fbpx
จากกำไลสำริดสู่เนื้อดิน : บ้านเชียงในศิลปะร่วมสมัยของดุษฎี ฮันตระกูล

จากกำไลสำริดสู่เนื้อดิน : บ้านเชียงในศิลปะร่วมสมัยของดุษฎี ฮันตระกูล

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

 

ต้นทศวรรษ 2500 พรหม ศรีสุนาครัว (บางฉบับเรียก พรมมี) ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเชียง (ประชาเชียงเชิด) ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แจ้งเรื่องการพบโบราณวัตถุและมอบเศษภาชนะดินเผาที่ชาวบ้านขุดพบให้แก่เจริญ พลเดชา หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น กระนั้น การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงก็ยังไม่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการจนกระทั่งสตีเฟน ยัง (Stephen Young) นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บุตรชายของเคนเนธ ยัง (Kenneth Young) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้เดินทางไปเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ที่บ้านเชียงได้เดินสะดุดรากไม้ล้มไปเจอสิ่งที่ดูเหมือนปากภาชนะดินเผาทรงกลมที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินในปี พ.ศ. 2509

การค้นพบอันเป็นตำนานของยังนำไปสู่อะไรหลายอย่าง ทั้งความร่วมมือสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ความเข้าใจชุดใหม่เกี่ยวกับอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (บ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2535) ความสนใจอย่างท่วมท้นต่อการสะสมโบราณวัตถุจากบ้านเชียง ตลอดจนการลักลอบขุด ซื้อขายและส่งออกโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐฯ ครอบครองโบราณวัตถุจากบ้านเชียงที่ไม่อาจระบุที่มาชัดเจนและถูกกฎหมาย (การบริจาคสิ่งของจำพวกโบราณวัตถุให้แก่พิพิธภัณฑ์สามารถใช้หักภาษีได้ เรื่องนี้กลายเป็นช่องทางให้เกิดการฉ้อฉลในการแจ้งขอคืนภาษีหรือการหักภาษีเกินจริง)

ปี พ.ศ. 2551 โบราณวัตถุอันระบุที่มาไม่ได้ในพิพิธภัณฑ์ในแคลิฟอร์เนียสี่แห่ง ได้แก่ Los Angeles County Museum of Art (LACMA), Pacific Asia Museum (PAM), Mingei International Museum และ Bowers Museum ดึงดูดความสนใจของทางการสหรัฐฯ จนเกิดการทลายขบวนการลักลอบค้าวัตถุโบราณขนานใหญ่ หนึ่งในผู้ถูกจับกุมคือ ร็อคซานน่า บราวน์ (Roxanna Brown) อดีตนักข่าวอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนามที่กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องปั้นดินเผาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ Mingei International Museum และ Bowers Museum เลือกไม่สู้คดีและยินยอมคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงจำนวน 68 และ 542 ชิ้น ตามลำดับ ให้กลับสู่เมืองไทย LACMA และ PAM ยังเดินทางไปไม่ถึงจุดนั้น

ภาพถ่ายกำไลสำริดบ้านเชียงจากไฟล์ภาพชุด public domain ของ LACMA ที่เปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดได้ คือต้นแบบของภาพลายเส้น hyper-real จำนวน 16 ชิ้นของดุษฎี ฮันตระกูลในนิทรรศการ There are More Monsoon Songs Elsewhere ที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่เมื่อปี พ.ศ.​ 2561

 

ดุษฎี ฮันตระกูล, There are More Monsoon Songs Elsewhere, 2561 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, There are More Monsoon Songs Elsewhere, 2561 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, There are More Monsoon Songs Elsewhere, 2561 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, There are More Monsoon Songs Elsewhere, 2561 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล

 

ภาพลายเส้นที่สร้างขึ้นด้วยมือและจัดแสดงที่แกลเลอรีในกรุงเทพนี้ชวนให้ขบคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ที่มาของวัตถุเหล่านั้น การสร้างและเผยแพร่ภาพถ่ายของวัตถุจัดแสดงผ่านทางเว็บไซต์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาที่เกิดขึ้นได้นอกพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ และการเรียกร้องให้คืนโบราณวัตถุกลับสู่มาตุภูมิ

คลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายต่อหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐฯ นั้นเต็มไปด้วยโบราณวัตถุที่ถูกนำออกไปจากดินแดนต่างๆ ทั่วโลกในยุคอาณานิคมและจักรวรรดินิยมอเมริกัน อีกทั้งยังมีประเภทที่ได้มาจากการลักลอบค้าของโบราณ กล่าวคือ เป็นของโจร (looted objects) นั่นเอง การเมืองทางวัฒนธรรมตั้งแต่ยุคหลังอาณานิคมเป็นต้นมาจึงมีส่วนในการสร้างกระแสการเรียกร้องให้คืนโบราณวัตถุกลับไปยังประเทศต่างๆ ด้วย

ในกรณีของโบราณวัตถุบ้านเชียง แต่เดิม ชาวบ้านเก็บสิ่งที่พวกเขาพบเจอไว้ที่บ้าน บางชิ้นนำมาใช้สอยได้แบบหม้อไหในชีวิตประจำวัน บางชิ้นกลายเป็นของตกทอดในครอบครัว แต่ก็ไม่ได้ถือกันว่าเป็นของที่มีราคาค่างวดอะไรนัก ความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อเรื่องราวของบ้านเชียงแพร่กระจายไปสู่พ่อค้าวัตถุโบราณและนักสะสมหลังจากการค้นพบของยังในปี พ.ศ. 2509 มีข้อมูลว่าในช่วงต้นทศวรรษ 2510 โบราณวัตถุถูกชาวบ้านขายให้กับพ่อค้าวัตถุโบราณที่ส่งต่อไปยังเหล่านักสะสม ข้าวของจำนวนมหาศาลยังถูกนำออกจากประเทศไทยผ่านทางฐานทัพอากาศอุดร หนึ่งในฐานทัพอากาศที่สหรัฐฯ ตั้งขึ้นในอีสานช่วงสงครามเย็น ความปรารถนาต่อเครื่องไม้ เครื่องมือสำริด และเครื่องปั้นดินเผาเขียนลายสีแดงได้ทวีขึ้นตามองค์ความรู้ทางโบราณคดีที่เผยให้เห็นว่า อารยธรรมบ้านเชียงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าภูมิภาคนี้ไม่ได้เป็นดินแดนล้าหลังที่คอยรับอิทธิพลจากภายนอกคือจีนและอินเดีย แต่มีความสามารถในการสร้างสรรค์และคิดค้นประดิษฐกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ในแง่นี้ กำไลสำริดและโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ใน LACMA จึงแสดงถึงสายใยที่เชื่อมโยงไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนามไปพร้อมกับการลักลอบส่งออกโบราณวัตถุและปัญหาของการสะสมงานในพิพิธภัณฑ์  ขณะที่โบราณวัตถุของจริงยังไม่กลับคืนมา ‘ภาพ’ ของโบราณวัตถุโดยศิลปินร่วมสมัยชาวไทยถูกสร้างขึ้นและจัดแสดงในกรุงเทพฯ ภาพลายเส้นเหล่านั้นเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยทำหน้าที่เป็นภาพแทน (representation) จากภาพที่เป็นภาพแทนอยู่แล้ว นั่นก็คือ ภาพถ่ายสีในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์

ช่องว่างระหว่างวัตถุจัดแสดงจริงในพิพิธภัณฑ์กับภาพแทนของดุษฎีคือความห่างไกลของพื้นที่อันเกิดจากขบวนการลักลอบส่งออกโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑ์ที่รับโบราณวัตถุเหล่านั้นไว้ ภาพลายเส้นของดุษฎีไม่ได้วาดขึ้นจากการมองต้นแบบที่เป็นวัตถุ original เหมือนนักเรียนศิลปะฝึกฝีมือด้วยการวาดจากแบบจริง แต่เขียนขึ้นจากภาพแทนของวัตถุนั้นอีกทอดหนึ่ง หากทั้งกำไลสำริดของจริงที่คนโบราณสร้างกับภาพลายเส้นบนกระดาษของศิลปินร่วมสมัยมีจุดร่วมกันอยู่ตรงความเป็นงานฝีมือ แต่ภาพต้นแบบที่ดุษฎีใช้เป็นภาพที่เกิดจากกระบวนการทางเทคโนโลยี (ภาพถ่ายในเว็บไซต์) ในกรอบที่เรียงรายอยู่บนผนังด้านหนึ่งของ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ จึงเป็นการหวนคืนกลับสู่มาตุภูมิของกำไลสำริดในเชิงภาพ (visual repatriation)

การทำงานศิลปะว่าด้วยบ้านเชียงของดุษฎีหลอมรวมเข้ากับความสนใจในประวัติศาสตร์สงครามเย็น โดยเฉพาะสงครามเย็นในอีสานที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในศิลปะร่วมสมัย บทอ้างอิงถึงบ้านเชียงกับสหรัฐฯ ช่วงสงครามเวียดนามชัดเจนขึ้น เมื่อศิลปินเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ PARALLEL: The Ramasun Station Art Trail ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร จังหวัดอุดรธานี เมื่อกลางปี พ.ศ. 2562 ซึ่งค่ายรามสูรในอดีตก็คือสถานีวิทยุวิจัยภาคสนามที่ 7 ของกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนามนั่นเอง

ผลงาน สี่ดวงวิญญาณสมมติจากหลายๆ ดวงที่กลับมา ทำจากดินบ้านเชียงปั้นเป็นเสาสี่เสาติดตั้งบนฐานเสาเก่า อยู่กลางลานโล่งอันเคยเป็นที่ตั้งของออฟฟิศของทหารอเมริกัน เสาดินดังกล่าวเป็นเครื่องส่งสัญญาณเชิงจินตนาการเพื่อเรียกวิญญาณผู้ไปรบในสงครามเวียดนามให้หวนคืน เสียงเรียกขานข้ามพื้นที่ กาลเวลา และภพชาติ ในที่นี้ บ้านเชียงไม่ได้ปรากฏรูปเป็นโบราณวัตถุ แต่คือวัสดุตั้งต้นของผลงานศิลปะ หรือ ‘ดิน’ สสารพื้นฐาน ธาตุเริ่มต้นที่สัมพันธ์กับการให้กำเนิด วัตถุดิบของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงที่เหล่านักสะสมปรารถนา

 

ดุษฎี ฮันตระกูล, สี่ดวงวิญญาณสมมติจากหลายๆ ดวงที่กลับมา, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, สี่ดวงวิญญาณสมมติจากหลายๆ ดวงที่กลับมา, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, สี่ดวงวิญญาณสมมติจากหลายๆ ดวงที่กลับมา, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, สี่ดวงวิญญาณสมมติจากหลายๆ ดวงที่กลับมา, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล

 

ในปีเดียวกันนี้ ดินบ้านเชียงถูกโยกย้ายมายังอีกนิทรรศการหนึ่งในกรุงเทพ They Talk  ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ เป็นนิทรรศการประติมากรรมดินเผาเคลือบสีจำนวน 23 ชิ้นวางบนชั้นไม้ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันออกไป ประติมากรรมเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยดินจากหลายแหล่ง ดินบ้านเชียงคือหนึ่งในนั้น ดินจากแหล่งอารยธรรมโบราณกลายสภาพเป็นประติมากรรมร่วมสมัยมีชื่อเสียงเรียงนามที่ไม่ผูกพันกับอดีต

For future farmers, may you see the deepest blue ประกอบด้วยประติมากรรมขนาดเล็กสองชิ้นและสิ่งที่ดูเหมือนเศษภาชนะบ้านเชียงโบราณวางเรียงรายอยู่บนชั้น การอ้างอิงและการเป็นอิสระจากตัวอ้างอิงดำรงอยู่คู่กันในผลงานชิ้นนี้ ขณะที่เศษภาชนะดินเผาคงลวดลายเขียนสีอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง หน้าตาของประติมากรรมสองชิ้นกลับไม่เหมือนอะไรในแหล่งโบราณคดีแห่งนั้นเลย กระทั่งสร้างจากดินบ้านเชียงหรือดินจากแหล่งอื่นเราก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ ในเมื่อทั้งหมดในนิทรรศการเกิดขึ้นจากดินหลายแหล่งคละเคล้ากันไป

ในเชิงกระบวนการ การแยกตัวจากอดีตยังฝังอยู่ในเทคนิคการเผา ดุษฎีกล่าวว่าเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์เผาด้วยอุณหภูมิ 700-800 องศา แต่เตาเผาในปัจจุบันสามารถเผาด้วยอุณหภูมิสูงกว่านั้นได้ ประติมากรรมดินเผาของเขาส่วนใหญ่เผาที่อุณหภูมิ 1,000-1,200 องศา ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อผลงานยังสื่อไปถึงปัจจุบันที่ส่งต่อไปหาอนาคต เป็นคำอธิษฐานที่อาจมาถึงหรือมาไม่ถึง “สำหรับชาวนาแห่งอนาคต ขอให้ท่านได้เห็นสีน้ำเงินที่ลึกล้ำที่สุด” ‘สีน้ำเงินที่ลึกล้ำที่สุด’ (deepest blue) คืออุปมาของฝนฟ้าที่จะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์หรืออะไรอื่น? อดีตยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน และอนาคตทาบเงาลงบนกันและกันในประติมากรรมเหล่านี้

 

ดุษฎี ฮันตระกูล, For future farmers, may you see the deepest blue, 2562 ที่มาภาพ: บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่
ดุษฎี ฮันตระกูล, For future farmers, may you see the deepest blue, 2562 ที่มาภาพ: บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

ลวดลายบนภาชนะดินเผาหายไปในผลงานชุด The Map for the Soul to Return to the Body ในเทศกาลศิลปะ Singapore Biennale ที่ประเทศสิงคโปร์ (จัดแสดงระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562-22 มีนาคม พ.ศ. 2563) ประติมากรรมดินเผาหน้าตาเหมือนไหโบราณ 16 ใบไร้ลวดลายเขียนสีเป็นเส้นโค้งอ่อนช้อยอย่างโบราณวัตถุต้นทาง พื้นผิวเรียบเกลี้ยงแสดงนัยถึงการสลัดตัวอ้างอิงทิ้งไปอีกหนึ่งเปลาะ แต่ก็ไม่ทั้งหมด ข้อความอธิบายผลงานไม่ปกปิดที่มาของแรงบันดาลใจ กลายเป็นเส้นบางยึดโยงกาลเวลาที่แตกต่าง และใช้ชั้นไม้ทำหน้าที่รองรับเป็นฐานเช่นเดียวกับใน They Talk

 

ดุษฎี ฮันตระกูล, The Map for the Soul to Return to the Body, เทศกาลศิลปะ Singapore Biennale ที่มาภาพ: บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่
ดุษฎี ฮันตระกูล, The Map for the Soul to Return to the Body, เทศกาลศิลปะ Singapore Biennale ที่มาภาพ: บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่

 

ชื่อผลงานอย่าง Southeast Asia Clean Soil Management Center และ No Bad Chemical in Food Production บ่งชี้ถึงปัญหาในปัจจุบันและความคาดหวังต่ออนาคตเช่นกัน หากแต่มีการขยับขยายเชิงพื้นที่ ชื่อเหล่านี้แสดงประเด็นปัญหาร่วมกันในระดับนานาชาติบนพื้นที่ของศิลปะ ดุษฎีได้พาโลกบรรพกาลบนดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศไทยไปบรรจบกับอาณาบริเวณที่เป็นสากล

 

ดุษฎี ฮันตระกูล, Southeast Asia Clean Soil Management Center, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, Southeast Asia Clean Soil Management Center, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล

 

ดุษฎี ฮันตระกูล, No Bad Chemical in Food Production, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล
ดุษฎี ฮันตระกูล, No Bad Chemical in Food Production, 2562 ที่มาภาพ: ดุษฎี ฮันตระกูล

 

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าไหบ้านเชียงที่มีลวดลายสีแดงเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรม สีแดงเป็นสีของ ‘เลือดระดู’ สื่อความหมายถึง ‘ชีวิต’ สุจิตต์ วงษ์เทศเสนอว่าลวดลายดังกล่าวคือ ‘ขวัญ’ ของคน  เนื่องจากมีการพบภาชนะเหล่านี้เฉพาะในหลุมฝังศพ จึงเชื่อกันว่าหมายถึงการทำขวัญให้กับผู้ตาย สำหรับดุษฎี เขาสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาใหม่ว่ามนุษย์ทุกคนมีไหของตัวเอง ลวดลายบนไหของแต่ละคนไม่ซ้ำกัน ลายเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นแผนที่ที่ช่วยพาวิญญาณกลับคืนมาหาร่างได้ แต่ไหใน The Map for the Soul to Return to the Body ไม่มีลาย แล้ววิญญาณจะหาทางมาอย่างไร? ลายแทงอาจไม่ปรากฎจนกว่า ‘ปัญหาในปัจจุบัน’ แต่ละอย่างตามชื่อผลงานทั้ง 16 ชิ้นจะได้รับการแก้ไข หากมนุษย์ยังหลงทาง วิญญาณก็หลงทาง…    

ผลงานของดุษฎีชุดนี้พาบ้านเชียงหลุดลอยจากพื้นที่ กาลเวลา และนัยความหมายเดิม ผ่านการขาดหายไปของลวดลายและชื่อเรียกขานใหม่ ศิลปะร่วมสมัยพาบ้านเชียงให้เป็นอิสระจากวาทกรรมประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ School of Oriental and African Studies: SOAS) อธิบายว่าการเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบลำดับเวลาเป็นเส้นตรงเป็นแรงผลักดันให้ต้องมองหา ‘อดีตที่รุ่งเรือง’ เพื่ออธิบาย ‘ความต่อเนื่อง’ กับอดีตก่อนที่สังคมจะพัฒนามาเป็นชาติแบบสมัยใหม่ ผลการศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับบ้านเชียงตอบสนองอย่างมากต่อโครงเรื่องในลักษณะดังกล่าว แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงคือตัวแทนของยุคสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็น ‘มรดก’ หรือ ‘สมบัติ’ ของชาติ บ้านเชียงสำคัญต่อสำนึกประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมเนื่องจากมันหมายถึงอารยธรรมโบราณอันรุ่งเรืองบนแผ่นดินไทย

แต่ทว่า เนื้อในขององค์ความรู้เรื่องบ้านเชียงเกิดจากความร่วมมือกับสหรัฐฯ พิสิฐ เจริญวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania Museum of Archaeology and Anthropology) ระหว่างปี พ.ศ. 2517-2519  ร่วมกับเชสเตอร์ กอร์แมน (Chester Gorman) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จไปทอดพระเนตรการขุดค้นของกรมศิลปากรที่วัดศรีโพธิ์ในปี พ.ศ. 2515 พระองค์ทรงรับสั่งว่าการค้นพบและข้อมูลของบ้านเชียงเป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงต่อชาวไทยเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อทุกคนในโลกด้วย สถาบันหลายแห่งคงจะให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้ และอาจให้ความช่วยเหลือในการค้นหาอายุทางโบราณคดีด้วย (เหตุการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งในปีนั้นคือการออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยการห้ามลักลอบขุดค้น ซื้อขายหรือส่งออกโบราณวัตถุบ้านเชียง)

“It appears to me that this kind of discovery and information would be important to people all over the world and not merely to the people of Thailand. Many institutions may be interested in these materials and be willing to aid in obtaining chronological dating.”

ผลสืบเนื่องของพระราชปรารภดังกล่าว คือความร่วมมือทางโบราณคดีกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในอีกสองปีต่อมา ณ ที่นี้ บ้านเชียง อุดรธานี จังหวัดอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศอุดรและค่ายรามสูรคือจุดประจบระหว่างชนชั้นนำไทย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และงานโบราณคดีในช่วงสงครามเย็น

ต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นี้ เมาริซิโอ เปเลจจี (Maurizio Peleggi) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จาก National University of Singapore เสนอว่าสถานะของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมนั้นเป็นความย้อนแย้งในตัว เนื่องจากว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับบ้านเชียงเป็นผลผลิตของจักรวรรดินิยมอเมริกันที่เข้ามายังภูมิภาค ในฐานะพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ อีสานคือพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจึงมีความสำคัญยิ่งในฐานะจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในการทำความเข้าใจการเมืองเชิงวัฒนธรรมยุคสงครามเย็น การเมืองของความรู้แยกไม่ออกจากการเมืองของสถานการณ์โลก ในช่วงปี พ.ศ. 2525-2529 นิทรรศการ Ban Chiang: Discovery of a Lost Bronze Age ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและสถาบันสมิธโซเนียนเดินทางไปจัดแสดงในสิบสองเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ ก่อนจะไปต่อที่สิงคโปร์ และกลับมาจัดแสดงเป็นการถาวรในเมืองไทยในอาคารที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy Foundation of Thailand) ณ พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

ไหไร้ลายของดุษฎีอยู่ตรงไหนการเมืองของประวัติศาสตร์และโบราณคดี? เมื่อปราศจากลายเขียนสีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เครื่องหมายของความเป็นบ้านเชียงก็เลือนหาย เหลือเพียงเรื่องเล่าของศิลปินถึงแหล่งที่มาอันบันดาลใจ เหลือแต่ดิน วัสดุตั้งต้นของการปั้นภาชนะ ไหไร้ลายดุจดั่งการถอดรื้อวาทกรรมชาตินิยม-จักรวรรดินิยมให้ร่วงหล่น ไม่เหลืออะไรนอกจากเนื้อดินอันเป็นธาตุแท้ ที่ถูกปั้นขึ้นใหม่เพื่อบรรจุเรื่องเล่าใหม่ของศิลปินร่วมสมัย เมื่อไร้ลายที่ระบุแหล่งที่มาได้ ไหทั้ง 16 ใบก็หลุดลอยออกจากตัวอ้างอิงเชิงโบราณคดี วัฒนธรรม และการเมืองของประวัติศาสตร์ ไปสู่สภาวะความเป็นสากลที่ไร้เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ สู่ประเด็นปัญหาอันเป็นปัจจุบันของโลกใบนี้ สู่โลกของศิลปะร่วมสมัย สู่เขตแดนอื่น

 

ขอบคุณอาจารย์ ดร. ภีร์ เวณุนันท์ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

งานเขียนเพิ่มเติม

Byrne, Denis. Counterheritage: Critical Perspective on Heritage Conservation in Asia. London and New York: Routledge, 2014.

Peleggi, Maurizio. “Excavating Southeast Asia’s prehistory in the Cold War: American archaeology in neocolonial Thailand” in Journal of Social Archaeology. Vol. 16 :1 (2016), pp. 94-111.

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต. “โบราณคดีของโบราณคดี” ใน บ้านเชียง ปฐมบทโบราณคดีไทย. กรุงเทพ: พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. 2559, น. 11-59.

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล. “การเมืองของการใช้อดีต: บทบาทของมรดกโลกบ้านเชียงในประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย” ใน บ้านเชียง ปฐมบทโบราณคดีไทย. กรุงเทพ: พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. 2559, น. 61-80.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save