fbpx
ปัญญาฝ่าวิกฤต COVID-19 ฉบับ “บรรยง พงษ์พานิช”

ปัญญาฝ่าวิกฤต COVID-19 ฉบับ “บรรยง พงษ์พานิช”

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

 

 

COVID-19 เป็นวิกฤตใหญ่ระดับ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของทุกคน เป็นวิกฤตประเภทที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยังมองไม่เห็นจุดจบปลายทาง นอกจากนั้น ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงทุกมิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม และที่สำคัญ เป็นวิกฤตที่เกี่ยวพันกับความเป็น-ความตายของชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตทางธุรกิจ

101 ชวนคุณผู้อ่านมาแสวงหาปัญญาฝ่าวิกฤต เรียนรู้ประสบการณ์สู้วิกฤต ฉบับ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งผ่านวิกฤตในชีวิตมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540  สำหรับ COVID-19 รอบนี้ บรรยง พงษ์พานิช ตีโจทย์และเตรียมรับมือกับวิกฤตใหญ่ครั้งนี้อย่างไร

 

เศรษฐกิจสะดุดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์?

 

ผมคิดว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังโควิด-19 เวลาเราพูดถึง new normal หรือการคาดการณ์เรื่องอะไรต้องสำเหนียกไว้เสมอว่ามีโอกาสผิดพลาด คุณอาจคาดการณ์เรื่องปัจจัยหรือความเป็นไปเพื่อวางแผนรับมือได้ แต่อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าจะถูก เพราะแม้กระทั่งตำราโหราศาสตร์ที่ว่าแน่ ก็ยังใช้คาดการณ์ไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ยังคงกินเวลาอีกระยะหนึ่ง จนกว่าเราจะพิชิตไวรัส มีหนทางรักษา หรือวัคซีนป้องกันที่ได้ผล และผลกระทบจากวิกฤตจะกว้างไกล ยาวนานกว่า 1 ปีแน่นอน โดยเฉพาะในมุมเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา พัฒนาการของโลกด้านเศรษฐกิจในช่วง 50 ปีค่อนข้างดีมาก ถ้าดูขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (Gross World Product : GWD) หลังจบสงครามโลก ปี 1950 ทั้งโลกมีมูลค่าผลผลิตรวมแค่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (มูลค่าที่เป็นตัวเงินในขณะนั้น) จนปี 1980 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นยุคเสรีนิยมใหม่ โลกมี GWD รวม 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมา 11 เท่า และในปี 2000 มี GWD 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โตขึ้นมาอีก 3 เท่า กระทั่งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว GWD มีมูลค่า 90 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

จะเห็นว่า ในแง่การขยายตัวของผลผลิต ในแง่ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจโลก ยุคที่ผ่านมาเป็นยุคที่โลกดีขึ้นอย่างมโหฬาร มีอัตราเติบโต 5% โดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นอัตราที่ผมใช้คำว่า ‘ดีที่สุด’ ตั้งแต่มีโลกมา

แต่ในปี 2020 นี้จะเป็นการสะดุดครั้งใหญ่ จะรุนแรงกว่าวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 และวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ส่วนจะหนักหนากว่า The Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930 ไหม เดี๋ยวเราคงได้เห็นกัน ผมว่าหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพราะโลกมันเปราะบางมากขึ้น ปีนี้ยังไม่รู้ว่าผลผลิตจะติดลบสักเท่าไร แต่ติดลบแน่นอน หลายคนที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายบอกว่าอาจติดลบถึง 10% ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

แม้ชัดเจนว่าเราต้องผ่านช่วงที่โลกสะดุดแรงที่สุด แต่อย่าไปกลัวมาก มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะผจญกับวิกฤตอย่างไร ต่อให้ติดลบ 10% ถ้าเราสามารถพิชิตโรคได้ เศรษฐกิจก็จะติดลบไปอีกอย่างมาก 2 ปีครึ่ง แล้วคงกลับมายืนที่เดิม นี่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วๆ ไปเวลาเศรษฐกิจเจอวิกฤตใหญ่ แต่ปัญหาคือคนเราอาจสะดุดไม่เท่ากัน บางคนอาจล้มพังพาบ ลุกไม่ขึ้นก็มี บางคนสะดุดแล้วตั้งหลักได้ คนบางคนอาจฉวยโอกาสจากวิกฤตได้ก็มี

 

Covid-19 vs ต้มยำกุ้ง

 

วิกฤตต้มยำกุ้งกับวิกฤตโควิด-19 แตกต่างกันทั้งสาเหตุและรูปแบบ ต้มยำกุ้งเกิดจากการลงทุนที่ผิดพลาด สะสมต่อเนื่องมาเป็น 10 ปีทั้งระบบ ซึ่งมีแรงจูงใจมาจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จนในที่สุด เกิดการไฟแนนซ์ที่ผิดพลาด คือ ใช้เงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศมาลงทุน ทำให้ทุกคนสะดุด ช็อก หนี้พุ่ง การลงทุนที่ผิดพลาดสร้างสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์คือสาเหตุสำคัญ

วิธีแก้วิกฤตต้มยำกุ้งคือ External Price Adjusting หรือลดค่าเงิน พอลดไป 50% ก็ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้น พวก tradable หรือผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ส่งออกได้ ก็ฟื้นก่อนพวก non-tradable อย่างอสังหาริมทรัพย์หรือภาคบริการในประเทศ วิกฤตต้มยำกุ้งยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ เพราะวิกฤตเกิดกับคนมั่งมี ขณะที่การฟื้นตัวเกิดจากการส่งออกบูม ค่าเงินลด ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะขายสินค้าได้เงินมากขึ้น แรงงานก็ดีขึ้นเพราะการส่งออกมาก ทำให้เกิดการจ้างงานมาก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปหลายส่วน รากหญ้าของสังคมได้ลืมตาอ้าปากจากวิกฤต รัฐบาลเองก็เฮง เพราะคนเหล่านี้รู้สึกดีด้วย

แต่วิกฤตคราวนี้ไม่เหมือนกัน เศรษฐกิจโลกดูเหมือนกำลังขยายตัวดีๆ ย้ำว่าเศรษฐกิจโลกนะครับ ไม่ใช่เศรษฐกิจไทย เพราะของเราแป้กมาหลายปีแล้ว พอ COVID-19 มาถึงประเทศไทย จะเห็นว่าช่วงแรกเราได้รับผลกระทบเยอะ หุ้นไทยตกมากกว่าประเทศอื่น เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางอยู่แล้ว COVID-19 กระทบหนักใน 2 ด้าน หนึ่ง เราพึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 14% ของ GDP ซึ่งกิจกรรมในภาคท่องเที่ยวหายไปทันที สอง เราพึ่งการส่งออกมาก ดังนั้น เมื่อดีมานด์ลดลงทั้งโลก เราก็ได้รับผลกระทบมาก เป็นเรื่องธรรมดา

อีกด้านหนึ่ง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ รัฐบาลเป็นคนสั่งให้เกิด เป็นคำสั่งที่มีเป้าหมายเพื่อให้ความสำคัญลำดับต้นกับด้านสาธารณสุข เป็นวิกฤตเศรษฐกิจจำเป็นเพื่อรักษาสุขภาพและชีวิตผู้คน ทั้งที่เราอาจจะเลือกแบบสวีเดนหรือบางประเทศที่เลือกเศรษฐกิจก่อน แต่เราก็ไม่เลือก ซึ่งผมเห็นด้วยกับรัฐบาลนะ นานๆ จะมีสักที (หัวเราะ) โดยพื้นฐานผมเป็นพวกเสรีนิยมใหม่ คือไม่ชอบรัฐ ไม่อยากให้รัฐทำอะไรเกินความจำเป็น แต่เมื่อต้องเจอกับวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น The Great Depression หรือสงคราม มีแค่รัฐเท่านั้นที่จะสามารถรวบรวมทรัพยากรขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาได้ เพราะกลไกตลาดปกติไม่สามารถทำงานในยามนี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราลงมือช้าไปหน่อย ถ้าลงมือเร็วกว่านี้ เราอาจจะเหมือนไต้หวัน เวียดนาม ที่ตอนนี้เปิดทุกอย่างได้แล้ว

 

โจทย์ของรัฐไทยในการสู้ COVID-19

 

งานยากสำหรับรัฐไทยในความเห็นของผมมีอยู่ 3 ประเด็น ประเด็นแรก รัฐเป็นคนล็อกดาวน์ ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น ความยากคือจะยื้อ จะผ่อน จะคลายอย่างไร ตอนนี้ผมคิดว่าคลายช้าไปแล้ว และคลายแบบไม่ค่อยได้ผล ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ใกล้ศูนย์มาหลายวันแล้ว แต่มาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจยังน้อยเกินไป ต่อให้เรากลัวการระบาดระลอกสองแค่ไหน จะคลายหรือไม่คลาย อย่างไรมันก็หนีไม่พ้น ดังนั้น เราน่าจะคลายเสียก่อน ถ้ามีระลอกสองตามมา ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต้องรับมืออย่างไรถึงจะป้องกันได้ผล

ประเด็นที่สอง หากต้องรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลจะมีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ได้รวดเร็วแค่ไหน

ประเด็นที่สาม ทีมวิจัยของภัทรเพิ่งคาดการณ์ล่าสุดว่า GDP จะติดลบ 9% นี่เป็นการเปลี่ยนการคาดการณ์ครั้งที่สามแล้ว จากลบ 2.4% เป็น 6.8% และมาเป็น 9% ถ้าในอนาคตมีเปลี่ยนอีก ก็คงยิ่งมากขึ้นอีก  การที่ GDP ติดลบ 9% ถือว่าหนักมากนะครับ เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเยียวยาจุดที่เดือดร้อนมากที่สุด ทำอย่างไรที่จะหยุดยั้งไม่ให้วิกฤตลุกลามไปมากกว่านี้ ไม่ให้ระบบการเงินพังทลาย ระบบเศรษฐกิจทรุดไปมากกว่านี้ มีแต่รัฐเท่านั้นที่ทำได้

ผมเห็นด้วยกับ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ว่าต้องมี ‘5T

T ที่หนึ่งคือ Titanic ขนาดต้องใหญ่พอ ตอนนี้เราประกาศใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP ผมเชื่อว่าก็ยังไม่พอ คงต้องเพิ่มอีก หลายคนอาจกลัวว่ามันจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยโชคดีว่าเรามีวินัยการคลังค่อนข้างดีมาตั้งแต่สมัยยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เรามีหนี้สาธารณะแค่ 40% ต่อให้ขึ้นไป 60% ก็ยังถือว่าต่ำเกือบจะที่สุดในโลก และเรามีวิธีการลดหนี้สาธารณะหลายทาง ถ้าเศรษฐกิจกลับไปเติบโต รายได้รัฐก็เพิ่ม หรือจะขึ้นภาษีก็ยังได้ ผมยกตัวอย่างภาษีที่ควรจะขึ้น เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลดจาก 30% เป็น 20% ตอนนี้จะเพิ่มให้เป็น 25% ก็ยังได้ มีผลกระทบน้อยมากต่อการแข่งขันของกิจการไทย หรือเพิ่มภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีลดหนี้สาธารณะที่ง่ายที่สุด คือการขายรัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็นทิ้งไป

T ที่สองคือ Timely มาตรการต้องทันเวลา ไม่ใช่ปล่อยพังแล้วไปซ่อมทีหลัง ราคาจะแพงกว่ามาก มาตรการที่ออกมาตอนนี้ใช้ได้ แต่ช้าไปหน่อย คนเดือดร้อนยังไม่ได้รับเงินก็เยอะ เรื่องนี้ต้องโทษระบบข้อมูลของรัฐ นี่ก็เป็นโอกาสที่ดีในการถือโอกาสปรับปรุงฐานข้อมูลให้ดีขึ้น กลไกรัฐต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

T ที่สามคือ Target ต้องตรงจุด ซึ่งงบประมาณของรัฐต้องให้ความสำคัญเรื่องสาธารณสุขเป็นลำดับแรก ต้องมีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์พร้อมรับมือโรคระบาด

นโยบายสาธารณสุขในช่วงแรกบอกว่าต้องการ flatten the curve แต่ตอนนี้มันยิ่งกว่านั้นแล้ว มันทุบจนแบนแล้ว โจทย์ของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การทำให้ผู้ป่วยเหลือศูนย์ แต่คือการทำให้จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับที่ไม่เกินกำลังของระบบสาธารณสุขจะรับไหว ตอนนี้เราเข้มงวดมากไป ผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลเหลือร้อยกว่าคน ถึงจะได้รับการสดุดี แต่ทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงโดยไม่จำเป็น

กลุ่มที่รัฐต้องให้ความสำคัญในเวลานี้คือคนเดือดร้อน คนที่ไม่มีกิน ผมคิดว่าเกณฑ์การให้เงินเยียวยาควรผ่อนคลายให้มาก ให้เต็มที่ไปเถอะครับ คนที่ลงทะเบียนมา 20 ล้านคน คนละ 15,000 บาท เราสามารถให้ได้นะครับ ให้มากและนานกว่านั้นก็ยังได้

Target ที่ยากอีกจุดหนึ่งคือ ต้องเลี้ยงระบบเศรษฐกิจไม่ให้ล้ม ไม่ให้การผลิตพังทลาย ทำอย่างไรไม่ให้ระบบการเงินล่ม ผมเห็นด้วยกับมาตรการซื้อตราสารหนี้ในวงเงิน 4 แสนล้านของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ ทั่วโลกเขาทำกันหมด เพราะถ้าคุณปล่อยให้บริษัทพัง มันจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เกิดเป็นวิกฤตการเงินซ้อนขึ้นมา แต่จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเป็นอีกประเด็น สำหรับวิธีที่ ธปท. ทำอยู่ทุกวันนี้ ผมถือว่ายอมรับได้ ความสำคัญคือต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถอธิบายได้กระบวนการตัดสินใจได้อย่างโปร่งใส

อีก 2T เป็นเรื่องยากที่สุด คือ T ที่สี่ Transparency ทุกอย่างต้องโปร่งใส ต้องแน่ใจว่าทรัพยากรที่รัฐรวบรวมมาทั้งหมดไม่รั่วไหล มีประสิทธิภาพ เปิดให้คนตรวจสอบได้ ไม่ให้คนมาฉวยโอกาส และ T สุดท้าย คือ Temporary ใช้แค่ชั่วคราว เรื่องนี้ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐไหนใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วอยู่ตลอดจะเกิดปัญหา รัฐควรแทรกแซงตลาดเท่าที่จำเป็น พยายามให้เอกชนเป็นคนลงมือทำ แล้วรัฐรีบถอยให้เร็ว

ผมกลัวว่าจากวิกฤตนี้ ถ้ารัฐไทยปล่อยให้ทรัพยากรอยู่ในมือของระบบราชการซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นเวลานาน ไม่ยอมถอยออกมา แต่กลับสร้างหน่วยงานใหม่ สร้างงบประมาณถาวร ในระยะยาวมันจะกลายเป็นหายนะ

 

พาองค์กรฝ่าวิกฤตด้วยแนวคิดฉบับ ‘บรรยง’

 

ในความเห็นของผม การที่องค์กรเตรียมตัวพร้อมรับมือวิกฤตจนเป็นวิถีปกติคือเรื่องสำคัญ ถ้าคุณอยู่ในแวดวงการจัดการธุรกิจจะมีคำอยู่ 3 คำที่ได้ยินตลอดเวลาในระยะหลัง คือคำว่า agile ที่แปลว่าความคล่องตัว resilient คือความยืดหยุ่น พร้อมที่จะลุกขึ้นมา พร้อมที่จะปรับตัวเมื่อเจอเหตุการณ์อะไรก็ตาม และคำสุดท้ายคือ disrupt เราอยู่ในยุคที่โลกกำลังถูก disrupt คนที่จะผ่านไปได้ดี คือคนที่เตรียมตัวอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น ใครที่มีคุณสมบัติ 3 เรื่องนี้ และมีอีกสิ่งที่สำคัญมากคือ data หรือข้อมูล ถ้ามีข้อมูลพร้อมก็จะปรับตัวได้ดีกว่า

ต่อมาเมื่อเจอวิกฤตแล้ว สิ่งที่องค์กรต้องทำคือ สำรวจตัวเอง ว่าเราอยู่ในสภาพที่พร้อมรับมือวิกฤตแค่ไหน และเผชิญหน้ากับความจริงที่โหดร้าย จะโหดร้ายแค่ไหนก็ต้องยอมรับและฝ่าฟันสู้มัน

ผมมีหลักเผชิญวิกฤต 6 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 คือคุณต้องเข้าใจว่าอะไรคือวิกฤต วิกฤตคือสิ่งที่เราไม่คาดฝัน ไม่พึงปรารถนาให้เกิด และสิ่งนั้นจะนำเราไปสู่หายนะ คุณต้องชี้ให้ได้ว่าวิกฤตที่เจอคืออะไร หายนะคืออะไร worst case คืออะไร

ขั้นที่ 2 ผมยึดหลักของ Jack Welch จากหนังสือ ‘Control Your Destiny or Someone Else Will’ ว่าเวลาเกิดวิกฤตอย่าไปฝากชีวิตไว้กับคนอื่น เราต้องควบคุมสถานการณ์ของเราให้ได้มากที่สุด เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ แต่อย่าเอาชีวิตไปแขวนกับเขา

ขั้นที่ 3 คือ หลังจากระบุวิกฤตได้ คุณต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุด สำรวจว่ามีอะไรบ้างที่เป็นกำลังสำรอง รวบรวมทรัพยากรให้มากที่สุด

ขั้นที่ 4 คือ คุณต้องวิเคราะห์ข้อมูลและทรัพยากร ว่าด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้น ข้อมูลและทรัพยากรที่มีจะนำไปสู่อะไร

ขั้นที่ 5 คือ คุณต้องพัฒนาทางเลือก ว่าทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ ทางเลือกไหนที่มีความเสี่ยง ทางเลือกไหนที่มีความเสียหาย คนทั่วไปมักอยากผ่านวิกฤตโดยไม่เจ็บตัวเลย มันเป็นไปไม่ได้ ทางเลือกบางอย่างอาจจะต้องบาดเจ็บ เสียหายบ้าง แต่โอกาสสำเร็จมันสูง

ขั้นสุดท้าย คือ การตัดสินใจว่าจะเอาทางเลือกไหน

ขั้นตอนทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำครั้งเดียวจบนะครับ ต้องวนไปเรื่อยๆ ต้องละเอียดกับมัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Be Calm มีสติตลอดขั้นตอนทั้งหมด อย่าตื่นตระหนก

 

Face the Brutal Facts – ลดคน พ้นวิกฤต

 

ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือของผมว่า เมื่อคนเจอวิกฤต มีแค่ 3 ทางเท่านั้น คือทน แก้ หรือหนี คนที่แย่ที่สุด คือ คนที่ทนร่ำไป เพราะไม่มีศักยภาพแก้ไขอะไรเลย รองลงมาคือ คนที่หนีตลอด เพราะคุณก็จะเจอปัญหาตลอดไป และสุดท้ายคือ คนที่แก้อย่างดันทุรัง

คนฉลาดต้องทำทั้งสามอย่าง เริ่มด้วยการแก้ ระหว่างแก้ก็ต้องอดทน เพราะถ้าดีดนิ้วแล้วจบเรื่อง แบบนั้นไม่เรียกว่าปัญหา และคุณต้องรู้ว่าจุดไหนที่ต้องหนีเหมือนกัน คำว่าหนีไม่ได้แปลว่าเผ่นไปไหน แต่แปลว่าคุณอาจต้องปล่อยมันไป เอาตัวเองออกจากปัญหาบ้าง

นั่นเป็นตอนที่เจอปัญหาทั่วไป แต่ในวิกฤตแบบนี้ คุณหนีไม่ได้ ก็ต้องเตรียมตัว วิเคราะห์กำลังและประสิทธิภาพของตัวเอง เรื่องหนึ่งที่คนมักเจ็บปวด ไม่อยากทำหรือไม่ยอมทำจนทำให้วิกฤตยิ่งหนัก คือเรื่องการลดคน ถ้าจำเป็นจริงๆ เราต้องวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่า คนบางส่วนที่ในยามปกติเราอาจจะอุ้มกันไปก่อน มายามนี้อาจจะอุ้มไม่ไหวแล้ว นี่อาจเป็นจังหวะที่จะต้องลด

ในชีวิตการทำงานของผม ผมเคย lay off คนมา 3 ครั้ง ทุกครั้งถามว่าเจ็บปวดไหม ก็เจ็บปวด แต่มาวันนี้ก็รู้สึกว่าทำถูกทุกครั้ง และดีต่อองค์กร หรือแม้แต่กับคนที่ถูก lay off ด้วยในหลายๆ กรณี เพราะบางครั้ง องค์กรไม่สามารถอุ้มคนจำนวนมากได้ และหลายๆ ครั้ง สภาพองค์กรที่เปลี่ยนไปจากการแข่งขัน ความเปลี่ยนแปลงจากวิกฤต หรือความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ทำให้คนบางกลุ่มอาจไม่เหมาะกับองค์กรแล้ว คนที่ยังหนุ่มยังสาวไม่ควรอยู่ในที่ที่เขาไม่สามารถสร้าง productivity ได้เต็มที่ ฉะนั้น การ lay off บางทีก็เป็นการปลดปล่อย ให้เขาไปหาที่ที่สร้าง productivity ได้เต็มที่

ยกตัวอย่างตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง เราวิเคราะห์อย่างรวดเร็วและรู้ว่าบริษัทเงินทุนคงจะไปไม่รอด เลยตัดสินใจสงวนส่วนที่มีค่าที่สุดไว้ โดยขายบริษัทหลักทรัพย์ให้ฝรั่ง การขายนั้นช่วยให้มีบริษัทหลักทรัพย์ภัทรมาจนทุกวันนี้ ไม่งั้นคงล่มสลายไปเหมือนบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง บริษัทหลักทรัพย์ธนสยาม

การที่เรายอมขายเป็นการเผชิญความจริงอย่างหนึ่ง ยอมตัดอวัยวะเพื่อให้รอด ได้เงินมา 5 พันล้านบาทบรรเทาความเสียหาย ยื้อบริษัทแม่ได้สักพัก แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด หลังจากทำไปได้ 3 ปี เราก็พบว่าบริษัทในตอนนั้นใหญ่เกินไป ตลาดทุนไม่ได้ฟื้นหลังวิกฤตดีอย่างที่เราฝัน ดังนั้น ผมเลยต้อง lay off พนักงานอีก 150 คน จาก 350 คน ในวันเดียว

ผมเรียกพนักงานทั้งบริษัทประชุมพร้อมกัน อธิบายให้ฟังว่าโลกเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน เราไปด้วยกันทั้งหมดไม่ได้ ต้องขอโทษที่ฝ่ายบริหารต้องเป็นคนเลือกว่าใครจะอยู่ต่อ ขอโทษที่บางคนไม่สามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้ เราก็อยากจะให้ช่วยกันทำ แบ่งกันกิน แต่บางครั้ง มันไม่ได้ผลดีในระยะยาว เพราะทุกคนต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ถ้าองค์กรพยายามกระเตงทุกคนโดยไม่มีทรัพยากรให้มากพอ สุดท้ายก็จะเหลือแต่คนไม่เก่ง ไม่มีใครมีหน้าที่เสียสละให้ใครในเรื่องแบบนี้

ผมอธิบายอย่างชัดเจนว่าทำไมถึงทำ มีมาตรฐานอะไร จะช่วยเขาได้อย่างไร ฟังดูเหมือนโหดนะครับ แต่ผมบอกทุกคนว่าเดี๋ยวเลิกประชุมแล้ว ขอให้ทุกคนกลับไปที่โต๊ะ ถ้าใครเข้าระบบไม่ได้ ขอเวลาครึ่งชั่วโมงให้เก็บของ นี่ไม่ใช่เรื่องการไม่ให้เกียรติ แต่เป็นเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัย แล้ววันหลังเราค่อยไปเลี้ยงลากันอีกที ทำง่ายๆ แบบนั้น แต่หลังจากนั้นทุกคนก็ได้งานหมด เดี๋ยวนี้บางคนใหญ่กว่าผมอีก

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากวิกฤตต้มยำกุ้งและการ lay off คน คือ job security ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ where you are แต่เป็น what you have

 

มองอนาคตหลัง COVID-19

 

หากถามผมว่าหลัง COVID-19 ภาคธุรกิจไหนจะฟื้นก่อน ผมว่าธุรกิจที่ค้าขายกับรัฐ เพราะรัฐจะขยายตัวแน่นอนในระยะสั้น ใครค้ากับรัฐจะได้อานิสงส์ก่อน แต่จะเป็นการค้าแบบไหน ขาวสะอาดไหม นั่นอีกเรื่องหนึ่ง และผมเชื่อว่ามันจะไม่เหมือนครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง รอบนี้ non-tradable มีแนวโน้มจะฟื้นก่อน tradable เพราะเศรษฐกิจแย่ทั้งโลก ดังนั้น ส่วนที่แข่งขันกันในประเทศอาจตั้งหลักได้เร็วกว่า ประเทศไทยยังมีทรัพยากรที่จะฟื้นตัวได้

ธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีจะสามารถปรับตัวได้เร็ว เพราะเผอิญเราอยู่ในยุค technology disruption กันอยู่แล้ว ฉะนั้น COVID-19 จะทำให้เกิดการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีเร็วขึ้น พวกเศรษฐกิจเก่าจะอ่อนแอ หากไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้

ประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ คือ เรื่องแนวโน้มของกระแสโลกาภิวัตน์ หลังวิกฤตโลกจะแยกออกจากกันหรือรวมกันมากขึ้น? ฟังดูไกลตัว แต่เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการสร้างโอกาสหลังวิกฤตของเราทั้งนั้น เราต้องเชื่อมโยง มองบริบทการเปลี่ยนแปลงให้ออก ในวันนี้ ผมคิดว่าโลกน่าจะรวมกันมากขึ้น เพราะ COVID-19 จะยิ่งพิสูจน์ว่าการแยกกันไม่มีประโยชน์ การรวมกันต่างหากที่ทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น แต่ผมเองก็ยังมองไม่ออกว่าจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน

อีกเรื่องที่ผมยังมองไม่ออก และพยายามอ่านอยู่ คือ ภูมิรัฐศาสตร์โลก จะเปลี่ยนไปอย่างไร เรื่องนี้สำคัญนะครับ และจะสำคัญมากกว่าเดิมหลังวิกฤต เพราะมาตรการของรัฐบาลทุกประเทศเป็นการขยายรัฐหมด ผลการเลือกตั้งในอเมริกาก็จะมีส่วนสำคัญต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตอย่างมาก

 

ความน่ากังวลของรัฐไทยหลังภัยโรคระบาด

 

เรื่องการเมือง ผมห่วงว่าการขยายรัฐจะทำให้เกิดการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น ผมเชื่อว่าถ้ารัฐทำมาก ประเทศจะเฉื่อย รัฐต้องทำเท่าที่จำเป็นแล้วถอยออกไปเร็วๆ ที่ผมกลัวคือเมืองไทยไม่มีเซนส์นั้น และตอนนี้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหามาก ดังนั้น เราอาจกลับสู่ระบบอุปถัมภ์มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ในความเห็นผม ไม่มีทางที่รัฐไทยจะทำงานได้ฉลาดขึ้น หลังจากเคยมีโอกาสเข้าไปทำงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดมา 2 ปีครึ่ง ต้องบอกว่าข้าราชการที่ดีและเก่งยังไงก็ไม่พอ เพราะในระบบรัฐไม่มีแรงจูงใจที่ดี ปัจจุบัน มันพ้นยุคเทคโนแครตแล้วครับ คนละบริบท คนละสถานะกับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2500 ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นประเทศที่จนที่สุดในอาเซียน เลยต้องใช้รัฐนำ แต่วันนี้เราต้องใช้ตลาดนำ

อีกเรื่องคือ รัฐธรรมนูญ ผมว่าอย่างไรก็ต้องแก้ ทั้งวิธีการเข้าสู่อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย วิธีการที่เอารัดเอาเปรียบทุกอย่างในทางการเมือง และผมเรียกร้องให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทันที ผมช้ำใจมากที่เมื่อต้นเดือน คณะรัฐมนตรีมีมติขึ้นค่าตอบแทนให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งหมด ทั้งๆ ที่มาถึงวันนี้พิสูจน์แล้วว่า แผนต่างๆ ที่ทำไม่มีประโยชน์เลย คาดการณ์ทุกอย่างผิดหมด ต้องฉีกทิ้งหมด ยิ่งวิกฤตครั้งนี้ยิ่งพิสูจน์เลยว่าเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมาวางแผนอนาคตอีก 20 ปี เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

บรรยง พงษ์พานิช ในวันนี้

 

สิ่งที่ทำให้ผมยังไม่หยุดทำงานอยู่มี 2 อย่าง หนึ่งคืออยากเรียน ถ้าเลิกทำงานนี่โง่แน่นอน ผมยังอยากอยู่ในกระแสที่ต้องเรียนรู้ ติดตามและพัฒนา เพื่อความสนุกของผมเอง สองคืออยากเป็นผู้ให้ ให้ประสบการณ์ อยากถ่ายทอดความรู้ อยากใช้ชีวิตแบบสำราญชน คือใช้ชีวิตสบายๆ อ่านเขียน เดินทาง และถ่ายทอดความคิดออกมาสู่สังคม ก็เท่านั้น

สิ่งที่อยากฝากไว้คือ ในชีวิตของเราจะเจอทางแพร่ง (dilemma) ท่ามกลางวิกฤตอยู่หลายครั้ง คุณต้องมีสติ วิเคราะห์ และในที่สุดต้องตัดสินใจ เมื่อเลือกแล้ว คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าถ้าเลือกอีกทางหนึ่งจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้น เมื่อย้อนกลับไปมองชีวิตของเรา ต้องไม่นึกเสียใจกับมัน แต่ต้องหาบทเรียน หาข้อมูลเพิ่ม เพื่อเผชิญหน้ากับ dilemma ครั้งต่อไป ประสบการณ์ในอดีตไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จ ต่างก็เป็นวัตถุดิบให้คุณตัดสินใจครั้งต่อไปได้ดีขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save