fbpx
มรสุมตั้งเค้า เขย่าสื่อสาธารณะ ในวาระเตรียมฉลองร้อยปี บีบีซี

มรสุมตั้งเค้า เขย่าสื่อสาธารณะ ในวาระเตรียมฉลองร้อยปี บีบีซี

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมรสุมลูกใหญ่โหมกระหน่ำบีบีซี หลังจากผลการสอบสวนของคณะกรรมการ Dyson Inquiry ที่บีบีซีตั้งขึ้นเองโดยมีการร้องเรียนจากเอิร์ลสเปนเซอร์ พระอนุชาของเจ้าหญิงไดอานา โดยมีลอร์ดไดสัน (ผู้พิพากษาอาวุโส) เป็นประธาน สรุปว่า มาร์ติน บาเชียร์ นักข่าวบีบีซี ใช้อุบายในการทูลเชิญเจ้าหญิงไดอานามาให้สัมภาษณ์ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ ค.ศ. 1995 ซึ่งเรียกว่าผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง

ความจริงเคยมีการกล่าวหาร้องเรียนกันมาก่อน หลังจากรายการสัมภาษณ์เจ้าหญิงไดอานาออกอากาศไปได้ไม่นาน จนมาร์ติน บาเชียร์ต้องลาออกไป แต่เขายังกลับมาสมัครทำงานกับบีบีซีได้อีกในปี 2016 จึงกลายเป็นประเด็นที่สงสัยกันมาก และเป็นแผลใหญ่ที่ผู้บริหารชุดก่อนตอนเกิดเรื่องกับชุดปัจจุบันต้องตอบคำถามสังคมขณะนี้ บังเอิญมรสุมส่อเค้าขยายวง ในวาระสำคัญที่บีบีซีกำลังเตรียมงานฉลองครบรอบร้อยปี

ผลการสอบสวนของลอร์ดไดสัน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างแรงกระเทือนต่อทีมผู้บริหารของบีบีซีและภาพลักษณ์ของบีบีซีในเรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อสาธารณะต้นแบบของโลก ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่บีบีซีจะต้องเจรจากับรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อกำหนดแนวทางและอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้เครื่องมือรับสัญญานภาพและเสียงซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่า TV Licence Fee ตามกฎหมายที่ให้อำนาจบีบีซีเรียกเก็บได้จากทุกครัวเรือนที่ใช้เครื่องมือดังกล่าว อำนาจการเรียกเก็บเงินและการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องที่บีบีซีกับรัฐบาลจะต้องเจรจาทำข้อตกลงกันเป็นระยะ ทุกสิบปีตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ถ้าตกลงกันได้ ข้อตกลงใหม่จะเริ่มมีผลปีหน้า (2022)

จึงเป็นจังหวะที่กลุ่มบุคคลที่ไม่ชอบบทบาทของสื่อสาธารณะ ซึ่งมีทั้งนักการเมือง นักลงทุนด้านสื่อพาณิชย์ และสื่อมวลชนบางแขนงฉวยโอกาสใช้กรณีนี้มาทับถมเพื่อทำให้บีบีซีอ่อนแอลงไป โดยในแง่การเมืองก็จะขาดพลังในการตรวจสอบ ส่วนในแง่ธุรกิจขาดพลังในการคัดทานสื่อมวลชนที่ค้ากำไรโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อดิจิทัลยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ จดจ้องที่จะแย่งชิงแบ่งเค้กมูลค่ามหึมาทั่วโลกขณะนี้  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ปะทะกันระหว่างสื่อที่มี profit motive กับสื่อสาธารณะที่มี  public service motive

ภาพจาก bbc.com


ความจริงในรอบร้อยปีที่ผ่านมาบีบีซีก็ผ่านมรสุมเล็กใหญ่มาหลายครั้ง เป็นธรรมดาขององค์กรที่มีคนทำงานหลากหลายนับหมื่นคน ย่อมมีความผิดพลาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ตามหลังเทคโนโลยีบ้าง บางทีล้ำหน้าเทคโนโลยีบ้าง แล้วก็สะสมประสบการณ์ถอดบทเรียนรวบรวมเป็นแนวทางการทำงานสึ่อไว้ให้เป็นหลัก best practice แล้วเปิดให้ประสบการณ์เหล่านั้นเป็นองค์ความรู้สาธารณะ  หลายครั้งหลายคราก็โดนมรสุมปะทะแรงๆ ถูกกล่าวหาว่าร้ายแบบที่สมัยนี้เขาเรียกกันว่า ‘ชังชาติ’ ก็เคยมีมาแล้ว อย่างเช่นกรณีวิกฤตการณ์คลองสุเอซ สงครามฟอล์กแลนด์ และหลังสุดที่ยังคงจำกันได้ กรณี ดร.เดวิด เคลลี แหล่งข่าวของบีบีซีที่ยืนยันว่า ซัดดัม ฮุสเซน ไม่มีอาวุธร้ายแรง (weapons of mass destruction – wmd) ซ่อนไว้อย่างที่รัฐบาลโทนี แบลร์ นำมาเป็นข้ออ้างในการขอมติสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเข้าร่วมสหรัฐฯ บุกถล่มอิรัก

หลังสงครามก็พบความจริงที่ว่า ในอิรักไม่มีอาวุธร้ายแรงจริงตามรายงานของบีบีซี กรณีนี้ ดร.เคลลี ถูกอำนาจรัฐคุกคามจนต้องฆ่าตัวตาย แต่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ Hutton Inquiry ที่โทนี แบลร์ตั้งขึ้นในปี 2003 วินิจฉัยว่า บีบีซีมีความผิดในการนำข้อมูลความลับทางราชการออกสู่สาธารณะในลักษณะผิดจรรยาบรรณ ทำให้ผู้บริหารคือประธานบอร์ดและผู้อำนวยการใหญ่ต้องลาออกไป เป็นบทเรียนแสนแพงของบีบีซีจนถึงทุกวันนี้

ผลกระทบจากการรายงานเหตุการณ์ที่เป็นจริงของสงครามฟอร์กแลนด์ก็เคยเป็นเหตุที่นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์เคยแสดงอาการฉุนเฉียวขนาดขู่ว่าจะแปรสภาพบีบีซีให้เป็นสื่อพาณิชย์ (privatisation) หลังจากการชนะเลือกตั้งถล่มทลายมีเสียงข้างมากในสภา ซึ่งก็ไม่ต่างกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่ชนะเลือกตั้งท่วมท้นในปี 2019 ก็ออกอาการคล้ายๆ กันที่จะเล่นงานบีบีซี ด้วยการกล่าวหาว่าบีบีซีไม่เป็นกลางในการรายงานข่าวการรณรงค์เบร็กซิตและการหาเสียงเลือกตั้ง

การทำงานของสื่อสาธารณะที่ยึดหลักการผลประโยชน์สาธารณะในระยะยาวเป็นธงนำ ย่อมต้องปะทะนักการเมืองที่มักจะออกมาเกรี้ยวกราดกล่าวหาผู้คนที่เห็นต่างว่า ‘ชังชาติ’ ไว้ก่อน เพื่อหวังปั่นกระแสชาตินิยมรักษาผลประโยชน์ในการต่ออำนาจทางการเมืองระยะสั้นของพวกตนไว้ก่อน เห็นได้ชัดทั้งในกรณีคลองสุเอซ สงครามฟอล์กแลนด์ และอาวุธร้ายแรงในอิรัก โดยนักการเมืองเหล่านี้หลงผิดยกตัวเองสมอ้างขึ้นมาว่าเป็นชาติ พวกเขาไม่สามารถแยกแยะผลประโยชน์ระยะสั้นของตนและกลุ่มตน กับผลประโยชน์ระยะยาวที่แท้จริงของประเทศชาติโดยรวม

ผลงานที่บีบีซีสะสมมาอย่างยาวนานเมื่อบวกลบคูณหารกันแล้วก็พอประเมินได้ว่า บีบีซียึดหลักผลประโยชน์สาธารณะของส่วนรวมในระยะยาวเป็นหลัก ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล มากกว่าการยอมโอนอ่อนไปรับใช้นักการเมืองที่มามีอำนาจชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็เปลี่ยนตัวกันไป 

เมื่อพูดถึงผลงานของบีบีซี ผู้คนจำนวนมากมักจะคิดไปถึ่งเรื่องข่าวและสารคดีข่าวเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้วสำหรับชาวอังกฤษ บีบีซีเปรียบเสมือนสถาบันทางวัฒนธรรม ผลิตรายการหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์สมบัติของชาติ รายการเด็กและเยาวชน ส่งเสริมวรรณกรรม ละครสะท้อนปัญหาสังคม กีฬา ดนตรี ฯลฯ เป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industry) ที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ เช่น การผลิตรายการสารคดีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดสดกีฬาและรายการสำคัญระดับชาติ ส่งเสริมค่านิยมสาธารณะ เสริมสร้างสินค้าทางวัฒนธรรมของประเทศ กิจกรรมเหล่านี้นำผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับเข้าประเทศ คืนทุนให้กับประชาชนที่ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดูทีวีตามกฎหมาย โดยเป็นที่ยอมรับกันทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า บีบีซี คือ ‘the best of British brand’ คล้ายกับแฮร์รี พอตเตอร์ พรีเมียร์ลีก หรือแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่มีลักษณะเป็น global brands นำรายได้ทางอ้อมเข้าประเทศ

บัดนี้ บีบีซี ต้องเผชิญกับนักการเมืองที่ต้องการยึดกุมทิศทางการเสนอข่าวของบีบีซีให้สนองประโยชน์ระยะสั้นฝ่ายตนด้วยวิธีกดดันในเรื่องการจัดสรรเงินทุน และนักธุรกิจที่ต้องการขยายส่วนแบ่งตลาดสื่อและธุรกิจบันเทิงที่บีบีซีครองพื้นที่ค่อนข้างมาก ในขณะที่ประชาชนจำนวนหนึ่งคิดว่า การมีส่วนร่วมลงขันเพื่อสร้างสรรค์สินค้าอันเป็นประโยชน์สาธารณะ (public goods) ไม่สอดคล้องกับค่านิยมสมัยใหม่ที่จะเน้นไปทางปัจเจก ตัวใครตัวมัน และสื่อทุกสื่อควรอยู่ในตลาดเสรี ซึ่งในสภาพความเป็นจริงแล้วมีธุรกิจยักษ์ใหญ่ตักตวงหากินอยู่ ไม่ใช่ตลาดเสรีอย่างที่คิด

ภาพจาก bbc.com


สื่อมวลชนอังกฤษรายงานว่า มีกลุ่มทุนวิ่งเต้นฝ่ายการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาขณะนี้ ให้ลดขนาดและบทบาททางวัฒนธรรมของบีบีซีลง แล้วเปิดพื้นที่สื่อในสหราชอาณาจักรให้เป็นแบบอเมริกัน  (American-style media ecology) ที่สื่อสาธารณะอย่าง PBS ถูกจำกัดบทบาทด้วยเงินทุนและการแทรกแซงรุมทึ้งจากกลุ่มการเมือง ในตลาดการแข่งขันที่บีบสื่อต้องเลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็น Fox News หรือ CNN หรือบรรดาดีเจรายการวิทยุท้องถิ่นที่เร่าร้อนด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมคริสเตียนผิวขาว สร้างศาสดาจอมปลอมชักพาประชาชนหลงผิดรวมตัวกันไปล้มผลการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เป็นที่อับอายไปทั่วโลก  

หนังสือพิมพ์ The Guardian รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีกลุ่มการเมืองฝ่ายขวากับกลุ่มนักธุรกิจสื่อกลุ่มหนึ่ง รวมกันก่อหวอดเปิดแนวรบถล่มบีบีซี ด้วยการเปิดบัญชีสื่อสังคมหลายชื่อขึ้นป้าย Biased BBC เป็นสโลแกน แล้วคอยไล่แซะบีบีซี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2004 ขบวนการนี้ได้รับการหนุนเนื่องจากนักคิดคนสำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยมคือ โดมินิก คัมมิงส์ หัวหอกในการรณรงค์ให้อังกฤษถอนตัวจากยุโรปจนสำเร็จ และเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของบอริส จอห์นสัน เป็นกำลังสำคัญในการวางยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้งจนพรรคคอนเซอร์เวทีฟของจอห์นสัน ชนะเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อปี 2019 แต่ในระยะหลังแตกคอกับจอห์นสันจนลาออกจากรัฐบาล เขาเคยเขียนในบล็อกส่วนตัวว่า ฝ่ายขวาในอังกฤษจะต้องปิดเกมล้มบีบีซีในรูปแบบปัจจุบันนี้ให้ได้

เกมของคัมมิงส์ สอดคล้องกับเกมของนักธุรกิจพันล้านอเมริกัน ที่เรียกกันว่า Koch brothers ซึ่งเป็นกลุ่มทุนปิโตรเลียมที่หว่านเงินสร้างทีมสื่อสังคมคอยไล่ตามดิสเครดิตกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและสื่อกระแสหลักแนวเสรีนิยม ตอบโต้นักรณรงค์แก้วิกฤตโลกร้อนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียม กลุ่มทุนนี้พยายามเหวี่ยงกระแสการเมืองภายในสหรัฐฯ ให้ไปทางขวา ด้วยการโจมตีฝ่ายเสรีนิยม และสนับสนุนโวหารของโดนัลด์ ทรัมป์  

มีผลงานการศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริคในสวิตเซอร์แลนด์ชิ้นหนึ่งที่ตรวจสอบระดับความรู้เท่าทันสื่อเทียม รู้เท่าทันขบวนการการปล่อยข่าวลวงและการปล่อยทฤษฎีสมคบคิดในหมู่ประชาชน ผลสรุปออกมาได้ว่าในประเทศที่มีสื่อสาธารณะอันเป็นอิสระระดับชาติอย่างเช่นบีบีซี ประชาชนจำนวนมากจะไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงหรือทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ เมื่อเปรียบกับประเทศที่ไม่มีสื่อสาธารณะ สิ่งที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือประชาชนอเมริกันจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง พวกเขาตกเป็นเหยื่อของเจ้าศาสดาทฤษฎีสมคบคิดอย่างเช่น ขบวนการ QAnon ที่เป็นฐานการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งนี้เพราะ PBS ในอเมริกาเป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่ถูกบีบให้อยู่ในวงจำกัดด้วยปัญหาขาดแคลนงบประมาณ ขาดพลังในการตรวจสอบนัการเมืองและโต้กระแสข่าวลวง

ตลอดช่วงที่เกิดไวรัสระบาดทั้งปี 2020 และล่วงเลยมาจนถึงปีนี้ เรตติ้งรายการข่าวของบีบีซีเพิ่มสูงขึ้นมาตามลำดับ เพราะทำหน้าที่รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ยึดถือผลประโยชน์ประชาชนส่วนรวมเป็นหลัก แล้วยังไล่ตั้งคำถามตรวจสอบผลงานของรัฐบาลในแต่ละมาตรการที่ออกมา ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความโปร่งใสในข้อมูลภาครัฐ จัดหาคอนเทนต์ให้ความรู้ทางสาธารณสุข ยกระดับการตื่นตัวระวังการแพร่ขยายของไวรัส และมีรายการประจำที่คอยตรวจแก้ตอบโต้ข่าวลวงต่างๆ ตลอดจนผลิตรายการทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และออนไลน์ ให้ประชาชนตั้งคำถามต่างๆ เข้ามาให้ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขด้านต่างๆ มาให้คำตอบที่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนที่หลงเชื่อข่าวลวงจำกัดวงอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ

นอกจากเรตติ้งด้านข่าวจะสูงขึ้นแล้ว บีบีซียังทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนระบบการศึกษา ในช่วงล็อกดาวน์ที่สถานศึกษาต่างๆ ต้องปิด ต้องสอนหนังสือทางออนไลน์ เนื่องจากบีบีซีเคยจัดทำคอนเทนต์ด้านการศึกษามายาวนานร่วมกับ Open University และยังคงผลิตรายการด้านการศึกษาเป็นรายการสำหรับเด็กๆ ในแต่ละช่วงอายุวัยมาตลอด จึงทำให้บีบีซี สามารถแสดงบทบาทสื่อสาธารณะในด้านการสนับสนุนระบบการศึกษาของชาติตามเจตนารมณ์เมื่อตอนก่อตั้งได้อย่างถูกจังหวะ

ฝ่ายที่ต่อต้านบีบีซีพยายามบอกว่า เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวไปไกลมาก บีบีซีเป็นองค์กรสื่อล้าสมัยเสียแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัล กลายเป็นว่าบีบีซีเป็นผู้นำล้ำหน้ามาตลอดตั้งแต่ interactive tv มาจนถึง streaming บีบีซีเปิดให้บริการ BBCIPlay เป็นระบบที่ให้บริการห้องสมุดวิดีโอแก่ประชาชนทางออนไลน์มานานก่อน Netflix เกิดด้วยซ้ำ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นบริการให้เช่าวิดีโอที่เรียกว่า Blockbuster

ดังนั้นประเด็นเรื่องการจัดเงินทุนงบประมาณให้กับบีบีซีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลและบีบีซี จะต้องทำข้อตกลงกำหนดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากครัวเรือนเป็นรายปี โดยการทำข้อตกลงนี้มักจะมีการเจรจากันทุกสิบปี ต่อมาปรับเป็นทุกห้าปี และในปีนี้จะต้องมีการเจรจาให้ตกลงกันก่อนประกาศใช้ในเดือนเมษายนปีหน้าเป็นต้นไป (ค่าธรรมเนียมรายปีปัจจุบันนี้ อยู่ที่ 157.50 ปอนด์ต่อครัวเรือน)

เรื่องการจัดหาเงินทุนอุดหนุนบีบีซีจะกลายเป็นสนามรบสำคัญระหว่างผู้ที่จดจ้องจะลดบทบาทหรือล้มล้างสื่อสาธารณะแล้วให้กลไกตลาดมาตัดสินความอยู่รอดของสื่อ กับกลุ่มบุคคลที่ต้องการปกป้องบีบีซี ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าสมบัติของชาติ (national treasure)

ผู้บริหารของบีบีซีเองต้องการรักษาโมเดลแบบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่อไป เพราะเป็นการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างบีบีซีกับประชาชนผู้จ่ายเงิน ทำให้บีบีซีอยู่ห่างจากอำนาจรัฐ แต่รูปแบบนี้มีจุดอ่อนคือเหมือนการเก็บภาษีอัตราเท่ากันหมด ไม่ว่ายากดีมีจน ไม่ใช่ภาษีแบบก้าวหน้าที่เรียกเก็บตามระดับรายได้ของครัวเรือน หากมีการปรับเพิ่มทุกปีต่อไปเรี่อยๆ ประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่ยอมจ่าย

ส่วนฝ่ายที่ต้องการลดบทบาทบีบีซีก็จะหาวิธีตัดรายได้ให้น้อยลงตามลำดับ จนบีบีซีจะกลายเป็น PBS แบบอเมริกาที่ต้องอาศัยความปราณีของรัฐบาลที่จัดงบประมาณโดยตรงมาให้ส่วนหนึ่ง และการรับบริจาคจากประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้รายได้ไม่เสถียร ต้องทำงานในพื้นที่แคบ และทำให้เขี้ยวเล็บไม่แหลมคม

เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายอาชีพ 10 คน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล รับข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย และจัดทำประชาพิจารณ์ หาแนวทางปฏิรูประบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรม เหมาะสมกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ผู้บริโภคสื่อมีทางเลือกมากขึ้น แล้วทำข้อสรุปให้เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้ในปี 2022

คณะทำงานนี้คงจะต้องรับศึกหนักในฐานะเป็นสนามรบ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียและกลุ่มประชาชนฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านระบบการเก็บค่าธรรมเนียมโทรทัศน์ที่เปรียบเสมือนภาษีทางตรงอีกชนิดหนึ่ง ต่างก็จะส่งข้อโต้แย้งเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณา เป็นที่คาดหมายกันว่าจะเป็นสนามรบที่ดุเดือดแห่งหนึ่ง เพราะฝ่ายที่ต้องการปกป้องบีบีซีมองเห็นแล้วว่า มีฝูงปลาฉลามมาตีวงล้อมบีบีซีแล้ว เมื่อเห็นรายชี่อของคณะทำงานที่รัฐบาลบอริส จอห์นสันตั้งขึ้น พวกเขาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับวาระซ่อนเร้นของกรรมการบางคนในคณะทำงานชุดนี้

สำหรับผู้สนใจอนาคตของสื่อสาธารณะต้นแบบที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีขนาด กำลังคน และเงินทุนงบประมาณมากที่สุดในโลกขณะนี้ น่าจะต้องติดตามเฝ้าดูกันต่อไปว่าเกมการต่อสู้จะพลิกแพลงไปอย่างใด โดยเฉพาะปีหน้าจะเป็นปีที่บีบีซี มีอายุครบร้อยปี บีบีซีจะสามารถยืนโต้มรสุมที่เกิดจากความพลั้งพลาดของตนเอง และจากพายุร้ายที่มาจากภายนอกได้อีกนานแค่ไหน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save