fbpx
บ้านๆ น่านๆ : เพราะการ ‘คุยกัน’ สำคัญพอๆ กับความเงียบ

บ้านๆ น่านๆ : เพราะการ ‘คุยกัน’ สำคัญพอๆ กับความเงียบ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ ชโลมใจ ชยพันธนาการ ภาพ

 

 

เสียงน้ำไหลจากหลังคาดังต่อเนื่องเหมือนฝนตก เปล่า — ต้นเดือนมีนาคม น่านอยู่ในฤดูร้อน เสียงน้ำที่ว่าเป็นเครื่องมือทำความเย็นแบบธรรมชาติ  ครูต้อม – ชโลมใจ ชยพันธนาการ เจ้าของบ้าน ปล่อยน้ำชโลมหลังคาให้ร่วงลงมาสู่พื้น สร้างความชุ่มฉ่ำทั่วบริเวณ ชนิดที่ว่าดวงอาทิตย์ต้องถอยทัพ

เสียงดนตรีบรรเลงไม่ยอมแพ้ แม้จะเจือจางบางเบาจนแทบไม่ได้ยิน แต่ดนตรีกลับทำหน้าที่ควบคุมบรรยากาศในร้านกาแฟและหนังสือได้อย่างชงัด

‘บ้านๆ น่านๆ’ เป็นทั้งห้องสมุด ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ และเกสต์โฮม ตั้งอยู่ตรงหัวมุมในซอยวัดมณเฑียร เดินได้จาก บขส. มีร้านสะดวกซื้อต้นซอย และใกล้ถนนเส้นท่องเที่ยว แต่เมื่อหลุดเข้าไปในบ้านๆ น่านๆ แล้ว ความเนิบช้าจะเข้าเกาะกุมหัวใจเรา กาแฟอร่อยอยู่แล้วก็อร่อยขึ้นไปอีก และแม้แต่ใบไม้ก็เรียกร้องให้จ้องมอง

ลืมบอกไปอีกอย่าง หลังๆ มานี้ นอกจากจะเป็นทั้งหมดที่ว่ามาแล้ว บ้านๆ น่านๆ ยังเป็นที่จัดงานพูดคุยเสวนา ชวนกวี ศิลปิน นักเขียน มาทำกิจกรรมกันอย่างคึกคัก ไล่เรียงตั้งแต่งาน ‘น่าน โปเอซี’ ที่รวมกวีหลายสิบชีวิต มาร่วมอ่านกวีออกเสียงในค่ำคืนฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายน มีนิทรรศการศิลปะของ สุมาลี เอกชนนิยม ชุด ‘เพราะเธอคือบทกวีแห่งชีวิต’

ถัดมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เปิดนิทรรศการ ‘เขียนที่น่าน’ จัดแสดงภาพเขียนของ ภัทรุตม์ สายะเสวี จนถึงตอนนี้ ภาพวาดเด็กหญิงหน้าม้าเต่อสีสันสดใส ยังตั้งอยู่ในร้านอย่างน่ารัก และจะอยู่ต่อไปจนสิ้นเดือนเมษายน

 

 

 

2 มีนาคม ที่ผ่านมา บ้านๆ น่านๆ เปิดบ้านรับการมาเยือนของ อุรุดา โควินท์ นักเขียนที่มีแฟนๆ ติดตามอย่างเหนียวแน่น เจ้าของหนังสือ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ที่ทำให้ใครหลายคนน้ำตาร่วงเผาะมาแล้ว ในชื่องาน ‘อุรุดา มีนาคม’

ประเทศไทยที่ว่าร้อน ยังไม่สู้ความอบอุ่นของคนที่มาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

บนพื้นที่สนามหญ้าสีเขียวไม่กี่ตารางเมตร ผู้คนต่างที่ต่างถิ่นมานั่งร่วมกันฟังบทสนทนา แล้วเรื่องเล่าก็ขยายอาณาเขตนั้นให้ไกลออกไปไม่มีที่สิ้นสุด กับคำถามที่ว่าการเขียนหนังสือควรเป็นอย่างไร อุรุดาพูดด้วยเสียงดังฟังชัดและจริงใจที่สุดว่า “เขียนเท่าที่เราโง่ เขียนเท่าที่เราเลว เขียนเท่าที่เรามีอยู่” ผู้คนที่นั่งฟังไม่ได้ส่งเสียงฮือฮา แต่ในแววตาต่างมีไฟลุกโชนและชื่นชม

บทสนทนาพิเศษ เกิดขึ้นได้ในบรรยากาศเฉพาะตัว หากช่วงเวลา ผู้คน อากาศ อัตราความเมา หรือสายลมพัดผิดไปองศาเดียว เสียงหัวเราะหรือน้ำตาบางหยดก็มิอาจปรากฏตัว

 

 

“การคุยกัน มันได้เห็นหน้ากัน ได้ฟังอารมณ์ตอนนั้น เวลาอยู่ในหนังสือ คุณเขียนแบบนี้ คนไม่เห็นด้วย อยากจะโต้เถียงก็ทำไม่ได้ แต่พอได้เจอหน้าได้แลกเปลี่ยน ก็ได้ใกล้ชิด เข้าใจกันมากขึ้น” ครูต้อม เจ้าของบ้านและผู้ร่วมจัดงานพูดถึงความสำคัญของการพูดคุยเสวนา

ในพื้นที่ของบ้านๆ น่านๆ มีบ้านไม้สองหลังตั้งอยู่ หลังหนึ่งเป็นบ้านเดิม ชั้นล่างใช้อยู่อาศัย ชั้นบนทำเป็นเกสต์โฮม พื้นที่ตรงกลางเป็นสนามหญ้า ถัดมาเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง ด้านล่างเป็นร้านหนังสือและกาแฟ ด้านบนมีเปลไว้นอนอ่านหนังสือ และห้องสมุดที่อัดแน่นด้วยหนังสือน่าอ่าน ส่วนระเบียงด้านหลัง เป็นที่ตั้งของ ‘ห้องปรารถนา’ ห้องพักทำใหม่ที่สวยงามตั้งแต่ม่าน เตียง ไปถึงแสงที่กระทบพื้น

 

 

“ตอนแรกยังไม่ได้คิดทำห้องสมุด บ้านหลังเดิมน่ารักมาก แต่โทรม ไม่แข็งแรง เราก็ทำรั้ว ปลูกต้นไม้ขึ้นคลุมบ้าน ใครเดินผ่าน หันมาดูเลย จะจ้างเราไปจัดสวน สวยจริงๆ นะ ตอนแรกเราจะรื้อบ้านทิ้งเพื่อทำเป็นสวน อยากปลูกต้นไม้ แต่แม่บอกว่าเสียดาย ก็ปล่อยเช่าไปสักพัก เป็นช่วงระหว่างที่เราทำกิจกรรมอ่านเขียนในโรงเรียนเข้มข้น อยากมีพื้นที่ มีอาณาจักรของตัวเอง เรามีความฝันว่า ไม่อยากเดินไปสอนเด็กที่ห้อง อยากให้เด็กมานั่งเรียนแบบผ่อนคลาย

“บังเอิญว่าช่วงนั้นปี 49 เจอน้ำท่วมถึงคอ บ้านเราต่ำกว่าถนน ฝนตกมาเมื่อไหร่ น้ำก็ท่วมขังตลอด เราอยู่กับแม่สองคน ไม่ไหวแล้ว ก็คิดกับแม่ เอาไงดี ก็ต้องใช้เงิน เลยกู้เงินมาดีดบ้าน ยกเสาบ้านขึ้น ทุบบ้านข้างล่างทิ้ง แทบจะสร้างบ้านใหม่เลย

“พอทำใหม่หมด บ้านสวย เมืองน่านเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวพอดี มีการจัดงานศิลปะ ภาพถ่าย หลังจากนั้นเมืองน่านก็บูมมาก ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าจะดัง แต่เราชอบเมืองน่านมาก ไปที่ไหนพรีเซนต์ตลอดว่าเมืองน่านสวย น่าอยู่ พอดีกับที่อยากทำที่พัก อยากเจอคนบุคลิกเดียวกันกับเรา”

ระหว่างทำที่พัก และพัฒนาพื้นที่ไปเรื่อยๆ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2555 กลายเป็นอาณาจักรเล็กๆ อย่างที่ครูต้อมหวังไว้ เปิดพื้นที่ให้นักเรียนและคนในท้องที่เข้ามาอ่านหนังสือ

“ทั้งห้องสมุดและที่พักเลยเติบโตไปพร้อมกัน” ครูต้อมยิ้ม

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ครูต้อมทำระหว่างที่ยังเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนสตรีศรีน่าน จากครูที่ชวนเด็กทำหนังสือทำมือ จัดค่ายอ่านเขียนเป็นประจำอย่างเข้มข้นจริงจัง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่อิ่มตัวกับการทำงาน และเบื่อหน่ายกับระบบระเบียบที่ต้องเจอทุกวัน เมื่อวันที่รู้แน่ชัดแล้วว่า “ไม่มีความสุขทุกครั้งที่ตื่นไปโรงเรียน” ครูต้อมก็ตัดสินใจลาออกจากครู แล้วมาทำบ้านๆ น่านๆ อย่างเต็มกำลัง

จากแค่พื้นที่บ้านส่วนตัว กลายเป็นเกสต์โฮม เป็นห้องสมุดเล็กๆ ที่มีไว้ให้นักเรียนของครูต้อมเข้ามานั่งอ่านหนังสือ ใช้ทำงาน และคนในท้องที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ครูต้อมขยับขยายมาเป็นร้านกาแฟและหนังสือ โดยมีน้องชายและผู้ช่วยช่วยกันปั้นให้เป็นอย่างทุกวันนี้

เมื่อทำห้องสมุดมาเรื่อยๆ จึงเริ่มคิดว่าควรจะมีกิจกรรมด้วย ประจวบเหมาะกับที่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนที่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อหน้านี้ ตัดสินใจย้ายมาปักหลักที่น่าน เมื่อนั้นกิจกรรมที่เคยทำมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ก็เริ่มมีรสชาติใหม่ กลายเป็นว่า ศิลปินและกลุ่มคนชอบอ่านชอบเขียนไป ‘น่าน’ บ่อย เหมือนอยู่แค่ที่ ‘นั่น’ ตกหลุมประโยคของวรพจน์ที่ว่า “ทำให้การคุยกันเป็นเรื่องปรกติธรรมดา เพื่อให้พื้นที่ของศิลปะ วรรณกรรม ดำรงอยู่อย่างมีชีวิตชีวา”

 

 

ส่วนครูต้อมเอง ก็เชื่อว่าการได้เจอคนใหม่ๆ ยิ่งทำให้เรายอมรับความแตกต่างหลากหลาย

“เมื่อก่อนเราชอบอยู่ในที่ที่เซ็ตไว้หมดแล้ว แต่อยู่ทุกวันก็เบื่อ เราทำที่แบบนี้ก็เพื่อจะรับคนบุคลิกเดียวกันเข้ามา แต่พอรับเข้ามาจริงๆ แล้ว กลายเป็นว่าตัวเราเองก็ไม่หลากหลาย ทนกับคนที่แตกต่างจากเราไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ดี เราต้องออกไปเจอคนที่ไม่เหมือนเราบ้าง แล้วจะทนได้”

ไม่ใช่แค่เรื่องการพูดคุย แต่ความเงียบก็เป็นอีกอย่างที่ส่งผลต่อหัวใจคน

“พื้นที่แบบนี้มีน้อย พื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยไม่ค่อยมี เราอยากให้พื้นที่บ้านๆ น่านๆ เข้ามาง่ายๆ คนเราก็ชอบกินกาแฟกันอยู่แล้ว หลายคนก็อ่านหนังสืออยู่บ้าง แล้วถ้าได้อยู่ในที่ผ่อนคลาย ความอยากอ่านและสมาธิในการอ่านก็มีเยอะกว่า ถ้าลุกออกจากบ้านตัวเอง จะได้เจอผู้คน ได้แลกเปลี่ยน เป็นความรื่นรมย์ เป็นความรู้ของชีวิต เป็นความเติบโต

“บางคนเข้ามาที่นี่แล้วเสียงดัง แต่เดี๋ยวสักพักเขาก็จะเงียบ เป็นการเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันในเชิงศิลปะ ศิลปะอย่างอื่นมีเยอะมาก ภาพวาด ดนตรี ไปตรงไหนก็ได้ เพราะเป็นความบันเทิงที่สัมผัสได้ทันที แตกต่างจากหนังสือ อ่านหนังสือแล้วมีสมาธิ ทำให้เรานิ่ง คิด เจอความงามที่แตกต่างจากศิลปะเชิงอื่น กว่าจะสัมผัสได้ ต้องใช้เวลา ใช้สถานที่ เราต้องมีพื้นที่ให้การอ่าน”

เมื่อคุยถึงตรงนี้ คล้ายว่าเสียงฝนจากหลังคาหยุดไปนานแล้ว เสียงลมหวีดหวิว และกระดิ่งดังกรุ๊งกริ๊ง — แผ่วเบา คล้ายกำลังฟังเรื่องที่เจ้าของบ้านเล่า

“เราก็ไม่ได้คิดอะไรใหญ่โตมากมายหรอก มีความสุขกับมัน คนหนึ่งมีความสุขก็ดีแล้วนี่ แล้วเดี๋ยวคนอื่นก็มีความสุขด้วย”

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save