fbpx

เมื่ออนาคตยังมืดมิด ก็จง ‘ปล่อยจอยชีวิต’ กันเถิดหนา คติธรรมประจำหัวใจวัยรุ่นจีน

ปลายปีก่อนสำนักข่าวหลายแห่งนำเสนอปรากฏการณ์ ‘tang ping’ หรือ lying flat กล่าวคือปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ในประเทศจีนปราศจากความทะเยอทะยาน ไม่มีความกระตือรือร้นอยากก้าวหน้าเชิงหน้าที่การงานและมักรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ ให้พอมีรายได้จุนเจือระยะสั้น ใช้เวลาที่เหลือในร้านเกมหรือร้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลายเป็นปัญหาระดับใหญ่ของสังคมถึงขนาดที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดียังออกมาตำหนิคนหนุ่มสาวเหล่านี้ว่าช่างคนเป็นคนรุ่นที่ไม่ปฏิบัติตามหลักการของจีนโบราณ -ที่ว่าด้วยความมุ่งมั่น กระหายความสำเร็จ- เอาเสียเลย

ปรากฏกลุ่มเยาวรุ่นบอกว่า แล้วจะให้ไปกระหายความสำเร็จอะไรก่อน ตะบี้ตะบันทำงานวันละ 12 ชั่วโมง หกวันต่อสัปดาห์ก็ไม่เห็นได้อะไรกลับมา ถึงที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้ความเหลื่อมล้ำและระบบเศรษฐกิจของจีนที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ได้ลงสนามอยู่ดี แทนที่จะทำงานจนเลือดตาแทบกระเด็นโดยที่ไม่ได้อะไรกลับมา สู้ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย นอนให้พ้นไปวันต่อวันยังจะดูสุขสบายเสียกว่า

ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ผ่านมาอีกปีหนึ่ง lying flat อัปเกรดเป็นเวอร์ชัน ‘bai lan’ หรือ let it rot ซึ่งหากคุณเป็นคนดูบาสเก็ตบอล NBA น่าจะคุ้นเคยศัพท์คำนี้อยู่ไม่น้อย ในความหมายของการที่สมาชิกทีมตกลงใจจะยอมแพ้กรณีที่แต้มไหลหรือทิ้งห่างเกินจะไล่ให้ทัน ถ้าเทียบกับการเล่นเกม มันคือจังหวะที่เรา ‘ปล่อยจอย’ เพราะรู้ว่าดันทุรังเล่นไปก็มีแต่จะแพ้

ตรรกะเดียวกัน คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ ‘ปล่อยจอยชีวิตให้แม่งเน่าไปเถ้อ’ กับสภาพเศรษฐกิจของจีนที่นับวันยิ่งเดือดดาลขึ้นทุกวัน

หากว่ากระแส lying flat หรือนอนเปื่อยให้พ้นวันยังต้องออกไปทำงานรับจ้างรายวันหรือรายสัปดาห์ เพื่อหาเงินมาเติมอินเทอร์เน็ตหรือเล่นเกมบ้าง กระแส let it rot ก็ไปไกลกว่านั้นอีกขั้นด้วยการแทบไม่บริโภคสิ่งบันเทิงใดๆ เลย พวกเขาอาจยังรับจ้างเพื่อแลกเงินเหมือนกัน แต่อัตราความขยันน้อยลงกว่าเดิม กินอาหารตามร้านสะดวกซื้อง่ายๆ และใช้เวลาที่มีนอนหลับให้หมดไป และเทียบตัวเองเป็นดั่งสุภาษิตจีนที่ว่า “หมูที่ตายแล้วย่อมไม่กลัวน้ำร้อน” (dead pigs are not afraid of boiling water)

อัลเฟร็ด หวู่ ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากหลักสูตรนโยบายสาธารณะแห่งสถาบันลีกวนยูระบุว่า lying flat คือการตระหนักว่าเราไม่อาจประสบความสำเร็จเป็นใหญ่เป็นโตหรือก้าวหน้าได้ และพยายามไถชีวิตต่อไปด้วยการจับจ่ายใช้สอยให้น้อยที่สุด “แต่กลุ่ม let it rot คือการเอ่ยปากปฏิเสธต่อทั้งระบบ เอ่ยปากว่าไม่ขอให้ความร่วมมือ ไม่แม้กระทั่งจะฟังพวกคุณ จะใช้ชีวิตแบบนี้ ด้วยพฤติกรรมต่อต้านสังคมแบบนี้

“มันคือการบอกว่า ‘เราจะไม่ตั้งใจทำงานให้หรอกนะ เอาแค่พอผ่านๆ ไปก็แล้วกัน’ ดังนั้นว่าไปแล้วมันคือการขบถต่อวัฒนธรรมจีนนี่เอง และเป็นการบอกปฏิเสธต่อรัฐบาลด้วย

หลี่ เซี่ยวหลิน ชายวัย 25 ปีให้สัมภาษณ์สื่อ CNA Insider ว่าเขาโอบรับวิธีการใช้ชีวิตเช่นนี้อย่างเต็มหัวใจ ภายหลังจากที่ทำงานอย่างหนักหกวันต่อสัปดาห์แล้วพบว่าชีวิตไม่ได้ไปไหน หรือไม่เห็นกระโจนไปข้างหน้าตามที่ผู้ใหญ่รอบตัวบอก “งานมันจำเจและน่าเบื่อมาก ผมไม่ได้ทำงานอย่างมีความสุขเลย ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นผมก็จะแค่ทำหน้าที่ของผมให้จบๆ ไป ไม่ได้ทำให้ออกมาดีเด่อะไรทั้งนั้น” เขาบอก “ก่อนนี้ผมทำงานหนักจะตายแต่ไม่เห็นรู้สึกคุ้มค่าอะไร ยังต้องเหนื่อยแทบตาย แล้วก็ค่อยๆ กลายมาเป็นแบบนี้แหละครับ

“เราจะพยายามไปทำไม ความเพียรพยายามแบบนั้นโดยตัวมันออกก็เครียดและน่าเบื่อจะตายอยู่แล้ว ผมคิดว่าผมเลือกจะพยายามหน่อยก็ได้หรือเลือกจะไม่ทำเลย ปรากฏว่าไอ้การไม่ทำอะไรเลยมันดีสำหรับผมมากกว่า ก็เลยเลือกทำอะไรที่มันสบายเราที่สุดน่ะ”

สถิติในรอบปีที่ผ่านมา มีนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องเข้าสู่วัยทำงานในจีนราว 10.8 ล้านคน ขณะที่อัตราการว่างงานของคนกลุ่มนี้กลับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยเป็นมา ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักหากมองว่าเศรษฐกิจจีนลดลงมาร่วมทศวรรษแล้ว และยิ่งถูกซ้ำเติมหนักมือด้วยภาวะโควิด-19 กับการล็อกดาวน์อันยืดเยื้อ ขณะที่ตัวเลขความเหลื่อมล้ำในจีนก็พุ่งสูงติดอันดับโลก

ซัน ฉาง อดีตครีเอทีฟวัย 29 ปีบอกว่าคนรุ่นเขาที่เป็นคนวัยทำงานและรุ่นถัดจากนี้ มีแนวโน้มจะหมดไฟสู้ชีวิตไปเรื่อยๆ เพราะสภาพสังคมเป็นสำคัญ “มันไม่เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมนี่ คนจีนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ถูกคาดหวังอะไรมากมายไปหมด แต่ชีวิตนี่หาความแน่นอนไม่ได้เลย ยกตัวอย่างแบบนี้ เราวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตแค่สักห้าปียังทำไม่ได้เลย เพราะไม่รู้แล้วว่าถึงตอนนั้นมันจะเป็นยังไงแล้วบ้าง” เขาบอก ก่อนจะเล่าว่าจุดที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นครีเอทีฟคือการต้องปีนยอดความสำเร็จอันไม่อาจไต่ถึง “หัวหน้าผมตั้งเป้าไว้สูงเกินจริงมาก และไม่ว่าผมจะพยายามมากแค่ไหนก็ไม่เคยไปถึงจุดดัชนีวัดผลงาน (KPI) ที่เขาตั้งไว้ได้เลย ผมล้มเหลวเสมอ เพราะงั้นถึงที่สุด ผมก็พอละ ไม่เอาอะไรอีก ใช้ชีวิตไปวันต่อวันดีกว่า”

ทัศนคติเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็ในสายตาของรัฐบาล เพราะมันไม่กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหรือบริโภค และยังผลให้ตลาดเติบโตช้าลงในที่สุด หลายคนยังบริภาษคนรุ่นใหม่ที่สมาทานแนวคิดปล่อยจอยนี้ว่าเป็นกลุ่มที่ลากประเทศถอยหลังลงคลองเพราะความ ‘ไม่รู้จักหนักเอาเบาสู้’

กวง อี้ซื่อ ครูสอนพิเศษฟรีแลนซ์วัย 29 ตอบกลับข้อครหานี้อย่างเผ็ดร้อนว่า “ฉันไม่ได้พาประเทศถอยหลังคลองอะไรสักหน่อย ก็ไม่ได้เป็นภาระพ่อแม่หรือสังคมนี่หว่า” ก่อนขยายความว่าเธอไม่ได้เกาะพ่อแม่กิน แค่ดิ้นรนเอาชีวิตรอดแบบปางๆ ไปวันต่อวันด้วยการสอนวันละสองวิชา ให้ได้เงินก้อนเล็กๆ มาแล้วจากนั้นก็ไปไถสเก็ตบอร์ดอันเป็นงานอดิเรกของเธอเล่น

“สมัยจบใหม่ๆ ฉันนี่พลังงานเพียบ ตาลุกเป็นไฟ กระตือรือร้นไม่มีใครเกิน เชื่อว่าถ้าทุ่มเททำงานหนักมากพอ อะไรก็เป็นไปได้เพราะฉันยังเด็ก มีทั้งโอกาส ทั้งเวลา” เธอบอก ลงเอยด้วยการทำงานวันละ 15 ชั่วโมงติดเพื่อจะพบว่าสิ่งที่ได้กลับมาช่างว่างเปล่า ค่าแรงไม่คุ้ม อนาคตไม่มี และเหนื่อยล้าใจแทบขาด “รู้สึกร่างกายรับอะไรไม่ไหวแล้ว เหมือนจะขิตให้ได้ ตอนนั้นก็เครียดจัดเลยล่ะ จนตระหนักได้ว่า ไม่ว่าคุณจะตะบี้ตะบันทำงานหนักแค่ไหน ผ่านงานยากมาเท่าไร มันก็ยังมีคนที่เก่งกว่าคุณน่ะ หรือบางคนแค่ตอนเริ่มต้นแม่งก็อาจจะเก่งกว่าคุณในทุกวันนี้แล้วด้วยซ้ำไป”

กับประเทศจีนเอง ทั้งภายหลังการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อของโควิด-19 มาโดยตลอด สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ก็เพิ่งระบุว่าช่วงแปดเดือนที่ผ่านมา กำไรภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวลง 2.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงทรุดตัวหนัก ราคาบ้านตลอดจนการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลงเพราะประชาชนไม่จ่ายค่าบ้าน อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องยาวนานมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาหลังการล็อกดาวน์ บวกกันกับรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย (Emerging Market Asia) อาจจะโตเร็วกว่าเศรษฐกิจจีนได้เป็นครั้งแรกในรอบสามทศวรรษ

หลายคนมองว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ไม่แปลกที่เหล่าคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดทำงานจะมองไม่เห็นอนาคตตัวเอง ยังไม่ต้องพูดถึงวัฒนธรรมการทำงานหนักตามความเชื่อเรื่องความเพียรพยายามย่อมให้ผลดีที่สุดของจีน หรือระบบทำงานแบบ 996 -หมายถึงการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม- เป็นเวลาหกวันต่อสัปดาห์ ที่ศาลสั่งว่าเป็นความผิดทางกฎหมายแล้วในที่สุด หากแต่รากความเชื่อเหล่านี้ยังฝังลึกอยู่ในที่ทำงานหลายๆ แห่ง ยิ่งบีบคั้นให้คนรู้สึกเหนื่อยล้าและหมดอาลัยในการจะเอาชนะชีวิต

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ แมรี กัลลาเกอร์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยมิชิแกนก็ระบุว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม “เหมือนคนรุ่น ‘slacker’ ในอเมริกาเมื่อสักปี 1990s น่ะ” เธอบอก หมายถึงกลุ่มคนที่ปฏิเสธการทำงานหนักในสหรัฐฯ และใช้ชีวิตแบบที่สังคมมองว่า ‘เรื่อยเปื่อย’ ชมนกชมไม้ไปเรื่อย สามารถดูตัวอย่างพฤติกรรมทอดหุ่ยของวัยรุ่นอเมริกาได้จาก Slacker (1990, ริชาร์ด ลิงเลเตอร์) “แต่แน่นอนว่ามันคือพฤติกรรมการปฏิเสธสังคมการแข่งขันที่รุนแรงมากในสังคมจีนปัจจุบันด้วย”

อาจเป็นจริงดังนั้น เมื่อหากมองจากภาพรวม คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือกระแสการใช้ชีวิตที่ ‘แทงสวน’ ค่านิยมและวัฒนธรรมจีน และแม้ว่าวิถีชีวิตเช่นนี้อาจไม่ได้เป็นคลื่นพายุที่สร้างแรงสะเทือนให้แก่เศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีปัญหาอยู่จริง และผลลัพธ์ของมันนั้นก็ออกดอกผลอยู่ในเนื้อตัวและจิตสิญญาณของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจขบถต่อแนวคิดเดิมๆ ในที่สุด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save