าถามว่าเหมือนกับกรณีเบลารุสตรงไหน เหมือนตรงที่เบลารุสเอง จริงๆ แล้วไม่ใช่ประเทศกลางทาง ไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเดินทาง แต่ประกอบสร้างให้ตนเองกลายเป็นประเทศกลางทาง และใช้สถานะการเป็นกันชนให้สหภาพยุโรปมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองอำนาจ” 

ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางที่สหภาพยุโรปใช้ในการชะลอหรือหยุดการเคลื่อนย้ายของผู้อพยพไม่ได้มีเพียงการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ประเทศกลางทางอย่างเดียว อีกหนทางหนึ่งที่สหภาพยุโรปใช้คือ การเจรจาสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศกลางทางอย่างที่ทำกับจอร์แดน อุดหนุนให้บริษัทในยุโรปไปลงทุน เพื่อให้ผู้ลี้ภัยจากซีเรียเข้าไปทำงานในจอร์แดนแทน และตัดสินใจไม่อพยพต่อมายังยุโรป 

“สิ่งสำคัญที่สุดที่พยายามจะชี้ให้เห็นจากทั้งกรณีตุรกี โมร็อกโก และเบลารุสคือ จุดอ่อนและความเปราะบางของสหภาพยุโรปอยู่ที่ประเด็นผู้อพยพ และทั้งสามประเทศเองก็อาศัยการใช้จุดที่เปราะบางที่สุดของสหภาพยุโรปมาเล่นเกมการเมืองเพื่อต่อรองผลประโยชน์”

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ภาณุภัทรมองว่าต้องตั้งคำถามไม่ใช่แค่เรื่องการอพยพย้ายถิ่นเท่านั้น แต่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมการอพยพย้ายถิ่นจึงเป็นความเปราะบางของสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่มีนโยบายที่เปิดกว้าง

“คำตอบไม่ได้อยู่แค่ที่ผู้อพยพและนโยบายการรับผู้อพยพเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ความพยายามในการจัดการพลวัตทางสังคมการเมืองยุโรป ซึ่งก็คือการเติบโตของฝ่ายขวาประชานิยม พร้อมกับกระแสเกลียดกลัวและต่อต้านความเป็นมุสลิม เพราะก่อนหน้านี้ การอพยพย้ายถิ่นระหว่างประเทศไม่เคยเป็นประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นความมั่นคง

“ในขณะที่พยายามสลายพรมแดนภายใน สหภาพยุโรปกลับสร้างพรมแดนภายนอกขึ้นมา เพราะฉะนั้น พรมแดนภายนอกนี่แหละที่สะท้อนกลับมาเป็นประเด็นปัญหาการเมืองภายในของรัฐสมาชิกหลายๆ รัฐของสหภาพยุโรปเอง ที่ในหลายประเทศ พรรคฝ่ายขวาประชานิยมได้รับความนิยมขึ้นมาก ก็เพราะจากใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากผู้อพยพทั้งสิ้น”

“ทั้งหมดนี้ นำมาสู่คำถามต่อโจทย์คลาสสิกของสหภาพยุโรปว่า อัตลักษณ์ความเป็นสหภาพยุโรปคืออะไรกันแน่ European identity เกิดขึ้นในระดับรัฐได้ก็จริง แต่มันเกิดขึ้นจริงในระดับสังคมและปัจเจกหรือไม่”

“โจทย์ที่สองที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ยุโรปในฐานะผู้นำคุณค่าเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนได้ทำอะไรอย่างจริงจังหรือเปล่าในการส่งออกคุณค่าและ take action นอกยุโรป ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปเองก็เป็นตัวอย่างว่า มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นจริงในกรณีผู้อพยพ ไม่ว่าจะเป็นการผลักผู้อพยพกลับ หรือการกั้นรั้วลวดหนามในฮังการี หรืออย่างล่าสุดที่โปแลนด์ ความลักลั่นตรงนี้ทำให้ประเทศอื่นนำมาใช้ต่อรองทางการเมืองได้ว่า สหภาพยุโรปเองก็ละเมิดสิทธิเช่นกัน”

“เวลาพูดถึงการจัดการผู้อพยพหรือวิกฤตผู้อพยพ หลายครั้งเรามักมุ่งไปแค่การจัดการเฉพาะหน้าที่ปลายทาง หรือกลางทาง แน่นอนว่าการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ วิกฤตและการอพยพจะจบลงได้ต่อเมื่อต้นทางสงบ คำถามคือ สหภาพยุโรปพยายามลงไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหนในการช่วยส่งเสริมเสถียรภาพในประเทศต้นทางวิกฤต”

“โจทย์ที่สามที่สำคัญที่สุดคือ โจทย์ว่าด้วยการทำให้การอพยพกลายเป็นประเด็นความมั่นคง (securitization of migration) สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะในสหรัฐฯ ยุโรป หรือไทย คือการที่การเมืองหล่อหลอมให้การย้ายถิ่นกลายเป็นประเด็นความมั่นคง ผ่านการใช้มาตรการและเครื่องมือทางความมั่นคง อย่างการกั้นรั้วลวดหนาม กำแพง หรือใช้กำลังทหารและการสอดส่อง

“สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ระบบ กลไกและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ถูกสร้างเพื่อให้สอดรับกับมาตรการความมั่นคงจะยิ่งทำให้ประเด็นการอพยพย้ายถิ่นเป็นเรื่องความมั่นคงต่อไปเรื่อยๆ และทำให้การใช้มาตรการทางมนุษยธรรมยิ่งเป็นไปไม่ได้ นี่จะกลายเป็นประเด็นท้าทายต่อสหภาพยุโรปและคุณค่าแบบยุโรปต่อไปในระยะยาว” ภาณุภัทรวิพากษ์ทิ้งทายผ่านมุมมองการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save