fbpx
บันทึกลับจาก ‘บางกลอย’ ปฐมบทการต่อสู้ของ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’

บันทึกลับจาก ‘บางกลอย’ ปฐมบทการต่อสู้ของ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เรื่อง

 

#saveบางกลอย น่าจะกลายเป็นแฮชแท็กที่เริ่มคุ้นตาคนจำนวนหนึ่งแล้วในขณะนี้ จากเหตุการณ์ที่ชาวกะเหรี่ยงจาก ‘บ้านบางกลอย’ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมตัวกันประมาณ 80-90 คน กลับขึ้นไปทำมาหากินในถิ่นฐานเดิมที่เคยอพยพลงมา ซึ่งเรียกกันว่า ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ จนมีข่าวว่าทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะจัดเจ้าหน้าที่ 4 ชุดเดินเท้าเข้าไปติดตาม แต่จนถึงขณะที่เขียนอยู่นี้ (24 มกราคม 2564) ก็ยังไม่พบว่ามีการเข้าจับกุม

เมื่อมีข่าวว่าการกลับไปของชาวกะเหรี่ยงจะถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม ทำให้กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนแสดงออกในประเด็นนี้ เพราะมองว่าชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอาศัยอยู่อย่างชอบธรรมมาตลอด เนื่องจากอยู่มาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ และมีภูมิปัญญาในการดูแลรักษาป่า จนเกิด #saveบางกลอย ขึ้นมา

หลายคนคงรู้ดีว่านี่เป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่ทั้งโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์นับร้อยปี และหลายคนคงรู้ว่าในปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่รัฐเคยเข้าไปไล่รื้อจับกุม เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ตั้งข้อหาบุกรุกป่า และตั้งข้อหาเป็นกองกำลังติดอาวุธ ในพื้นที่ ‘บางกลอยบน’ หรือ ‘ใจแผ่นดิน’ ภายใต้ชื่อ ‘ยุทธการตะนาวศรี’

หลายคนคงรู้แล้วว่าที่นี่มีนักต่อสู้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอายุกว่า 100 ปี ชื่อ ‘ปู่คออี้’ และมีหลานชายชื่อ ‘บิลลี่’ ที่ลุกขึ้นมาสู้จนหายสาบสูญไป 5 ปี ก่อนจะมาพบชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถจับคนที่ทำร้ายเขามาลงโทษได้

และนี่เป็นครั้งแรกที่ ‘ผม’ ในฐานะนักข่าวชุดแรกที่เข้าไปพบเรื่องนี้ระหว่างเฮลิคอปเตอร์ตกในป่าแก่งกระจาน จะขอเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน

 

—————————-

 

มาถึงตรงนี้ ใครที่ไม่ได้ติดตามประเด็นนี้คงจะสับสนกับชื่อเรียกต่างๆ ไม่น้อย เพราะมีทั้ง บางกลอย บางกลอยบน และใจแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อจะเขียนเรื่องนี้แล้ว เราจะเรียนประวัติศาสตร์ที่นี่กันอย่างจริงจังสักที

ดูตามที่ตั้งกันก่อน ถ้าคุณเดินทางโดยรถยนต์จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง (เส้นทางเป็นหินสลับลำห้วย) ก็จะเจอที่แรกคือ ‘บ้านโป่งลึก’ และหากขึ้นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเพชรบุรีไป ก็จะพบ ‘บ้านบางกลอย’ ซึ่งปัจจุบันคือ หมู่ 1 และหมู่ 2 ในตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนปี 2538 เราจะพบว่าบริเวณนี้ไม่มี ‘บ้านบางกลอย’ มีแต่ ‘บ้านโป่งลึก’ ซึ่งกินพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี จนอาจเข้าใจผิดได้ว่าคนที่บ้านบางกลอยคือคนที่อพยพเข้ามาใหม่ ซึ่งความจริงไม่ใช่แบบนั้น

 

 

กลับมาดูที่ตั้ง จาก ‘บ้านบางกลอย’ ซึ่งจากบรรทัดนี้ไปจะใช้ชื่อเรียกใหม่ว่า ‘บางกลอยล่าง’ เดินตามฝีเท้าของชาวกะเหรี่ยงไปอีก 1 วัน จะไปถึงจุดที่เรียกว่า ‘บางกลอยบน’

และหากเดินด้วยฝีเท้าของชาวกะเหรี่ยงจาก ‘บางกลอยล่าง’ ผ่าน ‘บางกลอยบน’ ไปถึง ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นบ้านของ ‘ปู่คออี้’ จะใช้เวลาเดินทาง 3 วัน

‘บ้านบางกลอยบน’ นี่เอง เป็นหนึ่งในจุดที่ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานบางส่วนไปอาศัยอยู่ รวมทั้งครั้งนี้ด้วย

แต่ ‘บางกลอยบน’ ไม่ใช่พื้นที่ใหม่ ไม่ใช่การไปถางป่าเพื่อสร้างหมู่บ้านใหม่ เพราะแท้จริงแล้ว ที่นั่นคือ ‘บ้านเดิม’ ของชาวกะเหรี่ยงบางส่วนที่ลงมาอยู่ ‘บางกลอยล่าง’

มีหลักฐานของกรมการปกครองที่ระบุชัดเจนว่า ‘บ้านบางกลอยบน’ เดิมทีเป็นบ้าน ‘หมู่ที่ 7’ อยู่ในเขตตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนายยอง เจริญสุข รับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2514 (ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานปี 2524) และพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี 2533 ผู้ใหญ่บ้านคนต่อมาชื่อนายนิรันดร์ พงษ์เทพ อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี 2534 – 2551

 

 

แต่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2536 บ้านบางกลอยบนถูกประกาศแยกออกจากตำบลสองพี่น้อง แล้วเข้ามาอยู่ในเขตกิ่งอำเภอแก่งกระจาน

ส่วนอีกจุดหนึ่งที่ไกลออกไปอีกคือ ‘ใจแผ่นดิน’ บ้านเกิดของ นายโคอิ มีมิ หรือ ‘ปู่คออี้’ ปู่แท้ๆ ของบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ สองนักต่อสู้ชาวกะเหรี่ยงผู้ล่วงลับไปแล้ว แม้จะไม่มีหลักฐานว่าเป็นหมู่บ้านตามเอกสารของกระทรวงมหาดไทย แต่ก็มีหลักฐานมากมายว่าเป็นหมู่บ้านที่มีอยู่จริง

หลักฐานแรกคือภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2515 ของบริเวณที่ถูกระบุว่าคือ ‘ใจแผ่นดิน’ ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดิน ต่อมามีภาพแผนที่ระบุที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน

 

 

ชิ้นที่สอง มีแผนที่ทหารปี 2455 ระบุถึงที่ตั้งของบ้านใจแผ่นดินไว้ด้วย

 

 

ชิ้นที่สาม คือคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ยืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานเป็นกลุ่มคนดั้งเดิม และรองรับว่า ‘ใจแผ่นดิน’ เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีอยู่จริง

และเมื่อปี 2547 เจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาเข้าไปสำรวจเพื่อทำข้อมูลชาวเขา โดยเดินไล่จากสังขละบุรี ผ่านไปถึงสวนผึ้ง ลึกเข้าไปจนพบวิธีการอาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่นั่น พวกเขาปลูกบ้านที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาติเรียบง่าย ตั้งโดดห่างจากกันหลังละประมาณ 2 กิโลเมตร ทำไร่หมุนเวียนแค่พอเลี้ยงปากท้องในวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ และมาพบบ้านหลังหนึ่งที่มีผู้อาศัย 4 คน ชื่อ นายโคอิ เป็นพ่อ นางนอตะกี เป็นแม่ และลูกชาย 2 คน คือ นายหน่อเอะ และนายหน่อสะ แต่ที่นี่ไม่มีชื่อเรียก จึงเขียนในเอกสารว่า ‘บางกลอย 4’ จนมารู้ภายหลังว่าสถานที่นั้นก็คือ ‘ใจแผ่นดิน’

ทั้ง ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ หายไปในปี 2538

 

 

—————————-

 

ปี 2538 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้นคือนายสามารถ ม่วงไหมทอง ได้เจรจาขอให้ชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานที่อาศัยอยู่ที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน อพยพลงมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ โดยจะตั้งหมู่บ้าน บอกว่าจะมีที่ทำกิน ทำให้ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานยินยอม

พื้นที่ที่จัดสรรให้ เดิมทีก็คือหมู่บ้าน ‘โป่งลึก’ นั่นเอง โดยรัฐไปเจรจาให้แบ่งพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเพชรบุรีให้ชาวกะเหรี่ยงที่ลงมาจากบางกลอยบนและใจแผ่นดิน จนตั้งเป็นหมู่บ้าน ‘บางกลอย’ อย่างในปัจจุบัน

บ้านโป่งลึกกลายเป็นหมู่ที่ 1 และบ้านบางกลอยเป็นหมู่ที่ 2 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน

ดังนั้นคนที่บ้านบางกลอย (ล่าง) จึงไม่ใช่คนที่อพยพเข้ามาใหม่ แต่เขามีถิ่นฐานเดิมอยู่ในป่าแก่งกระจาน อยู่มาก่อนจะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมทุกอย่างที่จะอยู่ในพื้นที่นี้ และก็ชัดเจนว่าพวกเขาอยู่กันมานับร้อยปี หรืออาจนานกว่านั้นมาก ป่าแก่งกระจานก็ยังอุดมสมบูรณ์

แต่ปัญหาหลังจากการอพยพลงมาแล้วก็เกิดขึ้น เพราะพื้นที่ใหม่ที่รัฐจัดสรรให้มีปัญหา บางครอบครัวทำมาหากินไม่ได้ เพราะที่ทำกินเป็นลานหิน และบางครอบครัวอพยพลงมาแล้วก็ไม่ได้ที่ทำกิน ทำให้มีคนบางส่วนพยายามกลับขึ้นไปยังถิ่นฐานเดิม คือบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2538-2539 เรื่อยมา ดังที่เจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาไปพบปู่คออี้ในปี 2547 ที่ใจแผ่นดิน และระหว่างนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการจับกุมหรือผลักดันพวกเขา

จนมาถึงปี 2553 ยุทธการตะนาวศรี

 

—————————-

 

ปี 2553 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่มีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยาน เริ่มยุทธการตะนาวศรี เข้าไปจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ออกจาก ‘บางกลอยล่าง’ ที่รัฐจัดไว้ไปอาศัยทำกินที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ประมาณ 10-12 ครั้ง จนกระทั่งเรื่องมาถูกเปิดเผยเมื่อปี 2554 จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในป่าแก่งกระจาน

16 กรกฎาคม 2554 เฮลิคอปเตอร์รุ่นฮิวอี้ของหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ พล.ร.9 ตกในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ลูกเรือทั้ง 5 นายถูกรายงานว่าเสียชีวิตทั้งหมด ทำให้กองทัพบกตั้งศูนย์บัญชาการที่ค่ายรบพิเศษแก่งกระจาน เพื่อระดมกำลังจากทุกหน่วยงานเข้าไปนำร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 5 นายกลับออกมาให้ได้ โดยมีพลโทอุดมเดช รัตนเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

กองทัพบกแถลงว่าเครื่องฮิวอี้ตกเพราะ “อากาศปิด ทัศนวิสัยไม่ดี”

วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ภารกิจกู้ร่างทหารทั้ง 5 นาย เริ่มด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ที่มีสมรรถนะดีที่สุดเท่าที่กองทัพไทยมีอยู่ คือ ‘แบล็กฮอว์ก’ เป็นยานพาหนะ มีผู้บัญชาการ พล.ร.9 พลตรีตะวัน เรืองศรี นำทีมค้นหารวม 9 คน ซึ่งมีทั้งนักบิน ผู้ช่วยนักบิน หน่วยรบพิเศษแก่งกระจาน (พลร่ม) และสื่อมวลชน ก่อนที่จะพบว่าแบล็กฮอว์กหายไปจากจอเรดาร์อีกลำ และยืนยันภายหลังว่าเครื่องบินชนภูเขา ตกห่างจากลำแรกประมาณ 2 กิโลเมตร

แบล็กฮอว์กเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดที่กองทัพไทยใช้อยู่ในขณะนั้น ถือเป็นเครื่องบินขนส่งทางยุทธวิธีที่ติดตั้งอาวุธได้หลากหลาย มีระบบขึ้นลงแนวดิ่ง มีระบบ auto pilot คือบินอัตโนมัติได้ โดยปกติจะใช้รับส่งบุคคลสำคัญของรัฐบาล

คำแถลงของกองทัพ ให้เหตุผลว่า “อากาศแปรปรวนกะทันหัน” และเมื่อค้นหาพบก็ได้ข้อสรุปว่าทั้ง 9 คนเสียชีวิต

เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำของกองทัพไทยตกในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ในเวลาห่างกันเพียง 3 วัน ย่อมเป็นประเด็นใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องสภาพอากาศหรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม

ผมตัดสินใจขออนุมัติให้ตัวเองลงไปทำข่าวนี้ เพื่อหาประเด็นเสริมระหว่างการค้นหาเฮลิคอปเตอร์ สิ่งที่ผมสนใจในเวลานั้นคือ ภารกิจของฮิวอี้ลำแรกคืออะไร

ทันทีที่ไปถึงแก่งกระจาน ในวันที่กำลังเริ่มการค้นหาแบล็กฮอว์ก หน่วยต่างๆ ก็ลงมาเสริมในพื้นที่มากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนาวิกโยธิน (หน่วยรบพิเศษ กองทัพเรือ) อากาศโยธิน (หน่วยรบพิเศษ กองทัพอากาศ) เพื่อค้นหาให้เร็วที่สุด โดยมีเจ้าภาพคืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นผู้นำทาง

ผมออกจากค่ายรบพิเศษแก่งกระจานในไม่กี่นาทีที่ไปถึง หลังได้ข้อมูลเล็กน้อยว่าจะไปหาสิ่งที่ต้องการได้จากที่ไหน ผมจึงไปที่สำนักงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อถามข้อมูลจากคนกลุ่มนั้น ที่นั่นเงียบสงบ ไม่อยู่ในความสนใจใดๆ มีเพียงกลุ่มของเราเท่านั้นที่เข้าไป

หลังแนะนำตัว เราต้องใช้เวลาพูดคุยไปเรื่อยอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกัน เพราะที่นี่อยู่นอกโฟกัสของข่าวสารเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก แต่พวกเขากลับรู้เรื่องที่เราอยากรู้อย่างลึกซึ้ง

“ฮ.ลำแรก จะเข้าไปรับเจ้าหน้าที่อุทยานกลับจากภารกิจผลักดันชาวกะเหรี่ยงออกจากป่าแก่งกระจาน” นั่นคือคำตอบที่เราอยากรู้

 

ย่อหน้านี้ ขออธิบายด้วยความเคารพและอาลัยผู้เสียชีวิตทุกท่าน การรื้อฟื้นเหตุการณ์นี้มาเขียนเป็นครั้งแรก ไม่มีเจตนาที่จะบอกว่าใครผิดใครถูก และเหล่าทหารที่เสียชีวิตชุดแรกเพียงแค่ทำภารกิจตามที่ได้รับการร้องขอให้ไปรับเจ้าหน้าที่อุทยานกลับออกมาเท่านั้น แต่โชคร้ายต้องมาเสียชีวิต เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตในแบล็กฮอว์กที่พวกเขาอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย

และข้อความในย่อหน้าข้างบน ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ผมใช้เวลาเกือบ 10 ปีเต็มเขียนข่าวนี้นับชิ้นไม่ถ้วน แต่ไม่เคยเขียนถึงเรื่องราวที่กำลังจะเขียนนับจากบรรทัดนี้ไปมาก่อนเลย

ภารกิจค้นหาความจริงเดินหน้าต่อไป หลังจากที่พูดคุยกันอย่างถูกคอ กลุ่มคนที่สำนักงานแห่งนั้นตัดสินใจพาผมและช่างภาพอีกคนเข้าไปฟังความจริงจากปากชาวกะเหรี่ยงเอง

เส้นทางนี้ต้องผ่านด่านของอุทยานฯ ชื่อด่านเขามะเร็ว (จุดที่อีกหลายปีต่อมา บิลลี่ถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้าย) ผมและช่างภาพซึ่งเป็นคนแปลกหน้า จึงต้องหมอบตัวอยู่เบาะหลังของรถเพื่อให้ผ่านเข้าไปได้ เพราะเรายังไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าได้ข้อมูลอะไร และกำลังจะไปค้นหาอะไร

ระยะทางเพียงประมาณ 35 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ผ่านเส้นทางที่ไม่ควรเรียกว่า ‘ทางลูกรัง’ แต่ควรเรียกว่า ‘โขดหิน’ มากกว่า เราผ่านลำห้วยขนาดเล็กที่ไหลขวางทางอีก 5 ห้วย ท่ามกลางช่วงที่อากาศย่ำแย่ของเดือนกรกฎาคม ฝนตกลงมาต่อเนื่อง ทีมงานที่พาเข้าไปจึงบอกว่าเราจะอยู่ที่นั่นนานไม่ได้ เพราะหากฝนลงมาหนักกว่านี้ อาจมีน้ำป่าไหลผ่านห้วยต่างๆ ที่เราข้ามมา นั่นหมายถึงเราจะกลับลงไปไม่ได้อีก

เมื่อไปถึงก็พบว่า สะพานแขวนที่เราจะต้องใช้เพื่อข้ามแม่น้ำเพชรบุรีไปยังบ้านบางกลอยยังสร้างไม่เสร็จ จึงต้องใช้วิธีไต่ตามโครงสร้างไปอย่างระมัดระวัง ทันทีที่ข้ามไปถึง ผมพบเห็นสายตาที่แม้จะดูบริสุทธิ์ แต่ก็เต็มไปด้วยความหวาดระแวงมองมาที่ผมอย่างชัดเจน ซึ่งผมสรุปได้ทันทีว่า

พวกเขา ‘หวาดกลัว’ คนแปลกหน้าอย่างผม

 

 

การเข้าไปที่ชุมชนกะเหรี่ยงแห่งป่ากระจานเป็นครั้งแรกของผมในวันนั้น จึงไม่ได้พบกับ ‘ปู่คออี้’ พวกเขาบอกเพียงว่าปู่ไม่อยู่ที่นี่ นั่นเพราะเขาผ่านการถูกขับไล่จากบางกลอยบนและใจแผ่นดินกันมา และผมก็เป็นเพียงคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าเข้ามาหาด้วยวัตถุประสงค์อะไร

แต่อย่างน้อยเราก็ได้นั่งคุยกับคนในหมู่บ้านหลายคน ค้นพบความจริงเรื่องวิธีการขับไล่ด้วยการเผา ผมรู้ทันทีว่าผมต้องพิสูจน์ตัวเอง

 

—————————-

 

หลังกลับลงมาจากป่าแก่งกระจาน ผมยังมีวัตถุดิบไม่พอที่จะเสนอข่าวชิ้นนี้ มีเพียงคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ผ่านการบันทึกภาพและเสียงมาด้วย เพราะถ้าทำแบบนั้นก็อาจจะไม่ได้คุยกับเขาเลย ผมจึงมานั่งหาข้อมูลของพื้นที่นี้เพิ่มเติม โดยมี ‘คีย์เวิร์ด’ ที่คำว่า ‘ใจแผ่นดิน’ ในกูเกิล ซึ่ง ณ เวลานั้น มีข้อมูลที่อ้างอิงถึงใจแผ่นดินอยู่น้อยมาก ที่พบเจอก็เป็นการเขียนถึงในแง่มุมตำนานเล่าขานเสียมากกว่า จนกระทั่งไล่มาเรื่อยๆ ผมจึงมาสะดุดกับประโยคหนึ่ง

‘บุตรชายแห่งกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’

ชายคนนี้ชื่อ อาจารย์ป๊อด หรือ ทัศน์กมล โอบอ้อม เขาได้ฉายาว่า ‘บุตรชายแห่งกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ มีสถานะเป็นทั้งครู เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส. ในเพชรบุรี นั่นทำให้ผมหาเบอร์โทรศัพท์ของเขาไม่ยากนัก

“สวัสดีครับ อาจารย์ทัศน์กมล” ผมโทรหาอาจารย์ป๊อดทันที เพราะคิดว่านี่จะเป็นบุคคลที่ทำให้ผมเข้าถึงตัวปู่คออี้ได้แน่ๆ ในเมื่อเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

เป็นความจริงที่อาจารย์ป๊อดสนิทกับปู่คออี้ ไม่ต่างจากลูกชายแท้ๆ คนหนึ่ง เพราะเคยเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหลายเรื่องมาตั้งแต่อดีต

แต่กับผม อาจารย์ป๊อดตอบว่า “ไม่”

“ผมไม่อยากยุ่งกับเรื่องนี้ตอนนี้ ปัญหามันซับซ้อน ผมยังไม่อยากพูดต่อสาธารณะ” นั่นคือคำปฏิเสธของอาจารย์ป๊อด ซึ่งผมเข้าใจดี เพราะเพิ่งมีเฮลิคอปเตอร์ตก 2 ลำ (จริงๆ มีลำที่ 3 คือ เบล 212 แต่ไม่ได้ตกในป่าแก่งกระจาน) สังคมกำลังอยู่ในช่วงไว้อาลัยให้กับเจ้าหน้าที่ แต่ผมไม่ยอมแพ้ งัดทุกวิชามารที่มีออกมาเพื่อโน้มน้าวให้คนผู้นี้มาสัมภาษณ์ให้ได้ เพราะในเวลานั้น เขาเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผมทำข่าวชิ้นนี้ได้จริงๆ

 

บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ และ ทัศน์กมล โอบอ้อม

 

การเจรจาผ่านไป 2 ชั่วโมง ในที่สุดผมก็ทำสำเร็จ อาจารย์ป๊อดนัดเจอผมที่ริมแม่น้ำเพชรบุรีในอำเภอท่ายาง พร้อมจะพูดคุยทุกเรื่อง เพราะเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เขาก็เข้าใจดีว่า ถ้าเขาไม่พูด เรื่องนี้ก็จะเงียบไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในป่าผืนนั้น

‘ขอคารวะ’ เพราะความกล้าหาญนี้ แลกมาด้วยชีวิตของชายที่ชื่อ ‘ทัศน์กมล โอบอ้อม’ ในอีกไม่ถึง 2 เดือนต่อมา

 

—————————-

 

ภาพการเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกรายงานออกไปครั้งแรก หลังจากวันที่ผมได้สัมภาษณ์อาจารย์ป๊อด และผมได้ไฟล์ ‘รายงานยุทธการตะนาวศรี’ จากเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรายงานที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทำสรุปเพื่อรายงานประจำเดือนในที่ประชุมส่วนราชการของจังหวัดเพชรบุรี มีทั้งภาพการเผาบ้าน เผายุ้งข้าว และภาพเจ้าหน้าที่โรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์เข้าไปจับกุมและผลักดันชาวกะเหรี่ยง

 

 

ในรายงานฉบับนี้ ยังระบุถึงการจับกุมตัวชายคนหนึ่ง พร้อมตั้งข้อหามีอาวุธสงคราม เป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และระบุด้วยว่า เป็น ‘ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาใหม่’ ไม่ใช่คนดั้งเดิม แต่บังเอิญเหลือเกินที่ชายคนนั้นมีชื่อว่า ‘หน่อแอะ มีมิ’ บุตรชายของปู่คออี้ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งใน 4 นายพรานชาวกะเหรี่ยงที่เข้าไปช่วยเหลือตำรวจตระเวนชายแดนไทย 4 นาย ที่หลงป่าแก่งกระจานอยู่ 35 วัน ออกมาจากการถูกไล่ล่าของข้าศึกเมื่อปี 2534 โดยอีก 3 คน คือ หน่อสะ ลูกชายอีกคนของปู่คออี้ โกละ และโมลิ ซึ่งล้วนเป็นชาวกะเหรี่ยงที่บางกลอย ดังนั้นหน่อแอะย่อมไม่ใช่ชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาใหม่

 

หน่อแอะ

 

“จริงๆ ตอนที่เข้าไปจับกุม เราเจอฐานปืน ค. เจอพานท้ายปืนอาก้าด้วยนะ แต่ผมสงสาร เลยไม่ใส่เข้าไปในรายงาน” ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตอบคำถามนี้กับผม หลังงานเสวนาที่สมาคมนักข่าวฯ และสถานะของเขาในตอนนั้นคือฮีโร่ ผู้นำทีมค้นหาแบล็กฮอว์กได้สำเร็จ

 

 

ในรายงานมีภาพอาวุธที่ถูกจับกุม ล้วนเป็นเครื่องมือในการทำการเกษตร พร้อมระบุถึงปืนแก๊ปอีกประมาณ 9 กระบอก ซึ่งมีเพียงกระบอกเดียวที่ยังใช้ได้ เป็นปืนแก๊ปที่ใช้ในการล่าสัตว์เล็กๆ ได้เท่านั้น

แล้วผมก็ได้ไปพบปู่คออี้ครั้งแรก ด้วยการนำพาของอาจารย์ป๊อด

 

—————————-

 

“ลืมตาขึ้นมาดูโลกก็อยู่ที่นั่น ดื่มน้ำนมหยดแรกก็อยู่ที่นั่น”

นี่คงเป็นประโยคคลาสสิกที่หลายคนเคยได้ยินคำกล่าวเป็นภาษากะเหรี่ยงจากปากของชายชรารูปร่างสูงใหญ่ อายุกว่า 100 ปี นามว่า ‘ปู่คออี้’

การไปบ้านบางกลอยครั้งที่สองของผมต่างไปจากเดิม ผ่านการเบิกทางเข้าไปในหมู่บ้านโดยอาจารย์ป๊อด และผมได้พิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งแล้วว่า นำเสนอข่าวเรื่องนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด เป็นปากเสียงเพียงไม่กี่เสียงในเวลานั้นที่ออกมาพูดแทนพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มนี้ ท่ามกลางกระแสยกย่องฮีโร่ผู้รักษาป่าคนใหม่ของประเทศไทยกำลังถาโถม ในวันนั้นมีพี่นักข่าวอีกสองสำนักเข้าไปด้วย เราถูกพาเดินเข้าไปที่บ้านไม้เล็กๆ หลังหนึ่ง มีชายชรารูปร่างสูงใหญ่ นอนผมกระเซิงอยู่ภายในบ้าน

 

 

พอเราเข้าไป ชายชราลุกขึ้นนั่ง หยิบผ้าที่อยู่ข้างกายขึ้นมาพันศีรษะ แม้จะอายุมากและดูไร้เรี่ยวแรง แต่ทำให้ผมรู้สึกยำเกรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ชายชราพนมมือขึ้น และกล่าวอะไรบางอย่างคล้ายบทสวด แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เราอาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินตั้งแต่เกิด ทำกินตามวิถีชีวิต ไม่มีเจตนาทำลายหรือบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อให้ร่ำรวย อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาพูดคุยแก้ปัญหา ให้ความใส่ใจต่อประเพณี ความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่จะต้องมีพิธีกรรมในการย้ายถิ่นที่อยู่ด้วย”

นั่นเป็นข้อความแรกจากปากของชายชราแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ที่เปล่งเสียงสื่อสารออกมาสู่สายตาชาวโลก โดยมีผมร่วมรับฟังและทำหน้าที่ถ่ายทอดต่อ

คนที่แปลข้อความของปู่คออี้ให้เราในวันนั้น เป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขาเป็นหลานแท้ๆ ของปู่คออี้ ซึ่งต่อมากลายเป็นคนที่สังคมไทยกล่าวถึงอย่างมาก เขาคือ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งถูกทำให้หายตัวไปในอีก 3 ปีหลังจากวันนั้น

 

ปู่คออี้ในวัยหนุ่ม

 

นับจากวันที่เสียงของปู่คออี้ถูกส่งออกอากาศ สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างอุทยานฯ ผู้ประกาศตัวเป็นคนดูแลป่า กับชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รักษาป่ามาหลายชั่วอายุคนก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การต่อสู้ถูกพัฒนาขึ้นจนมีสภาทนายความเข้ามาช่วยเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ลงมาพบปู่คออี้ และคนที่เดินหน้าแลกเต็มตัว คืออาจารย์ป๊อด บุตรชายแห่งกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

การต่อสู้ครั้งนี้สำหรับผมถือว่าหนักหนาสาหัส ในขณะที่ชาวบ้านกำลังชื่นชมฮีโร่คนหนึ่งที่ถูกประโคมผ่านสื่อ เรากำลังบอกว่าที่นั่นมีปัญหา มีคนถูกกระทำ ถูกขับไล่ ถูกเผาบ้าน ถูกตั้งข้อหาโดยฮีโร่ของคุณ และคนกลุ่มนั้นที่เราเป็นปากเสียงให้เป็นชาวกะเหรี่ยงที่ถูกมองว่ามาอาศัยแผ่นดินไทยอยู่ ถูกมองว่าตัดไม้ ถางป่า ล่าสัตว์ ถูกมองเช่นนั้นด้วยสายตาแบบคนเมืองที่นิยมอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยโครงการ CSR ปลูกต้นกล้า ที่พวกเขาไม่เคยได้กลับไปดูอีกเลย

ในขณะที่การต่อสู้ดุเดือด และเรากลายเป็นผู้ร้ายในภาพยนตร์อนุรักษ์แบบเขียวจัดของคนเมือง ผมสารภาพว่า บางครั้งการนำเสนอบทสัมภาษณ์อาจารย์ป๊อดทำให้ผมไม่สบายใจ เพราะข้อความที่ส่งออกมามีเนื้อหาเข้มข้นมาก พาดพิงถึงคนหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่ก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้พูดได้เช่นกัน ผมจึงตัดสินใจใช้วิธี ‘ขยับไปทีละขั้น’ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาจารย์

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่อาจารย์ต้องการ เมื่อออกมาสู้แล้ว อาจารย์ป๊อดกล้าหาญอย่างที่สุด ชนทุกเวที จน ‘ทัศน์กมล โอบอ้อม’ กลายเป็นบุคคลที่ถูกติดป้ายประกาศห้ามเข้าเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

 

—————————-

 

10 กันยายน 2554 เป็นวันที่ผมเกือบจะตัดสินใจจบอาชีพนักข่าวของตัวเองลง

ผมอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ช่วงเย็นระหว่างนั่งกินข้าว ผมรับโทรศัพท์สายหนึ่ง ปลายสายมาจากจังหวัดเพชรบุรี

“อาจารย์ป๊อดถูกยิงตายแล้ว”

ข้อความที่ถูกส่งมา ทำเอาผมทรุดลงกับพื้นทันที น้ำตาไหลออกมาไม่หยุด ผมปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียวทั้งคืน ในใจครุ่นคิดอยากเลิกเป็นนักข่าว มีประโยคหนึ่งที่กระแทกใส่หัวผมตลอดเวลา

“มึงทำให้เขาตาย” คำว่า ‘มึง’ ย่อมหมายถึงตัวผมเอง

ทัศน์กมล โอบอ้อม นักต่อสู้ผู้ห้าวหาญ ผู้ที่ลุกมาเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอจากสังคมไทย โดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลยด้วยซ้ำ ถูกยิงเสียชีวิตในรถของตัวเอง ระหว่างขับรถอยู่ที่อำเภอบ้านลาด กำลังกลับบ้านที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. วันที่ 10 กันยายน 2554

 

 

ส่วนผมได้แต่ร้องไห้เสียใจอยู่คนเดียว ผมไม่สามารถไปเคารพร่างไร้วิญญาณของชายคนที่ผมนับถือสุดหัวใจคนนี้ได้ เพราะต้นสังกัดกังวลถึงความปลอดภัยของผม

บทบาทของผมในภาคแรกกับการเสนอเรื่องราวชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจึงจบลงที่ตรงนี้

“เดี๋ยวมีคนตายอีก ผมไม่สามารถปกป้องเขาได้” นี่คือข้อความที่ผมบอกกับน้องทนายความคนหนึ่ง เมื่อถูกถามว่า “ทำไมพี่ไม่ทำต่อ”

 

—————————-

 

จนมาถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ปู่คออี้เสียชีวิตลงในวัย 107 ปี ผมตัดสินใจไปเคารพศพ และตัดสินใจอยู่ที่นั่นต่อเพื่อไปส่งปู่คออี้ที่บ้านบางกลอยล่าง จนถึงพิธีเผาศพ ได้พบผู้คนมากมายในวันนั้น ได้สื่อสารพิธีกรรมที่เคารพต่อธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยออกมาอีกครั้ง ผมจึงตัดสินใจที่จะกลับมาช่วยสื่อสารเรียกร้องความเป็นธรรมให้พวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

และเรื่องราวการต่อสู้จนหายตัวไปของชายหนุ่มที่เข้ามามีบทบาทแทนอาจารย์ป๊อดคือบิลลี่ ซึ่งต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษชี้ว่าเขาถูกฆาตกรรม เป็นประเด็นหลักที่ถูกนำมาสื่อสารเพื่อชี้ให้เห็นว่า มีความอยุติธรรมซ่อนตัวอยู่ที่แก่งกระจาน

แต่เรื่องราวในคดีของบิลลี่ ถูกนำเสนออย่างละเอียดผ่านสื่อต่างๆ มากแล้ว จึงจะขอยกออกไปในงานชิ้นนี้ และจะเขียนถึงเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

 

การต่อสู้ครั้งล่าสุดของชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นที่มาของ #saveบางกลอย คือการที่คนทั้งหมู่บ้านเกือบร้อยคนตัดสินใจทิ้งพื้นที่ ‘บางกลอยล่าง’ ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ แล้วกลับไปอาศัยอยู่ที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของพวกเขา

เหตุผลที่กลับขึ้นไป เพราะพื้นที่บางกลอยล่างที่รัฐจัดสรรให้ บางส่วนเป็นลานหินไม่สามารถทำกินได้ บางคนไม่ได้ที่ทำกิน ต้องไปเป็นแรงงาน และตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีทางเลือก

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยรู้ดีว่าความเคลื่อนไหวนี้ของพวกเขา อาจจะต้องถูกผลักดันและถูกตอบโต้อีกครั้งจากทางอุทยานฯ ที่ไม่ยินยอมให้พวกเขากลับขึ้นไปบ้านเดิม หลังจากนี้ไปจะมีการเปิดเผยภาพป่าแหว่ง ภาพสัตว์ตาย ก่อนที่จะเข้าจับกุมอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นยุทธวิธีในการทำงานของอุทยานฯ แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะยืนยันสิทธิที่ควรมี โดยเฉพาะเมื่อศาลปกครองสูงสุดรับรองแล้วว่า ใจแผ่นดินคือชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ

ในมุมของการอนุรักษ์ฝ่ายขวา ประเด็นที่จะผลักดันป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ คือพื้นที่ไข่แดงของป่า เป็นพื้นที่อ่อนไหวทางธรรมชาติ ไม่มีใครควรเข้าไปอยู่เด็ดขาด จึงยอมไม่ได้ โดยไม่สนใจว่าคนเหล่านี้จะอยู่มาก่อนหรือไม่

แต่ในสายตาของนักอนุรักษ์ฝ่ายซ้าย ชุมชนดั้งเดิมเหล่านี้คือผู้พิทักษ์ป่าตัวจริง อยู่กันมา 100-200 ปี ป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์ มีภูมิปัญญา มีความเชื่อต่างๆ ที่ผูกพันกับธรรมชาติตั้งแต่เกิดจนตายเพื่อรักษาป่า พวกเขาจึงเป็นเหมือนแนวรั้วมนุษย์ชั้นดี ที่จะทำหน้าที่ดูแลป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่ ไม่ให้นักค้าสัตว์ป่าจากในเมือง กลุ่มมอดไม้ หรือนายทุนสัมปทานทำไม้ต่างๆ เข้ามาทำลายป่าที่เปรียบเหมือนชีวิตของพวกเขาได้ และถ้าจะขึ้นทะเบียนมรดกโลก การมีกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต่างหากคือจุดแข็งที่ยูเนสโกจะพิจารณา

นี่เป็นปัญหาคลาสสิกที่ถกกันมาหลายสิบปีแล้ว

 

เมื่อเรารู้ที่มาที่ไปของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยตั้งแต่หลายสิบปีที่ผ่านมา จนมาถึงการถูกขับไล่ผลักดันออกจากถิ่นฐานเดิมเช่นนี้แล้ว

 คุณว่าใครรักป่า คุณว่าใครรุกป่า

 

—————————-

 

ภาพอพยพกลับใจแผ่นดินในช่วงนี้

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save