fbpx
เบื้องหลังของแนวหน้า : เรื่องเล่าว่าด้วยชีวิตและประสบการณ์ในฐานะ ‘หมอโควิด’

เบื้องหลังของแนวหน้า : เรื่องเล่าว่าด้วยชีวิตและประสบการณ์ในฐานะ ‘หมอโควิด’

เรารู้จักโควิด-19 ไม่มากก็น้อย เราผ่านช่วงเวลาที่ถามตัวเองว่า ‘นี่เราติดหรือยัง’ ผ่านวันเวลาที่อัปเดตสถานการณ์ผู้ติดเชื้อวันต่อวันอย่างร้อนใจ ผ่านการเพิ่มกิจวัตรประจำวันด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและใช้แอลกอฮอล์ล้างมือให้เคยชิน ระยะเวลากว่าหนึ่งปี ในชั่วขณะที่เราไม่รู้ตัว ชีวิตของเราก็ดำเนินไปโดยที่โควิด-19 ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป

เรารู้จักโควิด-19 — ไม่มาก ก็น้อย

แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยรู้ หรือไม่มีโอกาสได้เห็น คือชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่เผชิญหน้ากับความปกติใหม่เดียวกัน ในฐานะผู้รักษาคนไข้ที่ติดเชื้อ – บุคลากรเหล่านี้คือผู้ที่ใกล้ชิดกับโรคที่เราขยาดและเฝ้ารอให้มันจบสิ้น

ยากที่จะจินตนาการว่า การรับบทต่อสู้ในแนวหน้าเป็นอย่างไร โรคระบาดพลิกชีวิตและโฉมหน้าการทำงานของแพทย์ไปขนาดไหน ความท้าทายในแต่ละวันคืออะไร

101 สนทนากับนายแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่รับหน้าที่รักษาคนไข้โรคโควิด-19 ว่าด้วยประสบการณ์ ความรู้สึก และชีวิตเบื้องหลังสมรภูมิโรคระบาด

มองทะลุชุด PPE เข้าไป ต่อไปนี้คือชีวิตของ ‘หมอโควิด’ คนหนึ่ง


-1-


ย้อนกลับไปช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 — ช่วงเวลาก่อนระยะห่างจะแทรกกลางสังคมมนุษย์โลก ก่อนที่เราจะรู้ซึ้งถึงพิษสงของ ‘โควิด-19’ – ในวันนั้นปรากฏการณ์โรคระบาดยังเป็นเพียงข่าวลือ นายแพทย์ผู้ไม่ขอเปิดเผยชื่อและโรงพยาบาลต้นสังกัดท่านนี้ติดตามข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศจีนอยู่เป็นระยะๆ โดยไม่ได้คาดคิดว่าการระบาดจะมาถึงไทยและแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ยิ่งติดตามสถานการณ์ในอู่ฮั่นมากเท่าไหร่ ข่าวสารที่ปรากฏสู่สายตาของเขา ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และภาพการทำงานอันหฤโหดของบุคลากรทางการแพทย์ในจีน ก็ได้สร้างความแปลกใจและประหวั่นพรั่นพรึงให้กับเขาไม่น้อย

“ช่วง ธ.ค. (พ.ศ. 2562) – ม.ค. (พ.ศ. 2563) ประเทศไทยยังเงียบๆ อยู่ ตอนนั้นแค่เริ่มกังวล แต่พอเริ่มมีข่าวว่าอู่ฮั่นปิดเมือง ผมก็เอะใจว่า เอ๊ะ ทำไมถึงขนาดปิดเมืองเลย ผ่านไปเป็นอาทิตย์ก็เริ่มเห็นว่าจำนวนคนติดเชื้อลามไปค่อนข้างเร็ว ภาพข่าวที่ออกมาก็ดูน่ากลัวมาก ราวกับการติดเชื้อแบบสมัยก่อน อย่างพวกเมอร์สหรือซาร์ส

“พอข่าวเกี่ยวกับโรคเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผอ.โรงพยาบาลของผมก็เริ่มวางแผนเตรียมตัว ผมจะมีกลุ่มแพทย์ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องนี้ คนในกลุ่มก็เริ่มเสนอชื่อผมให้เข้ามาทำงานเป็นทีมรักษาโควิด”

ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิดอาจหาอ่านได้รายวัน แต่หากเทียบกับวันที่นายแพทย์ได้รับมอบหมายให้ประจำการรักษาคนไข้โควิด-19 อาจเรียกได้ว่าคุณหมอท่านนี้ต้องทำงานกับ ‘ความไม่รู้’ หรือสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน เขาเล่าว่าวิธีการเตรียมความพร้อมของเขาแบ่งเป็นสองส่วน คือการศึกษาข้อมูลจากกรณีในต่างประเทศ และการเข้าเทรนกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดหลายต่อหลายคน

“ต้องค้นข้อมูลที่จีนทำสรุปออกมา เพราะทั่วโลกก็ตามจากจีนในช่วงแรก รวมถึงตามข้อมูลตอนที่เชื้อโรคเริ่มแพร่กระจายไปที่อิตาลีและสเปน ต้องคอยดูว่าหมอจากทางนู้นเขาสรุปอะไรมาให้บ้าง อีกส่วนหนึ่งคือศึกษาจากประสบการณ์ของอาจารย์แพทย์ท่านอื่นที่มาช่วยให้คำแนะนำ ทั้งเรื่องความรู้เกี่ยวกับโรคระบาด การป้องกันตัว ไปจนถึงการออกแบบตึกคนไข้ โจทย์คือหากโรงพยาบาลต้องรับเคสโควิดขึ้นมาแล้ว ทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นๆ ติดเชื้อ เพราะในโรงพยาบาลมีทั้งคนไข้ทั่วไป และเจ้าหน้าที่จำนวนมาก”

ไม่ทันมีเวลาให้เตรียมตัวจน ‘พร้อมที่สุด’ โควิดก็เดินทางมาถึงประเทศไทยจนได้ โดยมีผู้ติดเชื้อคนแรกในเดือนมกราคมปี 2020 และหลังจากนั้นการแพร่ระบาดก็ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่คุณหมอต้องเผชิญเมื่อมีคนไข้ถาโถมเข้ามาจำนวนมากคือการจัดสรรบุคลากร นอกจากการรักษาดูแลคนไข้ตามแผนกที่ตัวเองสังกัดแล้ว แพทย์และพยาบาลจากหลากแผนกต่างต้องแบ่งพลังงานมาประจำการรักษาคนไข้โรคโควิด-19 ด้วย

ในช่วงแรก หมอที่มาดูโควิดเป็นหลักก็ยังเป็นหมออายุรกรรม หมอเด็ก หมอหูคอจมูก เพราะถือว่าชำนาญเรื่องไข้หวัดกว่าแผนกอื่น แต่เนื่องจากบุคลากรมีไม่เยอะ ก็ต้องหารือกันด้วยว่า หมอสูติ หมอกระดูก หมอผ่าตัด ต้องมาตรวจไข้หวัดด้วยมั้ย คือพวกเขาก็ตรวจได้ แต่อาจเป็นงานแบบที่เขาไม่ชำนาญหรือไม่ค่อยได้ตรวจมานานแล้ว นอกจากนี้งานเหล่านี้ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นมาจากงานประจำที่ต้องทำ ทำให้ภาระงานเยอะขึ้น

“หมออายุรกรรมจะงานล้นมือมาก เพราะตรวจทั้งเคสไข้หวัด ARI (Acute Respiratory Infection: การตรวจคัดกรองโรคหวัด หรือโรคระบบทางเดินหายใจสำหรับผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือหายใจหอบเหนื่อย เพื่อช่วยแยกคนไข้กลุ่มเสี่ยงออกจากกลุ่มคนไข้ทั่วไป) กับเคสที่เป็นคนไข้ความเสี่ยงสูงเคส PUI (Patient Under Investigation : ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือผู้ป่วยที่มีประวัติสัมพันธ์กับพื้นที่ที่พบการระบาด ร่วมกับมีอาการ และประวัติเสี่ยง) ที่ต้องใส่ชุดป้องกันตัวเอง หรือชุด PPE เพื่อไปตรวจ เฉพาะแค่สองงานนี้ก็จัดตารางเวรกันไม่ทันแล้ว แต่โดยรวมชั่วโมงการทำงานก็ยังอยู่ที่ประมาณ 8-12 ชั่วโมง เต็มที่ จะไม่มีลากยาวข้ามเป็นวันๆ เพราะล้าเกินไปก็ไม่ไหว ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลง”

ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ต้องคำนึงในการจัดสรรบุคลากรคือ “หมอที่ตรวจคนไข้โควิดแล้วมาตรวจคนไข้ทั่วไป มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนไข้คนอื่นหรือไม่” โดยกรณีความเสี่ยงซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากคือ บุคลากรที่นอกจากจะดูคนไข้โควิดในโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องรับหน้าที่ดูแลในสถานที่กักตัวทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) ด้วย ในประเด็นดังกล่าวนายแพทย์ได้แสดงความเห็นไว้ว่า

“ถ้าปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ใส่ชุดและอุปกรณ์ครบ ถอดก็ถอดถูกวิธี เสร็จจากการปฏิบัติงานแล้วอาบน้ำให้เรียบร้อย อันนี้โอเค ถือว่าป้องกันตัวเองเรียบร้อย สามารถตรวจคนไข้คนอื่นๆ ได้ตามปกติ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าพอตรวจคนไข้โควิดปุ๊บก็ไม่สามารถมาตรวจคนไข้คนอื่นได้เลย ซึ่งจริงๆ ก็เป็นวิธีปฏิบัติของโรงพยาบาลต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อหมอที่ตรวจโควิดป้องกันตัวเองเรียบร้อย ก็สามารถไปตรวจคนไข้คนอื่นได้ โดยข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันตัวถือเป็นความรับผิดชอบ บุคลากรทางการแพทย์ต้องเซฟตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่นอีก”

“นอกจากใส่อุปกรณ์และชุดป้องกันแล้ว ตอนตรวจคนไข้ทั่วไปก็จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง แม้จะไม่ใช่คนไข้ที่เป็นไข้หวัด เพราะคนไข้ที่มาหาหมอเพราะปวดท้องหรือเป็นโรคอย่างอื่นมา จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นโควิดหรือเปล่า ก็ต้องระมัดระวัง”

เขาเล่าว่าเคยมีแพทย์ที่ต้องโดนกักตัวถึงหลายรอบเนื่องจากไปรักษาคนไข้ที่มาด้วยอาการอื่นๆ ไม่ได้มาด้วยโรคไข้หวัด แต่เป็นคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดโดยไม่รู้ตัว กรณีเช่นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน บุคลากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อต้องหยุดงานเป็นเวลา 10-14 วัน โดยต้องแยกตัวออกจากครอบครัวด้วย นอกจากนี้โรงพยาบาลก็จำเป็นต้องให้บุคลากรท่านอื่นมาทำงานแทน ทั้งนี้ หากเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางก็จะยิ่งหาคนมาทดแทนยาก

“หนักสุดๆ ที่เคยเจอคือตอนที่พยาบาลไอซียูต้องกักตัว ตอนนั้นต้องปิดไอซียูเลย แต่สืบสวนเรียบร้อยว่าคนไข้ในไอซียูทั้งหมดไม่มีคนติดเชื้อ เข้าใจว่าพยาบาลน่าจะไปติดจากที่อื่น เช่น ได้รับความเสี่ยงจากตอนที่กินข้าวร่วมกันแล้วไม่ได้ป้องกัน ไม่มีฉากกั้น และถอดแมสก์

“พยาบาลในแผนกไอซียูต้องหยุดไปกักตัวทีเดียว 8 คน ทีนี้ พอพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลคนไข้ที่ป่วยหนักหายไป ทำให้ต้องหมุนเวียนเอาพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไปมาฝึกใหม่ เช่น ฝึกให้ดูแลคนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจให้ได้ นอกจากนี้ก็ต้องปิดตึกทำความสะอาด และต้องกระจายคนไข้ไปอยู่ที่ตึกอื่น ต้องหาคนมาดูแลเพิ่ม เป็นตัวอย่างว่าถ้าบุคลากรได้รับความเสี่ยงขึ้นมาทีนึง ก็หนักเหมือนกัน”

เมื่อต้องรักษาคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด บุคลากรทางการแพทย์จำต้องอาศัยทั้งลูกล่อและลูกชนในการป้องกันการติดเชื้อ เสาะหาวิธีที่จะตรวจเช็คอาการของคนไข้โดยไม่ต้องเข้าใกล้กัน นายแพทย์ท่านนี้กล่าวว่าวิธีในการป้องกันการติดเชื้อระหว่างตรวจคนไข้มีอยู่สามทาง

หนึ่ง ถ้าต้องเข้าไปตรวจอย่างใกล้ชิดจริงๆ ก็ต้องใส่ชุดและอุปกรณ์ป้องกัน

สอง กรณีที่อาการของคนไข้ยังไม่รุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบหรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จะใช้อุปกรณ์สื่อสารเข้ามาช่วย โดยให้คนไข้ที่อยู่ในห้องใช้โทรศัพท์คุยกับแพทย์แทน

สาม กรณีคนไข้ปอดอักเสบที่ต้องดูแลใกล้ชิด จะใช้กล้องวงจรปิดที่สามารถตรวจจับสัญญาณชีพส่งไปให้พยาบาลที่เฝ้าอาการอยู่ข้างนอกคอยเช็กได้ พยาบาลจะเห็นว่าตอนนี้ออกซิเจนเป็นอย่างไร การเต้นหัวใจเป็นอย่างไร คนไข้อยู่ท่าไหน และหากมีสิ่งใดผิดปกติก็จะสามารถเข้าไปดูแลได้ทันที

“มีเคสหนึ่งที่ผู้ติดเชื้อเป็นแม่ลูกกัน แม่อายุเจ็ดสิบกว่ามีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่ถึงกับใส่ท่อช่วยหายใจ ก็ยังพูดคุยได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ เพียงแต่ออกซิเจนต่ำหน่อย เคสนี้เนื่องจากลูกก็ติดเชื้อและนอนรักษาในห้องเดียวกัน ลูกเลยช่วยดูแลแม่ให้อีกชั้น เพราะเขาติดเชื้ออยู่แล้วจึงสามารถอยู่ใกล้ชิดกันในห้องได้ ดูแลได้ดีไม่แพ้กับพยาบาล”

ตลอดเส้นทางประสบการณ์ในวงการแพทย์ นี่เป็นครั้งแรกที่นายแพทย์และบุคลากรจำนวนมากต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ชุด PPE’ การสวมใส่อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็น new normal ของคนในวงการแพทย์ที่ต้องฝึกฝนให้เคยชิน พยายามทำความคุ้นเคยกับขั้นตอนในการสวมใส่ กระทั่งกระบวนการถอดชุดก็ยังต้องระมัดระวังไม่ให้เชื้อโรคปนเปื้อนผ่านการสัมผัส

การเลือกอุปกรณ์หรือชุดที่สวมใส่ขึ้นอยู่กับว่าหัตถการที่ต้องไปดูแลคนไข้เป็นอย่างไร เข้มข้นขนาดไหน ในกรณีที่เป็นคนไข้ความเสี่ยงสูง หรือต้องทำหัตถการที่อาจกระตุ้นให้เกิดการไอ จาม เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจ บุคลากรจำเป็นต้องใส่ชุดคลุมที่คลุมทุกส่วนของร่างกายอย่างรัดกุม ปกปิดผิวหนังไปจนถึงดวงตาให้มิดชิด โดยชุด PPE จะประกอบไปด้วย ชุดคลุมปฏิบัติการที่คลุมทั้งแขนและขา ถุงมือที่มักจะใส่ถึงสองชั้น ถุงหุ้มรองเท้าหรือฮู้ดที่คลุมไปทั้งขา ใบหน้าก็ต้องสวมใส่หน้ากาก N95 แว่นตานิรภัย หรือบางครั้งก็ต้องใส่ face shield ปิดทับอีกทีหนึ่ง

เมื่อถามว่าความรู้สึกเมื่อสวมใส่ชุด PPE เป็นอย่างไร ร้อนหรือไม่ นายแพทย์ตอบทันควันว่า “ร้อน… แต่ว่ามันต้องทนน่ะ” พร้อมเสริมว่า ไม่มีบุคลากรคนไหนไม่ ‘บ่น’ แต่ทุกคนก็ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นสำคัญ นายแพทย์ยังเล่าอีกว่าจริงๆ บุคลากรที่ต้องอยู่ใกล้ชิดคนไข้ และต้องสวมใส่ชุด PPE บ่อยครั้งกว่าแพทย์คือพยาบาล

“คนที่เข้าไปดูเยอะกว่าจริงๆ ไม่ใช่หมอนะ แต่เป็นพยาบาล ถ้าคนไข้ไม่หนัก เป็นไข้หวัดธรรมดา หมอใช้โทรศัพท์เอา แต่พยาบาลต้องไปให้ยาเขา ไปวัดสัญญาณชีพ ไปวัดความดัน วัดออกซิเจน ก็ต้องเปลี่ยนชุด PPE เข้าไป ดังนั้นถ้าว่าด้วยภาระงาน คนที่หนักกว่าคือพยาบาล”

ในช่วงหนึ่งที่เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน นายแพทย์กล่าวว่าบุคลากรหลายๆ คนเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อจัดการตัวเองในยามจำเป็น ตั้งแต่การดัดแปลงชุด เช่น ใช้เสื้อกันฝนแทนชุดคลุมปฏิบัติการ และบางครั้งที่ไม่อาจรอการจัดสรรหรือช่วยเหลือได้ หลายโรงพยาบาลก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและจัดหาอุปกรณ์มาเองเพื่อให้รองรับคนไข้ได้

“เป็นหน้าที่ที่เลี่ยงไม่ได้ว่าต้องดูแลคนไข้ ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ บางครั้งโรงพยาบาลหรือโรงเรียนแพทย์ที่ได้รับบริจาคของมาเยอะเกินก็แจกจ่ายอุปกรณ์ไปให้โรงพยาบาลจังหวัดหรือตามภูมิภาคส่วนต่างๆ

“อย่างโรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่ก็ต้องทำหลายอย่าง เช่น ตึกคนไข้ต้องเปลี่ยนรูปแบบ ตรงไหนต้องทุบก็ทุบ หรือก่อใหม่ก็ก่อ อุปกรณ์บางอย่างก็หาซื้อเอง เช่น อุปกรณ์ผ่าตัด หมวกอัดอากาศ PAPR แคปซูลที่ใช้เคลื่อนย้ายคนไข้ ค่าใช้จ่ายพวกนี้โรงพยาบาลรับเองเต็มๆ แต่โรงพยาบาลของเราเชื่อว่าต้องเป็นที่พึ่งให้คนไข้ได้ อะไรขาดก็ต้องจัดหามา”


-2-


เมื่อโควิดระลอกแรกเริ่มทุเลา เมืองเริ่มกลับมามีลมหายใจอีกครั้งหลังการล็อกดาวน์ ไม่ทันไรการระบาดของโควิดระลอกใหม่ก็กลับมาสั่นสะเทือนความหวังของผู้คนในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา และนั่นหมายความว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องกลับมาตั้งรับสถานการณ์อีกครั้งด้วย นายแพทย์ท่านนี้สะท้อนว่าในการระบาดระลอกใหม่ บุคลากรต่างเคยชินกับระบบและมาตรการการป้องกันต่างๆ ทั้งยังมีประสบการณ์ในการระบาดระลอกแรกเป็นบทเรียนสำคัญ

“ในระลอกแรกเราเจอมาหลายรูปแบบมาก คนไข้ที่มาโรงพยาบาลก็ค่อนข้างเยอะ ทำให้เจ้าหน้าที่รู้แนวทางแล้วว่าต้องทำยังไงบ้าง พอมาระลอกใหม่ ก็เลยไม่ยาก ทุกคนยังปฏิบัติตามมาตรการเหมือนเดิม และจากที่เคยมีเหตุการณ์ที่บุคลากรโดนกักตัวมาแล้ว ทุกคนเลยเกิดการเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ” 

คงไม่แปลกนัก หากเหล่ามนุษย์ผู้ทำงานใกล้ชิดการระบาดมาเกือบปีจะเคยชินและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวน แต่ไม่ใช่กับประชาชนหรือคนไข้จำนวนมากที่ยังตกอยู่ในความหวาดระแวง ในโลกที่ข่าวสารข้อมูลไหลบ่าทั้งจริงและเท็จ นายแพทย์เล่าว่าแม้คนไข้บางคนจะปรับตัวได้ ใส่หน้ากากอนามัยมาโรงพยาบาล พกแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างเคร่งครัด แต่ก็มีคนไข้จำนวนหนึ่งที่กลัวการระบาดจนไม่มาโรงพยาบาล ยอมขาดยา หลายรายถึงกับอาการกำเริบและถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลอย่างฉุกเฉิน

ยิ่งไปกว่านั้น โควิด-19 ยังเป็นพิษกับเศรษฐกิจและปากท้องของคนไข้หลายราย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้คนไข้ออกห่างจากการรักษา ซึ่งนอกจากจะก่อความเสี่ยงทางสุขภาพแล้ว ยังทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนลดลง หลายโรงพยาบาลต้องจัดระบบการทำงานใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน บางโรงพยาบาลต้อง ‘ปิดวอร์ด’ ลดการขึ้นเวรของแพทย์และพยาบาล ส่งผลต่อรายได้ของบุคลากรทางการแพทย์อีกทอดหนึ่ง  

“โรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ คนไข้ลดลงไปเยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจ และอีกส่วนที่เลี่ยงไม่ได้เหมือนกันคือความกลัว หลายคนมองว่าโรงพยาบาลเป็นศูนย์รวมเชื้อโรค หรือบางทีอาจได้ข่าวว่าโรงพยาบาลรักษาคนไข้โควิดอยู่ ทำให้กลัวว่าหากมาแล้วจะติดเชื้อ แต่ผมอยากบอกว่าโรงพยาบาลปลอดภัยกว่าไปเดินห้างด้วยซ้ำ ยิ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีคนไข้โควิดรักษาอยู่ ยิ่งเข้มงวดกว่าเดิม เพราะคนทุกคนที่มาโรงพยาบาลใส่หน้ากากกันหมด ไปสถานที่อื่นบางทีคนยังไม่ใส่หน้ากาก หรือใส่ไม่ถูกต้อง ดึงหน้ากากลงมาจนจมูกโผล่”

ท่ามกลางประสบการณ์มากมายในการเป็นแพทย์รักษาโควิด ความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับนายแพทย์ท่านนี้คือการที่คนไข้ไม่ให้ความร่วมมือ เขาอธิบายว่า คนอยู่กับโควิดมาเป็นระยะเวลาหนึ่งจนพอจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการป้องกันตัวแล้ว แต่เรื่องที่น่ากังวลกว่าคือ “เรื่องที่รู้ แต่ไม่ทำ” เช่น เวลาที่เขาเดินออกจากโรงพยาบาลซึ่งมีการป้องกันอย่างเข้มงวด ไปเจอกับโลกภายนอกที่ผู้คนยังใกล้ชิดกันโดยไม่ใส่หน้ากาก

“ผมอยู่ข้างนอกโรงพยาบาลแล้วเห็นใครไม่ป้องกัน ก็พยายามเตือนเท่าที่เตือนได้ อย่างในหมู่บ้านที่ผมอยู่ จะมีตลาดนัด ถ้าเห็นพ่อค้าแม่ค้าไม่เคยใส่หน้ากากเลย ก็จะปฏิบัติเหมือนลูกบ้านทั่วไปคือไปแจ้งกับนิติว่า นี่ๆ มีคนยังไม่ใส่หน้ากาก ช่วยดูกันหน่อยนะ ในส่วนของโรงพยาบาลมันโอเคอยู่แล้ว ใครไม่ใส่เจ้าหน้าที่ก็ไปประกบเลย แต่ข้างนอกเนี่ย พูดยากเหมือนกัน บางคนบอกว่าใส่หน้ากากแล้วอึดอัด จะไปตลาดก็ไม่อยากใส่ ใครจะทำไม ถ้าไปบอกเขาบางทีก็ไม่พอใจอีก” 

อีกหนึ่งความท้าทายคือการปกปิดข้อมูล อาการ หรือประวัติความเสี่ยง และปัญหาการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลด้วยกันเอง นายแพทย์ยกตัวอย่างสถานการณ์ให้ฟังว่า

“เคยมีเคสหนึ่งที่คนไข้ไปบ่อน เขาไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยไม่แจ้งความเสี่ยง ก็พบว่าเป็นไข้หวัด ไม่ได้บอกว่าเป็นโควิด ทีนี้แม่ของคนไข้ท่านนี้มาตรวจที่โรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่ พบว่าติดโควิด แน่ใจว่าติดมาจากลูก เพราะแม่อยู่แต่บ้านอย่างเดียว สรุปว่าคนไข้ท่านนี้ก็เป็นโควิดจริงๆ กรณีแบบนี้ตามหลักแล้วต้องแจ้งไปที่โรงพยาบาลก่อนหน้าที่ตรวจไม่เจอด้วย

“ปกติแต่ละโรงพยาบาลจะมีบุคลากรที่ดูแลข้อมูลเรื่องการติดเชื้อ เวลาเจอว่ามีคนติดเชื้อ ก็ต้องบันทึกข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่คนไหนใกล้ชิดคนไข้บ้าง ใส่อุปกรณ์ป้องกันครบไหม ต้องกักตัวไหม และถ้าคนไข้ย้ายไปโรงพยาบาลอื่นก็ต้องแจ้งข่าวไปยังโรงพยาบาลนั้นๆ แต่บางครั้งก็มีปัญหา เช่น หมอคนหนึ่งตรวจคนไข้หลายโรงพยาบาล คนไข้ที่โรงพยาบาล A เป็นโควิด แต่ไม่แจ้งมาที่โรงพยาบาล B ที่หมอคนนี้ทำงานด้วย รู้อีกทีคือผ่านไปเป็นสัปดาห์แล้ว เรื่องพวกนี้เป็นความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมงาน ถ้าคนไข้ปกปิดก็เป็นผลเสียอยู่แล้ว แต่ถ้าโรงพยาบาลไม่ช่วยกัน ก็เป็นผลเสียอีกทอด”

นอกเหนือจากการไม่สื่อสารกันระหว่างโรงพยาบาล ยังมีสถานการณ์ที่ฉายให้เห็นความเอาตัวรอดของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งด้วย ดังที่นายแพทย์ได้สะท้อนว่าเมื่อคนไข้รู้ว่าโรงพยาบาลไหนรักษาโรคโควิด ก็จะไม่อยากไปรักษาที่โรงพยาบาลนั้น บางโรงพยาบาลจึงใช้จุดนี้เป็นจุดขายเพื่อให้ยังมีคนกล้ามารักษาที่โรงพยาบาล

“เคสที่เจอล่าสุดเป็นคนไข้มาจากอังกฤษ มากักตัวที่สถานกักตัวทางเลือก (ASQ) ปกติคนไข้ที่กักตัวตามโรงแรมต่างๆ จะต้องทำประกันโควิดก่อน โรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันก็ต้องรับมารักษา แต่คนไข้เล่าให้ฟังว่าติดต่อโรงพยาบาลหลายแห่งไป เขาไม่รับเลย ทั้งที่ไม่มีอาการเสี่ยง ไข้หวัดก็ไม่มี โดยที่ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้ให้เหตุผล ทำให้คนไข้ถูกจำกัดสถานที่ในการรักษา”

แม้โควิดจะกลายเป็นความปกติใหม่ไปแล้ว แต่เชื่อว่าทุกคนยังคิดถึงคืนวันที่เราได้ใช้ชีวิตกันแบบปกติเก่า ไม่ก็คงจินตนาการถึงวันที่มนุษย์เอาชนะโรคระบาดครั้งนี้ด้วยวัคซีนหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน หลายเสียงก็เสนอว่าในอนาคตเราอาจต้องเจอกับโรคใหม่ๆ พ้นจากโควิด-19 เพื่อพบกับความปกติใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อลองถามนายแพทย์ท่านนี้ว่าเขาคิดอย่างไรหากเราต้องอยู่กับโรคระบาดไปอีกหลายปี คำตอบของคุณหมอที่ใช้ชีวิตอยู่ในแนวหน้าของการรักษาโรคระบาดคือการย้ำว่า เราเรียนรู้อะไรจากปัจจุบันต่างหากที่สำคัญ

“อนาคต มันเป็นเรื่องของอนาคต เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสอนให้เรารู้จักป้องกันตัวมากขึ้นและมีประสบการณ์รับมือกับสิ่งที่เราไม่รู้ ในวันข้างหน้า อย่างน้อยๆ การใส่หน้ากากในโรงพยาบาลจะกลายเป็นเรื่องปกติที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ต่อให้โควิดหมดไป หรือบางทีเวลาไปแหล่งชุมชน คนก็อาจจะยังใส่หน้ากากกันเยอะด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเชื้อโรคใหม่ๆ ก็คงเกิดขึ้นมาตามรอบระยะเวลา เพราะในประวัติศาสตร์มันก็มีโผล่มาเรื่อยๆ เป็นระยะ หลายๆ ครั้งก็สร้างความปกติใหม่ที่เป็นชีวิตประจำวันของคนในยุคปัจจุบัน”

สำหรับนายแพทย์ท่านนี้ บทเรียนสำคัญที่เขาเรียนรู้จากโควิด-19 ไม่ต่างจากสิ่งที่โรคภัยอื่นๆ มอบบทเรียนให้ชีวิตคน นั่นคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคยังเป็นทางที่ดีที่สุดของสุขภาพ

“ป้องกันดีกว่าเป็นแล้วมาตามรักษา ใส่หน้ากาก ล้างมือ แค่นั้นก็กันได้เยอะมากแล้ว ดีกว่าเป็นแล้วก็มาเสี่ยง มาลุ้นเอาว่าปอดเราจะเป็นยังไง แล้วทำไมเราจะไม่ทำกันล่ะ (หัวเราะ)”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save