fbpx
ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

สิ่งที่เหมือน Vincent van Gogh มากๆ คือชีวิตจิตรกรคนนี้มีเพียงการเขียนรูป เขียนรูป และเขียนรูป

สิ่งที่เหมือน Vincent van Gogh มากกว่านั้นคือตั้งแต่เขาเขียนรูปมา เพิ่งขายงานได้เพียงชิ้นเดียว

หมายถึงระหว่างที่ยังมีลมหายใจ

อย่างที่รับรู้กัน ภายหลังภาพเขียนของจิตรกรดัตช์กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของโลก มูลค่าราคาต่อหนึ่งผลงานเป็นเงินร้อยล้านพันล้าน

สิ่งที่แตกต่าง Vincent van Gogh จากไปนานแล้ว แต่ ภัทรุตม์ สายะเสวี ในวัยเจ็ดสิบห้าปี ในวันเวลาที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน เขายังคงเขียนรูปอยู่

-1-

พ่อเขาเป็นคนกรุงเทพฯ รับราชการอยู่สำนักพระราชวัง แม่เป็นคนราชบุรี เป็นแม่บ้าน

“ชื่อนกกระปูด เพราะร้องเก่งเหลือเกิน” เขาบอกที่มาของชื่อเล่น

ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก โดยมีพ่อคอยสนับสนุน ซื้อตำรับตำรามาให้ฝึกหัด จบมัธยมฯ จากบ้านโป่ง แล้วสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป์

“วิชาเพ้นติ้ง ผมได้ท็อปมาตลอด ตอนเรียนช่างศิลป์ก็เคยสอบได้ที่หนึ่ง พอเข้าจิตรกรรม ศิลปากร ผมเป็นเด็กปีหนึ่งคนเดียวที่มีรูปได้ติดบอร์ด นอกนั้นเป็นพวกเรียนปีสามปีสี่ รุ่นพี่เทพศิริ สุขโสภา”

กระนั้น ภัทรุตม์ก็เรียนได้แค่สองปี และถูกเชิญออก

“ปีแรก ผมไม่สอบเลย ส่งใบลาป่วย เพราะไม่พร้อมที่จะสอบ ขี้เกียจสอบ ไม่อยากสอบ ชอบเรียนอย่างเดียว พอปีสอง ก็ต้องเรียนซ้ำทุกวิชา ตลกดี ต้องเรียนใหม่ วิชาที่เราท็อปก็ท็อปเหมือนเดิม (หัวเราะ) ช่วงกลางปี เขาเรียกตัวไปสอบวิชาอนาโตมี่ ปลายปีสอบอีก เจออาจารย์คนหนึ่ง ไม่อยากบอกชื่อ เขาใหญ่ที่สุดตอนนั้น เขาไม่ได้สอนวิชานี้ แต่เป็นคนมาสอบ ปากเปล่า ถามผมว่ากล้ามเนื้อนี้ชื่ออะไร ถามไม่นาน แล้วบอกผมว่ากลับได้แล้ว สองสามเดือนต่อมา ผมกลับไปคณะ ถามว่าปีนี้มีใครโดนรีไทร์มั้ย เขาบอกไม่มี อ้อ มีคนนึง ชื่อ ภัทรุตม์ (หัวเราะ) โดนจนได้

“ตอนหลังผมไปคุยกับคณบดี อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ขอเข้าเรียน โดยไม่เอาปริญญา เขาบอกไม่มีระเบียบนี้”

เหตุผลที่ไม่ชอบสอบ ?

“ความจำไม่ดี และไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องไปจำทำไม ชื่อกล้ามเนื้อ คือเราเขียนได้ เรารู้ แต่ไม่รู้ชื่อ อยากรู้ชื่อก็เปิดตำราเอาสิ มันไม่มีเหตุผล ระเบียบสมัยนั้นโบราณ ถ้าตอนนี้ก็คงไม่โดน”

ช่วงที่โดนให้ออกจากมหาวิทยาลัย เสียใจไหม ?

“ก็ไม่นะ แต่สงสารพ่อ และพอวันเปิดเทอม นึกในใจ กูไม่ได้เรียนแล้วเหรอ”

-2-

สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าเรียนศิลปากรรุ่นเดียวกัน แต่คนละคณะ

“ตอนปีหนึ่ง จำได้ สุจิตต์นั่งใต้ต้นจัน เอาหนังสือ ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ มาอวด เขาเปิดให้ดูว่าเรื่องนี้เขาเขียนๆ เออ มึงเก่ง ผมนึกในใจ (หัวเราะ) คุยแค่นั้น ในชีวิต โตมาไม่เคยเจอกัน คงจำไม่ได้ ทั้งที่บ้านไม่ไกลกัน โรงอาหาร ผมก็ไม่ค่อยไป อายๆ ไม่คุ้น แปลกหน้า ชอบออกไปกินข้างนอก

“เพื่อนที่สนิทๆ กัน ชอบอ่านหนังสือหมด ใครมีอะไร แลกกันอ่าน ผมมีมากกว่าเพื่อน เพราะพ่อเป็นนักเก็บหนังสือ บางทีดูหนังแล้วมาวิจารณ์กัน เลิกเรียน ใครมีคำคม ประโยคเด็ด มาคุยกัน สี่ห้าคน”

ตั้งแต่เรียนศิลปากร เฟื้อ หริพิทักษ์ คือฮีโร่คนเดียว ฮีโร่ตลอดกาล

“ตอนผมเข้าจิตรกรรม แกยังสอนอยู่ แต่ไม่ได้สอนผม ตอนหลังเกษียณแล้วไปสอนช่างศิลป เพราะมหาลัยไม่จ้าง ผมชอบสีในงานอาจารย์เฟื้อ ยอมรับว่าแกเป็นศิลปินใหญ่ของเมืองไทย”

-3-

ฝันของ ภัทรุตม์ สายะเสวี คือการเป็นครูบ้านนอก

สอนหนังสือ และหาเวลาว่าง เขียนรูปไปด้วย

แต่พ่ออยากให้เรียนมหาวิทยาลัย

“บรรยากาศทางศิลปะตอนนั้นไม่คึกคัก ไม่มีใครอยากเป็นศิลปิน คืออาจมีบ้าง แต่ทุกคนก็รู้ว่ามันอยู่ยาก ผมอยากเป็นครูบ้านนอก อยากไปอยู่กับชาวเขา ชอบป่าเขามากกว่ากรุงเทพฯ มีวันหนึ่ง เดินอยู่กับแม่ที่ราชบุรี ข้างแม่น้ำแม่กลอง ผมมองไปบนฝั่งเห็นกระต๊อบเล็กๆ ของชาวบ้าน นึกในใจว่า กูมีแค่นี้ก็พอแล้ว (หัวเราะ) คิดแค่นั้น มีแค่นี้ก็พอ คงดี ถ้าได้อยู่บ้านเล็กๆ บนภูเขา”

ฝันไม่เป็นจริง

เขาใช้วุฒิช่างศิลป์ เข้ารับราชการ กรมศิลปากร

“หน้าที่หลักคืออนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง คืองานพวกนี้มันมีอายุของมัน สีเสื่อม ปูนเสื่อม ผนังเสื่อม เราอนุรักษ์ได้หมดทุกอย่าง ตั้งแต่ผนัง ปูน เรื่องการฉาบ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ เขาจะทำเป็นคลื่น ไม่ฉาบเรียบ กรมศิลปากรมาทุบออก แล้วฉาบใหม่ ผนังข้างนอกนะ ส่วนที่ไม่มีจิตรกรรม ซึ่งมันผิด ทำลายของเดิม บานประตูไม้ ของเดิมเขาใช้ถาก นี่มาใช้กบไฟฟ้าไส”

คัดค้านได้ไหม ?

“เรามันข้าราชการตัวน้อย แต่มีโอกาสก็พูดบ้าง พอไม่มีผมอยู่ เขาก็ทำต่อ ..มีวัดหนึ่งที่หางดง ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ช่างเขียนผนังด้านนอกเป็นลายเพื่อพรางตา เครื่องบินญี่ปุ่นมา จะได้ไม่เห็น กรมศิลปฯ ไปทุบทิ้งหมด เพราะไม่ทราบเจตนาเขา ลายก็หมดไป ผนังหมดไป ทั้งที่เก็บรักษาได้

“ออกมาแล้วก็ไม่อยากไปแตะ ไม่อยากยุ่งเกี่ยว แต่ลึกๆ ใจยังห่วงพวกโบราณสถาน คนอื่นเขาเฉย ที่วัดหนองบัว ก็เริ่มทำปู้ยี่ปู้ยำ ไม่รู้อีกหน่อยจะกลายเป็นวัดก๋งไหม พูดมากไม่ได้ อันตราย ศาสตราจารย์เพื่อนผมยังมาถ่ายรูป (หัวเราะ) วัดบ้า ไอ้เวร มันน่าขยะแขยง น่าจะรู้สึกแบบนั้นมากกว่า”

โดยรวมๆ ถือว่าแฮปปี้ไหม กับชีวิตข้าราชการ ?

“ช่วงทำก็สนุก แต่พอออกมาแล้วรู้ตัวว่าตัวเองเขียนรูปไม่ได้ กลายเป็นเราเสียเวลาไป 37 ปี ถ้ารู้แบบนี้คงไม่เลือกรับราชการ แต่มันไม่รู้ เราก็ไปทุ่มเทตรงนั้น ซึ่งคนละอย่างกับเขียนรูปน่ะ ประโยชน์มันก็มี ไม่ใช่ว่างเปล่า ช่วงทำงานแฮปปี้ดี ได้ไปอิตาลี ออสเตรีย ญี่ปุ่น”

ไปทำอะไร ?

“อนุรักษ์จิตรกรรม ที่วาติกัน รูปเล็กๆ เขียนบนปูน วิหารนั้นโดนทำลาย ผมไปซ่อม ล้างหัวเสาหินอ่อน ที่โดนเผากลางกรุงโรม และทางเหนือของอิตาลี

“ที่ลาว ไปหลวงพระบาง ผมเป็นหัวหน้าทีม ทำงานด้วย ฝึกอบรมให้ข้าราชการของเขาด้วย

“อยู่อิตาลีสามเดือน ออสเตรียเดือนหนึ่ง ของฝรั่งงานเขาเขียนปูนเปียก สีซึมเข้าผนังปูน ทนทาน ของเราเขียนบนผนังปูน รองพื้นด้วยปูนขาว นานๆ ไป สีมันจะหลุด ชั้นสีจะไม่ติดกับรองพื้น และชั้นรองพื้นจะหลุดออกมาจากผนัง งานอนุรักษ์ยากกว่ากันเยอะ ไทยยากกว่า ที่อิตาลีแทบจะเอาสกอตไบท์ขัดเลย การดูแลรักษาไม่ยาก

“ระหว่างอยู่ยุโรป มีเวลา ผมออกไปดูงานศิลปะร่วมสมัยตลอด คนเขาสนใจเยอะ ไปหลายที่ และทุกที่เขาพาเด็กตัวเล็กๆ ไปดู ของเราไม่มีเลย หอศิลป์ร่วมสมัยยังแทบไม่มี ที่แสดงงานถาวรเรียกว่าไม่มี มหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งมาเกือบร้อยปียังไม่มีหอศิลป์ของตัวเองเลย มีหอศิลป์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็เป็นแค่ห้องทำงานเล็กๆ ขนาดสองห้องนี่ แค่นั้น มันไม่ใช่ ไม่สมกับเป็นสถาบันที่สอนศิลปะมานาน น่าจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์กว่านี้”

ในฐานะคนทำงานอาชีพนี้ ไปเห็นบ้านเขาเมืองเขาแล้วน้อยเนื้อต่ำใจไหม ?

“น้อยใจ แต่ไม่อยากเลิก ถือเป็นหน้าที่ อย่างทุกวันนี้งานศิลปะมันเป็นการรักษาโรคประจำตัวของผมด้วย โรคเครียด พอเครียด นอนไม่หลับ ไม่มีหนังสืออ่าน ทีวีไม่มีอะไรน่าสนใจดู ผมเขียนรูป”

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

-4-

รับราชการยาวนาน 37 ปี เหลืออีกแค่ปีเดียวจะเกษียณ ภัทรุตม์ตัดสินใจลาออก

รอไม่ไหว อีกวันเดียวก็รอไม่ไหว

“อยากเขียนรูปจะแย่ เพราะเป็นความตั้งใจเดิม ตั้งแต่เริ่มเรียนศิลปะ ผมเขียนรูปตลอด แต่เพื่อครอบครัว จำเป็นต้องรับราชการ และถ้าไม่รับราชการ ก็คงไม่ได้เมียคนนี้ (หัวเราะ)”

ปี 2519 ภัทรุตม์มาทำงานที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และสิบปีถัดมา กลับมาน่านอีกครั้ง รอบนี้ไปวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา

เขาพบรักที่วัดหนองบัว และทุกวันนี้ครองรักครองเรือนอยู่กับภรรยาที่อำเภอท่าวังผา

การหยุดไปทำงานอื่นเป็นเวลาเกือบสี่สิบปี พอกลับมานั่งหน้าเฟรม เขียนได้ทันทีเลยไหม ?

“เหมือนตกนรก เขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็น เพราะทิ้งหมดเลย ตอนทำงาน ใจผมอยู่กับงานอย่างเดียว ไม่ยอมเขียนรูป เพราะนึกว่าเกษียณแล้วจะพัฒนาต่อจากเดิมไปได้เลย ปรากฏว่าไม่ใช่ ร่างกายชรา มือสั่น ความจำ ความคิด หมด ยิ่งกว่าเริ่มต้นใหม่ ทำอะไรไม่ได้ดังใจ เครียด โรคซึมเศร้าก็เข้ามา เริ่มฝันร้าย

“ตอนทำงานอนุรักษ์ ผมอยากเขียนรูป แต่ถ้าจะเลือกเขียนตอนนั้น ผมต้องออกจากงาน เพราะแบ่งใจไม่ได้ แบ่งใจเป็นสอง เหมือนมีเมียสองคน ทำไม่ได้”

ในเมื่อมันยากลำบากเหมือนตกนรก อยากเขียนรูปก็ทำไม่ได้ ทำไมถึงสู้ ทำไมไม่เลิก เกษียณพอแล้ว ใช้ชีวิตผ่อนคลาย ?

“ตั้งใจจะเขียน รูปผมต้องเขียน ต้องอยู่กับมัน ผมเคยเป็นคนเก่ง ถึงโดนไล่ออกจากศิลปากรก็ไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะยังไม่เจ็บปวดจากการเขียนรูปไม่ได้ นึกว่ามันอยู่ในกำมือเรา การเขียน เขียนเมื่อไรก็ได้ ผมไม่คิดเลยว่าจะเป็นแบบนี้ เลยเจ็บปวดมาก แต่ก็ตื๊อ ต้องไปอีก ไปต่อได้อีกเยอะ”

คล้ายๆ กับคำว่าเคยเก่งมันค้ำคออยู่ ทำให้เชื่อมั่นในตัวเอง ?

“ครับ ก็ต้องอย่างนั้น คนเขียนรูปนี่ ความเชื่อมั่นนี่เป็นสิ่งแรกเลยที่ต้องมี ถ้าไม่เชื่อมั่นก็ล้มเหลว”

กลับมาเขียนอีกครั้ง ต้องนั่งหน้าเฟรมที่ว่างเปล่านานเท่าไร กว่าจะเขียนได้ ฉีกทิ้งไปบ้างไหม ?

“ผมเขียนทับ ไม่ทิ้ง อุปกรณ์เขียนรูปมันแพง (หัวเราะ) ทุกวันนี้ยังไม่ถึงจุดพอใจ แค่พอใจระดับหนึ่ง ไม่งั้นไม่กล้ามาแสดง พอใจ แต่ยังโลภมาก อยากถูกรางวัลที่หนึ่ง คืออยากเขียนให้ดีกว่านี้ ต้องเขียนให้ดีกว่านี้ มันไม่หยุดแค่นี้หรอก

“งานศิลปะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เหมือนวิทยาศาสตร์ มันต้องเจริญขึ้น ย่ำอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลัง ฝีมือไม่พัฒนา มันก็แย่ ศิลปะสมัยใหม่ใช้วิธีการและเทคนิคเยอะแยะ ปัญหาคือเรามีปัญญาไหม เรามีจินตนาการไหม ที่จะทำออกมา ฝีมือเป็นตัวช่วย ไม่งั้นเลโอนาร์โดเขียนโมนาลิซ่าไม่ประทับใจคนทั้งโลก ถ้าฝีมือเขาด้อยกว่านี้อีกนิด จะไม่ดังเท่านี้

“เรามีใจ ใจเรามีอยู่แล้ว ความคิดก็คิดว่ามี ก็ต้องพัฒนาต่อไป หาประสบการณ์ ช่วงที่ผมทำราชการ ไม่เขียนรูป แต่มีงานแสดงศิลปะที่ไหนผมก็ไปดูตลอด สะสม หาเพิ่ม ให้เต็มใจ เต็มสมอง”

-5-

passion เหลือเฟือ มานะอุตสาหะเหมือนม้าหนุ่ม แข็งแรงทรงพลัง

แท้จริงร่างกายของเขาแทบจะเป็นเมืองหลวงของโรคภัย

“ที่รักษาอยู่ก็มีอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า พาร์กินสัน แคลเซียมน้อย ต้องกินแคลเซียมเสริมทุกวัน และโรคอะไรอีก ผิวหนัง มีสะเก็ดที่หัว บางอย่างนี่ดีขึ้นเยอะ หน้าชา ปวดหัว ไม่ทราบว่าเป็นอะไร หมอไม่บอก โรคไอกรน เวลานอนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่งั้นเดี๋ยวหลับไปเลย ใส่มาห้าหกปีแล้ว

“สองสามเดือน ไปกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง เพื่อหาหมอ บางครั้งหกเจ็ดหมอ ในโรงพยาบาลเดียวกันนั่นแหละ หมอบางคนนัดทุกหกเดือน บางคนนัดทุกสามเดือน”

อาการป่วย มีผลกับงานเขียนรูปหรือเปล่า ?

“มือสั่น เขียนบางอย่างนิ่งๆ ไม่ได้ ประคองมือ สมาธิสั้นด้วย เขียนหน่อยเดียว ต้องพัก เป็นปัญหา หมอบางคนให้ฝึกสมาธิ ผมฝึกไม่ได้หรอก ใจฟุ้งซ่าน

“เลือกเขียนสีอะครีลิก เพราะป่วย ผมเคยเก่งสีน้ำ อะครีลิกไม่เคยเขียน เพิ่งมาหัด สีน้ำต้องใช้สมาธิมากและมือต้องนิ่ง ความคิดต้องฉับพลัน เหมือนเซ็น แต่สภาพของผมตอนนี้ยังทำไม่ได้ แต่คิดว่าจะต้องทำได้ เตรียมเครื่องมือไว้หมดแล้ว เตรียมไว้นานแล้ว จนสีแห้งสองสามครั้งแล้ว ก็ซื้อมาใหม่”

เวลาเจอทางตัน เครียด ทุกข์ของศิลปินรุนแรงไหม ทุกข์แล้วมีวิธีแก้อย่างไร ?

“ก็ทุกข์ไป ไม่รู้จะแก้ยังไง หมอบอกให้ยาแรงแล้ว ให้แรงกว่านี้ไม่ได้”

ทุกข์ที่สุดคือทิ้งไปนาน ทิ้งสิ่งที่รัก ทิ้งการเขียนรูปที่พอกลับมาทำใหม่แล้วทำไม่ได้

“ช้ำใจ มันไม่เหมือนที่คิด ไม่นึกว่าจะเป็นแบบนี้ ตัดสินใจผิดที่ปล่อยเวลาไป 37 ปี นึกว่าจะทำงานได้ มันไม่ได้ ต้องกลับชาติมาเกิดใหม่ ยังฝันร้าย ตอนเป็นข้าราชการไม่ฝันเรื่องการทำงาน ตอนนี้ฝันทุกวัน เหมือนมันตามมาหลอกหลอน ตอนนี้ก็ยังฝันอยู่”

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

คิดว่าฝีมือการเขียนรูปกลับมาเป็นคนเดิมหรือยัง คนหนุ่มที่เคยเก่ง ?

“ไม่กลับ กลับไม่ได้ มันคนละคนไปแล้ว ทุกวันนี้คนละคน ตอนนั้นเราเป็นเด็กวัยรุ่น ตอนนี้เราแก่ มันจะเป็นคนเดียวกันได้ยังไง เหมือนหำเคยแข็งก็ไม่แข็ง แบบนั้นน่ะ ไม่นึกว่าจะเป็นแบบนี้ หมดไปเลย ไม่น่าเป็นไปได้ มันเหมือนเกลี้ยงกระเป๋า หมดเลย คือพอมีพื้น แต่ฝึกใหม่ ต้องหาวิธีใหม่”

เจอหรือยัง วิธีใหม่ๆ ที่ว่า ?

“เหมือนคนหลงทาง เปะปะไปเรื่อย เจอ อันนี้กินได้ กิน วันหนึ่งเบื่อ ไม่อร่อย ก็เดินไปหาของใหม่ แบบนี้จะไม่ตัน ข้อดีคือไม่ตัน มีทางเดินไปได้เรื่อยๆ ยังโชคดี”

ไม่กดดันตัวเอง ?

“กดดัน ถึงได้เครียดไงละ (หัวเราะ) โอย เขียนไม่ได้ เครียด ถ้าเขียนได้ก็สบายใจ”

-6-

แลกเปลี่ยนให้เขาฟังว่า มีคนหนุ่มสาวมากมาย ร่างกายแข็งแรงมาก แต่จิตใจห่อเหี่ยว หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต

ขณะที่เขาเป็นคนชราที่ป่วยไข้ ทำไมมั่นคง เอาจริงเอาจังกับงาน บริโภคอะไร เอาเรี่ยวแรงพลังมาจากไหน ?

เขามองภาพเขียนที่เรียงรายรอบบ้าน และตอบสั้นๆ ง่ายๆ

“เป็นความตั้งใจแน่วแน่อยู่แล้วว่าต้องเขียนรูป เราชอบศิลปะ ใจมันให้เขาหมดแล้ว จะเปลี่ยนใจยังไงล่ะ เหมือนเป็นทาส ต้องทำไป แก้เครียดด้วย แต่ถ้าเขียนไม่ได้ก็ยิ่งเครียดหนัก ถ้าเขียนได้ มันสุขเหลือเกิน

“บางรูปผมไม่ขายด้วยนะ อยากเก็บไว้ มันชอบใจ มีอยู่หลายรูป บางทีถือไปแสดงและไม่มีคนสนใจ ไม่มีคนซื้อ แง่หนึ่งก็รู้สึกโล่งใจ ไม่ไป ยังอยู่กับเรา ถ้าขายไม่ได้ ก็ดี”

-7-

สัจจะคือตั้งแต่แสดงงานต่อเนื่องมาราวๆ สิบปี ภัทรุตม์ขายภาพเขียนได้ชิ้นเดียว

ขายไปเมื่อ 12-13 ปีก่อน

“เกือบๆ ขายได้ เมื่อสามสี่วันก่อน” เขาหัวเราะ ก่อนเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนำภาพเขียนชุดล่าสุดไปติดตั้ง เพื่อแสดงที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ในอำเภอเมืองน่าน มีคนสนใจ แต่สุดท้ายก็ไม่ควัก

เสียใจไหม ?

“ลึกๆ แล้วคือทุน เราต้องการทุน มันเปลืองตังค์เหมือนกัน เวลาไปซื้อพวกสี ถ้าไปกับลูก ลูกออกให้หมด แต่ส่วนใหญ่ผมออกเอง หมายถึงกินเลือดตัวเอง”

รู้สึกว่าเป็นความล้มเหลวของชีวิตไหม ที่ขายไม่ได้ ?

“ไม่ๆ ไม่ล้มเหลว ถ้าเขียนไม่ได้สิล้มเหลว ขายไม่ได้ เฉยๆ นี่ไม่ใช่รางวัลของเรา”

รางวัลของเราคือ ?

“เขียนให้ถูกใจ ได้ดังใจ จะขายได้ ขายไม่ได้ มันพ้นตัวเราไปแล้ว

ไม่ได้หาวิธีขาย ?

“คิดบ้าง แต่ไม่ถึงกับกระตือรือร้น ขายได้ก็ดี รูปพร่องไปหน่อย ไม่รกบ้านมาก (หัวเราะ) ตอนนี้มันชักเยอะ ก็เริ่มรก คิดในแง่นั้น”

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

-8-

งานส่วนใหญ่ของภัทรุตม์เป็น abstract, landscape และอีกส่วนเป็น portrait

มีวงเล็บว่า portrait ของเด็กๆ

“ชอบเด็ก” เขาเปิดเผย “อยากมีหลาน แต่แก่ป่านนี้ยังไม่มีหลานสักคน (หัวเราะ) เห็นเด็กข้างถนน ใจมันเต้นเลย เหมือนจะคลั่ง บางทีโดนพ่อแม่เด็กเขาด่า เคยโดนมาแล้ว ก็ช่วยไม่ได้

“น้องๆ เตือน อย่าไปจับตัวเด็กส่งเดช พ่อแม่บางคนหวง เคยโดนด่า แต่ไม่เข็ดหรอก ความรู้สึกนี้แรง บางทีสะดุ้ง เห็นเด็กถูกใจ แน่นอก เต็มตื้นขึ้นมา เป็นอะไรไม่รู้”

เขาพกกล้อง เจอภาพสวยถูกใจ ถ่ายเก็บมาเขียน บางรูป ลูกชายลูกสาวถ่ายส่งมาให้

“หลักๆ เขียนจากรูปถ่าย นึกเอาเองไม่ได้”

ทำไมหน้าเด็กไม่ค่อยยิ้มเลย ?

“ตอนถ่ายเขาหน้าแบบนี้ เขียนไปตามสภาพ ไม่ยิ้มก็ช่างเขา ผมชอบเขียนเด็กกับคนแก่ สาวๆ ไม่กล้าเขียน ไม่กล้าถ่ายรูปเขา (หัวเราะ) ไม่มีคนถ่ายมาให้ เด็กมีความบริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติ ไร้เดียงสา สาวๆ มันอาจจะสวยเกินไปมั้ง ผมชอบนะสาวๆ ชอบสะสมความงาม ผมมีหน้าที่สร้างสรรค์ความงาม ผมสะสมความงามไว้ แต่บางทีถ้าจะไปจ้องมาก เขาก็อาจจะด่าเอา (หัวเราะ) วางตัวลำบาก เพื่อนๆ ชอบเตือนว่า มึงไปจ้องอะไรเขามาก”

โทนสีหวานๆ เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของภัทรุตม์

ถามเขาว่า โลกมีฝุ่นควัน มีสิ่งสกปรกโสโครกมากมาย สายตาเขามองหา มองเห็นความงามจากไหน ?

“บางคนว่าคงด้วยประสบการณ์ ด้วยจิตใจ เออ อาจจะใช่ ต้องฝึกฝนจิตใจ ผมเขียนแบบนี้มานาน คิดว่าเมื่อก่อน ตอนเรียนเขียนสวยกว่านี้ คงเป็นการสะสมด้วย ดูจากธรรมชาติ ดูดอกไม้ ต้นไม้ ผมรักดอกไม้ เห็นก็จำมา สีมันมีอยู่ทุกที่ สีไม่สวย เราก็ไม่เอาสิ”

บ้านของเขาแวดล้อมด้วยต้นไม้ วันที่เราเจอกัน ดอกสร้อยสายเพชรกำลังบานสะพรั่งอยู่หน้าประตูเข้าบ้าน

“ไม่รู้.. ผมก็ว่าธรรมดา เราอยากใส่สีอะไร ก็ใส่ตามใจเรา แค่นั้น ไม่ตั้งใจให้มันหวาน ธรรมชาติดอกไม้ ธรรมชาติเด็ก มันน่าดูอยู่แล้ว”

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

-9-

เวลาเขียนรูป เขามักเปิดเพลงคลอ

พวกเพลงคลาสสิก ไล่เลยมาถึงเพลงลูกทุ่ง หมอลำ อำตัวเองขำๆ ว่าเวลาเขียนรูปได้ดี ก็ไม่ได้ยินอะไรทั้งนั้น

“เคยมีครั้งหนึ่ง เขาให้ทุนไปอบรมที่อิตาลี ช่วงนั้นมีงานที่โคราช ผมคิดว่าถ้าไปอิตาลีก็เสียโอกาสดูหมอลำ ผมเลือกหมอลำ (หัวเราะ) เป็นการเลือกที่บัดซบ การไปอบรมทำให้เรากลับมาทำงานได้ดีขึ้น แต่เราทิ้งโอกาส เราสละโอกาสที่จะทำงาน หน้าที่ของเราให้ดี เราสละไปได้ยังไง

“อีกครั้ง เขาจะให้ไปอินเดีย ตอนนั้นผมทำอยู่วัดภูมินทร์ ที่น่านนี่แหละ เราไปช้า เขาเลยเอาตั๋วกลับคืน ก็ไม่ได้ไป อีกปีต่อมา มีทุนอีก หัวหน้าจะให้ผมไปใหม่ ผมคิดว่าตัวเองทำทุนเสียไปแล้ว ไม่ควรจะรับทุนอีก ก็ให้ลูกน้องไป”

พูดถึงวัดภูมินทร์ เขาบอกว่าสีฟ้าและสีชมพูคือความโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ ภาพเขียนของเขาก็ได้รับอิทธิพลมาไม่น้อย

ตอนนั้นภาพกระซิบรักฯ เป็นที่รู้จักแพร่หลายหรือยัง ?

“ดังแล้ว เคยใช้เป็นภาพพิมพ์ในธนบัตรสมัย ร.8 เพิ่งมาเห่อกัน ถ้าพูดไป มันก็รูปธรรมดานั่นแหละ (หัวเราะ) แต่ก็สวย ต้องยอมรับ สีของจิตรกรรมวัดภูมินทร์สวยคลาสสิก”

เคยเขียนล้อภาพกระซิบรักหรือเปล่า ?

“ผมดัดแปลง สลับข้าง คิดว่าเขียนสวยกว่าเขาด้วย (หัวเราะ) ภาพนี้คนเป็นช่างมักอดเขียนตามไม่ได้ มันลงตัว ในวัดภูมินทร์ยังมีหลายรูปเล็กๆ น่าสนใจ ภาพเขียนมีลักษณะของหญิงสาวชาวเหนือที่ค่อนข้างเจ้าชู้ รูปทำนองอีโรติก หรือจีบกัน มีทั่วประเทศ ทั่วโลก ที่กรุงเทพฯ ก็โจ๋งครึ่มเลย ที่โคราชเหมือนกัน เป็นความสนุกของช่างโบราณ คนดูก็ชอบใจ เหมือนเพลงลำตัด แต่ลำตัดมีจังหวะ รอให้ดึกหน่อย ให้เด็กๆ ไปนอน เหลือแต่คนแก่เฮฮากัน (หัวเราะ)”

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

-10-

ณ วัย 75 ปี เขาเขียนรูป อยู่บ้านที่ท่าวังผา กับภรรยา และแมวตัวหนึ่ง

“พ่อแม่ตายหมดแล้ว แล้วผมไม่ได้เผา ผมคนเดียวที่ไม่ได้เผา อ้างว่ากลับมาเฝ้าบ้าน วัดอยู่ใกล้บ้าน ผมไม่ไป ไม่จำเป็น คนอื่นคิดยังไงไม่รู้ อาจคิดว่าลูกคนนี้อกตัญญู

“ผมไม่ชอบพิธีกรรม แต่ชาวบ้านทำ บางทีก็ชอบ แต่ถ้าจำเจแล้วไม่ชอบ ใหม่ๆ มาอยู่ที่นี่ตื่นเต้น เขาทำขวัญ ก็ไป เดี๋ยวนี้ไม่ไปแล้ว ไอ้ห่า ไปโรงพยาบาลหน่อยเดียวกลับมาก็ต้องทำขวัญ กูละกลุ้ม (หัวเราะ) หกล้มหน่อยก็ทำขวัญ มันไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ) ไม่ไป เมื่อก่อนกินเหล้าอยู่ก็ไปบ้าง ตอนนี้ไม่กิน ไม่รู้จะไปทำไม”

ไม่ค่อยได้คุยกับอาร์ติสต์คนอื่น ?

“ไม่ได้คุย เหงา ห่างด้วย ต่างคนมีอาชีพของเขา เขาเลือกวิถีเขา เคยมีเพื่อนเป็นศาสตราจารย์มาที่ท่าวังผา มาราชการ พอเจอกัน กินข้าวกัน เราถามเขาว่า มึงจะไปดูรูปบ้านกูมั้ย มันบอกไม่ไป ไปที่อื่น (หัวเราะ) แกล้งหรือเปล่าไม่รู้”

ในฐานะข้าราชการบำนาญ ภัทรุตม์มีรายได้เดือนละหมื่นเจ็ด

ปากกัดตีนถีบพอสมควร กับการต้องไปพบแพทย์ตามนัด ภาษีสังคม และค่าผ่อนรถเก๋งเล็กๆ อีกคันหนึ่งที่เพิ่งตัดสินใจซื้อเมื่อสองปีที่แล้ว

“ผมเคยแอนตี้รถ ไม่มีมาทั้งชีวิต พออายุปูนนี้ จะซ้อนมอไซค์ตากแดดตากลม ก็ไม่ไหว เสียดายปล่อยโอกาส ไม่ฝึกหัดขับ นานมาแล้ว เคยจะไปเรียนกับ ส.สะพานมอญ เขาถามอายุเท่าไร เราบอกว่าห้าสิบกว่า เขาบอกต้องจ่ายหกพัน ธรรมดาสี่พัน คนแก่แพงหน่อย (หัวเราะ) มันเป็นยาก รถ มันต้องขับให้เป็น จำเป็นมาก แหม ตอนอยากได้ เงินมาขาดมือพอดี ยังต้องผ่อนอีกห้าปี”

ตลอดเวลาที่พูดคุยกับเขา ก็พบว่าเฮฮาดี แต่ภัทรุตม์บอกว่าเขาเป็นคนเครียด มองโลกแง่ร้าย คิดฆ่าตัวตายแทบทุกวัน

“บางคนเครียด มาเขียนรูปเพื่อผ่อนคลาย จริงๆ ผมก็ผ่อนคลาย ถ้าเขียนได้ นอนไม่หลับ บางทีลุกมาเขียน ถ้าเขียนได้ก็โชคดี เขียนได้ก็อิ่มเอิบ มีความสุข ก่อนจะหลับ หลับสบาย พรุ่งนี้เช้าก็สู้กันใหม่ ว่าจะทำต่อได้หรือเปล่า ถ้าเห็นหนทางไป มีทาง ก็ดี แต่บางทีตื่นเช้ามาทำ เจอทางตัน ก็ทุกข์อีก (หัวเราะ) มันไม่แน่ แต่ต้องทำ

“ช่วงเครียดมากๆ จะพยายามรดน้ำต้นไม้ รดใหม่ๆ เหมือนป้อนข้าวลูก อ้ำๆ เห็นเขากินเรามีความสุข พอนานเข้า ใจไม่อยู่กับการรดน้ำต้นไม้ ฟุ้งซ่าน คิดถึงนั่นนี่ กลายเป็นเครียดไป แต่ก่อนผมรดต้นไม้วันละห้าชั่วโมง เช้า เย็น อย่างละสองชั่วโมงกว่า ตอนนี้เหลือวันละสองชั่วโมง

“เมื่อย ปวดหลัง ปวดไหล่ ฟุ้งซ่าน ไอ้ห่านี่ทำไมไม่โตซะที ไม่ออกดอก (หัวเราะ) ถ้าออกดอก ก็ดูเพลิน อยากให้มันใหญ่ ผมชอบต้นไม้ใหญ่”

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

ความรู้สึกต่อชีวิตวันนี้เป็นยังไง ?

“ก็ดี”

นับเป็นวันเวลาที่ดีไหม ?

“จะว่าดี มันก็คงไม่หรอก เราแก่แล้ว ยังดี ยังไม่หมดแรง อยากเขียนรูปอยู่ มันต้องการเขียน มีแค่นั้น”

พอใจกับผลงานของตัวเองแค่ไหนแล้ว ?

“ห้าสิบห้าสิบ มันต้องไปได้ดีกว่านี้ คิดว่าอย่างนั้นนะ คิดเอาเอง ไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเห็นพวกเพื่อนๆ แล้ว สงสัยว่าทำไมมันตันง่ายจริง (หัวเราะ) อ้าว หยุดแล้ว เลิกไปแล้ว

“ผมยังไม่ตันง่ายๆ ไม่เลิก เลิกไม่ได้ ตันก็หาทางใหม่ ไม่มีทางเลิก”

ทำไม ?

“เพราะเป็นชีวิตเรา เป็นชีวิตจิตใจของเรา ถ้าเขียนรูปได้ มันอร่อยกว่ากินข้าว เป็นเรื่องจิตใจมั้ง เราศรัทธากับมันน่ะ”

เราศรัทธากับมันน่ะ–ผ่านมาหลายวัน คำนี้ยังไม่เลือน

และคิดถึงเมื่อไรก็ไพเราะ.

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี

ข้างหลังภาพรัก ภัทรุตม์ สายะเสวี


นิทรรศการศิลปะชุด ‘เขียนที่น่าน’ ของ ภัทรุตม์ สายะเสวี จัดแสดงที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ตั้งแต่วันนี้ ยาวไปถึงสิ้นเดือนเมษายน 2562

MOST READ

Interviews

11 Apr 2019

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

คุยกับชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมสำรวจทรรศนะในการฝ่ามรสุมการเมืองไทย

กองบรรณาธิการ

11 Apr 2019

Interviews

17 Jul 2018

เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในกระแสเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก

จากเฟซบุ๊ก อูเบอร์ เอไอ ถึงกับดักรายได้ปานกลาง 101 ชวน ‘ธานี ชัยวัฒน์’ คุยโจทย์ใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกและการปรับตัวของเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย

สมคิด พุทธศรี

17 Jul 2018

Interviews

28 May 2023

ความ ‘ไทยๆ’ ในโลกที่มีพระเจ้าหลายองค์: อ่านชีวิตและความคิดของเรเชล แฮร์ริสัน

101 คุยกับ เรเชล แฮร์ริสัน ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษาที่ SOAS ว่าด้วยมุมมองต่อสังคมไทย การเรียนการสอนวัฒนธรรมศึกษาไทยในอังกฤษ และชีวิต-ความคิดของเธอ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

28 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save