fbpx

เมื่อ “อีสาน” กลายเป็น “บาหลีแห่งประเทศสยาม” ปลายทศวรรษ 2470

ขออนุญาตเริ่มต้นด้วยการเปิดเผยเบื้องหลังไม่เร้นลับ

ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 สังเกตเห็นมิตรสหายหลายท่านแห่ง ‘ออนไลน์พิภพ’ กล่าวถึงภาพยนตร์ ร่างทรง ทำนองคล้ายๆ กันว่า นามตัวละคร “ย่าบาหยัน” ไม่น่ามีปรากฏในภาคอีสาน เพราะไปพ้องกับนามของคนแถวๆ คาบสมุทรมลายูหรืออินโดนีเซีย บางทีผู้สร้างหนังอาจไม่เข้าใจ ‘ความเป็นอีสาน’

ผมพลันหวนระลึกต้นฉบับงานเขียนของตนเองชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ ‘ภาคอีสาน’ และ ‘บาหลี’  ซึ่งขะมักเขม้นทำเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มาดหมายจะส่งมาให้ทาง The101.world พิจารณา แต่มัวเผชิญสารพัดสารเพปัญหาระหว่างช่วงโควิโทจึงเผลอลืมงานชิ้นนี้ มิหนำซ้ำ ไฟล์ต้นฉบับยังหายวับกะทันหันในเหตุการณ์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กพังเมื่อเย็นวันที่ 21 ตุลาคม 

พยายามผลิบานอารมณ์ปล่อยวาง แม้ลึกๆ สุดแสนจะเสียดายข้อมูลที่ร่ายเรียงไว้

การเข้าไปชม ร่างทรง ในโรงภาพยนตร์ ซึ่งชวนให้ตรึงตาต่อตัวละคร “อีมิ้ง” และวกวนขบคิดเรื่องที่มิตรสหายเอ่ยว่า นาม “ย่าบาหยัน” หาได้ผูกพันกับ ‘ความเป็นอีสาน’ นั่นยิ่งปลุกเร้าให้ผมปรารถนามานะเขียนต้นฉบับขึ้นใหม่ทั้งหมดอีกหน

ยินดีสารภาพ ผมหลงใหลดินแดนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย หรือที่คนเรียกขานเคลือบริมฝีปากว่า ‘ภาคอีสาน’ มาตั้งแต่วัยเยาว์ แม้โดยถิ่นกำเนิดจะถือเป็น ‘คนใต้’ ก็ตามที

ในชีวิตนี้ ผมทำความรู้จัก ‘อีสาน’ คราแรกๆ ผ่านอาหาร

อาจก่อความสงสัยให้คุณผู้อ่านไม่น้อย แต่ก็เป็นความจริงว่า บรรดาร้านอาหารหลายแห่งในภาคใต้นั้น พบร้านอาหารอีสานจำนวนมากโขเสียยิ่งกว่าร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ดังคนส่วนใหญ่มักเข้าใจ จริงๆ คนใต้นิยมรับประทานข้าวแกงที่บ้านของตนเอง ส่วน ‘ภาพจำ’ ทำนองคนใต้ชอบแวะนั่งร้านข้าวแกง น่าจะเกิดจากการมองเห็นคนใต้ในเมืองหลวงกระมัง

เนื่องในวัยเยาว์ผมลิ้มรสชาติอาหารจำพวกข้าวเหนียว หมูแดดเดียว คอหมูย่างเนืองๆ ทำให้ทุกคราวที่สบโอกาสอ่านเจอเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘อีสาน’ จะรู้สึกดึงดูดใจและเพลิดเพลิน แต่กระนั้น มีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่พอค้นเจอก็ชวนให้ฉงน

คงแปลกไปจากความคุ้น ถ้ามีใครพยายามสร้างภาพลักษณ์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นแบบ ‘เกาะบาหลี’  เพราะภาพของทั้งสองแห่งค่อนข้างห่างไกล เทียบเคียงกับ ‘ภาคใต้’ คงจะเหมาะเหม็งกว่า  ทว่าก็เคยปรากฏขึ้นแล้วเมื่อปลายทศวรรษ 2470 ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

บุคคลผู้เชื่อมร้อยดินแดนทั้งสองเข้าหากันคือ นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์

บุตรคนที่ 5 ของ พระสุขุมวินิจฉัย (สมุจย์ บุณยรัตพันธุ์) กับ แม่ต่วน

เจ้าคุณสุขุมฯ มีรกรากเดิมละแวกตำบลสี่กั๊กพระยาศรี จังหวัดพระนคร เริ่มต้นชีวิตราชการตำแหน่งเสมียนเก็บเงินค่านาและออกตราจองตามหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลนครราชสีมา ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยข้าหลวงตรวจการมณฑลปราจีนบุรี เป็นพนักงานคลังและพิจารณาคดีที่ร้อยเอ็ด  ก่อนจะมาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายให้นักเรียนนายร้อยตำรวจภูธรที่โรงเรียนพระปฐมเจดีย์ ครั้นสอบไล่ผ่านเป็นเนติบัณฑิต ล่วง พ.ศ. 2451 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาประจำจังหวัดตราด ปีถัดมา รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “หลวงสรอรรถอำนวย” ย้ายมาประจำศาลโปริสภาที่ 1 (เทียบกับปัจจุบันคือศาลแขวงพระนครใต้)

ตอนเขมชาติถือกำเนิด (พ.ศ. 2455) บิดากำลังดำรงตำแหน่งพิพากษาประจำจังหวัดมีนบุรี เขาใช้ชีวิตที่นั่นก่อนจะเข้าพระมหานคร เพราะบิดากลับมาประจำศาลโปริสภาที่ 1 จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุขุมวินิจฉัย” เลื่อนชั้นเป็นผู้พิพากษาศาลอาญาและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ตามลำดับ

ด้วยการเติบโตท่ามกลางบรรยากาศครอบครัวข้าราชการสายตุลาการ พอเขมชาติเรียนจบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์เมื่อ พ.ศ. 2472 ก็ศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม พร้อมเป็นผู้ช่วยจัดทำหนังสือ บทบัณฑิตย์ เขาสำเร็จเนติบัณฑิต พ.ศ. 2474  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราวช่วง พ.ศ. 2476 ได้เข้าทำงานในสำนักงานโฆษณาการ

บทบาทหนึ่งของสำนักงานโฆษณาการยุคคณะราษฎรคือ ความพยายามเผยแพร่นโยบายรัฐบาลและองค์ความรู้ต่างๆ ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เขมชาติทำงานประจำ จึงสบโอกาสได้ร่วมบรรยายความรู้ เฉกเช่นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 เขาบรรยายเรื่อง “บาหลีแห่งประเทศสยาม”  โดยเกริ่นว่า

“ท่านผู้ฟังทั้งหลาย

เมื่อท่านได้ยินชื่อเรื่องที่ข้าพเจ้าจะบรรยาย ท่านคงจะพากันนึกประหลาดใจว่าอะไรกันนี่ “บาหลีแห่งประเทศสยาม” ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยได้ยิน ว่าประเทศสยามมีบาหลีอยู่ด้วย หรือตามภูมิศาสตร์ก็ไม่เคยปรากฏว่าประเทศบาหลีได้ย้ายมารวมอยู่กับประเทศสยามเลย เมื่อท่านมีความฉงนอยู่เช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะไขข้อข้องใจของท่านให้หมดไปโดยแสดงให้ท่านทราบว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงให้ชื่อเรื่องว่า “บาหลีแห่งประเทศสยาม””

จากนั้นขยายความ

“ความจริงที่ให้ชื่อเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะสยามมีบาหลีหรือว่าบาหลีย้ายมารวมอยู่กับสยาม แต่เพราะว่าข้าพเจ้ามีความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือรู้สึกว่าคนไทยโดยมากเมื่อเอ่ยถึงบาหลีแล้ว ก็มีความกระหายที่จะไปเที่ยวประเทศบาหลีนัก ประกอบทั้งกิติศัพท์ของบาหลีได้แพร่หลายเข้ามายังประเทศสยามเสมอๆ ทั้งทางหนังสือและทางภาพยนต์ ก็เลยทำให้ความอยากไปเกิดมากขึ้นทุกที แต่เนื่องจากระยะทางที่จะไปสู่ประเทศบาหลีนั้นไกลมาก ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง ก็เลยทำให้ความอยากไปของพวกเราซาลงไปบ้าง แต่ข้าพเจ้าอยากจะกระซิบบอกแก่ท่านว่าท่านอย่าเพ่อท้อใจ ถ้าท่านอยากจะไปประเทศบาหลีแล้ว ท่านไม่ต้องลำบากกาย และสละทรัพย์มากมาย เดินทางไปยังประเทศของเขาดอก ประเทศสยามเรามีดีๆ มากหรือดียิ่งกว่าบาหลีแล้ว และก็มีมานานแล้วด้วย หากแต่ว่าพวกเราไม่สนใจ…มองเลยไปเสีย จึงไม่มีใครรู้จักว่า “บาหลีแห่งประเทศสยามอยู่ที่ไหน” ข้าพเจ้ากล้ารับรองได้ว่า ท่านชอบบาหลีจริงๆ เท่าใด ถ้าท่านได้ไปชมบาหลีแห่งสยามแล้ว ท่านจะต้องชอบมากขึ้นอีกสิบเท่าทีเดียว ท่านได้อ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์เรื่องบาหลี ท่านพอใจในภูมิประเทศของเขา ท่านพอใจในการแต่งกายของพลเมือง และพอใจในขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆของเขา แต่ท่านหาทราบไม่ว่า สิ่งที่ท่านพอใจเหล่านี้ท่านจะหาได้ในดินแดนของประเทศสยามเรานี่เอง ขอให้ท่านจงอดใจฟัง และอนุญาตให้ข้าพเจ้านำท่านไปสู่ดินแดนบาหลีแห่งประเทศสยามของเราเถิด”

เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์

ความตื่นเต้นหรือความนิยมรับรู้เรื่อง ‘เกาะบาหลี’ ในสังคมไทย เริ่มปรากฏตั้งแต่ยุคเพิ่งจะมีภาพยนตร์เข้ามาจัดฉายโน่นเลย (นับจากทศวรรษ 2440 เรื่อยมา) ซึ่งภาพเคลื่อนไหวของ ‘บาหลี’ ที่ถูกบันทึกบนแผ่นฟิล์มได้แพร่หลายมาโลดแล่นบนจอหนังเป็นที่ประจักษ์ของชาวสยาม อย่างคราวหนึ่งมีการจัดฉายหนังกลางแปลงในงานวัดชานพระนคร ก่อนฉายหนังฝรั่ง ก็เอาหนังข่าวมาฉายฆ่าเวลา แสดงภาพหญิงสาวชาวเกาะบาหลีเปลือยอกท่อนบน พอเวลาอาบน้ำ พวกเธอล่อนจ้อนแบบนุ่งลมห่มฟ้า ครั้นถึงฉากที่สาวบาหลีเปิดเผยเรือนร่างเปล่าเปลือยด้านหลัง พลันเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายขึ้น เพราะจอหนังกลางแปลงมองเห็นทั้งสองด้าน ผู้ชมที่ใคร่อยากเห็นสรีระด้านหน้าของหญิงสาว พากันวิ่งสวนทางไปมาเพื่อดูอีกด้านของจอ  ส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกว่า “ต้องดูทางนี้โว้ยมันถึงจะเห็น”

ปลายทศวรรษ 2470 ‘เกาะบาหลี’ ยังเป็นความใฝ่ฝันของชาวสยามที่จะได้ไปเยี่ยมยล พบการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับดินแดนนี้ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์บ่อยๆ เช่น หนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 2948 ประจำวันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ลงพิมพ์ภาพถ่ายหญิงสาวชาวบาหลีในหน้าแรกสุด โปรยถ้อยคำบรรยายว่า “บุตรีสาวของท่านสมภารแห่งสาสนสถานเกาะบาหลี, ซึ่งโบสถ์หรือเทวาลัย สร้างขึ้นด้วยหินฟองน้ำ, ภาพนี้ถ่ายโดยมิสเตอร์เบอร์ตัน โฮล์มส์, นักท่องเที่ยวอเมริกัน, นางสาวผู้นี้เปนสตรีที่งามคนหนึ่งในเกาะนั้น”


ภาพจากหนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ฉบับประจำวันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2477


เขมชาติอธิบายวิธีเดินทางไปสู่ “บาหลีแห่งประเทศสยาม” ยุคสมัยนั้น ซึ่งมีอย่างเดียวคือ โดยสารรถไฟ

ทุกๆวันเวลาเช้า ๙ นาฬิกา ๕๐ นาที รถไฟจะนำท่านไปยังดินแดนที่กล่าวแล้ว จะเคลื่อนที่ออกจากหัวลำโพงเสมอ  ระยะทางที่รถไฟวิ่งในระหว่าง ๔ ชั่วโมงแรก ท่านจะเห็นแต่คันนาและพื้นที่ราบตลอดไป แต่ต่อจากนั้นท่านจะรู้สึกว่าท่านถูกนำไปสู่ที่ราบสูง ซึ่งเต็มไปด้วยป่าและเขา แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่จะเป็นเครื่องดึงดูดหัวใจของท่านเป็นครั้งแรก ท่านจะไม่อยากนั่งอยู่ในรถเลย ความงามตามธรรมชาติของสองข้างทางรถไฟ จะฉุดให้ท่านออกมายืนอยู่ที่ชานรถ  หรือไม่ก็ต้องชะโงกหน้าต่าง ลำห้วยที่คดเคี้ยว ป่าดงที่หนาทึบ และภูเขาอันมียอดที่ปกคลุมด้วยก้อนเมฆและหมอก จะเป็นเครื่องกล่อมใจท่าน ให้นึกถึงแต่จุดหมายข้างหน้า ส่วนข้างหลังนั้นท่านจะต้องลืมหมด ตกเย็นราว ๑๘ นาฬิกาเศษ ท่านจะเห็นประตูเมืองของบาหลีของประเทศสยามอยู่รำไร และเมื่อรถหยุดท่านจะเห็นป้ายบอกชื่อเมืองว่า “นครราชสีมา” แต่ท่านอย่าเพิ่งเข้าใจว่านี่คือดินแดนที่ข้าพเจ้าจะพาท่านไป

ท่านจะต้องพักแรมที่จังหวัดนี้ ๑ คืน รุ่งเช้ารถไฟจะพาท่านไปสู่จุดที่หมายอันแท้จริง ระยะนี้ท่านอาจจะแยกไปได้ ๒ ทาง คือสุดทางจังหวัดขอนแก่นหรือสุดทางจังหวัดอุบลราชธานี แต่ทั้งสองทางนี้ข้าพเจ้าจะไม่นำท่านไป เพราะว่าคงมีผู้เคยไปกันมามากแล้วและข้าพเจ้าถืออย่างหนึ่งว่า เมื่อความเจริญไปถึงที่ไหนที่นั่นย่อมไม่มีของเก่า กล่าวคือตามประเพณีธรรมเนียมหรืออาชีพของพลเมืองย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

ลุ้นกันต่อเถิด เขมชาติจะพาเราไปยังถิ่นใดในวันถัดมา

“….ฉะนั้นที่ๆ ข้าพเจ้าจะนำท่านต่อไป ก็คือจังหวัดที่รถไฟไปยังไม่ถึงและนั่นก็คือจังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบาหลีแห่งประเทศสยาม ซึ่งต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะเรียกว่าดินแดนแห่งธรรมชาติ”

ตามทัศนะผู้บรรยาย  ‘ภูมิประเทศแห่งดินแดนของธรรมชาติ’  จะ “…เป็นไปโดยธรรมชาติจริงๆ จะสวยจะงามก็อย่างธรรมชาติ ไม่มีการตบแต่งเพิ่มเติมแต่ประการใด”  ฉะนั้น จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ “ธรรมชาติอันแท้จริง” ซึ่งอยู่ ‘นอกเมือง’ มากกว่า ‘ในเมือง’ เพราะ “เมื่ออยู่ในเมืองท่านจะเห็นแต่บ้านช่องที่มีแบบทรงเหมือนกันหมด เป็นเรือนชั้นเดียวยกพื้นสูง มุงด้วยแฝกหรือหญ้า ตั้งอยู่เป็นหมู่ๆ แต่เรียงรายกันพองาม เมื่อท่านรู้เช่นนี้ ท่านอย่าเพิ่งนึกว่าบ้านเรือนของเขาไม่สวย อย่างอื่นก็คงไม่สวยตามไปด้วย ข้าพเจ้าขอให้ท่านนึกถึงสุภาษิตบทหนึ่งว่า “ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง” แต่ถ้าข้างนอกขรุขระ และข้างในต๊ะติ๋งโหน่ง…”  พร้อมเสริมว่า “ความเป็นไปภายในเมืองไม่ค่อยมีอะไรที่น่าดูนัก เพราะเป็นสถานที่ๆ มีการค้าขาย ธรรมชาติอาจจะถูกแทรกแซงอยู่บ้าง ธรรมชาติอันแท้จริงนั้นอยู่นอกเมือง แต่ทว่าการเดินทางออกจะลำบาก…”

หากในฐานะผู้อยากรู้อยากเห็นย่อมทำให้

“…ความลำบากในการเดินทางเราไม่กลัว ในบางแห่งเราอาจจะเดินทางได้โดยรถยนต์ แต่ในบางแห่งต้องเกวียน เช่นในจังหวัดมหาสารคามเป็นต้น ในจังหวัดร้อยเอ็ด การเดินทางไปยังอำเภอต่างๆ ไปได้โดยรถยนต์ เมื่อรถยนต์แล่นออกพ้นเขตอำเภอเมือง สิ่งที่เราเห็นครั้งแรกก็คือทุ่งนา และหนองน้ำใหญ่น้อย บางแห่งก็ผ่านทุ่งหญ้า บางแห่งก็ผ่านหมู่บ้าน สิ่งที่สดุดนัยน์ตาภายในหมู่บ้านก็คือหมู่บ้านๆ หนึ่งจะเห็นเด็กเล็กๆ วิ่งกันอยู่ขวักไขว่ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คน นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าพลเมืองของประเทศสยามกำลังเจริญขึ้นๆ ทุกวัน…”

เขมชาติจับจ้องต่อลักษณะการแต่งกายของหญิงสาวชาวอีสาน ทั้งเปรยๆ เทียบเคียงกับการแต่งกายของหญิงสาวชาวบาหลีที่เคยเห็นจากภาพยนตร์

“…สิ่งที่น่ามองที่สุดก็คือ “การแต่งกายของหญิงสาวตามหมู่บ้าน ผู้หญิงสาวๆ ที่ยังไม่มีสามี จะรู้ได้โดยการนุ่งห่ม  โดยมากตอนบนคือหน้าอก  เจ้าหล่อนจะใช้ผ้าแถบผืนแคบๆ สีดำหรือสีอื่นก็ตาม คาดไว้เฉยๆ ไม่ใช่ห่มอย่างผ้าแถบแต่ห่มอย่างแบบตะเบงมาน เป็นรูปกากะบาดปล่อยส่วนหลังไว้อย่างเปิดเผย ดูๆ ก็น่ารักดีอยู่ดอก ในภาพยนตร์ท่านเห็นหญิงสาวบาหลีปล่อยอกเดินอย่างไม่กระดากอาย ท่านเห็นแล้วท่านก็คงไม่นึกอะไร ถ้าเห็นนานเข้าก็ชักเบื่อและลานตากลายเป็นไม่น่าดู แต่ส่วนหญิงสาวของเราในดินแดนแห่งธรรมชาติ เรามีการแต่งกายที่ดีกว่า เหมาะสมแก่ภูมิประเทศไม่อุจาดนัยน์ตา ยิ่งกว่านั้นยังน่ารักและน่าดูเสียอีก แต่ในเวลากลางคืน ถ้าอากาศร้อนเดือนหงาย เมื่อเจ้าหล่อนทำงาน เช่นทอหูกหรือดำข้าว เจ้าหล่อนอาจจะดึงผ้าแถบผืนน้อยนั้นออกเสียก็ได้ และเจ้าหล่อนมองดูไม่เห็นชายแปลกหน้าปะปนอยู่แล้ว เจ้าหล่อนก็จะออกมานอกเรือนโดยปกติ ฉะนั้นภาพเช่นนี้ ข้าพเจ้าหรือท่านอาจจะเห็นได้โดยบังเอิญเท่านั้น และถ้าเจ้าหล่อนรู้สึกตัวก็จะวิ่งหนีขึ้นเรือนทันที การแต่งกายของหญิงสาวชาวอีสานทุกจังหวัดคล้ายกันหมด คือนุ่งซิ่นและคาดผ้าแถบหรือใส่เสื้อ….”

รูปโฉมหญิงสาวอีสานเป็นสิ่งหนึ่งมิพึงละสายตา

“…และถ้าว่าถึงความสวยงามของเด็กสาวในดินแดนของสยามในส่วนนี้แล้ว ข้าพเจ้ากล้าท้าได้ว่า นอกจากมณฑลพายัพแล้ว ไม่มีที่ใดจะมาพบได้ แม้แต่ในกรุงเทพฯ ทุกคนจะงามอย่างธรรมชาติ ปราศจากเครื่องตบแต่ง ปากนิดจมูกหน่อย ถึงแม้จะไม่มีรูชใช้ แก้มของเจ้าหล่อนก็จะแดงเอง ถึงแม้จะไม่มียาขัดลูกตาให้มีเงา ตาของเจ้าหล่อนก็มีประกายงามอย่างน่าประหลาดและยิ่งกว่านั้น ทุกๆ คนจะล่ำสันแข็งแรงได้ส่วนสัด อาจเดินทางด้วยเท้าวันหนึ่งๆ หลายร้อยเส้น สรุปรวมความแล้ว พอกล่าวได้ว่า ในภาคอีสานมีผู้หญิงสวยและน่ารัก ถ้าท่านอยากจะได้สตรีที่สวยงามและแข็งแรงและเรียบร้อยมาเป็นกำลังกาย กำลังใจของท่านละก็ ขอให้ท่านนึกถึงเด็กหญิงพี่น้องของเราทางภาคนี้บ้าง  แต่ทั้งนี้ขอท่านผู้ฟังจงอย่าเข้าใจไปว่าข้าพเจ้ามีใจโน้มเอียงที่จะไปสมัครเป็นราษฎรคนหนึ่งในภาคนั้น แต่ข้าพเจ้าขอรับว่า ข้าพเจ้าชอบและรักหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งมีอยู่ในดินแดนแห่งธรรมชาตินี้”

‘อีสาน’ ดูจะยึดโยงกับภาพลักษณ์แห่งความทุรกันดาร แต่ผู้บรรยายชี้ชวนให้มองอีกแง่มุม

“มีข้าราชการบางท่าน หรืออาจกล่าวได้ว่าแทบทุกท่าน เมื่อรู้ว่าจะต้องย้ายมาประจำจังหวัดภาคนี้แล้ว ก็แทบว่าจะลาออกจากราชการเสียเลย เพราะมีอุปาทานเชื่อมั่นใจไปว่า จังหวัดภาคนี้คงกันดาร ไม่มีสิ่งที่น่าดู นอกจากความเงียบสงัดเป็นป่าชัฏ  แต่ครั้นมาอยู่เข้าจริงๆ ความเชื่อมั่นเหล่านั้นหายไปหมด กลับมีความอยากจะตั้งมั่นอยู่ในจังหวัดนี้เสียเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้มิใช่อื่นไกลเลย เป็นเพราะความดึงดูด ซึ่งได้รับจากประเพณี และจากความงามตามธรรมชาติของดินแดนทางภาคนี้นั่นเอง”

ประเพณีของราษฎรถูกหยิบยกมาอ้างอิง ซึ่ง “…แต่ละอย่างเราไม่อาจจะทำและเห็นได้ในกรุงเทพฯ”  อันได้แก่

“…การเว้าสาวหรือพูดตรงๆ ว่าการเกี้ยวสาว เขาทำได้อย่างดีและเรียบร้อยที่สุด ว่าถึงผู้ชายแล้วในเรื่องเช่นนี้เขาดีมาก เขาจะไม่มีการแย่งผู้หญิงอย่างวิธีที่น่าเกลียดเลย เช่นคนหนึ่งกำลังคุยอยู่กับหญิงบนเรือน ถ้ามีแขกอีกคนหนึ่งมาหาหญิงนั้น ผู้ที่อยู่ก่อนจะลุกขึ้นลากลับทันที เขาจะไม่นั่งเอาชั้นเอาเชิงกันอยู่เลย ปล่อยโอกาสให้ผู้ที่มานั่งทีหลังอย่างเต็มที่ และวิธีเจ้าชู้ประตูดินชนิดเดินตามและเกี้ยวกันตามถนนอย่างในกรุงเทพฯ ทางโน้นเขาเกลียดนักเกลียดหนา เขาถือว่าเป็นการดูถูกผู้หญิงอย่างร้ายกาจ เขาถือว่าการพูดจากันในบ้านเรือนเป็นการให้เกียรติยศแก่เจ้าของบ้าน จากสิ่งนี้เราพอจะเห็นได้ว่า ประเพณีของสถานที่ๆ ได้ชื่อว่าเจริญแล้วกับที่ยังไม่สู้เจริญ ใครจะน่ารักกว่ากัน ท่านอยากจะรู้จักกับบ้านไหน ท่านอาจจะขึ้นไปได้อย่างสุภาพแม้จะเป็นเวลาค่ำคืนก็ตาม เขาจะไม่รังเกียจท่านเลย มิหนำซ้ำยังจะทำการต้อนรับขับสู้อย่างแข็งแรงด้วย ผู้หญิงสาวจะออกมานั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่ตรงหน้าท่าน พร้อมทั้งเชื้อเชิญให้ท่านกินหมาก สูบบุหรี่ถ้าเป็นเวลากลางคืน พ่อแม่ผู้หญิงจะออกมานั่งคุยอยู่ด้วย แต่ถ้าเขาเห็นว่าท่านเป็นคนควรที่จะไว้ใจได้ คงจะไม่จุ้นจ้านกับลูกสาวเขาๆ ก็หลบเข้านอน หรือทำธุระอย่างอื่นเสีย ปล่อยให้ท่านคุยอยู่กับลูกสาวอยู่แต่ลำพัง และในการคุยนี้ท่านไม่ต้องกระดากอาย คุยเข้าไปเถิดเจ้าหล่อนจะคุยกับท่านอย่างไม่รู้จักเบื่อทีเดียว สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ หญิงสาวเหล่านี้พูดจาคล่องแคล่วอ่อนหวาน และยิ่งกว่านั้น ถึงแม้จะดึกดื่นเที่ยงคืนสักเท่าใดเจ้าหล่อนก็นั่งตาแจ๋วอยู่กับท่านได้ ถ้าหากไม่เอ่ยปากลากลับก่อน เจ้าหล่อนจะไม่เอ่ยก่อนเป็นอันขาด และจะไม่แสดงกิริยาอาการเบื่อหน่ายเลย ดีไม่ดีก็เลยคุยกันจนโต้รุ่ง ประเพณีที่น่ารักเช่นนี้ อย่าว่าแต่ข้าพเจ้าเลยท่านเองแต่ได้พบก็คงชอบ และยังมีดีไปกว่านั้นอีกคือที่บ้านภูไทย จังหวัดมหาสารคาม ถ้าอยากรู้จักกับบ้านใดบ้านหนึ่ง ท่านจะต้องมีน้ำอบกับแป้งนวลติดมือไปด้วย  เมื่อท่านถึงบ้านนั้น  ท่านจะต้องละเลงแป้งกับน้ำอบ แล้วขึ้นไปประหน้าให้แก่ทุกๆ คนในบ้านนั้น ไม่ว่าผู้สาวหรือคนแก่ ถ้าท่านทำเช่นนี้ เขาจะถือว่าท่านให้เกียรติแก่เขาอย่างสูง ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านคงจะไม่ปฏิเสธที่จะให้เกียรติแก่เขาโดยวิธีนี้  แต่ถึงแม้ท่านจะไม่มีน้ำอบกับแป้ง เขาก็ยินดีรู้จักกับท่านเสมอ”

อีกประเพณีคือ “งานเรือนดี” งานนี้จะจัดขึ้นตอนที่

“…บ้านใดมีคนตาย  เมื่อยกศพออกจากบ้านไปวัดแล้ว เจ้าของบ้านก็ระดมพวกผู้หญิงสาวๆ ในหมู่บ้านนั้นมาที่เรือนของตน พอถึงเวลากลางคืน หญิงสาวเหล่านี้ก็นั่งเข้าแถวกันแล้วแต่มากน้อย บางทีก็ ๑๐ คนหรือ ๑๕ คน แต่ไม่มีคนแก่ปะปน อีกแถวหนึ่งก็คือชายหนุ่ม นั่งเข้าแถวตรงกันข้ามห่างจากหญิงพอเอื้อมมือถึง ชายหนุ่มเหล่านี้บางคนก็มีเมียแล้ว แต่หนีเมียมาร่วมวงกับเขาด้วย แต่สำหรับหญิงสาวนั้นตามธรรมดาต้องไม่มีสามี  เมื่อทั้งสองฝ่ายนั่งลงเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มเกมส์ต่างๆ จะเป็นหมากเก็บก็ดี หรือเกมส์อย่างอื่นก็ดี แล้วแต่ใครจะถนัด  การเล่นนี้ต้องพนันกัน สิ่งที่จะพนันก็คือของที่ติดมากับตัว แต่เขาไม่ได้เอากันจริงๆ เขาคืนกันทีหลัง บางคู่ก็พนันกันพิศดารกว่านั้น คือใครแพ้ถูกตบแข้งตบขา หรือหยิกกัน วิธีพนันเช่นนี้ฝ่ายชายชอบ เมื่อเล่นเกมส์กันเบื่อแล้ว ก็นั่งคุยกันเกี้ยวกัน แต่ยังไม่ถึงกับหยอกกัน บางคนก็ร้องเพลงเป็นที่สนุกสนาน จนรุ่งแจ้งก็กลับไปนอนพักผ่อน คืนที่ ๒-๓ ก็เช่นเดียวกันอีก แต่คืนที่ ๓ ผู้ชายชักจะมากหน่อย เพราะมีเรื่องพิเศษ กล่าวคือฝ่ายหญิงชักจะง่วงนอน เพราะอดนอนมาตั้ง ๒ คืนแล้ว เมื่อง่วงก็ไม่ค่อยระวังเนื้อระวังตัว ฝ่ายชายมักฉวยโอกาสหยอกเอาง่ายๆ แต่เขาไม่ถือโทษกัน เขาให้อภัยกันเสมอ ประเพณีจึงดำรงอยู่ได้จนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่เราอาจหาไม่เจอในกรุงเทพฯ”

เขมชาติยังบอกเล่าถึงพิธีทำบุญของราษฎรแบบแปลกๆ ที่เรียกว่า “เซิ้งบ้องไฟ” และ “…ตกเป็นหน้าที่ของวัดจะต้องทำ  พระภิกษุเป็นเจ้าภาพและจัดทำบ้องไฟเอง โดยเอาไม้ไผ่ทั้งๆ ลำ ทำเป็นหางประกบกันเข้ากับตัวบ้องไฟ ซึ่งเป็นไม้กลมอัดด้วยดินดำ การจุดบ้องไฟนี้ประกวดประชันกัน ของวัดไหนขึ้นสูงกว่า วัดนั้นชนะ และพระภิกษุผู้เป็นเจ้าภาพได้รับเกียรติยศอย่างมากมาย แต่ถ้าวัดไหนแพ้ พระภิกษุผู้ทำบ้องไฟจะถูกชาวบ้านของวัดนั้นรุมกันแกล้งด้วยความเคารพแกมสนุก…”  จริงๆก็คือ ประเพณีบุญบั้งไฟ อันพวกเรายุคปัจจุบันรับรู้กันดี ว่ามีชื่อเสียงแถวๆ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเฉพาะที่อำเภอพนมไพรแหล่งผลิตบั้งไฟ หรือแถวๆ จังหวัดยโสธร

ยุคนั้น ชาวกรุงเทพฯ ที่เยือนถิ่นอีสานมักจะได้รับการทำพิธีส่งขวัญหรือเรียกขวัญจากชาวบ้าน ถือเป็นพิธีเกียรติยศ พวกเขาจะจัดพานดอกไม้ธูปเทียนให้สาวแก่แม่หม้ายแห่แหน บุคคลผู้จะถูกเรียกขวัญเข้าไปนั่งพับเพียบเรียบร้อยข้างพานดอกไม้  ผู้เฒ่าคนหนึ่งนั่งพนมมือสาธยายร่ายคาถาเมื่อกล่าวคำเรียกขวัญเสร็จ “…เขาจะให้ท่านกำไข่ ๑ ฟอง เงิน ๑ แท่ง และกล้วย ๑ ผลไว้ในมือ และแล้วชาวบ้านก็เข้ามาผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์จนครบทุกคน พิธีเช่นนี้ผู้ที่ได้รับและได้เห็นจะนอนไม่หลับไปตลอดคืนด้วยความปลาบปลื้มใจ

สถานที่ไม่ควรพลาด ณ ดินแดน “บาหลีแห่งประเทศสยาม” นั่นคือทุ่งกุลาร้องไห้

“…ที่จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอสุวรรณภูมิ มีทุ่งๆ หนึ่งเรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้ หรือน่าจะเรียกว่าทะเลสาบแห้งจะเหมาะกว่า  ทั้งนี้สันนิษฐานกันว่าแต่เดิมคงเป็นทะเลสาบ แต่มาตื้นเขินจนน้ำแห้งไปหมด ที่สันนิษฐานเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า ภายในทุ่งยังมีเปลือกหอยเปลือกปูเกาะกันจนเกือบจะกลายเป็นหินยังอยู่ในดินเยอะแยะ ชาวบ้านเรียกหินนี้ว่าขี้นกอินทรีย์หรือนกกระไดลิง ถือกันว่าเป็นยา ชาวบ้านไปเก็บมาต้มผสมกับยาหม้อรับประทานเสมอ ลักษณะของทุ่งนี้ เมื่อยืนมองดูแล้วก็เหมือนกับมองดูทะเล กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เห็นแต่ฟ้าจดดิน ไม่มีต้นไม้ขึ้น และที่ได้ชื่อว่ากุลาร้องไห้ก็เพราะมีประวัติคือ มีพ่อค้าขายครั่งชาติกุหล่าคนหนึ่ง ต้องการจะไปหลายครั่งที่เมือง ซึ่งอยู่กันคนละฟากของทุ่งนี้ จึงเดินตัดทุ่งไปตั้งใจจะลัดให้ถึงเร็ว แต่เมื่อเดินไปวันหนึ่งก็แล้ว สองวันก็แล้ว ก็ยังไม่พ้นทุ่ง เห็นแต่ฟ้าลิบๆ น้ำก็ไม่มีกิน จะหาต้นไม้พอเป็นเพื่อนสักต้นก็ไม่มี ในที่สุดไม่รู้จะทำอย่างไร เลยนั่งลงร้องไห้ ตั้งแต่นั้นมาเลยได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้  เรื่องนี้อย่าว่าแต่กุหล่าเลย ต่อให้เป็นชาติใดๆ ลองเดินดูก็เห็นจะต้องโสกาเป็นแน่ ถ้าไม่เชื่อท่านจะลองไปดูก็ได้ เสียค่ารถจากกรุงเทพฯไป ๘-๙ บาทก็ถึง”

เขมชาติปิดท้ายว่า

“ความจริงเรื่องที่อยากจะพูดยังมีอีกมาก แต่เวลาจำกัด จึงจำต้องยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ แต่เมื่อสรุปแล้วพอจะอวดได้ว่า ประเทศสยามเรายังมีดินแดน ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ประกอบทั้งศีลธรรมอันดีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ทว่าดินแดนส่วนนี้ ไม่ค่อยจะมีผู้เอาใจใส่ ไม่ค่อยจะมีผู้ท่องเที่ยวไปถึง จึงเลยทำให้ความดีความงามต่างๆ ถูกซ่อนเสียสิ้น เสมือนเพชรตกอยู่ในตม แต่ถ้าท่านอยากจะได้ชื่อว่า เป็นนักท่องเที่ยวที่แท้จริงแล้ว ขอท่านอย่านึกอยากไปเที่ยวประเทศอื่นเลย ประเทศของเรายังมีที่น่าเที่ยวอีกมากนัก ท่านปรารถนาจะดูป่าดงพงพี ซึ่งมีดอกไม้หอมตลบอบอวลอยู่หรือ ท่านก็อาจจะหาดูง่าย  ท่านอยากจะเห็นผู้คนหน้าตาสะสวย ยิ้มแย้มแจ่มใส และพูดจาอ่อนหวานหรือ ท่านก็อาจจะหาได้ แต่ถ้าท่านอยากจะอยู่โดยสงบโดยไม่มีอะไรรบกวนต่อประสาทของท่านก็อาจจะหาอยู่ได้ และยิ่งกว่านั้น ท่านจะเห็นศีลธรรมอันดีงามของประชาชน  การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การไม่เบียดเบียนกัน และการประเพณีอันน่ารักต่างๆ อีกเอนกประการ สิ่งเหล่านี้ท่านจะได้พบ ณ ดินแดนจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน ซึ่งข้าพเจ้าให้ชื่อว่า “ดินแดนแห่งธรรมชาติ” หรือบาหลีแห่งประเทศสยามนั่นเอง”

พร้อมเอ่ย “ราตรีสวัสดิ์”

ภายหลังการบรรยายเรื่อง “บาหลีแห่งประเทศสยาม” ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2478 ต่อมาเขมชาติลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดในปี พ.ศ. 2480 และได้เป็น ส.ส. สมัยแรก จากนั้นก็เป็น ส.ส. อีกสองสมัย ทั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2481 และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2491 กระทั่งช่วงทศวรรษ 2490 เขารั้งตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ

น่าฉุกคิดถึงมูลเหตุบันดาลใจให้เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ เลือกกล่าวบรรยายสภาพดินแดนภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งๆ ที่เขาเติบโตมากับบรรยากาศพื้นที่ส่วนกลางอย่างกรุงเทพมหานครโดยแท้ แม้จะมีบิดาคือ พระสุขุมวินิจฉัย เคยรับราชการหัวเมืองอีสานก็ตามที คำตอบอันควรเป็นไปได้คงมิแคล้วการที่เขมชาติวางแผนจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ท้องถิ่นซึ่งบิดาของตนเคยครองอำนาจวาสนา เขาจึงส่งสัญญาณล่วงหน้าผ่านทางวิทยุกระจายเสียง

สอดคล้องกับยุคนั้นที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งแรก (พ.ศ. 2476) จะถือโอกาสมาอภิปรายถึงสภาพจังหวัดของตนผ่านทางวิทยุกระจายเสียง ซึ่งต่อมาสำนักงานโฆษณาการได้นำถ้อยความบรรยายของ ส.ส. แต่ละรายมาตีพิมพ์รวบรวมเป็นรูปเล่มหนังสือเมื่อปี พ.ศ. 2478 ชื่อว่า ปาฐกถาของผู้แทนราษฎรเรื่องสภาพของจังหวัดต่างๆ และพวก ส.ส. ก็จะนำเอาถ้อยความกล่าวปาฐกถาผ่านทางวิทยุและตัวเล่มหนังสือมายืนยันกับราษฎรว่าตนได้ทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ประจำจังหวัดอย่างเต็มความสามารถ มิหนำซ้ำ ส.ส. บางรายยังนำหนังสือปาฐกถามาแจกเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

เขมชาติอาจจะอาศัยวิธีการเปิดตัว โดยเริ่มกล่าวบรรยายเกี่ยวกับจังหวัดที่ตนเล็งไว้จะลงสมัคร ส.ส. ผ่านวิทยุ แล้วจึงนำเนื้อความมาจัดพิมพ์แจกจ่ายหาเสียงกับชาวบ้านในจังหวัดนั้น

สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งแรกคือ พระไพศาลเวชกรรม (สวาสดิ์ โสมเกษตริน) และ ขุนเสนาสัสดี (ถั่ง ทองทวี) ซึ่งทั้งสองได้กล่าว “ปาฐกถาเรื่องการเป็นอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด” ทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2477 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 26 มีนาคม พ.ศ. 2478) เนื้อความว่าด้วยสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของราษฎร



จึงไม่แปลกถ้าถ้อยบรรยายของเขมชาติที่ถ่ายทอดผ่านวิทยุกระจายเสียงถัดมาอีกเดือนเศษ จะโดดเด่นสะดุดตายิ่งกว่า เพราะเขาสร้างและนิยามภาพลักษณ์ของดินแดน ‘อีสาน’ บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ดรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงกลายเป็น “บาหลีแห่งประเทศสยาม” มิหนำซ้ำ ยังเฟ้นเอาด้านความงดงามของภูมิประเทศและวัฒนธรรมมาสะท้อนให้เห็นเชิงโรแมนติกไซส์ เปรียบเปรยเข้ากับดินแดนในฝันของชาวสยามยุคสมัยนั้นเยี่ยง “เกาะบาหลี” ทั้งๆ ที่สภาพภูมิศาสตร์และบรรยากาศแท้จริงอาจไม่ค่อยเหมือนสักเท่าใด

ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเคยถูกสร้างให้เป็น ‘อีสาน’ ตามทิศที่มองไปจากสายตารัฐส่วนกลางนับแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ครั้นก้าวสู่ระบอบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญ ก็ยังพบความพยายามสร้างดินแดนแห่งนี้จากบุคคลในส่วนกลางผู้ปรารถนาจะมาเป็นตัวแทนของราษฎรอย่างน่าทึ่งทีเดียว

ก็ใครกันเล่าจะคาดนึก เมื่อ 86 ปีก่อน ‘อีสาน’ จะกลายเป็น ‘บาหลี’ ได้!

เอกสารอ้างอิง

เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์. นักการเมือง. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ ณ เมรุ

วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538. ม.ป.ท. : ม.ป.พ, 2538

เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์. “บาหลีแห่งประเทศสยาม” ใน ชุมนุมปาฐกถาของคนสำคัญ. ส. คนปรีชา

(รวบรวม). พระนคร: สุวรรณบรรพต, 2504. หน้า 766-784

นายหนหวย(ศิลปชัย ชาญเฉลิม). ว่าด้วยหนังๆในเมืองบางกอก. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การ

มหาชน), 2555.

ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพของจังหวัดต่างๆ.พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2478

พินิจสารา (ทับทิม), พ.ท. พระยา. ปัจจุบันนิทาน. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุขุมวินิจฉัย

(สมุจย์ บุณยรัตพันธุ์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511. พระนคร :

กองการพิมพ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, 2511

สยามราษฎร์. 10 (2948) (3 ตุลาคม 2477)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save