fbpx
จาก 'เด็กสาวข้างบ้าน' สู่ 'ศาสดา' ของเหล่าแฟน

จาก ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ สู่ ‘ศาสดา’ ของเหล่าแฟน

วรัญญา บูรณากาญจน์ เรื่อง

 

มาออกตามหาความฝันกันเถอะ ให้ความเร่าร้อนที่อยู่ในใจ จะได้เปล่งประกายออกมาเมื่อฤดูใหม่นั้นมาถึง เราจะปลดปล่อยมันออกมาพร้อมๆ กัน – ฤดูใหม่, BNK48

 

เพลง ‘ฤดูใหม่’ เป็นซิงเกิลเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ BNK48 รุ่นที่สอง เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก BNK48 มาบ้าง และบางคนอาจตามใกล้ชิดถึงขั้นเป็น ‘โอตะ’

การมาของ BNK48 สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือการเข้ามาของกระแส ‘วัฒนธรรมไอดอล’

ก่อนที่จะพูดถึงวัฒนธรรมไอดอล เราอาจต้องพูดถึงกลุ่มวง 48 Group ที่ BNK48 สังกัดอยู่ กลุ่มวงดังกล่าวมีต้นแบบมาจาก AKB48 ที่มีคอนเซปต์วงคือ ‘ไอดอลที่พบเจอได้’ (Idol you can meet) ทำให้หลายคนเทียบเคียงกับความเป็น ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ การวางบทบาทของวงแบบนี้ ทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่มากกว่าแค่การเป็น ‘นักร้องนักเต้น’

ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่ามา ทำให้การออดิชั่นคนเข้ามาใน 48 Group จึงจำกัดรับแค่เด็กสาววัยรุ่นจนถึงช่วงอายุ 20 ต้นๆ เท่านั้น ขณะเดียวกัน 48 Group ก็มีการสร้างเธียเตอร์ของวงไว้สำหรับจัดแสดงทุกสัปดาห์ เพื่อให้เหล่าแฟนคลับมาเจอศิลปินได้ง่ายขึ้น และด้วยความเป็น ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ ทำให้มีการสร้าง ‘วงน้อง’ เพื่อขยายสาขาให้ใกล้ชิดคนแต่ละพื้นที่ จนกระทั่งสาขานั้นมาถึงไทย

แน่นอนว่า เมื่อไอดอลสาวข้างบ้านเข้ามาอยู่ในบริบทสังคมไทย คงไม่แปลกหากเราอยากจะรู้จักกับวงไอดอลเช่นนี้มากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านสังคมและวัฒนธรรม

ด้วยความเป็นไอดอลที่เข้าถึงง่าย บวกกับความเป็น ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ อาจไม่แปลกอะไรหากคนที่ติดตามและให้ความสนใจในวงไอดอลกลุ่มนี้ จะเกิดความรู้สึกคล้ายกับการเฝ้ามองเด็กสาวข้างบ้านที่เห็นตั้งแต่ยังเด็ก จนกระทั่งพวกเธอเติบโตขึ้นอย่างสวยงาม

ลักษณะของ ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ (Girl next door) นั้น มีผู้ให้นิยามไว้ใน urbandictionary.com เว็บไซต์อธิบายศัพท์แสลงต่างๆ ว่า เป็นเด็กสาวที่คุณสนใจ แต่ไม่กล้าจะเข้าหา แม้อยู่ใกล้ตัว เพราะกลัวว่าหากแสดงออกทางเพศกับเธอแล้วจะทำลายภาพลักษณ์ของเด็กสาวที่ดีและบริสุทธิ์ สิ่งที่หลายคนคิดเวลาพูดถึงเด็กสาวข้างบ้าน มักจะเป็นเด็กสาวหน้าตาน่ารัก อาจไม่ได้ถึงขั้นสวย แต่เข้าถึงได้ง่าย และมีความเป็นกันเองสูง

เหล่าคนที่ติดตามดูเด็กสาว สามารถเริ่มดูได้ตั้งแต่ตอนออดิชั่น จนเข้าวงไปอยู่ในฐานะ ‘เคงคิวเซย์’ หรือเด็กฝึกหัดที่ยังไม่ได้สังกัดอยู่ในทีมไหน ทำให้แฟนคลับได้เห็นพัฒนาการของสมาชิกในวงอย่างชัดเจน และด้วยระบบวงที่มีการคัดเลือกสมาชิกวงเข้าไปเป็น ‘เซมบัตสึ’ ที่จะได้แสดงในซิงเกิ้ล ยิ่งสร้างความรู้สึกเอาใจช่วยสมาชิกที่ตัวเองชื่นชอบให้ไปสู่ความฝันที่สูงสุดเข้าไปอีก

แต่อีกมุมหนึ่ง การที่สมาชิกวงต้องต่อสู้กันเพื่อไปสู่การเป็นเซมบัตสึนั้น อาจไม่ต่างอะไรกับการแข่งขันในห้องเรียน ที่เต็มไปด้วยเด็กที่อยากได้ที่หนึ่งเพื่อที่จะประสบความสำเร็จและได้รับคำชื่นชม

เมื่อพูดถึงความเป็นห้องเรียน การเป็น 48 Group ดูจะไม่ต่างจากโรงเรียนฝึกฝนไอดอลจนกระทั่ง ‘จบการศึกษา’ ที่มีการฝึกฝนอย่างจริงจัง มีคนที่ผิดหวัง มีคนที่ได้ที่หนึ่ง มีคนสอบตกจากการเป็นเซมบัตสึครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่พวกเธอก็ยังเป็นเพื่อนที่เรียนและร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน

ยิ่งเมื่อดูจากเนื้อเพลงแต่ละเพลงของวง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตะเกียกตะกายไปสู่ความฝันและความสำเร็จนั้น ยิ่งสะท้อนถึงการแข่งขันอันดุเดือด

 

จาก ‘เด็กสาวข้างบ้าน’ สู่แฟนตาซีทางเพศ ?

 

เลี่ยงไม่ได้ว่าการเกิดของ BNK48 ที่มีต้นฉบับและวัฒนธรรมของไอดอลแบบญี่ปุ่น ย่อมก่อให้เกิดการถกเถียงจากคนในสังคมไทยที่อาจไม่คุ้นชินในวัฒนธรรมดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นของการทำให้ไอดอลกลายเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ ทั้งยังส่งเสริมค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

อย่างในโพสต์ของเพจ ‘เฟมินิสต์วันละหน่อย’[1] เสนอมุมมองว่า สังคมไทยยังให้ค่ากับภาพ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ว่าต้องเป็นคนที่สดใส เป็นกำลังใจให้กับผู้คนรอบตัว เป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ของเด็กสาว ซึ่งการเข้ามาของ BNK48 นั้น แง่หนึ่งเป็นเหมือนการตอกย้ำค่านิยม ‘ผู้หญิงที่ดี’ ตามขนบ เป็นผลให้วงไอดอลนี้ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จ

ทว่าอีกแง่หนึ่ง อาจปฏิเสธไม่ได้ว่า่รูปแบบของวงไอดอลนี้ มีลักษณะของการทำให้เด็กสาวกลายเป็นวัตถุทางเพศจริง เช่น การจับใส่ ‘ตู้ปลา’ ให้ผู้คนมาจ้องมอง การจัดงานจับมือ หรือการล้างตัวตนเพื่อสร้างอิมเมจความเป็นเด็กสาวในอุดมคติ ซึ่งมีส่วนเติมเต็มจินตนาการให้กับเหล่า ‘โอตะ’ ทั้งหลาย

ในสังคมเอเชียตะวันออก รวมถึงประเทศไทย การพูดเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ไม่ปกติและไม่ใช่เรื่องที่ดี การกล่าวถึงไอดอลในฐานะแฟนตาซีทางเพศกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและได้รับการต่อต้าน โดยเฉพาะเมื่อคนภายนอกที่ไม่เข้าใจ ‘โอตะ’ เหมารวมมองว่าโอตะเป็นกลุ่มบุคคลที่สนใจเด็กสาวบริสุทธิ์ ซึ่งการมีรสนิยมทางเพศกับเด็กสาวที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างไอดอล 48 Group นั้น ถูกมองว่าไม่ปกติและน่ารังเกียจ

แต่ประเด็นสำคัญอาจอยู่ที่ว่า ไม่ใช่โอตะทุกคนที่มีลักษณะเป็นอย่างนั้น แม้ข่าวคราวบางชิ้นเกี่ยวกับโอตะในประเทศต้นแบบอย่างญี่ปุ่นจะทำให้หลายคนปักใจเชื่อเช่นนั้นก็ตาม

“เราเคยดูรายการโตเกียวไอดอล มีนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าอายุมากกว่านี้ก็ไม่ตามแล้วล่ะครับ ในกลุ่มแฟนคลับเองก็มีพวกที่มีรสนิยมชื่นชอบเด็ก (pedophile) จริง แต่บางคนก็ตามเพราะความชอบ อาจเป็นช่องทางให้พวกที่มีรสนิยมแบบนี้เข้ามาบ้าง แต่ว่ามันขายได้ แล้วตัวน้องที่เป็นเด็กเองก็อยากเข้าวงการด้วย เขาเลือกแล้วที่จะมาทำตรงนี้”

‘พีบี’ (นามแฝง) นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้สนใจในวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่นมายาวนาน ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ ในฐานะผู้ที่ติดตามวงไอดอลมากว่าสิบปี โดยไม่ได้ติดตามเพียงแค่ 48 group แต่รวมไปถึง 46 group และวงการเพลงอินดี้ญี่ปุ่นด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับการจับตามองคือ ‘งานจับมือ’ ซึ่งไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งที่ตอกย้ำเรื่องภาพลักษณ์เด็กข้างบ้านได้เป็นอย่างดี  แต่ยิ่งทำให้ผู้คนภายนอกมองว่าการขายไอดอลในรูปแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการขายบริการทางเพศที่ ‘ร่วมความบริสุทธิ์’ (Virginity) แทนการร่วมเพศ แม้ว่างานจับมือที่ว่านี้จะเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาของผู้บริหารของ 48 Group ซึ่งจัดงานจับมือขึ้นมาเพื่อขอโทษแฟนๆ เมื่อครั้งที่การจัดงานในเธียเตอร์มีปัญหาก็ตาม

อันที่จริง ไม่ว่าวงไอดอลชายหรือหญิงในญี่ปุ่นต่างก็มีงานจับมือทั้งนั้น หรือแม้กระทั่งวงไอดอลเกาหลี เมื่อจัดแฟนมีทหรือคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น ทางต้นสังกัดของวงที่ประเทศญี่ปุ่นก็มักจะจัดงานจับมือเอาใจแฟนคลับไม่ต่างกัน ดังนั้น ‘งานจับมือ’ จึงเป็นวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่นมากกว่าที่จะเป็นของ 48 Group เท่านั้น

“งานจับมือของ AKB48 นี่เบาแล้วนะ เมื่อเทียบกับวงจิกะไอดอล (ไอดอลใต้ดิน) ในญี่ปุ่น เพราะบางวงมีงานกอด มีงานให้จูบผ่านพลาสติกใส หรือถ้าซื้ออัลบั้มเยอะๆ ก็สามารถพาไปกินข้าวด้วยได้”

ในมุมของพีบี เขามองว่างานจับมือเป็นส่วนหนึ่งที่ตัวเองได้แก้ไขนิสัยเกลียดการสกินชิพ หรือการถึงเนื้อถึงตัวของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีข้อดีในแง่ที่ว่า เราสามารถพูดอะไรที่เราอัดอั้นไว้กับคนแปลกหน้า (ที่เราชื่นชอบ) โดยที่เขาให้กำลังใจกลับมา

ทว่าด้วยค่านิยม ‘ความบริสุทธิ์’ ไอดอลจึงถูกแฟนคลับกดดันด้วยกฎที่ถูกมองว่าเป็นเหมือน ‘สัญญาใจ’ ระหว่างไอดอลและแฟนคลับว่า ‘ไอดอลห้ามมีแฟน’ ทำให้มักจะเกิดดราม่ายกใหญ่เมื่อไอดอลบางคนมีแฟนเป็นตัวเป็นตน เพราะแฟนคลับบางคนรู้สึกเหมือนโดนหักหลัง หรืออีกเหตุผลที่แฟนคลับบางคนบอกกัน คือ ถ้าจะต้องไปจับมือกับไอดอลที่มีแฟน ก็ไม่ต่างอะไรกับการจับมือแฟนคนอื่น

การห้ามมีแฟนไม่เชิงเป็นกฎนะ แต่การที่ไอดอลมีแฟนจะทำให้มูลค่าตกลงเท่านั้นเอง ขึ้นอยู่กับการวางตัว การจัดการด้วย เพราะเคยมีไอดอลที่ได้เซมบัตสึ 3 ปีซ้อน ไปมีข่าวกับผู้ชาย เลยโดนส่งไปวงน้องที่ต่างจังหวัด พอจัดอันดับขึ้นมาก็กลับมาเป็นอันดับหนึ่งได้อยู่ดี

“แต่ถ้าเป็นอย่างกรณีที่มีไอดอลออกมาประกาศแต่งงานกลางงานเลือกตั้ง (เลือกตั้งเซมบัตสึ โดยมีโอตะเป็นผู้ลงคะแนนโหวต) แบบนี้ก็เหมือนหักหลังแฟนคลับ เพราะในงานเลือกตั้งจะมีคนทุ่มโหวตเป็นล้านเยนให้ไอดอลคนนั้น คนที่จ่ายเงินไปเพื่อให้ไอดอลได้ตามฝัน คงรู้สึกเหมือนโดนหักหลัง แล้วยิ่งถ้าจ่ายไปด้วยเหตุผลอื่น ก็ยิ่งรู้สึกหลังหักมากขึ้นอีก”

ด้วยความที่ติดตามวงการนี้มานาน เขามองว่าการที่ไอดอลมีแฟนไม่ใช่เรื่องผิด เพราะว่าไอดอลเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะได้รับสิทธิเหมือนกับทุกคน

ในกลุ่มโอตะของ BNK48 เอง ก็มีความเห็นต่อการที่ไอดอลมีแฟนอย่างหลากหลาย และหลายๆ คนก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่โอตะบางกลุ่มออกอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่อไอดอลมีแฟน อย่างเช่น ปิกาวุย – หนึ่งในแอดมินเพจเสพติดชีวิตโอตะ ที่ติดตาม BNK48 อย่างใกล้ชิด มองว่า กลุ่มคนที่จะมีปัญหาเรื่องการจับมือกับแฟนคนอื่น เดิมทีอาจเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ตัวตนและไร้ค่า ไม่เคยเจอคนอื่นในชีวิตจริงที่ทำแบบที่ไอดอลทำกับเขา

ด้วยเหตุนี้ การให้กำลังใจ ภาพลักษณ์ที่สดใส ไม่ว่าจะผ่านหน้าจอหรือกิจกรรมอะไรก็ตาม โดยเฉพาะกับไอดอลอย่าง BNK48 ที่มีความใกล้ชิดกับแฟนคลับเป็นพิเศษ ยิ่งทำให้คนประเภทนี้รู้สึกว่า ไอดอลที่เขาตามมีอยู่ในชีวิตจริงของเขา เป็นส่วนหนึ่งของเขา แต่เมื่อไอดอลมีแฟนเลยรู้สึกผิดหวังเหมือนโดนทอดทิ้ง และเกิดความรู้สึกโกรธแค้นเพราะว่าตัวเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของไอดอล

แม้ภาพลักษณ์ของไอดอลจะถูกฉาบไปด้วยแฟนตาซีของเหล่าแฟนคลับ แต่ที่สุดแล้วแฟนตาซีของเหล่าแฟนคลับนั้นก็ถูกครอบด้วยอุดมคติของสังคมอยู่ดี เช่น เมื่อพูดถึง คุณไข่ (ไข่มุก BNK48) ก็จะเห็น ‘ความเป็นผู้หญิง’ ในอุดมคติของสังคมญี่ปุ่นอย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นแม่บ้าน ทำกับข้าวเป็น น่ารัก และเป็นพี่ๆ ของน้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ในแง่หนึ่งแล้วไอดอลจึงไม่ต่างอะไรกับภาพสะท้อนแฟนตาซีทางเพศ ในเชิง ‘ความเป็นเพศหญิงที่ดีงาม’ ของสังคมนั้นๆ

แอนนา – หนึ่งในแอดมินเพจ ‘เฟมินิสต์วันละหน่อย’ ผู้ติดตามไอดอลเกาหลีมาอย่างยาวนาน รวมถึงเป็นแฟนคลับของวง BTS ศิลปินไอดอลเกาหลีชื่อดัง มองว่า ไม่เพียงแค่ไอดอลเพศหญิงเท่านั้นที่ถูกฉาบด้วยภาพลักษณ์ดังกล่าว แต่กระทั่งไอดอลชายเองก็ถูกฉาบด้วยความคิดแบบนี้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ต้องเป็น ‘เพศชาย’ ในอุดมคติของสังคมซึ่งมองผ่านสายตาของผู้หญิง (Female gaze) ในสังคมนั้นๆ เช่นเดียวกัน

การมองดังกล่าวทำให้การเซอร์วิสของกลุ่มแฟนคลับไอดอลชายมีความแตกต่างไปจากไอดอลสาวอย่าง 48 Group ที่นำเสนอความน่ารักบริสุทธิ์ของเด็กสาวข้างบ้าน

“ยกตัวอย่างกรณีของ BTS (วงบอยแบนด์เกาหลี) เมื่อเร็วๆ นี้ ทางค่ายปล่อยวิดิโอพิเศษให้แฟนคลับ ให้สมาชิกทุกคนแต่งชุดเจ้าชาย แล้วที่เป็นที่ฮือฮาคือ ในวิดิโอนี้จองกุกหอมแก้มแทฮยอง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เขาปล่อยวิดิโอมาเพื่อเซอร์วิสสาววาย มันเป็นสายตาอีกแบบหนึ่ง หรือต่อให้ไม่ชัดมาก แฟนคลับก็จะ ‘จิ้น’ อยู่ดี

“มีครั้งหนึ่งเราไปงานเสวนาเกี่ยวกับวัฒนธรรม Yaoi (ชายรักชาย) ที่จัดที่จุฬาฯ เมื่อนานมาแล้ว เขาให้เหตุผลว่าที่ผู้หญิงบางคนชื่นชอบ Yaoi มีทฤษฎีอยู่ว่าเพราะผู้หญิงโดนกดในสังคมชายเป็นใหญ่อยู่แล้ว เราเลยมีแฟนตาซีที่อยากเห็นภาพผู้ชายถูกกดด้วย ดังนั้นผู้หญิงที่ชอบชายรักชาย จึงนำสายตาดังกล่าวไปกดทับผู้ชายที่มีลักษณะเป็นฝ่ายรับแทน” แอนนากล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาจมองได้ว่าไอดอลคือสิ่งที่สะท้อนค่านิยมของสังคมในขณะนั้น จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นภาพของสังคมชายเป็นใหญ่สะท้อนออกมาจากไอดอลที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไทย ซึ่งหากไอดอลมีความ ‘เบี่ยงเบน’ ไปจากสิ่งที่เป็นค่านิยมของสังคมนั้นๆ ก็มักจะเกิดดราม่าที่ทำให้คนออกมาโจมตี อย่างเช่นกรณีไอดอลเกาหลีอย่าง จงฮยอน นักร้องชายจากวง SHINee ที่โดนโจมตีในเน็ตจากการออกมาสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ[2] หรือกรณีของ ไอรีน จากวง Red velvet ที่ถูกโจมตีเพราะอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาสนับสนุนเฟมินิสต์[3] ในขณะที่ทางฝั่งวัฒนธรรมตะวันตก การกระทำดังกล่าวกลับเป็นการแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตัวเอง

แอนนา ยกตัวอย่างที่ใกล้ชิดขึ้นมามากขึ้น อย่างตอนที่ อร BNK48 ตอบคอมเมนต์ประชดในไอจี เมื่อครั้งที่มีคนถามเรื่องน้ำหนักของอรว่า “เราเขียนเรื่องอรในเพจ แล้วมีคนมาคอมเมนต์ในเพจเราว่าการกระทำของอรที่ตอบคอมเมนต์อย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพราะ ‘ไอดอลต้องเป็นแบบอย่างที่ดี’ แต่คำว่า ‘ดี’ มันก็แตกต่างกันไปไง

“ดีในสังคมหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าดีในอีกสังคมหนึ่ง ถ้าเกิดลองย้ายอรไปอยู่ในบริบทของอเมริกา คนจะมองว่า อรเฟียซ สตรอง เผ็ด หรือจะมีบทความจากเว็บ BuzzFeed ออกมาว่า เพราะอะไรอรถึงโคตรเจ๋ง เพราะเขาให้ค่าว่าการปกป้องความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่ดี”

 

จาก ‘แฟนตาซีที่เต็มไปด้วยอุดมคติ’ สู่ ความเป็น ‘ไอดอล’ ในศรัทธาของเหล่าแฟนคลับ

 

ถึงแม้ว่าจะมีภาพลักษณ์ของความเป็นเด็กสาวข้างบ้านที่ดูเหมือนจะจับต้องได้ง่ายดายก็ตาม แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกของแฟนคลับ สมาชิกในวงไอดอลคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เอาไว้เทิดทูนบูชา ไม่ต่างอะไรกับความหมายดั้งเดิมของคำว่า ‘ไอดอล’ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่าภาพแทนหรือตัวแทนของสิ่งที่เอาไว้บูชา

การเปรียบเปรยดังกล่าวอาจดูเว่อร์วังเกินไป แต่ความเคว้งคว้างบนโลกแห่งวัตถุอันไร้ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจแห่งนี้ คงไม่แปลกนักหากหลายคนต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างไว้เป็นที่ปลอบประโลมหัวใจ และด้วยความรู้สึกนั้นเองที่ทำให้ไอดอลกลายมาเป็นสิ่งที่พวกเขาเหล่าแฟนคลับยึดถือ

“สำหรับเราที่เป็นอาร์มี่ (ชื่อกลุ่มแฟนคลับวง BTS) สมาชิกวงเหมือนเทพเจ้าเลยก็ว่าได้ เพราะพระเจ้าช่วยเราไม่ได้ แต่ไอดอลช่วยเราได้ ไอดอลมักจะออกมาให้กำลังใจ สอนให้เราเดินตามความฝัน หรืออย่าง BTS ก็ชัดเจนเลย ออกมาพูดให้รักตัวเองและผู้อื่น ยิ่งกว่าคำสอนของคริสเตียนอีก พูดอย่างนี้อาจฟังดูเหมือนลบหลู่ แต่พระเยซูก็อาจเป็นไอดอลของคนเมื่อสองพันปีที่แล้ว เป็น Jesus อปป้า (หัวเราะ)” แอนนา เปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างไอดอลกับความเป็นศาสนาหรือลัทธิ และยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ผู้คนอย่างแอนนาเองก็ต้องการกำลังใจหรือพลังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเช่นกัน

“ไอดอลกลายเป็นรูปแบบที่ตอบรับความสุขในลักษณะที่เห็นผลมากกว่า อย่างในโตเกียวไอดอล หัวหน้าโอตะของริโอะ (ไอดอลหลักในสารคดีเรื่อง Tokyo Idol) บอกว่า การที่เอาเงินของตัวเองไปช่วยให้ริโอะได้ตามความฝัน เขารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ผู้อื่นได้ทำตามฝันนี้ หรืออย่างการเลือกตั้งเซมบัตสึ ก็เป็นไอเดียของทุนนิยม เราต้องซื้อของให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จ และการเลือกตั้งเป็นกลวิธีที่ทำให้เห็นอันดับอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าเป็นคนเดินดินทั่วไปอย่างพวกเรา เราอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือได้รับความรักชัดเจนเท่านี้อยู่แล้ว เราเลยอยากให้คนอื่นเป็นตัวแทนในการประสบความสำเร็จของเรา” แอนนา กล่าวถึงความเป็นไอดอลในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีคุณค่าต่อความเชื่อของเหล่าแฟนคลับ

ในมุมของปิกาวุย เนื่องด้วยเป็นคนที่ชื่นชอบในการสนับสนุนคนอยู่แล้ว และด้วยความคิดที่ว่า “เราอยากจะสนับสนุนอะไรบางอย่างให้คนอื่นเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เราทำงาน” ก็กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขายอมใช้จ่ายกับไอดอล เพราะว่าโครงสร้างระบบที่สามารถเห็นได้ชัดว่า เมื่อเขาจ่ายไปแล้ว เขาจะเห็นผลอย่างชัดเจนว่าสมาชิกที่เขาติดตามอยู่ประสบความสำเร็จมากน้อยเท่าไหร่

ปิกาวุยเล่าว่า การจ่ายเงินให้ไอดอลเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองหาเงินไปด้วย เพราะเมื่อมีเรื่องพวกนี้เข้ามาเมื่อปีก่อน ตัวเองก็หาเงินได้อย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันก็ยังมีเวลาเหลือจากสำหรับการพักผ่อนและออกกำลังกายด้วย

การซื้อสินค้าและบริการของไอดอลมีลักษณะที่ไม่ต่างกับการอุดหนุนศาสนาและความเชื่อของตัวแฟนคลับให้อยู่รอดต่อไป บัตรจับมือเปรียบเสมือนสิ่งที่ทำให้เราเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ตัวแทนแห่งความฝันที่ประสบความสำเร็จที่เหล่าแฟนคลับให้ความรักและศรัทธา การที่คนนอกมาทำให้ ‘พระเจ้า’ แปดเปื้อนหรือลบหลู่ดูหมิ่น มักจะทำให้เกิดความไม่พอใจของเหล่าแฟนคลับ จนออกมาในลักษณะที่เรียกว่า ‘สงครามแฟนคลับ’ (Fan War) ที่ไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้ทางความเชื่อของคนสองกลุ่ม

เวลาเรารักอะไร เราก็จะปกป้องสิ่งนั้น ยิ่งถ้าเขาทำตัวดี เขาก็จะยิ่งไม่มีจุดติได้ แต่พอเรารักเขาเหมือนรักพระเจ้า เราเลยเลือกที่จะมองแต่ด้านดีๆ ของเขา อย่างสมัยก่อน คิมนัมจุน (วง BTS) ไอดอลที่เราชอบมากที่สุด เคยล้อเลียนสำเนียงภาษาอังกฤษของชาวแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งเราไม่ชอบเลย แต่เราก็บอกกับตัวเองว่า เขาไม่ได้ตั้งใจและออกมาขอโทษแล้ว” แอนนา พูดถึงความศรัทธาที่เปลี่ยนแปลงจากศาสนาไปสู่ไอดอล ทำให้ ‘ความเป็นแฟนคลับ’ ที่ดีขึ้นอยู่กับ ‘ความศรัทธา’ ในไอดอลอีกที

‘ความเป็นแฟนคลับ’ มีลักษณะที่ไม่ต่างกับสาวกของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการมีชื่อเรียก อย่างผู้นับถือศาสนาคริสต์ก็เรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียน ผู้นับถือศาสนาพุทธเรียกตัวเองว่าพุทธมามกะ ผู้ที่เชื่อในไอดอลแต่ละวงก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น คนที่ติดตามวง BTS จะเรียกตัวเองว่า อาร์มี่ ติดตามแบล็กพิงค์ เรียกตัวเองว่า บลิงค์ เป็นต้น

การรวมกลุ่มดังกล่าวมีส่วนช่วยในการสร้างความสามัคคีกันทางความเชื่อ และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมไอดอลขายได้ในโลก ปัจจุบันแม้ว่ารายละเอียดอาจแตกต่างไปในแต่วงก็ตาม

“เออ อันนี้ลองคิดเล่นๆ นะ อย่างเวลาตอนร้องเพลงในคอนเสิร์ต ก็เหมือนสวดมนต์เป็นบทสวดของแฟนคลับ จะว่าไปก็เหมือนคาถาชินบัญชรที่ไล่ชื่อเมมเบอร์ของศาสนาพุทธ”  แอนนาทิ้งท้าย

การมาของ BNK48 ที่สร้างปรากฎการณ์และกระแสวัฒนธรรมไอดอล ทำให้กลุ่มแฟนคลับเริ่มเป็นจุดสนใจในสังคม โดยเฉพาะวัฒนธรรมแฟนคลับที่ต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนนอกมักจะมองด้วยความไม่เข้าใจ ทว่าในอีกมุมหนึ่ง การพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมไอดอลผ่านแฟนคลับนั้น นอกจะทำให้เราเข้าใจเหล่าแฟนคลับหรือเหล่า ‘โอตะ’ ได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราเห็นมุมมองที่คนเหล่านี้พยายามทำความเข้าใจและตั้งคำถามกับ ‘ไอดอล’ ของพวกเขาเองด้วย

 

อ้างอิง

[1] https://www.facebook.com/feministnhoi/photos/a.1994801344073320.1073741832.1983367558550032/2088721918014595/?type=3&theater

[2] https://www.mirror.co.uk/3am/celebrity-news/korean-superstar-kim-jong-hyun-11716601

[3] https://www.allkpop.com/article/2018/03/male-fans-burn-red-velvet-irenes-merchandise-upon-finding-out-she-read-a-feminist-novel-netizens-react

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save