fbpx

“เป็นวัยรุ่น ไม่เห็นง่ายเลย” – เปิดใจวัยแสบบนดอยกับหลากเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่(เคย)เข้าใจ

ณัฐชญา แดนโพธิ์ เรื่องและภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สำหรับผู้ใหญ่ ชีวิตวัยรุ่น มักถูกนิยามว่าเป็น Good Old Days ของใครหลายคนอยู่เสมอ

ย้อนกลับไปมองทีไร ก็จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด เปี่ยมสีสันที่สุด เต็มไปด้วยแรงกายแรงใจ พร้อมจะเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

แต่ถ้าเราถามคนที่กำลังเป็นวัยรุ่น บางทีคำตอบที่ได้อาจกลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง

แทนที่จะเป็นวัยสนุกสุดๆ อาจจะกลายเป็นวัยที่เศร้าสุดๆ หม่นหมองสุดๆ ชวนให้เหนื่อยล้าอ่อนแรงที่สุด เพราะต้องเจอทั้งปัญหาการเรียน ความรัก ความคาดหวังของสังคม การค้นหาตัวตน สารพัดสารพัน และที่สำคัญ คือการต้องรับมือกับความรู้สึกที่ว่าไม่มีใครเข้าใจเราอย่างถ่องแท้

อย่าบังคับกันเลยจะได้ไหม? เชื่อมั่นในตัวเราสักหน่อยเถอะ? ปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นความเจ็บปวดร่วมกันของวัยรุ่น ที่ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองอันคึกคัก หรือไกลออกไปบนยอดเขาสูงก็ล้วนสัมผัสและรู้สึกได้ไม่แตกต่าง

101 ชวนคุณมารับฟังเรื่องราวของวัยรุ่นจากพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงใหม่ ว่าท่ามกลางทิวทัศน์บนดอยอันเขียวชอุ่มและมีภาพจำเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตวัยรุ่นของพวกเขามันไม่ง่ายอย่างไร อะไรคือความเหน็ดเหนื่อยและเจ็บปวดที่อยากส่งเสียงออกมา

ด้วยความหวังว่าจะมีผู้เปิดใจรับฟัง

 

I’m okay. : ฉันไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ใครต่อใครกังวลนะ

 

 

การเก็บตัวเงียบๆ ในห้องคนเดียวของวัยรุ่นอาจทำให้ผู้ปกครองเผลอตีความจากความกังวลของตนเองว่าวัยรุ่นอาจมีปัญหาชีวิตต่างๆ นานา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจแค่ต้องการเวลาส่วนตัว

แบมแบมในวัย 15 ปี คือหนึ่งในคนที่ถูกเข้าใจผิดเช่นนั้น

“คุณป้าเชื่อว่าการที่หนูอยู่แต่ในห้องเท่ากับเล่นโทรศัพท์” เธอเล่า “เขากลัวว่าเราจะเป็นโรคซึมเศร้า แต่หนูคิดว่าหนูเฟรนลี่กับทุกคน ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า และจริงๆ แล้ว เวลาอยู่ในห้อง หนูก็ไม่ได้เล่นโทรศัพท์ตลอด”

เธอคิดว่าการที่คุณป้าอยากเธอให้อยู่ข้างนอกห้องบ้าง คงเพราะเป็นห่วงว่าการอยู่ในแต่ห้องจะทำให้เธอรู้สึกอึดอัด แต่แบมแบมกลับรู้สึกว่าถ้าอยู่นอกห้อง จะไม่มีสมาธิทำการบ้านอ่านหนังสือ

นอกจากนี้ “คุณป้าน่าจะกลัวว่าการเล่นโทรศัพท์จะทำให้ผลการเรียนของหนูตก”

แต่ความกังวลของป้าค่อนข้างสวนทางกับความเป็นจริง เพราะแบมแบมถือเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็น ‘the top of the class’ เธอสามารถแบ่งเวลาได้อย่างดีเสมอ แม้ต้องทำงานพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยก็ตาม

“หนูไม่แน่ใจว่าหนูใช้โทรศัพท์กี่ชั่วโมง แต่ตื่นเช้ามาก็ไม่ได้เล่น เพราะต้องเตรียมตัวไปโรงเรียน พอถึงโรงเรียนก็ใช้โทรศัพท์ 15 นาที ตอนเที่ยง 15-20 นาที ตอนเย็นถึงบ้าน 16.20 น. เล่นถึง 17.00 น. แล้วก็ล้างจาน ทำกับข้าว อาบน้ำ สอนการบ้านน้อง และทำการบ้านของตนเองไปด้วย ถ้าไม่ได้เล่นโทรศัพท์จะดูโทรทัศน์แล้วเข้านอนเลย หรือบางครั้งก็ใช้โทรศัพท์ก่อนเข้านอนประมาณ 20 นาที

“คำพูดของป้า ทำให้หนูรู้สึกไม่ค่อยพอใจที่เขาพูดแบบนั้นทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ว่าหนูทำอะไรบ้าง หนูพยายามอธิบายแล้วแต่เขาก็ไม่รับฟัง”

เมื่อการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาไม่ช่วยแก้ปัญหาของแบมแบม เธอจึงหาทางช่วยเหลือจากช่องทางอื่น

“หนูเคยติดต่อไปทางมูลนิธิสายเด็กผ่านไลน์ เขาแนะนำว่าลองคุยกับคุณป้า ให้ใช้เหตุผล และอย่าจมอยู่กับคำพูดของคุณป้า หนูก็เห็นด้วยกับที่เขาบอกนะ เพราะคนที่ให้คำแนะนำมีประสบการณ์มากกว่าเรา 

“ตอนนี้หนูกังวลเรื่องเดียวคือการอยู่กับคุณป้า กลัวเข้ากันไม่ได้ เพราะคุณป้าก็มีปัญหากับทางแม่สามีของเขา เลยกลัวว่าถ้าคุณป้ากับแม่สามีเขาทะเลาะกันรุนแรงแล้วเราจะทำอย่างไร  เขาจะไล่เราออกจากบ้านไหม”

คำพูดของแบมแบมชวนให้กลับมาตั้งคำถามว่า การที่วัยรุ่นเก็บตัวอยู่ในห้องเป็นเพราะบุคลิกนิสัย หรือแท้จริงแล้ว บ้านซึ่งควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย กำลังเกิดคลื่นลมอะไรที่เขาเกรงกังวล

Dream big, then what? : ฝันให้ใหญ่ แล้วไงต่อ?

 

 

ฟ้า เป็นวัยรุ่นสัญชาติไทใหญ่ อายุ 14 ปีที่แม้ภายนอกดูนิ่งๆ แต่ความจริงแล้ว ภายในตัวเธอเปี่ยมไปด้วยความฝันอยากเข้าสู่วงการแฟชันดีไซน์เนอร์ 

“ตอนป.3 มีคุณครูที่เกษียณไปแล้ว เขาถามว่าเราอยากเป็นอะไร ตอนนั้นหนูยังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร แต่คุณครูเขาให้หนูดูรายการเดินแบบโชว์ หนูจำได้ว่าพอเห็นคนที่ออกแบบเสื้อผ้าแล้วหนูก็อยากเป็นแบบนั้น  ตอนป.4 หนูก็เสิร์ชหาเรื่องนี้ พอเห็นว่ามีแฟชันดีไซน์เนอร์หลายคนออกแบบเสื้อผ้าได้สวยมากเลยอยากเป็นบ้าง

แต่เส้นทางสู่การเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าของเธอกลับดูยากมากกว่าที่คิดไว้

“ถ้าให้คะแนนความเชื่อมั่นในความฝัน หนูให้ 2.5 เต็ม 5 เพราะหนูว่าจะเป็นดีไซน์เนอร์ได้ต้องเป็นคนไทย แต่หนูไม่ใช่คนไทย และไม่มีบัตรประจำตัว ถ้าเรียนดีไซน์เนอร์น่าจะต้องใช้เงินเยอะ

การไม่ใช่คนไทย การต้องใช้เงินเยอะ และภาระด้านครอบครัว เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ฟ้าเอ่ยปากว่า อาจต้อง ‘ยอมทิ้ง’ ความฝันนั้นไป 

“ถ้าหนูเรียนต่อพ่อก็ต้องทำงานคนเดียว หนูกลัวพ่อจะเหนื่อย กลัวพ่อป่วยไม่สบาย” เธอว่า “ยิ่งพอไม่ได้บัตรไทย ไม่ใช่คนไทย ไม่มีเงิน มันก็ยิ่งไม่น่าจะเป็นได้”

“จะทำหรือไม่ทำ หนูก็รู้ผลอยู่แล้วว่าจะได้ทำหรือไม่ได้ทำ”

เมื่อความฝันกลายเป็นสิ่งไกลเกินเอื้อมคว้า ในตอนนี้สิ่งที่ฟ้าอยากได้มากที่สุด จึงขอเพียงมีสถานะยืนยันให้ได้ทำงานได้อย่างสะดวกเท่านั้น

“ถ้าหนูได้บัตรประจำตัวประชาชน หนูก็จะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ทำงานเลี้ยงครอบครัวไปด้วย เพราะมีบัตรทำอะไรก็ง่าย ไม่มีบัตรก็ยาก”

หรืออย่างน้อยๆ ก็ขอให้คนรอบตัวของเธอช่วยเหลือบางเรื่องบ้าง 

“สำหรับเพื่อน อยากขอกำลังใจ ส่วนครูก็อยากให้ครูช่วยผลักดันเรื่องทุนบ้าง การเรียนบ้าง ส่วนครอบครัวหนูก็ไม่หวังอะไรมาก เพราะครอบครัวไม่ได้สนใจอะไรมากเกี่ยวกับความฝัน เขาโฟกัสแค่เรียนจบก็ช่วยกันทำงานส่งน้องเรียนก็พอ”

 

I (just wanna) live my life fully. : แค่อยากใช้ชีวิตให้เต็มที่ (ได้ไหม?)

 

 

ทูนเหย่น คือเด็กหนุ่มวัย 15 ที่มีความเป็นตัวของตัวเองและชอบออกไปเผชิญโลกกว้างพร้อมมอเตอร์ไซค์คู่ใจ  แต่ดูเหมือนนั่นกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความกังวลให้กับพ่อแม่ของเขา

“ผมเป็นคนชอบเที่ยวข้างนอกบ้าน ชอบเที่ยวไกลๆ ชอบถ่ายรูปวิว พอเวลาเที่ยวแม่ชอบโทรตาม ถ้าไม่รับสาย กลับถึงบ้านแม่ก็บ่นว่าทำไมไม่ดูชาวบ้านชาวเมือง เที่ยวทั้งวันทั้งคืนอะไรขนาดนี้ ถ้าผมรับสาย แม่ก็ไม่ถามอะไรก่อนแต่บ่นเลยเหมือนกัน 

“คือผมเคยมีประวัติเสีย ไปเที่ยวกับรุ่นพี่แล้วพวกเขากินเหล้ากัน แล้วก็มีเรื่อง แม่เลยเป็นห่วงมาก”

แม้ทูนเหย่นจะเข้าใจว่าผู้ปกครองของเขาห่วงเพราะอะไร แต่ก็อดที่จะรู้สึกแย่ไม่ได้ เมื่อเห็นพ่อแม่ของเพื่อนๆ ปฏิบัติกับลูกแตกต่างไปจากครอบครัวของเขา

“การที่พ่อแม่ไม่เข้าใจทำให้เรารู้สึกว่าไปเที่ยวไม่สนุก คือผมก็อยากเที่ยวเหมือนเพื่อนคนอื่นบ้าง เพื่อนคนอื่นนะ ถ้าพ่อแม่โทรมาแล้วถาม ลูกตอบ เขาก็โอเคจบ แต่พ่อแม่เราบ่น ทุกวันนี้ ถ้าไปเที่ยวแล้วเกินสองทุ่มยังไม่ได้เข้าบ้าน ผมก็ไม่อยากเข้าแล้ว เพราะถ้าเกินสองทุ่มเข้าไปก็โดนบ่นเลย คิดว่ารอโดนบ่นทีเดียวพรุ่งนี้เลยดีกว่า”

อย่างไรก็ตาม เด็กหนุ่มเคยพยายามทำความเข้าใจพ่อแม่และตนเองมากขึ้น ผ่านการเทียบสภาพครอบครัวลงบนตาราง parenting grid ที่ช่วยแสดงให้เห็นว่าพื้นฐานลักษณะครอบครัวแต่ละบ้านเป็นแบบไหนและส่งผลต่อชีวิตเขาอย่างไร จนพบคำตอบว่า 

“พ่อแม่ผมเป็นประเภทคาดหวังสูง สนับสนุนสูง ถ้าเป็นการใช้เงินกับเรื่องเรียนพ่อแม่ไม่เคยว่าอะไรเลย เขาเรียนอยากให้จบ อยากให้ผมได้เป็นช่าง เขามีความคาดหวังสูง แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรนะ ไม่ได้คิดอะไรมาก

“ถ้าให้มองกลับกันว่าผมเป็นพ่อแม่ ถึงแม้ลูกจะดื้อบ้าง ไม่เชื่อฟังบ้าง แต่ผมจะถามเหตุผลลูกก่อน ผมอยากให้พ่อแม่รับฟังเหตุผลกันบ้าง เพราะทุกวันนี้พ่อแม่เหมือนฟังไปงั้นแต่ไม่เอาไปคิดอะไร ”

ถ้าพ่อแม่เปิดใจและตั้งใจรับฟังลูกสักนิด บางทีอาจทำให้เขาสามารถกลับบ้านอย่างสบายใจหลังจากออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านก็เป็นได้

 

Love takes time. : ค่อยๆ รักทีละน้อย

 

 

รักในวัยเรียนนับว่าเป็นหนึ่งในเรื่องคลาสสิกที่สุดของชีวิตวัยรุ่น แต่น่าแปลกที่ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่สามารถรับมือกับปัญหาคลาสสิกนี้ได้ดีเท่าใดนัก 

ออม เด็กสาวที่กำลังมีความรักก็ต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจของพ่อแม่เช่นเดียวกัน

“พ่อกับแม่พูดว่าจะไปกันรอดไหม จะผิดพลาดไหม เพราะในวัยเรียนเรายังก็เรียนอยู่ มันมีข้อเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดเยอะ ตอนแรกพ่อแม่ห้ามหนูไปเจอแฟน ให้เจอแต่ในโลกออนไลน์ คุยกันแค่ในโทรศัพท์ หลีกเลี่ยงการเจอหน้า ไม่ให้ไปเที่ยวด้วยกัน แต่ไม่บอกเหตุผล เขาแค่ไม่ให้เจอกัน”

ออมพอเดาได้ว่าพ่อแม่ของเธอกำลังห่วงเรื่อง ‘ข้อผิดพลาด’ แบบไหน แต่ “หนูไม่อยากให้พ่อแม่พูดเยอะ อยากให้คอยดูพฤติกรรมหรือนิสัยของเรามากกว่า ไม่ต้องกำหนดมากมาย เพราะเราคบกันยังไม่ถึงปี เราก็กำลังศึกษาดูใจกันเหมือนกัน”

เธอยังเล่าให้ฟังอีกว่าถ้าเทียบกับเด็กสาวคนอื่นๆ แล้ว ตัวเธอถือว่าเป็นคนไม่ค่อยสนใจแฟนด้วยซ้ำ

“ถ้าได้คุยกันก็ตอนตื่นเช้า ไปโรงเรียน ก่อนนอน นอกนั้นหนูจะไปเที่ยวกับแฟนบ้าง แต่ส่วนใหญ่มักใช้เวลาทำการบ้าน ไม่ค่อยสนใจแฟนเท่าไหร่  เขาก็เข้าใจว่าเรามีงานเยอะ ม.3 ต้องอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ส่งงานให้ครบ

“แฟนของหนูเป็นคนมีความคิดความคิดเหมือนผู้ใหญ่ ถ้าจะเรียนก็เรียนไปด้วยกัน ปรึกษากันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่หนูมีแฟนมา หนูไม่เคยเจอผู้ชายคนไหนที่คิดเหมือนแฟนคนนี้ ไม่เคยมีคนไหนที่บอกว่าเราจะมุ่งไปอนาคตตรงไหน เราจะทำอะไรให้สำเร็จทั้งคู่”

ความกังวลของผู้ใหญ่อาจจะมีประโยชน์มากขึ้นหากผู้ใหญ่สอนให้พวกเขารู้เรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตคู่ เช่น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งวัยรุ่นอย่างออมก็ยอมรับว่าเธอพอมีความรู้อยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด 

“หนูมีความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยพอประมาณ อย่างแรกต้องซื้อถุงยาง เช็กวันหมดอายุของถุงยาง รู้ขั้นตอนการใส่ถุงยางอนามัย แต่เพิ่งรู้ว่าต้องเช็กการขาดรั่วของถุงยางด้วยหลังใช้เสร็จ”

ดังนั้นจะดีกว่าไหม ถ้าทำให้พวกเขาเข้าใจแทนการกีดกันไม่ให้มีความรัก

 

I know who I am. : ฉันไม่ได้เป็นคนแบบที่ใครต่อใครพูดถึง

 

 

การที่ต้องเรียนหนังสือ รับผิดชอบงานโรงเรียน และค้นหาเส้นทางอนาคตของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ทำให้ชีวิตวัยรุ่นดูเหมือนเป็นช่วงเวลาที่ไม่เบาสำหรับ บี เด็กสาวอายุ 17 ปี ซึ่งตัดสินใจรับตำแหน่งประธานสภาโรงเรียนมาตั้งแต่ตอนเปิดภาคเรียนเพราะอยากลองทำงานที่ท้าทาย

แต่เธอกลับมาค้นพบภายหลังว่าการเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

“ภาพประธานสภาโรงเรียนที่ครู รุ่นน้อง เพื่อน มองเข้ามาทำให้เรารู้สึกกดดัน  งานของประธานสภาเองก็มีหลายอย่างที่หนูไม่เคยทำ เช่น ต้องควบคุมงานใหญ่ของระบบสภา ถ้ามีงานก็ต้องบังคับเพื่อนให้ทำ เราไม่ชอบใช้ความรุนแรง รู้สึกไม่กล้าที่จะบังคับใครสุดๆ

“หนูไม่ชอบการเป็นผู้นำ หนูชอบอยู่แบบเงียบๆ ของหนูมากกว่า มันรู้สึกสบายใจกว่า ไม่กดดัน” 

เมื่อสิ่งที่จำเป็นต้องทำขัดกับความตั้งใจเดิม หลายสถานการณ์ก็ทำให้บีเกิดความสับสน จนตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นคนแบบไหนกันแน่นะ?

“คนมักจะเข้าใจผิดว่าเราเป็นคนรุนแรง เพราะเจอเหตุการณ์ตอนที่เราขึ้นเสียงใส่ ซึ่งเราดูวิธีการมาจากครู เวลาครูขึ้นเสียงใส่เพื่อน เพื่อนจะฟัง ปกติถ้าทำงาน หนูจะพูดดีดีกับเพื่อนก่อน แต่ถ้าเขาไม่ฟัง ก็ต้องลองวิธีนี้

“เมื่อมีคนเข้าใจผิดก็ทำให้เรารู้สึกไม่ดี ทำให้หนูเสียความมั่นใจ

“ความสับสนระหว่างภาพที่คนอื่นมองเรากับตัวตนของเราเกิดทุกครั้งที่ได้ยินคำพูดของคนอื่นมา เราก็คิดว่าจะทำไงดีน้อ กับคนที่พูดดีดีก็ไม่ฟัง แต่พอโหดก็โดนนินทา”

แม้จะลำบากใจอยู่บ้าง แต่ทุกเรื่องราวดีร้ายที่ผ่านมาก็ช่วยมอบบทเรียนบางอย่างให้เธอเติบโตขึ้นอย่างสวยงาม

“สิ่งที่อยากย้อนกลับไปบอกตัวเองในช่วงปิดเทอมก่อนเป็นประธานสภา คือเราควรวางแผนระบบสภาและชีวิตส่วนตัวในภาพรวมว่าเวลาไหนจะต้องทำอะไร แต่ก็อยากชื่นชมว่าตัวเองเป็นคนที่อดทน  ยอมเหนื่อยเพื่อส่วนรวม และเป็นคนที่กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองคิดไว้”

 

Competitive pressure feels like… : ความกดดันจากการ(ต้อง)เข้าแข่งขัน

 

 

หากย้อนกลับไปนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลายคนอาจจะรู้สึกหนักๆ ที่ช่วงบ่าหรือต้นคอเพราะต้องนั่งอ่านหนังสือเป็นเวลานาน หรืออาจรู้สึกหนักที่ใจ เพราะต้องแบกความคาดหวังจากคนรอบตัวหลายต่อหลายคน

แป้ง เองก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังเครียดกับการสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

“ช่วงนี้ก็อ่านหนังสือไปเรื่อยๆ ทำข้อสอบย้อนหลัง แต่ปีนี้มีการปรับอัตราส่วนข้อสอบ เลยเครียดนิดนึง เพราะเขาปรับใช้คณิต วิทย์ หลักสูตรใหม่” เธอว่า “ความรู้จากในโรงเรียนที่เล่าเรียนมาเป็นเวลา 18 ปีไม่ค่อยพอกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่าไหร่ เพราะถ้าเทียบโรงเรียนบนดอยกับโรงเรียนในเมือง เด็กของโรงเรียนในเมืองจะเรียนพิเศษ แต่บนดอยไม่มี นอกจากจะไปเรียนตอนปิดเทอม แต่พอไปเรียนกลับมามันก็ลืม เพราะไม่ได้เรียนอย่างต่อเนื่อง บ้านเราก็ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะเข้าเมืองไปเรียนพิเศษบ่อยๆ”

ระบบการศึกษาที่ห่างไกลความเจริญทำให้แป้งคิดว่าวินัยและความพยายามคือสิ่งสำคัญที่จะผลักเด็กบนดอยอย่างเธอไปสู่ความฝันที่ต้องการได้

“ความกระตือรือร้นของนักเรียนมีส่วนสำคัญค่ะ บางครั้ง หลังจากที่ครูสอน ถ้าเรากลับบ้านทบทวนจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น แต่นักเรียนบนดอยส่วนใหญ่กลับบ้านก็เที่ยวเล่นเลย ไม่ทบทวน ตอนม.ต้นเราก็คิดว่าเราจะไปแข่งกับคนอื่นเพื่ออะไร เลยติดนิสัย พอม.ปลายก็กังวลว่าจะแข่งขันกับนักเรียนในเมืองได้ไหม”

แม้แป้งจะกังวลและคิดว่าหลักสูตรของโรงเรียนบนดอยจะสู้โรงเรียนที่อื่นไม่ได้ แต่เธอก็ยังรู้สึกรักชีวิตในโรงเรียนอยู่ดี

“โรงเรียนช่วยให้หนูค้นพบตัวตนและสิ่งที่อยากเป็นในอนาคตส่วนนึง เหตุผลที่หนูอยากเป็นครู ส่วนนึงมาจากโรงเรียน ตอนอยู่โรงเรียนประถม มีครูบางคนในโรงเรียนปล่อยเด็กหรือทิ้งเด็กที่เรียนตามไม่ทันเพื่อน ส่วนใหญ่จะสอนครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะมีครูคนนึงที่คอยสอนหนูตลอด โดยการสอนไปช้าๆ จนถึงตอนนี้หนูก็ยังติดต่อกับครูคนนั้น เขาเป็นครูคณิตศาสตร์ที่ทำให้หนูรู้สึกว่าอยากให้มีครูเหมือนครูคนนี้สักสิบคน หนูเลยอยากเป็นครูคนนึงที่สอนนักเรียนที่เขาทำไม่ได้จริงๆ”

สิ่งที่เด็กจากโรงเรียนบนดอยอย่างแป้งทิ้งท้ายไว้กับวัยรุ่นด้วยกัน คือ “อยากให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราจะต้องทำได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่เก่ง แต่ถ้าเราตั้งใจจริงๆ อย่าดูถูกตัวเองถ้ายังไม่ได้ลองทำ”

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save