ยังไม่พ้นไตรมาสแรกของปี แต่วงการหนังไทยก็ระเบิดฟอร์มร้อนสุดขีดตั้งแต่เดือนมกราคม ด้วยการเทรอบฉายจำนวนมากให้หนังบล็อกบัสเตอร์จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้หนังฟอร์มเล็กกว่า -ทั้งหนังไทยและต่างประเทศ- เรื่องอื่นๆ ตามมาด้วยการอุทิศรอบฉายให้หนังในเครือตัวเองของโรงหนังเจ้าหนึ่งที่ทำธุรกิจค่ายหนังด้วย มาจนถึงช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ว่าด้วยการเซนเซอร์ภาพยนตร์ ‘หุ่นพยนต์’ ซึ่งคว้าเรตติ้ง ฉ. 20 หรือห้ามไม่ให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีรับชม จนค่ายหนังต้องปรับเนื้อหาและส่งยื่นให้กองเซนเซอร์พิจารณาใหม่จนได้เรตติ้ง น. 18+ ในที่สุด
และช่วงรอยต่อก่อนเข้าเดือนเมษายน วงการหนังไทยก็ยัง ‘สร้างซีน’ ให้คนพูดถึงอยู่เรื่อยๆ เมื่อพบว่า รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ตั้งเงื่อนไขว่าภาพยนตร์ที่มีสิทธิเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ได้นั้นต้องเข้าฉายให้ครบห้าภาคในไทย
นี่ไม่ใช่กติกาใหม่ กล่าวคือเมื่อปี 2019 รางวัลสุพรรณหงส์เคยออกกติกาลักษณะใกล้เคียงกันนี้มาแล้ว กล่าวคือต้องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายอย่างน้อยห้าจังหวัดหลักคือ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช รวมทั้งต้องมีคนดูไม่ต่ำกว่า 50,000 คน จึงจะเข้าเกณฑ์การพิจารณาของเวทีรางวัลสุพรรณหงส์ ซึ่งก็แน่นอนว่าถูกต่อต้านจนทางเวทีต้องระงับการประกาศใช้เกณฑ์นี้ไปก่อนในที่สุด
ก็ใช่ว่าเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาในปี 2023 นี้ อำมหิตน้อยกว่าเกณฑ์แบบเก่า แต่ถึงที่สุดมันก็ยังห่างไกลจากความเป็นธรรมและสภาพที่ควรจะเป็นในการตั้งเกณฑ์การประกวด เพราะมีหนังไทย 11 เรื่องที่เข้าฉายไม่ครบทั้งห้าภาคที่แปลว่าไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาจากเวทีแน่ๆ และหากพิจารณาให้ดี คงจะพบว่าหนังทั้ง 11 เรื่องนั้นเป็นหนังอิสระหรือมาจากค่ายเล็ก แทบไม่มีอำนาจไปต่อกรหรือเจรจากับโรงในการจะขอให้เอาหนังตัวเองไปฉายให้ครบทั้งห้าภาค (หรือลำพัง แค่ฉายในกรุงเทพฯ ให้ได้อย่างถ้วนทั่ว หรือหลุดกระเด็นจากผังตั้งแต่สัปดาห์แรก ก็ถือเป็นเรื่องหืดขึ้นคอแล้ว)
อ้างอิงจากเว็บไซต์ของรางวัลสุพรรณหงส์เอง ปัจจุบัน เวทีก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ, คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อทำตามนโยบายรัฐบาลที่หวังให้เกิดการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย -กรณีนี้ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็ชวนให้มุ่นหัวคิ้ว เวียนหัวสงสัยไม่รู้กี่ตลบ เพราะการกำหนดเกณฑ์ที่ว่าให้หนังไทยออกฉายครบทั้งห้าภาคจึงจะมีสิทธิเข้ารับการพิจารณานั้น ดูยังไงก็ไม่เห็นว่าจะ ‘สนับสนุนอุตสาหกรรมหนังไทย’ ตรงไหน และมากกว่านั้น มันยังสะท้อนว่าเวทีสุพรรณหงส์ -และหมายถึงสมาพันธ์ฯ เองก็ดี คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเองก็ดี หรือกรมประชาสัมพันธ์เองก็ดี- ไม่เหลียวแลหนังไทยเรื่องเล็กๆ ที่กินความถึงคนทำหนังตัวเล็กตัวน้อยผู้ไม่มีอำนาจไปดีลกับโรงหนังใดๆ ได้ เพราะถึงอย่างไร ในสนามธุรกิจโรงหนังไทยซึ่งมีผู้เล่นหลักเพียงสองเจ้าคือ เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเครือเอสเอฟ ซีเนม่า ก็กินพื้นที่เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนตลาดหนังไทย ยิ่งในระบบที่รัฐไม่เข้ามาควบคุมหรือจัดโควตาการฉายหนัง โรงจึงกลายเป็นผู้กำหนดว่าหนังเรื่องไหนจะได้เข้าฉายที่ไหน กี่รอบ ยืนโรงนานเท่าไหร่
สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า ภายใต้เกณฑ์ที่เวทีสุพรรณหงส์กำหนดมาเช่นนี้ ผู้ที่มีสิทธิเลือกว่าหนังเรื่องไหนจะได้เข้าเกณฑ์การพิจารณาเข้าชิงรางวัลจึงกลายเป็นโรงหนังไปโดยปริยาย
กรณีนี้จึงควรตั้งคำถามต่อท่าทีของสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งประธานคนปัจจุบันคือ ธนกร ปุลิเวคินทร์ (ซึ่งด้านหนึ่งก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็ม พิคเจอร์สด้วย) ว่าการตั้งกฎเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นนี้นั้น ส่งผลดีต่อวงการหนังไทยในภาพใหญ่อย่างไร -หรือในทางกลับกัน มันเอื้อให้เกิดการได้เปรียบของค่ายใหญ่ใดหรือไม่
สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ด้วยเกณฑ์และวิธีคิดเช่นนี้ คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเหล่าคนทำหนังอิสระหรือคนทำหนังตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีทุนรอนนัก -ทั้งทุนในความหมายของเม็ดเงินในการทำหนัง และทุนในความหมายของการต่อรองกับค่ายหรือโรงต่างๆ- และการตัดคนทำหนังอิสระออกไป ถึงอย่างไรย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของวงการหนังไทยอย่างช่วยไม่ได้ และลำพังทุกวันนี้ คนทำหนังไทยไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายเล็ก ต่างก็ต้องเจ็บปวดจากคมห่ากระสุนสารพัดทาง ไล่เรื่อยมาไม่ว่าจะการหาเงินทุน, การเผชิญหน้ากับการถูกโอนถ่ายรอบฉายในโรงไปให้หนังบล็อกบัสเตอร์หรือหนังเรื่องอื่นๆ แบบงงๆ ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ออกฉาย ไปจนถึงหากอยากทำหนังที่ ‘ท้าทาย’ บางอย่าง ก็อาจต้องเจอกำแพงกองเซ็นเซอร์ให้เมื่อยหัวใจกันเล่นๆ
ขนาดเวทีออสการ์ซึ่งเป็นเวทีประกาศรางวัลใหญ่ของสหรัฐฯ ยังมีกฎแค่ว่าหนังที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าชิงนั้นต้องฉายในสหรัฐฯ ภายในวันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 ธันวาคมของแต่ละปี หรือเข้าฉายอย่างน้อยเจ็ดวันในโรงภาพยนตร์เขตลอสแองเจลิส (ซึ่งกฎนี้ไม่ได้ใช้กับหนังที่เข้าชิงสาขาหนังต่างประเทศ)
พูดก็พูด นี่คือสนามที่ไม่เอื้อให้คนทำหนังได้มีชีวิตอยู่รอดไปได้เลย อย่าว่าแต่คนทำหนังอิสระ ลำพังคนทำหนังค่ายใหญ่ๆ ที่พอจะมีทุนรอนอยู่บ้าง กว่าจะเข็นหนังออกมาได้สักเรื่องก็ต้องเผชิญหน้ากับสารพัดเรื่องชวนเวียนหัวไม่รู้จบ แล้วยังต้องมาเจอเวทีประกาศรางวัลที่ตั้งเกณฑ์อันแสนไม่เป็นธรรมนี้ขึ้นมาอีก
อ้างอิงจากวิสัยทัศน์ของสมาพันธ์ฯ เองที่ระบุว่า “[…] เพื่อให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก้าวสู่จุดหมายสูงสุดของความนิยมทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ” ก็ดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ในการขยับขับเคลื่อนวงการหนังไทยของสมาพันธ์ฯ ในเวลานี้จะยังห่างไกลจากวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้อยู่มาก
หากสมาพันธ์ฯ และเวทีรางวัลมีขึ้นเพื่อสนับสนุนคนทำหนังไทย อย่างนั้นแล้ว การกีดกันพื้นที่ของหนังที่ไม่เข้าเกณฑ์เพราะเรื่องรอบฉายอันเป็นเรื่อง ‘เกินควบคุม’ ของตัวคนทำหนัง (ทั้งยังเป็นผลพวงมาจากการปล่อยให้เกิดระบบผูกขาดของรัฐ) จะเป็นการสนับสนุนคนทำหนังและแวดวงหนังไทยอย่างไรได้
เพราะด้านหนึ่ง การสนับสนุนที่แท้จริงคือการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างพื้นที่ สร้างรายได้และสร้างสายป่านอาชีพให้แก่กลุ่มคนในวงการนี้ให้อยู่ต่อไปได้อย่างสง่างามไม่ใช่หรือ